รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 051


    ตอนที่ ๕๑

    สภาพธรรมอีกชนิดหนึ่ง ที่ภาษาบาลีใช้คำว่า เวทนา แต่ว่าภาษาไทยก็หมายความถึง สภาพความรู้สึกนั่นเอง มีการบริโภคร่วมซึ่งรสแห่งอารมณ์ เป็นรสไม่ว่าจะเห็น จะได้ยิน จะได้กลิ่น จะลิ้มรส จะกระทบโผฏฐัพพารมณ์ หรือว่าจะคิดนึกเรื่องใดๆ ก็ตาม จิตแต่สภาพที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้อารมณ์เท่านั้น แต่ความรู้สึกที่เป็นสุขเพราะคิดถึงอารมณ์นั้น เป็นทุกข์เพราะคิดถึงอารมณ์นั้น เป็นสุขที่ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้ลิ้มรสสิ่งต่างๆ สภาพความรู้สึกนั้นเป็นลักษณะของเวทนา เวทนาเป็นอินทรีย์ เป็นใหญ่ ในการที่จะเสวยอารมณ์ หรือว่ามีการบริโภคร่วมซึ่งรสแห่งอารมณ์ ผู้ที่รู้รสจริงๆ ของอารมณ์ที่ได้กระทบนั้นเป็นสุขเป็นทุกข์ไม่ใช่จิต แต่เป็นเวทนาเจตสิก

    สำหรับอาการที่ปรากฏให้รู้ได้ว่าเป็นเวทนา คือ สุขทุกฺขปจฺจุปฏฺฐานา มีสุข และทุกข์เป็นปัจจุปัฏฐาน คือ เป็นอาการที่ปรากฏให้รู้ได้

    วันหนึ่งที่เป็นสุขเป็นทุกข์นั้นนะคะก็ไม่ใช่สัตว์ไม่ใช่บุคคลไม่ใช่ตัวตนแต่เป็นอาการที่ปรากฏของเวทนาที่จะให้รู้ได้แล้วก็สภาพของเวทนาก็เป็นสังขารธรรมอาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้นเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดเวทนานั้นก็คือ ผัสสะ (การกระทบอารมณ์) เป็นปทัฏฐาน (เป็นเหตุใกล้) ให้เกิดเวทนา

    จิตเป็นสภาพที่รู้อารมณ์ นามธรรมทั้งหลายนั้นน้อมไปสู่อารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นจิตก็น้อมไปสู่อารมณ์ เจตสิกซึ่งเป็นนามธรรมก็น้อมไปสู่อารมณ์ จิตกับเจตสิกเกิดร่วมกันน้อมไปสู่อารมณ์ใด ก็มีอารมณ์ร่วมกัน เป็นต้นว่าจิตเห็น มีสีเป็นอารมณ์ เจตสิกซึ่งเป็นนามธรรมซึ่งเกิดกับจิต มีสีเป็นอารมณ์ ทุกประเภททุกดวงก็น้อมไปสู่อารมณ์เดียวกัน หมายความว่ามีสีเป็นอารมณ์ร่วมกันแล้วแต่ว่าลักษณะเจตสติกแต่ละประเภทนั้นจะกระทำจิตใด ผัสสะก็เป็นเจตสิกประเภทหนึ่งที่ทำให้จิตกระทบกับอารมณ์ เวลานี้ก็คงจะมีกลิ่น มีเสียง มีเย็นร้อนอ่อนแข็ง แล้วแต่มีเรื่องราวต่างๆ ขณะนี้จิตของผู้ใดมีอารมณ์ใดก็เพราะผัสสะทำกิจให้จิตนั้นกระทบกับอารมณ์นั้นในขณะนั้น บางคนเห็นเท่านั้น แต่มีเสียงดังเสียงที่บางคนได้ยินแต่อีกคนนึงไม่ได้ยิน เพราะเหตุว่าเจตสิกของผู้นั้นไม่ได้กระทำกิจให้จิตรู้หรือว่ากระทบกับเสียงทางโสตทวาร แต่สำหรับผู้ที่ได้ยินเสียงนั้นก็หมายความว่าผัสสเจตสิกนั้นทำให้จิตกระทบรู้อารมณ์คือเสียงที่กระทบกับโสตทวาร นี่เป็นลักษณะของนามธรรมที่อาศัยกันและกันเกิดขึ้นและก็ต่างก็ทำกิจการงานตามประเภทของตน ตามหน้าที่ของตน ชั่วขณะนิดเดียวแล้วก็ดับหมดสิ้นไป ไม่พึงยึดถือว่าเป็นตัวตนเลย

    วันหนึ่งๆ ที่ต้องการความรู้สึกเป็นสุข เพราะเหตุว่าไม่เข้าใจสภาพที่แท้จริงของสุขเวทนาว่าที่ต้องการรูปทางตา ก็เพราะเหตุว่าสุขเวทนาที่อาศัยความรู้สึกเป็นสุขพอใจในสิ่งที่เห็นนั่นเอง ทำให้พอใจ ขวนขวาย แสวงหา ต้องการรูปนั้นอีกบ่อยๆ หรือเวลาที่ท่านผู้ใดต้องการเสียง อยากจะได้ยินเสียงอะไรก็ตามซึ่งเป็นที่เพลิดเพลินเจริญหู ท่านก็ไม่ทราบว่าเพราะอะไรท่านถึงได้ต้องการเสียงนั้น แต่เพราะความรู้สึกเวทนาที่เป็นสุขเวลาที่ได้กระทบกับเสียงนั้น เป็นปัจจัยทำให้มีความต้องการในเสียงนั้นอยู่เรื่อยๆ ถ้าผู้ใดไม่รู้ชัดในลักษณะของความรู้สึก เป็นสุขก็ตาม เป็นทุกข์ก็ตาม เฉยๆ ก็ตามซึ่งเป็นสภาพธรรมที่อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้นเพียงนิดเดียว แล้วก็หมดไป ถึงความรู้สึกนั้นจะเป็นสุขสักเท่าไหร่ ความรู้สึกนั้นก็เกิดขึ้นปรากฏแล้วก็หมดไปตามเหตุปัจจัย วนเวียนไปอย่างนี้เรื่อยๆ แต่ถ้าท่านผู้ใดไม่เข้าใจ สติไม่ระลึกรู้ลักษณะของเวทนาความรู้สึกแล้วก็ย่อมจะพอกพูนกิเลสหรือความต้องการในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะมากขึ้น

    ในคราวที่แล้วได้กล่าวถึง สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค ปหานสูตร ที่ว่า

    ราคานุสัยนั้นย่อมมีแก่ผู้เสวยสุขเวทนา ไม่รู้สึกตัวอยู่ มีปกติไม่เห็นธรรมเป็นเครื่องสลัดออก ปฏิฆานุสัยย่อมมีแก่ภิกษุผู้เสวยทุกขเวทนา ไม่รู้สึกตัวอยู่ มีปกติไม่เห็นธรรมเป็นเครื่องสลัดออก

    วันหนึ่งๆ ก็มีความรู้สึกเป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง แต่เพราะหลงลืมสติ ไม่ระลึกรู้ลักษณะของเวทนาความรู้สึกที่เป็นสุขในขณะนั้นที่หลงลืมสติ ก็มีราคานุสัยเกิดทุกขณะ เพิ่มพูนสะสมต่อไปเรื่อยๆ ขณะที่พอใจสิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือว่ามีความรู้สึกเป็นสุขเพลิดเพลินไป ในอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด แล้วไม่ระลึกรู้ลักษณะของเวทนาในขณะนั้น ก็ย่อมจะสะสมพอกพูนราคานุสัย ความรู้สึกที่จะทำให้เพลิดเพลินพอใจหมกมุ่นต้องการในอารมณ์นั้นต่อไปเรื่อยๆ นี่ก็แสดงว่า เพราะเหตุใดผู้ที่เจริญสติจึงจำเป็นที่จะต้องระลึกรู้ลักษณะของเวทนาด้วย ไม่ใช่ว่าไม่ระลึกรู้ แล้วก็สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ โดยมากบางทีผู้ที่จะเจริญสติปัฏฐานเข้าใจผิดคิดว่า รู้เฉพาะรูปรูปเดียว ประเภทเดียวก็สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม แต่ขอให้ท่านพิจารณาถึงความจริงซึ่งมีความไม่รู้ในสิ่งที่กำลังปรากฏ ตลอดเวลาที่ยังมีชีวิตอยู่ทุกๆ วัน เมื่อมีความไม่รู้อย่างนี้แล้วเจริญแจ้งบรรลุอริยสัจธรรมได้โดยความไม่รู้เช่นนั้นได้อย่างไร ที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้นั้น ต้องอาศัยการเจริญความรู้เพิ่มขึ้นมากขึ้น ในสายตาของพระอริยะบุคคล ท่านก็คงจะคิดว่า ทำไมผู้ที่หลงลืมสติถึงเช่นนี้ยังหวังที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ถ้าไม่เจริญสติเป็นปกติ ขณะนั่ง นอน ยืน เดิน เคลื่อนไหว เหยียด คู้ พูด นิ่ง คิด เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง เฉยๆ บ้าง แล้วไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เป็นผู้ที่มีปกติหลงลืมสติเช่นนี้ แล้วจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้อย่างไร ทั้งๆ ที่หลงลืมสติอยู่อย่างนี้เรื่อยๆ หรือว่าบางท่านเข้าใจคิดว่า ท่านจะเข้าวิปัสสนา ก็เหมือนกับว่าท่านพยายามจะไปจับด้ามมีดไว้สัก ๒ อาทิตย์ แล้วผลเป็นอย่างไรทดลองดูก็ได้ ด้ามมีดจะทันสึกไหม ๒ อาทิตย์ จับอยู่ตลอดเวลา ด้ามมีดก็ไม่สึกไปดังใจได้ เพราะฉะนั้นการเป็นผู้มีปกติเจริญสติเท่านั้น ที่จะทำให้ปัญญารู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ตามความเป็นจริงหมายความถึงตามปกติที่มีเหตุปัจจัยทำให้เกิดขึ้นสำหรับแต่ละบุคคล และไม่ต้องคำนึงถึง ก็จับด้ามีดไปเรื่อยๆ จนสึกเมื่อไหร่ นั่นก็เป็นเรื่องที่ว่า เมื่อปัญญารู้ชัดก็ละคลายความไม่รู้มากขึ้นทุกที

    มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มหาทุกขักขันธสูตร มีข้อความว่า

    ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับ ณ พระวิหารเชตวัน พระผู้มีพระภาคตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่งไม่รู้ชัดคุณของรูปทั้งหลายโดยความเป็นคุณ โทษของรูปทั้งหลายโดยความเป็นโทษ และการถ่ายถอนของรูปทั้งหลายโดยความเป็นการถ่ายถอน อย่างที่กล่าวนี้ตามความเป็นจริง พวกนั้นน่ะหรือจักรอบรู้รูปทั้งหลายด้วยตนเอง หรือว่าจะชักจูงผู้อื่นเพื่อความเป็นอย่างที่ผู้ปฏิบัติแล้วจักรอบรู้รูปทั้งหลายได้ ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ส่วนสมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งรู้ชัดคุณของรูปทั้งหลายโดยความเป็นคุณ โทษของรูปทั้งหลายโดยความเป็นโทษ และการถ่ายถอนของรูปทั้งหลายโดยความเป็นการถ่ายถอน อย่างที่กล่าวนี้ตามความเป็นจริง พวกนั้น แหละหนอจักรอบรู้รูปทั้งหลายด้วยตนเองได้ หรือจักชักจูงผู้อื่นเพื่อความเป็นอย่างที่ผู้ปฏิบัติแล้วจักรอบรู้รูปทั้งหลายได้ ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้

    ต่อไปพระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดงว่า อะไรเป็นคุณของเวทนา ซึ่งก็ได้แก่เวทนาในฌานขั้นต่างๆ ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปฐมฌาน มีสุขเวทนาไปจนกระทั่งถึงจตุตถฌาน ซึ่งเป็นอุเบกขาเวทนา

    พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่าเป็นโทษของเวทนาทั้งหลาย ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่เวทนาไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา นี้เป็นโทษของเวทนาทั้งหลาย

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่าเป็นการถ่ายถอนของเวทนาทั้งหลาย ดูกร ภิกษุทั้งหลาย การกำจัด การละฉันทราคะของเวทนาทั้งหลายเสียได้ นี้เป็นการถ่ายถอนของเวทนาทั้งหลาย

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่งไม่รู้ชัดคุณของเวทนาทั้งหลายโดยความเป็นคุณ โทษของเวทนาทั้งหลายโดยความเป็นโทษ และการถ่ายถอนของเวทนาทั้งหลายโดยความเป็นการถ่ายถอน อย่างที่กล่าวนี้ตามความเป็นจริง พวกนั้นน่ะหรือจักรอบรู้เวทนาทั้งหลายด้วยตนเอง หรือว่าจักชักจูงผู้อื่นเพื่อความเป็นอย่างที่ผู้ปฏิบัติแล้วจักรอบรู้เวทนาทั้งหลายได้ ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ส่วนสมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง รู้ชัดคุณของเวทนาทั้งหลายโดยความเป็นคุณ โทษของเวทนาทั้งหลายโดยความเป็นโทษ และการถ่ายถอนของเวทนาทั้งหลายโดยความเป็นการถ่ายถอน อย่างที่กล่าวนี้ตามความเป็นจริง พวกนั้นแหละหนอ จักรอบรู้เวทนาทั้งหลายด้วยตนเองได้ รู้จักชักจูงผู้อื่นเพื่อความเป็นอย่างที่ผู้ปฏิบัติแล้วจักรอบรู้เวทนาทั้งหลายได้ ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้

    พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้วแล

    ต้นเหตุที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องนี้แก่พระภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุว่า พระภิกษุทั้งหลายได้เข้าไปบิณฑบาตในพระนครสาวัตถี แต่เวลานั้นยังเช้านัก พระภิกษุเหล่านั้นจึงไปยังอารามของพวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ แล้วก็ได้สนทนากัน ซึ่งพวกอัญญเดียรถีย์ได้กล่าวว่า

    พระสมณะโคดมบัญญัติข้อควรกำหนดรู้กามได้ แม้พวกตนก็บัญญัติได้ พระสมณะโคดมบัญญัติข้อควรกำหนดรู้รูปได้ แม้พวกตนก็บัญญัติได้ พระสมณะโคดมบัญญัติข้อควรกำหนดรู้เวทนาได้ แม้พวกตนก็บัญญัติได้ อะไรเล่าเป็นข้อวิเศษ เป็นผลที่มุ่งหมาย หรือกระทำให้ต่างกันระหว่างพระสมณะโคดมกับพวกตน

    ซึ่งพระภิกษุสาวกไม่กล่าวว่าอะไร แล้วกลับไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคกราบทูลให้ทรงทราบ ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ถามอัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นว่า อะไรเป็นคุณ อะไรเป็นโทษ อะไรถ่ายถอนกาม รูป เวทนาเหล่านั้น เพราะว่าพวกอื่นนอกจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือสาวกของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าย่อมไม่รู้

    เพราะถึงใครจะกำหนดรู้ว่าอะไรเป็นกาม ใครจะกำหนดรู้ว่าอะไรเป็นรูป ใครจะกำหนดว่าอะไรเป็นเวทนา เพราะเป็นสิ่งที่มีจริงก็บอกได้ อะไรเป็นรูปก็บอกได้ อะไรเป็นความรู้สึกเป็นเวทนาก็บอกได้ แต่ถ้าถามว่าอะไรเป็นคุณ อะไรเป็นโทษ อะไรเป็นการถ่ายถอน นอกจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระสาวกของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วย่อมไม่รู้ เพราะการที่จะรู้ได้นั้นต้องเป็นผู้ที่เจริญสติ ถ้าไม่เจริญสติจะไม่รู้เลยถึงวิธีละ วิธีถ่ายถอน หรือแม้วิธีที่จะรู้ชัดในคุณและโทษของกาม ของรูป ของเวทนา

    ที่กล่าวถึงรูปด้วย ก็เพราะว่าความรู้สึกเป็นสุขก็ตาม เป็นทุกข์ก็ตาม เฉยๆ ก็ตาม ไม่เนื่องกับรูปนี้มีไหม ในวันหนึ่งๆ มีการเห็นแล้วเกิดสุขบ้าง ทุกข์บ้าง เฉยๆ บ้าง มีการได้ยินเกิดสุขบ้าง ทุกข์บ้าง เฉยๆ บ้าง มีการได้กลิ่นเกิดสุขบ้าง ทุกข์บ้าง เฉยๆ บ้าง เพราะฉะนั้น ความรู้สึกทั้งหลายนี้ก็เนื่องจากรูป อาศัยการเห็นรูป อาศัยการได้ยินเสียง การรู้กลิ่น การลิ้มรส การกระทบสัมผัสเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ก็ทำให้เกิดความรู้สึกเป็นสุข เป็นทุกข์ เฉยๆ

    เพราะฉะนั้น ถ้าผู้ใดไม่เจริญสติ จะรู้ชัดในขณะที่เป็นสุขเวทนาได้ไหม จะไปรู้เฉพาะทุกขเวทนาได้ไหม เพราะคิดว่าต้องเป็นทุกข์จึงเป็นอริยสัจ ก็เลยไปรู้แต่ทุกขเวทนาได้ไหม นั่นเรียกว่าเป็นผู้รู้ชัดได้ไหมในคุณของรูป ในโทษของรูป ในการถ่ายถอนรูป ในคุณของเวทนา ในโทษของเวทนา ในการถ่ายถอนเวทนา

    ถ้าไม่เจริญสติตามปกติไม่สามารถรู้ชัด และข้อความในเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานเป็นชีวิตปกติ แม้แต่เวทนานุปัสสนาก็เริ่มด้วยรู้ชัดในสุขเวทนา ถ้าไม่รู้ ไม่มีทางละ ไม่ว่าจะเป็นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่น่าพอใจ สติก็จะต้องระลึกรู้ชัดในสภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกเป็นสุข เป็นทุกข์ หรือเฉยๆ สติก็จะต้องระลึกรู้ลักษณะสภาพธรรมตามความเป็นจริง เมื่อรู้ชัดแล้ว นั่นเป็นวิธีถ่ายถอนรูปและเวทนาได้ แต่ถ้าไม่รู้ ไม่เจริญสติ ก็ไม่มีหนทางที่จะถ่ายถอนได้เลย

    มีท่านผู้ฟังสงสัยว่า สุขเวทนาและทุกขเวทนามีปรากฏให้รู้ได้ แต่อุเบกขาเวทนาจะมีหรือ เพราะไม่รู้สึกว่าปรากฏเลย มีแต่เพียงสุขเวทนา ทุกขเวทนา แต่โดยสภาพของปรมัตถธรรมแล้ว เวลาที่มีการกระทบ คือ ผัสสะรู้อารมณ์ใดก็เป็นปัจจัยให้ความรู้สึกเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง

    ท่านอาจจะไม่สังเกต และถ้าไม่ศึกษาปริยัติธรรมก็จะไม่ทราบเลยว่า ขณะนั้นมีเวทนาเจตสิกเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง ขณะที่มีจิตเกิดขึ้น จะต้องมีเวทนาเจตสิก สภาพธรรมที่เสวยอารมณ์ เป็นผู้ที่บริโภครสของอารมณ์ร่วมกับจิตในขณะนั้น เกิดร่วมด้วยทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นจิตในขณะใดทั้งสิ้น ขณะที่นอนหลับสนิท ผัสสะทำให้จิตกระทบอารมณ์ใด ก็เป็นปัจจัยให้เวทนาอาศัยอารมณ์นั้นเกิดขึ้น แม้ว่าผู้นั้นจะไม่รู้ว่ามี แต่ว่าสภาพปรมัตถธรรมแล้ว ผัสสะเป็นปัจจัย เป็นปทัฏฐานเป็นเหตุใกล้ ให้เกิดเวทนา

    ในพระไตรปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค ผัสสมูลกสูตร มีข้อความว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะไม้สองอันเสียดสีกัน เพราะการเสียดสีกันจึงเกิดไออุ่น จึงเกิดไฟ เพราะแยกไม้สองอันนั้นแหละออกจากกัน ไออุ่นที่เกิดเพราะการเสียดสีนั้นย่อมดับไป สงบไป ฉันใด

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เวทนา ๓ นี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล เกิดแต่ผัสสะ มีผัสสะเป็นมูล มีผัสสะเป็นเหตุ มีผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาอันเกิดแต่ผัสสะ เกิดขึ้นเพราะอาศัยผัสสะที่เกิดจากปัจจัยนั้นย่อมดับ เพราะผัสสะที่เกิดแต่ปัจจัยนั้นดับไป

    แม้ผัสสะก็ต้องเกิดเพราะปัจจัย ถ้ายังมีปัจจัยให้ผัสสะเกิด ผัสสะก็ต้องเกิด เมื่อผัสสะกระทบรูปทางตา กระทบเสียงทางหู กระทบอารมณ์ทางใจดับไปแล้วก็จริง แต่ยังมีปัจจัยให้ผัสสะเดี๋ยวนี้กระทบทางตาอีก ทางหูอีก จมูกอีก ลิ้นอีก กายอีก ใจอีก วนเวียนเรื่อยไปในวัฏฏะ และเมื่อมีผัสสะการกระทบเป็นปัจจัยแล้ว ย่อมมีเวทนา

    แต่สำหรับการปฏิบัติ ท่านผู้เจริญสติจะรู้ได้อย่างไรว่ามีอุเบกขาเวทนา อุเบกขาเวทนามีหลายประเภท ที่เป็นอกุศลก็มี ที่เป็นกุศลก็มี ถ้าไม่พูดถึงวิบากจิต และกิริยาจิต ผู้ที่เจริญสติรู้ความต่างกันของขณะที่มีสติกับขณะที่หลงลืมสติ เป็นเหตุที่ทำให้ท่านรู้ว่า วันหนึ่งๆ ในเบื้องแรกนั้นสติเกิดน้อยมาก กำลังตื่นเต้น มีธุระเกี่ยวข้องกับผู้นั้นผู้นี้ที่จะต้องรีบด่วน ที่จะกระทำ หรือกำลังดีใจ สติหายไปแล้ว ทุกท่านก็รู้ได้ว่าขณะใดมีสติ ขณะใดหลงลืมสติ ประการแรกที่สุดที่สำคัญสำหรับผู้เจริญสติปัฏฐานคือ ผู้ที่รู้ขณะที่มีสติ กับขณะที่หลงลืมสติ เพราะฉะนั้นเมื่อทราบว่าเมื่อสักครู่นี้หลงลืมสติเป็นลักษณะของจิตประเภทหนึ่ง แต่ถ้าท่านจะระลึกถึงสภาพของเวทนา ท่านรู้เลยขณะเมื่อสักครู่นี้ที่หลงลืมสติ เวทนาเป็นอุเบกขา ไม่ใช่สุข ไม่ใช่ทุกข์ รู้สึกเฉยๆ ในขณะนั้น เพราะฉะนั้นท่านสามารถที่จะระลึกรู้สภาพของนามธรรมที่เป็นลักษณะที่หลงลืมสติเป็นโมหมูลจิต อุทธัจจสัมมปยุต์ ถ้าทันจะไม่ระลึกถึงลักษณะของจิต ท่านจะระลึกถึงเวทนาในขณะนั้นว่าเมื่อสักครู่นี้ที่หลงลืมสตินั้นเวทนาเป็นอย่างไร ก็ทราบได้ทันทีว่า ในขณะนั้นแหละเป็นความรู้สึกเฉยๆ ซึ่งเป็นลักษณะสภาพในขณะนั้น เป็นของที่มีจริง บางท่านบอกว่า ความรู้สึกเฉยๆ นั้นรู้สึกยาก ดีใจรู้สึกง่าย เสียใจก็รู้สึกง่าย สุขก็ง่าย ทุกข์ก็ง่าย ปรากฏชัดเจน แต่เฉยๆ อาจจะไม่มีแล้วก็เข้าใจว่าไม่มี แต่ความจริงมีแล้วก็สามารถที่จะสำเหนียกแล้วก็รู้ลักษณะสภาพของความรู้สึกเฉยๆ ได้ นั่นเป็นความรู้สึกเฉยๆ ในอกุศลจิต แต่ว่าความรู้สึกเฉยๆ ที่เป็นกุศลก็มี เวลาที่มีการให้ทาน รักษาศีล แต่ขณะนั้นไม่ถึงกับปีติโสมนัส ความรู้สึกนั้นก็เป็นแต่เพียงความรู้สึกเฉยๆ ถ้าท่านเป็นผู้ที่ระลึกรู้ลักษณะของความรู้สึกเนืองๆ บ่อยๆ ก็สามารถที่จะรู้ลักษณะของความรู้สึกทั้งสุขเวทนา ทุกขเวทนา แล้วก็อุเบกขาเวทนาได้

    ผู้ฟัง ตามปกติทุกข์ก็ดี สุขก็ดี แม้ผู้ที่ไม่มีสติก็สามารถที่จะรู้สึกถึงความสุข และความทุกข์นั้นได้ ทำไมจึงจำกัดว่า ต้องมีสติจึงจะรู้ได้ว่ามีสุข หรือมีทุกข์

    ท่านอาจารย์ เวลาที่ไม่ได้เจริญสติ สุขก็มี ทุกข์ก็มี


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 9
    8 ก.ค. 2566

    ซีดีแนะนำ