บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 08


    ไม่มีใครรู้ว่าจะมีอะไรเกิดกับรูปนี้บ้าง แต่ถ้ามีเหตุที่จะให้ได้รับทุกข์ทรมานต่างๆ ซึ่งเป็นผลของอกุศลกรรม รูปก็เป็นเหตุ เป็นปัจจัย เป็นการณะที่จะทำให้ได้รับทุกขเวทนาต่างๆ เหล่านั้น

    ข้อต่อไปมีว่า

    อีกอย่างหนึ่ง เมื่อจักษุเสื่อม เสีย เสื่อมไปรอบ เป็นไปต่างๆ ปราศไป อันตรธานไป ชนทั้งหลายก็เดือดร้อน ฯลฯ

    ทุกคนที่มีตาก็จะต้องมีโรคของตา เมื่อถึงกาลที่จะมีโรคตา เช่น อาจจะเป็น ต้อเนื้อ หรือต้อกระจกก็ตามแต่ ชนทั้งหลายก็เดือดร้อน นี่เรื่องตา

    เมื่อหู จมูก ลิ้น กาย ฯลฯ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

    นอกจากนั้น ความเดือดร้อนก็ยังเกิดจาก

    สกุล คณะ อาวาส ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร เสื่อมเสีย เสื่อมไปรอบ เป็นไปต่างๆ ปราศไป อันตรธานไป ชนทั้งหลายก็เดือดร้อน ฯลฯ

    ทุกข์นี้มากมายเหลือเกิน เมื่อเกิดมาแล้วที่จะเป็นผู้ไม่มีความกังวลใจหรือ ไม่มีความรำคาญใจ เป็นสิ่งที่ยากจะเป็นไปได้

    เพราะเหตุอย่างนี้ ดังนี้ จึงชื่อว่าย่อมเดือดร้อนในเพราะรูปทั้งหลาย

    เพราะฉะนั้น จงละความพอใจในรูป เพื่อที่จะดับรูปในชาตินี้ และสำหรับท่านปิงคิยะก็ได้บรรลุเป็นพระอริยบุคคลในขณะที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมจบ

    ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า แม้ท่านเป็นผู้ที่สะสมบารมีมาแล้วในการฟังพระธรรม ก็ยังต้องมีวิริยบารมี ขันติบารมีด้วย เพราะว่าการที่ปัญญาจะค่อยๆ เจริญขึ้นนั้นเป็นไปโดยไม่ง่ายเลย การฟังก็ต้องอาศัยสัจจบารมี และอธิษฐานบารมี ไม่ว่าเหตุการณ์จะเป็นอย่างไรก็ไม่หวั่นไหวที่จะฟัง เพราะว่าบางท่าน อย่างรายการวิทยุ มี ๒ เวลา คือ ๖ โมงเช้า กับ ๓ ทุ่ม บางท่านก็ตื่นสาย เพราะท่านอาจจะเห็นว่า ท่านฟังมาแล้วอย่างหนึ่ง หรือท่านฟังเฉพาะตอนกลางคืนก็พอ ก็เห็นได้ว่าวิริยบารมี มีไหม แต่ถ้าท่านเคยฟังเวลา ๓ ทุ่ม ๖ โมงเช้าไม่ฟัง และรู้ว่าการที่ปัญญาจะเจริญขึ้น วันหนึ่งเพียงฟังครั้งเดียวแค่ ๓๐ นาทีไม่พอ ควรที่จะได้ฟังมากกว่านั้นเมื่อมีโอกาส ก็จะเป็นปัจจัยทำให้วิริยบารมีเกิด คือ ตื่นเช้าขึ้น เพื่อที่จะได้ฟังธรรมอีกครึ่งชั่วโมง ในวันหนึ่ง

    หรือบางท่านที่ท่านอาจจะฟังตอนเช้า แต่ตอนกลางคืนมีรายการเพลิดเพลินต่างๆ ที่สนุก เพราะฉะนั้น ท่านก็คิดว่า ท่านฟังตอนเช้าแล้ว ตอนกลางคืนก็ ไม่ต้องฟัง นี่แสดงให้เห็นว่า วิริยบารมีเป็นสิ่งซึ่งจะต้องเจริญขึ้น เพื่อความเป็น ผู้ไม่ประมาท และยังต้องมีขันติบารมี และอธิษฐานบารมีอื่นๆ ด้วย

    ผู้ฟัง การให้ทานโดยที่ผู้นั้นไม่ได้ปรารถนาให้ได้ขึ้นสวรรค์ หรือให้มีรูปงาม แต่ให้ทานโดยมีความกรุณา ถือว่าเป็นบารมีหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ บารมีทั้งหมดต้องเป็นไปกับปัญญา หมายความว่าผู้นั้นไม่ได้ต้องการผลอื่นเลย นอกจากการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ใครก็ตามที่ให้ทาน แต่ไม่มีความปรารถนาที่จะถึงพระนิพพาน หรือดับกิเลส ทานนั้นไม่เป็นบารมี

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า การให้ทานมีอยู่มากในโลกนี้ และผู้ให้ย่อมรู้ว่า ให้เพื่ออะไร ถ้าไม่มีความเข้าใจในเรื่องการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม การอบรมเจริญปัญญา ผู้นั้นก็เพียงแต่ให้ หรืออาจจะเป็นผู้ที่หวังผลจากการให้ แล้วแต่ว่าจะหวังอะไร แต่ผู้ที่ รู้เรื่องของสภาพธรรม รู้ว่าไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน รู้ว่าชีวิตในวันหนึ่งๆ มีปัญหามากทุกชาติที่เกิด คนที่เกิดมาแล้วที่จะไม่มีปัญหานั้น ไม่มีเลย ไม่ว่าจะเป็นชาติหนึ่งชาติใด ก็แล้วแต่ว่าจะเป็นปัญหาประเภทใด เมื่อเห็นว่าวันหนึ่งๆ ที่เกิดมา มีแต่สภาพธรรมที่ปรากฏ ชาติแล้วชาติเล่า คือ สิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นแต่เพียง สิ่งที่เพียงปรากฏชั่วขณะและก็ดับ เสียงที่ปรากฏทางหูก็เป็นแต่เพียงสภาพธรรม อย่างหนึ่งซึ่งปรากฏและก็ดับ เพราะฉะนั้น ทุกขณะก็เป็นสภาพที่ว่างเปล่าจากสาระ จากความเที่ยง จากความสุข และจากความเป็นตัวตน

    ถ้าเข้าใจอย่างนี้จริงๆ แล้ว จะมีความเห็นว่า เมื่อไหร่จะจบ คือ ดับหมดสิ้น ไม่ต้องมีทุกข์ คือ ไม่ต้องมีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น และปัญหาต่างๆ เพราะว่าคนที่จะไม่ประสบกับปัญหาไม่มี และสภาพธรรมที่ปรากฏในชาติก่อน หรือในชาตินี้ หรือในชาติต่อไป ทางตาก็เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่ปรากฏให้เห็น เสียงก็ปรากฏทางหูให้ได้ยิน แต่เรื่องราวต่างๆ ของชาติหนึ่งๆ ก็เปลี่ยนไป ทั้งๆ ที่ สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่เปลี่ยนสภาพ คือ สิ่งที่ปรากฏทางตาที่กำลังปรากฏในขณะนี้ โดยสภาวะที่แท้จริงแล้วหาความเป็นสัตว์ เป็นบุคคลในสิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ได้ แต่ความนึกคิดเรื่องสิ่งที่ปรากฏทางตาแต่ละชาติเปลี่ยนไปตามเหตุการณ์ เพราะฉะนั้น ก็ทำให้เกิดสุข เกิดทุกข์ต่างๆ ไม่รู้จบ

    เมื่อเข้าใจอย่างนี้จริงๆ ก็จะรู้ว่า การรู้แจ้งอริยสัจจธรรม เป็นการที่จะต้องอบรมเจริญกุศลเพื่อดับกิเลสทั้งหมดเป็นสมุจเฉท เพราะว่าเมื่อเป็นพระโสดาบันแล้ว อีกเพียง ๗ ชาติก็จะเป็นพระอรหันต์ เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่มีสติปัญญาอย่างละเอียดในวันหนึ่งๆ ย่อมจะเห็นว่า กิเลสมีมาก และกิเลสก็นานาชนิดทั้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตลอดมาจนกระทั่งถึงในขณะนี้ ตั้งแต่เช้ามา และจะดับหมดไม่มีกิเลส เหลือเลย ย่อมไม่ง่าย ยากแสนยากทีเดียว เพราะฉะนั้น ก็จะต้องอบรมเจริญกุศล ทุกประการที่เป็นบารมี เพื่อที่จะสามารถดับกิเลสได้ ถ้าเป็นผู้ที่มีปัญญาอย่างนี้ ในขณะที่ให้ทานก็ไม่ได้มุ่งหวังสิ่งอื่น นอกจากการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม เพื่อดับกิเลสเป็นสมุจเฉท

    บารมีหรือไม่บารมี เป็นเรื่องเฉพาะตัวซึ่งแต่ละท่านย่อมทราบ แต่ถ้าผู้นั้น ไม่มีปัญญา ไม่รู้เรื่องการที่จะดับกิเลส ทานของบุคคลนั้นก็ไม่เป็นบารมี แต่สำหรับผู้ที่ฟังพระธรรมแล้ว และเห็นกิเลสแล้ว ก็ยังขึ้นอยู่กับว่า ในขณะนั้นปัญญามีกำลังพอหรือไม่ เพราะบางคนที่เริ่มฟังใหม่ๆ ก็บอกว่า ยังไม่ต้องการถึงนิพพาน ยังไม่ต้องการเหลือการเกิดอีกเพียง ๗ ชาติ เพราะรู้สึกว่า ๗ ชาตินั้นน้อยไป ยังอยาก จะมีมากกว่า ๗ ชาติ นี่ก็เป็นไปได้

    แสดงให้เห็นว่า ปัญญาขั้นการฟังเป็นปัญญาที่มีกำลังอ่อน แม้ได้ยินได้ฟังว่า ไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล แต่เมื่อยังไม่ประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ ก็ยังดับกิเลสไม่ได้ ยังมีความยึดถือสภาพธรรมที่ปรากฏ และยังคงต้องการที่จะมี ขันธ์ ๕ เพราะฉะนั้น ต้องเป็นไปตามระดับขั้นของปัญญา ถ้าปัญญาไม่เห็นประโยชน์ของการบำเพ็ญบารมีจริงๆ บารมีทั้งหลายก็เจริญไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมบารมี หรือบารมีอื่นๆ

    บางท่านอาจจะยังไม่ได้พิจารณาว่า กิเลสและทุกข์ทั้งหมดที่เกิดมาในชาตินี้ อยู่ที่อัตภาพ คือ นามธรรมและรูปธรรมที่ยึดถือว่าเป็นเรา หรือว่าเป็นตัวตนนั่นเองเพราะฉะนั้น การที่จะดับทุกข์จริงๆ ก็คือ นามธรรมและรูปธรรมต้องไม่เกิดอีก

    ขุททกนิกาย มหานิทเทส อัตตทัณฑสุตตนิทเทสที่ ๑๕ ข้อ ๘๒๖ มีข้อความว่า

    คำว่า นรชนพึงเป็นผู้มีใจน้อมไปในนิพพาน ความว่า นรชนบางคนในโลกนี้ให้ทาน สมาทานศีล รักษาอุโบสถกรรม เข้าไปตั้งไว้ซึ่งน้ำดื่มน้ำใช้ กวาดบริเวณ ไหว้พระเจดีย์ บูชาด้วยเครื่องหอมและดอกไม้ที่พระเจดีย์ ทำประทักษิณพระเจดีย์ บำเพ็ญกุศลที่ควรบำเพ็ญอย่างใดอย่างหนึ่งอันเป็นไตรธาตุ ก็ไม่บำเพ็ญเพราะ เหตุแห่งคติ ไม่บำเพ็ญเพราะเหตุแห่งอุปบัติ ไม่บำเพ็ญเพราะเหตุแห่งปฏิสนธิ ไม่บำเพ็ญเพราะเหตุแห่งภพ ไม่บำเพ็ญเพราะเหตุแห่งสังสาระ ไม่บำเพ็ญเพราะเหตุแห่งวัฏฏะ เป็นผู้มีความประสงค์ในอันพรากออกจากทุกข์ มีใจน้อมโน้มโอนไป ในนิพพาน ย่อมบำเพ็ญกุศลทั้งปวงนั้น แม้เพราะเหตุอย่างนี้ ดังนี้ จึงชื่อว่า นรชนพึงเป็นผู้มีใจน้อมไปในนิพพาน

    ใครที่คิดน้อมไปในนิพพานแล้ว ต้องเป็นผู้ที่จริงใจ ชีวิตวันหนึ่งๆ ก็สุขสบาย รื่นเริง และก็มีสิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ น้อมไปในนิพพานหรือยัง

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า นรชนบางคนในโลกนี้ให้ทาน ก็เป็นปกติของโลก สมาทานศีล บางท่านก็รักษาอุโบสถกรรม บางท่านก็เจริญกุศลโดยตั้งน้ำดื่มน้ำใช้ หรือกวาดบริเวณ ไหว้พระเจดีย์ บำเพ็ญกุศลที่ควรบำเพ็ญอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าเป็น ผู้ที่ไม่บำเพ็ญเพราะเหตุแห่งคติ เพราะเหตุแห่งภพ เพราะเหตุแห่งสังสาระ เพราะเหตุแห่งวัฏฏะ มีความประสงค์ในอันพรากออกจากทุกข์ แต่ไม่ใช่เพื่อหวังแต่ว่าจะหมดทุกข์ที่ประสบกับสิ่งที่ไม่ต้องการ คือ ใครก็ตามที่กำลังมีทุกข์ก็อยากจะ หมดทุกข์เท่านั้นเอง นั่นไม่พอ ทุกข์ในที่นี้ต้องหมายความว่า มีความประสงค์ใน อันพรากออกจากทุกข์ คือ โน้มไป น้อมไปในนิพพาน ซึ่งต้องอาศัยการฟังพระธรรม และเห็นโทษของอกุศลจริงๆ เห็นโทษทุกข์ภัยของชาติ การเกิดขึ้นของนามธรรมและรูปธรรม และยังต้องเห็นประโยชน์ของการบำเพ็ญกุศล ซึ่งไม่ใช่ง่าย เพราะว่า ส่วนใหญ่แล้วมีอกุศลที่สะสมมาเป็นปัจจัยให้อกุศลธรรมเกิด

    เรื่องของการบำเพ็ญบารมี เป็นเรื่องที่ทุกท่านควรจะเริ่มคิดได้แล้วว่า ชีวิตประจำวันกุศลเกิดน้อยหรือมาก และกุศลนั้นเพิ่มความมั่นคงที่จะให้เป็นบารมี ขึ้นบ้างหรือยัง ซึ่งแต่ก่อนนี้อาจจะทำกุศลไปเรื่อยๆ แต่เมื่อได้ฟังเรื่องของการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมที่จะต้องอาศัยบารมีต่างๆ ก็เพิ่มความจริงใจ ความมั่นคงไม่หวั่นไหวในการเจริญกุศลยิ่งขึ้น

    มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่งปรารภถึงการเจริญบารมีว่า เป็นสิ่งที่แม้รู้ก็ทำไม่ได้ง่าย เช่น เรื่องของการไปเที่ยวสนุกๆ หรือการจะไปฟังธรรม นี่ก็เป็นปัญหาประจำวันสำหรับทุกคนที่ยังคงมีโลภะ มีความติดข้องในความเพลิดเพลิน เพราะฉะนั้น ระหว่างการไปเที่ยวกับการฟังพระธรรมจะเลือกอย่างไหน ทั้งๆ ที่รู้เรื่องบารมี นี่เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ซึ่งท่านผู้นั้นก็พิจารณาไตร่ตรองกำลังของท่านว่า ถ้าการไป เที่ยวนั้นเป็นแต่เพียงการไปซื้อของตามสถานที่ต่างๆ กับการมาฟังพระธรรม ท่านก็เลือกมาฟังพระธรรม แต่ถ้าการไปเที่ยวนั้น ไปเที่ยวในที่ที่ท่านยังไม่เคยไป และมีสิ่งที่น่ารู้น่าชมมาก ท่านก็ขอเลือกไปเที่ยวก่อน และงดการฟังพระธรรมในวันนั้น

    นี่เป็นชีวิตจริงๆ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า กว่าจะบรรลุถึงการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมจะต้องมีการอบรมเจริญบารมี ไม่ใช่แต่เฉพาะทาน ไม่ใช่แต่เฉพาะศีล เพราะว่า ท่านผู้นั้นก็เป็นผู้ที่สละวัตถุเพื่อเป็นทานไม่ยาก และปกติท่านก็เป็นผู้ที่มีศีล แต่ว่าเนกขัมมะ การออกจากความติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ จะเห็นได้ว่า ต้องอาศัยวิริยบารมีและขันติบารมีด้วย คือ ต้องเป็นผู้ที่อดทน ไม่หวั่นไหวในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะทั้งที่น่าปรารถนาและไม่น่าปรารถนาด้วย เพราะฉะนั้น ถ้ามีกำลังที่จะมาฟังพระธรรม ก็หมายความว่าขณะนั้นเป็นขณะที่ กุศลสะสมกำลังขึ้น แต่ไม่ใช่ว่าจะเป็นได้บ่อย บางครั้งก็ได้ บางครั้งก็ไม่ได้ นี่คือชีวิตตามความเป็นจริง

    อีกท่านหนึ่ง ท่านเป็นผู้ละเอียดที่จะรู้ว่า ท่านต้องเริ่มบำเพ็ญบารมีทั้งหลาย โดยการที่จะต้องพิจารณารู้ว่า ถ้าขณะใดจิตเป็นอกุศล ขณะนั้นก็ควรที่จะเห็นโทษ และเจริญกุศล เพราะฉะนั้น ท่านก็แสร้งทำความดี ทางกาย ทางวาจา

    ที่ท่านใช้คำว่า แสร้งทำความดี หมายความว่า ท่านรู้ว่าขณะนั้นยังไม่ใช่กุศลที่มีกำลังจริงๆ แต่ท่านก็มีวิริยะอุตสาหะที่จะทำความดี แม้ว่าเป็นเพียงการฝืนที่จะทำในระยะแรก ซึ่งท่านก็เป็นผู้ที่รู้จักตัวเองตามความเป็นจริง และรู้ว่า เมื่อฝืนทำไปบ่อยๆ ในที่สุดก็จะชิน และการฝืนทำนั้นจะหายไปจนกระทั่ง เป็นการกระทำกุศลด้วยความจริงใจ ไม่ต้องฝืนอีกต่อไป

    เพราะฉะนั้น ใจใครก็คนนั้นที่จะรู้ดีเรื่องของการขัดเกลากิเลสของตนเอง ซึ่ง จะเห็นได้ว่า ต้องเป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ

    ไม่ทราบท่านผู้ฟังจะมีตัวอย่างของท่านเองที่พอจะให้ท่านผู้อื่นได้รับฟังและ เป็นประโยชน์บ้างไหม ในเรื่องของการบำเพ็ญบารมี ซึ่งผู้ฟังทั้งหลายจะรู้สึกอนุโมทนา จริงๆ ที่ได้ทราบว่า มีผู้ที่พิจารณาจิตใจของตนเองอย่างละเอียด และเป็นจุดเริ่มที่จะขัดเกลากิเลส เพราะว่าขณะนั้นสติเกิดจึงเห็นว่าอกุศลเป็นสิ่งที่ไม่ควรปล่อยให้เจริญขึ้น

    สำหรับผู้ที่ในชีวิตประจำวันไม่ได้แสวงหาปัญญา เพียงแต่แสวงหารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ทรัพย์สมบัติ เพราะว่ายังไม่เห็นประโยชน์ และยังไม่เห็นคุณค่าของปัญญานั่นเอง เพราะฉะนั้น ควรที่จะได้พิจารณาว่า นอกจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งข้อความในพระไตรปิฎกตอนหนึ่งที่ท่านผู้ฟังคงจะได้ยินบ่อยๆ ว่า กามทั้งหลายเปรียบเสมือนของที่ยืมเขามา ท่านกล่าวว่า เหมือนกับบุคคลคนหนึ่ง ซึ่งขอยืมของของคนอื่นมามากมายแล้วก็ใส่รถ และแล่นไปเรื่อยๆ

    นี่คือชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย เหมือนกับรถที่เคลื่อนไปทุกขณะ และสิ่งที่ได้รับ ในชาติหนึ่งๆ ก็เหมือนกับของที่ขอยืมเขามาทั้งหมด เพราะฉะนั้น เวลาที่รถแล่นไป พบเจ้าของของทรัพย์สมบัติที่ขอยืมเขามาคนใด เจ้าของนั้นก็เอาของนั้นคืนไป แสดงให้เห็นว่า ในชีวิตของทุกคนไม่ใช่ว่าจะมีแต่ได้ลาภหรือสมบัติ แต่ต้องมีการ เสียสมบัติ และเสียลาภ เสื่อมลาภด้วย

    ถ้ามีความเข้าใจจริงๆ ว่า ไม่ได้เป็นเจ้าของสิ่งหนึ่งสิ่งใดในโลกเลย ตลอดชาติ เป็นแต่สิ่งที่ขอยืมมาเท่านั้น ในระหว่างที่นั่งรถแล่นไปเรื่อยๆ เมื่อพบปะเจ้าของทรัพย์ผู้ใด เขาก็เอาของนั้นคืนไป ก็จะไม่เดือดร้อนใจ เพราะว่าทุกชาติก็เป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้น เมื่อเป็นอย่างนี้จริงๆ แล้ว สิ่งที่ควรจะแสวงหา คือ ปัญญาที่ทำให้ รู้ความจริงของสภาพธรรมจนกระทั่งสามารถละคลายความติด ซึ่งเป็นเหตุให้เกิด ความทุกข์ได้ ถ้าได้รู้ลักษณะของปัญญาก็จะทำให้แสวงหาปัญญาด้วย ไม่ใช่เพียงแต่แสวงหารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และทรัพย์สมบัติเท่านั้น

    ขุททกนิกาย มหานิทเทส อรรถกถา อัฏฐกวรรค คุหัฏฐกสุตตนิทเทส ที่ ๒ แสดงลักษณะของปัญญาซึ่งตรงกันข้ามกับอวิชชาว่า

    ชื่อว่าปัญญา เพราะอรรถว่า รู้ทั่ว

    รู้ทั่วอะไร รู้ทั่วอริยสัจทั้งหลายโดยนัยว่า นี้ทุกข์ เป็นต้น

    แค่นี้ท่านผู้ฟังก็พอจะพิจารณาได้ว่า ท่านพิจารณาข้อความนี้จนกระทั่งเข้าใจชัดเจนขึ้นหรือยัง

    ชื่อว่าปัญญา เพราะอรรถว่า รู้ทั่ว

    ไม่ใช่รู้เล็กๆ น้อยๆ นิดๆ หน่อยๆ ก็เข้าใจว่ารู้แล้ว หรือว่าเพียงได้ยิน คำหนึ่งคำใดในพระไตรปิฎกก็คิดว่าเข้าใจแล้ว โดยที่ไม่ได้ศึกษาจริงๆ ว่า คำนั้นหมายความถึงอะไร แม้แต่คำว่าปัญญาที่ว่ารู้ทั่ว ก็ยังมีคำอธิบายว่า รู้ทั่วอะไร คือ รู้ทั่วอริยสัจทั้งหลาย โดยนัยว่า นี้ทุกข์ เป็นต้น

    ทุกข์ที่เป็นอริยสัจจะ ไม่ใช่ทุกข์ปัญหาชีวิต ไม่ใช่ทุกข์ความเดือดร้อน ไม่ใช่ทุกข์ความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา เป็นต้น แต่เป็นทุกข์ที่รู้ว่า ไม่มีสิ่งใดเลย ที่เที่ยง เห็นชั่วขณะแล้วก็ดับ ได้ยินชั่วขณะแล้วก็ดับ คิดนึกชั่วขณะแล้วก็ดับ สุขชั่วขณะแล้วก็ดับ ทุกข์ชั่วขณะแล้วก็ดับ จึงรู้ว่า นี้ทุกข์ คือ สิ่งที่เกิดแล้วดับนั่นเองเป็นทุกข์

    ปัญญานั้น ชื่อว่าอินทรีย์ ด้วยอรรถว่า เป็นใหญ่ เพราะครอบงำอวิชชา เสียได้

    แสดงให้เห็นว่า ขณะใดที่ปัญญาไม่เกิด ถูกครอบงำด้วยอวิชชามากมาย สักแค่ไหนในวันหนึ่งๆ เพราะฉะนั้น ลักษณะของปัญญา เป็นสภาพธรรมที่ ตรงกันข้ามกับอวิชชา เพราะว่าครอบงำอวิชชาได้ในขณะที่ปัญญาเกิด

    ก็ปัญญานั้นมีความสว่างเป็นลักษณะ และมีความรู้ทั่วเป็นลักษณะ เหมือนอย่างว่า ในเรือนมีฝา ๔ ด้าน เวลากลางคืน เมื่อจุดประทีป ความมืดย่อมหายไป ความสว่างย่อมปรากฏ ฉันใด ปัญญามีความสว่างเป็นลักษณะก็ฉันนั้น

    กำลังฟังเรื่องของนามธรรมและรูปธรรม กำลังฟังเรื่องเห็นเป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ เป็นลักษณะรู้ ในขณะที่กำลังเห็น สว่างหรือยัง เป็นความสว่าง หรือว่ายังเป็นความมืดอยู่ เพราะฟังแล้วก็เริ่มจะเข้าใจว่า มีสภาพธรรมที่กำลังเห็นในขณะนี้ และสภาพนี้ก็เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ เป็นเพียงลักษณะสภาพธรรมอย่างหนึ่งเท่านั้น แต่ขณะใดที่ยังไม่ประจักษ์ ขณะนั้นจะชื่อว่าสว่างยังไม่ได้ เพราะว่าเพียงเริ่มรู้ เริ่มเข้าใจ แต่สว่าง คือ สามารถประจักษ์ในขณะที่ธาตุรู้ปรากฏทางมโนทวาร ซึ่งไม่มีลักษณะของรูปหนึ่งรูปใดเข้าไปเจือปนในลักษณะอาการของธาตุรู้นั้นเลย นั่นจึงจะเป็นความสว่างที่ว่า ปัญญามีความสว่างเป็นลักษณะก็ฉันนั้น

    ข้อความต่อไป มีอยู่ตอนหนึ่งที่ว่า

    ก็เมื่อผู้มีปัญญานั่งโดยบัลลังก์เดียว หมื่นโลกธาตุย่อมมีแสงสว่าง เป็นอันเดียวกัน

    บางท่านที่ไม่เข้าใจเรื่องความรู้ ก็เข้าใจว่าปัญญามีลักษณะเหมือนรูป ที่ส่องสว่าง แต่ตามความจริงแล้วไม่ใช่ เพราะถ้าเป็นแสงสว่างต้องเป็นรูปธรรม ไม่ใช่นามธรรม ปัญญาเป็นความสว่างที่เป็นนามธรรม เพราะว่าเป็นความรู้ที่ประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่เคยประจักษ์แจ้ง เพียงแต่เคยฟัง เคยเข้าใจ แต่ยังไม่ประจักษ์

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ปัญญาสามารถเจริญขึ้นจนกระทั่งเปรียบเหมือนความสว่าง หรือมีความสว่างเป็นลักษณะ แม้ว่าจะนั่งอยู่ ณ ที่หนึ่งที่ใด หมื่นโลกธาตุย่อมมีแสงสว่างเป็นอันเดียวกัน หมายความว่า ปัญญาแทงตลอดหมดในลักษณะของนามธรรมเมื่อนามธรรมปรากฏ

    นามธรรมในภูมิที่มีขันธ์ ๕ หรือนามธรรมในสวรรค์ หรือนามธรรมของ รูปพรหมบุคคล หรือแม้นามธรรมของอรูปพรหมบุคคล ก็มีลักษณะเดียวกัน คือ เป็นแต่เพียงธาตุรู้ สภาพรู้ ไม่ว่าจะเป็นโลกธาตุกี่โลกธาตุ ถึงหมื่นโลกธาตุใน แสนโกฏิจักรวาล ลักษณะของนามธรรมก็เป็นนามธรรมนั่นเอง เพราะฉะนั้น ขณะที่ปัญญาประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรม หมื่นโลกธาตุย่อมมีแสงสว่าง เป็นอันเดียวกัน คือ ปัญญาสามารถรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใด ก็เป็นสภาพธรรมอย่างนั้น

    บุรุษถือประทีปน้ำมันเข้าไปในเรือนที่มืด ประทีปย่อมกำจัดความมืดให้เกิด แสงสว่าง ทำรูปทั้งหลายให้ปรากฏได้ ฉันใด ปัญญาก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อเกิดขึ้นย่อมกำจัดความมืดคืออวิชชา ให้เกิดแสงสว่างคือวิชชา ส่องแสงแห่งญาณ ทำอริยสัจ ๔ ให้ปรากฏได้ ปัญญามีความสว่างเป็นลักษณะอย่างนี้ทีเดียวแล

    ทุกท่านที่กำลังฟังพระธรรมในขณะนี้ กำลังอบรมปัญญาบารมี พร้อมด้วยวิริยบารมี และขันติบารมี เพื่อที่วันหนึ่งปัญญาที่เป็นความสว่างที่รู้แจ้งสภาพธรรม จะปรากฏ จะเกิดขึ้นได้

    อีกอย่างหนึ่ง เหมือนแพทย์ผู้ฉลาด ย่อมรู้โภชนะเป็นต้นที่เป็นสัปปายะ และไม่เป็นสัปปายะของผู้ป่วยไข้ทั้งหลาย ฉันใด

    นี่เห็นปัญญาในชีวิตประจำวันที่จะต้องอบรมจนกระทั่งแทงตลอดลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ

    ปัญญาก็ฉันนั้น เมื่อเกิดขึ้น ย่อมรู้ทั่วซึ่งธรรมทั้งหลายที่เป็นกุศลและอกุศล ที่ควรเสพและไม่ควรเสพ ที่เลวและประณีต ที่ดำและขาว และมีส่วนเปรียบ สมจริงดังคำที่ท่านพระธรรมเสนาบดีกล่าวไว้ว่า เพราะอรรถว่า ย่อมรู้ทั่ว ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ปัญญารู้ทั่วอะไร รู้ทั่วว่า นี้ทุกข์ ดังนี้

    อีกนัยหนึ่ง ปัญญามีการแทงตลอดตามภาวะเป็นลักษณะ หรือมีการแทงตลอดไม่ผิดพลาดเป็นลักษณะ ดุจการแทงตลอดของลูกธนูของผู้ฉลาด มีความสว่าง ในอารมณ์เป็นรส ดุจประทีป มีความไม่ลุ่มหลงเป็นปัจจุปัฏฐาน (คือ อาการปรากฏ) ดุจคนชำนาญป่าไปป่า ฉะนั้น

    นี่คือลักษณะของปัญญาที่จะเห็นทุกสิ่งทุกอย่างตรงตามความเป็นจริง

    ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า เวลาที่สติปัฏฐานไม่เกิด วันหนึ่งๆ ผ่านไปโดยไม่รู้เลยว่า อกุศลจิตชนิดใดเกิด เป็นโลภะระดับไหน เป็นไปในทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ เพราะว่าทางตาเวลาเห็นสิ่งที่น่าพอใจ ยินดี แต่ทางใจก็ยังคิดเป็นเรื่องเป็นราวต่างๆ ของสิ่งนั้นและก็เกิดความยินดีขึ้น แสดงให้เห็นว่า ในวันหนึ่งๆ ที่อกุศลธรรมเกิดและสติปัฏฐานไม่เกิด ไม่สามารถแยกเห็นชัดจนกระทั่งว่า นี้เป็นความยินดีพอใจทางตา นี้เป็นความยินดีพอใจทางใจ หรือนี้เป็นความยินดีพอใจทางหู นี้เป็นความยินดีพอใจทางใจ เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ ก็ผ่านไปโดยไม่รู้ความจริงของสภาพธรรม

    แต่เมื่อปัญญาเกิดขึ้น ย่อมรู้ทั่วซึ่งสภาพธรรมทั้งหลายที่เป็นกุศลและอกุศล ไม่ต้องถามใครเลยว่าขณะนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล เพราะขณะนั้นปัญญาสามารถ รู้ได้และรู้ว่า เป็นธรรมที่ควรเสพหรือไม่ควรเสพ ถ้าเป็นอกุศล ปัญญารู้ เห็นโทษด้วย และรู้ด้วยว่า ไม่ควรจะให้ธรรมนั้นเจริญขึ้น เพราะฉะนั้น เวลาที่อกุศลจิตเกิด ปัญญารู้ชัดและเห็นโทษ เวลาที่กุศลจิตเกิด ปัญญาก็รู้ชัดและเห็นประโยชน์

    รู้ลักษณะของสภาพธรรม ที่เลวและประณีต ที่ดำและขาว และมีส่วนเปรียบ

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 2
    26 ต.ค. 2566

    ซีดีแนะนำ