รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 054


    ตอนที่ ๕

    ไม่รู้ว่าเป็นนามหรือเป็นรูป ทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เต็มไปด้วยความหวั่นไหว เต็มไปด้วยอภิชฌาที่ต้องการเฉพาะบางนามบางรูป ดึงมากลับมาจดจ้อง เฉพาะแค่นี้ เฉพาะแค่นั้น ปัญญาไม่ได้เจริญจนทั่ว ไม่ได้รู้สภาพธรรมตามปกติตาม ความเป็นจริงเลย เพราะฉะนั้นเมื่อไหร่จะถึงล่ะ ไม่มีทางถึงเพราะว่าไม่ถูกเสียแล้วตั้งแต่ตอนต้น

    ข้อความในมัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ สฬายตนวรรคภิวังคสูตร มีว่า

    ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหาร เชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย

    ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังนี้ว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงสฬายตนวิภังค์แก่เธอทั้งหลาย พวกเธอจงฟังสฬายตนวิภังค์นั้น จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าวต่อไป

    ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า

    ชอบแล้วพระพุทธเจ้าข้า

    พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า

    พวกเธอพึงทราบอายตนะภายใน ๖ อายตนะภายนอก ๖ หมวดวิญญาณ ๖ หมวดผัสสะ ๖ ความนึกหน่วงของใจ ๑๘ ทางดำเนินของสัตว์ ๓๖ ใน ๓๖ นั้น พวกเธอจงอาศัยทางดำเนินของสัตว์นี้ ละทางดำเนินของสัตว์นี้ และพึงทราบการตั้งสติ ๓ ประการที่พระอริยเสพ ซึ่งเมื่อเสพชื่อว่า เป็นศาสดาควรเพื่อสั่งสอนหมู่ อันเราเรียกว่าสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ยอดเยี่ยมกว่าอาจารย์ผู้ฝึกทั้งหลาย นี้เป็นอุเทศแห่งสฬายตนวิภังค์

    สำหรับอายตนะภายใน ๖ อายตนะภายนอก ๖ หมวดวิญญาณ ๖ หมวดผัสสะ ๖ ก็คงจะได้ทราบกันมาบ้างแล้ว จะขอกล่าวถึงเฉพาะหมวดที่เกี่ยวข้องกับเวทนานุปัสสนา

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า พึงทราบความนึกหน่วงของใจ ๑๘ นั้น เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว คือ เพราะเห็นรูปด้วยจักษุ ใจย่อมนึกหน่วงรูปเป็นที่ตั้งแห่งโสมนัส นึกหน่วงรูปเป็นที่ตั้งแห่งโทมนัส นึกหน่วงรูปเป็นที่ตั้งแห่งอุเบกขา

    ทางตาก็เกิดได้ทั้ง ๓ ความรู้สึก คือ ทั้งโสมนัส ทั้งโทมนัส ทั้งอุเบกขา

    บางทีท่านที่ศึกษาปรมัตถธรรมจะสงสัยว่า ขณะที่จักขุวิญญาณเกิดขึ้น เวทนาที่เกิดขึ้นร่วมด้วยเป็นอุเบกขาเวทนา แต่ทำไมจึงกล่าวว่า มีทั้งโสมนัสเวทนา โทมนัสเวทนา และอุเบกขาเวทนา อันนี้เป็นเพราะขณะที่เห็น ไม่ใช่มีเพียงแค่เห็น มีโสมนัสบ้าง โทมนัสบ้าง อุเบกขาบ้าง เพราะฉะนั้น ทางตาเวลาที่เห็นรูปแล้ว มีการนึกหน่วงของใจอาศัยรูปนั้นเป็นโสมนัสบ้าง เป็นโทมนัสบ้าง เป็นอุเบกขาบ้าง ไม่พ้นไปจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แต่เวทนาที่เกิดกับจักขุวิญญาณจริงๆ นั้นเป็นอุเบกขา เพราะเหตุว่าทางตาไม่ใช่มีแต่เห็น ยังมีโสมนัส โทมนัสที่อาศัยการเห็นด้วย เพราะฉะนั้น จึงมีเวทนาทั้ง ๓ อาศัยทางตา จะเป็นโสมนัส จะเป็นโทมนัส จะเป็นอุเบกขาก็ตาม สติระลึกรู้ได้ ต่อจากนั้น พระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสว่า

    เพราะฟังเสียงด้วยโสตะ เพราะดมกลิ่นด้วยฆานะ เพราะลิ้มรสด้วยชิวหา เพราะถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย เพราะรู้ธัมมารมณ์ด้วยมโน ใจย่อมนึกหน่วงธัมมารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งโสมนัส นึกหน่วงธัมมารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งโทมนัส นึกหน่วงธัมมารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งอุเบกขา ฉะนี้ เป็นความนึกหน่วงฝ่ายโสมนัส ๖ ฝ่ายโทมนัส ๖ ฝ่ายอุเบกขา ๖

    ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า พึงทราบความนึกหน่วงของใจ ๑๘ นั้น เราอาศัยความนึกหน่วงดังนี้กล่าวแล้ว

    ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า พึงทราบทางดำเนินของสัตว์ ๓๖ นั้น เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว คือ โสมนัสอาศัยเรือน ๖ โสมนัสอาศัยเนกขัมมะ ๖ โทมนัสอาศัยเรือน ๖ โทมนัสอาศัยเนกขัมมะ ๖ อุเบกขาอาศัยเรือน ๖ อุเบกขาอาศัยเนกขัมมะ ๖

    ถ้าเทียบเคียงกับในมหาสติปัฏฐาน ข้อความก็ตรงกัน ผิดกันที่พยัญชนะ ข้อความในมหาสติปัฏฐาน มีว่า

    เสวยสุขเวทนามีอามิส ก็รู้ชัดว่าเสวยสุขเวทนามีอามิส

    ข้อความใน สฬายตนวิภังค์

    โสมนัสอาศัยเรือน โสมนัสอาศัยเนกขัมมะ

    เพราะคำว่า มีอามิส หมายความว่าอาศัยกามคุณ ไม่มีอามิส หมายความว่าอาศัยเนกขัมมะ

    ใน ๓๖ ประการนั้น โสมนัสอาศัยเรือน ๖ เป็นไฉน คือ

    บุคคลเมื่อเล็งเห็นการได้เฉพาะซึ่งรูปที่รู้ได้ด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าชอบใจ เป็นที่รื่นรมย์แห่งใจ ประกอบด้วยโลกามิส โดยเป็นของอันตนได้เฉพาะ หรือหวนระลึกถึงรูปที่เคยได้เฉพาะในก่อนอันล่วงไปแล้ว ดับไปแล้ว แปรปรวนไปแล้ว ย่อมเกิดโสมนัสขึ้น โสมนัสเช่นนี้เราเรียกว่า โสมนัสอาศัยเรือน

    ความรู้สึกที่เป็นสุขอาศัยเห็นรูป ได้ยินเสียง ได้กลิ่น ได้ลิ้มรส ได้กระทบสัมผัส สิ่งที่น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นโสมนัสที่อาศัยเรือน หรือแม้การหวนระลึกถึงรูป เสียง กลิ่น รสโผฏฐัพพะที่เคยได้แล้วแปรปรวนไป แต่เวลาที่หวนระลึกถึง รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ได้แล้วเกิดโสมนัสขึ้น โสมนัสนั้นก็ชื่อว่า โสมนัสที่อาศัยเรือน คือ อาศัยกามคุณนั่นเอง ที่เป็นไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

    ในเรื่องของธัมมารมณ์ มีข้อความว่า

    บุคคลเมื่อเล็งเห็นการได้เฉพาะซึ่งธัมมารมณ์ที่รู้ด้วยมโน อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าชอบใจ เป็นที่รื่นรมย์แห่งใจ ประกอบด้วยโลกามิส โดยเป็นของอันตนได้เฉพาะ หรือหวนระลึกถึงธัมมารมณ์ที่เคยได้เฉพาะในก่อนอันล่วงไปแล้ว ดับไปแล้ว แปรปรวนไปแล้ว ย่อมเกิดโสมนัสขึ้น โสมนัสเช่นนี้ นี่เราเรียกว่า โสมนัสอาศัยเรือน เหล่านี้ โสมนัสอาศัยเรือน ๖

    เคยคิดถึงความสุขตอนเป็นเด็กไหม หรือตอนไหนก็ได้ เวลาที่ได้รูป เสียง กลิ่น รส ตื่นเต้นสนุกสนาน ถ้าระลึกถึงความรู้สึกเป็นสุข นั่นเป็นธัมมารัมณ์ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อุเบกขาเวทนา ๓ ทางทวารทั้ง ๖ เป็น ๑๘ อาศัยเรือน ๑๘ ไม่อาศัยเรือน คือ อาศัยเนกขัมมะ ๑๘ รวมเป็น ๓๖

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ใน ๓๖ ประการนั้น โสมนัสอาศัยเนกขัมมะ ๖ เป็นไฉน คือ

    บุคคลเมื่อทราบความไม่เที่ยง ความแปรปรวน ความสลายและความดับของรูปทั้งหลายนั่นแล แล้วเห็นด้วยปัญญาชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า รูปในก่อนและในบัดนี้ ทั้งหมดนั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ย่อมเกิดโสมนัสขึ้น โสมนัสเช่นนี้เราเรียกว่า โสมนัสอาศัยเนกขัมมะ

    บุคคลเมื่อทราบความไม่เที่ยง ความแปรปรวน ความคลายและความดับของเสียงทั้งหลาย บุคคลเมื่อทราบความไม่เที่ยง ความแปรปรวน ความคลายและความดับของกลิ่นทั้งหลาย บุคคลเมื่อทราบความไม่เที่ยง ความแปรปรวน ความคลายและความดับของรสทั้งหลาย บุคคลเมื่อทราบความไม่เที่ยง ความแปรปรวน ความคลายและความดับของโผฏฐัพพะทั้งหลายนั่นแล บุคคลเมื่อทราบความไม่เที่ยง ความแปรปรวน ความคลายและความดับของธัมมารมณ์ทั้งหลายนั่นแล แล้วเห็นด้วยปัญญาชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า ธัมมารมณ์ในก่อนและในบัดนี้ ทั้งหมดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ย่อมเกิดโสมนัสขึ้น โสมนัสเช่นนี้เราเรียกว่า โสมนัสอาศัยเนกขัมมะ เหล่านี้ โสมนัสอาศัยเนกขัมมะ ๖

    การเจริญสติปัฏฐาน พิจารณารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ ถ้าเป็นญาณแล้วก็ประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไปของรูป ของเสียง ของกลิ่น ของรส ของโผฏฐัพพารมณ์ ของธัมมารมณ์แล้วโสมนัส โสมนัสในขณะที่ประจักษ์ความเกิดดับของนามรูปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ โสมนัสนั้นชื่อว่า อาศัยเนกขัมมะ เกิดกับมหากุศลจิต ญาณสัมมปยุตต์ ที่ประจักษ์ความเกิดขึ้นแล้วดับไปของนามและรูป ไม่ใช่ให้ตกใจ ไม่ใช่ให้สะดุ้งแล้วไม่รู้อะไร ท่านผู้ฟังที่เจริญสติปัฏฐานควรจะทราบความมั่นคงของญาณ ชื่อว่าญาณ แล้วเป็นปัญญาที่มั่นคง ไม่ว่าสิ่งนั้นจะแปรเปลี่ยนจากอารมณ์ใดเป็นอารมณ์ใด จากสภาพที่เคยยึดถือว่าเป็นตัวตน เป็นลักษณะของนามรูปแต่ละชนิดที่ไม่ใช่ตัวตน เป็นลักษณะที่เกิดขึ้นแล้วดับไป ญาณที่เป็นความมั่นคงนั้นไม่ว่าสภาพจะแปรอย่างไร ก็รู้ชัด มีความมั่นคงของญาณเกิดต่อไป ไม่ใช่ว่าสะดุ้งแล้วไม่รู้ อย่างนั้นจะไม่ใช่ญาณเลย การเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติตั้งแต่เริ่ม ไม่ว่าสิ่งใดจะแปรสภาพไม่ว่าญาณใดจะเกิดขึ้น ความมั่นคงของญาณขั้นสูงๆ ก็จะได้สามารถแทงตลอดในสภาพของธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นได้ตลอดไปอีก มิฉะนั้นแล้วก็จะต้องหยุดอยู่เพียงแค่นั้น ไม่สามารถที่จะแทงตลอดไปได้ เพราะเหตุว่าการพิจารณายังไม่ทั่ว ความรอบรู้ยังไม่ทั่ว เพราะฉะนั้นเมื่อสภาพนั้นปรากฏเกิดขึ้น แต่ว่าการไม่ได้พิจารณาจนชินก็ทำให้ญาณไม่มั่นคง ไม่สามารถที่จะแทงตลอดในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏต่อไปถึงญาณขั้นสูงๆ ได้ แต่ละขั้นนั้นยาก และต้องชินจริงๆ เป็นการรู้ทั่ว รู้ชัดจริงๆ ไม่ใช่ไปหวังไปคอยว่าเมื่อไหร่จะสะดุ้ง เมื่อไหร่จะดับไป ก็จะได้สะดุ้งอะไรอย่างนั้น ไม่ใช่เป็นการคอยอย่างนั้นเลย แต่ว่าเป็นเรื่องของการที่เจริญปัญญารู้ชัดมากขึ้น และไม่ว่าสภาพนั้นจะประจักษ์ในลักษณะใด ญาณก็มั่นคงและก็แทงตลอดได้ต่อไปอีก

    กุศลจิตมีเวทนาอะไรเกิดร่วมด้วย อุเบกขาก็ได้ โสมนัสก็ได้ แต่ไม่ใช่โทมนัส เวลาที่ประจักษ์การเกิดดับของนามรูป แล้วก็เกิดโสมนัสที่ประจักษ์ความจริง แสวงหาความจริงแล้วได้ประจักษ์ความจริงจะเกิดโสมนัสที่ประจักษ์ความจริงไหม ว่าสภาพนั้นเป็นอย่างนั้น และญาณก็มั่นคง เวทนาก็เป็นโสมนัส ที่เกิดกับมหากุศลญาณสัมปยุตต์ ที่ประจักษ์การเกิดขึ้นแล้วดับไปของนามธรรมและรูปธรรม

    โสมนัสมีอามิส หรือโสมนัสอาศัยเรือน ๖ คือทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และโสมนัสที่ไม่มีอามิส ได้แก่โสมนัสที่ไม่อาศัยเรือนคือโสมนัสที่เป็นไปกับเนกขัมมะ ๖ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เวลาที่ประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับของนามและรูปตามความเป็นจริง ก็มีโสมนัสเวทนาเกิดร่วมกับมหากุศลญาณสัมปยุตต์

    ข้อความต่อไปเป็นโทมนัสอาศัยเรือน ๖ และโทมนัสที่อาศัยเนกขัมมะ ๖

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ใน ๓๖ ประการนั้น โทมนัสอาศัยเรือน ๖ เป็นไฉน คือ

    บุคคลเมื่อเล็งเห็นความไม่ได้เฉพาะซึ่งรูปที่รู้ได้ด้วยจักขุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าชอบใจ เป็นที่รื่นรมย์แห่งใจ ประกอบด้วยโลกามิส โดยเป็นของอันตนไม่ได้เฉพาะ หรือหวนระลึกถึงรูปที่ไม่เคยได้เฉพาะในก่อนอันล่วงไปแล้ว ดับไปแล้ว แปรปรวนไปแล้ว ย่อมเกิดโทมนัส โทมนัสเช่นนี้ นี่เราเรียกว่า โทมนัสอาศัยเรือน

    บุคคลเมื่อเล็งเห็นความไม่ได้เฉพาะซึ่งเสียง บุคคลเมื่อเล็งเห็นความไม่ได้เฉพาะซึ่งกลิ่น บุคคลเมื่อเล็งเห็นความไม่ได้เฉพาะซึ่งรส บุคคลเมื่อเล็งเห็นความไม่ได้เฉพาะซึ่งโผฏฐัพพะ บุคคลเมื่อเล็งเห็นความไม่ได้เฉพาะซึ่งธัมมารมณ์ที่รู้ได้ด้วยมโน อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าชอบใจ เป็นที่รื่นรมย์แห่งใจ ประกอบด้วยโลกามิส โดยเป็นของอันตนไม่ได้เฉพาะ หรือหวนระลึกถึงธัมมารมณ์ ที่ไม่เคยได้เฉพาะในก่อนอันล่วงไปแล้ว ดับไปแล้ว แปรปรวนไปแล้ว ย่อมเกิดโทมนัส โทมนัสเช่นนี้ นี่เราเรียกว่า โทมนัสอาศัยเรือน เหล่านี้ โทมนัสอาศัยเรือน ๖

    ใน ๓๖ ประการนั้น โทมนัสอาศัยเนกขัมมะ ๖ เป็นไฉน คือ

    บุคคลทราบความไม่เที่ยง ความแปรปรวน ความคลายและความดับของรูป ทั้งหลายนั่นแล แล้วเห็นด้วยปัญญาชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า รูปในก่อนและในบัดนี้ ทั้งหมดนั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา แล้วย่อมเข้าไปตั้งความปรารถนาในอนุตตรวิโมกข์

    เมื่อเข้าไปตั้งความปรารถนาในอนุตตรวิโมกข์ดังนี้ว่า เมื่อไรตัวเราจึงจะบรรลุอายตนะที่พระอริยะทั้งหลายได้บรรลุอยู่ในบัดนี้เล่า ย่อมเกิดโทมนัสเพราะความปรารถนาเป็นปัจจัยขึ้น โทมนัสเช่นนี้เราเรียกว่า โทมนัสอาศัยเนกขัมมะ

    ประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของนามรูปแล้วก็จริง แต่ยังไม่บรรลุอริยสัจจธรรม ญาณมีหลายขั้น ไม่ใช่ว่าเพียงอุทยัพพยญาณประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของนามรูปแล้วรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ทันที ยังมีญาณอีกมากก่อนจะถึงการตรัสรู้อริยสัจจธรรม ขนาดใดที่ประจักษ์ความเกิดดับของนามรูป แต่มีความปรารถนาว่า เมื่อไหร่หนอจึงจะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ในขณะนั้น เวทนาเป็นอะไร โทมนัสเวทนา เพราะฉะนั้นผู้เจริญสติที่จะไม่พิจารณาไม่รู้ลักษณะของเวทนาถึงสภาพธรรม ไม่ได้เลย การรู้แจ้งอริยสัจจธรรมนั้นรู้จริงละจริง แล้วก็รู้ทั่ว ปัญญาก็สมบูรณ์ขึ้นเป็นขั้นๆ ด้วย ผู้เจริญสติปัฏฐานทราบลักษณะของโทมนัสอาศัยเนกขัมมะ

    ข้อความต่อไปเป็นเรื่องของเสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ โดยนัยเดียวกัน คือ

    บุคคลทราบความไม่เที่ยง ความแปรปรวน ความคลายและความดับของธัมมารมณ์ทั้งหลายนั่นแล แล้วเห็นด้วยปัญญาชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า ธัมมารมณ์ในก่อนและในบัดนี้ ทั้งหมดนั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา แล้วย่อมเข้าไปตั้งความปรารถนาในอนุตตรวิโมกข์

    เมื่อเข้าไปตั้งความปรารถนาในอนุตตรวิโมกข์ดังนี้ว่า เมื่อไรตัวเราจึงจะบรรลุอายตนะที่พระอริยทั้งหลายได้บรรลุอยู่ในบัดนี้เล่า ย่อมเกิดโทมนัสเพราะความปรารถนาเป็นปัจจัยขึ้น โทมนัสเช่นนี้เราเรียกว่า โทมนัสอาศัยเนกขัมมะ เหล่านี้ โทมนัสอาศัยเนกขัมมะ ๖

    ผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน แต่ว่ายังไม่ประจักษ์การเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรม เวลาที่เกิดโทมนัสว่าเมื่อไหร่จะบรรลุอริยสัจธรรมเคยรู้สึกบ้างไหม ว่าเป็นเวทนาชนิดไหน เป็นสิ่งที่ควรระลึกรู้ ไม่ว่าจะเป็นโสมนัสก็ควรระลึกรู้ โทมนัสก็ควรจะระลึกรู้ อุเบกขาก็ควรระลึกรู้ บางท่านตอนที่เพิ่งเริ่มเจริญสติปัฏฐาน เสียดายแล้วใช่ไหม วันนี้สติเกิดนิดเดียว ขณะที่เสียดายนั้นเวทนาเป็นอะไร โทมนัส ที่ถูกแล้วสติระลึกรู้ลักษณะของโทมนัสเวทนาในขณะนั้น เป็นการเจริญสติปัฏฐาน แต่เพราะไปมัวเสียดาย เป็นตัวตนที่แทรกเข้ามาเพราะอะไร เพราะเหตุที่การพิจารณานามธรรมและรูปธรรมอย่างไม่ทั่ว แม้แต่เวทนาที่เกิดขึ้นปรากฏในขณะนั้นก็หลงลืมสติ ไม่ระลึกรู้สภาพที่ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงความรู้สึกชนิดหนึ่ง เกิดปรากฏเพียงชั่วนิดเดียวแล้วก็หมดไปแล้วก็ดับไป แล้วสติก็ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมอื่นๆ ต่อไป ก็เป็นการเจริญสติปัฏฐานเนืองๆ บ่อยๆ ตามปกติในชีวิตประจำวัน และก็รู้ชัดขึ้นแล้วก็รู้ละเอียดขึ้น นี่คือจะเป็นการเจริญสติปัฏฐาน เป็นการเจริญปัญญา เพื่อความรู้จริง รู้แจ้ง แล้วก็สามารถที่จะละคลายความไม่รู้ได้


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 9
    5 ต.ค. 2566

    ซีดีแนะนำ