รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 056


    ตอนที่ ๕๖

    ข้อความต่อไปที่ว่า

    อุเบกขาไม่ล่วงเลยรูป คือ อุเบกขาที่ไม่ตั้งอยู่ด้วยสามารถ นิพพิทาในรูป เป็นต้น เหล่านั้น

    อุเบกขาอาศัยเนกขัมมะ ๖ เมื่อไม่ติดในอิฏฐารมณ์ ไม่ยินร้ายในอนิฏฐารมณ์ ไม่หลงใหลเพราะยินดี ไม่เพ่ง ไม่ติดข้องในส่วนที่น่าปรารถนา และไม่น่าปรารถนา อุเบกขาที่สัมปยุตต์ด้วยอุเบกขาญาณเกิดแก่ผู้เช่นนั้นเรียกว่า อุเบกขาอาศัยเนกขัมมะ

    ผู้ฟัง เมื่อเริ่มเจริญมรรคมีองค์ ๘ ปัญญาเริ่มรู้ลักษณะนามและรูป แต่ยังไม่ใช่ถึงนามรูปปริจเฉทญาณ โดยมากอุเบกขาเกิดร่วมด้วย โสมนัสก็เกิดร่วมด้วยได้ แต่ไม่ใช่ญาณ ไม่ใช่อุเบกขาอัญญาณ แต่ก็ไม่ใช่อาศัยกามคุณ

    ท่านอาจารย์ ถามว่า เวลาเริ่มเจริญสติปัฏฐาน นามรูปปริจเฉทญาณยังไม่เกิด แต่มีการรู้ลักษณะของนามธรรมบ้าง รู้ลักษณะของรูปธรรมบ้าง เป็นมหากุศลจิต ในขณะนั้นไม่ควรจะเป็นอุเบกขาที่อาศัยเรือน หรือโสมนัสที่อาศัยเรือน เพราะกำลังระลึกรู้ลักษณะของนามและรูป

    แต่ที่จริงแล้วในที่นี้ยังอาศัยเรือน เพราะกิเลสที่เป็นอนุสัยยังไม่ถึงขั้นที่จะคลาย หรือจะหมดไปได้

    ญาณต้องเกิด ความสมบูรณ์ของปัญญาต้องมีเป็นลำดับขั้น เพราะเพียงแต่การระลึกรู้ลักษณะของรูปบ้าง นามบ้าง ทางตาบ้าง หูบ้าง จมูกบ้าง ลิ้นบ้าง กายบ้าง ใจบ้าง ในการเริ่มเจริญสติทีละเล็กทีละน้อยเป็นมหากุศล แต่ยังเป็นไปในวัฏฏะ ยังไม่ถึงขั้นที่รู้ชัดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ที่จะละความสงสัยแม้ในขั้นต้นที่ว่า เป็นนามธรรมเป็นสภาพรู้นั้นมีลักษณะอย่างไร ต่างกับรูปธรรมที่ไม่ใช่สภาพรู้อย่างไร โดยความไม่ใช่ตัวตน ในขณะนั้นถึงขั้นที่กำลังเจริญสติปัฏฐาน กำลังเริ่มเจริญความรู้ในลักษณะของนามของรูป แต่สภาพธรรมนั้นยังไม่ประจักษ์ ยังไม่ปรากฏโดยความเป็นอนัตตาทางมโนทวาร ที่จะให้ปัญญารู้ชัด เป็นความสมบูรณ์ของญาณจริงๆ ว่า ที่ว่าไม่ใช่ตัวตนนั้น เพราะนามธรรมมีลักษณะอย่างไร เพราะรูปธรรมมีลักษณะอย่างไร นี่เป็นแต่เพียงญาณขั้นต้นเท่านั้น เมื่อยังไม่ถึง ก็ยังต้องมีเชื้อของความยินดีพอใจในการยึดถือว่าเป็นตัวตนอยู่ ยังไม่ถึงความสมบูรณ์

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ได้อธิบายคำว่าอุเบกขาที่เป็นไปในอกุศลจิตและกุศลจิต ซึ่งอาศัยเรือนบ้าง อาศัยเนกขัมมะบ้าง กระผมสงสัยอุเบกขาอีกประเภทหนึ่งซึ่งเป็นอุเบกขาในอเหตุกจิต จะเป็นอุเบกขาอาศัยเรือนหรืออุเบกขาอาศัยเนกขัมมะ

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่ใช่อุเบกขาที่ประกอบด้วยญาณแล้ว เป็นอัญญาณอุเบกขาทั้งหมด เพราะฉะนั้นอุเบกขาในอเหตุกจิตก็ต้องเป็นอัญญาณอุเบกขา

    ข้อความต่อไปใน สฬายตนวิภังคสูตร มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ ข้อ ๖๓๑ มีว่า

    พวกเธอจงอาศัยทางดำเนินของสัตว์นี้ ละทางดำเนินของสัตว์นี้ นั่นเราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ใน ๓๖ ประการนั้น พวกเธอจงอาศัย คือ อิงโสมนัสอาศัยเนกขัมมะ ๖ นั้นๆ แล้วละ คือ ล่วงเสียซึ่งโสมนัสอาศัยเรือน ๖ นั้นๆ อย่างนี้ ย่อมเป็นอันละโสมนัสนั้นๆ ได้ เป็นอันล่วงโสมนัสนั้นๆ ได้

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ใน ๓๖ ประการนั้น พวกเธอจงอาศัย คือ อิงโทมนัสอาศัยเนกขัมมะ ๖ นั้นๆ แล้วละ คือ ล่วงเสียซึ่งโทมนัสอาศัยเรือน ๖ นั้นๆ อย่างนี้ ย่อมเป็นอันละโทมนัสนั้นๆ ได้ เป็นอันล่วงโทมนัสนั้นๆ ได้

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ใน ๓๖ ประการนั้น พวกเธอจงอาศัย คือ อิงอุเบกขาอาศัยเนกขัมมะ ๖ นั้นๆ แล้วละ คือ ล่วงเสียซึ่งอุเบกขาอาศัยเรือน ๖ นั้นๆ อย่างนี้ ย่อมเป็นอันละอุเบกขานั้นๆ ได้ เป็นอันล่วงอุเบกขานั้นๆ ได้

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ใน ๓๖ ประการนั้น พวกเธอจงอาศัย คือ อิงโสมนัสอาศัยเนกขัมมะ ๖ นั้นๆ แล้วละ คือ ล่วงเสียซึ่งโทมนัสอาศัยเนกขัมมะ ๖ นั้นๆ อย่างนี้ ย่อมเป็นอันละโทมนัสนั้นๆ ได้ เป็นอันล่วงโทมนัสนั้นๆ ได้

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ใน ๓๖ ประการนั้น พวกเธอจงอาศัย คือ อิงอุเบกขาอาศัยเนกขัมมะ ๖ นั้นๆ แล้วละ คือ ล่วงเสียซึ่งโสมนัสอาศัยเนกขัมมะ ๖ นั้นๆ อย่างนี้ ย่อมเป็นอันละโสมนัสนั้นๆ ได้ เป็นอันล่วงโสมนัสนั้นๆ ได้

    ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า พึงทราบทางดำเนินของสัตว์ ๓๖ นั่น เราอาศัยทางดำเนินดังนี้กล่าวแล้ว

    ไม่ใช่เฉพาะพุทธบริษัทในครั้งโน้น สัตว์โลกทั้งหมดมีเวทนา มีความรู้สึกโสมนัส โทมนัส อุเบกขา ท่านผู้ใดเคยมีโสมนัส โทมนัส อุเบกขาในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ ก็เป็นทางดำเนินของผู้นั้น ตราบใดที่ยังไม่เจริญสติปัฏฐาน พิจารณาได้จากชีวิตประจำวัน ท่านที่ฟังธรรมรู้ว่า พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงธรรม ทั้งเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด ไม่ใช่เพียงการเจริญกุศลขั้นทาน ขั้นศีล ขั้นสมถภาวนา แต่เป็นการเจริญปัญญาเพื่อรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง แล้วละคลายกิเลสเป็นลำดับขั้น

    เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่ทางดำเนินของสัตว์ซึ่งมี ๓๖ สำหรับสัตว์ที่ยังไม่ได้เจริญสติปัฏฐาน ก็มีทางดำเนิน ๑๘ ประการ (เวทนาอาศัยเรือน) เป็นโทมนัสเวทนาบ้าง โสมนัสเวทนาบ้าง เป็นอุเบกขาเวทนาบ้าง ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในวันหนึ่งๆ สังเกตดูจากตัวท่านเองในอดีต ถือว่าญาติพี่น้องมิตรสหายก็ได้ ว่าบุคคลใดเป็นผู้ที่ยังดำเนินอยู่ในทางนั้น คือ แสวงหา ใคร่ ยินดี เป็นไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ หรือเป็นผู้ที่เริ่มเจริญสติระลึกรู้สภาพธรรมเป็นทางดำเนินอีก ๑๘ ประการ คือ เป็นโสมนัส โทมนัส อุเบกขาที่อาศัยเนกขัมมะ ไม่ใช่อาศัยเรือนเหมือนอย่างแต่ก่อน ในข้อนี้พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ก็ข้อที่เรากล่างดังนี้ว่า ในทางดำเนินของสัตว์ ๓๖ นั้น พวกเธอจงอาศัยทางดำเนินของสัตว์นี้ ละทางดำเนินของสัตว์นี้ นั่นเราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ใน ๓๖ ประการนั้น พวกเธอจงอาศัย คือ อิงโสมนัสอาศัยเนกขัมมะ ๖ นั้นๆ แล้วละ คือ ล่วงเสียซึ่งโสมนัสอาศัยเรือน ๖ นั้นๆ อย่างนี้ ย่อมเป็นอันละโสมนัสนั้นๆ ได้ เป็นอันล่วงโสมนัสนั้นๆ ได้

    เวลาที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส กระทบสัมผัส แล้วเกิดโสมนัสขึ้น อยากจะละไหมโสมนัสอาศัยเรือนพวกนี้ หรือว่าอยากจะมีมากๆ เวลาที่เห็นรูป ได้ยินเสียง ได้กลิ่น ได้ลิ้มรส ได้สัมผัสสิ่งต่างๆ เหล่านี้ แล้วเกิดโสมนัสขึ้น เป็นโสมนัสที่อาศัยเรือน เป็นไปกับความยินดีต้องการในรูปเสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ สั้นแสนสั้น ปรากฏนิดเดียวทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายแล้วก็หมดไป เคยระลึกที่จะละโสมนัสที่อาศัยเรือนเหล่านี้บ้างไหม หรือว่าอยากจะให้มีโสมนัสมากๆ ก็ยังไม่พ้น ยังเป็นทางของสัตว์ที่ดำเนินท่องเที่ยววนไปในภพภูมิต่างๆ นั่นเอง แต่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ใน ๓๖ ประการนั้น พวกเธอจงอาศัย คือ อิงโสมนัสอาศัยเนกขัมมะ ๖ นั้นๆ แล้วละ คือ ล่วงเสียซึ่งโสมนัสอาศัยเรือน ๖ นั้นๆ อย่างนี้ ย่อมเป็นอันละโสมนัสนั้นๆ ได้ เป็นอันล่วงโสมนัสนั้นๆ ได้

    ถ้ายังไม่อยากจะละก็พอกพูน ใครก็ละให้ไม่ได้ เมื่อต้องการโสมนัสทางตาหูจมูกลิ้นกายใจเท่าไหร่ๆ ก็ไม่พอ ก็ต้องแสวงหาอยู่ทุกวันๆ เพิ่มขึ้น ไม่ได้ละโสมนัสที่อาศัยเรือนเลย ทางเดินของสัตว์โลกที่จะละโสมนัสอาศัยเรือนนั้นมี คืออาศัยโสมนัสที่อาศัยเนกขัมมะละโสมนัสที่อาศัยเรือน ถึงโสมนัสเวทนาจะเกิด ห้ามได้ไหม อย่าคิดจะห้าม นั่นเป็นอัตตา ไม่มีในพระพุทธศาสนาเลยที่ให้ใช้ตัวตนบังคับยับยั้งสภาพธรรมที่เกิดปรากฏแล้วเพราะเหตุปัจจัย โสมนัสมีเหตุปัจจัยเกิดขึ้น โสมนัสก็เกิดขึ้น ในเมื่อสะสมมาที่จะเป็นโสมนัสทางตาเวลาที่ได้เห็นสิ่งที่พอใจ แต่วิธีละ อาศัยโสมนัสที่อิงอาศัยเนกขัมมะ พิจารณารู้ลักษระของสภาพความรู้สึกโสมนัสในขณะนั้นทันที แล้วรู้ชัดว่า เป็นแต่เพียงเวทนา จึงเห็นเวทนาในเวทนา ไม่ใช่เห็นตัวตนสัตว์บุคคลในเวทนา นี่เป็นเวทนานุปัสสนา หมายความว่า เมื่อมีความรู้สึกชนิดหนึ่งชนิดใดเกิดขึ้น ก็ระลึกรู้ว่าเป็นแต่เพียงสภาพความรู้สึก ที่มีเป็นปกติเปลี่ยนไปในวันหนึ่งๆ เดี๋ยวดีใจ เดี๋ยวเสียใจ เป็นไปตามเหตุปัจจัย บังคับบัญชาไม่ได้เลย ดังนั้นสติจึงระลึกรู้เวทนาในเวทนา จึงจะละการที่จะสะสมพอกพูน ต้องการโสมนัสที่อาศัยเรือนมากขึ้นเรื่อยๆ วิธีที่จะละ ไม่ใช่วิธีอื่น แต่เป็นการที่สติระลึกรู้ลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ถ้าเป็นวิธีอื่นไม่มีทางสำเร็จเลย มีหนทางเดียวเท่านั้นที่จะละกิเลสให้กับหมดสิ้นเป็นสมุจเฉทได้ตามลำดับ ด้วยการเจริญสติระลึกรู้ลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แม้โสมนัสที่อาศัยเรือนที่เกิดในขณะนั้นที่เกิดขึ้นปรากฏ ก็ต้องอาศัยโสมนัสที่อาศัยเนกขัมมะละ ไม่ใช่อาศัยสมถภาวนา เพราะเหตุว่า แม้ว่าจะเป็นโสมนัสที่เกิดทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แม้ทางใจ ที่เป็นสมถภาวนา ก็จะต้องอาศัยโสมนัสที่อาศัยเนกขัมมะละโสมนัสที่อาศัยเรือนที่เป็นไปทางตาหูจมูกลิ้นกายใจ

    ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ใน ๓๖ ประการนั้น พวกเธอจงอาศัย คือ อิงโทมนัสอาศัยเนกขัมมะ ๖ นั้นๆ แล้วละ คือ ล่วงเสียซึ่งโทมนัสอาศัยเรือน ๖ นั้นๆ อย่างนี้ ย่อมเป็นอันละโทมนัสนั้นๆ ได้ เป็นอันล่วงโทมนัสนั้นๆ ได้

    โทมนัสมีเมื่อไหร่ ปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่ได้ ต้องการรูปอย่างนั้นไม่ได้ความรู้สึกเป็นอย่างไร โทมนัส ต้องการเสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะนั้นๆ แล้วไม่ได้ก็โทมนัส ถ้าสังเกตจิตใจของแต่ละท่าน ความโทมนัสไม่น้อยเลย ความคับแค้นใจความขุ่นเคืองใจแต่ละคนสะสมมาไม่เหมือนกัน อย่างบางท่านก็กล่าวว่า เวลาที่ควรจะได้รับเกียรติยศ แต่ไม่ได้รับเกียรติยศที่ตนควรจะได้ ไม่มีการให้เกียรติ ก็รู้สึกโทมนัส ยิ่งมีความหวังยิ่งมีความต้องการมากเท่าไหร่ ก็เป็นปัจจัยที่จะให้เกิดโทมนัสเวลาที่ไม่ได้รับสิ่งนั้นมากเท่านั้น เป็นปกติ เป็นอนัตตา เมื่อมีความปรารถนาลาภ ยศ สรรเสริญ สุข รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แล้วไม่ได้ วันหนึ่งๆ ก็จะต้องเกิดโทมนัส ความขุ่นเคือง ความคับแค้น น้อยเนื้อต่ำใจ ซึ่งเราพบปะมิตรสหายเพื่อนฝูง คุยกันสนทนากันแสดงถึงความรู้สึกในจิตใจ ความรู้สึกในจิตใจเป็นเวทนาลักษณะต่างๆ ประเภทต่างๆ เกิดขึ้นเพราะอาศัยเหตุปัจจัยต่างๆ แล้วแต่การสะสมเหตุปัจจัยมาที่จะทำให้เป็นผู้ที่คับแค้นใจหรือว่าน้อยเนื้อต่ำใจเพราะเหตุ โทมนัสเวทนาที่อาศัยเรือนเป็นของที่ควรจะละไหม ทางเดินของสัตว์โลกมี ถ้าสัตว์โลกใดยังคงต้องการให้มีโทมนัสเวทนาหมุนเวียนไปในวัฏฏะ ไม่ต้องการละโทมนัสเวทนาที่อาศัยเรือน สัตว์โลกนั้นก็มีทางดำเนินอยู่อย่างหนึ่ง แต่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ใน ๓๖ ประการนั้น พวกเธอจงอาศัย คือ อิงโทมนัสอาศัยเนกขัมมะ ๖ นั้นๆ แล้วละ คือ ล่วงเสียซึ่งโทมนัสอาศัยเรือน ๖ นั้นๆ อย่างนี้ ย่อมเป็นอันละโทมนัสนั้นๆ ได้ เป็นอันล่วงโทมนัสนั้นๆ ได้

    ไม่ใช่ว่าโทมนัสนั้นไม่มีทางจะละ ถ้าท่านที่มีโทมนัสบ่อยๆ ในชีวิตวันหนึ่งๆ ควรหาทางเดินที่จะละโทมนัสนั้นๆ เพราะเหตุว่าโทมนัสเวทนาที่เป็นไปอาศัยเรือนนั้นก็ไม่ใช่จะเป็นสิ่งที่ดี เป็นอกุศลเวทนา แล้วก็ไม่ควรจะสะสม ไม่ควรเจริญ ไม่ควรพอกพูน ท่านผู้ใดที่มีโทมนัสเวทนาเกิดขึ้นครั้งใดขณะใด ก็ให้ทราบว่าเป็นอกุศลธรรม ถ้ายิ่งมีมาก การขัดการละก็ยิ่งเนิ่นช้า แต่ว่าวิธีละ ละด้วยโทมนัสเวทนาที่อาศัยเนกขัมมะซึ่งต้องเกิดเพราะรู้การเกิดดับของนามและรูป แต่ว่าเป็นผู้ที่ตั้งความปรารถนาเพื่ออนุตตรวิโมกข์ ในปปัญจสูทนีย์กล่าวว่า อนุตตรวิโมกข์ได้แก่อรหัตต์ ซึ่งในพระธรรมวินัย ถ้าท่านผู้ฟังจะสังเกตจะพบว่าไม่ว่าจะเป็นในหมวดใดในสูตรใด พระผู้มีพระภาคจะทรงแสดงพระธรรมเทศนาถึงยอดคือหมายความถึงกล่าวถึงขั้นที่สูงที่สุดเสมอ เพราะฉะนั้นถ้าบุคคลนั้นยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ ยังไม่หมดใช่ไหม แล้วถ้ามีปัจจัยที่จะให้เวทนาชนิดใดเกิด เวทนาชนิดนั้นก็เกิด อย่างพระอนาคามีบุคคล ท่านละโทมนัสเวทนาเพราะเหตุว่าท่านประหานโทสมูลจิตได้ ถ้าเป็นพระโสดาบันบุคคล ก็ยังมีโทมนัสเวทนา ยังมีอยู่เพราะฉะนั้นถ้าท่านตั้งความปรารถนาเพื่ออนุตตรวิโมกข์คือความเป็นพระอรหันต์แล้วก็ยังไม่บรรลุ ท่านก็เกิดความเศร้าสร้อยน้อยใจว่า ท่านไม่ได้บรรลุพระอรหันต์ในวันนี้ในเดือนนี้ในปีนี้ เพราะว่ายังมีเหตุปัจจัยที่จะให้เกิดอยู่ ในพระสูตรนี้ไม่ใช่จำกัดเฉพาะบุคคลที่ยังไม่ได้เป็นพระอริยบุคคล หรือว่าเพิ่งเริ่มเจริญสติปัฏฐาน แต่ได้ทรงแสดงไว้อย่างกว้างขวางมาก เป็นไปตามขั้นของบุคคล แทนที่จะให้มีโทมนัสเวทนาเป็นความคับแค้นความเศร้าโศกความขุ่นเคืองใจที่ไม่ได้รับสิ่งที่ต้องการปรารถนาทางตาหูจมูกลิ้นกายใจซึ่งเป็นอกุศล มีมากแล้วก็ไม่ดีเลย เป็นสิ่งที่ควรจะขัดให้เบาบางลดน้อยลง วิธีที่จะละก็คือว่า แม้ว่าจะยังมีเหตุปัจจัยให้เกิดโทมนัสเวทนาอยู่ ก็ให้เป็นเป็นโทมนัสเวทนาที่อาศัยเนกขัมมะ อย่าได้เศร้าสร้อยน้อยใจในการที่ไม่ได้รับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐะธรรมารมณ์ที่ต้องการ เพราะเหตุว่ารูปเหล่านี้ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของผู้หนึ่งผู้ใด ใครจะได้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพารมณ์ที่ดี ก็ต้องมีเหตุปัจจัยในอดีตคือสะสมบุญกุศลในอดีตมาที่จะให้ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส หรือโผฏฐัพพะต่างๆ ที่ประณีต ที่น่ารื่นรมย์ แต่ถ้าหมดผลของบุญกุศลเมื่อใดเป็นโอกาสของอกุศลกรรมเมื่อไร ก็จะต้องประสบกับรูป เสียง กลิ่น รสโผฏฐัพพารมณ์ที่ไม่น่ายินดีไม่น่าพอใจ ก็เป็นเหตุให้เศร้าสร้อยน้อยใจโทมนัสขัดเคืองขุ่นแค้นได้ใช่ไหม แต่ไม่เป็นประโยชน์เลย เมื่อทราบว่าไม่เป็นประโยชน์แล้ว ก็ไม่ควรจะเสียใจ ไม่ควรจะโทมนัส ไม่ควรจะน้อยเนื้อต่ำใจ แต่ว่าควรที่จะระลึกรู้ลักษณะสภาพของนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏในขณะนั้น เพื่อถึงแม้ว่าจะมีเหตุปัจจัยที่จะทำให้โทมนัสเวทนาเกิดขึ้น ก็ให้เป็นโทนเวทนาที่อาศัยเนกขัมมะ ถ้าไม่เห็นโทษของโทมนัสเวทนาที่อาศัยเรือน ก็คงจะเป็นไปด้วยความคับแค้นขุ่นเคืองใจ แต่ถ้าได้เห็นประโยชน์ แล้วก็รู้ว่า แม้ว่าจะยังมีเหตุปัจจัยให้เกิดโทมนัสก็ควรจะให้เป็นโทมนัสที่อิงอาศัยเนกขัมมะเถิด อย่าให้เป็นโทมนัสที่อาศัยรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพารมณ์เลย อันนั้นก็จะเป็นหนทางที่ทำให้สติระลึกรู้ลักษณะสภาพของแม้ความรู้สึกที่น้อยเนื้อต่ำใจ เศร้าโศกเสียใจ ขุ่นเคืองใจในขณะนั้นได้ ว่าเป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง แล้วถ้าระลึกรู้ลักษณะของโทมนัสเวทนาในขณะนั้น ระลึกรู้ลักษณะของโสมนัสเวทนา ระลึกรู้ลักษณะของอุเบกขาเวทนา ที่ปรากฏตามความเป็นจริงบ่อยๆ เนือง ปัญญาเจริญขึ้น มากขึ้น จะเป็นโสมนัสเวทนาที่อาศัยเนกขัมมะได้ไหม จะเป็นโทมนัสเวทนาที่อาศัยเนกขัมมะได้ไหม ก็ต้องเป็นได้ ก็ยังดีกว่าที่จะให้เป็นโสมนัสเวทนาที่อาศัยเรือน หรือว่าโทมนัสเวทนาที่อาศัยเรือน

    สมถะก็ต้องมีเวทนา เพราะเหตุว่า จิตทุกดวงทุกประเภทที่เกิดจะต้องมีเวทนาเจตสิกเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง ไม่มีจิตดวงใจที่จะขาดเวทนาเจตสิกเลย จิตเป็นสังขารธรรม เป็นธรรมชาติที่อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น เจตสิกเป็นนามธรรมที่ปรุงให้ติดประเภทนั้นๆ เกิดขึ้น

    ในอรรถกถาสฬายตนวิภังคสูตร มีข้อความว่า บทว่า เนกฺขมฺมสิตานิ ได้แก่ อาศัยวิปัสสนา ไม่ใช่อาศัยสมถะ

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ใน ๓๖ ประการนั้น พวกเธอจงอาศัย คือ อิงอุเบกขาอาศัยเนกขัมมะ ๖ นั้นๆ แล้วละ คือ ล่วงเสียซึ่งอุเบกขาอาศัยเรือน ๖ นั้นๆ อย่างนี้ ย่อมเป็นอันละอุเบกขานั้นๆ ได้ เป็นอันล่วงอุเบกขานั้นๆ ได้

    พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมเพื่ออนุเคราะห์เกื้อกูลในการเจริญสติปัฏฐานเป็นอันมาก แม้โสมนัสอาศัยเรือนก็ ๖ ทางตาหูจมูกลิ้นกายใจไม่ได้เว้นเลย โทมนัสอาศัยเรือนก็ ๖ เหมือนกัน ทางตาหูจมูกลิ้นกายใจไม่ได้เว้นเลย แม้อุเบกขาเวทนาก็ ๖ ตาหูจมูกลิ้นกายใจไม่เว้นเลย เมื่อมีเป็นของจริง เจริญสติได้ไหม ทางตาในขณะที่เห็นรูปแล้วก็เกิดโสมนัส หรือโทมนัส หรืออุเบกขา ทางหูเจริญสติได้ไหม การเจริญสติปัฏฐานต้องไปทำอะไรใหม จะไปสร้างเวทนาได้ไหม ก็ต้องเป็นตัวตนใช่ไหม ที่เข้าใจว่าสร้างได้ แต่ความจริงการเจริญสติปัฏฐานเป็นเพียงสภาพที่ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏตามปกติ จึงจะชื่อว่าเห็นธรรมตามความเป็นจริง ถ้าไปสร้างหรือไปทำขึ้นก็ไม่ใช่ความจริง เป็นความผิดปกติ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 9
    6 ต.ค. 2566

    ซีดีแนะนำ