รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 074


    ตอนที่ ๗๔

    ซึ่งสราคจิตมีอยู่เป็นประจำทั้งวัน ถ้าท่านผู้ใดไม่ทราบว่าเป็นสิ่งที่สติควรจะระลึกรู้ ก็ไม่สามารถจะกั้นกระแสของสราคจิต หรือว่าโลภมูลจิตได้เลยสักขณะเดียว เพราะฉะนั้นอกุศลจิตที่เป็นโลภมลูจิต เป็นสราคจิตนี้ ก็จะไหลไปตามอารมณ์ที่เห็น ที่ได้ยิน ที่ได้กลิ่น ที่รู้รส ที่กระทบสัมผัส ที่คิดนึก หมักดองสะสมอยู่ในจิต ไม่ไปที่ไหนเลย

    ทุกขณะทุกครั้งที่อกุศลจิตเกิดขึ้น โลภมูลจิตเกิดขึ้นแต่ละครั้ง ก็เก็บสะสมหมักดอง เพิ่มกำลังขึ้นที่จะเป็นปัจจัยให้โลภมูลจิตเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ในทันทีที่เห็น ที่ได้ยิน ที่ได้กลิ่น ที่ลิ้มรส ที่กระทบสิ่งที่สัมผัสเย็นร้อนอ่อนแข็งเป็นต้น หรือว่าเรื่องราวต่างๆ ที่คิดนึกทางใจ ไม่ทราบว่าอกุศลจิตมีมากมายในวันหนึ่งๆ แล้วมีลักษณะที่ทรงจำแนกออก ตามกิจการงานของประเภทของอกุศลธรรมนั้นๆ คราวก่อนได้กล่าวถึงอาสวะ ๔ ได้แก่ ความยินดีพอใจไหลไปตามรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ถึงแม้ว่าจะเป็นพระโสดาบันบุคคลแล้ว กามาสวะก็ยังไม่สิ้น ยังไม่ดับหมดเป็นสมุจเฉท เพราะฉะนั้นก็จะเห็นกำลังของกิเลส กำลังของอกุศลที่เกิดขึ้นแต่ละขณะ แล้วก็หมักดองสะสม เพิ่มพูนกำลังขึ้น ทำให้ไหลไปด้วยความยินดีพอใจอยู่เรื่อยๆ อาสวะ ๔ คือ กามาสวะ ภวาสวะ ทิฏฐาสวะ และอวิชชาสวะ ผู้ที่เป็นอริยบุคคลท่านพระโสดาบันละได้เพียงทิฏฐาสวะ ความเห็นผิดที่เคยยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตน การที่เคยสงสัยในลักษณะของนามของรูปในอริยสัจจธรรมไม่มีแก่ท่าน เป็นผู้ที่ไม่มีทิฏฐาสวะ แต่ไม่หมดกามาสวะ ก็จะเห็นได้ว่าเรื่องของความละเอียด ความหนาแน่น ความเหนียวแน่นของอกุศล ซึ่งถ้าไม่เจริญหนทางข้อประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้องแล้ว ไม่สามารถที่จะละอกุศลต่างๆ เหล่านี้ได้เลย

    และในคราวก่อนนอกจากอาสวะก็ได้กล่าวถึงเรื่องของโอฆะด้วย ซึ่งองค์ธรรมหรือสภาพธรรมที่เป็นอกุศลธรรมที่ทำกิจของโอฆะก็เช่นเดียวกับอาสวะ คือมี กาโมฆะ ภโวฆะ ทิฏโฐฆะ และอวิชโชฆะ ถ้าจะกล่าวโดยสภาพธรรมแล้ว ได้แก่ โลภเจตสิก ทิฏฐิเจตสิก โมหเจตสิก สภาพธรรมที่เกิดกับจิตมีมากมาย แต่ว่าที่เป็นอกุศลธรรมนั้นมี ๑๔ ดวง แต่ใน ๑๔ ดวงนั้นที่หมักดอง และที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งก็เป็นเสมือนห้วงน้ำที่กั้นให้จมอยู่ในวัฏฏะได้แก่ โลภเจตสิกซึ่งเกิดขึ้นยินดีพอใจในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะบ้าง หรือว่ายินดีพอใจในขันธ์บ้าง หรือว่าเป็นไปกับความเห็นผิดบ้าง และโมหะความไม่รู้ในลักษณะของนามและรูป เป็นสิ่งที่มีอยู่เป็นประจำ ถ้าไม่เจริญสติปัญญาไม่เกิดขึ้น อะไรจะละทิฏฐาสวะหรือทิฏฐิโอฆะ (ทิฏโฐฆะ) ก็ไม่มี เพราะฉะนั้นถ้าไม่รู้เรื่องอกุศลธรรมละเอียดว่าไม่ใช่มีแต่ในตำรา ไม่ใช่มีแต่ในพระไตรปิฎก แต่ว่าแท้ที่จริงแล้วมีอยู่กับจิตของปุถุชนมากมายทุกๆ ขณะหมักดองสะสม เป็นอาสวะ เป็นโอฆะ ทุกๆ ขณะที่เกิดขึ้นทีเดียว

    สำหรับอกุศลธรรมประเภทต่อไป คือ โยคะ ๔ ได้แก่

    กามโยคะ ๑ ภวโยคะ ๑ ทิฏฐิโยคะ ๑ อวิชชาโยคะ ๑

    โดยสภาพของเจตสิกก็เหมือนกับอาสวะ เหมือนกับโอฆะ คือ ทุกครั้งที่มีความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเกิดขึ้น นอกจากจะเป็นสิ่งที่สะสมหมักดองอยู่ในจิตใจ เป็นเครื่องกั้น เป็นห้วงน้ำที่ทำให้จมอยู่ในวัฏฏะแล้ว ยังเป็นโยคะ คือ ตรึงประกอบสัตว์ไว้ไม่ให้ผละ หรือไม่ให้หลุดพ้นออกไปจากวัฏฏะได้

    ถ้าไม่เจริญสติจะไม่ทราบจริงๆ ว่า ลักษณะของอกุศลธรรมนั้นเป็นอย่างนั้นจริงๆ อย่างท่านที่เริ่มเจริญสติระลึกรู้ลักษณะของนามบ้าง ของรูปบ้างเล็กน้อย ประเดี๋ยวเป็นอะไร หลงลืมสติไป มีความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แต่ไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะนั้นว่าเป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง เพราะฉะนั้น ก็มีอาสวะ มีโอฆะ มีโยคะที่ทำให้สะสมหมักดอง กั้นให้จมในวัฏฏะ ตรึงไว้ไม่ให้ผละ ไม่ให้พ้นไปจากวัฏฏะได้

    สำหรับ ภวโยคะ เป็นความยินดีพอใจ ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แต่ก็เป็นความยินดีพอใจในขันธ์ ในภพ

    ทิฏฐิโยคะ ความเห็นผิด เป็นเครื่องที่ตรึงไว้ไม่ให้หลุดไปจากวัฏฏะ เหมือนกัน

    เพราะฉะนั้น ความเข้าใจในข้อประพฤติปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ เป็นเรื่องที่ควรจะพิจารณาให้มาก เพื่อสติจะได้ระลึกรู้สภาพของนามธรรมและรูปธรรมถูกต้องตามความเป็นจริง ถ้ามีความเห็นผิดในข้อประพฤติปฏิบัติ ก็เป็นทิฏฐิโยคะที่ตรึงไว้ ประกอบไว้ไม่ให้พ้นไปจากวัฏฏะ

    สำหรับ อวิชชาโยคะ เป็นสภาพที่ไม่รู้ลักษณะของนามและรูป ถ้าทางตากำลังเห็น ไม่รู้ลักษณะของนาม ไม่รู้ลักษณะของรูป เมื่อเป็นอกุศลจิตแล้วก็ไม่พ้นจากอวิชชาโยคะ ตรึงไว้ ประกอบไว้ในวัฏฏะ

    ต่อไปเป็นอกุศลธรรมที่ทำกิจเป็นคันถะ เป็นเครื่องผูก อกุศลเจตสิกมี ๑๔ ประเภทก็จริง แต่ว่ามีกิจการงานหน้าที่ตามประเภทของตนๆ อย่างอกุศลธรรมที่เป็นเครื่องผูก ผูกไว้ มัดไว้ ได้แก่ อภิชฌากายคันถะ ๑ พยาปาทกายคันถะ ๑ สีลัพพตปรามาสกายคันถะ ๑ อิทังสัจจาภินิเวสกายคันถะ ๑

    คันถะที่ ๑ อภิชฌากายคันถะ ได้แก่ ความยินดีพอใจ เพ่งเล็งทั่วไปในอารมณ์ทั้งหลาย

    ถ้าทราบเรื่องของโลภะแล้ว จะเห็นได้ว่า ทำกิจทุกประการ ไม่ว่าจะเป็น อาสวะ สะสมหมักดองไว้ โลภะก็เป็นอย่างนั้น หรือว่าโอฆะ กั้นไว้ไม่ให้พ้นไปจากวัฏฏะ โลภะก็ทำกิจนั้น เป็นโยคะ เป็นเครื่องที่ตรึงไว้ ประกอบไว้ โลภะก็ทำอย่างนั้น เป็นคันถะ เป็นเครื่องผูกมัด ไม่ให้พ้นไป โลภะก็ทำอย่างนั้น

    แต่ในหมวดของคันถะ ไม่ได้แบ่งแยกเป็นกาม หรือภวะ แต่รวมเป็น อภิชฌากายคันถะ หมายความถึงความยินดีพอใจ เพ่งเล็งทั่วไปในอารมณ์ทั้งหลาย ได้แก่ โลภเจตสิกที่เกิดกับโลภมูลจิตทั้ง ๘ ดวง

    ที่สงเคราะห์นัยการศึกษาขั้นปริยัติ กับนัยของการปฏิบัติ ก็เพื่อให้ทราบเรื่องของจิตตานุปัสสนา ทุกท่านมีจิต แต่จิตของท่านในวันหนึ่งๆ เป็นจิตประเภทใดบ้าง ถ้าสติไม่เกิดขึ้น ไม่ระลึกรู้ก็จะไม่ทราบ จิตตานุปัสสนา หมายความถึงสติที่ระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิตบ่อยๆ เนืองๆ จึงจะเห็นจิตในจิต ไม่ยึดถือว่าเป็นตัวตน สัตว์ บุคคล ไม่ว่าจะเป็นจิตใดๆ ทั้งสิ้น แม้ว่าจะเป็นสราคจิตเกิดขึ้น ก็จะต้องระลึกรู้

    สำหรับคันถะที่ ๒ พยาปาทกายคันถะ ความไม่แช่มชื่น ความไม่พอใจ เพราะว่ามีผู้ทำความเสื่อมเสียให้กับตัวท่าน หรือว่ามีผู้ที่ทำความเสื่อมเสียให้กับผู้ที่เป็นที่รักของท่าน หรือว่ามีผู้ทำความเจริญให้กับผู้ไม่เป็นที่รักของท่าน

    ไม่ใช่เพียงแต่บุคคลอื่นจะทำสิ่งที่ไม่ดีเป็นความเสื่อมเสียให้กับตัวท่านเท่านั้น แต่ยังกว้างขวางครอบคลุมขยายไปถึงทั้งบุคคลซึ่งไม่เป็นที่รักและบุคคลซึ่งเป็นที่รักด้วย เป็นต้นว่าถ้ามีใครทำความเสื่อมเสียให้กับบุคคลผู้เป็นที่รัก หรือว่าหมู่คณะก็ได้ ถ้าท่านคลุกคลีเป็นพวกพ้องกับหมู่คณะใด และท่านก็มีความรู้สึกว่ามีบุคคลอื่นจะทำความเสื่อมเสียให้กับพวกพ้อง หรือว่าบุคคลที่ท่านสนิทสนมคุ้นเคยด้วย จิตใจของท่านเป็นอย่างไร ไม่แช่มชื่นแล้ว หรือว่าตรงกันข้ามบุคคลผู้นั้นไม่เป็นที่รัก แต่ว่ามีบุคคลอื่นทำความเจริญให้กับบุคคลซึ่งไม่เป็นที่รักของท่าน ความไม่พอใจ ความไม่แช่มชื่นก็เกิดขึ้นได้ เป็นคันถะผูกไว้ไม่ให้ไปสู่มรรคมีองค์ ๘ หรือทำให้สติไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปตามความเป็นจริง

    แต่ถ้าท่านเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ ท่านจะต้องระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปทั้งปวงที่เกิดกับท่าน ถ้าเกิดความไม่แช่มชื่นขึ้นเพราะมีผู้อื่นทำความเสื่อมเสียให้กับท่าน ผู้ที่เจริญมรรคมีองค์ ๘ สติระลึกรู้สภาพของจิตใจในขณะนั้นเป็นจิตตานุปัสสนาได้ ทุกอย่างทุกวันที่เกิดขึ้นเป็นไปนั้น ก็เป็นเพราะการสะสมของแต่ละบุคคล ทำให้แต่ละบุคคลกระทำกายอย่างนั้น วาจาอย่างนั้น สติก็ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นตามความเป็นจริง นี่เป็นจิตของผู้เจริญสติ

    มีหลายท่านไม่ชอบเลยที่จิตเป็นโทสมูลจิต ถือว่ามีความไม่แช่มชื่นเกิดขึ้น แล้วก็รู้ตัวด้วยว่าเป็นคนเจ้าโทสะ ขี้โกรธ สะสมมามากในเรื่องของความโกรธ พอเริ่มโกรธก็พยายามทันทีที่จะหาวิธีหนึ่งวิธีใดที่จะไม่ให้โกรธต่อไป ที่จะหยุดยั้งความโกรธนั้น แต่ปรากฏว่าไม่สำเร็จ แต่ท่านผู้นั้นก็เป็นผู้เจริญสติ มีความเข้าใจในเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน แต่ในขณะที่ความโกรธเกิดขึ้นจริงๆ สติยังไม่ทันที่จะระลึกรู้สภาพจิตใจที่ไม่แช่มชื่นในขณะนั้น เพราะเหตุว่าความโกรธความไม่แช่มชื่นของจิตนั้นยังมีกำลังมาก และผู้นั้นก็เพิ่งเริ่มเจริญสติ การหลงลืมสติก็มีมาก เพราะฉะนั้นความโกรธมีปัจจัยที่จะเกิดต่อไป ผู้นั้นก็พากเพียรที่จะหยุดยั้งความโกรธ ด้วยการที่ระลึกถึงอารมณ์ที่ทำให้จิตสงบ แต่ก็ไม่สามารถที่จะทำให้จิตสงบได้ ผู้นั้นก็ทราบว่าถึงแม้จะพยายามระลึกถึงสมถภาวนาที่จะทำให้จิตสงบ ทำให้ไม่โกรธ แต่ความโกรธก็ยังเกิดขึ้น และสติก็ไม่ระลึกรู้ความโกรธที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนั้น ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะเหตุว่า การเจริญสติยังน้อย แต่ให้ทราบว่าถึงอย่างไร ผู้ที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม สติจะต้องเกิดขึ้นระลึกรู้แม้สภาพความโกรธความไม่แช่มชื่นของจิตนั้นจะมีกำลังแรงกล้า เพราะเป็นผู้ที่สะสมมาในเรื่องของความโกรธอย่างแรงกล้า แต่ละบุคคลเป็นตัวของท่านจริงๆ ที่มีปัจจัยทำให้เกิดขึ้น แล้วสติก็ระลึกรู้ลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นตามความเป็นจริง แล้วละการยึดถือว่าเป็นตัวตน

    บางท่านไม่ค่อยจะเข้าใจสติปัฏฐาน หรือว่าอารมณ์ที่สติจะระลึกรู้ เป็นต้นว่าลักษณะที่อ่อนแข็งที่ปรากฏที่กาย หรือว่าความไม่แช่มชื่น ความหยาบกระด้างของจิตใจที่เกิดขึ้นในขณะนั้น แล้วสติก็ระลึกรู้เพียงชั่วขณะนิดเดียว เพราะว่าเป็นผู้เพิ่งเริ่มเจริญสติ ท่านก็ไม่ทราบเลยว่าแท้ที่จริงแล้ว สติปัฏฐานก็ไม่ใช่อย่างอื่นก็คือ ลักษณะแข็งที่กำลังปรากฏ หรือว่าความหยาบกระด้างของจิตที่กำลังปรากฏนั่นเอง แต่เพราะว่าเพิ่งเริ่มเจริญสติ ตัวตนก็มากมายเหลือเกิน แม้แต่เพียงชั่วขณะที่ระลึกนิดเดียว ความไม่รู้ชัดในสภาพธรรมนั้นมี ตัวตนก็เข้าไปแทรกเข้าไปทำให้ไม่รู้ขึ้น อวิชชาสวะก็เกิดขึ้นได้ เป็นสิ่งที่หมักดองสะสมต่อไปได้ นี่เป็นเรื่องที่ว่าไม่ใช่ว่าความรู้ชัดจะมีทันทีที่สติระลึกรู้ลักษณะของนาม หรือว่าเริ่มรู้ลักษณะของรูป แต่การรู้ชัดนั้นก็ไม่ใช่รู้ชัดในสิ่งอื่น นอกจากสิ่งที่ท่านเคยเริ่มระลึก เป็นปกติ เป็นประจำวันนั่นเอง แต่ว่าอาศัยที่การระลึกมีมากขึ้น บ่อยขึ้น ชินขึ้น ความรู้ชัดในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏที่เคยเริ่มระลึกก็ถูกต้องชัดเจน ละคลายการยึดถือว่าเป็นตัวตนได้

    อารมณ์เป็นของธรรมดาเป็นปกติ แต่ว่าสติระลึกรู้ชัดขึ้น เย็นธรรมดาที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เห็นธรรมดาปกติที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เป็นปกติธรรมดาทุกอย่าง แต่ว่าวันหนึ่งปัญญาจะรู้ชัดได้ เพราะสติระลึกรู้ลักษณะของสิ่งนั้นเนืองๆ บ่อยๆ เพราะฉะนั้นถ้าวันหนึ่งท่านจะระลึกรู้ลักษณะของรูปสักชั่วขณะหนึ่ง ก็ขอให้มีจิตอาจหาญร่าเริง อย่าโทมนัส อย่าเสียใจว่า ท่านไม่สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ในขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของนามนั้นแล้วหรือว่าในขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของรูปนั้นแล้ว เพราะว่าชั่วขณะนิดเดียวนั้น ทุกๆ ครั้งบ่อยเข้า จะทำให้ปัญญาสามารถที่จะรู้ชัดในลักษณะของสิ่งธรรมดาที่สติกำลังระลึกรู้ตามปกติในวันหนึ่งบ้างโดยอาศัยการระลึกรู้ที่ระลึกทีละน้อย

    สำหรับคันถะที่ ๓ คือ สีลัพพตปรามาสกายคันถะ ซึ่งได้แก่ข้อประพฤติปฏิบัติที่ผิดทางจากมรรคมีองค์ ๘ ทั้งหมดเป็นสีลัพพตปรามาสกายคันถะ เพราะเหตุว่าผู้ที่จะละสีลัพพตปรามาสกายคันถะได้หมดสิ้นเป็นสมุจเฉทได้นั้น คือ พระโสดาบันบุคคล ต้องเป็นผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจจธรรมจึงจะละสีลัพพตปรามาสกายคันถะได้ ถ้าท่านไม่สำเหนียก สังเกตว่า สิ่งที่ท่านกำลังประพฤติปฏิบัติอยู่นี้ผิดหรือถูก ท่านก็ละสีลัพพตปรามาสคันถะไม่ได้ เพราะว่าโดยมากทั้งที่ต้องการเจริญวิปัสสนาไม่ทราบว่า จะรู้อารมณ์อะไร แล้วก็ไม่ทราบว่าจะปฏิบัติอย่างไรจึงจะรู้อารมณ์นั้นได้ ถ้าท่านมีความเข้าใจถูกต้องว่า การเจริญสติปัฏฐานเพื่อจะให้ปัญญารู้ชัดเป็นวิปัสสนาญาณนั้นที่จะให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ก็คือการระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏกับท่าน ท่านเป็นบุคคลไหน เป็นบรรพชิตหรือว่าเป็นฆราวาส ขณะนี้เป็นปัจจุบัน อยู่ณสถานที่ใด มีนามมีรูปที่กำลังเกิดขึ้นปรากฏเพราะเหตุปัจจัย สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ไม่เคลื่อนไปเลย ไม่ผละทิ้งสิ่งที่กำลังปรากฏ ที่เป็นของจริง ที่เป็นนามธรรม ที่เป็นรูปธรรม ที่เกิดปรากฏในขณะนี้แล้วเพราะเหตุปัจจัย นี่จึงจะชื่อว่าท่านรู้ถูก เข้าใจถูกว่าปัญญานั้นจะต้องรู้อะไร ในอริยสัจจ์ที่ ๑ คือทุกขอริยสัจจ์ อะไรเป็นทุกข์ สิ่งที่กำลังปรากฏเป็นทุกข์ เพราะอะไร เพราะเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่ว่าจะเป็นรูปหรือไม่ว่าจะเป็นนาม ถ้าท่านมีความเข้าใจอย่างนี้จริงๆ จะมีอะไรที่จะทำให้ท่านเข้าใจไขว้เขว คลาดเคลื่อนไปจากการที่สติระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏในขณะนี้ได้ไหม ปัญญาที่รู้ทุกขอริยสัจจ์ก็คือ ความรู้ในลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ที่เกิดดับเป็นปกติเพราะเหตุปัจจัย ถ้ารู้อย่างนี้จริงๆ อวิชชาก็จะไม่มากั้น และทิฏฐิความเห็นผิดซึ่งจะมาในรูปของทิฏฐาสวะ ทิฏโฐฆะ หรือว่าสีลัพพตปรามาส ก็จะมาขวางกั้นไม่ได้ เพราะเห็นว่าท่านรู้ในข้อประพฤติปฏิบัติว่า การเจริญสตินั้นคืออย่างไร และรู้ทุกขสัจจ์นั้นคืออะไร ถ้าไม่อย่างนั้นแล้ว ถ้าท่านไม่ใช่เป็นผู้ที่สำเหนียก สังเกตว่าสิ่งที่ท่านกำลังประพฤติปฏิบัติอยู่นี้ผิดหรือถูก ท่านก็ละสีลัพพตปรามาสกายคันถะไม่ได้ ในขณะที่กำลังคิดว่าเจริญวิปัสสนาจะมี สีลัพพตปรามาสกายคันถะ ได้ไหม

    ผู้ฟัง ผมได้ยินทางวิทยุที่ท่านผู้หนึ่งบรรยายเกี่ยวกับสติปัฏฐาน ท่านบอกว่าการกำหนดรูปนามที่เป็นปัจจุบันนั้น เฉพาะทางตาให้กำหนดที่นาม เฉพาะทางหูให้กำหนดที่นาม ส่วนที่เหลือนั้นท่านบอกว่าให้กำหนดที่รูปก็มี ที่นามก็มี ท่านว่าอย่างนี้ แล้วท่านก็ยกบาลีขึ้นมาอ้างด้วยว่า ทิฏฺฐํ โสตํ มุตฺตํ เมื่อเป็นเช่นนี้จะเป็นสีลัพพตปรามาสกายคันถะไปได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ สีลัพพตปรามาสกายคันถะ คือ ความเข้าใจผิดในข้อประพฤติปฏิบัติ ถ้าเป็นทิฏฐาสวะ คือ ความเห็นผิดทั้งหมดเลย ไม่ว่าจะเป็นความเห็นผิดว่าโลกเที่ยง โลกสูญ หรือสภาพธรรมที่กำลังปรากฏนี้เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน ทั้งหมดเป็นความเห็นผิด เป็นทิฏฐาสวะ เป็นทิฏโฐฆะ เป็นทิฏฐิโยคะด้วย แต่พอถึงคันถะ เครื่องผูก ทรงจำแนกแล้ว เพิ่มความเห็นผิดในข้อปฏิบัติขึ้นอีกประการหนึ่งคือ สีลัพพตปรามาสกายคันถะ ถ้าไม่มีความรู้ที่ถูกต้องในการเจริญมรรคมีองค์ ๘ มีความเข้าใจผิดคลาดเคลื่อนอย่างหนึ่งอย่างใดเกิดขึ้นที่จะไม่ทำให้รู้ลักษณะของนามและรูปตามความเป็นจริง ก็เป็นสีลัพพตปรามาสกายคันถะ ที่ผูกไว้ในความเห็นผิดในข้อประพฤติปฏิบัติที่ผิด


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 9
    8 ต.ค. 2566

    ซีดีแนะนำ