รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 058


    ตอนที่ ๕๘

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก ศาสดาเป็นผู้อนุเคราะห์ แสวงหาประโยชน์เกื้อกูล อาศัยความเอ็นดู แสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายว่า นี้เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่พวกเธอ นี้เพื่อความสุขแก่พวกเธอ เหล่าสาวกของศาสดานั้น บางพวกย่อมไม่ฟังด้วยดี ไม่เงี่ยโสตสดับ ไม่ตั้งจิตรับรู้ แล้วประพฤติหลีกเลี่ยงคำสอนของศาสดา บางพวกย่อมฟังด้วยดี เงี่ยโสตสดับ ตั้งจิตรับรู้ ไม่ประพฤติหลีกเลี่ยงคำสอนของศาสดา

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ในข้อนั้นศาสดาไม่เป็นผู้ชื่นชม ไม่เสวยความชื่นชม ทั้งไม่เป็นผู้ไม่ชื่นชม ไม่เสวยความไม่ชื่นชม เว้นทั้งความชื่นชมและความไม่ชื่นชมทั้งสองอย่างนั้นแล้ว เป็นผู้วางเฉย ย่อมมีสติสัมปชัญญะอยู่

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้เราเรียกว่า การตั้งสติประการที่ ๒ ที่พระอริยะเสพ ซึ่งเมื่อเสพชื่อว่า เป็นศาสดาควรเพื่อสั่งสอนหมู่

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก ศาสดาเป็นผู้อนุเคราะห์ แสวงหาประโยชน์เกื้อกูล อาศัยความเอ็นดู แสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายว่า นี้เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่พวกเธอ นี้เพื่อความสุขแก่พวกเธอ เหล่าสาวกของศาสดานั้นย่อมฟังด้วยดี เงี่ยโสตสดับ ตั้งจิตรับรู้ ไม่ประพฤติหลีกเลี่ยงคำสอนของศาสดา

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ในข้อนั้น ตถาคตเป็นผู้ชื่นชม เสวยความชื่นชม และไม่ระคายเคือง ย่อมมีสติสัมปชัญญะอยู่

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้เราเรียกว่า การตั้งสติประการที่ ๓ ที่พระอริยะเสพ ซึ่งเมื่อเสพชื่อว่า เป็นศาสดาควรเพื่อสั่งสอนหมู่ ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า และพึงทราบการตั้งสติ ๓ ประการที่พระอริยะเสพ ซึ่งเมื่อเสพชื่อว่า เป็นศาสดาควรเพื่อสั่งสอนหมู่ นั่น เราอาศัยเหตุดังนี้กล่าวแล้ว

    ข้อความตอนท้าย

    พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล

    เพราะเหตุว่าเป็นเรื่องที่ละเอียด โสมนัสเวทนาอาศัยเรือน ไม่อาศัยเรือน เป็นไปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นของที่มีจริงพิสูจน์ได้ แต่ไม่ควรพิสูจน์เพียงแค่นี้ ควรจะให้ตลอดไปจนกระทั่งถึงโสมนัสเวทนาที่อาศัยเนกขัมมะด้วย เพราะว่าเป็นประโยชน์เกื้อกูลมาก และจะเห็นได้ว่าพระธรรมเทศนานั้นละเอียดมาก อุปการะเกื้อกูลให้เกิดปัญญาจริงๆ เพื่ออนุเคราะห์แก่ท่านที่เจริญสติปัฏฐาน ไม่ให้เข้าใจคลาดเคลื่อน ไม่ให้ปฏิบัติผิด

    ท่านผู้ฟังถามว่า

    ๑. การรู้ตัว เช่น ในขณะที่เดินก็รู้ตัวว่ากำลังเดิน ในขณะที่นั่งก็รู้ตัวว่ากำลังนั่ง ในขณะที่โกรธก็รู้สึกว่ากำลังโกรธ เป็นต้น อย่างนี้เป็นการเจริญสติปัฏฐานหรือไม่ ถ้าไม่ใช่จะต่างกันอย่างไร คือไม่ทราบความต่างกันในขณะที่เดินแล้วก็รู้สึกตัวว่าจะเป็นการเจริญสติปัฏฐานหรือยัง

    ข้อสำคัญที่สุดของการเจริญสติปัฏฐานคือ ปัญญา ปัญญานั้นก็ต้องพิจารณาเห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม ว่าสภาพธรรมที่กำลังปรากฏมันไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้นในขณะที่เดินแล้วก็รู้ตัวว่ากำลังเดิน รู้กาย หรือว่ารู้เวทนา หรือว่ารู้จิต หรือว่ารู้ธรรม ที่กำลังปรากฏในขณะนั้นหรือไม่ เพราะไม่มีสัตว์ไม่มีบุคคลที่กำลังเดิน แต่ว่าในขณะที่กำลังเดินนั้นมีกาย มีเวทนา มีจิต มีธรรม สำหรับผู้ที่เจริญสติ สติก็ระลึกลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง แล้วต้องรู้ด้วยว่าสิ่งที่กำลังพิจารณาหรือว่ากำลังระลึกรู้ลักษณะนั้นมีลักษณะที่เป็นสภาพรู้ เป็นนามธรรม หรือว่าที่เป็นรูปธรรม อย่าติดเพียงแค่ชื่อว่านาม เพียงแค่ชื่อว่ารูป คำว่า นาม ในภาษาบาลีนั้นหมายความถึง สภาพที่น้อมไปสู่อารมณ์ ซึ่งเป็นสภาพที่รู้ เป็นสภาพที่จำได้ เป็นสภาพที่คิด เป็นสภาพที่รู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์ในสิ่งที่ปรากฏ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะฉะนั้นแม้ในขณะที่เดิน ผู้เจริญสติก็ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ จะเป็นกายก็ได้ เป็นเวทนาคือความรู้สึกต่างๆ ก็ได้ เป็นจิตก็ได้ เป็นธรรมก็ได้ แต่หมายความว่าขณะที่เดิน ผู้ที่ยังเป็นปุถุชนมีปัจจัยที่จะให้หลงลืมสติ ก็หลงลืมสติมากใช่ไหม คือไม่ค่อยจะระลึกลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ แต่เพราะเหตุว่าได้ฟังธรรม เห็นประโยชน์ของสติ แล้วก็เข้าใจเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน เพราะฉะนั้นในขณะที่เดินถึงแม้ว่าจะหลงลืมสติไป สติก็เกิดระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏตามปกติได้ ไม่ใช่ว่าเพียงเดินก็รู้ว่ากำลังเดิน หรือว่านั่งก็รู้ว่ากำลังนั่ง หรือว่าโกรธก็รู้ตัวว่ากำลังโกรธ เท่านั้นไม่พอ แต่หมายความว่าต้องรู้ลักษณะของนามธรรม รูปธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และการที่รู้ว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนจริงๆ หมายความว่าปัญญาจะต้องรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมว่าเป็นเพียงนามธรรม ในสภาพลักษณะสภาพธรรมที่เป็นรูปธรรมว่าเป็นเพียงรูปธรรม เท่านั้น ถ้าที่ตัวของท่านเองไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์บุคคล มีแต่นามธรรมกับรูปธรรม ท่านจะมีความรู้ไปถึงสภาพวัตถุข้างนอกไหมว่าสิ่งที่ปรากฏนั้นเป็นเพียงรูปธรรม หรือว่าเป็นนามธรรม สามารถที่จะรู้ได้ไหม ถ้าสมมติว่าที่ตัวของท่านเองเคยยึดถือว่าเป็นตัวตน เป็นเรา เป็นของเรา แต่เวลาที่สติระลึกรู้ เป็นไปที่กาย ก็มีลักษณะของรูปธรรมปรากฏ เย็นบ้าง ร้อนบ้าง อ่อนบ้าง แข็งบ้าง ตึงบ้าง ไหวบ้าง ที่กายตามปกติ เดินไปตึงบ้างไหมตรงโน้นตรงนี้ นั่งอยู่มีส่วนหนึ่งส่วนใดที่จะเคลื่อนไหวภายในร่างกายบ้างไหม เวลาที่กลืนอาหารมีอะไรที่ไหวไปบ้างไหมหรือว่าค้างอยู่ ไม่ไหวหรือว่าไม่ไหลลงไป ตามปกติธรรมดาทุกอย่าง สภาพธรรมก็เป็นของจริงที่พิสูจน์ได้ เพราะฉะนั้นเวลาที่สติระลึกเป็นไปก็เป็นไปตามปกติจริงๆ เห็นว่าสภาพลักษณะนั้นเป็นแต่เพียงรูปธรรมลักษณะต่างๆ ถ้าสติระลึกเป็นไปที่กาย เมื่อที่กายของท่านเองแตกย่อยออกไป กระจายด้วยปัญญาที่พิจารณารู้ลักษณะของนามธรรมแต่ละชนิด รูปธรรมแต่ละชนิด ความเป็นจริงที่ประชุมรวมกันเป็นก้อนเป็นแท่งเป็นสัตว์เป็นบุคคลให้ยึดถือเข้าใจผิดว่าเป็นตัวตนก็หมดไป เพราะฉะนั้นเวลาที่ท่านกระทบสัมผัสวัตถุภายนอกสิ่งอื่น เช่นโต๊ะ เก้าอี้ กระเป๋า ถ้วยแก้ว อะไรก็แล้วแต่ ก็มีแข็ง มีอ่อนเหมือนกันใช่ไหม ความรู้สึกว่ายังคงเป็นสิ่งนั้นก็จะหมดไป เพราะว่าลักษณะของรูปธรรมเท่านั้นที่ปรากฏ แต่ละลักษณะ เพราะฉะนั้นโลกทั้งโลกไม่ใช่เฉพาะแต่ตัวท่านเท่านั้นที่แตกย่อยกระจัดกระจายออกไปเป็นแต่ละรูป แต่ละนามจริงๆ ถ้ายังไม่แตกแยกจะจัดกระจายยังประชุมรวมกันเป็นก้อนเป็นแท่ง ความเห็นผิดว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เป็นวัตถุสิ่งของต่างๆ ก็ยังอยู่ เพราะฉะนั้นการที่จะถึงความสมบูรณ์ของปัญญาที่ประจักษ์ว่า สภาพธรรมทั้งหลายเป็นแต่เพียงนามธรรม เป็นแต่เพียงรูปธรรมก็จะมีไม่ได้ แต่ถ้าจะประจักษ์จริงๆ ว่า ไม่ใช่ตัวตน โลกทั้งหมด ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่วัตถุที่ประชุมรวมกันเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เคยยึดถือ แต่ว่าเป็นของจริงแต่ละทาง เช่นทางตา จะเห็นคน เห็นสัตว์ เห็นวัตถุสิ่งของ เห็นวัด เห็นบ้าน เห็นศาลา ก็เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเหมือนกันหมด พอกระทบสัมผัสดู ไม่ว่าจะกระทบสัมผัสบุคคล วัตถุสิ่งของ ก็เป็นแต่เพียงสภาพที่อ่อน เป็นแต่เพียงสภาพที่แข็ง หรือตึง หรือไหว กระจัดกระจายแยกทั้งโลกไม่ใช่แต่เฉพาะที่ท่านยึดถือว่าเป็นตัวท่าน แต่ว่าเป็นการรู้แจ้งแทงตลอดในสภาพของนามธรรมรูปธรรม ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แล้วประจักษ์ว่า สภาพธรรมเหล่านั้นก็ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์บุคคล เป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น จึงจะชื่อว่าเป็นการเจริญสติปัฏฐาน

    ๒. ขณะที่ฟังบรรยายเกิดการคิดนึก พิจารณาติดตาม การนึกคิดพิจารณานี้เป็นรูปหรือนามอะไร และอย่างไร

    ถ้าเข้าใจความหมายของคำว่า นามธรรม ความหมายของคำว่า รูปธรรม ไม่จำเป็นที่จะต้องให้คนอื่นบอก แต่ว่าสติระลึกรู้ลักษณะที่กำลังปรากฏว่าลักษณะนั้นเป็นสภาพรู้หรือเปล่า เป็นความจำหรือเปล่า เป็นความรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์หรือเปล่า เป็นความดีใจเสียใจหรือเปล่า เป็นการคิดนึกหรือเปล่า ถ้าเป็นสภาพอย่างนี้ เป็นสภาพที่รู้อารมณ์ก็ต้องเป็นนามธรรม ส่วนรูปธรรมนั้น ไม่รู้อะไรเลย ไม่ใช่สภาพรู้ เพราะฉะนั้นการได้ยินได้ฟังว่าอะไรเป็นนามอะไรเป็นรูปนั่นเป็นการศึกษาโดยขั้นของการฟัง แต่ว่าปัญญาที่จะรู้จริงๆ ในลักษณะว่า ขณะนั้นสิ่งที่กำลังปรากฏเป็นรูปธรรมหรือเป็นนามธรรม ขณะที่สติกำลังระลึกรู้ลักษณะของสิ่งนั้น จะต้องรู้ชัดว่าสภาพลักษณะนั้นเป็นสภาพรู้หรือว่าไม่ใช่สภาพรู้ ในขณะที่กำลังมีสติในขณะที่สติกำลังระลึกสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้นั่นเอง ตอบได้หมดทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ว่าอะไรเป็นรูป อะไรเป็นนาม จึงจะเจริญสติปัฏฐานได้ ไม่ใช่เพียงแต่จำไว้โดยที่คนอื่นบอกว่าสิ่งนั้นเป็นนามแล้วก็สิ่งนี้เป็นรูป แต่คำว่านามหมายความว่าอะไรไม่ทราบ คำว่ารูปหมายความว่าอะไรไม่ทราบ แต่ถ้าทราบความหมายของคำว่านามธรรม ทราบความหมายของคำว่ารูปธรรม พิสูจน์ได้ที่ตัวเองหรือว่าสิ่งภายนอกก็ได้ ทุกขณะที่สติระลึกได้ ถามกัน สอบทานซึ่งกันและกันก็ได้ว่า ที่ว่าเป็นรูปทางตามีลักษณะอย่างไรจึงเชื่อว่าเป็นรูป ที่ว่าเป็นนามมีลักษณะอย่างไร

    วันนี้ถ้าหมดข้อสงสัยในกายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา ก็จะเป็นเรื่องของจิตตานุปัสสนา ข้อความในมหาสติปัฏฐานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค มีว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่อย่างไรเล่า

    ภิกษุในธรรมวินัยนี้ จิตมีราคะ ก็รู้ว่าจิตมีราคะ หรือจิตปราศจากราคะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากราคะ

    จิตมีโทสะ ก็รู้ว่าจิตมีโทสะ หรือจิตปราศจากโทสะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากโทสะ

    จิตมีโมหะ ก็รู้ว่าจิตมีโมหะ หรือจิตปราศจากโมหะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากโมหะ

    จิตหดหู่ ก็รู้ว่าจิตหดหู่

    จิตฟุ้งซ่าน ก็รู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน

    จิตเป็นมหรคต ก็รู้ว่าจิตเป็นมหรคต หรือว่าจิตไม่เป็นมหรคต ก็รู้ว่าจิตไม่เป็นมหรคต

    จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ว่าจิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า หรือจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ว่าจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า

    จิตเป็นสมาธิ ก็รู้ว่าจิตเป็นสมาธิ หรือจิตไม่เป็นสมาธิ ก็รู้ว่าจิตไม่เป็นสมาธิ

    จิตหลุดพ้น ก็รู้ว่าจิตหลุดพ้น หรือจิตไม่หลุดพ้น ก็รู้ว่าจิตไม่หลุดพ้น ดังพรรณามาฉะนี้

    ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตภายในบ้าง พิจารณาเห็นจิตในจิตภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นจิตในจิตทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นในจิตบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเสื่อมในจิตบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมในจิตบ้าง ย่อมอยู่

    อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า จิตมีอยู่ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และ ไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่

    จบจิตตานุปัสสนา

    ใครจะรู้ถ้าไม่ใช่ผู้ที่เจริญสติ ลักษณะของจิตที่ได้ทรงแสดงไว้ในจิตตานุปัสสนา ถ้าไม่ใช่ผู้เจริญสติแล้วจะรู้อย่างนี้ไหม ไม่มีหนทางเลยที่จะรู้ได้ แต่ทำไมทรงแสดง จิตตานุปัสสนา เพราะเป็นสภาพธรรมที่มีจริง เกิดดับสืบต่อกันทุกขณะ แต่หลงเข้าใจผิดยึดถือจิตว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ บุคคล เป็นสภาพที่ปัญญาจะต้องเจริญแล้วก็รู้ชัด จึงจะละได้ ไม่ใช่ปล่อยให้ไม่รู้ไป เรื่องไม่รู้เป็นเรื่องที่จะไม่ถึงอริยสัจธรรม และเมื่อย่อสภาพธรรมที่มีจริง ก็จะปรากฏเป็นสภาพรู้อย่างหนึ่งกับสภาพที่ไม่ใช่สภาพรู้อีกอย่างหนึ่ง แต่สิ่งที่มีปรากฏให้รู้ได้ ก็มีลักษณะที่ปรากฏแตกต่างกัน อย่างเวทนาเป็นสภาพความรู้สึกไม่ใช่จิต เพราะฉะนั้น เวทนาซึ่งเป็นสภาพความรู้สึกปรากฏให้รู้ได้ ความสุขมี โสมนัสมี ความทุกข์มี โทมนัสมี อุเบกขามี เป็นสภาพที่ปรากฏให้สติระลึกได้ ส่วนของเวทนานุปัสสนา ก็เป็นเวทนานุปัสสนา

    แต่สภาพของจิตก็เป็นสภาพที่มีจริง เกิดดับสืบต่อกัน สภาพของจิตนั้นเป็นสภาพที่มีความรู้อารมณ์เป็นลักษณะ มีความเป็นไปโดยความถึงก่อนเป็นรสะ รู้ หรือว่าเป็นหัวหน้า เป็นประธานในการรู้อารมณ์นั่นเอง อย่างทางตาที่เห็นสีเป็นจิต ส่วนที่จะชอบหรือไม่ชอบเป็นสภาพธรรมอื่นที่เกิดพร้อมกับจิต หรือว่าความรู้สึกโสมนัส โทมนัส อุเบกขา ก็เป็นสภาพความรู้สึกที่เกิดกับจิต แต่ในขณะที่กำลังเห็น เป็นจิตที่เห็น จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้อารมณ์ มีการสืบเนื่องกัน คือ มีการเกิดดับสืบต่อกันเป็นปัจจุปัฏฐาน คือ เป็นอาการที่ปรากฏให้รู้ได้ ถ้าจิตเกิดขึ้นและดับไปแล้วไม่เกิดต่อก็ไม่มีการปรากฏอะไรให้รู้ได้เลย แต่ถึงแม้เมื่อจิตดับไปแล้ว ก็เกิดอีก สืบต่อไว้อีก เห็นเมื่อสักครู่นี้ก็ดับไปแล้ว มีปัจจัยทำให้จิตดวงต่อไปเกิดขึ้นเห็นอีก ได้ยินอีก ไม่ว่าจะนั่ง นอน ยืน เดิน มีชีวิตอยู่ที่ไหนก็มีจิตที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยเหตุปัจจัย แล้วก็ดับ แล้วก็เกิดดับสืบต่อรู้อารมณ์อยู่ตลอดเวลา

    เพราะฉะนั้น ไม่ว่าสติจะระลึกรู้ลักษณะของจิต ระลึกได้ทุกแห่ง ไม่ว่าในสถานที่ใด ทรงแสดงลักษณะของจิตทุกชนิดว่าเป็นสติปัฏฐาน เป็นจิตตานุปัสสนา เป็นสิ่งที่สติระลึกรู้ได้ จึงจะละการยึดถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล

    สภาพของจิตนั้นมีนามและรูปเป็นปทัฏฐาน ในบางแห่ง เช่น ในสัมโมหวิโนทนีกล่าวว่า มีสังขารเป็นปทัฏฐาน หรือมีวัตถุและอารมณ์เป็นปทัฏฐาน คือ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด เพราะฉะนั้น การเจริญสติต้องเจริญเป็นปกติเนืองๆ บ่อยๆ พิจารณานามรูปที่กำลังปรากฏตามปกติให้ทั่ว ได้มากเท่าไรปัญญาก็จะรู้ชัดแล้วละคลายการที่เคยยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนมากเท่านั้น

    อย่างใน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน มีข้อความว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่อย่างไรเล่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ จิตมีราคะก็รู้ว่า จิตมีราคะ

    ในจิตตานุปัสสนา ทรงแสดงนัยของการพิจารณาไว้ ๑๖ ประการในเรื่องของจิต เริ่มด้วยจิตมีราคะก็รู้ว่าจิตมีราคะ เพราะวันหนึ่งๆ ราคะมาก โลภมูลจิตเป็นพื้นเป็นประจำที่จะให้ระลึกได้ ก็ควรที่จะระลึกเพื่อรู้ชัด แล้วละการยึดถือว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ บุคคล แต่โดยมาก เพราะไม่เจริญสติ ไม่เข้าใจการเจริญสติ จึงกล่าวว่าเจริญสติไม่ได้ แต่ในพระไตรปิฎก สติระลึกเป็นไปในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม และเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ คำว่าอนุปัสสนา คือ เนืองๆ บ่อยๆ เพราะว่าจุดประสงค์ คือ ปัญญาที่รู้ชัด เพราะสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติ

    ถ้าจุดประสงค์เป็นความสงบ จะไม่รู้ชัดในสภาพธรรมตามปกติ เพราะขณะนี้ตามปกติเป็นโลภมูลจิต ถ้าไม่รู้ ก็ไม่ละ ก็ไปทำผิดปกติขึ้น แต่การเจริญสติปัฏฐานถ้าเข้าใจว่าเป็นเรื่องปกติ ไม่หลีกเลี่ยง ไม่รีรอ โลภมูลจิตก็โลภมูลจิต โลภมูลจิตเกิดแล้วดับไหม เป็นของธรรมดาที่จะละโลภะ โทสะ โมหะได้ ต้องละเป็นลำดับขั้น โดยการละการที่ยึดถือโลภะ โทสะ โมหะว่าเป็นตัวตนเสียก่อน โดยการรู้ว่า สภาพนั้นเป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง เพราะบางคนเข้าใจว่า การเจริญสติปัฏฐานนั้นละอภิชฌาและโทมนัส ซึ่งพยัญชนะมีกล่าวไว้จริงแต่ต้องเข้าใจด้วยว่า การเจริญสติปัฏฐานนั้นไม่ใช่ละอภิชฌาโทมนัสเพียงขั้นของการเจริญสมาธิ แต่การเจริญสติปัฏฐานที่ละอภิชฌา โทมนัส เพราะสติระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ละโมหะความไม่รู้ในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ โดยสติเกิดขึ้นระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง

    อย่างประการที่หนึ่งของจิตตานุปัสสนาที่ว่า จิตมีราคะก็รู้ว่าจิตมีราคะ เป็นอริยสัจธรรมสำหรับผู้ที่ละคลายเพราะรู้ทั่ว โลภมูลจิตเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยเป็นปกติ สติระลึกรู้เท่านั้นเพื่อจะไม่ยึดถือว่าเป็นสัตว์ บุคคล ไม่ใช่ว่าจะให้เปลี่ยน หรือว่าให้ทำอะไร หรือว่าให้มีกฎเกณฑ์ข้อบังคับต่างๆ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 9
    27 ก.ค. 2566

    ซีดีแนะนำ