รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 066


    ตอนที่ ๖๖

    เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสแล้วอย่างนี้ อุตตรมาณพศิษย์ปาราสิริยพราหมณ์นั่งนิ่ง เก้อเขิน คอตก ก้มหน้า ซบเซา หมดปฏิภาณ

    แสดงให้เห็นว่า ถึงแม้ในครั้งพุทธกาลซึ่งพระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ก็ยังมีคนที่เข้าใจการอบรมอินทรีย์ผิด ถ้าเป็นผู้ที่สนใจในการอบรมศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญาจริงๆ ก็กราบทูลถามได้ เพื่อจะได้ประพฤติให้สมควรแก่ผลที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม

    ครั้นแล้วพระผู้มีพระภาคได้รับสั่งกับท่านพระอานนท์ว่า

    ปาราสิริยพราหมณ์ย่อมแสดงการเจริญอินทรีย์แก่สาวกทั้งหลายอย่างหนึ่ง ส่วนการเจริญอินทรีย์อันไม่มีวิธีอื่นยิ่งกว่าในวินัยของพระอริยะ ย่อมเป็นอีกอย่างหนึ่ง

    ขอให้ท่านพิจารณาข้อความที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ส่วนการเจริญอินทรีย์อันไม่มีวิธีอื่นยิ่งกว่าในวินัยของพระอริยะ ย่อมเป็นอีกอย่างหนึ่ง

    แสดงว่า ถ้าเป็นวิธีอื่นแล้วไม่สามารถที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ พระองค์ได้ทรงแสดงการเจริญอินทรีย์อันไม่มีวิธีอื่นยิ่งกว่า ถ้าจะมีบุคคลหนึ่งบุคคลใดกล่าวค้านการเจริญสติปัฏฐาน ไม่ตรงตามที่ได้ทรงแสดงไว้ ผู้นั้นย่อมเข้าใจว่า มีการเจริญอบรมวิธีอื่นยิ่งกว่าวิธีที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้แล้ว

    ท่านพระอานนท์ทูลว่า

    ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้สุคต เป็นกาลสมควรแล้วที่พระผู้มีพระภาคจะทรงแสดงการเจริญอินทรีย์อันไม่มีวิธีอื่นยิ่งกว่าในวินัยของพระอริยะ ภิกษุทั้งหลายฟังต่อพระผู้มีพระภาคแล้ว จักทรงจำไว้

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร อานนท์ ถ้าเช่นนั้นเธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าวต่อไป

    ท่านพระอานนท์ทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า

    ชอบแล้ว พระพุทธเจ้าข้า

    พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า

    ดูกร อานนท์ ก็การเจริญอินทรีย์อันไม่มีวิธีอื่นยิ่งกว่าในวินัยของพระอริยะ เป็นอย่างไร

    ดูกร อานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เกิดความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้ง ความชอบใจและความไม่ชอบใจขึ้น เพราะเห็นรูปด้วยจักษุ เธอรู้ชัดอย่างนี้ว่า เราเกิดความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจขึ้นแล้วเช่นนี้ ก็สิ่งนั้นแล เป็นสังขตะหยาบ อาศัยกันเกิดขึ้น ยังมีสิ่งซึ่งละเอียดประณีต นั่นคือ อุเบกขา เธอจึงดับความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจและไม่ชอบไจ อันเกิดขึ้นแล้วนั้นเสีย อุเบกขาจึงดำรงมั่น

    ดูกร อานนท์ ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ดับความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจอันเกิดขึ้นแล้วอย่างนี้ ได้เร็วพลันทันทีโดยไม่ลำบาก เหมือนอย่างบุรุษมีตาดีกระพริบตา ฉะนั้น อุเบกขาย่อมดำรงมั่น

    ดูกร อานนท์ นี้เราเรียกว่า การเจริญอินทรีย์ในรูปที่รู้ได้ด้วยจักษุอย่างไม่มีวิธีอื่นยิ่งกว่าในวินัยของพระอริยะ

    ถ้าท่านสังเกตข้อความว่า ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งดับความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจอันเกิดขึ้นแล้วอย่างนี้ ได้เร็วพลันทันทีโดยไม่ลำบาก

    เกิดขึ้นแล้ว ไม่ใช่ไปพยายามไม่ให้เกิด ถ้าไปพยายามไม่ให้เกิด ไม่ใช่การเจริญสติ ไม่ใช่การเจริญปัญญา และที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า นี้เราเรียกว่า การเจริญอินทรีย์ในรูปที่รู้ได้ด้วยจักษุอย่างไม่มีวิธีอื่นยิ่งกว่าในวินัยของพระอริยะ เพราะฉะนั้น ถ้าใครจะให้กั้นไว้ ก็ไม่ตรงตามที่ได้ทรงแสดงไว้ ทั้งความชอบใจ ทั้งความไม่ชอบใจ ไม่ใช่ให้เจาะจงเลือกว่าจะระลึกรู้เฉพาะความชอบใจ คือ โลภะ ถึงแม้ความไม่ชอบใจเป็นของจริงเกิดขึ้น สติก็ระลึกรู้ด้วย จึงจะสามารถดับความชอบใจ ความไม่ชอบใจได้โดยเร็วพลันทันทีโดยไม่ลำบากเพราะสติเกิดขึ้น ถ้าสติไม่เกิดขึ้น ความชอบใจก็ต่อไปอีกนาน ความไม่ชอบใจก็ต่อไปอีกนาน แต่เพราะเหตุว่าสติเกิดขึ้น ก็สามารถที่จะดับความชอบใจ ความไม่ชอบใจได้เร็วพลันทันทีโดยไม่ลำบาก

    สำหรับทางตาเป็นการเห็น พระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงอุปมาว่า เหมือนอย่างบุรุษมีตาดีกระพริบตาฉะนั้น

    สติไวไหม เร็วไหมที่จะต้องระลึกรู้ เพราะความชำนาญ ถ้าไม่ชำนาญก็มีความพอใจ ความชอบใจ ความไม่ชอบใจ วันหนึ่งๆ ไหลไปมากขึ้นเรื่อยๆ โดยที่สติไม่ระลึกรู้ แต่ผู้ใดที่อบรมเจริญสติเป็นปกติ จนกระทั่งมีความชำนาญ เวลาที่ความชอบใจเกิดขึ้น ก็สามารถระลึกรู้ได้โดยเร็วพลันทันทีโดยไม่ลำบาก อุปมาเหมือนคนตาดีที่กระพริบตาฉะนั้น

    ผู้ฟัง ความชอบใจเกิด สติเกิดขึ้นทันที

    ท่านอาจารย์ รวดเร็ว เป็นความไวของสติ ทำไมโลภะ โทสะ โมหะยังเกิดขึ้นได้รวดเร็วนัก เพราะเหตุว่าชำนาญ ฉันใด เวลาที่ผู้ที่อบรมเจริญสติระลึกรู้ลักษณะของนามของรูปทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ทั้งกาย เวทนา จิต ธรรม เวลาที่ความชอบใจเกิดขึ้น สติก็ระลึกได้เร็วพลันทันทีฉันนั้น

    ผู้ฟัง (ไม่ได้ยิน)

    ท่านอาจารย์ ลักษณะของสติก็เหมือนโลภะที่มีปัจจัยก็เกิดขึ้นได้ไม่ต้องรีรอ สติก็ไม่รีรอเหมือนกัน เวลาที่อบรมแล้วเจริญแล้ว สติก็สามารถจะเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว

    ผู้ฟัง อุเบกขาคืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ อุเบกขา หมายความถึง การไม่หวั่นไหวไปด้วยความชอบใจและไม่ชอบใจ ซึ่งอุเบกขาต้องเป็นกุศล เป็นสติ เป็นปัญญาที่ทำให้ตั้งมั่นได้

    ในพยัญชนะหลายแห่งจะมีคำว่า กุศลธรรมอันอิงอาศัยอุเบกขา คือ ความมั่นคง ไม่หวั่นไหวไปด้วยกำลังของปัญญาที่เกิดพร้อมสติ และในบางแห่งก็มีคำอธิบายว่า หมายความถึงวิปัสสนาญาณ

    เพราะฉะนั้น บางทีพยัญชนะก็ดูเหมือนกับเป็นสมาธิ แต่ถ้าเป็นการเจริญสติ-ปัฏฐานย่อมหมายความถึง การละเป็นสมุจเฉท ไม่ใช่เพียงชั่วครู่ชั่วคราว การละนิวรณ์ก็เหมือนกัน ถ้ามีพยัญชนะว่า ละนิวรณ์ ไม่ใช่หมายความว่า ให้ละอย่างสมาธิ คือ ชั่วครู่ที่สงบเป็นสมาธิ แต่หมายความว่าด้วยการเจริญปัญญารู้ชัด แล้วก็ดับนิวรณ์เป็นสมุจเฉท เป็นประเภทๆ ไป

    ผู้ฟัง หมายถึงอุเบกขาเวทนาหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้หมายความถึงอุเบกขาเวทนา หมายความถึงกุศลที่เป็นสติปัญญาที่ทำให้ไม่หวั่นไหวไปด้วยความชอบความไม่ชอบ หรือการยึดถือว่าเป็นตัวตน

    ผู้ฟัง ทำอย่างไรจึงเป็นอุเบกขา

    ท่านอาจารย์ เจริญสติ ไม่ใช่มีตัวตนไปทำอย่างนั้น ไปทำอย่างนี้ ไม่ใช่มีตัวตนไปเป็นอุเบกขาได้ตามใจชอบ เป็นสติที่มั่นคง ปัญญารู้ชัด ไม่หวั่นไหวไป

    ผู้ฟัง ขณะที่จิตเป็นอุเบกขา มั่นคงอย่างไร

    ท่านอาจารย์ เจริญสติแล้วจะทราบ ถ้าไม่มีสติ ก็ไม่มีทางที่จะมั่นคงอย่างนั้นได้ รู้ ลักษณะของนามของรูป รู้ชัด ในขณะนั้นก็ไม่ได้ยึดถือว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็น บุคคล เพราะรู้ว่าสภาพธรรมทั้งหลายล้วนแต่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เมื่อระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมใด สภาพธรรมนั้นก็ดับ ไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน

    สำหรับทางหู ก็โดยนัยเดียวกัน พระผู้มีพระภาคทรงอุปมาว่า

    ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ดับความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจและความไม่ชอบใจอันเกิดขึ้นแล้วอย่างนี้ ได้เร็วพลันทันทีโดยไม่ลำบาก เหมือนอย่างบุรุษมีกำลัง ดีดนิ้วมือโดยไม่ลำบากฉะนั้น

    สำหรับทางจมูกทรงอุปมาว่า

    ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ดับความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจอันเกิดขึ้นแล้วอย่างนี้ ได้เร็วพลันทันทีโดยไม่ลำบาก ทรงอุปมาเหมือนอย่างหยาดน้ำกลิ้งไปบนใบบัว ย่อมไม่ติดในที่ๆ กลิ้งไปสักน้อยหนึ่งฉะนั้น

    สำหรับทางลิ้น พระผู้มีพระภาคทรงอุปมาว่า

    ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ดับความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจอันเกิดขึ้นแล้วอย่างนี้ ได้เร็วพลันทันทีโดยไม่ลำบาก เหมือนอย่างบุรุษมีกำลัง ตะล่อมก้อนเขฬะไว้ตรงปลายลิ้น แล้วถ่มไปโดยไม่ลำบากฉะนั้น

    ถ้าเป็นพระดำรัสโดยตรง จะไม่มีเลยที่จะให้กั้นไว้ คือ ทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจอันเกิดขึ้นแล้ว ก็ให้สติระลึกรู้ แล้วก็ดับได้โดยเร็วพลันทันทีโดยไม่ลำบาก

    สำหรับทางกาย พระผู้มีพระภาคทรงอุปมาว่า

    เหมือนอย่างบุรุษมีกำลัง เหยียดแขนที่คู้ หรือคู้แขนที่เหยียด โดยไม่ลำบาก ฉะนั้น

    สำหรับทางใจ ทรงอุปมาว่า

    เหมือนบุรุษมีกำลัง หยัดหรือสบัดหยาดน้ำ ๒ หรือ ๓ หยาด ลงในกระทะเหล็กที่ร้อนจัดตลอดวัน ความหยัดลง คือ ความตกลงแห่งหยาดน้ำยังช้า ทันทีนั้นหยาดน้ำนั้นจะถึงความสิ้นไป แห้งไปเร็วทีเดียวฉะนั้น

    กำจัดอภิชาและโทมนัสที่เป็นอนุสัยทีเดียว โดยการระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ เพราะเหตุว่าความรู้เท่านั้นที่จะละการยึดถือนามรูปทั้งปวงว่าเป็นตัวตนได้ ถ้าความไม่รู้ยังมีอยู่ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ หรือที่กาย ที่เวทนา ที่จิต หรือที่ธรรม ก็ไม่สามารถจะละอนุสัยกิเลสได้เลย ซึ่งจะละได้ก็ต้องโดยความรู้ชัดในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ

    ข้อความที่ได้กล่าวถึงเป็นตอนต้นใน อินทรียภาวนาสูตร

    ข้อความต่อไปมีว่า

    พระเสขะผู้ยังปฏิบัติอยู่ เมื่อเกิดความชอบใจ ไม่ชอบใจ ย่อมอึดอัดเบื่อหน่าย เกลียดชังความชอบใจความไม่ชอบใจนั้น แต่พระอริยะผู้เจริญอินทรีย์แล้ว ย่อมเป็นผู้วางเฉยในสิ่งนั้นๆ อยู่อย่างมีสติสัมปชัญญะได้

    แสดงให้เห็นว่า การเจริญสติปัฏฐานจะต้องเจริญมากมายสักเพียงใด จะต้องรู้ทั่วจริงๆ ปกติจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นกาย เป็นเวทนา เป็นจิต ก็ข้ามไม่ได้ ถ้าไม่ระลึก ไม่มีทางที่จะรู้ชัด

    ก่อนที่จะกล่าวถึงจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานประการต่อไป เพื่อไม่ข้ามการพิจารณาจิต บางท่านคิดว่า การเจริญสติปัฏฐานนั้น บิณฑบาตไม่ได้ ถ้าเข้าใจอย่างนั้นจะไม่ตรงกับพระธรรมวินัยเลย ซึ่งตามพระธรรมวินัยแล้ว การเจริญสติปัฏฐานเป็นการรู้สภาพธรรมทุกอย่างตามปกติในชีวิตประจำวัน

    มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ ปิณฑปาตปาริสุทธิสูตร ข้อ ๗๓๗ มีข้อความว่า

    ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับ ณ พระวิหารเวฬุวัน เขตพระนครราชคฤห์ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมแก่ท่านพระสารีบุตร ซึ่งมีข้อความว่า

    ภิกษุนั้นพึงพิจารณาดังนี้ว่า เราเข้าไปบิณฑบาตยังบ้านทางใด เที่ยวบิณฑบาตไปในประเทศใด และกลับจากบิณฑบาตแต่บ้านทางใด ในทางและประเทศนั้นๆ เรามีความพอใจ หรือความกำหนัด หรือความขัดเคือง หรือความลุ่มหลง หรือแม้ความกระทบกระทั่งทางใจในรูปที่รู้ได้ด้วยจักษุบ้างไหม ในเสียงที่รู้ได้ด้วยโสตะ ในกลิ่นที่รู้ได้ด้วยฆานะ ในรสที่รู้ได้ด้วยชิวหา ในโผฏฐัพพะที่รู้ได้ด้วยกาย ในธรรมารมณ์ที่รู้ได้ดัวยมโนบ้างไหม

    ถ้าพิจารณาอยู่ รู้อยู่อย่างนี้ว่า มีความพอใจ หรือความกำหนัด หรือความขัดเคือง หรือความลุ่มหลง หรือแม้ความกระทบกระทั่งทางใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ภิกษุนั้นพึงพยายามละอกุศลธรรมอันลามกนั้นเสีย แต่ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่า ไม่มีความพอใจ หรือความกำหนัด หรือความขัดเคือง หรือความลุ่มหลง หรือแม้ความกระทบกระทั่งทางใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้ศึกษาเนืองๆ ทั้งกลางวันและกลางคืนในกุศลธรรมทั้งหลาย อยู่ได้ด้วยปีติ และปราโมทย์นั้น นั่นแล

    ไม่ว่าพระภิกษุจะบิณฑบาตในทางใด ในประเทศใด ย่อมเป็นผู้พิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่า มีความพอใจ หรือความไม่พอใจ หรือความขัดเคืองที่เกิดจากทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจหรือไม่ ถ้ามี ก็เป็นผู้ที่เพียรพยายามละด้วยการเจริญสติ ถ้าไม่เจริญสติก็ละไม่ได้ หรือถ้าไม่มี ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้ศึกษาเนืองๆ ทั้งกลางวันและกลางคืนในกุศลธรรมทั้งหลาย อยู่ได้ด้วยปีติ และปราโมทย์นั้น นั่นแล

    ในกุศลธรรมทั้งหลาย แสดงให้เห็นว่า แล้วแต่อัธยาศัยจริงๆ ไม่มีการกะ เกณฑ์เป็นกฎว่า จะต้องให้ทำอย่างนั้น หรือจะต้องทำอย่างนี้ เป็นผู้ที่ศึกษาเนืองๆ ทั้งกลางวันและกลางคืนในกุศลธรรมทั้งหลาย

    ข้อความต่อไปพระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร สารีบุตร ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุพึงพิจารณาดังนี้ว่า เราละกามคุณ ๕ ได้แล้วหรือหนอ

    ดูกร สารีบุตร ถ้าภิกษุพิจารณารู้อย่างนี้ว่า เรายังละกามคุณ ๕ ไม่ได้เลย ภิกษุนั้นพึงพยายามละกามคุณ ๕

    ดูกร สารีบุตร แต่ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่อย่างนี้ว่า เราละกามคุณ ๕ ได้แล้ว ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้ศึกษาเนืองๆ ทั้งกลางวันและกลางคืนในกุศลธรรมทั้งหลาย อยู่ด้วยปีติ และปราโมทย์นั้น นั่นแล

    การเจริญสติปัฏฐานต้องพิจารณามาก เมื่อสติระลึกรู้ลักษณะของนามของรูปแล้ว ยังเป็นผู้ที่รู้จักตัวเองถูกต้องชัดเจนตามความเป็นจริงว่า เป็นผู้ที่ละกามคุณ ๕ แล้วหรือยัง เมื่อเป็นผู้ที่ยังไม่ละ ก็จะต้องพยายามละกามคุณ ๕ แต่ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่อย่างนี้ว่า เราละกามคุณ ๕ ได้แล้ว ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้ศึกษาเนืองๆ ทั้งกลางวันและกลางคืนในกุศลธรรมทั้งหลาย อยู่ด้วยปีติ และปราโมทย์นั้น นั่นแล

    ข้อความต่อไปมีว่า

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ภิกษุพึงพิจารณาดังนี้ว่า เราละนิวรณ์ ๕ ได้แล้วหรือหนอ

    การละในพระพุทธศาสนานั้น ไม่ใช่ละเพียงแค่ชั่วครู่ชั่วยาม แต่ละเป็นสมุจเฉท เพราะเหตุว่านิวรณ์คืออกุศลธรรม อกุศลจิตที่จะหมดสิ้นหรือดับได้จริงๆ ก็ด้วยการเจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่เพียงระงับยับยั้งไว้ด้วยการเจริญสมาธิเท่านั้น

    ต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ภิกษุพึงพิจารณาดังนี้ว่า เรากำหนดรู้อุปาทานขันธ์ ๕ ได้แล้วหรือหนอ

    ทรงเตือนอยู่ตลอดเวลาให้รู้จักความจริง ไม่ใช่ให้หลงเข้าใจผิด เพราะเหตุว่าต้องระลึกเนืองๆ ว่า ละกามคุณ ๕ ได้แล้วหรือยัง เมื่อยังละไม่ได้ก็ต้องรู้ และนิวรณ์ ๕ ละได้แล้วหรือยัง ก็ต้องรู้ตามความเป็นจริง และที่จะละนิวรณ์ ๕ ได้นั้น โดยไม่รู้อุปาทานขันธ์ ๕ ละไม่ได้แน่ จึงได้ตรัสว่า ภิกษุพึงพิจารณาดังนี้ว่า เรากำหนดรู้อุปาทานขันธ์ ๕ ได้แล้วหรือหนอ

    ทรงโอวาทมาถึงพุทธบริษัทสมัยนี้ด้วย ที่จะให้รู้ตามความเป็นจริงว่า รู้อุปาทานขันธ์ ๕ แล้วหรือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณที่มีอยู่เป็นประจำ รู้หรือยัง ถ้ายังไม่รู้ ก็เพียรพยายามที่จะรู้

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ภิกษุพึงพิจารณาดังนี้ว่า เราเจริญสติปัฏฐาน ๔ แล้วหรือหนอ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 9
    7 ส.ค. 2566

    ซีดีแนะนำ