รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 069


    ตอนที่ ๖๙

    ความประชุมรวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อนของรูป ไม่ว่าผู้ใดที่เห็นก็ทำให้เกิดฆนสัญญา มีฆนบัญญัติหมายรู้ลักษณะของสิ่งนั้นเกิดขึ้นในใจโดยไม่ต้องรู้อรรถบัญญัติ ไม่ต้องรู้ชื่อ แต่มีแล้ว สิ่งที่เป็นวัตถุประชุมรวมกัน การยึดถือว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดมีแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเด็กอายุเท่าไหร่ ก็เกิดขึ้นเป็น ทิฏฐิคตสัมปยุตต์ อสังขาริก

    เมื่อมีอวิชชาทำให้มีการเกิดขึ้น มีกิเลสทำให้มีการเกิดขึ้นแล้วล่ะก็ จะมีความเห็นผิดในสภาพธรรมติดตามมา เพราะว่ามีความไม่รู้ในสภาพที่แท้จริงของสภาพธรรม เหมือนกันทั้งนั้นไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ ถึงไม่รู้ว่าเรียกอะไรแต่ฆนสัญญาเหมือนกัน ฆนบัญญัติที่อยู่ในใจเหมือนกัน เพียงแต่ไม่รู้อรรถบัญญัติคือไม่รู้ชื่อของสิ่งนั้นเท่านั้น

    การที่นามรูปติดรวมกันแน่นหมดทั้ง ๖ ทาง แม้แต่ทางตาเห็น แล้วที่จะระลึกรู้ว่า เฉพาะเห็นก็เป็นเพียงสภาพรู้ และสิ่งที่ปรากฏที่เป็นรูปอารมณ์นั้นก็คือสิ่งที่ปรากฏทางตา และการรู้ความหมายทางใจสติก็จะต้องระลึกรู้มากขึ้น แต่ว่ากว่าจะขัดลอกสักกายทิฏฐิ ความเห็นผิด การไม่รู้ลักษณะของนามของรูป ก็ไม่ทราบว่าหนาแน่นสักเท่าไหร่ ต้องอาศัยการเจริญสติจริงๆ จึงจะละได้ และที่ละได้นั้นก็เพราะรู้ชัดและรู้ทั่วจริงๆ

    ผู้ฟัง เณรอายุ ๗ ขวบ สามารถที่จะบรรลุอรหันต์ได้เพราะอะไร

    ท่านอาจารย์ ฟังธรรมหรือเปล่า หรือว่าบรรลุเอง แน่นอนที่สุด เอกายโน มัคโค การเจริญสติปัฏฐานเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ ถ้าสติไม่ระลึกปัญญาไม่รู้ชัดถูกต้องตามความเป็นจริงว่า เป็นแต่เพียงนามเป็นแต่เพียงรูป อะไรจะไปละการเห็นผิดได้

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะบรรลุอริยสัจธรรม มีวัยที่ฟังรู้เรื่อง เข้าใจ แล้วก็มีอินทรีย์ที่ได้สะสมมาที่ว่า เมื่อระลึกรู้ลักษณะของนามหรือรูป ปัญญาก็รู้ชัดแทงตลอด ตัดเยื่อใยที่เคยยึดถือสภาพที่เกิดดับสืบต่อกันว่าเป็นตัวตนได้

    ต่อไปก็เป็นโลภมูลดวงที่ ๒

    ดวงที่ ๒ คือ โสมนสฺสสหคตํ ทิฏฺฐิคตสมฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ เกิดพร้อมกับความเห็นผิด เวทนาที่เกิดร่วมด้วยเป็นโสมนัส ไม่ใช่จิตที่มีกำลังกล้าต้องอาศัยการชักจูง อาศัยการฟังจากบุคคลอื่น ต้องอาศัยการใคร่ครวญลังเล จึงเป็นสสังขาริก

    เมื่อเกิดมามีความไม่รู้ในลักษณะของนามของรูป มีสักกายทิฏฐิ มีฆนสัญญาเกิดขึ้นเวลาที่เห็นสิ่งที่ประชุมรวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อนก็มีการยึดถือเป็นอสังขาริกแล้ว แต่ก็ยังมีคำสอนที่ได้ยินได้ฟังในเรื่องของตัวตนหนักแน่นขึ้นอีก ไม่มีการเกิดขึ้น ไม่มีการดับไป ถึงแม้ว่าจะตายแล้วจากโลกนี้แต่อัตตาก็ยังอยู่ นี่เป็นสภาพของความเห็นผิดซึ่งอาศัยการชักจูงของบุคคลอื่น การได้ยินได้ฟังบ่อยๆ และขาดการพิจารณาอย่างถูกต้อง ก็ทำให้ยึดมั่นเชื่อถือในสิ่งที่ไม่ใช่ความจริงได้ ซึ่งก็เป็นโสมนสฺสสหคตํ ทิฏฺฐิคตสมฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ

    ความเชื่อเรื่องรูปนั่ง จะเป็นทิฏฐิคตสัมปยุตต์ สสังขาริกได้ไหม

    เวลาที่สติระลึกรู้ลักษณะของรูป ก็จะต้องรู้ถูกต้องตามความเป็นจริง สิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นรูปชนิดหนึ่ง สิ่งที่ปรากฏทางหูก็เป็นลักษณะของรูปชนิดหนึ่ง สิ่งที่ปรากฏทางจมูกก็เป็นรูปชนิดหนึ่ง คือกลิ่น สิ่งที่ปรากฏทางลิ้นก็เป็นรูปชนิดหนึ่ง คือรส สิ่งที่ปรากฏทางกายก็เป็นรูปเย็น รูปร้อน รูปอ่อน รูปแข็ง รูปตึง รูปไหว ถ้าผู้หนึ่งผู้ใดเกิดไปเพ่งจ้อง ให้เกิดเป็นท่าทางขึ้นมา แล้วก็คิดว่าท่าทางอันนั้นเป็นรูป ถ้าท่านยังคงติดอยู่ ไม่ทิ้งไป ยังมีเยื่อใยที่จะพิจารณาอยู่ ท่านจะไม่พิจารณารูปสีที่กำลังปรากฏทางตาตามปกติ จะไม่พิจารณารูปเสียงที่กำลังปรากฏ จะไม่พิจารณารูปกลิ่นที่กำลังปรากฏ จะไม่พิจารณารูปรสที่กำลังปรากฏ จะไม่พิจารณาเย็นร้อนอ่อนแข็งที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของกายที่ปรากฏ เพราะเหตุว่ารูปใดเกิดปรากฏที่ใดก็มีปัจจัยที่นั่น และรูปนั้นเกิดขึ้นปรากฏแล้วก็ดับไป นี่คือรู้รูปถูกต้องตามความเป็นจริง แต่ถ้ายังมีทิฏฐิคตสัมปยุตต์ยึดรูปอื่นซึ่งไม่ใช่รูปปรมัตถ์ ไม่มีลักษณะจริงๆ ที่จะปรากฏให้ท่านรู้ชัด ให้ละให้คลายได้แล้วล่ะก็ ท่านก็จะไม่สามารถรู้นามธรรมและรูปธรรมตามความเป็นจริงได้ เพราะฉะนั้นท่านจะหมดโลภมูลจิตที่เป็นทิฏฐิคตสัมปยุตต์ สสังขาริก หรือ อสังขาริกไม่ได้

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่เจริญสติเป็นผู้ที่พิจารณาใคร่ครวญ ฟัง เทียบเคียง สอบทาน แม้ในขณะที่สติเกิด ถ้ามีลักษณะปรากฏ ก็เป็นรูปปรมัตถ์ แต่ถ้าไม่มีลักษณะปรากฏ ก็ไม่ใช่รูปปรมัตถ์ แต่เป็นสิ่งที่ท่านมีสัญญาจำยึดโยงรูปนั้นไว้ ที่จะหมดทิฏฐิคตสัมปยุตต์ เป็นไปไม่ได้เลย

    โลภมูลจิตดวงที่ ๓ โสมนสฺสสหคตํ ทิฏฺฐิคตวิปฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกกํ ไม่ใช่แต่เฉพาะปุถุชนเท่านั้นที่มีโลภทิฏฐิคตวิปยุตต์ แม้พระอริยบุคคลที่มิใช่พระอรหันต์ก็มีโลภทิฏฐิคตวิปยุตต์ด้วย

    แต่เมื่อพูดถึงอนุสัยกิเลสแล้วต่างกันมาก สภาพลักษณะของจิตที่เกิดเป็นโลภทิฏฐิวิปปยุตต์เหมือนกัน เชื้อของความพอใจมีมากมายพร้อมที่จะไหลไปสู่สิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ อย่างได้ยินเสียงนิดเดียวไม่รู้เลยว่าเสียงอะไร แต่ถ้าเป็นเสียงที่น่าฟัง ความพอใจยินดีก็มีในเสียงนั้น ทางตาก็เหมือนกัน ทางหูก็เหมือนกัน ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจก็เหมือนกัน นี่ก็เป็นลักษณะของโลภมูลจิตที่เป็นทิฏฐิคตวิปปยุตต์ อาจจะเกิดร่วมกับโสมนัสก็ได้ เป็นอสังขาริกก็ได้ นี่เป็นโลภมูลจิตดวงที่ ๓

    ในขณะที่มีความยินดีความพอใจเกิดขึ้น แต่ไม่ได้เกิดร่วมกับความเห็นผิด ในขณะนั้นก็เป็นโลภทิฏฐิคตวิปปยุตต์

    สิ่งที่ทำให้เห็นชัด คือ เทียบเคียงกับพระอริยเจ้า อย่างพระโสดาบันบุคคล มีโลภมูลจิตแต่ไม่มีทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ไม่มีความเห็นผิดใดๆ เกิดร่วมด้วย แต่ก็ยังเป็นสภาพของความพอใจ ความต้องการ ความชอบ ความยินดีในสิ่งที่เห็นทางตา ในเสียงที่ได้ยินทางหู

    พระโสดาบันไม่รู้หรือว่าเป็นเก้าอี้ พระโสดาบันรู้ แต่ท่านไม่มีสักกายทิฏฐิไม่มีความเห็นผิดใดๆ เลยนับตั้งแต่โสดาปัตติมรรคเกิดขึ้น เพราะเหตุว่า ท่านเจริญปัญญารู้ชัดในลักษณะของนามของรูป ท่านรู้ว่าการรู้ความหมายนั้นก็เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง ไม่มีความเคลือบแคลงสงสัยใดๆ ทั้งสิ้น และไม่มี โลภทิฏฐิคตสัมปยุตต์เลย การเห็นของท่านก็เหมือนกับการเห็นของบุคคลอื่น ต่างกันที่อนุสัยกิเลส ทิฏฐานุสัยไม่มี วิจิกิจฉานุสัยไม่มี เพราะท่านเจริญสติแล้วท่านรู้ชัด ท่านรู้ความหมายของสิ่งที่เห็นเป็นปกติ แต่ท่านละทิฏฐิทั้งหมดไม่เกิดอีกเลยตั้งแต่ท่านเป็นพระอริยบุคคล แต่ยังมีความพอใจ มีความต้องการเกิดขึ้นได้ ยังพอใจในสีสันวัณณะของสิ่งนั้นสิ่งนี้ ของวัตถุสิ่งนั้นสิ่งนี้ แต่ไม่ใช่เพราะไม่รู้ว่า นามทางตาเป็นอย่างไร รูปที่ปรากฏทางตาเป็นอย่างไร แล้วที่รู้ความหมายนั้นที่ชอบที่ไม่ชอบนั่นก็เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง

    ดวงที่ ๔ โสมนสฺสสหคตํ ทิฏฺฐิคตวิปฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ เป็นความยินดีพอใจที่ไม่เกิดกับความเห็นผิด แต่ไม่มีกำลังแรง

    สำหรับโลภมูลจิตอีก ๔ ดวง ก็โดยนัยเดียวกัน แต่ว่าเกิดพร้อมกับความรู้สึกปานกลางที่เป็นอุเบกขา ไม่ได้เป็นโสมนัสเวทนาเท่านั้นเอง ส่วนเรื่องของทิฏฐิคตสัมปยุตต์ วิปปยุตต์ อสังขาริก สสังขาริก ก็โดยนัยเดียวกัน

    จิตมีราคะ คือ สราคจิต เป็นสิ่งที่สติระลึกรู้ได้ โดยปรมัตถธรรมก็ได้แก่โลภมูลจิต ๘ ประเภท หรือ ๘ ดวงนั่นเอง ส่วนการที่ท่านผู้หนึ่งผู้ใดระลึกแล้วจะรู้ว่าเป็นประเภทไหน มีความต่างกันมากน้อยอย่างไรกับดวงอื่น ก็ต้องแล้วแต่ความสามารถของแต่ละบุคคล

    สำหรับสักกายทิฏฐิ สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค นกุลปิตาสูตร มีข้อความว่า

    พระผู้มีพระภาคประทับที่เภสกฬาวัน ใกล้เมืองสุงสุมารคิระในภัคคชนบท คฤหบดีชื่อนกุลบิดาได้เข้าไปเฝ้า แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ท่านเป็นผู้ที่แก่เฒ่า ขอให้พระผู้มีพระภาคโปรดสั่งสอน พร่ำสอนด้วยธรรมที่เป็นประโยชน์

    ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ตรัสว่า กายนี้กระสับกระส่ายเป็นดังว่าฟองไข่ อันผิว หนังหุ้มไว้

    ที่นั่ง นอน ยืน เดินกันอยู่นี่ ดูเหมือนกับมีความมั่นคงมาก แต่ความจริงแล้วทรงอุปมาว่า เป็นดังฟองไข่อันผิวหนังหุ้มไว้ คือ พร้อมที่จะแตกกระจัดกระจายออกเมื่อไรก็ได้ พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

    เพราะเหตุนั้นแหละ ท่านพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เมื่อเรามีกายกระสับกระส่ายอยู่ จิตของเราจักไม่กระสับกระส่าย

    ซึ่งเมื่อนกุลบิดาคฤหบดีได้ฟังแล้วก็มีจิตชื่นชม แล้วได้ไปหาท่านพระสารีบุตร ซึ่งเมื่อนกุลบิดาได้ไปหาท่านพระสารีบุตร แล้วได้เล่าให้ฟังถึงข้อความที่ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค และพระดำรัสของพระองค์ที่ประทานโอวาทแล้ว

    ท่านพระสารีบุตรก็ได้ถามคฤหบดีต่อไปว่า

    ด้วยเหตุเท่าไร บุคคลจึงชื่อว่า เป็นผู้มีกายกระสับกระส่าย และเป็นผู้มีจิตกระสับกระส่าย แล้วด้วยเหตุเท่าไร บุคคลแม้เป็นผู้มีกายกระสับกระส่าย แต่หาเป็นผู้มีจิตกระสับกระส่ายไม่

    มีบุคคลต่างกันเป็น ๒ จำพวก คือ เป็นผู้ที่มีกายกระสับกระส่ายทั้ง ๒ บุคคลเมื่อมีกายแล้วที่จะไม่กระสับกระส่ายไปด้วยความทุกข์ของธาตุที่มีอยู่ที่กาย ดิน น้ำ ไฟ ลมนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่ถึงแม้ว่าจะมีกายกระสับกระส่าย แต่ว่าผู้หนึ่งทั้งกายก็กระสับกระส่ายและจิตก็กระสับกระส่าย ส่วนอีกบุคคลหนึ่งนั้นถึงแม้ว่ากายจะกระสับกระส่าย แต่จิตก็หาได้กระสับกระส่ายไม่ เพราะฉะนั้น ท่านพระสารีบุตรก็ถามคฤหบดีว่า

    ด้วยเหตุเท่าไร บุคคลจึงชื่อว่าเป็นผู้มีกายกระสับกระส่าย และเป็นผู้มีจิตกระสับกระส่าย แล้วด้วยเหตุเท่าไร บุคคลแม้เป็นผู้มีกายกระสับกระส่าย แต่หาเป็นผู้มีจิตกระสับกระส่ายไม่

    ซึ่งนกุลบิดาคฤหบดีก็ไม่ได้ตอบ เพียงแต่ขอให้ท่านพระสารีบุตรแสดง ธรรมให้ท่านฟัง เพื่อความชัดเจนแจ่มแจ้ง ซึ่งท่านพระสารีบุตรก็ได้แสดงธรรมกับนกุลบิดาคฤหบดี มีข้อความว่า

    ที่กายกระสับกระส่าย และจิตกระสับกระส่ายด้วยนั้น ก็เพราะสักกายทิฏฐิยังมีอยู่ แต่ที่ถึงแม้ว่ากายกระสับกระส่ายแต่จิตก็ไม่กระสับกระส่าย ก็เพราะหมดสักกายทิฏฐิแล้ว


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 9
    8 ต.ค. 2566

    ซีดีแนะนำ