บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 32


    แต่คนที่มีปัญญาแล้วมีฉันทะ ต้องมีการไตร่ตรอง ต้องมีการเห็นประโยชน์ ต้องมีการเสียสละ ต้องเป็นผู้ที่มีฉันทะยิ่งใหญ่จริงๆ จึงสามารถปรารถนาเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะว่าเป็นความปรารถนาที่สูงยิ่งกว่าความปรารถนาอื่นใดทั้งสิ้น และกว่าจะถึงได้ ไม่ใช่ถึงได้ด้วยความอยาก แต่จะต้องถึงได้ด้วยการบำเพ็ญบารมีทุกประการ

    ผู้ฟัง อย่างผมอยากจะเป็น เป็นอกุศล และผมก็ไปทำตามที่ท่านอาจารย์พูด คือ เจริญกุศลทุกประการ มีความมั่นคงอยากจะเป็น สมมติขณะนั้นเป็นอกุศล ถ้าอย่างนั้นอกุศลก็ทำให้เป็นพระพุทธเจ้าได้หรือ

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ เพราะถ้าเพียงอยาก ไม่พอ เพราะผู้ที่เพียงคิดว่า อยากจะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา ไม่มีทางสำเร็จเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    การปรารถนาเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จะต้องประกอบพร้อมด้วยคุณสมบัติประการใดบ้าง มีข้อความโดยละเอียดใน ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย จริยาปิฎก ซึ่งเริ่มตั้งแต่การตั้งความปรารถนา และขณะที่ปรารถนานั้นจะต้องพร้อมด้วยอะไรบ้าง ไม่ใช่ว่าใครก็อยากได้ หรือในขณะนี้ ถ้าใครจะอยาก ก็ไม่สำเร็จ ยังไม่ชื่อว่าตั้งปณิธานหรือมีมหาอภินิหารที่จะทำให้สำเร็จได้

    ผู้ฟัง ถ้าผมเป็นท่านสุเมธดาบส ผมคิดว่า เป็นพระอรหันต์สาวกก็ช่วยเหลือคนอื่นได้ แล้วก็ปรินิพพาน และถึงแม้จะเป็นพระพุทธเจ้าในกาลข้างหน้า ก็ปรินิพพานเหมือนกัน ถ้าคิดจะช่วยเหลือก็น่าจะเป็นพระอรหันต์แล้วก็ช่วยเหลือ ช่วยพระทีปังกรพุทธเจ้าไปก็ได้นี่

    ท่านอาจารย์ อีกนานแสนนานกว่าความคิดนี้จะค่อยๆ ประกอบด้วยปัญญา ทีละเล็กทีละน้อย ทีละชาติ จนกระทั่งถึงความสมบูรณ์ถึงกาลที่จะตั้งปณิธานได้ พร้อมด้วยคุณสมบัติต่างๆ และกว่าจะบำเพ็ญบารมีต่อไปอีก เพราะฉะนั้น ความคิดเล็กๆ น้อยๆ อย่างนี้ ยังไม่พร้อม ยังจะต้องสะสมประกอบด้วยปัญญาอีกมาก ในแต่ละชาติ

    ผู้ฟัง อย่างที่ฝรั่งบอกว่า ไม่มีปุถุชนคนใดที่มาหาพระเจ้าโดยไม่ขอ

    ท่านอาจารย์ ที่นี่ไม่มีพระเจ้า

    ขอกล่าวถึงข้อความใน ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เพื่อแสดงให้เห็นบุคคลผู้มีฉันทะใหญ่ยิ่ง ใหญ่หลวง ในการที่จะปรารถนาความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ข้อความมีว่า

    พึงทราบความที่ฉันทะเป็นความใหญ่หลวง ในบทว่า ฉนฺทตา นี้ โดยนัย มีอาทิดังต่อไปนี้

    บุคคลได้ฟังมาว่า ผู้ใดสามารถข้ามท้องจักรวาลนี้ทั้งสิ้น อันมีน้ำท่วมนอง เป็นอันเดียวกัน ด้วยกำลังแขนของตนเท่านั้นแล้วจะถึงฝั่งได้ ผู้นั้นย่อมถึงความเป็นพระพุทธเจ้า แล้วไม่ย่อท้อเพราะทำได้ยาก กลับพอใจว่า เราจักข้ามถึงฝั่งได้ ไม่แสดงอาการสยิ้วหน้าในการนั้นเลย

    อนึ่ง บุคคลได้ฟังมาว่า ผู้ใดเหยียบจักรวาลนี้ทั้งสิ้น อันเต็มไปด้วยถ่านเพลิง ปราศจากเปลวไฟ ปราศจากควันไฟ ด้วยเท้าทั้งสองสามารถก้าวเลยไปถึงฝั่งได้ ผู้นั้นย่อมถึงความเป็นพระพุทธเจ้า แล้วไม่ย่อท้อเพราะทำได้ยาก กลับพอใจว่า เราจักก้าวเลยไปถึงฝั่งได้ เขาไม่แสดงอาการสยิ้วหน้าในการนั้นเลย

    ไม่ท้อถอย ไม่แสดงความไม่พอใจแม้เล็กน้อย แม้จะได้ฟังมาว่า การที่จะได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น จะต้องข้ามท้องจักรวาลทั้งสิ้นที่มีน้ำท่วมนอง เป็นอันเดียวกันด้วยกำลังแขนของตนแล้วจะถึงฝั่งได้ เท่านั้นก็เป็นที่พอใจแล้ว ที่จะมีความเพียรถึงความเป็นพระพุทธเจ้า หรือผู้นั้นจะต้องเหยียบจักรวาลทั้งสิ้น ไม่ใช่โลกนี้โลกเดียว จักรวาลทั้งสิ้น อันเต็มไปด้วยถ่านเพลิงปราศจากเปลวไฟ ด้วยเท้าทั้งสองสามารถก้าวเลยไปถึงฝั่งได้ ผู้นั้นย่อมถึงความเป็นพระพุทธเจ้า แล้วไม่ย่อท้อเพราะทำได้ยาก กลับพอใจว่า เราจักก้าวเลยไปถึงฝั่งได้

    ข้อความต่อไป

    อนึ่ง บุคคลได้ฟังมาว่า ผู้ใดทะลุจักรวาลนี้ทั้งสิ้นปกคลุมด้วยพุ่มไม้ไผ่หนาทึบ รกรุงรังไปด้วยป่าหนามและเถาวัลย์ แล้วก้าวเลยไปถึงฝั่งได้ ผู้นั้นย่อมถึงความเป็นพระพุทธเจ้า แล้วไม่ย่อท้อเพราะทำได้ยาก กลับพอใจว่า เราจักถึงฝั่งได้ เขาไม่แสดงอาการสยิ้วหน้าในการนั้นเลย

    อนึ่ง บุคคลได้ฟังมาว่า ผู้ใดที่หมกไหม้ในนรกตลอดอสงไขยแสนกัป จะพึงบรรลุความเป็นพระพุทธเจ้า แล้วไม่ย่อท้อเพราะทำได้ยาก กลับพอใจว่า เราจักหมกไหม้ในนรกนั้นแล้วบรรลุความเป็นพระพุทธเจ้า เขาไม่แสดงอาการสยิ้วหน้าในการนั้นเลย

    พร้อมไหม และถึงแม้จะคิดว่าทำได้ แต่ยังไม่มั่นคง ยังจะต้องสะสมด้วยปัญญาอย่างละเอียดต่อไปจนกว่าจะถึงคุณสมบัติที่พร้อม ซึ่งเมื่อได้เฝ้า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อมด้วยคุณสมบัติครบที่จะตั้งปณิธานได้ จึงจะ เริ่มตั้งปณิธานที่จะบำเพ็ญบารมี

    ถ. หมายความว่า แม้จะตกนรกก็ยอม

    ท่านอาจารย์ แสดงให้เห็นถึงความยาวนานที่กว่าจะได้บำเพ็ญบารมีพร้อม แสดงถึงความไม่ท้อถอย

    พระ คุณสมบัติของผู้ที่ปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า ตามข้อความที่ว่า แม้ตกนรกหมกไหม้ตลอดเวลายาวนานก็ไม่หวั่นไหว แสดงว่าท่านจะต้องมีอภิญญา ท่านย่อมรู้ผลของกรรมว่า นรกนั้นร้อนขนาดไหน มีกำลังมากขนาดไหน ท่านรู้ ยิ่งกว่าเราว่านรกนั้นจะร้อนขนาดไหน และท่านยังเข้าใจว่า หลีกเลี่ยงไม่ได้เมื่อได้ ทำกรรมที่จะไปนรกแล้ว เพราะฉะนั้น ในระยะเวลาก่อนที่จะเป็นพระพุทธเจ้า ซึ่งปรารถนาอยู่ ก็ต้องเป็นเวลาอันยาวนาน และท่านรู้ตามความเป็นจริงด้วย เพราะฉะนั้น ท่านย่อมไม่หวั่นไหวในขณะที่จะต้องไปนรกแน่ๆ แล้ว ซึ่งเป็นเวลา อันยาวนาน ถ้าเป็นเราเจอไฟร้อนๆ ในเตา แค่เอามือใส่ลงไป ก็คงจะไม่ยอมเป็นแล้ว อาตมาคิดว่า ประกอบด้วยเหตุและผลจริงๆ ตามที่ได้แสดงคุณสมบัติมา

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เป็นการคิดชั่วครั้งชั่วคราว หรือคิดเล่นๆ หรือคิดว่าการเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเป็นได้โดยไม่ยาก แต่จะต้องเห็นจริงๆ ว่า ยากแสนยากกว่าจะได้บำเพ็ญบารมีที่จะได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ประจักษ์แจ้งความจริงของสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับในขณะนี้ตามปกติ สามารถที่จะละคลายดับอกุศลได้หมดเป็นสมุจเฉทถึงความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    และสำหรับผู้ที่ปรารถนาจะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งเป็น อภินิหารใหญ่ สำเร็จเพราะ ธรรมสโมธาน ๘ ประการ คือ ความเป็นมนุษย์ ๑ ลิงคสมบัติ ๑ เหตุ ๑ เห็นพระศาสดา ๑ บรรพชา ๑ คุณสมบัติ ๑ อธิการ ๑ ความพอใจ ๑

    ความเป็นมนุษย์ ถ้าไม่ใช่ผู้ที่เป็นมนุษย์ ปรารถนาไม่สำเร็จ

    ลิงคสมบัติ ต้องไม่เป็นสตรีในชาติที่ปรารถนาเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    เหตุ คือ ต้องถึงพร้อมด้วยอุปนิสัย ไม่ใช่เพียงแต่อยากนิดๆ หน่อยๆ แต่ต้องถึงพร้อมจริงๆ

    เห็นพระศาสดา คือ มีพระศาสดา พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่เฉพาะหน้า และความปรารถนาย่อมสำเร็จแก่ผู้ปรารถนาในสำนักของพระพุทธเจ้าซึ่งยังทรง พระชนม์อยู่ ไม่ใช่เมื่อปรินิพพานแล้ว ซึ่งข้อความในอรรถกถามีว่า

    เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ความปรารถนาย่อมไม่สำเร็จในสำนักของ พระเจดีย์ ที่โคนโพธิ์ ที่พระปฏิมา หรือที่สำนักของพระปัจเจกพุทธเจ้าและสาวก ของพระพุทธเจ้า เพราะเหตุไร เพราะไม่มีอธิการ คือ วิสัยที่ทำยิ่ง มีกำลัง ความปรารถนาจะสำเร็จในสำนักของพระพุทธเจ้าเท่านั้น เพราะอธิการนั้นยังไม่ถึงความมีกำลังโดยความเป็นอัธยาศัยอันยิ่ง

    แสดงให้เห็นว่า ถ้าไม่ได้พบพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้ความคิด ความปรารถนาก็ยังไม่มีกำลังพอ

    ประการต่อไป บรรพชา คือ ต้องเป็น ผู้บวชในสำนักของดาบส หรือในสำนักของภิกษุทั้งหลาย ผู้เป็นกรรมวิริยวาที คือ ผู้เชื่อกรรมและผลของกรรม ไม่สำเร็จแก่ผู้ตั้งอยู่ในเพศคฤหัสถ์

    แม้แต่ในเวลาที่ตั้งปณิธานเพื่อจะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ระหว่างเพศคฤหัสถ์กับบรรพชิต เพศบรรพชิตต้องมีความมั่นคงมากกว่า ด้วยเหตุนี้ถ้าไม่เป็นผู้ที่บรรพชา ความปรารถนานั้นก็ไม่สำเร็จ

    ประการต่อไป คุณสมบัติ

    บทว่า คุณสมฺปตฺติ คือ ถึงพร้อมด้วยคุณ มีอภิญญาเป็นต้น

    ไม่ใช่อยากเท่านั้น

    เพราะความปรารถนาย่อมสำเร็จแก่บรรพชิตผู้ได้สมาบัติ ๘ มีอภิญญา ๕ เท่านั้น ไม่สำเร็จแก่ผู้ปราศจากคุณสมบัติตามที่กล่าวแล้ว เพราะเหตุไร เพราะสามารถค้นคว้าบารมีได้ พระมหาบุรุษบำเพ็ญอภินิหาร เป็นผู้สามารถค้นคว้าบารมีได้ด้วยตนเอง เพราะประกอบด้วยอุปนิสัยสมบัติและอภิญญาสมบัติ

    ประการต่อไป อธิการ

    บทว่า อธิกาโร คือ มีอุปการะยิ่ง ผู้ใดแม้ถึงพร้อมด้วยคุณสมบัติตามที่ กล่าวแล้ว แม้ชีวิตของตนก็สละแด่พระพุทธเจ้าได้ ย่อมทำอุปการะอันยิ่งในกาลนั้น อภินิหารย่อมสำเร็จแก่ผู้นั้น ไม่สำเร็จแก่คนนอกนี้

    อย่างตอนที่ท่านสุเมธดาบสได้ทอดกายลงระหว่างทางที่พระพุทธเจ้าจะเสด็จผ่านซึ่งยังทำไม่เสร็จ

    ประการต่อไป ความพอใจ

    บทว่า ฉนฺทตา คือ พอใจในกุศลด้วยความใคร่ที่จะทำ

    ต้องมีความปรารถนามาก พอใจมากในธรรมทั้งหลายที่จะทำให้ถึงความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น จะเห็นพระมหากรุณาคุณที่พวกเรา ได้มีโอกาสฟังพระธรรม

    ข้อความต่อไปมีว่า

    พึงเห็นว่า บุญวิเศษอันเป็นมูลแห่งธรรมอันทำให้เป็นพระพุทธเจ้าทั้งปวง เป็นความเจริญอย่างยิ่ง เป็นความงามอย่างยิ่ง เป็นความสง่าหาประมาณมิได้ โดยความเป็นไปปรารภพุทธภูมิอันเป็นอจินไตย และประโยชน์ของสัตว์โลก อันหาประมาณไม่ได้

    อนึ่ง พระมหาบุรุษพร้อมด้วยการบรรลุนั้นแล เป็นผู้ชื่อว่าหยั่งลงสู่การปฏิบัติเพื่อบรรลุมหาโพธิญาณ ย่อมได้สมัญญาว่า พระโพธิสัตว์ เพราะมีสภาพไม่กลับจากนั้น เพราะบรรลุความเป็นของแน่นอน

    เพราะฉะนั้น ท่านที่เป็นสาวกก็จะเห็นพระมหากรุณาของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ท่านไม่ต้องไปเหยียบย่ำจักรวาลที่ร้อนแรง หรือ ฝ่าขวากหนามรุงรังของจักรวาลที่เต็มไปด้วยไม้ไผ่หนาทึบ หรือจะต้องบำเพ็ญบารมีนานแสนนานถึงสี่อสงไขยแสนกัป แต่เป็นผู้ที่ได้รับพระมหากรุณาจากบุคคลผู้เลิศ ผู้ประเสริฐ ซึ่งไม่มีผู้ใดเปรียบปาน เพียงแต่ท่านผู้ฟังจะเห็นประโยชน์ของพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงไว้เพื่อประโยชน์แก่ทุกคนที่จะให้พิจารณาเกิดปัญญาละคลาย ขัดเกลาอกุศลของตนเอง เพียงเพื่อที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นสาวก

    แต่บางท่านก็ไม่ค่อยจะยอมที่จะขจัดกิเลส หรือละคลายกิเลส

    ถ้าเห็นประโยชน์จริงๆ และรู้ว่าพระธรรมที่ทรงพระมหากรุณาแสดงเพื่อให้ แต่ละบุคคลที่ได้ฟังพิจารณาเห็นประโยชน์เพื่อประพฤติปฏิบัติตาม ก็จะทำให้จิตใจอ่อนโยน เป็นผู้ว่าง่ายที่จะประพฤติตามพระธรรมเพื่อขัดเกลากิเลสของตนเองยิ่งขึ้น แม้ในจาคาธิษฐานซึ่งเป็นเรื่องของการสละกิเลส ในเรื่องของศีล คือ ความประพฤติทางกาย ทางวาจา ซึ่งเป็นชีวิตประจำวันที่น่าสังเกตและน่าที่จะขัดเกลา เพราะว่า ทุกคนก็มีกาย มีวาจา แต่อาจจะไม่ได้พิจารณากายวาจาของตนเองในวันหนึ่งๆ ว่า ขัดเกลาหรือเปล่า หรือยังเหมือนเดิม แม้ว่าจะได้ฟังพระธรรมแล้ว

    สำหรับผู้ที่ขัดเกลาสละกิเลสทางกาย ทางวาจา ซึ่งเป็นไปในเรื่องของศีลนั้น ก็เป็นเหตุแห่งภวสมบัติ ซึ่งเป็นความดีงามของตนเอง คือ เป็นผู้ที่สำรวมกาย สำรวมวาจา การสำรวมกายจะสังเกตได้จากผู้ที่มีมารยาทงาม เป็นผู้ที่อ่อนน้อม ไม่แสดงความโกรธ ซึ่งจะสังเกตได้ คือ ไม่ทำให้คนอื่นไม่สบายใจโดยหน้าบึ้ง หรือ ดุร้ายถมึงทึง แสดงกิริยาอาการหยาบกระด้าง นี่ก็เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ถ้าเกิดกุศลจิตขณะใด สภาพของกิริยาการกระทำทางกายก็เปลี่ยนด้วย

    สำหรับการสำรวมวาจา ก็จะต้องสละวาจาที่ไม่ดี เพราะว่าบางคนเป็นคนตรง ก็จริง แต่ตรงโดยที่ไม่พูดคำที่ไม่น่าฟังก็ได้ คือ ทั้งๆ ที่ตรง แต่ก็พูดคำที่น่าฟัง แทนที่จะพูดคำที่ไม่น่าฟังก็ได้ แต่บางคนก็ลืม สะสมมาที่จะเป็นคนตรงจนพูดคำที่ ไม่น่าฟังเพราะเผลอ และลืมที่จะสำรวมวาจา ลืมที่จะขัดเกลากิเลส ซึ่งถ้าขณะใด ที่มีทิฏฐุชุกรรม มีความเห็นถูกว่า ขณะใดเป็นกุศล ขณะใดเป็นอกุศลที่ควรละ ก็จะทำให้สะสมเป็นอุปนิสัยเพิ่มขึ้น

    ขอเพิ่มเติมอีกเล็กน้อยสำหรับเรื่องของการสละกิเลส ในเรื่องของจาคาธิษฐาน ในเรื่องของศีล คือ กาย วาจา แล้วยังต้องเป็นผู้สำรวมอินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

    แม้เป็นชีวิตประจำวันและคิดว่าเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่ให้เห็นว่า ขณะใดที่กุศลจิตเกิด จะต่างกับขณะที่อกุศลจิตเกิด ถ้าอกุศลจิตเกิด ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจไม่น่าดู เป็นไปในอกุศล แต่เวลาที่กุศลจิตเกิด จะสำรวม เรียบร้อย น่าดู ทั้งตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

    อย่างตาก็จะรู้ได้ว่า เวลาที่อกุศลจิตเกิด ล่อกแล่ก หลุกหลิก สอดส่าย หรือไม่ก็หาเรื่อง เป็นได้จริงๆ ตามองเห็นทุกอย่าง ถ้าเป็นผู้สำรวมตาก็จะรู้ได้ว่า ขณะนั้นแม้แต่การดู ก็ดูอย่างไม่ล่อกแล่ก ไม่หลุกหลิก ไม่สอดส่าย และไม่หาเรื่อง เรื่องที่จะเกิดนี่ก็เพราะตาเห็น และเมื่อไม่สำรวมก็เห็นผิด เข้าใจผิด และเรื่องทั้งหมด ก็เลยผิด ทำให้เป็นเรื่องที่ใหญ่โตขึ้น นี่ก็แสดงให้เห็นถึงการไม่สำรวมตา

    สำรวมหู ก็จะสังเกตได้อีก ในชีวิตประจำวันมีเรื่องที่หูต้องได้ยินบ่อย ได้ยิน ได้ฟัง หลีกเลี่ยงไม่ได้เลย แต่ถ้าเป็นผู้สำรวมหูก็ไม่สนใจซอกแซกฟังเรื่องไร้สาระ นี่ก็สังเกตได้ในชีวิตประจำวัน แต่ละคนต้องรู้จักตนเอง และเกิดสติสัมปชัญญะ ที่จะรู้ว่าขณะนั้นสำรวมหรือเปล่า ถ้าไม่สำรวม ซอกแซกแน่นอน สนใจที่จะฟังเรื่อง ไร้สาระ

    สำหรับจมูก ก็มีการสำรวมได้เช่นเดียวกัน คือ เป็นผู้ที่ไม่หมกมุ่น ไม่ติดข้อง ไม่แสวงหากลิ่นที่เย้ายวน หรือทำให้เดือดร้อนใจ บางคนติดกลิ่น และชอบกลิ่นมาก แม้แต่กลิ่นดอกไม้ จะต้องขวนขวายเดือดร้อน ทุกอย่างจะสังเกตได้ว่า ถ้ามีความสำรวมเพิ่มขึ้น ความเดือดร้อนทั้งหมดก็จะค่อยๆ เบาบางลง

    สำรวมกาย ก็ไม่จุ้นจ้าน ไม่ตลกคะนอง ไม่รังแก ไม่เบียดเบียน ซึ่งทั้งหมดเหล่านี้จะเห็นได้ทั้งตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

    ใจที่สำรวม คือ ใจที่ไม่กังวลหมกมุ่นคิดเรื่องที่ทำให้ใจไม่สบาย เพราะหลายคนเหลือเกินอยากจะเรียนให้ทราบว่า น่าจะมีความสุขมากๆ ไม่ควรที่จะมีอะไรที่ ไม่สบายใจเลย ดูเหมือนเป็นผู้ที่สบายพร้อม แต่กลับคิดถึงเรื่องที่ทำให้ใจไม่สบาย อยู่เรื่อยๆ ซึ่งถ้าขณะนั้นมีการรู้สึกว่าเป็นอกุศล ก็จะทำให้ไม่คิดในเรื่องที่ทำให้ ใจไม่สบาย คือ ไม่คิดเรื่องที่จะทำให้โกรธคนอื่น ไม่คิดที่จะริษยา ไม่คิดที่จะมานะ พร้อมที่จะเป็นผ้าเช็ดธุลี ถ้าเป็นอย่างนี้ได้ วันหนึ่งๆ ก็เป็นผู้ที่สำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และเป็นการสละกิเลส เป็นจาคาธิษฐาน

    ถ้าไม่มีความมั่นคงในการสละกิเลส เพียงแต่จะให้ทานวัตถุเพื่อประโยชน์สุข แก่บุคคลอื่น แต่ลืมคิดถึงตัวเองที่จะต้องขัดเกลา ก็ยากแก่การที่จะถึงฝั่งได้ เพราะว่าเป็นผู้ที่ยังไม่มั่นคงในอธิษฐานธรรม ๔

    และถ้าเป็นผู้ที่เห็นประโยชน์ของจาคาธิษฐาน มีความมั่นคงในการระงับ ขัดเกลากิเลสแล้ว ผู้นั้นยังต้องมีความมั่นคงในความสงบจากกิเลสซึ่งเป็น อุปสมาธิษฐานด้วย

    อธิษฐานธรรมที่ ๓ อุปสมาธิษฐาน อุปสมาธิษฐาน คือ ความพอใจในความสงบ โกรธกับไม่โกรธอย่างไหนดี เห็นโทษหรือยังว่าโกรธไม่ดีแน่ ไม่โกรธดีกว่า ถ้าเห็นประโยชน์จริงๆ ด้วยปัญญา ผู้นั้นจะค่อยๆ ละคลายความโกรธ และเห็นประโยชน์ของความสงบ มั่นคง ในความสงบ เป็นอุปสมาธิษฐาน

    ความสงบจิตใจจากกิเลส ต้องเป็นความสงบจากการเกี่ยวข้องวุ่นวายกับ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งเกื้อกูลต่อเนกขัมมบารมี สำหรับเนกขัมมบารมี ซึ่งเป็นการออกจากกามนั้น ถึงแม้ว่ายังไม่ใช่เพศบรรพชิต แต่ผู้ที่เป็นคฤหัสถ์นั้น ก็ค่อยๆ ปลีกออกจากการติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ หรือ การครองเรือน โดยเป็นคฤหัสถ์ที่ไม่ครองเรือนได้ เพราะเห็นโทษของภาระผูกพันเหนียวแน่นในชีวิตของครอบครัวแต่ละภพแต่ละชาติ

    ถ้าเป็นอย่างนี้จริงๆ จะทำให้ผู้นั้นเป็นผู้ที่เห็นประโยชน์ในความสงบ และ มีความมั่นคงในการเป็นผู้ที่พอใจในความสงบซึ่งเป็นอุปสมาธิษฐาน และจะมี ความมั่นคงพอใจในความสงบเช่นนี้ได้ ก็ต้องเป็นด้วยปัญญาธิษฐาน ซึ่งเป็น อธิษฐานธรรมที่ ๔ อธิษฐานธรรมเป็นไป ๔ อย่าง ตามที่ได้กล่าวถึงแล้ว คือ เป็นสัจจาธิษฐาน ๑ เป็นจาคาธิษฐาน ๑ เป็นอุปสมาธิษฐาน ๑ และเป็นปัญญาธิษฐาน ๑

    สำหรับการที่จะสะสมปัญญานั้น ก็ต้องฟังพระธรรม พิจารณา สอบถาม อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล อะไรมีโทษ อะไรไม่มีโทษ จำแนกกรรม ผลของกรรม เมื่อฟังพระธรรมแล้วก็พิจารณาในเหตุผล ในสภาพธรรม ตรงตามความเป็นจริง ตามแต่โอกาสที่สามารถรับฟังพระธรรมได้ในชาติหนึ่งๆ

    ถ้าเป็นผู้ประมาทในการฟังธรรม ถึงแม้ว่ากาลครั้งหนึ่งคิดที่จะออกจากสังสารวัฏฏ์ ก็เป็นเพียงกาลครั้งหนึ่ง ครั้งเดียว หรือสองครั้ง สามครั้งเท่านั้น ยังไม่มั่นคงพอ ต้องเพิ่มปัญญาธิษฐานด้วย จึงสามารถมีความมั่นคงขึ้น

    บารมี ๑๐ ต่อจากอธิษฐานบารมีที่ได้กล่าวถึงแล้ว คือ เมตตาบารมี ซึ่งก็ได้กล่าวถึงแล้วมากทีเดียว และเมื่อได้พูดถึงอธิษฐานบารมี ก็จะเห็นได้ว่า ผู้ที่ดำรงมั่น ในการเจริญกุศลเพื่อขัดเกลากิเลสเป็นผู้ที่มีอธิษฐานบารมีนั้น เป็นผู้มีปกติอยู่ด้วยเมตตา นี่คือข้อความในอรรถกถา ซึ่งเป็นเครื่องตรวจสอบความมั่นคงในการเจริญกุศลของตนเองจริงๆ ที่ว่า ผู้ที่มีอธิษฐานบารมี มีความมั่นคงที่จะขัดเกลากิเลส เป็นผู้ที่มีปกติอยู่ด้วยเมตตา

    เพราะฉะนั้น ใครก็ตามเป็นผู้ไม่โกรธ และมีปกติอยู่ด้วยเมตตา ก็แสดงว่า ผู้นั้นเป็นผู้ที่เห็นประโยชน์ของการไม่โกรธ เห็นประโยชน์ของการเจริญบารมีเพื่อที่จะ ขัดเกลากิเลสด้วย

    สำหรับเมตตาที่จะต้องเข้าใจให้ถูก คือ เป็นสภาพของจิตที่มีความเป็นมิตร เพราะฉะนั้น ไม่เกี่ยวกับการท่อง ไม่เกี่ยวกับการแผ่เมตตา แต่เป็นขณะที่มีสัตว์ มีบุคคล ไม่ว่าจะเป็น ณ สถานที่ใดก็ตาม และบุคคลนั้นจะเป็นใครก็ตาม ถ้าเป็นผู้ที่ มีปกติอยู่ด้วยเมตตา ก็เป็นผู้ที่พร้อมจะเกื้อกูลบุคคลนั้น

    ด้วยเหตุนี้เมตตาจึงเป็นพรหมวิหาร หมายความว่าเป็นธรรมเครื่องอยู่ ที่ประเสริฐ และสำหรับจิตของผู้ที่มีเมตตาที่จะตรวจสอบว่ามีความมั่นคงเพียงใดนั้น ใกล้ที่จะมีความประพฤติตามพระโพธิสัตว์หรือไม่ ข้อความใน ขุททกนิกาย จริยาปิฎก มีว่า

    อนึ่ง จิตของมหาบุรุษนั้นถึงความสงัดตั้งมั่นโดยไม่ยาก ความเป็นผู้มีจิตเมตตาย่อมตั้งอยู่แม้ในฝ่ายที่เป็นศัตรูอย่างเร็ว

    แสดงว่าไม่มีใครที่จะเป็นศัตรูได้ ท่านอาจจะคิดขุ่นเคืองใจ และคิดว่าบุคคลนั้นบุคคลนี้เป็นผู้ที่ตัดรอนประโยชน์ของท่านด้วยประการใดๆ ก็ตาม แต่ถ้าเป็นผู้ที่ สะสมกุศลและมีความตั้งมั่นในการขัดเกลากิเลสแล้ว จิตของบุคคลนั้นจะสงบตั้งมั่น ได้ไม่ยาก และจะเป็นผู้ที่มีจิตเมตตาแม้ในฝ่ายที่เป็นศัตรูอย่างเร็ว

    ถ้าเกิดโกรธใครนิดหนึ่งขึ้นมาแล้ว สักครู่หนึ่งก็หมดแล้ว หายแล้ว เปลี่ยนเป็นความเมตตา นั่นคือผู้ที่สะสมบารมีเหมือนกับจิตของพระโพธิสัตว์ ซึ่งตั้งมั่นโดยไม่ยาก และมีจิตเมตตาตั้งอยู่แม้ในฝ่ายที่เป็นศัตรูอย่างเร็ว

    ต่อไปนี้ก็สังเกตได้ โกรธใครนานหรือเปล่า ถ้าเปลี่ยนเป็นเมตตาได้เร็ว ก็แสดงว่าเป็นผู้ที่สะสมการขัดเกลากิเลส

    สำหรับเมตตาที่เป็นพรหมวิหาร เป็นธรรมเครื่องอยู่ของพรหม ซึ่งพรหมวิหารมี ๔ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

    เมตตา ได้แก่ อโทสเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่ระงับสงบโทสะ

    กรุณา ได้แก่ กรุณาเจตสิก เป็นขณะที่มีเมตตา ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ระงับความเบียดเบียน

    มุทิตา ได้แก่ มุทิตาเจตสิก เป็นสภาพที่พลอยยินดีกับความสุขของคนอื่น

    อุเบกขา ได้แก่ ตัตรมัชฌัตตตา เป็นสภาพธรรมที่ระงับโลภะและโทสะ

    ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนใดๆ ทั้งสิ้นตั้งแต่เกิดจนตาย แม้ขณะที่ มีเมตตาก็เป็นอโทสเจตสิก ขณะที่มีความกรุณา มีความอาทรห่วงใยใคร่เกื้อกูลผู้ที่กำลังเป็นทุกข์ ขณะนั้นก็เป็นกรุณาเจตสิก


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 2
    3 พ.ย. 2566

    ซีดีแนะนำ