รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 061


    ตอนที่ ๖๑

    ข้อความต่อไป

    จิตวิเวก ย่อมมีแก่บุคคลผู้มีจิตบริสุทธิ์ ถึงซึ่งความเป็นผู้มีจิตผ่องแผ้วอย่างยิ่ง

    ผู้ใดก็ตามไม่ถึงฌานจิต หรือไม่ถึงการสงัดจากกิเลสเป็นสมุจเฉทเป็นพระอริยบุคคล ไม่ชื่อว่า จิตวิเวก

    ข้อความต่อไปมีว่า

    อุปธิวิเวก ย่อมมีแก่บุคคลผู้หมดอุปธิ ถึงซึ่งนิพพานอันเป็นวิสังขาร

    ข้อความต่อไปมีว่า

    คำว่า สันติ ได้แก่ สันตบ้าง สันติบทบ้าง โดยอาการอย่างเดียวกัน ก็สันติบทนั้นนั่นแลคือ อมตนิพพาน ได้แก่ ธรรมอันเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง เป็นที่ออกจากตัณหาเครื่องร้อยรัด สมจริงตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    บทใด คือ ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง เป็นที่ออกจากตัณหาเครื่องร้อยรัด บทนั้นเป็นความสงบ เป็นธรรมชาติประณีต

    อีกอย่างหนึ่ง โดยอาการอื่น ธรรมเหล่าใดย่อมเป็นไปเพื่อบรรลุความสงบ เพื่อถูกต้องความสงบ เพื่อทำให้แจ้งความสงบ คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ ธรรมเหล่านี้เรียกว่า สันติบท บทสงบ ตาณบท บทที่ต้านทาน เลณบท บทที่ซ่อนเร้น สรณบท บทที่พึ่ง อภยบท บทไม่มีภัย อัจจุตบท บทไม่เคลื่อน อมตบท บทไม่ตาย นิพพานบท บทดับตัณหา

    เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ออกไปด้วยกายอย่างเดียว หรือว่าไม่ใช่เพียงจิตวิเวกที่เป็นสมาธิ เป็นฌานขั้นต่างๆ แต่ว่า อีกอย่างหนึ่ง โดยอาการอื่น ธรรมเหล่าใดย่อมเป็นไปเพื่อบรรลุความสงบ เพื่อถูกต้องความสงบ เพื่อทำให้แจ้งความสงบ คือ สติปัฏฐาน ๔ เป็นต้น

    ที่จะไปวิเวกนั้น เพราะต้องการความสงบ หรือไม่ต้องการความสงบ และต้องการความสงบประเภทไหน สงบจริงๆ คือ อกุศลดับไม่เกิดอีกด้วยข้อประพฤติปฏิบัติใด นั่นก็เป็นวิเวก

    เพื่อประกอบความเข้าใจของท่านผู้ฟัง

    ในมัชฌิมานิกาย มูลปัณณาสก์ มหาสัจจกสูตร ที่เคยได้กล่าวแล้วว่า

    สัจจกนิครนถ์เห็นข้อประพฤติปฏิบัติของพระภิกษุสงฆ์ แล้วได้สนทนาปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคว่า

    พระภิกษุสงฆ์มีกายมิได้อบรม แต่มีจิตที่อบรม เพราะเหตุว่าพระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนาประพฤติตามพระธรรมวินัย แต่พระผู้มีพระภาคตรัสกับสัจจกนิครนถ์ว่า

    ผู้ที่มีกายมิได้อบรม มีจิตมิได้อบรม ก็คือ บุคคลที่เวลาที่สุขก็สุขนัก เวลาที่ทุกข์ก็ทุกข์นัก ส่วนบุคคลผู้มีกายอบรมแล้ว มีจิตอบรมแล้ว เวลาที่สุขเวทนาเกิดขึ้น ก็ไม่ยินดีนัก เวลาที่ทุกขเวทนาเกิดขึ้นก็ไม่เสียใจนัก ไม่ได้ห้ามไม่ให้สุขเวทนาเกิด หรือว่าไม่ได้ห้ามไม่ให้ทุกขเวทนาเกิด เพราะเหตุว่าห้ามไม่ได้ ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา จะหาเมื่อไหร่ก็ไม่ได้สักอย่างเดียว แต่ว่าผู้ที่มีกายอบรมแล้ว มีจิตอบรมแล้วเวลาที่สุขเวทนาเกิดขึ้นก็ไม่สุขนัก เวลาที่ทุกขเวทนาเกิดขึ้นก็ไม่ทุกข์นัก

    พระองค์ก็ได้ทรงแสดงประวัติของพระองค์ในครั้งที่เป็นพระโพธิสัตว์ยังไม่ได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันต์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า

    พระองค์ทรงศึกษากับอาฬารดาบสกับอุทกดาบสแต่ก็รู้ว่านั่นไม่ใช่ทาง เพราะฉะนั้นจึงเสด็จจารึกไปถึงอุรุเวลาเสนานิคม ครั้งนั้นอุปมา ๓ ข้ออันไม่น่าอัศจรรย์ พระองค์ไม่เคยได้ยินมาในการก่อนมาปรากฏแจ่มแจ้งแก่พระองค์ พระดำริในขณะทรงแสวงหาทางตรัสรู้ มี ๓ ข้อ

    อุปมาข้อ ๑ ว่า เปรียบเหมือนไม้สดมียางที่เขาวางไว้ในน้ำ. บุรุษถือเอาไม้สีไฟมาสีเข้าด้วยหวังว่า เราจักให้ไฟเกิดปรากฏขึ้น. ไฟก็ไม่ปรากฏ เป็นเพราะไม้สดนั้นมียางทั้งเขาวางไว้ในน้ำ บุรุษนั้นก็มีแต่ความเหน็ดเหนื่อยลำบากเปล่า. ฉันนั้นเหมือนกันแล สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งยังไม่หลีกออกจากกามด้วยกาย ยังมีความพอใจ ความรักใคร่ ความหลง ความกระหาย และความกระวนกระวายเพราะกาม ในกามทั้งหลายยังมิได้ละ และมิได้ระงับคืนเสียด้วยดีในภายใน. สมณะหรือพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น แม้เสวยทุกขเวทนาที่กล้า หยาบ เผ็ดร้อน อันเกิดขึ้นเพราะความเพียรก็ดี หรือไม่ได้เสวยทุกขเวทนาเช่นนั้นก็ดี ก็เป็นผู้ไม่ควรเพื่อรู้ เพื่อเห็น เพื่อความตรัสรู้ดีอันประเสริฐ. นี้แลอุปมาข้อที่ ๑

    ไม่เคยดำริเลยที่จะพิจารณาระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่สงบจากกิเลส ดับความไม่รู้ ดับอวิชชา ดับความเห็นผิด ดับความสงสัยให้หมดสิ้นไปเป็นสมุจเฉท ไม้สดมียางมีมากหรือมีน้อย เพลิดเพลินไป ไม่รู้ว่าสภาพที่กำลังปรากฏนั้น ไม่ใช่ตัวตนไม่ใช่สัตว์ไม่ใช่บุคคล ซึ่งถ้าจะระลึกบ่อยๆ เนืองๆ ก็สามารถที่จะรู้ชัดได้ แต่ว่าก็ยังมีบุคคลที่เพลิดเพลินอย่างนี้มาก ก็เป็นประเภทไม้สดมียาง ทั้งวางอยู่ในน้ำด้วย

    อุปมาข้อที่ ๒ ว่า เปรียบเหมือนไม้สดมียางที่เขาวางไว้บนบกห่างจากน้ำ. บุรุษถือเอาไม้สีไฟมาสีเข้าด้วยหวังว่า เราจักให้ไฟเกิดปรากฏ ข้อนี้เป็นไปไม่ได้ เพราะไม้สดอันมียาง ถึงเขาวางไว้บนบกห่างจากน้ำ บุรุษนั้นก็มีแต่ความเหน็ดเหนื่อยลำบากเปล่า. สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด เหล่าหนึ่ง แม้หลีกออกจากกามด้วยกายแล้ว แต่ยังมีความพอใจ ความรักใคร่ ความหลง ความกระหาย และความกระวนกระวายเพราะกาม ในกามทั้งหลายยังมิได้ละ และมิได้ระงับคืนเสียด้วยดีภายใน. สมณะหรือพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น แม้เสวยทุกขเวทนาที่กล้า หยาบ เผ็ดร้อน อันเกิดขึ้นเพราะความเพียรก็ดี หรือไม่ได้เสวยทุกขเวทนาเช่นนั้นก็ดี ก็เป็นผู้ไม่ควรเพื่อรู้ เพื่อเห็น เพื่อความตรัสรู้ดีอันประเสริฐ. นี้แลอุปมาข้อที่ ๒

    พวกแรกเป็นฆราวาส พวกที่ ๒ เป็นบรรพชิต ออกไปแล้วแต่ก็ยังเป็นไม้สด

    อุปมาข้อที่ ๓ อื่นอีกว่า เปรียบเหมือนไม้อันแห้งสนิทที่เขาวางไว้บนบกห่างจากน้ำ. บุรุษถือเอาไม้สีไฟมาสีเข้าด้วยหวังว่า เราจักให้ไฟเกิดปรากฏ ไฟก็ปรากฏเป็นอย่างนั้น เป็นเพราะไม้แห้งสนิท ทั้งเขาวางไว้บนบกห่างจากน้ำ. ฉันนั้นเหมือนกันแล สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด เหล่าหนึ่ง หลีกออกจากกามด้วยกายแล้ว ทั้งละและระงับความพอใจ ความรักใคร่ ความหลง ความระหายและความกระวนกระวายเพราะกาม ในกามทั้งหลายเสียด้วยดีในภายในแล้ว. สมณะหรือพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น แม้เสวยทุกขเวทนาที่กล้า หยาบ เผ็ดร้อน อันเกิดขึ้นเพราะความเพียรก็ดี หรือไม่ได้เสวยทุกขเวทนาเช่นนั้นก็ดี ก็เป็นผู้ควรเพื่อรู้ เพื่อเห็น และเพื่อความตรัสรู้ดีอันประเสริฐ. นี้แลอุปมาข้อที่ ๓.

    ขอให้ทราบที่มาของไม้สดที่มียาง แล้วอยู่ในน้ำ วางบนบก และไม้ที่แห้งสนิทว่า เป็นเพราะดำริในขณะที่เป็นพระโพธิสัตว์ระลึกถึงอุปมา ๓ ข้อนี้ ต่อจากนั้น พระองค์ตรัสเล่าให้สัจจกนิครนถ์ฟังว่า ทรงดำริในการข่มจิต กัดฟันด้วยฟัน กลั้นลมหายใจ อดอาหารเป็นต้น ซึ่งไม่มีใครเทียมยิ่งกว่าในการทรมานพระองค์ แต่ก็ไม่ได้บรรลุญาณทัสสนะอันวิเศษที่ควรแก่พระอริยะซึ่งยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ ด้วยทุกกรกิริยาอันเผ็ดร้อนนั้น ทั้งๆ ที่ทรงดำริอย่างนี้ แต่เมื่อยังไม่รู้หนทาง เสด็จออกจากกามแล้ว แล้วก็ดำริว่า ถ้ายังมีความยินดีพอใจในกามอยู่ ถึงออกมาแล้วก็จริง ก็เหมือนไม้สดที่ยังวางอยู่ในน้ำ จึงทรงดำริทรมานพระองค์ด้วยประการต่างๆ เพื่อที่จะละความยินดีความต้องการ แต่ทรงระลึกถึงเมื่อครั้งที่ประทับนั่งอยู่ใต้ร่มหว้าในงานพระราชพิธี และครั้งนั้นบรรลุปฐมฌาน ทรงดำริว่า ทางนั้นพึงเป็นทางแห่งความตรัสรู้กระมัง จึงทรงมีความดำริว่า กลัวความสุขที่เว้นจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายหรือ แล้วทรงดำริต่อไปว่า ไม่กลัวสุขเช่นนั้นเลย จะต้องกลัวทำไม เพราะเป็นสุขที่เว้นจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย พระองค์ทรงเข้าฌาน ระลึกชาติในปฐมยาม ทรงรู้จุติปฏิสนธิในมัชฌิมยาม นี่เป็นเรื่องของสมาธิ แต่แม้ว่าสุขเวทนาจะเกิด ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน จนถึงฌานที่ระลึกชาติต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้นก็ไม่ครอบงำพระองค์ ทรงน้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ ย่อมรู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ในปัจฉิมยาม สำหรับผู้ที่ไม่ว่าจะเป็นกุศลหรืออกุศลก็ไม่สามารถจะครอบงำได้ เพราะสติระลึกรู้ใน นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา มีความคิดอะไรในขณะนั้นบ้างไหมในปัจฉิมยาม สังขารธรรมทั้งหลายเป็นทุกข์เพราะไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่ใช่ตัวตนจึงเป็นทุกข์ ตอนสุดท้าย สัจจกนิครนถ์ได้ทูลถามว่า พระองค์เป็นผู้หลับในกลางวันบ้างหรือ นี่เป็นความสงสัยของบุคคล ถึงแม้ว่าจะได้เฝ้าเฉพาะพระพักตร์กราบทูลถาม ทรงแสดงประวัติของพระองค์จนได้บรรลุเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ถึงแม้ว่าจะทรงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไม่ใช่ว่าจะทำให้บุคคลอื่นสิ้นความสงสัยในพระองค์ได้ เพราะแม้สัจจกนิครนถ์ก็กราบทูลถามว่า พระองค์เป็นผู้หลับในกลางวันบ้างหรือ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกรอัคคิเวสสนะ เรารู้เฉพาะอยู่ว่า ในเดือนท้ายฤดูร้อน เรากลับจากบิณฑบาตในกาลภายหลังภัต ปูสังฆาฏิให้เป็น ๔ ชั้น แล้วเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ ก้าวลงสู่ความหลับโดยข้างเบื้องขวา.

    สัจจกนิครนถ์กราบทูลว่า พระโคดมผู้เจริญ สมณะและพราหมณ์เหล่าหนึ่ง ย่อมกล่าวข้อนั้นในความอยู่ด้วยความหลง.

    เห็นคนหลับแล้วต้องบอกว่าหลง มีโมหะ ในความคิดเห็นของสมณพราหมณ์เหล่าหนึ่ง ดูด้วยตาแล้วตัดสินเอาเอง ไม่มีความรู้ในข้อประพฤติปฏิบัติก็ไม่สามารถที่จะทราบได้เลยถึงคุณธรรมของความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือพระอรหันต์ เป็นพระอริยสาวก

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า บุคคลเป็นผู้หลงหรือเป็นผู้ไม่หลง ด้วยเหตุเพียงเท่านั้น หามิได้ ก็บุคคลเป็นผู้หลงหรือเป็นผู้ไม่หลง ด้วยเหตุใด ท่านจงฟังเหตุนั้น จงทำในใจให้ดีเราจักกล่าว บัดนี้.

    จากนั้นพระผู้มีพระภาคได้ตรัสความเป็นผู้หลงและไม่หลง คือ บุคคลเป็นผู้ไม่หลงเพราะเหตุละเสียได้ซึ่งอาสวะทั้งหลาย.

    ขอกล่าวถึงข้อความในพระสูตรอีกครั้งเพื่อท่านจะได้ไม่ลืม สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค วิรัทธสูตร มีข้อความว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สติปัฏฐาน ๔ อันบุคคลเหล่าใดเหล่าหนึ่งไม่ปรารภแล้ว บุคคลเหล่านั้นชื่อว่า ไม่ปรารภอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ที่ยังสัตว์ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ สติปัฏฐาน ๔ อันบุคคลเหล่าใดเหล่าหนึ่งปรารภแล้ว บุคคลเหล่านั้นชื่อว่า ปรารภอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ที่ยังสัตว์ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ สติปัฏฐาน ๔ เป็นไฉน ก็ได้แก่ กาย เวทนา จิต ธรรม

    ในสูตรนี้ ไม่ได้กล่าวถึงสถานที่ และไม่ได้กล่าวให้เจริญเพียงสติปัฏฐานเดียว แต่ทรงแสดงว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สติปัฏฐาน ๔ อันบุคคลเหล่าใดเหล่าหนึ่งไม่ปรารภแล้ว บุคคลเหล่านั้นชื่อว่า ไม่ปรารภอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ที่ยังสัตว์ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ

    โดยนัยตรงกันข้าม สติปัฏฐาน ๔ อันบุคคลเหล่าใดเหล่าหนึ่งปรารภแล้ว บุคคลเหล่านั้นชื่อว่า ปรารภอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ที่ยังสัตว์ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ

    เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่จะระลึกที่กาย หรือว่าเวทนา หรือว่าจิต หรือว่าธรรม ในสถานที่ใด เป็นสติปัฏฐานทั้งสิ้น ถ้าในขณะนั้นท่านรู้ว่าเป็นลักษณะของนามธรรมหรือว่าเป็นลักษณะของรูปธรรม จะกล่าวว่าในขณะนั้นไม่ใช่สติปัฏฐานไม่ได้ ไม่ใช่การเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ไม่ได้

    ไม่มีใครทราบว่า จะสิ้นชีวิตลงเมื่อใด ไม่มีใครรู้ได้จริงๆ เลย เพราะฉะนั้น คงจะไม่ลืมพระปัจฉิมโอวาสใน ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาปรินิพพานสูตร ซึ่งมีข้อความว่า

    ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราขอเตือนพวกเธอว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา พวกเธอจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด

    สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ไม่ได้เว้นขณะไหนเลย ควรที่สติจะระลึกรู้ลักษณะของสังขารที่กำลังปรากฏแล้วก็ดับไป จึงจะชื่อว่า เป็นผู้ไม่ประมาท และก็เป็นผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน เจริญอริยมรรคมีองค์ ๘

    เรื่องของการเจริญสติ เป็นการทำให้ปัญญารู้ชัดในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ปัญญาที่รู้ชัดพร้อมกับสติ เมื่อสมบูรณ์เป็นขั้นแล้ว ชื่อว่าวิปัสสนา แต่ไม่ใช่ว่าจะเป็นวิปัสสนาญาณได้โดยไม่เจริญสติ อย่าเข้าใจผิดคิดว่า จะทำวิปัสสนา ถ้าใช้คำว่า จะทำวิปัสสนา จะไม่มีการเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ ไม่มีโอกาสที่สติจะระลึกรู้ตามปกติในชีวิตของท่านว่า ขณะนั้น ลักษณะที่ปรากฏนั้นเป็นแต่เพียงนามธรรมหรือเป็นแต่เพียงรูปธรรม เพราะเหตุว่าท่านมีตัวตนที่คิดว่า จะทำวิปัสสนา ถ้าท่านคิดว่าท่านจะทำวิปัสสนา ท่านมุ่ง ท่านจดจ้อง ท่านทำอะไรผิดปกติบ้างไหม หรือว่าท่านเป็นปกติ แล้วสติก็ระลึกรู้นามรูปที่เกิดปรากฏเพราะเหตุปัจจัยที่ได้สะสมมาตามความเป็นจริง ขณะที่สติระลึกรู้สภาพธรรมที่ปรากฏเป็นปกติ เป็นสัมมาสติ ไม่มีสิ่งใดบังลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้นให้คลาดเคลื่อน

    แต่ถ้าท่านคิดว่า ท่านจะทำ ผิดปกติ หรือว่าเป็นปกติ เพราะเหตุว่าถ้าท่านเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติแล้ว ในขณะที่คิดว่าจะทำ สติก็ระลึกว่า ขณะนั้นก็เป็นนามธรรมชนิดหนึ่งที่คิด แล้วสติก็ระลึกรู้ลักษณะของนามอื่นรูปอื่นต่อไปเป็นปกติ เป็นผู้ที่มีปกติระลึกรู้ลักษณะของนามของรูป

    เคยได้รับฟังจากท่านผู้ฟังบางท่าน บอกว่าการเจริญสติปัฏฐานยากเพราะเป็นการที่สติจะค่อยๆ เริ่มระลึกรู้ลักษณะของเริ่มระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่ปรากฏเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ซึ่งปกติแล้วก็เป็นผู้ที่หลงลืมสติกันมานานแล้ว ในขณะที่ไม่ได้ฟังเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน หรือว่าไม่มีความเข้าใจเรื่องสัมมาสติ ก็ไม่ได้เจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวันเลย พอเรื่มที่จะระลึกลักษณะของนามของรูปตามปกติที่สติสามารถที่จะเกิดระลึกรู้แม้เพียงชั่วขณะหนึ่ง ขณะนั้นก็เป็นสติปัฏฐานแล้ว เพราะเหตุว่ารู้ในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ แต่ว่าทีละเล็กทีละน้อย ท่านก็กล่าวว่ายากเกิน การเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ดูเหมือนว่าจะเป็นสิ่งที่สุดวิสัย เป็นไปไม่ได้ ก็คงจะเหมือนคำอุปมาที่ว่า มีเขาสูง คนที่ขึ้นไปถึงยอดเขา ก็สามารถจะเห็นสิ่งต่างๆ ก็สามารถจะเห็นสิ่งต่างๆ ที่อยู่ข้างล่างได้ แต่ว่าคนที่อยู่ข้างล่าง ไม่มีโอกาสที่จะเห็นสิ่งต่างๆ เหมือนกับคนที่ขึ้นไปอยู่บนยอดเขา แล้วถ้ามีความท้อถอย คิดว่ารู้ไม่ได้คิดว่ารู้ไม่ได้ เจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวันมันยากมาก ถ้าคิดอย่างนี้ก็เหมือนกับว่าท่านไม่พยายามที่จะขึ้นไปสู่ยอดเขาซึ่งบุคคลอื่นขึ้นได้ แต่เพราะเหตุใดบุคคลอื่นจึงขึ้นได้ท่านจึงจะขึ้นไม่ได้ ก็เป็นเพราะเหตุว่าท่านคิดว่า การเจริญสติปัฏฐานเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้นี้ขั้นหนึ่ง หรือท่านก็คิดว่า คงจะเป็นไปได้แต่ว่ายาก แต่จะยากสักเท่าไหร่ก็ตาม ถ้ามีความเข้าใจที่ถูกต้อง แล้วเริ่มเจริญสติจริงๆ เป็นปกติ ทีละเล็กทีละน้อย ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่มีเยื่อใยกับสิ่งที่หมดไปแล้ว เพราะเหตุว่าสิ่งที่กำลังปรากฏกำลังเป็นปัจจุบัน เป็นของจริง มีการเกิดขึ้นแล้วดับไป ตามมหาสติปัฏฐาน ที่ได้ฟังมาตั้งแต่ต้น กายานุปัสสนาสติปัฏฐานก็ดี เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานก็ดี จิตตานุปัสสนาก็ดี ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานก็ดี ล้วนแต่เป็นสภาพธรรมที่เกิดแล้วดับไป โดยการศึกษา โลภมูลจิต สราคจิต ในจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ประจักษ์ความจริงข้อนี้หรือยัง ไม่ว่าธรรมใดๆ ทั้งนั้นที่มีกล่าวไว้ว่า สังขารธรรมทั้งหลายไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ประจักษ์ความจริงของสังขารธรรมหรือยัง ท่านไม่ได้ทรงแสดงธรรมเรื่องอื่นเลย นอกจากเรื่องชีวิตปกติประจำวัน กายไม่เที่ยง เวทนาไม่ว่าจะเป็นสุขเวทนา หรือว่าทุกขเวทนา หรือว่าอุเบกขาเวทนา ก็ไม่เที่ยง จิต แม้ว่าจะเป็นโลภมูลจิตก็ไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ประจักษ์แล้วหรือยังว่าไม่เที่ยง


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 9
    6 ต.ค. 2566

    ซีดีแนะนำ