รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 053


    ตอนที่ ๕๓

    เพราะไม่รู้ว่าปัญญาต้องรู้อะไร ปัญญาต้องรู้ลักษณะของนามและรูปที่ปรากฏตามปกติ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่มีความผิดปกติเลย เพราะฉะนั้นบางคน ทั้งๆ ที่ได้รับฟังเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน แล้วก็เคยไปปฏิบัติที่สถานที่ที่จำกัด ไม่ทราบว่าจะทำให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานได้หรือเปล่า เพราะว่ามักจะถามด้วยความสงสัยว่า ขณะนี้เจริญสติได้ไหม หรือว่ากำลังรับประทานอาหารอยู่อย่างนี้มีสติได้ไหม นี่เป็นคำถามที่กล่าวถึงความสงสัยใช่ไหม ไม่ได้รู้ลักษณะของสติเลย แต่ถ้าเป็นผู้ที่รู้ลักษณะของสติว่าต่างกับสมาธิ สติเป็นสภาพที่ระลึกรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ ขณะนี้ทางตาก็มี ทางหูก็มี ทางกายก็มี ทางใจก็มี ตามปกติ ผู้ใดรู้ลักษณะของสติ ผู้นั้นเจริญสติถูก เจริญสติได้ เพราะเหตุว่าอาจจะมีแข็งหลายส่วนของกายที่กำลังกระทบปรากฏ และก็มีตาที่เห็น แล้วก็มีทางหูมีได้ยินมีเสียง แต่ว่าขณะที่หลงลืมสติก็คือ ขณะที่อารมณ์เหล่านั้นไม่ปรากฏชัดเจน แต่ว่าเวลาที่สติระลึกรู้ที่ใด สภาพลักษณะนั้นปรากฏชัดขึ้น เป็นต้นว่าที่กาย มีส่วนที่อ่อนแข็งหลายแห่ง เมื่อกี้นี้หลงลืมสติไม่ได้รู้ในลักษณะอ่อนแข็งที่กาย แต่พอระลึกรู้ที่ใดลักษณะนั้นปรากฏชัดที่นั่น เพราะสติกำลังระลึกรู้ในลักษณะนั้น หรือว่ากำลังนั่งมีอ่อนมีแข็งที่กาย มีเห็น มีสี มีเสียง มีได้ยิน ถ้าสติระลึกที่เสียง ลักษณะของเสียงปรากฏชัดในขณะนั้น ที่ใช้คำว่าชัด ไม่ได้หมายความว่า ผิดปกติ แต่หมายความว่า สติกำลังระลึกในลักษณะนั้น ไม่ได้ใส่ใจระลึกในลักษณะอื่น เพราะฉะนั้นผู้ที่รู้ลักษณะของขณะที่มีสติ กับขณะที่หลงลืมสติก็ย่อมสามารถที่จะเจริญสติ ไม่ว่าจะอยู่ในสถานที่ใด ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางกาย ทางใจ สติก็ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่เกิดแล้วปรากฏในขณะนั้นได้ ไม่ใช่เป็นการทำสมาธิ ไม่ใช่เป็นการจะทำ ซึ่งเป็นการเคลื่อนไปไม่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏแล้ว แต่ไปจะทำขึ้นรู้ เพราะฉะนั้นก็ไม่รู้สิ่งที่ปรากฏเกิดขึ้นแล้วเพราะเหตุปัจจัย การเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่ไป จะทำ เป็นสภาพที่ระลึกที่ลักษณะของนามและรูป ขณะหนึ่งขณะใดก็ได้ นามอะไรก็ได้ รูปอะไรก็ได้

    ผู้ที่เข้าใจเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานแล้วจะไม่มีคำถามด้วยความสงสัยว่า ขณะนี้ กำลังเห็นอย่างนี้ เจริญสติได้ไหม ก็ไม่สงสัย ขณะที่กำลังรับประทานอาหาร ขณะที่กำลังเดิน ขณะที่กำลังซื้อ ของขณะที่กำลังพูด ขณะที่กำลังอ่านหนังสือ ทุกอย่าง สำหรับผู้ที่รู้ลักษณะของขณะที่มีสติ ก็ไม่มีคำถามด้วยความสงสัยว่า เจริญสติได้ไหม ถ้าท่านผู้หนึ่งผู้ใดมีเพื่อนฝูงมิตรสหายถามว่า กำลังขับรถยนต์เจริญสติปัฏฐานได้ไหม กำลังข้ามถนนเจริญสติปัฏฐานได้ไหม กำลังพูดกำลังคุยเดี๋ยวนี้เจริญสติปัฏฐานได้ไหม ท่านก็ทราบได้ถึงความสงสัยของผู้ถามว่ายังมีอยู่ ไม่ใช่ความรู้ในลักษณะของสติ ถ้าเป็นผู้ที่รู้ลักษณะของสติแล้วก็จะไม่มีความสงสัยเลย

    และผู้ที่กล่าวว่าอีก ๕ ปีถึงจะไปสู่สำนักปฏิบัติ ก็ไม่ทราบว่าทำไมถึงเข็ดการเจริญสติปัฏฐาน คงจะลำบากมากทุกข์มากหรืออะไรก็ไม่ทราบ แต่ว่าถ้าท่านผู้ใดเคยคิดว่า การเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่ชีวิตปกติ ขอให้พิจารณาให้ละเอียด เป็นต้นว่า ถ้าท่านนั่งนานๆ รอคอยอะไรหรือเปล่า ปกติของท่านหรือเปล่า เป็นปกติเป็นชีวิตประจำวันหรือเปล่า ถ้านั่งฟังธรรม ก็เป็นเรื่องของปกติใช่ไหม ไม่ได้มีความรู้สึกว่าจะทำวิปัสสนาด้วยการที่ไม่ทำอย่างอื่นเลยในชีวิตปกติประจำวัน แต่ว่าจะนั่งนานๆ จนกว่าจะเมื่อย คอยให้เมื่อย ลักษณะของการรอการคอยเป็นลักษณะของความต้องการ เป็นอภิชฌา เป็นตัณหา เป็นสมุทัยหรือเปล่า อยู่ดีๆ ก็นั่งคอย แต่ไม่รู้เลยว่าขณะนั้นใจเต็มไปด้วยความหวังรอหวังคอย คอยอะไร คอยทุกขเวทนา เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานขณะที่เสวยสุขเวทนาก็รู้ว่าเสวยสุขขเวทนา ทำไมจะต้องไปนั่งนานๆ แล้วก็รอคอยด้วยความหวังให้เกิดทุกขเวทนาขึ้น ทำอย่างนั้นทำไม ในเมื่อขณะนั้นก็มีนาม มีรูป ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจเกิดจากสืบต่อกันเพราะเหตุปัจจัย โดยที่ไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดสามารถจะไปยับยั้ง ทุกคนที่กำลังเห็น มีเหตุปัจจัยในอดีตให้เห็นต่อไป ให้ได้ยินต่อไป ไม่ให้สิ้นสุดลงไป ไม่ให้จบภพชาตินี้ จึงได้ให้เห็นอยู่ ให้ได้ยินอยู่เรื่อยๆ ต่อไป ให้คิดนึก ให้เป็นสุขบ้าง ให้เป็นทุกข์บ้าง สุขเวทนาเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับ ไม่ใช่ไม่ดับ เพราะฉะนั้นทำไมถึงจะไปรอคอย นั่งนานๆ คอยให้เมื่อย คอยให้เป็นทุกข์ โดยที่ว่าในเวทนานุปัสสนานั้น แม้แต่ขณะที่กำลังเป็นสุขก็อย่าหลงลืมสติ เมื่อขณะที่สุขเวทนาเกิดขึ้น ก็ให้ระลึกรู้ว่า เสวยสุขเวทนา แล้วก็เป็นการเห็นเวทนาในเวทนา คือไม่เห็นความเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลในสภาพลักษณะของความรู้สึกที่กำลังปรากฏในขณะนั้น เพราะฉะนั้นทุกท่านก็พิจารณาได้ ไปยากๆ ไปลำบากๆ ไปเข็ดอีก ๕ ปีถึงจะไป แล้วก็ดีมากดีเหลือเกิน แต่ว่าจะไม่เจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ เพราะฉะนั้นก็ไม่มีโอกาสที่ว่าจะรู้สุขเวทนา จะรู้ทุกขเวทนา หรือว่าจะรู้อทุกขมสุขเวทนาที่เกิดปรากฏเป็นปกติเพราะเหตุปัจจัย ไม่มีทางที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ เพราะเหตุว่าถึงสุขเวทนาจะเกิด ก็ไม่ได้พิจารณา ไม่ได้รู้ตามความเป็นจริง ไปมุ่งหวังรอคอยให้เกิดทุกขเวทนาขึ้น

    ข้อสำคัญอีกประการหนึ่ง ท่านผู้ฟังอย่าลืมว่าการที่เรายึดถือสภาพธรรมทั้งหลายว่าเป็นตัวตน เพราะเหตุว่าสภาพธรรมรวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน ยังไม่กระจัดกระจาย ยังไม่แยก ยังไม่แตกออกเป็นส่วนๆ แตกออกเป็นแต่ละรูปแต่ละนาม ในเมื่อยังรวมกันอยู่ก็ย่อมยึดถือว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นวัตถุสิ่งของ เพราะฉะนั้นการเจริญสติปัฏฐานเป็นการรู้ชัดในลักษณะของนามธรรมแต่ละทาง ในลักษณะของรูปแต่ละรูป ซึ่งมีลักษณะต่างกันเป็นแต่ละลักษณะ อย่ารวมกัน ถ้ารวมกันไม่กระจัดกระจายแล้วล่ะก็ไม่มีโอกาสที่จะละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนได้เลย และท่านที่เคยรวมๆ กันแล้วก็รู้ เป็นต้นว่ารูปที่กำลังนั่งอยู่ ไม่ได้กระจัดกระจาย ไม่ได้ให้สติระลึกรู้ลักษณะของนามแต่ละลักษณะ รูปแต่ละลักษณะ รวมๆ กันเป็นการนั่ง เป็นอิริยาบท เป็นท่านั่ง เป็นท่านอน เป็นท่ายืน เป็นท่าเดิน หมายความว่าแล้วแต่ว่าจะเป็นรูปที่ปรากฏทางตาก็อย่างหนึ่ง รูปที่ปรากฏทางหูก็อย่างหนึ่ง ทางจมูกก็อย่างหนึ่ง ทางลิ้นก็อย่างหนึ่ง ทางกายก็อย่างหนึ่ง

    การที่จะไปนึกแค่เห็น ก็เป็นอัตตาตัวตนที่นึก แต่ว่าการที่จะรู้ว่าเป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่งจริงๆ จะต้องระลึกรู้ในขณะที่เห็นว่าเป็นสภาพรู้ ต่างกับสีสันวรรณะที่เป็นสภาพที่ปรากฏทางตา เห็นเป็นสัตว์เป็นบุคคลก็อย่างที่เคยเห็นทุกวันๆ ยังไม่ได้ระลึกรู้ว่า ทุกอย่างที่ปรากฏทางตาก็เป็นของจริงที่ปรากฏเฉพาะทางตาเท่านั้น แต่ส่วนการที่จะรู้ความหมายของสิ่งที่เห็นเป็นสภาพนามธรรมที่เกิดภายหลังการเห็น เป็นนามธรรมคนละชนิดไม่ใช่เป็นนามธรรมที่เห็น เป็นลักษณะของนามธรรมที่ต่างกัน ผู้เจริญสติปัฏฐาน ต้องเป็นผู้ที่ละเอียดมาก ที่สามารถจะรู้ลักษณะของนามธรรมที่เกิดจากสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว โดยการที่พิจารณารู้ลักษณะของนามธรรมแต่ละลักษณะเสียก่อน จึงจะรู้ว่าไม่ใช่นามธรรมประเภทเดียวกัน แล้วถึงจะประจักษ์การที่สืบต่อกันของนามธรรมแต่ละชนิดได้ แต่ถ้าไม่ปรากฏลักษณะที่ต่างกัน ก็ไม่ปรากฏการที่จะเกิดดับสืบต่อกันได้ เห็นก็เพียงแค่ที่ว่ากำลังรู้ทางตา ส่วนที่รู้ว่าเป็นสัตว์เป็นบุคคลเป็นนามธรรมที่เกิดต่อจากการเห็น เกิดต่อกันเร็วมากแต่ว่าสติก็ระลึกได้ ทีละลักษณะของนาม ทีละลักษณะของรูป กำลังได้ยิน ระลึกรู้ว่าที่กำลังปรากฏในขณะนี้เป็นสภาพรู้ก็ได้ ถ้าระลึกว่าเป็นสภาพรู้ก็เป็นลักษณะของนามธรรม แต่บางครั้งก็ไม่ได้ระลึกที่สภาพรู้ใช่ไหม ขณะที่เสียงปรากฏก็รู้ว่าสิ่งนี้เป็นของจริงที่ปรากฏทางหู โดยที่อาจจะคิดขึ้นมาก่อนตอนต้นๆ แต่ภายหลังมีความชำนาญ สำเหนียก สังเกตมากขึ้น ก็รู้ว่าถึงไม่คิด ลักษณะนี้ก็เป็นลักษณะที่ปรากฏทางหูอยู่แล้ว แล้วก็ส่วนการที่จะรู้ความหมายว่าหมายความว่าอะไร เสียงที่พูดเป็นเสียงอะไร มีความหมายว่าอะไร สภาพรู้นั้นเป็นนามธรรมไม่ใช่เสียงเสียแล้ว ติดกันมาก แต่ว่าสติสามารถที่จะแทรกไปตามอารมณ์ทั้งปวงได้ เริ่มจากทีละเล็กทีละน้อย ดูลักษณะใดก็รู้ให้ชัด ไม่ใช่ให้รวมกันอยู่ เกาะกลุ่มให้ติดกันอยู่

    บางท่านเท่าที่ดิฉันเคยทราบกล่าวว่า เจริญสติปัฏฐานมาประมาณ ๓๐ กว่าปี เป็นอาจารย์ของสำนักหนึ่ง ในขณะที่ปฏิบัติก็มีความรู้สึกว่ามีสติสัมปชัญญะไม่ว่าจะนั่ง จะนอน จะยืน จะเดิน ก็มีความนุ่มนวล มีความเบา มีความควรแก่การงาน เป็นผู้มีสติ แต่เมื่อได้ฟังเรื่องการเจริญสติปัฏฐานแล้วก็รู้ว่า ไม่ใช่ปัญญาที่รู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏจริงๆ ตามปกติ เพราะฉะนั้นขอให้ท่านที่เคยจดจ้อง หรือว่าเคยรู้รูปรวมๆ กัน เป็นท่านั่ง ท่านอน ท่ายืน ท่าเดินว่า ในขณะที่ท่านกำลังรู้อย่างนั้น เวลาที่มีเสียงปรากฏสะดุ้งไหม ตกใจไหม ตกใจเพราะอะไร คนที่กำลังสนใจในเรื่องหนึ่งเรื่องใดเป็นต้นว่าอ่านหนังสือเพลินๆ ถ้ามีคนเรียกตกใจไหม ก็ตกใจ เพราะว่ากำลังสนใจอ่านหนังสืออยู่ เพราะฉะนั้นเมื่อมีสิ่งอื่นเกิดขึ้น ไม่เคยเจริญสติ ไม่เคยรู้ลักษณะของเสียงตามปกติเลย มีแต่การจดจ้องอยู่ที่สิ่งหนึ่ง เวลาที่เสียงเกิดตามปกติแท้ๆ ผู ้นั้นก็สะดุ้งตกใจ แล้วก็ไม่รู้ด้วย ถ้าสอบสวนจริงๆ ว่าขณะนั้นเป็นนามหรือเป็นรูป ตอบไม่ได้เลย ไม่เคยระลึกรู้ลักษณะของได้ยิน ไม่เคยระลึกรู้ลักษณะของเสียงตามปกติ แต่ว่าไปจ้องที่จะให้รู้รวมๆ เมื่อเป็นการไปจ้องให้รู้รวมๆ ไม่รู้นามใดรูปใดชัดสักนามเดียว แม้แต่เพียงนามเดียวก็ไม่รู้ แม้แต่เพียงรูปเดียวก็ไม่รู้ กำลังเห็นตามปกติไม่เคยเลยที่จะมีการระลึกรู้ว่าเป็นสภาพรู้ทางตา สีสันวรรณะต่างๆ ที่กำลังปรากฏก็ไม่เคยระลึกรู้เลยสักขณะเดียวว่าเป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏ เพื่อจะละคลายว่าทางตาก็เท่านี้เอง ไม่ว่าจะเห็นอะไร ไม่ว่าจะเกิดความชอบความไม่ชอบหลังจากที่เห็นแล้ว เป็นแต่เพียงความพอใจ เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยได้เห็นสิ่งที่พอใจแล้วก็ดับ มีอย่างอื่นเกิดขึ้นปรากฏเป็นลักษณะต่างๆ กันไปเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ผู้ที่มีปัญญาเพิ่มขึ้นไม่สะดุ้ง เพราะว่าชินกับลักษณะของสิ่งที่เกิดปรากฏตามปกติ แต่ผู้ที่ไปจ้องรู้รวมๆ แล้วก็ไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของนามใดรูปใดให้ชัดเจนตามปกติเพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ผู้นั้นจะสะดุ้ง การสะดุ้งนั้นเป็นปัญญาหรือเปล่าหรือว่าเป็นความไม่รู้ สะดุ้งแล้วไม่รู้ ไม่รู้ว่าอะไรตกใจด้วย เป็นตัวตนตลอดเวลา ไม่ได้มีความรู้ชัดในลักษณะของนาม ไม่ได้มีความรู้ชัดในลักษณะของรูปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ตามปกติเลย เพราะฉะนั้นถ้าผู้ใดฟัง ถือประโยชน์จากธรรม เทียบเคียงกับการที่เคยประพฤติปฏิบัติมาแล้ว ก็ย่อมจะละสีลัพพตปรามาสกายคันถะ การลูบคลำข้อประพฤติปฏิบัติที่ผิด ไม่ทำให้รู้ลักษณะของนามและรูปชัดเจนแต่ละทางตามปกติ

    ผู้ฟัง มีนามธรรมยู่อีกประเภทหนึ่ง ที่ท่านไม่ได้จัดไว้ในหมวดของเวทนา นามธรรมนั้นคือปีติเจตสิก ก็รู้สึกว่าใกล้เคียงกับโสมนัส อย่างไรจึงจะเรียกว่า ปีติ อย่างไรจึงจะเรียกว่า โสมนัส

    ท่านอาจารย์ เวลาที่ศึกษาธรรมจะพบว่า ในเรื่องของอานาปานบรรพ หรือว่าในพระสูตรส่วนอื่นๆ คืออานาปานสติก็ตาม ก็จะเห็นว่ากล่าวถึงปีติ เวลาที่มีปีติเกิดขึ้นก็ดี เวลาที่มีสุขเวทนาเกิดขึ้นก็ดี เวลาที่มีอุเบกขาเวทนาเกิดขึ้นก็ดี เป็นเวทนานุปัสสนา ทำให้ท่านผู้ฟังสงสัยว่า โดยการศึกษา ปิติเป็นสังขารขันธ์ เป็นปีติเจตสิก ไม่ใช่เป็นเวทนาเจตสิก เจตสิกมีทั้งหมด ๕๒ ประเภท/ ดวง ใน ๕๒ ดวงนั้น เป็นเวทนาขันธ์ ๑ ดวง ได้แก่เวทนาเจตสิก เวทนาเจตติก ๑ ดวงเป็นเวทนาขันธ์ สัญญาเจตสติก ๑ ดวงเป็นสัญญาขันธ์ ปีติและเจตสิกอื่นๆ เป็นสังขารขันธ์ แต่ทำไมอานาปานสติจึงได้ยกว่า เวลาที่ปิติเกิดก็ดี สุขเกิดก็ดี อุเบกขาเกิดก็ดีเป็นการพิจารณาเวทนา ที่ท่านแสดงอย่างนั้น ท่านถือเวทนาที่มีปีติเป็นสำคัญ หมายความว่า เวทนามีปีติก็มี เวทนาไม่มีปิติก็มี อย่างในปฐมฌานมีปิติมีสุข เพราะฉะนั้นก็เป็นสุขเวทนาที่มีปิติ ในทุติยฌาน ละวิตก (โดยจตุตถนัยก็ละวิตกวิจาร) แต่ว่ามีปิติมีสุข เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นที่กล่าวว่า เวลาที่ปีติเกิด พิจารณาปีติ รู้ปิติ ก็หมายความถึงว่า เมื่อเป็นเวทนานุปัสสนาแล้ว พูดถึงเวทนาโดยมีปิติเป็นประธานว่า เวทนานั้นประกอบด้วยปิติ หรือว่าเวทนานั้นไม่ประกอบด้วยปีติ พูดถึงจตุตฌานโดยปัญจกนัย หรือตติยฌานโดยจตุกกนัย เป็นสุขเวทนา เป็นการพิจารณาเวทนาที่ไม่ประกอบด้วยปีติ ลักษณะต่างกัน สุขเป็นสภาพที่เสวยอารมณ์เป็นสุข แต่ปีตินั้นเป็นความปราบปลื้ม ที่กล่าวไว้ในหมวดของเวทนานุปัสสนาเพราะเหตุว่าเวทนานั้นประกอบด้วยปิติ ลักษณะก็ปรากฏชัดสำหรับตติยญาณเพราะเหตุว่าในขณะนั้นเป็นสุขเวทนาที่ประกอบด้วยปิติ ยังไม่ได้ละปิติ แต่พอถึงจตุตถฌานโดยปัญจกนัยก็ละปีติ ผู้ที่จะเจริญสติก็จะต้องรู้ลักษณะความต่างกันของเวทนาที่ประกอบด้วยปิติและไม่ประกอบด้วยปิติ แล้วแต่การสำเหนียก แล้วแต่การพิจารณาความละเอียดของผู้ปฏิบัติ เพราะว่าในประการต้น เสวยสุขเวทนาก็รู้ เสวยทุกขเวทนาก็รู้ เสวยอทุกขมสุขเวทนาก็รู้ นี่ยังเป็นเรื่องทั่วๆ ไป ตามกำลังของสติที่จะระลึกได้ ยังไม่รู้ละเอียด แต่ว่าขณะใดที่เป็นสุขเวทนาก็ระลึกรู้ว่าเป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ตัวตนไม่ใช่สัตว์บุคคล เวลาที่ทุกขเวทนาเกิดขึ้นปรากฏ สติก็ระลึกรู้ว่าไม่ใช่ตัวตนไม่ใช่สัตว์ไม่ใช่บุคคล ส่วนการที่จะรู้ละเอียดมากกว่านั้นก็เป็นความละเอียดของผู้ปฏิบัติที่ต้องสำเหนียกสังเกตมากขึ้น แล้วก็พิจารณารู้ทั่วขึ้น

    ในคราวก่อน มีท่านผู้ฟังที่สงสัยถามว่า การพิจารณากายภายนอกจะเป็นสติปัฏฐานได้อย่างไร ในมหาสติปัฏฐาน ในหมวดของกายก็มีการพิจารณากายภายใน กายภายนอก พิจารณาทั้งภายในทั้งภายนอก เพื่อไม่ให้เป็นผู้หลงลืมสติ กำกับไว้ว่าพิจารณาทั้งภายในคือที่ตนเองด้วย และก็ที่ภายนอกคือที่บุคคลอื่นด้วย เพราะว่าสติไม่ใช่ระลึกเป็นไปที่กายภายในคือที่ตนเองเท่านั้น ในวันหนึ่งๆ ชีวิตปกติธรรมดา มีการระลึกเป็นไปในกายภายนอกของบุคคลอื่นด้วย เพราะฉะนั้นผู้เจริญสติไม่ควรเป็นผู้หลงลืมสติ แม้ในขณะที่มีกายภายนอกเป็นอารมณ์ ก็ให้เป็นเครื่องระลึกสำหรับที่จะรู้ชัดว่าสภาพนั้นเป็นนามเป็นรูปอย่างไร เพราะฉะนั้นเรื่องของการระลึกรู้ในมหาสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวันแล้วก็ไม่ให้หลงลืมสติไม่ว่าขณะนั้นจะมีสิ่งใดเป็นอารมณ์ไม่ว่าจะเป็นในอานาปานบรรพ พิจารณาลมหายใจ ก็ไม่ควรจะลืมข้อความตอนท้ายของอานาปานบรรพที่ว่า

    อีกอย่างหนึ่งสติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า กายมีอยู่ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงแต่ว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกายอยู่

    เรื่องของลมหายใจ เป็นเพียงเครื่องระลึก กายมีอยู่ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นลมหายใจของตนเองภายใน หรือว่าลมหายใจของคนอื่นภายนอก ก็เป็นเพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เพื่อไม่ให้หลงลืมสติ แล้วก็ลมหายใจของคนอื่นธรรมดาก็มี ถ้าไม่กระทบไม่ปรากฏ ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะไปขวนขวายระลึกรู้ เพราะว่าการเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่จะไปทำให้รู้ แต่หมายความว่าระลึกรู้สภาพธรรมที่ปรากฏในขณะนั้น ตามความเป็นจริง ก็เป็นเรื่องปกติแม้แต่ในอิริยาปถบรรพ สัมปชัญญบรรพ ปฏิกูลมนสิการบรรพ ธาตุมนสิการบรรพ นวสีวสิกาบรรพ ทุกนัยของกายานุปัสสนาสติปัฏฐานที่ได้กล่าวถึงแล้วทั้งหมดนั้น ก็มีข้อความตอนท้ายทุกบรรพว่า

    สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่ากายมีอยู่ก็เพียงสักว่าความรู้เพียงแต่ว่าอาศัยระลึกเท่านั้นเธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้วและไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก

    อีกอย่างหนึ่ง ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นกายในกายอยู่

    ก็ไม่น่าจะมีข้อสงสัยว่า กายภายนอกของคนอื่นนั้นจะเป็นสติปัฏฐานได้อย่างไร ก็ชัดเจนอยู่แล้วว่า สิ่งที่มีจริงทั้งหมดทุกอย่างเป็นสติปัฏฐาน เพื่อไม่ให้หลงลืมสติ และไม่ใช่ว่า การระลึกจะเป็นไปที่ตนเองทุกครั้ง บางขณะก็ระลึกเป็นไปในผู้อื่น ก็ไม่ควรที่จะหลงลืมสติด้วย

    สำหรับตัวอย่างที่ทุกท่านก็ได้ยิน ได้ฟังบ่อย แต่ว่าพอถึงเหตุผลก็สงสัยถ้าขาดการพิจารณา ก็จะขอกล่าวถึงอีกครั้งหนึ่ง

    ในวิสุทธิมรรค สีลนิเทศ อินทริยสังวรศีล เรื่องพระมหาติสสเถระ ที่มีเรื่องเล่าว่า

    หญิงสะใภ้แห่งตระกูลคนใดคนหนึ่ง ทะเลาะกับสามีตกแต่งและประดับกายเสียสวย ราวกะเทพกัญญา ออกจากอนุราธปุระแต่เช้าตรู่ เดินไปสู่เรือนญาติ ในระหว่างทางได้พบพระมหาติสสเถระนั้น ผู้เดินจากเจติยบรรพตมาสู่อนุราธปุระ เพื่อเที่ยวบิณฑบาต หญิงนั้นเกิดมีจิตวิปลาสหัวเราะดังขึ้น ฝ่ายพระเถระแลดูว่า นี่อะไร กลับได้อสุภสัญญาในฟันของหญิงนั้น แล้วได้บรรลุพระอรหันต์ในที่นั้นเอง

    มีกายของใครเป็นอารมณ์ ขณะนั้น ของผู้อื่น กายภายนอก แล้วถ้าพระมหาติสสเถระไม่เคยมีสติระลึกรู้ในขณะที่มีกายของบุคคลอื่นเป็นอารมณ์เลย ถ้าไม่เคยเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ ไม่พิจารณากายของตนที่ปรากฏ หรือว่าเวลาที่จิตมีกายของบุคคลอื่นเป็นอารมณ์ แล้วก็สติไม่ระลึกรู้สภาพที่ปรากฏตามความเป็นจริงบ่อยๆ เนืองๆ แล้ว พระมหาติสสเถระในขณะนั้นจะสามารถบรรลุอรหันต์ณที่นั้นได้ไหม ไม่ได้ ก็ไม่เคยพิจารณาลักษณะสภาพธรรม แม้แต่ว่ามีกายของคนอื่นเป็นอารมณ์อยู่ก็ไม่เคยระลึกรู้ แต่ว่าผู้ที่เจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ เข้าใจเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน มีความละเอียด และก็รู้ว่าที่ทรงแสดงไว้ก็เพื่อไม่ให้เป็นผู้หลงลืมสติ ไม่ว่าจะระลึกรู้ที่กายตนหรือว่าระลึกคนอื่น ปัญญาที่ได้อบรมเนืองๆ บ่อยๆ ก็สามารถที่จะรู้ชัด ละความไม่รู้ ละกิเลส บรรลุได้แม้ความเป็นพระอรหันต์ ณ ที่นั้นเอง เพราะมีกายของบุคคลอื่นเป็นอารมณ์ อย่างนี้ยังจะมีข้อสงสัยไหมในเรื่องว่ากายของคนอื่นจะมาเป็นสติปัฏฐานได้อย่างไร ตัวอย่างนี้มีการกล่าวถึงกันบ่อยๆ และก็มีข้อคิดมาก เห็นความเป็นปกติของพระมหาติสสเถระที่บิณฑบาตเข้าไปในเมืองได้ยินเสียงตามปกติ เหลียวไปดูตามปกติ มีกายของบุคคลอื่นเป็นอารมณ์ แต่เพราะท่านเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ เพราะฉะนั้นท่านจึงสามารถที่จะบรรลุอรหันต์ได้ ณ ที่นั้น แต่ถ้าใครคิดว่าไม่ได้


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 9
    5 ต.ค. 2566

    ซีดีแนะนำ