รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 073


    ตอนที่ ๗๓

    ยิ่งรู้ละเอียดก็จะยิ่งเห็นความจำเป็นว่า กิเลสนั้นมากมายเหนียวแน่น และสติกว่าจะขัดลอก กว่าจะละไปได้จริงๆ นั้นต้องเจริญมากเพียงใด การที่จะรู้เพียงรูปเดียวอย่าพึงหวังที่จะบรรลุอริยสัจจธรรม หรือการไม่รู้ลักษณะของนามรูป ให้ตรงตามลักษณะของนามรูปจริงๆ ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ เพราะว่ายังมีกิเลสเล็กๆ น้อยๆ แทรกอยู่อีกมากแม้แต่ในเรื่องของการปฏิบัติก็ทรงแสดงไว้ด้วยที่เป็นสีลัพพตปรามาสกายคันถะบ้าง อุปาทานบ้าง

    ผู้ฟัง เคยได้ยินได้ฟังมาว่า ท่านเปรียบเทียบเหมือนประตู ๔ ประตู จะเข้าประตูไหนก็ตาม ก็เขาไปสู่จุดศูนย์กลางของสถานที่แห่งนั้นได้ ขอให้ท่านอาจารย์ช่วยขยายความ

    ท่านอาจารย์ ดูเหมือนว่ารู้น้อยๆ จะดีกว่าหรือ รู้นิดเดียวก็จะได้เป็นพระอริยบุคคลเร็ว ไม่ต้องรู้อะไรมาก ความเห็นผิดทำให้ยุ่ง ความเห็นถูกไม่ทำให้ยุ่ง มีใครเห็นอย่างนี้บ้าง

    ผู้ฟัง รู้อย่างเดียวแต่ว่ารู้ถูก รู้ตรง ทำให้ไม่ต้องเลี้ยวไปมา หรือว่าไม่ลังเลว่าจะเข้าประตูไหนดี

    ท่านอาจารย์ ใคร่จะถามว่า รู้อย่างเดียวนั้นรู้อะไร

    ผู้ฟัง รู้ทางที่จะปฏิบัติวิปัสสนาประตูใดประตู ๑ แต่ตอนนี้ยังไม่รู้ ขอรูปประตูเดียวก็จะเดินตรงไปประตูนั้น

    ท่านอาจารย์ ยังไม่รู้อะไรเลยก็เลยคิดว่า รู้อย่างเดียวเท่านั้น ท่านที่คิดว่าจะเจริญกายานุปัสสนา ประตู ๑ ไม่ระลึกรู้ลักษณะของนาม เวทนา จิต ธรรม แล้วท่านจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม คิดถึงเฉพาะความเป็นจริงเสียก่อนว่าเป็นไปได้ไหม จะรู้รูปเพียงอย่างเดียวไม่รู้นามเลย เพราะเหตุว่าการระลึกรู้สภาพธรรมที่กายจะมีลักษณะของรูปปรากฏ เพราะที่ยึดถือว่าเป็นกายนี้คือรูป เป็นรูปต่างๆ ที่ประชุมรวมกัน และจะมีเพียงความรู้ลักษณะของรูปโดยไม่รู้ลักษณะของนามจะทำให้สามารถละสักกายทิฏฐิการยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตน ไม่ได้ แต่ความจริงจะทำอย่างไรให้รู้เพียงรูปเดียว

    ได้เคยพูดเรื่องอานาปานสติ มาแล้วครั้งหนึ่ง ที่ทรงอุปมาไว้ในสูตร ๑ ว่า การเจริญสตินั้นก็เหมือนกับมีกองดินอยู่ ๔ กอง ใน ๔ ทิศ ไม่ว่าจะขับรถหรือขับเกวียนผ่านไปทางใดก็จะสะเทือนหรือกระทบกับกองดินทั้ง ๔ กองนั้น เหมือนกับการเจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่เจาะจงให้รู้แต่เฉพาะกายานุปัสสนา หรือเวทนานุปัสสนา หรือจิตตานุปัสสนา หรือธัมมานุปัสสนา เพราะเหตุว่า สติเป็นอนัตตาไม่มีตัวตนที่จงใจไปเลือกว่าจะเจริญบรรพนั้นเท่านั้น นั่นไม่ใช่วิสัยของผู้มีปกติเจริญสติ สติระลึกรู้ลักษณะของกายานุปัสสนาได้ เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา ธัมมานุปัสสนาได้ นี่เป็นข้อหนึ่งที่ควรจะคิด ถ้าในขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นกายานุปัสสนา แล้วสติดับไป แล้วสติก็เกิดต่อระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏแม้ที่กายแต่ไม่ใช่กายานุปัสสนา (เช่นเวทนานุปัสสนา) การเจริญสติปัฏฐานกระเทือนถึงกันหมดทั้ง ๔ ปัฏฐาน แต่ว่าผู้นั้นกลับไปเข้าใจว่า เจริญเฉพาะปัฏฐานเดียว คลาดเคลื่อนแล้ว เพราะเป็นผู้เจริญสติไม่ใช่เป็นผู้หลงลืมสติ สติระลึกรู้ทางตาไม่ว่าจะเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม ดับไปแล้ว ผู้นั้นไม่หวั่นไหว ระลึกรู้ลักษณะของนามอื่นที่ไม่ใช่กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพราะรู้ว่าเป็นนามธรรม เพราะรู้ว่าเป็นรูปธรรม เป็นต้นว่าทางหู ผู้ที่มีปกติเจริญสติระลึกรู้ลักษณะของเสียง ไม่หวั่นไหว สติจะระลึกลักษณะของนามได้ยิน ไม่หวั่นไหว เสียงกับการได้ยินไม่ใช่กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน แต่เวลาที่สติของผู้นั้นระลึกรู้ที่กาย เป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ผู้นั้นก็ไม่หวั่นไหว ถ้าเป็นผู้มีปกติเจริญสติแล้วจะเป็นปัฏฐานเดียวไม่ได้ นอกจากเป็นผู้ที่บังคับสติเท่านั้น เมื่อระลึกรู้ลักษณะของนามรูปแล้วก็กระเทือนทั้ง ๔ ปัฏฐาน เป็นการเจริญทั้ง ๔ ปัฏฐานได้ จะขาดปัฏฐานใดปัฏฐานหนึ่งก็ไม่ได้ด้วย จะไม่สามารถถึงนามรูปปริจเฉทญานได้ ที่ทรงแสดงไว้อย่างไร ก็เพราะตรัสรู้จริงอย่างนั้น

    ผู้ฟัง ขณะที่สติเกิดขึ้นก็ระลึกรู้ว่าไม่ใช่ตัวตน สติที่เป็นอนุปัสสนาญาณต่างกันอย่างไรกับสติธรรมดา

    ท่านอาจารย์ ลักษณะของสติไม่ต่างกัน สติเป็นสภาพที่ระลึกและปัญญาที่เกิดร่วมด้วยก็เริ่มรู้แต่ว่าจะถึงความสมบูรณ์เห็นชัดหรือยัง แต่ว่าอาการไม่ต่างกันเลยถึงแม้เป็นพระอรหันต์แล้วเวลาที่สติของท่านเปลี่ยนไปก็เป็นสติธรรมดา อนุปัสสนาแปลว่า รู้เห็นบ่อยๆ เนืองๆ สติก็ไม่เที่ยงเกิดขึ้นแล้วดับไป

    ผู้ฟัง นามรูปปริจเฉทญาน เป็นปัญญาที่สามารถจะแยกรูปออกจากนาม แยกนามออกจากรูป ไม่ปะปนกัน แต่ไม่ทราบชัดที่เป็นธัมมานุปัสสนาท่านบอกว่า นามรูปปริจเฉท

    ท่านอาจารย์ และทรงจำแนกแต่ละบรรพไว้ มหาสติปัฏฐาน ๔ นี้ อย่างเรื่องของกายที่ยึดถือว่าเป็นตัวตนเป็นสัตว์เป็นบุคคล ดังนั้นสติจึงควรระลึก แต่การที่สติจะระลึกเป็นไปในกาย เป็นได้หลายลักษณะ หลายบรรพ เป็นต้นว่าลมหายใจก็เป็นส่วนของกายที่มีจริง เมื่อระลึกส่วนของกายที่เป็นลมหายใจก็รู้ชัดในลักษณะของรูปที่ประชุมรวมกันเป็นลมหายใจขึ้น ปัญญาจะต้องรู้ชัดแต่ละลักษณะ หมวดอิริยาปถบรรพก็เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง หรือนอน ก็มีส่วนของกายที่ปรากฏลักษณะที่เป็นรูปให้รู้ชัดว่าไม่ใช่ตัวตน หรือว่าสัมปชัญญบรรพ ก็มีส่วนของกายที่ปรากฏให้รู้ชัดในลักษณะของรูปที่ไม่ใช่ตัวตน กายทั้งหมดเป็นรูปทั้งนั้นแล้วแต่สติจะระลึกรู้ส่วนใด จะระลึกรู้ส่วนที่เป็นอานาปานะคือลมหายใจ หรือว่าจะระลึกรู้ส่วนที่ปรากฏในขณะที่กำลังทรงอยู่ตั้งอยู่ในอิริยาบถใด หรือว่าจะระลึกรู้ส่วนที่ปรากฏในขณะที่เคลื่อนไหวเหยียดคู้เป็นสัมปชัญญบรรพ หรือว่าจะระลึกรู้ส่วนที่เป็นผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ปฏิกูลมนสิการบรรพ นั่นก็เป็นการกระจัดกระจายสิ่งที่ประชุมรวมกันโดยปัญญารู้ชัดในลักษณะของรูปแต่ละรูปที่ประชุมรวมกัน ทรงแสดงไว้อย่างชัดเจนว่าในเรื่องของกายนั้นเป็นการระลึกรู้ชัดในลักษณะของธาตุดินน้ำไฟลมโดยส่วนรวม การที่จะเจริญสติปัฏฐานโดยบรรพเดียวไม่ทำให้เกิดแม้แต่ญาณที่ ๑ ถ้าระลึกรู้เฉพราะนามไม่รู้ลักษณะของรูป ไม่สามารถที่จะรู้ชัดได้จริงๆ ว่า สภาพธรรมที่เป็นอารมณ์ในขณะนั้น ไปเอารูปมาเป็นนามหรือไม่ เพราะว่าปัญญาไม่ได้รู้ชัดในลักษณะที่ต่างกันของสภาพธรรมที่เป็นรูปกับสภาพธรรมที่เป็นนาม ด้วยเหตุนี้เพียงสติปัฏฐานเดียวจึงไม่สามารถที่จะถึงนามรูปปริจเฉทญาณได้ และในธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานก็เป็นเครื่องชี้ชัดยืนยันว่า มีทั้งนามและรูปเป็นอารมณ์ที่จะให้ปัญญารู้ชัดตามความเป็นจริง โดยส่วนใดที่ไม่ได้แสดงไว้ในหมวดของกายที่เป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ในหมวดของเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ในหมวดของจิตตานุปัสนาสติปัฏฐาน สภาพธรรมอื่นทั้งหมดเป็นธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานประการหนึ่ง แล้วอีกประการหนึ่งไม่ว่าท่านจะพิจารณากาย หรือเวทนา หรือจิต จะพ้นจากธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานไม่ได้เลย

    นามรูปปริจเฉทญาณ เป็นเพียงญาณขั้นต้นเท่านั้นเอง ยังไม่ถึงขั้นรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเลย แล้วจะไปเลือกทำไมว่าจะเอาบรรพนั้นบรรพนี้ จะรู้เฉพาะรูปนั้นรูปเดียว อันอื่นยากนัก อย่างกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน นอนก็จะไม่รู้นี่ก็จะไม่รู้ ไปจงใจเลือกเฟ้นด้วยความเห็นผิดยึดมั่นในข้อประพฤติปฏิบัติ ซึ่งควรจะได้กล่าวถึงกิเลสทั้งหมดท่านจะได้ทราบว่าขณะที่เจริญสติหรือว่าท่านเข้าใจว่าท่านปฏิบัตินั้นจะมีสีลัพพตปรามาสกายคันถะขณะไหน อย่างไร แล้วก็เป็นถึงสีลัพพตุปาทานหรือไม่ ซึ่งกว่าที่จะบรรลุถึงความเป็นพระอริยบุคคลได้ ท่านจะต้องรู้ สำเหนียก ละ สีลัพพตปรามาสกายคันถะ สีลัพพตุปาทาน ท่านถึงจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ ถ้ายังไปติดอยู่กับข้อประพฤติปฏิบัติที่คลาดเคลื่อน ไม่มีหนทางเลยที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม เมื่อการตั้งต้นไม่ถูก การรู้แจ้งอริยสัจจธรรมก็เป็นไปไม่ได้ หรือว่าถ้าไปติดอยู่ที่หนึ่งที่ใดด้วยความเห็นผิด ก็ไม่สามารถที่จะละความเห็นผิดนั้นไปก็ไม่สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ เป็นการบังคับแน่นอน ไม่ใช่เป็นการเจริญสติ ไม่ใช่เป็นการเจริญปัญญา ถ้าเป็นข้อปฏิบัติที่ไม่คลาดเคลื่อนแล้ว สมบูรณ์ทั้งเหตุผล ทั้งพยัญชนะและอรรถ แต่ถ้าเป็นข้อปฏิบัติที่คลาดเคลื่อน ไม่ตรงกัน จะเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา สับสน

    ถ. คำว่า สงัดจากหมู่คณะ จะเหมือนกับคำว่า จิตตวิเวก อย่างไร

    ท่านอาจารย์ การสงัดจากหมู่คณะ แล้วแต่ความหมายที่ว่า จะเป็นในเรื่องของข้อประพฤติปฏิบัติ หรือ เป็นเรื่องของสถานที่ เช่นใครสงัดจากหมู่คณะโดยข้อปฏิบัติ ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานบรรลุความเป็นพระโสดาบันบุคคล เป็นพระสกทาคามีบุคคล เป็นพระอนาคามีบุคคล เป็นพระอรหันต์ พระอรหันต์มีจิตที่จะไม่คลุกคลี ยินดีกับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะธรรมารมณ์ใดๆ ทั้งสิ้น เป็นผู้ที่สงัดจากกิเลสจริงๆ เพราะฉะนั้นโดยอัธยาศัยความเป็นพระอรหันต์ซึ่งไม่มีกิเลสแล้ว ท่านควรจะอยู่ในที่ใด ท่านเป็นผู้ที่ไม่อยู่บ้าน เป็นผู้ที่ละอาคารออกอุปสมบท นี่เป็นวิสัยของพระอรหันต์ซึ่งสงัดจริงๆ เป็นผู้อยู่ในที่สงัด สงัดโดยข้อประพฤติปฏิบัติเริ่มต้นตั้งแต่การเจริญสติปัฏฐานซึ่งเป็นการสงัดจากกิเลส คำว่า วิเวก โดยมากถ้าได้ยินเพียงพยัญชนะ และคิดถึงความหมายในภาษาไทย ท่านจะคิดถึงสถานที่ที่เปลี่ยวๆ ที่เงียบๆ แต่อย่าลืมว่าความหมายที่ใช้ในภาษาไทยนั้นไม่ตรงกับอรรถในภาษาบาลี วิเวกที่แท้จริงที่เป็นอรรถของพยัญชนะนี้ หมายความถึงการสละ การสละความเห็นผิด โดยการที่ระลึกรู้ลักษณะของนามของรูป เป็นการสละกิเลสทีละเล็กทีละน้อย จนกว่าจะถึงขั้นคุณธรรมที่สละได้หมดสิ้นเป็นพระอรหันต์ แล้ววิสัยของพระอรหันต์เป็นผู้ที่ไม่อยู่บ้าน อยู่ในที่สงัดคือวัดวาอาราม นั่นเป็นวิสัยของผู้สงัดที่จะไม่อยู่บ้าน ถึงแม้ว่าเป็นพระอรหันต์แล้ว ความสงัดของท่านก็คือว่า ไม่อยู่บ้าน แต่พระอรหันต์อยู่เชตวนารามได้ไหม มีผู้คนไหม หรือว่าจะต้องอยู่แต่เขาคิชฌกูฏ จะชื่อว่าท่านเป็นผู้สงัดหรือไม่สงัด สงัด ไม่อยู่บ้านแล้ว หมดกิเลสแล้ว พระธรรมของพระผู้มีพระภาคนั้น ไม่ใช่เพียงให้ถึงคุณธรรมที่เป็นพระโสดาบันบุคคล แต่ให้ถึงความสงัด ละกิเลสหมดสิ้น เป็นพระอรหันต์ และเป็นผู้อยู่ในที่สงัดคือไม่อยู่ที่บ้าน อาคารบ้านเรือน สละกิเลสเป็นวิเวก จะใช้คำว่าวิราคะก็ได้ นิพพานก็ได้ วิเวกก็ได้

    บางท่านก็เข้าใจไปในเรื่องของการที่จะละบ้าน ออกไปอยู่ป่า แต่ว่าไม่มีข้อประพฤติปฏิบัติ ก็เหมือนว่าเวลาผ่านที่หนึ่งที่ใด เห็นคนนั่งอยู่กลางทุ่งนาคนเดียว อย่างนั้นเป็นกายวิเวกหรือ ไปนั่งชายหาดคนเดียวก็เป็นกายวิเวก เต็มไปด้วยโลภะ กำลังนั่งเพิ่งคิดสิ่งนั้นสิ่งนี้ หวังอย่างนั้นหวังอย่างนี้ วิเวกทั้งหมดเป็นเรื่องของการสละ อย่างท่านที่บรรพชาอุปสมบท กายวิเวก แต่ไม่พอ ต้องมีจิตตวิเวกและอุปธิวิเวกด้วย สละออกจากบ้านตามวิสัยของผู้ที่ครองเรือน ออกไปสู่การไม่ครองเรือน เป็นเพียงกายวิเวก แต่ไม่ใช่เด็กที่นั่งอยู่กลางทุ่งนา ต้องเป็นเรื่องของการสละจริงๆ แม้แต่ว่าพระภิกษุสงฆ์ที่ไปบิณฑบาตกลางพระนคร กับ เด็กที่นั่งอยู่กลางทุ่งนา อะไรเป็นกายวิเวก ถ้าไม่เข้าใจว่า วิเวก ก็ตอบไม่ได้ ก็อาจจะไปบอกว่า เด็กที่นั่งอยู่กลางทุ่งนาเป็นกายวิเวก เพราะไม่มีใครเลย แต่ไม่ใช่

    ในคราวที่แล้วเป็นเรื่องของสราคจิต ซึ่งสราคจิตมีอยู่เป็นประจำทั้งวัน ถ้าท่านผู้ใดไม่ทราบว่าเป็นสิ่งที่สติควรจะระลึกรู้ ก็ไม่สามารถจะกั้นกระแสของสราคจิต หรือว่าโลภมูลจิตได้เลยสักขณะเดียว เพราะฉะนั้นอกุศลจิตที่เป็นโลภมลูจิต เป็นสราคจิตนี้ ก็จะไหลไปตามอารมณ์ที่เห็น ที่ได้ยิน ที่ได้กลิ่น ที่รู้รส ที่กระทบสัมผัส ที่คิดนึก หมักดองสะสมอยู่ในจิต ไม่ไปที่ไหนเลย


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 9
    8 ต.ค. 2566

    ซีดีแนะนำ