บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 22


    การอาบน้ำหาเป็นปฏิปักษ์ต่อบาปเช่นนั้นไม่

    เพราะฉะนั้น จึงควรตกลงในข้อนี้ว่า ความสะอาดย่อมไม่มีเพราะน้ำ

    ก็เพื่อจะแสดงธรรมอันเป็นเหตุทำให้สะอาด จึงกล่าวคำมีอาทิว่า ยมฺหิ สจฺจญฺจ ดังนี้

    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยมฺหิ ได้แก่ ในบุคคลใด

    บทว่า สจฺจํ ได้แก่ วจีสัจจะและวิรัติสัจจะ อีกอย่างหนึ่งบทว่า สจฺจํ ได้แก่ ญาณสัจจะ และปรมัตถสัจจะ

    บทว่า ธมฺโม ได้แก่ ธรรมคืออริยมรรค และธรรมคือผลจิต ธรรมทั้งหมดนั้น ย่อมได้ในบุคคลใด บุคคลนั้นคือพระอริยบุคคล โดยพิเศษ ได้แก่ พระขีณาสพ ชื่อว่าเป็นผู้สะอาด และชื่อว่าเป็นพราหมณ์ เพราะเป็นผู้หมดจดโดยสิ้นเชิง

    ก็เพราะเหตุไร ในข้อนี้ สัจจะ ท่านจึงแยกถือเอาจากธรรม

    เพราะสัจจะมีอุปการะมาก จริงอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสประกาศคุณของสัจจะไว้ในสุตตบทเป็นอันมาก โดยนัยมีอาทิว่า คำสัตย์แลเป็นวาจาไม่ตาย สัจจะแลดีกว่ารสทั้งหลาย บัณฑิตทั้งหลายกล่าวผู้ตั้งอยู่ในสัจจะอันเป็นอรรถและธรรมว่าเป็นสัตบุรุษ และว่าสมณพราหมณ์ผู้ตั้งอยู่ในสัจจะ

    ประกาศโทษของธรรมที่ตรงกันข้ามกับสัจจะ โดยนัยมีอาทิว่า สัตว์ผู้มักพูดเท็จ ล่วงธรรมเอกเสีย และว่า ผู้พูดคำอันไม่เป็นจริงย่อมเข้าถึงนรกแล

    จบ อรรถกถาชฎิลสูตรที่ ๙

    ความปรารถนาที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม แม้ของพระโพธิสัตว์ ก็ต้อง เริ่มจากความปรารถนาอย่างแท้จริง เพราะฉะนั้น ทุกท่านต้องมีความปรารถนาจริงๆ ในชีวิตที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม มิฉะนั้นแล้วก็เหมือนเรือที่ไม่มีหางเสือ คือ มีชีวิตไป วันหนึ่งๆ โดยไม่รู้จุดประสงค์ของชีวิตว่าเพื่ออะไร แต่เมื่อรู้ว่าเพื่อรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ก็จะไม่ทอดทิ้งละเลยเหตุปัจจัยที่จะทำให้ปัญญาเจริญขึ้น

    มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ ธาตุวิภังคสูตร มีข้อความที่แสดงว่า สัจจะเป็นแกนสำคัญ เป็นบารมีในการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม เพราะว่าเป็นความจริงใจในการเริ่มสละกิเลสตั้งแต่ต้น

    ข้อความในอรรถกถามีว่า

    บทว่า สจฺจมนุรกฺเขยฺย ความว่า พึงรักษาวจีสัจจะตั้งแต่ต้น เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งปรมัตถสัจจะ คือ นิพพาน

    จิตที่ซื่อตรงจริงใจต่อวาจาจริง ย่อมนำไปสู่ความจริงทั้งหมด เพราะว่า ผู้ที่รักความจริงเป็นผู้ที่แสวงหาความจริง จึงต้องเป็นผู้ที่มั่นคงในความจริงตั้งแต่ต้น

    อย่างที่ท่านผู้ฟังบอกว่า ข้อปฏิบัติอื่นน่าตื่นเต้น แต่ข้อปฏิบัติที่ระลึกรู้ลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติขณะนี้ไม่ตื่นเต้นอะไร ก็จะต้องเป็นผู้ที่แสวงหาความจริง เพราะว่าขณะนี้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จริง แต่ปัญญายังไม่รู้ตาม ความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้น

    บทว่า จาคมนุพฺรูเหยฺย ความว่า พึงพอกพูนการเสียสละกิเลสตั้งแต่ต้นเทียว เพื่อทำการสละกิเลสทั้งปวงด้วยอรหัตตมรรค

    ธรรมต้องสอดคล้องกันตั้งแต่ต้นจนถึงที่สุด ผู้ที่ต้องการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม อย่าลืม ต้องเป็นผู้สละกิเลส ถ้ายังไม่ยอมสละอะไรเลยสักอย่าง และอยากรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ย่อมไม่สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ ต้องเห็นโทษของกิเลส และพยายามสละกิเลสด้วย เพราะว่าการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเริ่มโดยการเป็น พระโสดาบันบุคคล สู่การเป็นพระสกทาคามีบุคคล สู่การเป็นพระอนาคามีบุคคล สู่การเป็นพระอรหันต์ซึ่งดับกิเลสหมด

    และการที่กิเลสจะดับหมดได้ ต้องจากการเริ่มสละตั้งแต่ต้น เพราะฉะนั้น ขณะนี้ยังไม่ถึงไหน ยังไม่เป็นอะไร แต่สามารถตระเตรียมการที่จะถึงความเป็น พระอรหันต์ที่จะดับกิเลสหมด โดย พอกพูนการเสียสละกิเลสตั้งแต่ต้นเทียว คือ ต้องเริ่มต้นสละกิเลสไปเรื่อยๆ

    บางท่านอยากจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม แต่ไม่อยากสละกิเลส เหตุกับผล ไม่ตรงกัน เพราะฉะนั้น ก็เป็นไปไม่ได้เลย

    สัจจะที่ถูกต้อง ต้องเป็นไปในกุศล ต้องเป็นไปในการอบรมเจริญปัญญา ไม่ใช่เป็นไปในความงมงาย ในความลุ่มหลง หรือไม่ใช่เป็นไปในเรื่องของอกุศล เพราะว่าสัจจะที่จะเป็นบารมี ต้องเป็นไปในการเจริญปัญญาเพื่อรู้แจ้งอริยสัจจธรรม

    ถ้ามีสัจจะในทางที่เป็นอกุศล ยังคงต้องรักษาสัจจะนั้นต่อไปไหม ต้องพิจารณา เรื่องอกุศลเป็นเรื่องที่ยิ่งออกไปได้เร็วเท่าไรยิ่งดีเท่านั้น อย่าไปเกรงกลัวว่าจะไปมีสัจจะในทางอกุศล จะไม่ทำตามสัจจะนั้นไม่ได้ ต้องพิจารณาว่า สัจจะนั้นเป็นอกุศล หรือเป็นกุศล ถ้าเป็นอกุศล ต้องกล้าออกจากอกุศลอย่างเร็วที่สุดด้วยความไม่ประมาท เพราะถ้าช้าจะทำให้ออกจากอกุศลนั้นยากขึ้น จนในที่สุดอาจจะสายเกินไปที่จะ ออกจากอกุศลนั้นได้ และอาจจะเป็นอย่างนี้ทุกๆ ชาติ

    มีไหม ท่านที่เคยมีสัจจะในทางอกุศล ต้องรีบออกจากสัจจะในทางที่เป็นอกุศล และเจริญกุศล

    บางท่านอาจจะเคยได้ยินได้ฟังว่ามีบางสำนักบอกว่า ต้องนับถืออาจารย์ สำนักนั้นอาจารย์เดียวเท่านั้น และให้สัจจะว่า ต้องมีความนับถือในอาจารย์นั้นอาจารย์เดียว แต่ถ้าไม่ได้เกิดความรู้ความเข้าใจจากอาจารย์หรือสำนักนั้น และ จะมีสัจจะอย่างนั้น เป็นการถูกต้องไหม ไม่ใช่เพียงแต่นับถือ ยังต้องประพฤติปฏิบัติตามคำสั่งต่างๆ แสดงให้เห็นว่า ถ้าเป็นเรื่องของความไม่ถูกต้อง ไม่ใช่สัจจบารมี

    ผู้ฟัง สัจจะอย่างที่อาจารย์ว่ามีปรากฏแล้วทางภาคตะวันออก เป็นข่าวทางวิทยุโทรทัศน์ บอกว่า ถ้าจะบวชกับท่านต้องมีสัจจะ คือ ต้องตัดนิ้วสักนิ้วหนึ่งก่อน เพื่อตั้งสัจจะว่า จะบวชที่นี่และจะปฏิบัติสมณธรรม

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่ใช่เรื่องการเจริญกุศล การอบรมเจริญปัญญา ไม่ใช่สัจจบารมี

    พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้ที่จริงใจต่อการอบรมเจริญบารมีเพื่อการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม จนในที่สุดทรงรู้แจ้งพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะเหตุ คือ พระองค์ทรงมีอุปการะอย่างยิ่งยวดในหมู่สัตว์ และเทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย พระองค์ทรงประกอบด้วยพระคุณสูงสุดกว่าสรรพสัตว์ จึงทรงประกอบด้วยเสียงสรรเสริญสดุดีที่ไพบูลย์ยิ่งและบริสุทธิ์ยิ่งในไตรโลก และทรงมีผู้ภักดีต่อพระองค์อย่างจริงใจ

    ท่านผู้ฟังก็คงจะเห็นการกล่าวสรรเสริญพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ๒,๕๐๐ กว่าปีในโลกมนุษย์ ในเทวโลก ในพรหมโลก เป็นคำสดุดีสรรเสริญอย่างไพบูลย์ยิ่งและบริสุทธิ์ยิ่ง ด้วยเหตุที่พระองค์ทรงมีอุปการะอย่างยิ่งยวดในหมู่สัตว์ และเทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย ทรงเป็นผู้มีผู้ที่ภักดีต่อพระองค์ อย่างจริงใจ

    ความภักดีในพระผู้มีพระภาค เป็นความภักดีของผู้เลื่อมใสมั่นคงยิ่ง ซึ่งใน ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ อรรถกถาโลภสูตร มีข้อความว่า

    ... ความภักดีของบุคคลเหล่านั้น อันใครๆ จะเป็นสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร หรือพรหม ก็ลักไปไม่ได้

    เป็นความจริง บุคคลผู้ภักดีเหล่านั้น แม้ตนเองจะต้องเสียชีวิต ก็จะไม่ยอมทิ้งความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า หรือคำสั่งสอนของพระองค์ ก็เพราะต่างมีความภักดีอย่างมั่นคง ด้วยเหตุนั้นแล พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

    ผู้ใดแลเป็นบัณฑิต เป็นผู้กตัญญูกตเวที ผู้นั้นย่อมเป็นกัลยาณมิตรและ มีความภักดีอย่างมั่นคง

    พิจารณาจิตใจของทุกท่านได้ว่า มีความภักดีของพระผู้มีพระภาคอย่างจริงใจ โดยไม่มีใครบังคับ

    ผู้ใดก็ตามที่มีความศรัทธา มีความเลื่อมใสในพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ไม่เปลี่ยนแปลง แม้ว่าบุคคลอื่นจะพยายามเปลี่ยนความศรัทธาหรือความภักดี ของท่าน ท่านก็ไม่เปลี่ยนตราบจนสิ้นชีวิต เพราะว่าแต่ละบุคคลที่มีศรัทธามั่นคง ในพระรัตนตรัยแล้ว จะเป็นผู้ที่มีความภักดีต่อพระผู้มีพระภาคจนตลอดชีวิต ซึ่งจะ เห็นได้ว่า ไม่มีใครอีกแล้วที่จะได้รับความภักดียั่งยืนนานเท่าพระผู้มีพระภาค เพราะว่าความภักดีที่มีต่อบุคคลอื่นที่ไม่ใช่พระผู้มีพระภาคนั้นเป็นชั่วขณะ ชั่วกาล บางครั้ง ก็มาก บางครั้งก็น้อย บางครั้งก็ยาวนาน บางครั้งก็ชั่วเวลาไม่นาน แต่ความภักดีต่อ พระผู้มีพระภาคสำหรับพุทธบริษัท จะเห็นได้ว่า ทุกวัน ตั้งแต่เช้าจนถึงค่ำ มีการสวดมนต์ระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัย ตั้งแต่เด็กจนโต จนตาย

    แสดงให้เห็นถึงพระคุณที่ทุกคนได้ประจักษ์ในความจริงใจที่พระผู้มีพระภาค ทรงอบรมเจริญบารมีเพื่อการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม และทรงมีอุปการะอย่างยิ่งยวดใน หมู่สัตว์ และเทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย

    พระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่า ภควา เพราะทรงมีคนภักดีอย่างมั่นคง เพราะพระองค์ทรงมีปกติแสวงหาประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์โลก ทั้งนี้เพราะ พระมหากรุณาบารมีที่ทรงใคร่ครวญที่จะทรงแสดงธรรมให้สัตว์ทั้งหลายบรรลุถึง ความมั่นคงในศีล ในสมาธิที่สงบจากกิเลส และในปัญญา พระองค์จึงทรงได้รับ ความภักดีอย่างจริงใจจากพุทธบริษัททั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต ทรงได้รับความภักดี โดยมอบถวายปัจจัยไทยธรรมทุกสิ่ง ทั้งดอกไม้ ธูปเทียน ของหอม เครื่องสักการบูชา

    แสดงให้เห็นว่า ผู้ที่มีความจริงใจ มีสัจจะ มีการแสวงหาประโยชน์เกื้อกูล แก่สัตว์โลก เป็นผู้ที่ดับกิเลสหมด เพราะฉะนั้น ผู้อื่นย่อมสามารถเห็นพระมหากรุณาและพระปัญญาของพระองค์ได้ จึงมีความภักดีต่อพระองค์ โดยไม่มีใครมีผู้ที่ภักดีต่อเท่ากับพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    เพราะฉะนั้น ในสมัยนี้ก็น่าคิดว่า ท่านผู้ฟังภักดีต่อพระรัตนตรัยจริงๆ หรือว่า ภักดีต่อภิกษุบุคคล นี่ต้องคิด เพราะถ้าเป็นการภักดีต่อพระรัตนตรัยแล้ว ก็ต้องศึกษา เข้าใจพระธรรม และอบรมเจริญปัญญา เพื่อละคลายอกุศลของตนเอง

    แต่ถ้าภักดีต่อภิกษุบุคคล ซึ่งไม่ทำให้เข้าใจพระธรรม และไม่สามารถอบรมเจริญปัญญารู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ การภักดีต่อบุคคลอื่นหรือแม้ภิกษุบุคคลนั้น ก็เพียงเพื่อหวังลาภบ้าง ยศบ้าง ตำแหน่งบ้าง แต่ไม่สามารถเกิดปัญญาที่จะทำให้เข้าใจในพระรัตนตรัยได้

    นี่เป็นความต่างกัน ความภักดีต่อพระรัตนตรัยกับความภักดีต่อภิกษุบุคคล ซึ่งไม่ทำให้เข้าใจพระธรรม อาจจะเพียงทำให้เกิดลาภบ้าง ยศบ้าง หรือสักการะ หน้าที่ตำแหน่งการงานต่างๆ บ้าง

    ปรมัตถทีปนี อรรถกถา จริยาปิฎก ปกิณณกคาถา มีข้อความว่า

    ความเป็นผู้ฉลาดในอุบายทำประโยชน์แก่สัตว์ทั้งหลาย ชื่อว่าปฏิบัติ ด้วยปัญญา การไม่ล่อลวงทำอุปการะสมาทานและไม่พูดผิดจากความจริงเป็นต้น แก่สัตว์เหล่านั้น ชื่อว่าปฏิบัติด้วยสัจจะ

    นี่คือปฏิปทาของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ ความเป็น ผู้ฉลาดในอุบายทำประโยชน์แก่สัตว์ทั้งหลาย

    ประโยชน์ที่นี่ ไม่ใช่ให้เกิดโลภะ แต่เพื่อละคลายโลภะ และชี้ให้เห็นโทษของอกุศล และแสดงหนทางที่จะทำให้กุศลเจริญขึ้น เพราะฉะนั้น จึงเป็นการไม่ล่อลวง แต่เป็นการทำอุปการะ สมาทาน และไม่พูดผิดจากความจริง ชื่อว่าปฏิบัติด้วยสัจจะ

    บางท่านแม้จะรู้ว่าข้อปฏิบัตินั้นไม่ทำให้ปัญญาเกิด แต่เมื่อหมู่คณะปฏิบัติ ก็ปฏิบัติตาม หรือเพื่อนฝูงชักชวนก็กระทำตาม เพราะว่าผู้ที่แสดงหนทางข้อปฏิบัตินั้นเป็นผู้ที่มีชื่อเสียง หรือมีคนนับถือยกย่อง เพราะฉะนั้น เมื่อมีเพื่อนฝูงมิตรสหาย ที่มีความเห็นอย่างนั้น เข้าใจอย่างนั้นว่า ปฏิบัติแล้วจะทำให้เกิดปัญญา แม้จะพิจารณาเห็นว่าไม่ได้ทำให้เกิดปัญญาแต่ก็ยังตามไปปฏิบัติก็มี ด้วยเหตุนี้ จึงเห็นได้ว่า ถ้าไม่จริงใจต่อการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมแล้ว ย่อมมีความพอใจในลาภบ้าง ในยศบ้าง ในชื่อเสียงบ้าง และจะไปสู่ข้อปฏิบัติซึ่งไม่ทำให้ละกิเลส

    ถ้ามีผู้บอกว่า ปฏิบัติเลย ไม่ต้องศึกษา ไม่ต้องเข้าใจอะไรเลย กับมีผู้ที่บอกว่า ให้ศึกษาเข้าใจก่อน และควรพิจารณาว่าอะไรเป็นเหตุเป็นผลที่ถูกต้อง จะเชื่อใคร

    ต้องเป็นผู้พิจารณาด้วยตนเอง และถ้าจะเชื่อใคร ก็ต้องพิจารณาว่า เพราะอะไร เพราะว่าบุคคลนั้นเป็นผู้มีชื่อเสียง หรือบุคคลนั้นเป็นผู้มีเหตุผลสามารถ ทำให้เข้าใจพระธรรมได้

    นี่เป็นยุคสมัยซึ่งแต่ละบุคคลต้องช่วยตัวเอง เพราะถ้าไม่พิจารณาข้อปฏิบัติ จริงๆ ย่อมหลงไปสู่หนทางที่ไม่ทำให้เกิดปัญญา

    ผู้ฟัง การเจริญกุศลเพื่อให้อกุศลหมดไป เช่น ให้ทานโดยไม่หวังผล และเห็นโทษขณะที่อกุศลเกิดขึ้นว่ามีโทษ และต้องการให้อกุศลนั้นหมดไป เปลี่ยนเป็นกุศลขึ้น อย่างนี้ก็ชื่อว่าเพื่อถึงฝั่งพระนิพพาน ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ บารมีทั้งหมดเป็นเครื่องประกอบของปัญญาบารมี เพราะฉะนั้น ต้องมีปัญญาบารมีที่จะรู้ด้วย ไม่ใช่ไม่เจริญปัญญาเลย หวังอย่างเดียว คือ ให้ทาน ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะให้ถึงฝั่ง คือ การหมดจากกิเลส

    ผู้ฟัง บารมี ๑๐ ปัญญาต้องรู้เรื่องสติปัฏฐาน จึงจะเป็นปัญญาบารมีใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ปัญญาที่เจริญขึ้นตามลำดับ อย่างเห็นโทษของอกุศล และรู้ว่าควรจะละอกุศล และเจริญทุกอย่างเพื่อดับอกุศล

    ผู้ฟัง เพื่อดับอกุศลเป็นสมุจเฉท จึงจะชื่อว่าหนทางถึงฝั่งพระนิพพาน และบารมีอื่นๆ ที่เป็นบริวารของปัญญาก็เช่นเดียวกัน คือ เพื่อต้องการให้อกุศลนั้น หมดไปเป็นสมุจเฉท

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าส่วนใหญ่คนทำบุญ ทำทำไม

    ผู้ฟัง หวังผล ต้องการได้รับสิ่งตอบแทน

    ท่านอาจารย์ ในขณะนั้นไม่รู้เรื่องโทษของอกุศลเลย แต่คนที่เกิดอกุศลและรู้ว่า อกุศลน่ารังเกียจ เป็นภัย ผู้นั้นมีปัญญาจึงเห็นอย่างนั้น ด้วยเหตุนั้นจึงต้องมีปัญญา กุศลทั้งหลายจึงจะเป็นบารมี เพราะว่าอาศัยปัญญานั่นเองรู้โทษของอกุศล ถ้าไม่มีปัญญาไม่รู้โทษของอกุศล ก็ไม่ใช่บารมี

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น ต้องประกอบด้วยปัญญา ต้องเป็นปัญญาบารมี เห็นโทษของอกุศล

    ท่านอาจารย์ สัจจบารมีดูเหมือนไม่มีอะไรมากในชีวิตประจำวัน แต่ความจริงแล้วสัจจะเป็นธรรมที่ส่งเสริมให้กุศลทั้งหลายเกิดขึ้นและเจริญขึ้นด้วย เพราะว่าเป็นผู้ที่จริงใจต่อการขัดเกลากิเลส เพราะฉะนั้น ขณะใดที่กุศลไม่เกิด และเกิดระลึกได้ว่า เราเป็นผู้ที่จริงใจต่อการเจริญกุศล ก็จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้กุศลเกิดได้ หรือขณะที่อกุศลกำลังเกิด ถ้าไม่เป็นผู้ที่จริงใจที่จะละคลายอกุศล ขณะนั้นก็ปล่อยให้อกุศล เจริญขึ้น แต่ถ้าในขณะที่อกุศลเกิด และเป็นผู้ที่จริงใจต่อการละคลายอกุศล ขณะนั้นกุศลก็เกิดได้ เช่น ขณะที่กำลังมีมานะ มีความสำคัญตน ในชีวิตประจำวัน เหตุการณ์ต่างๆ แม้แต่การบริโภคอาหารในร้านอาหารก็มีมานะได้ มานะจะแทรก เข้ามาได้บ่อยๆ กำลังขับรถอยู่ก็มีมานะได้ คนอื่น เรา เป็นอย่างไร มีการขับรถที่ ไม่ถูกต้องตามกฎ หรืออะไรก็แล้วแต่ ก็เป็นเหตุให้เกิดมานะได้ แต่ถ้ากุศลจิตเกิด ในขณะนั้นเป็นผู้ที่จริงใจต่อการละอกุศล คือ สติสัมปชัญญะเกิด ขณะนั้นละมานะได้

    เพราะฉะนั้น การที่จะละอกุศลได้ ต้องเป็นผู้ที่จริงใจพร้อมด้วยสติสัมปชัญญะที่ระลึกรู้ลักษณะของอกุศลในขณะนั้นแล้วละ เป็นเหตุที่จะทำให้กุศลเจริญขึ้นได้

    การดำเนินชีวิตประจำวันของพระโพธิสัตว์ เป็นการเจริญกุศลที่ละเอียดทุกทาง และทุกท่านที่ยังไม่รู้แจ้งอริยสัจจธรรม เป็นผู้ที่กำลังดำเนินรอยตามพระโพธิสัตว์ คือ จะต้องอบรมเจริญปัญญาทุกประการเพื่อดับกิเลส เพราะฉะนั้น ก็ควรพิจารณาถึงชีวิตประจำวันของพระโพธิสัตว์ก่อนที่จะตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยพระองค์เป็นผู้ที่มีสัจจะ คือ ความจริงใจ ในการเจริญกุศลเพื่อละคลายและ ขัดเกลากิเลส

    ปรมัตถทีปนี อรรถกถา จริยาปิฎก ปกิณณกคาถา มีข้อความที่กล่าวถึงจริยา คือ ความประพฤติของพระโพธิสัตว์ในระหว่างทรงบำเพ็ญพระบารมี ซึ่งผู้ที่ต้องการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ไม่ว่าบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ ก็ควรจะพิจารณาเพื่อประพฤติตามจนกว่าจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม และต้องเป็นผู้ที่จริงใจในการประพฤตินั้นๆ ด้วย ซึ่งข้อความในอรรถกถามีว่า

    พึงปรารภความเพียรในประโยชน์ของสัตว์นั้นๆ

    พึงอดกลั้นสิ่งทั้งปวง มีสิ่งที่น่าปรารถนาและไม่น่าปรารถนาเป็นต้น

    พึงไม่พูดผิดความจริง

    พึงแผ่เมตตาและกรุณาแก่สัตว์ทั้งปวงโดยไม่เจาะจง

    การเกิดขึ้นแห่งทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งจะพึงมีแก่สัตว์ทั้งหลาย พึงหวังการเกิดขึ้นแห่งทุกข์ทั้งปวงนั้นไว้ในตน

    อนึ่ง พึงอนุโมทนาบุญของสัตว์ทั้งปวง

    ข้อความในพระไตรปิฎกเป็นข้อความสั้นๆ ซึ่งท่านผู้ฟังสามารถได้สาระ โดยการพิจารณาและน้อมประพฤติปฏิบัติตาม แต่ถ้าผ่านข้อความนี้ไปก็ไม่มีอะไรเลยที่จะต้องประพฤติปฏิบัติตาม แต่ถ้าพิจารณาข้อความที่ว่า พึงปรารภความเพียรในประโยชน์ของสัตว์นั้นๆ จะทำให้ผู้ที่ระลึกได้ เป็นผู้ที่ไม่เห็นแก่ตัว พร้อมที่จะช่วยเหลือคนอื่น ซึ่งต้องมีความเพียร ถ้าไม่มีความเพียรจะไม่ช่วยคนอื่นเลย

    การช่วยกิจธุระของคนอื่น หรือช่วยแบ่งเบาภาระของคนอื่น


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 2
    30 ต.ค. 2566

    ซีดีแนะนำ