รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 052


    ตอนที่ ๕๒

    ท่านอาจารย์ เวลาที่ไม่ได้เจริญสติ สุขก็มี ทุกข์ก็มี แต่เป็นตัวตนที่เป็นสุข เป็นตัวตนที่เป็นทุกข์ หรือความรู้สึกเฉยๆ พอถามก็บอกได้ว่าเฉยๆ ความรู้สึกเป็นอทุกขมสุขนั้นเป็นอุเบกขาเวทนา แต่ขณะใดที่ไม่เจริญสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมรูปธรรม ขณะนั้นเป็นตัวตนทั้งหมด เป็นเราสุข เป็นเราทุกข์ เป็นเราเฉยๆ เพราะฉะนั้นจึงได้กล่าวว่า ถึงแม้ว่าความสุขมีจริง ความทุกข์มีจริง ความรู้สึกเฉยๆ มีจริง แล้วก็เกิดขึ้นแล้วก็หมดไปให้รู้ในสภาพความไม่เที่ยงใช่ไหม ไม่มีสุขที่สุขตลอดเวลา ไม่มีทุกข์ที่เป็นทุกข์ตลอดเวลา หรือว่าไม่มีดีใจตลอดเวลา ไม่มีเสียใจตลอดเวลา ไม่มีความรู้สึกที่เฉยๆ เท่านั้นตลอดเวลา แม้สภาพธรรมมีปรากฏแต่ว่าลักษณะนั้นยากที่จะรู้ ลักษณะนี้หมายความถึง ลักษณะที่เป็นนามธรรม หรือลักษณะที่เป็นรูปธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน เป็นของยากที่จะรู้จึงกล่าวว่าลึกซึ้ง การที่จะรู้ว่าเป็นสุขเวทนาก็ลึกซึ้ง เพราะอะไร เพราะเคยเป็นเราสุข ไม่ได้รู้เลยว่าเป็นนามธรรมชนิดหนึ่งที่อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น เวลาที่ทุกขเวทนาเกิดขึ้น ที่จะรู้ว่าเป็นทุกขเวทนานั้นลึกซึ้ง เพราะอะไร เพราะเคยยึดถือว่าเป็นเราทุกข์ อุเบกขาเวทนาความรู้สึกเฉยๆ ก็เหมือนกัน ที่จะให้เห็นว่าเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งที่อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้นและก็ดับไปเป็นนามธรรม เป็นความรู้สึกเฉยๆ ก็ยากที่จะรู้ได้ว่าเป็นนามธรรม ไม่ใช่ตัวตนเพราะฉะนั้นจึงลึกซึ้ง สภาพธรรมที่เป็นนามธรรมเป็นรูปธรรม เป็นของที่มีจริง เป็นปกติ เป็นประจำวัน เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แต่ยากที่จะรู้ลักษณะได้ จึงกล่าวว่าลึกซึ้ง จึงต้องเจริญสติ

    เรื่องของการรู้ เรื่องของการละ เรื่องของการให้สติเกิด ต้องอาศัยการฟังธรรมที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดง บ่อยๆ เสมอๆ ทีเดียว ขาดการฟังไม่ได้เลย เหมือนกับไม่มีอะไรที่จะเตือนให้สติเกิด ไม่มีปัจจัยที่จะให้มีการระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ถึงแม้ว่าจะได้ทรงแสดงเรื่องการเจริญสติ และมหาสติปัฏฐานว่า ไม่ว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เป็นของจริงปรากฏ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่ว่าจะเป็นกาย เวทนา จิต หรือธรรม ก็เป็นเครื่องระลึกของจิต ให้สติระลึกรู้ลักษณะของสิ่งนั้นตามความเป็นจริงได้ แต่สำหรับผู้ที่เพิ่งเริ่มเจริญสติ สติก็ยังน้อย แล้วก็ยังไม่เป็นพละ ปัญญาก็ยังไม่รู้ชัดเจนแจ้งชัดจริงๆ ในลักษณะของนามธรรมรูปธรรม ซึ่งก็จะต้องอาศัยการเจริญบ่อยๆ เนืองๆ ซึ่งก็อุปมาเหมือนกับการจับด้ามมีด พระธรรมเทศนาก็จะช่วยทำให้ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมได้มากขึ้น เพราะเหตุว่าได้ทรงแสดงอุปมาไว้มากมายหลายประการ

    สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค วาตสูตรที่ ๑ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนลมต่างชนิด พัดไปแม้ในอากาศ คือ ลมทิศตะวันออกบ้าง ลมทิศตะวันตกบ้าง ลมทิศเหนือบ้าง ลมทิศใต้บ้าง ลมมีธุลีบ้าง ลมไม่มีธุลีบ้าง ลมหนาวบ้าง ลมร้อนบ้าง ลมอ่อนบ้าง ลมแรงบ้าง ฉันใด

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เวทนาต่างชนิดย่อมเกิดขึ้นในกายนี้ ฉันนั้นเหมือนกันแล คือ สุขเวทนาบ้าง ทุกขเวทนาบ้าง อทุกขมสุขเวทนาบ้าง

    ดูเหมือนเรื่องธรรมดาแท้ๆ แต่กระนั้นพระผู้มีพระภาคก็ยังทรงโอวาทพระภิกษุในครั้งโน้น เพื่ออุปการะแก่การที่จะให้สติระลึกรู้ลักษณะของเวทนาที่เกิดกับตนในวันหนึ่งๆ ซึ่งเป็นของธรรมดาที่จะต้องมี ไม่เคยขาดหายไปเลย อุปมาเหมือนกับลมต่างชนิดที่พัดไปแม้ในอากาศ คือ มีทั้งลมทิศตะวันออก มีลมทิศตะวันตก มีลมทิศเหนือ มีลมทิศใต้ ลมมีธุลีคือมีฝุ่นบ้าง ลมไม่มีธุลีคือไม่มีฝุ่นบ้าง เป็นลมหนาวบ้าง เป็นลมร้อนบ้าง เป็นลมอ่อนบ้าง เป็นลมแรงบ้าง ฉันใด เวทนาต่างชนิดย่อมเกิดขึ้นในกายนี้ ฉันนั้นเหมือนกัน คือ สุขเวทนาบ้าง ทุกขเวทนาบ้าง อทุกขมสุขเวทนาบ้าง

    ความรู้สึกบางครั้งแรงไหม โกรธนี่วัดได้เลย เหมือนกับลมต่างชนิด บางครั้งก็อ่อน เล็กๆ น้อยๆ แต่บางครั้งก็เป็นลมแรง แม้แต่ความรู้สึกโทมนัสบางครั้งก็เล็กน้อย แต่บางครั้งก็รุนแรงมาก หรือความรู้สึกโสมนัสก็เช่นเดียวกัน บางครั้งก็เล็กน้อย แต่บางครั้งก็ตื่นเต้นปลาบปลื้ม เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย มีอยู่ที่กายสารพัดชนิด บางครั้งก็เป็นลมที่มีธุลี บางครั้งก็ปราศจากธุลี

    สำหรับผู้ที่เจริญสติ ขณะที่เป็นกุศลจิต ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมรูปธรรม เวทนาที่เกิดร่วมด้วยก็เปรียบเหมือนกับลมที่ปราศจากธุลี คือ ไม่มีกิเลส ไม่เห็นผิด หรือหลงเพลิดเพลินไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งถ้ายังเป็นไปกับกามคุณ เป็นไปด้วยความเพลิดเพลิน เป็นไปกับการยึดถือหลงผิดว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน ก็เหมือนกับลมที่มีธุลี

    สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค นิวาสสูตร ข้อความคล้ายคลึงกัน มีว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนเรือนพักคนเดินทาง ชนทั้งหลายมาจากทิศตะวันออกบ้าง มาจากทิศตะวันตกบ้าง มาจากทิศเหนือบ้าง มาจากทิศใต้บ้าง เป็นกษัตริย์บ้าง เป็นพราหมณ์บ้าง เป็นพ่อค้าบ้าง เป็นคนงานบ้าง มาพักในเรือนนั้นฉันใด

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เวทนาต่างชนิด ย่อมเกิดขึ้นในกายนี้ ฉันนั้นเหมือนกัน คือ สุขเวทนาบ้าง ทุกขเวทนาบ้าง อทุกขมสุขเวทนาบ้าง สุขเวทนามีอามิสบ้าง ทุกขเวทนามีอามิสบ้าง อทุกขมสุขเวทนามีอามิสบ้าง สุขเวทนาไม่มีอามิสบ้าง ทุกขเวทนาไม่มีอามิสบ้าง อทุกขมสุขเวทนาไม่มีอามิสบ้าง

    ใครรู้ ถ้าไม่ใช่ผู้เจริญสติจะรู้ได้ไหมถึงเวทนาประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะมีอามิสหรือว่าไม่มีอามิส เป็นสุข หรือว่าเป็นทุกข์ หรือเป็นอุเบกขา และกายนี้ก็อุปมาเหมือนเรือนพักของคนเดินทางจริงๆ เวทนาที่เกิดก็มีคละกันไปหลายชนิด แล้วแต่ว่าจะเป็นประเภทกุศลบ้าง อกุศลบ้าง อุปมาเหมือนกับผู้มาพัก เป็นกษัตริย์บ้าง เป็นพราหมณ์บ้าง เป็นพ่อค้าบ้าง เป็นคนงานบ้าง เวทนาต่างๆ นี้ก็เป็นประเภทที่มีอามิสบ้าง ไม่มีอามิสบ้าง แต่ถ้าเป็นผู้ที่หลงลืมสติแล้วไม่รู้แน่ หรือเจาะจงจะรู้เฉพาะเวทนานั้นเท่านั้น คือ ทุกขเวทนา สุขไม่มีเลย อย่างนี้จะรู้ในสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ไหม เพราะตามความเป็นจริงสุขเวทนาเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง และต้องรู้ด้วย ไม่รู้ไม่ได้

    สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค อานันทสูตรที่ ๑ มีข้อความว่า

    ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคม พระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เวทนามีเท่าไร ความเกิดแห่งเวทนาเป็นไฉน ความดับแห่งเวทนาเป็นไฉน ปฏิปทาเครื่องให้ถึงความดับแห่งเวทนาเป็นไฉน อะไรเป็นคุณแห่งเวทนา อะไรเป็นโทษแห่งเวทนา อะไรเป็นอุบายเครื่องสลัดออกแห่งเวทนา

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร อานนท์ เวทนามี ๓ เหล่านี้คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา

    ดูกร อานนท์ เหล่านี้เราเรียกว่าเวทนา เพราะผัสสะเกิดขึ้นเวทนาจึงเกิด เพราะผัสสะดับเวทนาจึงดับ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้แล คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ เป็นปฏิปทาเครื่องให้ถึงความดับแห่งเวทนา

    สุข โสมนัสย่อมเกิดขึ้นเพราะอาศัยเวทนาใด นี้เป็นคุณแห่งเวทนา เวทนาใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา นี้เป็นโทษแห่งเวทนา

    การกำจัด การละฉันทราคะในเวทนาใด นี้เป็นอุบายเครื่องสลัดออกแห่งเวทนา

    ท่านที่ยังไม่ใช่พระอริยบุคคล และยังไม่ได้เจริญสติ ไม่เห็นโทษของเวทนาเลย อาจจะเห็นโทษของทุกขเวทนาเท่านั้น แต่ปรารถนาในสุขเวทนาอย่างยิ่ง ขณะที่มีทุกขเวทนาเกิดขึ้นต้องการอะไร ต้องการสุขทันที เวลาที่มีสุขเวทนาต้องการอะไร ต้องการให้สุขอีกเรื่อยๆ ไม่ได้ต้องการทุกขเวทนาเลย นี่เป็นลักษณะของผู้ที่ไม่ได้รู้ในคุณ ในโทษ ในเหตุเกิดของเวทนา ในหนทางข้อปฏิบัติที่จะดับเวทนา ยังไม่เห็นว่าการดับเวทนาหมดสิ้น เป็นความเย็นสนิท เป็นความสงบอย่างยิ่ง ดีอะไร เดี๋ยวสุข นิดเดียวเท่านั้น แล้วก็เดี๋ยวทุกข์อีกแล้ว แล้วก็เดี๋ยวเฉยๆ อีกแล้ว แล้วก็เดี๋ยวตื่นเต้นดีใจ เต็มไปด้วยความสุขแต่ก็ไม่นาน หมดไปอีกแล้ว แล้วก็กลายเป็นความวิตก ความห่วงความกังวลในชีวิตอีกแล้ว หมุนเวียนเปลี่ยนไป ไม่ได้เคยหมดสิ้นไปเลย ก็มีแต่สภาพของความรู้สึกกับการต่างๆ เกิดขึ้นแล้วก็หมดไปๆ ถ้าไม่รู้ความจริงข้อนี้ ก็ยังคงต้องการอยู่อย่างนี้แหละเรื่อยๆ ไป แต่ว่าอยากจะได้ประเภทที่เป็นสุขมากๆ หน่อย แล้วก็ประเภททุกข์ก็ไม่อยากจะได้เลย หรือว่าถ้ายังไม่ใช่สุขก็ขอให้เป็นประเภทอุเบกขา แต่ว่าสภาพธรรมทั้งหลายนั้นเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร ถึงแม้ว่าผู้ใดจะเสวยสุขเวทนามากสักเท่าไหร่ สุขเวทนานั้นเป็นทุกข์เพราะไม่เที่ยง ไม่ควรที่จะแสวงหาสิ่งที่ว่างจากสาระหรือว่าไร้สาระ เพราะว่ามีปรากฏเพียงชั่วครู่แล้วก็ไม่มี มีแล้วก็หมดไป มีแล้วก็ไม่มีอยู่เรื่อยๆ ไม่ใช่ของที่มีจริงๆ ที่จะให้อยู่ตลอดไม่หมดสิ้นไปได้เลย มีความรู้สึกเป็นสุขอะไรบ้างที่ไม่หมดสิ้นเลยอยู่ได้เรื่อยๆ ตลอดไป

    สำหรับผู้ที่ไม่รู้ความจริงว่าเวทนาก็อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้นและดับไป ก็ยังคงต้องการความสุขที่เกิดดับสืบต่อติดต่อกันอยู่เรื่อยๆ แต่ผู้ที่ประจักษ์ความจริงว่า แม้สุขเวทนานั้นก็ไม่เที่ยง เป็นผู้ที่รู้แจ้งในอริยสัจธรรม ผู้นั้นต้องการที่ดับของเวทนา ไม่ต้องการให้มีเวทนาเกิด ไม่ว่าจะเป็นเวทนาประเภทใดทั้งสิ้น ที่ว่าเวทนาเป็นทุกข์ ก็เพราะไม่เที่ยง ไม่ใช่เพียงขั้นของทุกขเวทนาเท่านั้นที่ไม่เป็นทุกข์ แต่ว่าจะต้องประจักษ์ทุกขอริยสัจจ์ คือความไม่เที่ยงของเวทนานั้นเอง ที่กล่าวว่าเป็นทุกข์ เป็นทุกข์เพราะไม่เที่ยง

    สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค รโหคตวรรคที่ ๒ รโหคตสูตร มีข้อความว่า

    ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคม พระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ขอประทานพระวโรกาส ความปริวิตกแห่งใจเกิดขึ้นแก่ข้าพระองค์ ผู้หลีกเร้นอยู่ในที่ลับอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคตรัสเวทนา ๓ อย่าง คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา พระผู้มีพระภาคตรัสเวทนา ๓ อย่างนี้ ก็พระผู้มีพระภาคตรัสพระดำรัสอย่างนี้ว่า

    ความเสวยอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นทุกข์ดังนี้ ทรงหมายเอาอะไรหนอ

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ถูกแล้ว ถูกแล้ว ภิกษุ

    ดูกร ภิกษุ เรากล่าวเวทนา ๓ นี้ คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา เรากล่าวเวทนา ๓ นี้

    ดูกร ภิกษุ เรากล่าวคำนี้ว่า ความเสวยอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นทุกข์ ดังนี้

    ดูกร ภิกษุ ก็คำนี้ว่า ความเสวยอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นทุกข์ ดังนี้ เรากล่าวหมายเอาความที่สังขารทั้งหลายนั้นเองไม่เที่ยง

    ดูกร ภิกษุ ก็คำนี้ว่า ความเสวยอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นทุกข์ ดังนี้ เรากล่าวหมายเอาความที่สังขารทั้งหลายนั่นแหละมีความสิ้นไป เสื่อมไป คลายไป ดับไป แปรปรวนไปเป็นธรรมดา

    บุคคลที่ช่างสงสัยก็ต้องมีทุกสมัย คือ ฟังแล้วยังไม่เข้าใจชัดเจนว่า การเสวยอารมณ์ที่ว่าเป็นทุกข์หมายถึงอะไร ในเมื่อกล่าวว่าเวทนามี ๓ แต่ไม่ว่าจะเป็นสุขเวทนา หรือว่าทุกขเวทนา หรือว่าอุเบกขาเวทนา ก็ไม่เที่ยงทั้งนั้น จึงเป็นทุกข์ ที่ว่าเป็นทุกข์เพราะไม่เที่ยง

    ข้อความใน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ใน มหาสติปัฏฐานสูตร มีว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่อย่างไรเล่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้เสวยสุขเวทนา ก็รู้ชัดว่าเราเสวยสุขเวทนา หรือเสวยทุกขเวทนา ก็รู้ชัดว่าเราเสวยทุกขเวทนา หรือเสวยอทุกขมสุขเวทนา ก็รู้ชัดว่าเราเสวยอทุกขมสุขเวทนา

    เพราะฉะนั้น ถ้ามีสุขเวทนาก็ไม่หลงลืมสติ แต่รู้ชัดว่าเสวยสุขเวทนา ถ้ามีอกุศลกรรมทำให้อกุศลวิบากเกิดขึ้น ก็รู้ชัดว่าเสวยทุกขเวทนา ไม่ว่าจะเป็นสุขกาย สุขใจ ทุกข์กาย ทุกข์ใจ อทุกขมสุข ความรู้สึกเฉยๆ ก็เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยที่สติควรระลึกเพื่อรู้ชัด แล้วก็ละการยึดถือว่าเป็นตัวตน

    ตามปกติธรรมดาอย่าไปบังคับว่าจะเลือกเอาแต่สภาพทุกขเวทนา สุขเวทนาไม่ให้มี ไม่ให้เกิด ไม่ให้รู้ ไม่ได้ เป็นปกติธรรมดาจึงจะไม่ใช่ตัวตน ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นตัวตนที่เจาะจง มีความต้องการที่จะรู้นามนั้นรูปนี้ แต่ว่าไม่ใช่การรอบรู้ ไม่ใช่การรู้ทั่ว

    หรือเสวยอทุกขมสุขเวทนาก็รู้ชัดว่าเราเสวยอทุกขมสุขเวทนา จะไม่รู้ได้ไหม เวลาที่มีความรู้สึกเฉยๆ แล้วก็ข้ามไปเสีย ไม่ต้องรู้หรอก ได้ไหม จะชื่อว่ารู้ชัด จะชื่อว่ารอบรู้ได้ไหม จะชื่อว่าละการที่เคยยึดถือความรู้สึกเฉยๆ ว่าเป็นตัวตนได้ไหม การยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่าเป็นตัวตนนั้นละเอียดมาก และก็ลึกมาก ผู้ที่ไม่เจริญสติจะไม่ทราบเลยว่าการยึดถือนามธรรมรูปธรรมนั้นลึกเพียงไร และเหนียวแน่นเพียงไร แต่ว่าผู้ที่เริ่มเจริญสติจะทราบว่า มีความไม่รู้มากเหลือเกิน เพราะว่าเพียงเริ่มจะระลึกรู้ลักษณะของนามบางชนิด รูปบางชนิดเท่านั้น ยังมีนามธรรมอีกตั้งหลายชนิดที่ไม่รู้ หลงลืมสติ ยังมีรูปธรรมอีกตั้งหลายชนิดที่ไม่รู้ ที่หลงลืมสติ เพราะฉะนั้นจะปล่อยให้ไม่รู้ๆ อย่างนี้ เป็นผู้หลงลืมสติอย่างนี้ และก็จะไปรู้อริยสัจจ์ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย อุเบกขาเวทนา อทุกขมสุข ความรู้สึกเฉยๆ ก็ไม่ใช่ว่าให้ข้ามไปไม่รู้ เพราะว่าท่านที่เจริญสติจะเกิดความรู้ทีเดียวว่า อะไรนะ ลักษณะนั้นเมื่อกี้นี้ที่หลงลืมสติ หรือว่าบางทีท่านรู้ลักษณะของนามนี้ รูปนั้น และส่วนที่ว่างระหว่างกลาง ไม่รู้


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 9
    9 ก.ค. 2566

    ซีดีแนะนำ