รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 070


    ตอนที่ ๗๐

    ที่กายกระสับกระส่าย และจิตกระสับกระส่ายด้วยนั้น ก็เพราะสักกายทิฏฐิยังมีอยู่ แต่ที่ถึงแม้ว่ากายกระสับกระส่ายแต่จิตก็ไม่กระสับกระส่าย ก็เพราะหมดสักกายทิฏฐิแล้ว

    ท่านพระสารีบุตรกล่าวกะนกุลบิดาคฤหบดีว่า

    ดูกร คฤหบดี ก็อย่างไรเล่า บุคคลจึงชื่อว่าเป็นผู้มีกายกระสับกระส่ายด้วย จึงชื่อว่าเป็นผู้มีจิตกระสับกระส่ายด้วย

    ดูกร คฤหบดี คือ ปุถุชนผู้มิได้สดับแล้วในโลกนี้ มิได้เห็นพระอริยะทั้งหลาย ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยะ มิได้รับแนะนำในอริยธรรม มิได้เห็นสัตบุรุษทั้งหลาย ไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ มิได้รับแนะนำในสัปปุริสธรรม ย่อมเห็นรูปโดยความเป็นตัวตน ๑ ย่อมเห็นตนมีรูป ๑ ย่อมเห็นรูปในตน ๑ ย่อมเห็นตนในรูป ๑ เป็นผู้ตั้งอยู่ด้วยความยึดมั่นว่า เราเป็นรูป รูปของเรา เป็นต้น

    ซึ่งในเรื่องของทิฏฐิ ความเห็นผิดต่างๆ ถ้าท่านผู้ฟังสนใจก็จะได้ราย ละเอียดจากขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ทิฏฐิกถา ทิฏฐิ ๖๒ นั้นก็มีสักกายทิฏฐิเป็นมูล ถ้าไม่มีสักกายทิฏฐิเป็นมูลแล้วก็หมด ทิฏฐิอื่นก็มีไม่ได้

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลเมื่อได้รู้แจ้งในสภาพของนามและรูปตามความเป็นจริงแล้ว ที่จะมีความเห็นผิดย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะว่าไม่ใช่เพียงแต่รู้ลักษณะของนามว่าเป็นนาม รู้ลักษณะของรูปว่าเป็นรูป ยังรู้ถึงปัจจัยของนามและรูป ยังรู้ความเกิดขึ้นแล้วดับไปของนามและรูป ประจักษ์ความจริงพร้อมทั้งเหตุและผลเป็นอริยสัจจธรรม ก็จะไม่มีความเห็นผิดอย่างอื่นเลย

    สำหรับสักกายทิฏฐิ ๒๐ จำแนกไปตามขันธ์ ๕ คือ ย่อมเห็นรูปโดยความเป็นตน ๑ ย่อมเห็นตนมีรูป ๑ ย่อมเห็นรูปในตน ๑ ย่อมเห็นตนในรูป ๑ ผู้ที่ยังไม่ใช่พระอริยบุคคลยังมีสักกายทิฏฐิ ๒๐ นี้

    ย่อมเห็นรูปโดยความเป็นตน ทรงอุปมาว่า เหมือนกับเปลวไฟและแสงสว่าง เปลวไฟก็อย่างหนึ่ง แสงสว่างก็อย่างหนึ่ง แต่ผู้ที่ไม่มนสิการโดยละเอียดก็ย่อมจะถือว่า เปลวไฟและแสงสว่างนั้นเป็นอันเดียวกัน คือเปลวไฟนั่นเองเป็นแสงสว่าง และแสงสว่างนั่นเองเป็นเปลวไฟ เช่นเดียวกับผู้ที่เห็นผิดคือมีความเห็นว่า ย่อมเห็นรูปโดยความเป็นตน

    ทุกท่านมีรูป ย่อมเห็นรูปโดยความเป็นตน จะอ่อนจะแข็งก็ยึดถือ เพราะไม่รู้ว่าเป็นแต่เพียงลักษณะของรูปชนิดหนึ่ง เย็นก็เป็นแต่เพียงลักษณะของรูปชนิดหนึ่ง เมื่อไม่รู้ก็ยึดถือรูปนั้น จะอ่อนก็เป็นตัวเรา จะแข็งก็เป็นตัวเรา จะเย็นก็เป็นตัวเรา จะร้อนก็เป็นตัวเรา จะตึงไหวก็เป็นตัวเรา เห็นรูปว่าเป็นตน

    สำหรับการเห็นผิดในรูป ๔ ประการ

    ประการที่ ๑ ย่อมเห็นรูปโดยความเป็นตน ๑ คือ ถือรูปนั้นเองว่าเป็นตน

    ประการที่ ๒ ย่อมเห็นตนมีรูป ๑

    (สักกายทิฏฐิเป็นการที่ไม่รู้ชัดในขันธ์ทั้ง ๕ คือ ทั้งในรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์)

    ย่อมเห็นตนมีรูป ๑ คือ ผู้ที่ยึดมั่นในเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ว่าเป็นตนแล้ว ย่อมเห็นตนว่ามีรูป คือ เห็นนามขันธ์ ๔ ว่ามีรูป

    ทรงอุปมาว่า เหมือนกับต้นไม้ที่มีเงา การที่ยึดถือเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณว่าเป็นตัวตน ก็เห็นว่าตัวตนนี้มีรูป เหมือนกับต้นไม้มีเงา

    ประการที่ ๓ คือ ย่อมเห็นรูปในตน ๑

    นี่ก็โดยนัยที่ว่ายึดถือนามขันธ์ ๔ คือ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ว่าเป็นตน แล้วก็เห็นรูปในตน ถ้าฟังอุปมาจะเข้าใจชัดเพราะทรงอุปมาว่า เหมือนกับดอกไม้ที่มีกลิ่น

    กลิ่นดอกไม้ก็เป็นกลิ่น ดอกไม้ก็เป็นดอกไม้ แต่ว่ากลิ่นดอกไม้อยู่ที่ไหน กลิ่นดอกไม้ก็อยู่ในดอกไม้ เพราะฉะนั้น ผู้ที่ยึดถือในนามขันธ์ ๔ คือ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ว่าเป็นตน ย่อมเห็นรูปในตนเหมือนกับกลิ่นดอกไม้ที่มีอยู่ในดอกไม้

    ประการที่ ๔ คือ ย่อมเห็นตนในรูป ๑ อุปมาเหมือนกับ ขวดที่มีแก้วมณีอยู่ข้างใน คือ มีเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ในรูป

    สักกายทิฏฐินี้มากมายจริงๆ จะเห็นได้ว่า กว่าจะละจะคลายได้ ปัญญาจะต้องรู้มาก รู้ทั่ว รู้ยิ่งจริงๆ

    สำหรับเรื่องของเวทนาขันธ์ ก็โดยนัยเดียวกันกับรูปขันธ์ เปลี่ยนแต่พยัญชนะ คือ

    ประการที่ ๑ ย่อมเห็นเวทนาโดยความเป็นตน ๑

    ประการที่ ๒ ย่อมเห็นตนมีเวทนา ๑ ยึดถือว่าสัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ และรูปขันธ์เป็นตน เพราะฉะนั้น จึงถือว่า ย่อมเห็นตนมีเวทนา

    ประการที่ ๓ ย่อมเห็นเวทนาในตน ก็โดยนัยเดียวกัน เมื่อยึดถือสัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ รูปขันธ์ว่าเป็นตัวตน ก็ย่อมเห็นเวทนาในตน

    ประการที่ ๔ ย่อมเห็นตนในเวทนา ก็โดยนัยเดียวกัน คือ ยึดถือสัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ และรูปขันธ์ว่าเป็นตน เพราะฉะนั้น ก็ย่อมเห็นตนในเวทนา

    เปลี่ยนไปแต่พยัญชนะ แล้วก็เปลี่ยนขันธ์ไปเรื่อยๆ ขันธ์ละ ๔ ลักษณะ ก็เป็น ๒๐ เพราะว่าโดยมากก็พูดกันย่อๆ ว่าสักกายทิฏฐิ ยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตน บางครั้งก็ยึดสภาพธรรมนั้น บางครั้งก็ยึดสภาพธรรมนี้ทั่วไปหมด เพราะความไม่รู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ

    ผู้ฟัง (ไม่ได้ยิน)

    ท่านอาจารย์ อย่างน้อยที่สุดก็จะทำให้ท่านผู้ฟังได้ระลึกว่า สักกายทิฏฐินั้นมีมาก หนาแน่นและเหนียวแน่น เพราะเหตุว่าถ้าจะกล่าวเพียงว่า สักกายทิฏฐิ คือ การยึดถือรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ว่าเป็นตัวตน แต่เวลาที่เกิดขึ้นจริงๆ ก็ต่างกันไปเป็นขันธ์ละ ๔ อย่าง

    ผู้ฟัง ที่ท่านกล่าวไว้ในธาตุมนสิการบรรพนั้น ท่านบอกให้รู้ดิน รู้น้ำ รู้ไฟ รู้ลม การรู้อย่างนี้ถ้าเราไม่เอาลักษณะของดิน ของไฟ ของลม ของน้ำแล้วเราจะรู้อะไร คือ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรู้ลักษณะ จึงจะรู้ว่าอย่างนี้คือดิน หรืออย่างนี้คือไฟ อย่างนี้คือลม มีอาการหรือลักษณะปรากฏให้เราสามารถรู้ได้ทางกาย ก็สมควรที่จะรู้ลักษณะอย่างนั้น หรือว่าไม่จำเป็นจะต้องรู้ลักษณะอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ การเจริญสติปัฏฐานเป็นการรู้สิ่งที่มีจริงตามความเป็นจริง ที่ใช้คำว่าดิน หรือปฐวีธาตุ ก็หมายความถึงสภาพของจริงที่มีลักษณะอ่อนหรือแข็ง ที่จะเป็นธาตุ เป็นของจริง ก็ต้องมีลักษณะจริงๆ ธาตุดินก็ปรากฏทางกาย ธาตุไฟ ธาตุลมก็ปรากฏที่กาย เป็นสิ่งที่ควรรู้เพราะมีปรากฏจริงๆ ไม่ใช่ให้ไปนึกเอา เป็นสภาพที่ไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วดับไป และไม่ใช่ตัวตนด้วย ไม่ควรจะยึดถือว่าเป็นตัวตน ถ้าพิจารณารู้ชัดก็จะละการยึดถือว่าเป็นตัวตนได้ ละการเห็นรูปว่าเป็นตน คือการละเย็นร้อนอ่อนแข็งตึงไหวที่มีปรากฏว่าเป็นตน เพราะว่าถ้ายังไม่ละก็เป็นสักกายทิฏฐิคือเห็นรูปว่าเป็นตน

    ผู้ฟัง สำหรับธาตุ ๔ ที่ท่านพูดไว้ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ท่านก็พูดเพียงแต่ว่า รู้ดิน รู้น้ำ รู้ไฟ รู้ลม ตามตำราที่ท่านสอน คือ ปฐวีธาตุมีลักษณะอย่างไร เตโชมีลักษณะอย่างไร อาโปมีลักษณะอย่างไร ถ้าไม่มีลักษณะอ่อนหรือแข็งให้เรารู้ เราก็ไม่สามารถจะไปรู้ถึงว่านี้คือดินปฐวีได้ เช่นเดียวกับอิริยาบถ ๔ ท่านบอกว่า ให้รู้ชัดในการยืน เดิน นั่ง นอน ถ้าเราไม่รู้มหาภูตรูปที่เรายืน เดิน นั่ง นอนนี้ เราจะรู้อะไร เราก็ไม่สามารถจะรู้อะไรได้ เราก็ต้องรู้ลักษณะอยู่นั่นเอง เป็นอย่างนี้ใช่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ กำลังนั่งอยู่อย่างนี้มีลักษณะอะไรปรากฏบ้าง มีแข็ง อ่อนปรากฏที่ไหน ที่กายกระทบส่วนหนึ่งส่วนใด ไม่ใช่ทั้งหมด ถ้าจะนึกเป็นท่าเป็นทาง ไม่มีลักษณะที่ปรากฏที่กาย หรือว่าที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้นเลย กำลังนั่ง สีปรากฏทางตา เสียงปรากฏทางหู เป็นของจริง ถ้ามีกลิ่นปรากฏทางจมูกก็เป็นของจริง ถ้ารสปรากฏทางลิ้นก็เป็นของจริง แล้วที่กายก็มีเย็นร้อนอ่อนแข็งปรากฏเป็นของจริง ความทรงจำที่เคยยึดถือในความเป็นตัวตนของแต่ละรูปที่มาประชุมรวมกันทำให้ยึดโยงไว้ว่าเป็นรูปที่กำลังนั่งในท่าทางอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ไม่มีลักษณะของรูปที่ปรากฏให้รู้ในความเป็นรูปที่ไม่ใช่ความเป็นตัวตนเลย

    โคจรรูป ๗ หรือวิสยรูป คือ รูปที่เป็นอารมณ์ มี ๗ รูป คือ สีเป็นอารมณ์ทางตา เสียงเป็นอารมณ์ทางหู กลิ่นเป็นอารมณ์ทางจมูก รสเป็นอารมณ์ทางลิ้น เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึงไหวเป็นอารมณ์ทางกาย ๗ รูป เมื่อสีปรากฏให้รู้ทางตาแล้ว ทางใจก็รับรู้สีนั้นต่อ ไม่ใช่รู้รูปอื่น ก็รู้สี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่เป็นอารมณ์ ในเมื่อมีรูปซึ่งมีลักษณะปรากฏให้รู้แล้วไม่รู้ ก็ไม่สามารถรู้ชัดในลักษณะของรูปได้ เป็นเรื่องที่ผู้เจริญสติจะต้องเจริญบ่อยๆ เนืองๆ ความรู้เพิ่มขึ้นเป็นขั้นๆ แล้วแต่ว่ากำลังเจริญความรู้ขั้นไหนก็รู้ขั้นนั้น ขั้นแรกที่สุดจะต้องรู้ลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมและรูปธรรม


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 9
    13 ส.ค. 2566

    ซีดีแนะนำ