รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 076


    ตอนที่ ๗๖

    อย่าเพิ่งเบื่อเลย เพราะเบื่อนี่หมายความว่าต้องรู้ชัดในลักษณะของนามและรูป และความรู้ชัดที่เป็นวิปัสสนาญาณ ไม่ใช่ขั้นการศึกษา ไม่ใช่ขั้นคิด แต่เป็นขั้นที่ประจักษ์ลักษณะที่เป็นนามธรรม ลักษณะที่เป็นรูปธรรมถูกต้องตามความเป็นจริง บางท่านใจร้อน อยากจะประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของนามและรูป แต่ขอให้ท่านคิดอย่างนี้ว่า เวลานี้โลกทั้งโลกไม่มีอะไรเลย ถ้าปัญญาเกิดขึ้นจริงๆ เป็นปัญญาที่รู้ชัดและประจักษ์แล้วล่ะก็ โลกทั้งโลกไม่มีอะไรเลย ถ้าทางตาก็เป็นเห็นอย่างเดียว สีเท่านั้นที่กำลังปรากฏอย่างเดียว อย่างอื่นหมดทั้งโลกไม่เหลือแล้ว ถ้าระลึกรู้ลักษณะของนามทางหู หรือว่าเสียงที่ปรากฏทางหู ถ้าเป็นปัญญาที่รู้ชัดในลักษณะนั้นจริงๆ โลกอื่นหมดแล้วไม่เหลือเลย จะมีแต่เฉพาะเสียงอย่างเดียวที่กำลังปรากฏ อย่างอื่นหมดว่างเปล่าไปหมด จะมีแต่เฉพาะได้ยินที่กำลังปรากฏ แล้วแต่ว่าในขณะนั้นปัญญาของท่าน ระลึกรู้สภาพที่เป็นนามธรรมหรือรูปธรรม ทีละลักษณะ ทีละอย่างเท่านั้นในโลกนี้ อย่างอื่นหมดไม่มีเหลือแล้ว ใจจริงๆ ที่รู้อย่างนั้นเป็นอย่างไร จะเหมือนกับที่เห็นกระดานแล้วนึกเบื่อไหม กระดานนี้ก็ไม่เที่ยง ดูไปดูมาก็น่าเบื่อ ไม่เห็นมีอะไรเลยก็เป็นเพียงแค่กระดานเท่านั้นเอง เหมือนกันไหม แต่ปัญญาที่กำลังประจักษ์ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ทีละอย่าง อย่างอื่นหมดไม่มีเหลือในโลก ใจเป็นอย่างไร นี่ยังไม่ถึงขั้นเบื่อ แค่นามรูปปริจเฉทญาณ ยังไม่ถึงขั้นเบื่อ กิเลสหนาแน่นสักเท่าไหร่ แต่ให้ทราบถึงความชัดเจนของปัญญาที่จะรู้ชัดในสภาพความเป็นอนัตตาที่ไม่ใช่ตัวตนสืบต่อเป็นโลกที่ติดกันทั้งทางตาหูจมูกลิ้นกายใจ แต่ว่าจะมีเฉพาะลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมแต่ละชนิดเพียงอย่างเดียวทีละอย่าง ในขณะนั้นใจเป็นอย่างไร ความรู้ชัดในลักษณะที่เป็นนามธรรมไม่นกับรูปธรรม ความรู้ชัดในลักษณะที่เป็นนามธรรมไม่นกับรูปธรรม ไม่มีลักษณะอื่นมาปนเลย แค่นี้ยังไม่เบื่อ เป็นแค่ขั้นต้นเท่านั้น กว่าจะถึงขั้นเบื่อนั้นจะอีกนานสักเท่าไหร่ แล้วก็การสำเหนียก ให้ปัญญารู้ชัดเพิ่มขึ้น ผู้นั้นจะต้องเป็นผู้ที่ละเอียดที่จะรู้ว่า เจริญอย่างไรปัญญาจึงจะเพิ่มขึ้น หรือว่าข้อปฏิบัติอย่างไร ปัญญาไม่สามารถจะเจริญอีกต่อไปได้

    ยังไม่ทันไรจะเบื่อเสียแล้ว โดยที่ปัญญายังไม่ทันรู้ลักษณะของนามและรูป ตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ต้องสำเหนียก ระวังอย่าให้มีความเห็นผิดเป็นสีลัพพตปรามาสกายคันถะในข้อประพฤติปฏิบัติที่จะผูกท่านไว้กับความเห็นผิด และในชาติต่อๆ ไปก็ไม่แน่ว่า ท่านจะมีความเห็นผิดเหมือนอย่างในชาตินี้อยู่หรือไม่ คือ ไม่เจริญปัญญา

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์อธิบายว่าในเวลาเกิดความโกรธหรือมีโทสะขึ้น อย่าไปหาวิธีการอย่างอื่นเลยที่จะระงับโทสะนั้น ก็ให้เจริญสติเถิด การเจริญสตินั้นถ้าจะเพียงแต่ระลึกว่า ลักษณะโกรธนี้ก็เป็นแต่เพียงธัมมารมณ์ซึ่งเกิดขึ้นทางใจ เท่านั้นพอไหม

    ท่านอาจารย์ สำหรับผู้ที่เข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐานและเป็นผู้ที่รู้จิตของการเจริญสติ แต่ว่าจะห้ามใครก็ห้ามไม่ได้ ความรู้ความเข้าใจของแต่ละบุคคลก็มีหลายขั้น ถ้าบุคคลนั้นไม่เข้าใจเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานก็พยายามที่จะทำให้จิตสงบแทนที่จะให้เป็นอกุศลก็ให้จิตเป็นกุศล ก็มีเหตุปัจจัยที่ทำให้แต่ละบุคคล มีกาย มีวาจา มีความดำริมีการตรึกไปต่างๆ กัน ตามการสะสมของแต่ละบุคคล แล้วแต่ว่าอะไรจะเกิดกับผู้นั้น ก็ไม่ใช่สัตว์ไม่ใช่บุคคล เป็นแต่เพียงนามธรรมที่สะสมมา ทำให้รูปธรรมเป็นอย่างนั้น กระทำกิจอย่างนั้น หรือว่านามธรรมชนิดนั้นเกิดขึ้น แต่สำหรับผู้ที่เข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐานนั้น ท่านก็มีกิจที่จะเจริญสติเนืองๆ บ่อยๆ เรื่อยไปตลอดชีวิต ตลอดชาตินี้และชาติต่อไป จนกว่าจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม นี่เป็นกิจของผู้เจริญสติ แต่ว่าท่านจะเจริญสติได้มากน้อยสักเท่าไหร่ในวันหนึ่งๆ ก็ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร ทั้งๆ ที่เข้าใจเรื่องของการเจริญสติแล้ว แต่ว่าหลงลืมสติก็ยังมีมาก หรือว่าในขณะที่สติกำลังระลึกลักษณะของนามรูปเพียงชั่วครู่ความจดจ้องก็อาจจะแทรกมา หรือว่าการที่จะทำอย่างนั้นอย่างนี้ก็อาจจะเกิดขึ้นเพราะคิดว่าถ้าทำอย่างนั้นแล้วก็จะรู้อริยสัจจ์เร็วขึ้น ความเห็นผิดก็มีโอกาสที่จะแทรกเข้ามาบังได้ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นผู้ที่จะมีความเข้าใจตรงถูกต้องจริงๆ ว่า การที่จะละอกุศลธรรม ความโกรธที่กำลังปรากฏอย่างแรงกล้านั้นได้เป็นสมุจเฉทมีหนทางเดียวคือ มรรคมีองค์ ๘ สติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมในขณะนั้น วิธีอื่นไม่สามารถที่จะละกิเลสได้เป็นสมุจเฉท แต่ถ้ายังขวนขวายหาช่องทางอื่นอยู่ ในขณะนั้นก็เป็นตัวตน เป็นสักกายทิฏฐิ ไม่ใช่เป็นการเจริญสติ ถ้าเป็นการเจริญสติแล้วสติระลึกตรงลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏในขณะนั้น กว่าปัญญาจะประจักษ์แน่นอนมั่นคงว่า ไม่มีอะไรเลยที่จะละกิเลสได้เป็นสมุจเฉทนอกจากสติระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏเท่านั้น แม้ว่าในขณะนั้นจะระลึกแต่ยังไม่รู้ชัด แต่การระลึกนิดเดียวนั้นบ่อยๆ ก็จะทำให้การรู้ชัดเร็วขึ้น แทนที่จะไม่ระลึกแล้วใช้วิธีอื่น ในขณะที่กำลังระลึกรู้ลักษณะของจิตที่หยาบกระด้างคือความโกรธ ก็รู้ว่าลักษณะนั้นเป็นสภาพนามธรรมไม่ใช่รูปธรรม ทีแรกก็อาจจะเกิดความคิดแทรกซ้อนขึ้นมาว่าที่กำลังโกรธนั้นเป็นนามธรรม แต่ว่าผู้ที่เจริญสติก็ต้องเป็นผู้ที่ละเอียด สำเหนียกรู้ว่า ความคิดไม่ใช่สภาพของความหยาบกระด้างของจิต คนละลักษณะ การเจริญสติจึงต้องเจริญมากๆ ไม่ใช่เจริญนิดเดียว เพราะว่าความคิดกับลักษณะที่หยาบกระด้าง ก็จะต้องแยกและรู้ชัดว่าไม่ใช่ธรรมประเภทเดียวกัน ความคิดก็เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ความอยากกระด้างของจิตก็เป็นนามธรรมอีกชนิดหนึ่ง แล้วสติก็ระลึกรู้ลักษณะของนามของรูป ซึ่งเป็นปกติขณะไหนก็ได้ เมื่อไหร่ก็ได้ ขอให้สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะสภาพธรรมในขณะนั้น เพื่อวันหนึ่งปัญญาจะได้รู้ชัด ถ้าไม่ระลึกขณะนิดขณะหน่อย ปัญญาก็รู้ชัดไม่ได้ เพราะฉะนั้น ขอให้สติระลึกลักษณะของนามและรูป แม้แต่เพียงชั่วขณะเล็กๆ น้อยๆ ทุกๆ วัน

    ในคันถะ ๔ ได้แก่ อภิชฌากายคันถะ ๑ พยาปาทกายคันถะ ๑ สีลัพพตปรามาสกายคันถะ ๑ อิทังสัจจาภินิเวสกายคันถะ ๑ คันถะนี้คือเครื่องผูกไว้ไม่ให้หลุดไป โดยสภาพของเจตสิก ได้แก่ โลภเจตสิก ๑ โทสเจตสิก ๑ ทิฏฐิเจตสิก ๑

    อภิชฌากายคันถะ คือความยินดีพอใจเพ่งเล็งทั่วไปในอารมณ์ทั้งปวง ผูกไว้กั้นไว้ ในขณะนั้น ไม่ให้สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง แต่ถ้าท่านฝึกอบรมการเจริญสติ สติก็สามารถที่จะระลึกรู้สราคจิตหรือสภาพความยินดีพอใจในอารมณ์ที่กำลังปรากฏว่า เป็นแต่เพียงนามธรมชนิดหนึ่งไม่ใช่ตัวท่าน

    พยาปาทกายคันถะ คือความไม่แช่มชื่นของจิตที่เกิดขึ้น สติก็ระลึกรู้ว่าไม่ใช่สัตว์ไม่ใช่บุคคล อาศัยเหตุปัจจัยก็เกิดขึ้น

    สีลัพพตปรามาสกายคันถะ เป็นความเห็นผิดในข้อปฏิบัติที่ผูกไว้ไม่ให้ไปสู่ข้อปฏิบัติที่ถูก ขอให้ทุกท่านสำเหนียกพิจารณาว่า ท่านยังมีความเห็นผิดในข้อปฏิบัติประการใดหลงเหลืออยู่บ้าง ถ้าไม่ตัดใจทิ้งไปก็เป็นเครื่องที่ถูกท่านไว้กับข้อปฏิบัติที่ผิด ไม่ทำให้ไปสู่ข้อปฏิบัติที่ถูกได้

    อิทังสัจจาภินิเวสกายคันถะ เป็นความเห็นผิดอื่นทั้งหมดนอกจากสีลัพพตปรามาสกายคันถะ

    ผู้ฟัง ในการเรียนสติปัฏฐานสำหรับกระผมนั้นเพิ่งจะเริ่มต้นและมีความเข้าใจรวบรัดและท่องคาถาว่า มีสติทุกขณะ ไม่ว่าจะคิดพูดทำ อย่างนี้จะดีไหม

    ท่านอาจารย์ ไม่ผิด แต่ต้องทราบลักษณะของสติ เพราะว่าธรรมดาแล้วมีจิตอยู่ตลอดเวลา แล้วจิตก็ไปในสภาพที่รู้อารมณ์ อารมณ์ก็ปรากฏ ทำตาบ้าง หูบ้าง จมูกบ้าง ลิ้นบ้าง กายบ้าง ใจบ้าง ก็มีจิตมีอารมณ์ตลอดเวลา แต่ว่าจิตนั้นบางขณะก็เป็นอกุศล บางขณะก็เป็นกุศล บางคณะก็เป็นวิบากคือผลของกุศลอกุศล บางขณะก็เป็นกิริยาจิต ซึ่งก็จะต้องอาศัยการศึกษาด้วยจึงจะทราบว่าขณะไหนเป็นวิบากจิต ขณะไหนเป็นกุศลจิต เป็นอกุศลจิต เพราะฉะนั้นการที่จะมีสติระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปทุกขณะไม่เว้น ไม่เลือก เป็นความคิดที่ถูก แต่ว่าจะต้องทราบขณะที่มีสติกับขณะที่หลงลืมสติว่าต่างกันอย่างไร จึงจะเจริญขณะที่มีสติได้ เพราะเหตุว่าถ้าหลงลืมสติก็เป็นอกุศล โลภะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง หรือเป็นกุศลก็ได้ ให้ทานบ้าง รักษาศีลบ้าง เจริญสมถภาวนาบ้าง ในขณะนั้นยังไม่ใช่การเจริญสติปัฏฐาน ถ้าขณะที่มีสติเจริญสติแล้ว อกุศลจิตเกิดขึ้น สติระลึกในลักษณะที่เป็นอกุศลประเภทนั้นๆ หรือว่าเวลาที่กุศลจิตเกิดขึ้นมีความเมตตามีความกรุณามีความสงเคราะห์ช่วยเหลือบุคคลอื่น ในขณะนั้น ผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานก็ระลึกรู้สภาพของจิตที่เป็นกุศล ว่าไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง ขณะหนึ่ง เพราะฉะนั้นผู้ที่มีปกติเจริญสติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมแล้วรู้ด้วยว่า ขณะใดหลงลืมสติ ขณะใดมีสติ เพื่อจะได้ทราบความต่างกันว่า ขณะไหนเป็นตัวตน เป็นสัตว์เป็นบุคคล ขณะไหนเป็นการรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม

    ในคราวก่อนก็เป็นเรื่องของจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานหมวดแรกคือ สราคจิตได้แก่โลภมูลจิต ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนมี เว้นพระอรหันต์บุคคลประเภทเดียวเท่านั้นที่ไม่มี และสำหรับเรื่องจิตก็เป็นเรื่องที่ว่า ถ้าเป็นสิ่งที่มีเป็นของจริงแล้วก็เกิดกับตนตลอดเวลา ถ้าสติไม่ระลึกรู้ตามความเป็นจริงแล้วล่ะก็ ไม่มีโอกาสเลยที่จะละการยึดถือสภาพรู้คือจิตของตนเอง ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แต่ละวัน ทุกๆ ขณะ ที่จะละคลายการยึดถือว่าเป็นตัวตนนั้นก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ถ้าสติไม่ระลึกรู้ เพราะฉะนั้นเรื่องของการเจริญวิปัสสนา แล้วจะเว้นไม่ระลึกรู้เวทนา หรือว่าไม่ระลึกรู้จิตนั้น เป็นสิ่งซึ่งจะไม่ทำให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ ท่านผู้ฟังท่านหนึ่งบอกว่าหลงลืมสติบ่อย ก็เป็นเรื่องธรรมดา แต่ว่าเวลาที่จะระลึกรู้ลักษณะของนามรูป ก็มีสักกายทิฏฐิความยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตน ซึ่งยังมีอยู่ คอยชักนำทำให้จดจ้องบ้าง หรือว่าทำให้มีความต้องการเหลือเกินที่จะให้สติเกิดในขณะนั้นอย่างมากๆ ไม่ให้ไปที่ไหนเลย ไม่ให้เป็นปกติเลย บางท่านก็ถึงกับ ไม่อยากจะให้ใครพูดด้วยเลย อยากจะให้แต่สติระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปซึ่งกำลังปรากฏอยู่ในขณะนั้น ไม่อยากจะพูดไม่อยากจะคุย แต่นั่นไม่ใช่ชีวิตจริงๆ ที่เป็นปกติธรรมดา ถ้าเป็นปกติธรรมดาแล้ว กายมีระลึกได้เป็นปกติ เวทนาความรู้สึกจะพอใจหรือไม่พอใจ จะเป็นสุขหรือว่าเป็นทุกข์หรือจะรู้สึกเฉยๆ ในขณะนั้นมี สติก็ระลึกได้ จืตในขณะนั้นจะเป็นโลภะ หรือว่าจะเป็นโทสะ มีจริงก็ระลึกได้ แต่โดยมากก็มักจะต้องการจดจ้อง ไม่ให้มีใครพูดด้วยหรือว่าไม่อยากจะพูดกับใคร ซึ่งของจริงแล้วก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ จริงอยู่ ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานก็ละการคลุกคลีบ่อยขึ้น ไม่ค่อยสนใจในเรื่องการที่จะไปคลุกคลีในเรื่องอื่น แล้วก็ฝักใฝ่ในการที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพนามและรูปมากขึ้น แต่ต้องเป็นชีวิตที่เป็นปกติธรรมดา ไม่ใช่มีความจงใจหรือว่ามีความต้องการแอบแฝง ท่านผู้นั้นก็กล่าวว่า บางท่านรู้สึกว่าชีวิตเป็นทุกข์มาก รู้สึกว่าอยากจะพ้นๆ ไปเสียที เกิดมาแล้วก็แก่แล้วก็เจ็บแล้วก็ตาย แล้วก็ประสบกับสิ่งที่ไม่พอใจบ้าง หรือว่าพลัดพรากจากสิ่งที่พอใจบ้าง เพียงแต่คิดถึงความจริงเล็กๆ น้อยๆ อย่างนี้ ก็ทำให้รู้สึกว่าน่าเบื่อเหลือเกิน ควรที่จะได้พ้นไปจากชีวิตนี้เสียที หรือว่าพ้นไปจากชาติการเกิด แล้วก็แก่ แล้วก็เจ็บ แล้วก็ตายเสียที ด้วยความรีบร้อนที่จะพ้นแต่ไม่ได้ระลึกลักษณะของจิตซึ่งอาจจะเป็นโลภะ อาจจะเป็นโทสะ อาจจะเป็นโมหะ เป็นประจำ มีแต่ความอยากจะหนีไปอยากจะพ้นไป แต่จะพ้นได้อย่างไรด้วยความไม่รู้ โทสมูลจิตที่ไม่แช่มชื่น ที่ขัดเคือง เกิดแล้วก็มีเชื้อที่จะให้เกิดอีก ไม่ใช่เพียงแต่ความต้องการที่จะพ้นจากภพชาติแล้วก็จะไปทำให้คร่ำเคร่งจดจ้อง พยายามที่จะให้สติระลึกรู้เฉพาะบางนามบางรูป โดยเข้าใจว่าวิธีนั้นเป็นหนทางที่จะทำให้ไม่ต้องเกิดอีก แต่ว่าจิตในขณะนั้นเป็นอะไร ไม่เคยระลึกเลยใช่ไหม เป็นสภาพของสราคจิต จิตที่เป็นโลภมูลจิต หรือว่าเป็นโทสมูลจิต หรือว่าเป็นโมหมูลจิต อยากจะพ้นไปจากจิตแต่ว่าพ้นไม่ได้ เพราะว่าจิตมีปัจจัยที่จะให้เมื่อดับไปแล้วก็เกิดอีก จิตที่ดับไปแล้วเมื่อกี้นี้ก็มีปัจจัยที่ทำให้จิตในขณะนี้เกิดอีก และก็จิตที่ดับไปในขณะนี้ก็มีปัจจัยที่ทำให้จิตดวงต่อไปเกิดอีกเรื่อยๆ เป็นโลภะบ้าง เป็นโทสะบ้าง เป็นโมหะบ้าง โดยที่ถ้าผู้ใดยังไม่ระลึกรู้ลักษณะของจิต อย่าหวังที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม

    มีคราวก่อนก็ได้เรียนให้ท่านผู้ฟังได้ทราบถึงความหนาแน่น ความเหนียวแน่นของกิเลส ซึ่งมีมากแล้วก็เกิดอยู่เป็นประจำ ถ้าท่านไม่รู้ความหนาแน่นความเหนียวแน่นของกิเลส ท่านก็คิดว่ามีวิธีลัดหรือว่ามีวิธีย่อที่จะข้ามไปไม่ระลึกรู้ก็คงจะได้ แต่ว่าถ้าท่านเห็นความหนาแน่นเห็นความเหนียวแน่นของกิเลส และกิเลสก็ไม่ได้อยู่ที่อื่น อยู่ที่จิตแต่ละขณะ แต่ละวันนั้นเอง อย่างสราคจิตโลภมูลจิตก็เกิดอยู่เป็นประจำ เป็นกามาสวะ ความยินดีพอใจในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ แล้วก็ยังเป็นไปกับความเห็นผิด เพราะเหตุว่าขณะที่จิตเกิดขึ้นดวงหนึ่งๆ นั้น จะต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะเหตุว่าสภาพของสังขารธรรมแล้วที่จะเกิดขึ้น โดยลำพังอย่างเดียว ไม่มี ไม่ว่าจะเป็นนามธรรมก็ต้องมีนามธรรมอื่นเกิดร่วมด้วย ที่เป็นรูปธรรมก็ต้องมีรูปธรรมอื่นเกิดร่วมด้วย จะเห็นได้ว่าสภาพของจิตใจก็ย่อมแล้วแต่สภาพธรรมคือเจตสิกซึ่งเกิดร่วมด้วย ทั้งๆ ที่เจตสิกธรรมก็มีแต่เพียง ๑๔ ประเภท แต่ว่ามีกิจการงานที่สะสม หมักดอง ทำให้เกิดบ่อย แล้วก็จัดไว้เป็นประเภทๆ ซึ่งถ้าท่านผู้ฟังจะศึกษาต่อไปก็จะได้เห็นว่า ถ้าขณะใดที่ท่านหลงลืมสติ ขณะนั้นเป็นเรื่องของอกุศลธรรมประเภทใดบ้าง

    สำหรับอกุศลธรรมทั้งหมดทรงจำแนกออกเป็น ๙ หมวด หรือว่า ๙ กอง

    หมวดที่ ๑ คือ อาสวะ ซึ่งเป็นธรรมชาติอกุศลธรรมที่หมักดองอยู่ในใจ เมื่อหมักดองเป็นเชื้ออยู่ในใจก็ย่อมจะทำให้ไหลไปตามอารมณ์ต่างๆ ซึ่งเรื่องของอาสวะนี้ ถ้ากล่าวโดยสภาพของเจตสิกแล้ว ก็มี ๓ ประเภท คือโลภเจตสิก ๑ ทิฏฐิเจตสิก ๑ โมหเจตสิก ๑ แล้วถ้าสงเคราะห์กับจิตตานุปัสสนา ก็จะได้แก่จิตประเภทที่เป็นสราคจิต สำหรับอาสวะ ๔ ก็ขอทบทวนอีกเล็กน้อยเพื่อที่จะให้ท่านผู้ฟังได้เข้าใจเรื่องอกุศลประเภทต่อไปด้วย

    สำหรับอาสวะ ๔

    ๑. กามาสวะ (ความยินดีพอใจในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ) ไหลไปเรื่อย ตลอดเวลาที่สติไม่เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของนามและรูป ทุกท่านคงชินกับพยัญชนะที่ว่า สติเป็นธรรมชาติที่กั้น ปัญญาเป็นธรรมชาติที่ปิดกระแส แล้วแต่ว่าจะกั้นหรือจะปิดกระแสของอกุศลธรรมได้มากเท่าไหร่ แต่ถ้าสติไม่เกิด กระแสของอาสวะก็ไหลไปเรื่อยทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ในวันหนึ่งๆ ด้วยความยินดีพอใจในรูปที่เห็นทางตา ในเสียงที่ได้ยินทางหู ในกลิ่นที่รู้ทางจมูก ในรสที่รู้ทางลิ้น ในโผฏฐัพพะเย็นร้อนอ่อนแข็งที่รู้ทางกาย วันหนึ่งๆ เป็นอย่างนี้ ไหลไปเรื่อยเป็นสรคจิต แต่เท่านั้นไม่พอ ยังมี

    ๒. ทิฏฐาสวะ ความเห็นผิดที่ยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์บุคคล ผู้ที่ยังไม่รู้แจ้งอริยสัจจธรรมแล้วย่อมมี เพราะว่าสติไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ถูกต้องตามความเป็นจริง แล้วก็ละสิ่งที่เคยสะสม หมักดอง เห็นผิด มาเนิ่นนาน ในสิ่งที่กำลังปรากฏ ถ้ายังไม่รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ก็ยังมีทิฏฐาสวะแน่นอนทีเดียว ขณะใดที่เห็นว่าเป็นสัตว์เป็นบุคคลโดยที่ปัญญาไม่ได้เกิดขึ้นรู้ชัด กระจัดกระจายสภาพธรรมปรากฏแต่ละลักษณะตามความเป็นจริงว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นของจริงที่ปรากฏทางตาเท่านั้น แต่พอกระทบสัมผัสก็กลับเป็นของจริงอีกชนิดหนึ่งที่ปรากฏทางกาย เป็นลักษณะของรูปแต่ละชนิด อย่าปนกัน ถ้ายังปนกันตราบใด ก็ยังยึดถือเป็นตัวตนตราบนั้น เพราะฉะนั้นก็ให้ทราบว่าถ้าไม่เจริญสติแล้วก็ไม่มีหนทางที่จะละอาสวะได้เลย ไม่ว่าจะเป็นกามอาสวะ ภวาสวะ ทิฏฐาสวะ อวิชชาสวะ ก็อยู่ที่ตัวของทุกท่านเอง ทุกขณะที่สราคจิตเกิดขึ้นเป็นไปในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ เป็นไปในขันธ์ เป็นไปในความเห็นผิด ไปไปในความไม่รู้ในลักษณะของนามและรูปที่ปรากฏ ซึ่งสภาพของเจตสิกที่หมักดองจะเห็นได้ว่า ถึงแม้ว่ามีเจตสิกถึง ๑๔ ประเภท แต่ที่หมักดองอยู่ในใจมีเพียง ๓ คือ โลภเจตสิก ทิฏฐิเจตสิก และโมหเจตสิก อย่างอื่นมีจริงแต่ไม่หมักดองที่จะให้ไหลไปเรื่อยๆ เท่ากับหรือว่าเหมือนอย่างกับโลภเจตสิก ทิฏฐิเจตสิก และโมหเจตสิก

    สำหรับอกุศลธรรมประเภทต่อไปองค์ธรรมเดียวกับอาสวะคือ โอฆะได้แก่สภาพธรรมเหล่านี้เมื่อเกิดขึ้นแต่ละครั้งก็เป็นเหมือนห้วงน้ำที่ทำให้สะสมอยู่ในวัฏฏะ ไม่สามารถที่จะทำให้พ้นไปได้

    สำหรับอกุศลธรรมประเภทต่อไปที่ได้กล่าวถึงแล้วในคราวก่อนก็คือโยคะ ๔ ได้แก่ โลภเจตสิก ทิฏฐิเจตสิก โมหเจตสิก ซึ่งก็เป็นเครื่องตรึง เครื่องประกอบสัตว์ไว้ไม่ให้พ้นไปจากวัฏฏะ

    และในคราวก่อนก็ได้กล่าวถึงอกุศลธรรมที่เป็นคันถะ สำหรับโลภเจตสิก ทิฏฐิเจตสิก โมหเจตสิก ก็เป็นทั้งอาสวะ เป็นทั้งโอฆะ เป็นทั้งโยคะ ทั้ง ๓ ประเภท ก็แสดงให้เห็นว่ามีอยู่เป็นประจำทีเดียว สำหรับอกุศลธรรมประเภทต่อไป ก็เพิ่มอกุศลธรรมประเภทอื่นขึ้นอีก คือในคันถะ ๔ ได้แก่ อภิชฌากายคันถะ ความยินดีพอใจ อภิชฌาหมายความถึง เพ่งเล็ง ต้องการในอารมณ์ทั้งปวง ก็ได้แก่ โลภเจตสิกที่อยู่ในโลภมูลจิต ๘ ดวง เป็นสราคจิตที่จะต้องระลึกรู้

    ในคันถะ ๔ ได้แก่ อภิชฌากายคันถะ๑ พยาปาทกายคันถะ ๑ สีลัพพตปรามาสกายคันถะ ๑ อิทังสัจจาภินิเวสกายคันถะ ๑ คันถะนี้คือเครื่องผูกไว้ไม่ให้หลุดไป โดยสภาพของเจตสิก ได้แก่ โลภเจตสิก ๑ โทสเจตสิก ๑ ทิฏฐิเจตสิก ๑ ถ้าท่านศึกษาในเรื่องของเหตุผล ว่าทำไมถึงต่างกับอาสวะ ต่างกับโอฆะ ต่างกับโยคะ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 9
    2 ก.ย. 2566

    ซีดีแนะนำ