รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 050


    ตอนที่ ๕๐

    สำหรับการเจริญสติปัฏฐานก็เป็นปกติชีวิตธรรมดาจริงๆ การเห็นที่ทุกคนเห็นในวันนี้ ก็มีเหตุปัจจัยในอดีตที่จะทำให้เห็น ที่จะทำให้ได้ยิน ที่จะทำให้เป็นสุข เป็นทุกข์ต่างๆ มีเหตุปัจจัยที่สะสมมา เพราะฉะนั้น เพียงสติเกิดขึ้นระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงโดยที่ไม่ต้องไปฝืนเป็นอีกบุคคลหนึ่ง หรือว่าไปเปลี่ยนแปลงทำอะไรขึ้น สร้างอะไรขึ้น ซึ่งไม่ใช่เป็นการระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏตามปกติ

    อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต ปฏิปทาวรรคที่ ๒ มีข้อความว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทา ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน คือ

    ทุกขาปฏิปทา ทันธาภิญญา ปฏิบัติลำบาก ทั้งรู้ได้ช้า ๑

    ทุกขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา ปฏิบัติลำบาก แต่รู้ได้เร็ว ๑

    สุขาปฏิปทา ทันธาภิญญา ปฏิบัติสะดวก แต่รู้ได้ช้า ๑

    สุขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา ปฏิบัติสะดวก ทั้งรู้ได้เร็ว ๑

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทา ๔ ประการนี้แล

    ข้อความต่อไปอธิบายแต่ละข้อที่ว่า

    ทุกขาปฏิปทา ทันธาภิญญา นั้น ได้แก่ บุคคลที่โดยปกติเป็นคนที่มีราคะกล้า ย่อมได้เสวยทุกขโทมนัสอันเกิดแต่ราคะเนืองๆ บ้าง โดยปกติเป็นคนมีโทสะกล้า ย่อมได้เสวยทุกขโทมนัสอันเกิดแต่โทสะเนืองๆ บ้าง โดยปกติเป็นคนมีโมหะกล้า ย่อมได้เสวยทุกขโทมนัสอันเกิดแต่โมหะเนืองๆ บ้าง อินทรีย์ ๕ อ่อน ย่อมบรรลุช้า นี้เรียกว่า ทุกขาปฏิปทาทันธาภิญญา

    เพราะฉะนั้น ที่ว่าปฏิบัติลำบาก รู้ได้ช้า ไม่ได้หมายความว่าให้ไปทรมานตัวให้ลำบาก ให้ไปนอนลำบาก นั่งลำบาก รับประทานอาหารลำบาก ทุกข์ๆ ยากๆ อดๆ อยากๆ ไม่ใช่อย่างนั้นเลย ผู้ที่ปฏิบัติลำบาก เพราะโดยปกติเป็นคนมีราคะกล้า โทสะกล้า โมหะกล้า ก็ยากที่จะรู้ชัดในลักษณะของอารมณ์ที่กำลังประสบทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะถ้าประสบกับอารมณ์ที่ดี เป็นคนมีราคะกล้าก็เพลินไปแล้ว ไม่ระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ถ้าเป็นผู้ที่มีโทสะกล้า เวลาที่กระทบอารมณ์ก็เป็นไปกับโทสะ ไม่ระลึกรู้ลักษณะของอารมณ์ตามความเป็นจริง ประกอบทั้งอินทรีย์ ๕ อ่อน ไม่ได้เจริญศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญาพอที่ว่า เมื่อสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมใด ก็สามารถที่จะแทงตลอด ละคลายการยึดถือสภาพธรรมนั้นว่าเป็นตัวตนได้ เป็นผู้ที่เรียกว่า ทุกขาปฏิปทา ทันธาภิญญา

    สำหรับผู้ที่เป็นบุคคลประเภท ทุกขาปฏิปทา ขิปปาภิญญานั้น โดยปกติเป็นผู้มีราคะกล้า โทสะกล้า โมหะกล้า แต่ว่าเป็นผู้ที่มีอินทรีย์แก่กล้า ย่อมบรรลุได้เร็ว นี้เรียกว่า ทุกขาปฏิปทาขิปปาภิญญา

    ไม่ต้องไปฝืนหรือไปทำอะไร หรือว่าไปทรมาน แต่ว่าเป็นผู้ที่รู้ตัวดีว่า ท่านเองเป็นผู้ที่มีราคะกล้าไหม มีโทสะกล้าไหม มีโมหะกล้าไหม แต่เป็นผู้ที่มีอินทรีย์แก่กล้า เมื่อระลึกรู้ลักษณะของนามรูป ปัญญา ศรัทธา วิริยะ สติ ก็สามารถประจักษ์ชัดรูปธรรม หรือนามธรรมที่สติกำลังระลึกรู้อยู่ ไม่ยึดถือว่าเป็นตัวตนได้

    สำหรับสุขาปฏิปทา ทันธาภิญญานั้น โดยปกติไม่เป็นคนมีราคะกล้า ย่อมไม่ได้เสวยทุกขโทมนัสอันเกิดแต่ราคะเนืองๆ บ้าง โดยปกติไม่เป็นคนมีโทสะกล้า โมหะกล้า แต่อินทรีย์ ๕ อ่อน ก็บรรลุช้า

    ส่วนสุขาปฏิปทา ขิปปาภิญญานั้น โดยปกติไม่ได้เป็นคนมีราคะกล้า ไม่ได้เป็นคนมีโทสะกล้า ไม่ได้เป็นคนมีโมหะกล้า และอินทรีย์ ๕ ก็แก่กล้า จึงบรรลุได้เร็ว

    ข้อความต่อไปยังมีอีกนัยหนึ่ง ที่ว่า

    ทุกขาปฏิปทา ทันธาภิญญานั้น ได้แก่ ผู้ที่พิจารณาเห็นกายว่าไม่งาม อาหารเป็นของปฏิกูล เห็นสังขารไม่เที่ยง อินทรีย์ ๕ อ่อน ก็บรรลุช้า

    ส่วนพวกที่เป็นทุกขาปฏิปทา ขิปปาภิญญานั้น พิจารณาเห็นกายว่าไม่งาม อาหารเป็นของปฏิกูล เห็นสังขารไม่เที่ยง แต่เป็นผู้มีอินทรีย์ ๕ แก่กล้า ก็บรรลุเร็ว

    ส่วนผู้ที่เป็นสุขาปฏิปทา ทันธาภิญญาอีกนัยหนึ่งนั้น ได้แก่ ผู้ที่บรรลุฌานที่ ๑ ถึงฌานที่ ๔ แต่อินทรีย์ ๕ อ่อน ถึงแม้เป็นผู้ที่ได้บรรลุฌานจนกระทั่งถึงจตุตถฌานก็ตาม แต่เพราะเป็นผู้ที่มีอินทรีย์ยังอ่อน ยังไม่ได้เจริญสติปัฏฐาน ก็เป็นผู้ที่อินทรีย์ ๕ อ่อน จึงบรรลุช้า

    สุขาปฏิปทา ขิปปาภิญญานั้นอีกนัยหนึ่ง ได้แก่ ผู้ที่ได้บรรลุฌานที่ ๑ ถึงฌานที่ ๔ แต่เป็นผู้ที่มีอินทรีย์ ๕ แก่กล้า ก็สามารถที่จะบรรลุอริยสัจธรรมได้เร็ว

    เป็นชีวิตปกติธรรมดาจริงๆ คือ รวมทั้งผู้ได้ฌานที่เคยสะสมมา และผู้ที่ไม่ได้ฌานด้วย โดยนัยต่างๆ

    ข้อความต่อไปอีกนัยหนึ่ง มีว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทา ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน คือ การปฏิบัติไม่อดทน ๑ การปฏิบัติอดทน ๑ การปฏิบัติข่มใจ ๑ การปฏิบัติระงับ ๑

    นี่เป็นปกติ ซึ่งเป็นลักษณะของบุคคลแต่ละประเภทตามที่ได้สะสมมา

    สำหรับการปฏิบัติไม่อดทน มีข้อความอธิบายว่า

    เขาด่า ย่อมด่าตอบ เขาขึ้งโกรธ ย่อมขึ้งโกรธตอบ เขาเถียง ก็เถียงตอบ

    ส่วนการปฏิบัติอดทนนั้นโดยนัยตรงกันข้าม คือ

    เขาด่า แต่ไม่ด่าตอบ เขาขึ้งโกรธ แต่ไม่ขึ้งโกรธตอบ เขาเถียง แต่ไม่ทุ่มเถียงตอบ

    นี่เป็นลักษณะของคนที่อดทนซึ่งสะสมอบรมมา เมื่อเจริญสติ ก็เจริญสติตามปกติ แต่ไม่ใช่หมายความว่า อดทนโดยต้องไปทำอะไรให้ลำบากแล้วก็เรียกว่า เป็นผู้ที่ต้องอดทนทรมานปัญญาถึงจะเกิด นั่นเป็นการไปสร้างทุกข์ทับถมตนเองที่ไม่มีทุกข์ทั้งทางกาย หรือทางอาหาร ความสะดวก ที่อยู่อาศัยต่างๆ เพราะเหตุว่าทุกข์จริงๆ นั้น คือ ราคะ โทสะ โมหะที่มีมาก และจะต้องเจริญสติเพื่อรู้แล้วละ

    ข้อความต่อไปมีว่า

    การปฏิบัติข่มใจ ได้แก่ การสำรวมอินทรีย์ ไม่ถือนิมิตอนุพยัญชนะ

    ส่วนการปฏิบัติระงับนั้นเป็นการละบรรเทากามวิตก พยาปาทวิตก วิหิงสาวิตก ทำให้อกุศลบรรเทา ถึงความไม่มี

    นี่เป็นบุคคลแต่ละประเภท

    อีกนัยหนึ่ง

    การปฏิบัติไม่อดทน หมายถึงไม่อดทนต่อหนาว ร้อน หิว ระหาย สัมผัส เหลือบ ยุง ลม แดด ถ้อยคำหยาบคาย ทุกขเวทนา และอื่นๆ ที่ไม่น่าชื่นใจ ไม่น่าพอใจ

    ไม่จำเป็นต้องไปทรมานเลย ถ้าไม่มีอกุศลกรรมที่ต้องได้รับอกุศลวิบาก ก็อย่าไปทนต่อความร้อน หิว ระหาย สัมผัส เหลือบ ยุง ลม แดดเลย แต่ผู้ใดปฏิบัติไม่อดทน สังเกตได้ไหมว่า กำลังยืนตากแดด หรือเดินตากแดดด้วยกัน เคยบ่นไหม อดทนหรือไม่ แสดงให้เห็นว่า ไม่อดทนต่อสิ่งเหล่านี้บ้างไหม หิวหน่อยหนึ่งก็ทนไม่ไหว แต่บางท่านมีความอดทน ตามปกติอาจจะหิวแต่ก็ทำงานให้เสร็จเสียก่อน เป็นผู้ที่มีปกติอดทนต่อความลำบากต่างๆ เหล่านี้ ไม่ใช่หมายความว่า ต้องไปทรมานเพื่อให้เกิดขึ้น

    การปฏิบัติที่อดทนก็โดยนัยตรงกันข้าม คือ เป็นผู้ที่อดทนต่อหนาว ร้อน หิว ระหาย สัมผัส เหลือบ ยุง ลม แดด ถ้อยคำหยาบคาย ทุกขเวทนา และอารมณ์ ต่างๆ ที่ไม่น่าชื่นใจ ไม่น่าพอใจ

    ส่วนการปฏิบัติข่มใจนั้นก็โดยนัยเดียวกัน คือ เป็นผู้ที่สำรวมอินทรีย์ ไม่ถือใน นิมิตอนุพยัญชนะ

    การปฏิบัติระงับก็โดยนัยเดียวกัน คือ บรรเทากามวิตกให้ระงับไป ให้สิ้นสุด ให้ถึงความไม่มี

    ข้อความต่อไปกล่าวไว้ว่า

    ในทั้ง ๔ ประการนี้ ทุกขาปฏิปทา ทันธาภิญญา บัณฑิตกล่าวว่า เลวโดยส่วน ๒ คือ ทั้งการปฏิบัติลำบาก และการรู้ช้า

    ส่วนทุกขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา เลวเพราะปฏิบัติลำบาก

    สุขาปฏิปทา ทันธาภิญญา เลวเพราะรู้ได้ช้า

    สุขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา ประณีตโดยส่วน ๒ ทั้งการปฏิบัติก็สะดวก แม้การรู้ก็รู้ได้เร็ว

    ทราบไหมว่า ท่านเองเป็นบุคคลประเภทไหน คนอื่นคงจะไม่รู้ดีกว่าเป็นแน่

    ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา เมื่อได้ฟังแล้ว ที่สติจะเกิดได้ ก็เพราะมีศรัทธาในสิ่งที่เป็นเหตุเป็นผลที่ได้ยินได้ฟัง หรือว่ารู้ว่าสติมีคุณมีประโยชน์ มีศรัทธาในการเจริญสติ เพราะฉะนั้นสติก็ย่อมเกิดได้ มีวิริยะในขณะที่เกิดก็พิจารณารู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ มีศรัทธา มีวิริยะ มีสติ มีสมาธิ มีปัญญา เป็นอินทรีย์ ๕

    ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาสติปัฏฐานสูตร เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน มีข้อความว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ อย่างไรเล่า

    ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เสวยสุขเวทนาอยู่ ก็รู้ชัดว่าเราเสวยสุขเวทนา หรือเสวยทุกขเวทนาอยู่ ก็รู้ชัดว่าเราเสวยทุกขเวทนา หรือเสวยอทุกขมสุขเวทนาอยู่ ก็รู้ชัดว่าเราเสวยอทุกขมสุขเวทนา หรือเสวยสุขเวทนามีอามิส ก็รู้ชัดว่าเราเสวยสุขเวทนามีอามิส หรือเสวยสุขเวทนาไม่มีอามิส ก็รู้ชัดว่าเราเสวยสุขเวทนาไม่มีอามิส หรือเสวยทุกขเวทนามีอามิส ก็รู้ชัดว่าเราเสวยทุกขเวทนามีอามิส หรือเสวยทุกขเวทนาไม่มีอามิส ก็รู้ชัดว่าเราเสวยทุกขเวทนาไม่มีอามิส หรือเสวยอทุกขมสุขเวทนามีอามิส ก็รู้ชัดว่าเราเสวยอทุกขมสุขเวทนามีอามิส หรือเสวยอทุกขมสุขเวทนาไม่มีอามิส ก็รู้ชัดว่าเราเสวยอทุกขมสุขเวทนาไม่มีอามิส ดังพรรณนามาฉะนี้

    ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาภายในบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นในเวทนาบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเสื่อมในเวทนาบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมในเวทนาบ้าง

    อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า เวทนามีอยู่ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่

    จบ เวทนานุปัสสนา

    มีลักษณะของเวทนาที่ได้แสดงไว้ ๙ ประการ คือ

    ประการที่ ๑ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เสวยสุขเวทนาอยู่ ก็รู้ชัดว่าเราเสวยสุขเวทนา มีสติ ไม่หลงลืมสติ ระลึกรู้ลักษณะสภาพความรู้สึกที่เป็นสุขนั้นว่า เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง คือ เห็นเวทนาในเวทนา ไม่ใช่เห็นตัวตน เห็นสัตว์ บุคคลในเวทนา

    ประการที่ ๒ หรือเสวยทุกขเวทนา ก็รู้ชัดว่าเราเสวยทุกขเวทนา

    ประการที่ ๓ หรือเสวยอทุกขมสุขเวทนา ก็รู้ชัดว่าเราเสวยอทุกขมสุขเวทนา

    ประการที่ ๔ หรือเสวยสุขเวทนามีอามิส ก็รู้ชัดว่าเราเสวยสุขเวทนามีอามิส

    คำว่า “มีอามิส” หมายความว่าเวทนานั้นอาศัยกามคุณ คือ อาศัยตาเห็นรูปเกิดความรู้สึกเป็นสุข หูได้ยินเสียงที่พอใจเกิดความรู้สึกที่เป็นสุข จมูกรู้กลิ่นที่พอใจในขณะใดเกิดความรู้สึกที่เป็นสุข ลิ้นกระทบมีการรู้รสที่พอใจ เกิดความรู้สึกที่เป็นสุข กายได้กระทบสัมผัสโผฏฐัพพารมณ์ที่พอใจ เกิดความรู้สึกที่เป็นสุข เหล่านี้ คือ เสวยสุขเวทนามีอามิส ก็รู้ชัดว่าเราเสวยสุขเวทนามีอามิส นี่เป็นประการที่ ๔

    ประการที่ ๕ หรือเสวยสุขเวทนาไม่มีอามิส ก็รู้ชัดว่าเราเสวยสุขเวทนาไม่มีอามิส

    สำหรับสุขเวทนาที่ไม่มีอามิสนั้น หมายความถึงสุขเวทนาที่ไม่ได้อิงอาศัย รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพารมณ์

    ประการที่ ๖ หรือเสวยทุกขเวทนามีอามิส ก็รู้ชัดว่าเราเสวยทุกขเวทนามีอามิส โดยนัยเดียวกัน คือ เป็นไปกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพารมณ์

    ประการที่ ๗ หรือเสวยทุกขเวทนาไม่มีอามิส ก็รู้ชัดว่าเราเสวยทุกขเวทนาไม่มีอามิส คือ ทุกขเวทนาในขณะนั้นไม่เป็นไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพารมณ์

    ประการที่ ๘ หรือเสวยอทุกขมสุขเวทนามีอามิส ก็รู้ชัดว่าเราเสวยอทุกขมสุขเวทนามีอามิส

    ประการที่ ๙ หรือเสวยอทุกขมสุขเวทนาไม่มีอามิส ก็รู้ชัดว่าเราเสวยอทุกขมสุขเวทนาไม่มีอามิส

    ท่านที่เจริญสติปัฏฐานจะต้องระลึกรู้ลักษณะของเวทนา ความรู้สึกด้วย เพราะการละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนได้ จะต้องรู้ชัดในสภาพธรรมนั้นๆ จึงจะละการหลงผิดยึดถือสภาพธรรมนั้นได้ ตราบใดที่ไม่รู้ชัด ยังสงสัยในสภาพธรรมที่ปรากฏตลอดวัน ตลอดเวลา ก็ย่อมไม่หมดการยึดถือในสภาพธรรมนั้นว่า เป็นสัตว์บ้าง เป็นบุคคลบ้าง เป็นวัตถุสิ่งของต่างๆ บ้าง

    สำหรับความรู้สึก บางครั้งเป็นสุข บางครั้งเป็นทุกข์ บางครั้งไม่ใช่สุข ไม่ใช่ทุกข์ คือ ความรู้สึกเฉยๆ วันหนึ่งเปลี่ยนไปเรื่อย เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวเฉยๆ ลักษณะที่ไม่เที่ยงปรากฏ คือ มีแล้วไม่มี เกิดปรากฏแล้วก็หมดไป แต่ที่ลึกซึ้งก็เพราะลักษณะนั้นยากที่จะรู้ได้ ถึงแม้ว่ามีแล้วก็เกิดปรากฏกับตนเอง เพราะฉะนั้น สภาพของทุกขลักษณะจึงเป็นสิ่งที่ลึกซึ้งและรู้ยาก ทั้งๆ ที่เป็นของที่มีจริง

    ขอให้พิจารณาดูว่า เมื่อเวทนาเป็นของจริง มีจริง เกิดปรากฏตลอดเวลา อาศัยตาบ้าง หูบ้าง จมูกบ้าง ลิ้นบ้าง กายบ้าง ใจบ้าง เป็นที่ปรารถนา เป็นที่สำคัญผิด เป็นที่ยึดถืออย่างยิ่งประการหนึ่ง มีใครไม่ต้องการสุขเวทนาบ้าง ถ้าไม่ได้สุขก็ขอให้เพียงเฉยๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข แต่อย่าให้ถึงกับต้องเป็นทุกข์หรือโทมนัส นี่เป็นสิ่งที่ปรารถนากันอยู่ แม้แต่เพียงความรู้สึกแต่ละขณะ ก็ต้องอาศัยเหตุปัจจัยที่ถูกต้องเหมาะสมกับสภาพความรู้สึกประเภทนั้นๆ เป็นปัจจัยทำให้ความรู้สึกนั้นๆ เกิดขึ้น

    กำลังเป็นสุข จะให้เป็นทุกข์แทนสุขก็ไม่ได้ หรือเวลาที่เห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ จะบังคับให้ไม่โทมนัส ไม่เป็นทุกข์ก็ไม่ได้อีกเหมือนกัน โดยปรมัตถธรรม เวทนาเป็นเจตสิกธรรม เป็นธรรมชาติที่เป็นนามธรรมที่เกิดกับจิต แต่ไม่ใช่จิต จิตเป็นสภาพรู้ เป็นประธานในการรู้ ขณะที่เห็นต้องมีความรู้สึกเกิดขึ้นด้วย

    สัมโมหวิโนทนีย์ ซึ่งเป็น อรรถกถาพระวิภังคปกรณ์ ปฏิจจสมุปปาทวิภังค์ มีข้อความเรื่องลักษณะของเวทนาว่า

    อนุภวนลกฺขณา มีการเสวยอารมณ์เป็นลักษณะ

    วิสยรสสมฺโภครสา มีการบริโภคร่วมกันซึ่งรสแห่งอารมณ์เป็นรสะ หรือเป็นกิจ

    สุขทุกฺขปจฺจุปฏฺฐานา มีสุขและทุกข์เป็นปัจจุปัฏฐาน หรือเป็นอาการที่ปรากฏ

    ผสฺสปทฏฺฐานา มีผัสสะเป็นปทัฏฐาน หรือเป็นเหตุใกล้ให้เกิด

    ไม่ว่าจะมีจิตเกิดขึ้นขณะใด ขณะที่จิตเห็น ที่จะมีความรู้สึกเฉยๆ หรือว่ามีความรู้สึกเป็นสุข เป็นทุกข์ ความรู้สึกนั้นไม่ใช่จิต เพราะว่าจิตไม่ใช่เป็นใหญ่เป็นประธานในการเสวยซึ่งลักษณะของอารมณ์ ความรู้สึกนั้นไม่ใช่จิต

    อารมณ์จัดเป็นประเภทคือ อารมณ์ดีเป็นอิฏฐารมณ์ อารมณ์ไม่ดีเป็นอนิฏฐารมณ์ แต่ว่าสภาพของนามธรรมที่เป็นผู้เสวยลักษณะที่ดีไม่ดีของอารมณ์ที่จะทำให้เกิดความชอบความไม่ชอบ หรือว่าความสุขความทุกข์ขึ้นนั้น สภาพที่รู้สึกเป็นสุขในอารมณ์ที่กระทบ สภาพที่รู้สึกเป็นทุกข์ในอารมณ์ที่กระทบ ความรู้สึกนั้นไม่ใช่จิต แต่ว่าเป็นเวทนาเจตสิก


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 9
    4 ต.ค. 2566

    ซีดีแนะนำ