รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 068


    ตอนที่ ๖๘

    หรือว่าระลึกรู้ลักษณะของนามว่า ที่กำลังรู้อ่อนเป็นสภาพรู้ชนิดหนึ่ง เหมือนกับที่กำลังเห็นก็เป็นสภาพรู้ชนิดหนึ่ง การเจริญสติจริงๆ นั้น ต้องพิจารณาแล้วก็เทียบเคียงเสมอ ถ้าท่านเริ่มระลึกรู้ลักษณะของนามทางหนึ่ง แต่ยังไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของนามทางอื่น เป็นต้นว่า ถ้าท่านเริ่มระลึกรู้ลักษณะของได้ยินว่า เป็นสภาพรู้ทางหู แต่ว่าทางตายังไม่ได้เริ่มระลึกรู้เลย ท่านเองจะต้องเป็นผู้ที่พิจารณาธรรมเทียบเคียงธรรมว่า ทางหูขณะที่กำลังได้ยิน เป็นสภาพรู้ เพราะฉะนั้น ทางตาที่กำลังเห็น สภาพรู้ก็คือการเห็นที่กำลังเห็นในขณะนี้นั่นเอง เทียบเคียงกับทางอื่น แล้วท่านก็สามารถจะระลึกได้ว่า ขณะที่กำลังเห็นนี้ก็เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง หรือว่า ทางกายก็เหมือนกัน บางท่านเวลาที่ระลึกรู้รูปเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหวทางกาย ท่านบอกว่าไม่ได้รู้นามทางกายเลย เวลาที่ระลึกรู้ที่กายทีไรก็ระลึกรู้แต่ลักษณะของรูปที่อ่อนบ้าง ที่แข็งบ้าง ที่เย็นบ้าง ที่ร้อนบ้างเท่านั้นเอง ไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของนามที่รู้เย็น ที่รู้ร้อน ที่รู้อ่อน ที่รู้แข็ง ที่รู้ตึง ที่รู้ไหว ความไม่รู้มีมาก ความสงสัยในลักษณะของนามของรูปมีมาก การที่จะยึดถือนามรูปนั้นก็ยังอีกมากมายนักที่สติจะต้องระลึกรู้โดยที่ข้ามไม่ได้

    เพราะฉะนั้น เวลาที่จะระลึกรู้ลักษณะของสราคจิต คือ โลภมูลจิต จะเห็นว่าตรงกับที่ได้ทรงแสดงไว้โดยขั้นของปริยัติ เพราะเหตุว่าตลอดเวลาในวันหนึ่งๆ ตั้งแต่ตื่นนอน ถ้าไม่ใช่เป็นไปในกุศล ก็จะต้องมีสราคจิต โลภมูลจิตเกิดมาก เกิดบ่อย แล้วก็มีอกุศลจิตประเภทอื่นเกิดด้วย แต่ทำไมสติไม่ค่อยระลึกถึงลักษณะของความต้องการ หรือจิตที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้กายไหวไปกระทำสิ่งนั้นบ้าง กระทำสิ่งนี้บ้าง

    ระลึกยากใช่ไหม เคยระลึกบ้างไหม เพราะฉะนั้น ที่จะระลึกได้ว่า ถึงแม้สภาพนี้เป็นอกุศลจิต แต่เป็นอกุศลจิตชนิดหนึ่งซึ่งเกิดเพราะมีความต้องการเกิดร่วมด้วย

    เพราะฉะนั้น วิธีที่จะระลึกรู้ขั้นต้น เวลาปกติธรรมดาในวันหนึ่งๆ ก็มีอกุศลมากมาย เช่น โลภมูลจิตก็มี โทสมูลจิตก็มี โมหมูลจิตก็มี ผู้ที่เจริญสติจะทราบได้อย่างไรว่า ขณะนั้นจิตกำลังเป็นสภาพของสราคจิตหรือโลภมูลจิต หรือเป็นสภาพของโทสมูลจิต หรือโมหมูลจิต แต่เวลาที่เป็นสราคจิตที่จะรู้ได้โดยไม่ยาก จะสังเกตได้จากเวทนา คือ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในขณะนั้น

    เวลาที่เห็นก็ตาม ได้ยินก็ตาม เกิดความปีติ ความโสมนัส ความดีใจ ความชอบมาก ขณะนั้นก็เป็นโสมนัสสสหคตัง เป็นโลภมูลจิต

    ในเรื่องของเวทนานุปัสสนา เคยได้กล่าวถึงแล้วว่า เวลาที่สุขเวทนาเกิดขึ้น สติก็ระลึกรู้ว่า เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ตัวตน แต่นั่นเป็นเรื่องเวทนา ไม่ใช่เรื่องจิต

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะระลึกรู้ลักษณะของจิต เวลาเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เช่น เวลาไปซื้อของ แล้วก็เกิดความชอบ ความพอใจอย่างยิ่ง ในขณะนั้นเป็นสราคจิต ระลึกรู้ได้ หรือเวลาที่รับประทานอาหาร เกิดความรู้สึกว่าอร่อย แล้วก็ชอบมากเกิดขึ้น ในขณะนั้นสติก็ระลึกรู้ได้ว่า ลักษณะนั้นเป็นลักษณะของสราคจิต หรือโลภมูลจิตนั่นเอง เป็นปกติธรรมดาในชีวิตประจำวัน แต่ผู้ที่เจริญสติจะต้องละเอียดขึ้น สำเหนียกมากขึ้น เริ่มระลึกรู้ลักษณะของจิตจริงๆ ของนาม ของรูปที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยจริงๆ

    ถ้าลักษณะนั้นประกอบด้วยปีติหรือโสมนัส เป็นโลภมูลจิตที่เป็นไปกับโสมนัส บาลีใช้คำว่า โสมนัสสสหคตัง เวลาที่สติจะเกิดขึ้นก็เกิดในขณะที่สิ่งนั้นๆ กำลังเป็นไปตามปกติในชีวิตประจำวัน แล้วสติก็เริ่มระลึกรู้ลักษณะของสภาพของจิตนั้นว่าเป็นสราคจิต

    ในปริยัติได้ทรงแสดงโลภมูลจิตไว้ถึง ๘ ดวง

    ดวงที่ ๑ คือ โสมนสฺสสหคตํ ทิฏฐิคตสมฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ หมายความถึงสภาพจิตที่มีความยินดีต้องการ เกิดพร้อมกับโสมนัสเวทนา เป็นไปกับความเห็นผิด และเป็นลักษณะของโลภมูลจิตที่มีกำลังด้วย กล่าวคือ ได้เหตุได้ปัจจัยที่แก่กล้า จึงเกิดขึ้นได้ตามลำพังตนเองโดยไม่ต้องอาศัยการชักชวน การลังเลใดๆ ทั้งสิ้น

    โลภทิฏฐิสัมปยุตต์มี ๔ ดวง เป็นโสมนัสเวทนา ๒ ดวง เป็นอุเบกขาเวทนา ๒ ดวง

    โสมนัสเวทนา ๒ ดวง คือ เป็นอสังขาริก มีกำลังแรงกล้าด้วยตนเอง ๑ ดวง เป็นสสังขาริก คือ อาศัยการชักจูง ๑ ดวง

    ส่วนอุเบกขาก็เหมือนกัน เวลาที่เกิดพร้อมกับความเห็นผิดแล้วก็มีกำลังกล้า ๑ ดวง และอาศัยการชักจูงอีก ๑ ดวง จิตเหล่านี้มีกับผู้ที่ไม่ใช่พระอริยบุคคล แต่ผู้ที่เจริญสติแล้วละอะไรเป็นความต่างกันของผู้ที่ยังไม่ได้เป็นพระอริยบุคคล กับผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลแล้ว และการเจริญข้อประพฤติปฏิบัติ เพื่อจะให้ดับโลภทิฏฐิคตสัมปยุตต์หมดสิ้นเป็นสมุจเฉทจะเจริญอย่างไร แต่ทั้งๆ ที่ได้เรียนแล้วเมื่อเวลาที่จิตเหล่านั้นเกิดท่านก็ไม่ทราบ ไม่มีโอกาสที่จะละโลภทิฏฐิคตสัมปยุตต์ได้ ขอถามว่า โลภมูลจิตที่เป็นทิฏฐิคตสัมปยุตต์เกิดเมื่อไร เกิดหรือไม่เกิด หรือว่าเป็นแต่เพียงตัวหนังสือในตำรา

    ทิฏฐิเจตสิก หรือความเห็นผิดในสภาพธรรมมีมากมายต่างๆ กันออกไป ที่ได้ทรงแสดงไว้ในพระไตรปิฎกนั้นก็มีมาก แต่ก็ยังมีความเห็นผิดสำหรับผู้ที่แม้ว่าจะได้ศึกษาปริยัติแล้ว

    โดยการศึกษา ปริยัติมีแต่ปรมัตถธรรม คือ สภาพที่เป็นจิตปรมัตถ์ เป็นเจตสิกปรมัตถ์ เป็นรูปปรมัตถ์ เป็นนิพพานปรมัตถ์ ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล มีแต่จิต เจตสิก รูป เป็นปรมัตถธรรมที่มีการเกิดขึ้นและดับไป แล้วก็มีนิพพานปรมัตถ์ ๔ ปรมัตถ์เท่านั้น

    เพราะฉะนั้น จะกล่าวว่าผู้ที่ศึกษามีความเข้าใจในเรื่องของปรมัตถธรรม เรื่องของจิต เจตสิก รูป นิพพานแล้ว ไม่มีสักกายทิฏฐิ หรือว่า ไม่มีความเห็นผิดได้ไหม ก็ไม่ได้ เพราะนั่นเป็นเรื่องความเข้าใจในขณะที่เรียน แต่เวลาที่กำลังเห็น เป็นอย่างที่เรียนไหม

    เวลาเรียน จักขุวิญญาณไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพที่เห็นสี จักขุวิญญาณเห็นรูปารมณ์ รูปารมณ์หมายความถึงสิ่งที่ปรากฏให้เห็นทางตา นี่โดยการศึกษา เป็นแต่จิตปรมัตถ์ เจตสิกปรมัตถ์ รูปปรมัตถ์ แต่เวลาเห็นจริงๆ ไม่ได้เป็นอย่างที่ศึกษา เมื่อยังไม่ได้เจริญสติ เห็นเป็นตัวตน เป็นสัตว์ บุคคล เป็นวัตถุสิ่งของต่างๆ

    ถ้าบอกว่าโต๊ะ ผู้ที่ไม่ได้เจริญสติปัฏฐานก็ไม่สามารถที่จะแยกรูปที่ประชุมรวมกันให้กระจัดกระจายออกได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ เป็นคน เป็นสัตว์ เป็นอะไรทั้งสิ้นก็ตาม ถ้าปรากฏทางตาแล้ว ก็เป็นแต่เพียงรูปสี สีสันวรรณะต่างๆ ที่ปรากฏเฉพาะทางตาเท่านั้น และผู้ที่ไม่ได้เจริญสติ ก็ยังคงเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นวัตถุ ควบคุมประชุมรวมกันเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดอยู่นั่นเอง

    เพราะฉะนั้น การละ การขัดเกลากิเลสจะต้องทราบว่า ท่านเองถึงแม้ว่าจะได้ศึกษาพระธรรม แต่ถ้าไม่ได้เจริญสติ ไม่มีโอกาสที่จะละ หรือดับโลภมูลจิตที่เป็นทิฏฐิคตสัมปยุตต์ได้เลย แต่ผู้ที่เริ่มเจริญสติ ความรู้ลักษณะของนามและรูปมากขึ้น ชินขึ้น ชำนาญขึ้น คมขึ้น แล้วแต่ขั้นของปัญญา ถ้าปัญญามีความคมกล้า ทันทีที่สติระลึก ก็รู้ลักษณะของนามของรูปที่กำลังปรากฏโดยที่ไม่สับสน หรือไม่ปะปนกัน

    เพราะฉะนั้น ท่านก็พิจารณาได้ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ที่เป็นโลภมูลจิต จะเป็นโสมนัส หรือจะเป็นอุเบกขา แล้วก็มีทิฏฐิสัมปยุตต์ หรือว่าเป็นทิฏฐิวิปปยุตต์ เป็นอสังขาริกมีความแรงกล้า มีกำลัง หรือว่าเป็นสสังขาริกที่ไม่มีความแรงกล้า ต้องอาศัยการชักจูง

    ผู้ฟัง คำว่า เปรี้ยว ความจริงทางโสตวิญญาณก็เป็นแต่เพียงเสียงเท่านั้นเอง แต่ในทันใดที่เสียงนี้เกิดขึ้น ก็รู้ความหมายทันทีว่าเปรี้ยวนี้เป็นอย่างไร และในขณะนั้น ในแวบเดียวนั้น ก็รู้ต่อไปอีกว่า ชอบหรือไม่ชอบ อภิชฌาหรือโทมนัสมาทันที ในเมื่อเราไม่สามารถจะรู้ทันเสียงหรือโสตวิญญาณ หรือไม่สามารถจะรู้ทันนามที่รู้เสียงนั้นได้ เราสามารถจะรู้นามที่รู้บัญญัตินั้นอีกต่อหนึ่งก็ยังได้ หรือว่าตรงนี้ยังไม่ทัน เมื่ออภิชฌาหรือโทมนัสอย่างหนึ่งอย่างใดเกิดขึ้น เรารู้ทันตรงนี้ก็ยังได้ หรือแม้ว่าทั้งหมดนี้รู้ไม่ทันเลย เราก็ระลึกรู้ต่อไปอีก ระลึกได้ทีหลังว่า เสียงที่ว่าเปรี้ยวนั้น เราก็รู้ตามความเป็นจริงว่าคือเสียง หรือว่าคือบัญญัติ หรือว่าความชอบ ไม่ชอบใจอะไรอย่างนี้ อย่างนี้จะพอได้ไหม

    ท่านอาจารย์ การเจริญสติต้องเจริญมากมาย เพียงแต่รู้ได้ยินกับเสียงเท่านั้นก็ไม่พอ เวลาที่รู้เรื่อง นึกคิดไปต่างๆ สติก็จะต้องระลึกรู้ว่าเป็นนามธรรม หรือการที่รู้ความหมายของสิ่งหนึ่งสิ่งใด สติก็จะต้องรู้ว่าสภาพนั้นก็เป็นนามธรรม หรือมีความพอใจไม่พอใจเกิดขึ้น สติก็จะต้องระลึกรู้ว่าเป็นนามธรรม เพราะเหตุว่าการยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลนั้นหนาแน่นเหนียวแน่นเหลือเกินทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ในวันหนึ่งๆ สติเกิดรู้ชัดในลักษณะของนามของรูปตามความเป็นจริงแล้วหรือยัง ทางไหนยังไม่ได้ระลึก ทางไหนยังไม่รู้ ไม่ใช่ว่ารู้เพียงแค่ได้ยิน หรือรู้เพียงแค่เสียง แม้แต่ที่กำลังเข้าใจเรื่องที่กำลังฟังอยู่ก็เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง

    เพราะฉะนั้น กว่าจะมีปัญญาที่คมกล้า พอสติระลึกรู้นามชนิดหนึ่งชนิดใด รูปชนิดหนึ่งชนิดใดดับไปแล้ว มีนามอื่นเกิดต่อ สติก็รู้ในสภาพความเป็นนามนั้น มีรูปอื่นเกิดต่อ สติก็ระลึกรู้ในสภาพความเป็นรูปของรูปนั้น ไม่สงสัยคิดว่าเป็นตัวตนเป็นสัตว์บุคคลเข้าไปแทรก ปัญญาต้องเจริญมากเหลือเกินก่อนที่จะถึงญาณเป็นขั้นๆ แล้วก็รู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้

    โลภมูลจิตที่ต่างเป็น ๘ ประเภทนั้นก็โดยเวทนา เป็นโลภมูลจิตที่เป็น โสมนัสเวทนา ๔ ดวง อุเบกขาเวทนา ๔ ดวง ทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ๔ ดวง ทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ๔ ดวง อสังขาริก ๔ ดวง สสังขาริก ๔ ดวง

    ขณะนี้กำลังพูดถึงโลภมูลจิตดวงที่ ๑ คือ โสมนสฺสสหคตํ ทิฏฺฐิคตสมฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ

    โสมนัสเกิดขึ้น ไม่รู้ลักษณะของนามรูป แล้วก็ยังมีความเห็นว่าเป็นวัตถุเป็นสิ่งของเป็นตัวตน เห็นสิ่งที่ประชุมรวมกันนั้นเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะเหตุว่าไม่รู้ชัดในลักษณะของรูปกระจัดกระจายไปแต่ละทาง แล้วก็เป็นความเห็นผิดของท่านเอง เกิดขึ้นเอง ยังไม่ต้องได้ยินได้ฟังใครทั้งนั้น เกิดมาก็เห็นแล้ว เป็นคน เป็นสัตว์ เป็นวัตถุ เป็นสิ่งของต่างๆ เวลาที่ใครบอกว่าไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ไม่ใช่สัตว์ไม่ใช่บุคคล ก็ยังไม่เชื่อ ไม่เห็นว่าเป็นอย่างนั้น ก็ยังคงคิดถึงว่าเที่ยง ต้องเป็นคน ต้องเป็นตัวตน ต้องเป็นสัตว์ ต้องเป็นบุคคล ความคิดเห็นอย่างนี้เกิดขึ้นเอง มีกำลังแรง เกิดขึ้นโดยไม่ต้องอาศัยการชักจูง และขณะใดที่เกิดพร้อมกับโสมนัสเวทนา รู้สึกยินดีพอใจในสิ่งนั้น และมีความเห็นว่าเป็นตัวตนเป็นสัตว์บุคคล นั่นคือลักษณะของ โสมนสฺสสหคตํ ทิฏฺฐิคตสมฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ

    ผู้ฟัง ในเด็กที่เกิดมาก็ยังไม่รู้ว่าเป็นอะไรเป็นสัตว์เป็นบุคคล แต่ก็ได้รับคำชี้แจงหรือคำแนะนำจากผู้ใหญ่บอกว่าอย่างนี้เรียกว่าอะไร ความรู้ในเรื่องของบัญญัติก็มากขึ้นเรื่อยๆ คำว่า อสังขาริก คือ เกิดขึ้นเองโดยไม่มีการชักจูง ก็ยังไม่เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ถ้าเด็กทั้งหลายไม่มีโลภมูลจิตที่เป็นทิฏฐิคตสัมปยุตต์ อสังขาริกแล้ว การเป็นเด็กก็ดีสิ แต่ว่าสภาพธรรมที่เป็นของจริง เป็นของจริงเสมอ แต่จะดีไม่ได้เลยเพราะอะไร เพราะในทันทีที่เห็น ความสำคัญหมายในฆนสัญญา ฆนบัญญัติก็เกิดขึ้น คนที่ยังไม่ได้เจริญสติ หรือว่ายังไม่ได้ศึกษาพิจารณาให้เข้าใจจะไม่รู้เลยว่า ทันทีที่เห็น ชั่วขณะที่เห็นนั้น ก็เห็นแต่เพียงรูปอารมณ์หรือสิ่งที่ปรากฏทางตา นี่เป็นของจริงในขณะที่จักขุวิญญาณจิตเกิด แต่ว่าการจับกลุ่มรวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อนของรูป มีสีสันวัณณะ แยกส่วนสัด ถึงแม้ไม่รู้ว่าเรียกอะไรแต่ว่าฆนสัญญาหรือฆนบัญญัติก็มี ถ้าสติไม่ระลึกรู้ในขณะที่มีการเห็นเกิดขึ้นและรู้ว่าสภาพนี้ก็เป็นแต่เพียงสภาพเห็น และสิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่เพราะอาศัยการที่รูปประชุมกัน ความประชุมรวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 9
    8 ต.ค. 2566

    ซีดีแนะนำ