บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 38


    ดำริว่า สิ่งที่มีอันจะแตกไปเป็นธรรมดา ย่อมแตกไป สังขารทั้งปวงไม่เที่ยงหนอ มีคติอย่างนี้เอง แล้วนั่งบนแผ่นกระดานที่นางนอนอยู่นั่นแหละ บริโภคโภชนะอันระคนกัน แล้วบ้วนปาก

    เป็นความอดทนที่ได้สะสมมาที่จะไม่เศร้าโศกเลย เพราะรู้ว่าเป็นธรรมดา ทั้งๆ ที่มหาชนทั้งหลายไม่ได้เกี่ยวข้องกับนางดาบสนั้นเลยร้องไห้คร่ำครวญ เมื่อเห็นรูปสมบัติของนาง แต่พระโพธิสัตว์เห็นความเป็นธรรมดาของสิ่งที่ไม่เที่ยง สิ่งที่มีอันจะแตกไปเป็นธรรมดา นั่งบนแผ่นกระดานที่นางนอนอยู่นั่นแหละ บริโภคโภชนะอันระคนกัน แล้วบ้วนปาก

    มหาชนที่ยืนห้อมล้อมถามว่า

    ท่านผู้เจริญ ปริพาชิกานี้เป็นอะไรกับท่าน

    พระโพธิสัตว์กล่าวว่า

    เมื่อเวลาเป็นคฤหัสถ์ นางเป็นบาทบริจาริกาของเรา

    มหาชนกล่าวว่า

    ท่านผู้เจริญ พวกเรายังอดทนไม่ได้ก่อน พากันร้องไห้ร่ำไร เพราะเหตุไร ท่านจึงไม่ร้องไห้

    พระโพธิสัตว์กล่าวว่า

    นางปริพาชิกานี้เมื่อยังมีชีวิตอยู่ย่อมเป็นอะไรๆ กับเรา บัดนี้ไม่เป็น อะไรๆ กัน เพราะนางเป็นผู้สมัครสมานกับปรโลก ไปสู่อำนาจของคนอื่นแล้ว เราจะร้องไห้เพราะอะไร

    เมื่อจะแสดงธรรมแก่มหาชน จึงได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า

    นางสัมมิลลหาสินีผู้เจริญ ได้ไปอยู่ในระหว่างพวกสัตว์ที่ตายไปแล้วเป็นจำนวนมาก เมื่อนางไปอยู่กับพวกสัตว์เหล่านั้น จักชื่อว่าเป็นอะไรกับเรา เพราะฉะนั้น เราจึงมิได้เศร้าโศกถึงนางสัมมิลลหาสินีผู้เป็นที่รักนี้

    ถ้าบุคคลจะเศร้าโศก ถึงสิ่งที่ไม่มีแก่สัตว์ผู้เศร้าโศกนั้น พึงเศร้าโศกถึงตน ซึ่งตกอยู่ในอำนาจของมัจจุราชอยู่ทุกเวลา

    อายุสังขารใช่ว่าจะติดตามเฉพาะสัตว์ผู้ยืน นั่ง นอน หรือเดินอยู่เท่านั้น ก็หาไม่ แม้ในเวลาชั่วลืมตา หลับตาวัยก็เสื่อมไปแล้ว

    ในอัตภาพซึ่งเป็นทางอันตรายนั้นหนอ ต้องมีความพลัดพรากจากกันโดย ไม่ต้องสงสัย หมู่สัตว์ที่ยังอยู่ควรเอ็นดูกัน ส่วนที่ตายไปแล้วไม่ควรเศร้าโศกถึง

    ถ้าท่านผู้ฟังทบทวนคาถาที่พระโพธิสัตว์กล่าว จะเห็นได้ว่า เป็นการกล่าวถึงสภาพธรรมในขณะนี้ซึ่งไม่เที่ยง เช่น ข้อความที่ว่า ถ้าบุคคลจะเศร้าโศก ถึงสิ่งที่ไม่มีแก่สัตว์ผู้เศร้าโศกนั้น พึงเศร้าโศกถึงตนซึ่งตกอยู่ในอำนาจของมัจจุราชอยู่ทุกเวลาแทนที่จะให้คิดถึงนางสัมมิลลหาสินี กลับให้ผู้ฟังย้อนระลึกถึงตนเองทุกคน ซึ่งทุกขณะนามธรรมและรูปธรรมดับไปไม่เหลือ เหมือนคนที่ตายจากไปก็ไม่เหลืออะไรอีกแล้ว สิ้นสภาพความเป็นบุคคลนั้นฉันใด นามธรรมและรูปธรรมของทุกท่านในขณะนี้ ก็เหมือนกันฉันนั้น คือ จากไป ดับไปอยู่ทุกขณะ เพราะฉะนั้น ถ้าจะเศร้าโศกถึง ผู้ที่ตายจากไป ก็ควรเศร้าโศกถึงนามธรรมและรูปธรรมซึ่งกำลังดับไปในขณะนี้ด้วย

    นี่คือผู้ที่เห็นชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่เที่ยงในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ เพราะว่า อายุสังขารใช่ว่าจะติดตามเฉพาะสัตว์ผู้ยืน นั่ง นอน หรือเดินอยู่เท่านั้น ก็หาไม่ คือ ไม่ต้องจากนั่งไปเป็นนอน จากนอนไปเป็นยืน หรือจากยืนไปเป็นเดิน แม้ในเวลาชั่วลืมตา หลับตาวัยก็เสื่อมไปแล้ว

    ในอัตภาพซึ่งเป็นทางอันตรายนั้นหนอ ต้องมีความพลัดพรากจากกันโดย ไม่ต้องสงสัย หมู่สัตว์ที่ยังอยู่ควรเอ็นดูกัน ส่วนที่ตายไปแล้วไม่ควรเศร้าโศกถึง

    จะมีความอดทนอย่างนี้ไหม เวลาที่มีการพลัดพราก การจากไปของเพื่อนสนิทมิตรสหาย หรือญาติที่คุ้นเคย ขณะใดที่เศร้าโศก ขณะนั้นถ้าสติเกิดระลึกได้จะรู้ว่า ขณะนั้นไม่อดทน และถ้าเศร้าโศกถึงคนที่ตายจริงๆ ก็เศร้าโศกถึงนามธรรมและรูปธรรมของตัวเองในขณะนี้ซึ่งเกิดและดับไปไม่เหลือเลยด้วย

    ข้อความต่อไปมีว่า

    พระมหาสัตว์เมื่อแสดงอาการไม่เที่ยงด้วยคาถา ๔ คาถาอย่างนี้ แสดงธรรมแล้ว มหาชนพากันกระทำฌาปนกิจสรีระของนางปริพาชิกาแล้ว พระมหาสัตว์เข้าไปยังป่าหิมวันต์ ทำฌานและอภิญญาให้เกิด ได้มีพรหมโลกเป็นที่ไปในเบื้องหน้า

    พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว จึงทรงประกาศสัจจะ แล้วทรงประชุมชาดก ในเวลาจบสัจจะ กุฎุมพีได้ดำรงอยู่ในโสตาปัตติผล นางสัมมิลลหาสินีในครั้งนั้นได้เป็นราหุลมารดา ส่วนดาบสในครั้งนั้นได้เป็นเราตถาคต ฉะนี้แล

    ถ้าในขณะที่ฟังเข้าใจความหมายจริงๆ อย่างกุฎุมพีท่านนั้น ที่ว่า ถ้าบุคคลจะเศร้าโศกถึงสิ่งที่ไม่มีแก่สัตว์ผู้เศร้าโศกนั้น พึงเศร้าโศกถึงตนซึ่งตกอยู่ในอำนาจของมัจจุราชอยู่ทุกเวลา ก็สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ เพราะไม่ใช่เพียงคิด แต่ในขณะที่ฟัง รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นตามความเป็นจริง

    จะเห็นได้ว่า ผู้ที่ยังรักตัว ยังยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ต้องการ ให้ตัวตนมีความสุข ก็คงเป็นผู้ที่คิดว่า ชีวิตจะเป็นสุขได้ ต้องเป็นชีวิตที่มีทรัพย์สมบัติ เพราะฉะนั้น ทุกคนก็มีโลภะที่จะแสวงหาสมบัติให้ตาเห็น ให้หูได้ยิน ให้จมูกได้กลิ่น ให้ลิ้นลิ้มรส ให้กายกระทบสัมผัสสิ่งที่น่าพอใจ แต่ต่างกับสมบัติในพระธรรมซึ่งมี ๒ อย่าง คือ ประเภทหนึ่งทำให้ติดข้องวนเวียนไปในสังสารวัฏฏ์ อีกประเภทหนึ่ง ทำให้ละคลายความติดข้อง ทำให้ไปสู่ทางดับ ไม่ใช่ไปสู่ทางเกิด

    อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ปฐมธนสูตรที่ ๕

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ทรัพย์ ๗ ประการนี้ ๗ ประการเป็นไฉน คือ ทรัพย์คือศรัทธา ๑ ศีล ๑ หิริ ๑ โอตตัปปะ ๑ สุตตะ ๑ จาคะ ๑ ปัญญา ๑ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ทรัพย์ ๗ ประการนี้แล

    ทรัพย์ คือ ศรัทธา ศีล หิริ โอตตัปปะ สุตตะ จาคะ และปัญญาเป็นที่ ๗ ทรัพย์เหล่านี้มีแก่ผู้ใด เป็นหญิงหรือชายก็ตาม บัณฑิตเรียกผู้นั้นว่า เป็นผู้ไม่ยากจน ชีวิตของผู้นั้นไม่เปล่าประโยชน์ เพราะฉะนั้น ท่านผู้มีปัญญา เมื่อระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า พึงประกอบศรัทธา ศีล ความเลื่อมใส และการเห็นธรรม

    ถึงเวลาเลือกแล้วใช่ไหม จะเลือกทรัพย์ประเภทไหน ต้องการไหมทรัพย์ ๗ ประการ คือ ศรัทธา ๑ ศีล ๑ หิริ ๑ โอตตัปปะ ๑ สุตตะ ๑ จาคะ ๑ ปัญญา ๑ หรือว่าไม่เอา ยังไม่ยอมแลกกับสมบัติทางโลก ถ้าจะให้แลกก็ไม่ยอม

    แต่ผู้ที่มีปัญญาจริงๆ สมบัติทั้งโลกจะแลกกับสมบัติ คือ ศรัทธา ศีล หิริ โอตตัปปะ สุตตะ จาคะ และปัญญาไม่ได้ ผู้ที่เห็นคุณค่าของทรัพย์ ๗ ประการ ที่เป็นสมบัติหรือทรัพย์ทางธรรมแล้ว จะไม่ยอมแลกด้วยทรัพย์สมบัติใดๆ ทางโลกทั้งสิ้น ตรงกันข้ามผู้ที่ยังไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่ได้พิจารณาเห็นประโยชน์ของทรัพย์ ๗ ประการทางธรรม ก็ยังคงพอใจที่จะเลือกทรัพย์สมบัติทางโลกอยู่

    แสดงให้เห็นถึงการสะสมปัญญาจริงๆ ที่จะต้องพิจารณาเห็นว่า ทรัพย์อื่น ไม่สามารถติดตามไปได้ เพราะว่าชั่วตาเห็น แล้วทรัพย์นั้นจะหมดสิ้นไปเมื่อไรก็ได้

    อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต อุคคสูตร ข้อ ๗ มีข้อความว่า

    ครั้งนั้นแล มหาอำมาตย์ของพระราชาชื่อว่าอุคคะได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ไม่เคยมีมา โดยเหตุที่มิคารเศรษฐีผู้เป็นหลานโรหณเศรษฐี เป็นผู้มั่งคั่งมีทรัพย์มาก มีโภคสมบัติมากถึงเพียงนี้

    พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า

    ดูกร อุคคะ ก็มิคารเศรษฐีหลานโรหณเศรษฐีมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคสมบัติมากสักเท่าไร

    ท่านอุคคะกราบทูลว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มีทองแสนลิ่ม จะกล่าวไปไยถึงเงิน

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร อุคคะ ทรัพย์นั้นมีอยู่แล เรามิได้กล่าวว่าไม่มี แต่ทรัพย์นั้นแลเป็นของทั่วไปแก่ไฟ น้ำ พระราชา โจร ทายาทผู้ไม่เป็นที่รัก

    ดูกร อุคคะ ทรัพย์ ๗ ประการนี้แล ไม่ทั่วไปแก่ไฟ น้ำ พระราชา โจร ทายาทผู้ไม่เป็นที่รัก ๗ ประการเป็นไฉน คือ ทรัพย์คือศรัทธา ๑ ศีล ๑ หิริ ๑ โอตตัปปะ ๑ สุตะ (คือ การฟังพระธรรม) ๑ จาคะ ๑ ปัญญา ๑

    ดูกร อุคคะ ทรัพย์ ๗ ประการนี้แล ไม่ทั่วไปแก่ไฟ น้ำ พระราชา โจร ทายาทผู้ไม่เป็นที่รัก

    ทรัพย์ คือ ศรัทธา ศีล หิริ โอตตัปปะ สุตะ จาคะ และปัญญาเป็นที่ ๗ ทรัพย์เหล่านี้มีแก่ผู้ใด เป็นหญิงหรือชายก็ตาม เป็นผู้มีทรัพย์มากในโลก อันอะไรๆ พึงผจญไม่ได้ในเทวดาและมนุษย์ เพราะฉะนั้น ท่านผู้มีปัญญา เมื่อระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย พึงประกอบศรัทธา ศีล ความเลื่อมใส และการเห็นธรรม

    พอที่จะเลือกได้แล้วใช่ไหม จะเอาอะไรมาแลกอะไร จะยอมหรือไม่ยอมอย่างไร ในขณะนี้กำลังฟังพระธรรม กำลังมีหิริ มีโอตตัปปะ มีศรัทธา และกำลังอบรมเจริญปัญญาที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมจนกว่าจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม

    ท่านผู้ฟังในขณะนี้กำลังหลีกเร้น ด้วยการฟังพระธรรม เพราะว่าไม่ได้ คล้อยตามไปกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เหมือนในขณะอื่นซึ่งไม่ได้ฟังพระธรรม

    บางท่านที่พอใจในคำว่า มุนี หรือความหมายของผู้สงบ หรือผู้หลีกเร้น ดูเหมือนเป็นการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น ควรที่จะได้เข้าใจความหมายของมุนี โมเนยยะ หรือการปฏิบัติเพื่อการหลีกเร้น ซึ่งหมายความถึงปัญญาและการเจริญปัญญา ไม่ได้หมายความถึงสถานที่ หรือการกระทำใดๆ โดยที่ไม่เกี่ยวข้องกับ บุคคลอื่น แต่ปัญญาไม่เกิด

    เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่า การอบรมเจริญปฏิบัติในพระพุทธศาสนานั้น เป็นเรื่องของการอบรมเจริญปัญญาทั้งสิ้น แม้แต่ความหมายของคำว่า หลีกเร้น สงบจากความวุ่นวาย ซึ่งใน ขุททกนิกาย มหานิทเทส อัฏฐกวรรค ชราสุตตนิทเทสที่ ๖ ข้อ ๒๐๙ มีข้อความว่า

    พระเสกขะ ๗ จำพวก (เว้นอรหัตตผล) เรียกว่า ผู้ประพฤติหลีกเร้น พระอรหันต์ เรียกว่า ผู้หลีกเร้น

    นี่คือความต่างกัน ผู้ที่ประพฤติหลีกเร้น กับผู้ที่หลีกเร้นแล้ว

    พระเสกขะ ๗ จำพวก เรียกว่า ผู้ประพฤติหลีกเร้น เพราะเหตุไร

    พระเสกขะเหล่านั้น ยังจิตให้หลีกเร้น หดกลับ ถอยกลับ ปิดกั้น ข่ม ห้าม รักษา คุ้มครองจิตจากอารมณ์นั้นๆ ย่อมประพฤติ อยู่ เป็นไป หมุนไป รักษา ดำเนินไป ให้อัตภาพดำเนินไป ยังจิตให้หลีกเร้น หดกลับ ถอยกลับ ปิดกั้น ข่ม ห้าม รักษา คุ้มครองจิตจากอารมณ์นั้นๆ ในจักขุทวาร ประพฤติ อยู่ เป็นไป หมุนไป รักษา ดำเนินไป ให้อัตภาพดำเนินไป ยังจิตให้หลีกเร้น หดกลับ ถอยกลับ ปิดกั้น ข่ม ห้าม รักษา คุ้มครองจิตจากอารมณ์นั้นๆ ในโสตทวาร ... ในฆานทวาร ... ในชิวหาทวาร ... ในกายทวาร ... ในมโนทวาร ... เปรียบเหมือนขนไก่หรือเส้นเอ็นที่ใส่เข้าไปในไฟ ย่อมหด งอ ม้วน ไม่คลี่ออก ฉะนั้น

    เหมือนคนอื่นหรือเปล่า หรือเหมือนทุกท่านที่กำลังประพฤติเป็นไปด้วย การอบรมเจริญสติปัฏฐาน เพราะในขณะนั้นมีการที่จะ หดกลับ ถอยกลับ รักษา คุ้มครองจิตจากอารมณ์นั้นๆ ในจักขุทวาร ประพฤติ อยู่ เป็นไป หมุนไป รักษา ดำเนินไป ให้อัตภาพดำเนินไป ยังจิตให้หลีกเร้น หดกลับ ถอยกลับ ปิดกั้น ข่ม ห้าม รักษา คุ้มครองจิตจากอารมณ์นั้นๆ ในโสตทวาร ... ในฆานทวาร ... ในชิวหาทวาร ... ในกายทวาร ... ในมโนทวาร ...

    ชั่วขณะหนึ่งๆ ที่สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม คือ ในขณะนี้ เพราะฉะนั้น สำหรับผู้ที่ยังไม่ใช่พระอรหันต์ ก็เป็นผู้ที่กำลังประพฤติหลีกเร้น โดยไม่ใช่จะต้องไปสู่ที่หนึ่งที่ใด แต่ขณะใดที่ตาเห็น ที่จะไม่เป็นไปกับเรื่องราวต่างๆ ก็โดยการที่สติระลึกและค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ว่า เป็นนามธรรมและเป็นรูปธรรม แล้วแต่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซึ่งวันหนึ่งๆ ก็คงจะน้อยมาก แต่ก็เป็นหนทางถูก หนทางตรง ที่จะทำให้ปัญญาค่อยๆ รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมขึ้น

    เรื่องของสัจจธรรมเป็นความจริงที่น่ารู้ น่าเข้าใจให้ถูกต้อง เพราะว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้น สภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรมเป็นสัจจธรรมนั้น ไม่ว่าจะเป็นอกุศลหรือเป็นกุศล ก็เป็นสิ่งที่ปัญญาจะต้องพิจารณาจนประจักษ์แจ้งว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    ถ้าทุกท่านเพียงแต่จะคิดถึงเรื่องกุศลธรรม และไม่รู้อกุศลธรรมที่มีปัจจัย ปรุงแต่งเกิดขึ้นเป็นประจำ ย่อมไม่ชื่อว่ารู้ธรรมทั่ว เพราะในวันหนึ่งๆ นั้น กุศลธรรม หรืออกุศลธรรมมีมากกว่า ที่จะสามารถรู้ได้บ่อยๆ ในวันหนึ่งๆ โดยเฉพาะเรื่องของโลภะ เป็นเรื่องน่าสนใจที่จะรู้ความจริงว่า แต่ละบุคคลมีมากจริงๆ และไม่ควรประมาทโลภะเลย เพราะว่าโลภะเป็นสภาพธรรมที่เป็นเจตสิกที่ติดข้องในอารมณ์ ที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ และไม่ว่าจะจำแนก อกุศลธรรมเป็นประเภทใดๆ โลภะก็รวมอยู่ในอกุศลธรรมประเภทนั้นๆ ทั้งหมด ไม่ขาดเลย ไม่ว่าจะโดยประเภทที่เป็นอาสวะ โอฆะ โยคะ อุปาทาน คันถะ นิวรณ์ สังโยชน์ กิเลส อนุสัย วิปลาส ซึ่งแม้อวิชชาก็ยังไม่รวมอยู่ในทุกหมวดเช่นโลภะ เช่น อวิชชาไม่เป็นอุปาทานและไม่เป็นคันถะ

    เพราะฉะนั้น โลภะมีมาก แต่ทำไมไม่เห็นโลภะ วันนี้โลภะมากมายจริงๆ แต่มีขณะไหนที่เห็นโลภะบ้าง ได้แต่เรียกชื่อของโลภะ เรียกชื่อของโลภะนี่เรียกได้ แต่ตัวโลภะจริงๆ ซึ่งเกิดอยู่เป็นประจำทุกวันยากที่จะเห็นได้ ถ้าไม่ใช่เป็นผู้ที่มีปกติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมทางตาที่เห็น เพราะเมื่อเห็นแล้วโลภะก็เกิดต่อ ทางหู ที่ได้ยินนั่นเอง เมื่อได้ยินแล้วโลภะก็เกิดต่อ ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ โดยนัยเดียวกัน

    ชีวิตในวันหนึ่งๆ ก็เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึก และโลภะซึ่งเกิดต่อจากเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึก ในวันหนึ่งๆ นี่มากมาย และไม่ใช่แต่เฉพาะชาตินี้ชาติเดียว ตั้งกี่ชาติมาแล้ว ในสังสารวัฏฏ์ แสดงให้เห็นถึงความหนาแน่น ความยากที่จะขัดเกลา ทั้งๆ ที่รู้ว่าโลภะเป็นอกุศลธรรม เป็นสภาพธรรมที่เป็นสมุทัย เป็นเหตุให้เกิดสังสารวัฏฏ์

    ในอดีตชาติไม่มีใครสามารถรู้ได้ว่า โลภะของใครมากและรุนแรงแค่ไหน ชาตินี้พอจะรู้ได้ พอจะจำได้ พอจะนึกถึงได้ แต่ชาติก่อนไม่มีทางรู้ได้เลย แต่จะเห็นได้ว่า แม้ในอดีตอนันตชาติซึ่งแต่ละท่านก็มีโลภะสะสมมาแล้วมากนั้น ก็มีผู้ที่อบรมเจริญกุศล สะสมกุศลซึ่งเป็นพละ สามารถละอกุศลได้ในที่สุด

    ขอกล่าวถึงพระชาติหนึ่งของพระโพธิสัตว์ ซึ่งพระองค์ทรงพิจารณาเห็นอกุศลตามความเป็นจริงว่ามีมาก และการพากเพียรที่จะออกจากความติดข้องในกาม คือ ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะนั้นยากเพียงไร

    นี่เป็นเรื่องในอดีต ซึ่งการที่จะละโลภะนั้นยากเสมอ ไม่ว่าจะในชาติไหนก็ตาม

    อรรถกถา สัตตกนิบาตชาดก อรรถกถา สุสีมชาดกที่ ๖

    พระโพธิสัตว์ทรงพิจารณาขณะจิตที่พยายามออกจากความติดข้องในกาม คือ ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งข้อความที่พระองค์ทรงพิจารณามีว่า

    บุรุษผู้ป่วยไม่สามารถพลิกตัวได้ด้วยกำลังของตนเอง ผู้พยาบาลต้องผูกเชือกสำหรับเหนี่ยวไว้ โดยบอกว่า จงเหนี่ยวเชือกนี้พลิกตัว เมื่อเขาเหนี่ยวเชือกนั้นพลิกตัว ก็คงมีความสุขกายและความสุขใจหาน้อยไม่ ฉันใด เมื่อสัตว์ทั้งหลายผู้เร่าร้อน เพราะกิเลสก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไม่สามารถจะพลิกใจได้ ด้วยสามารถแห่งความสุข เกิดแต่วิเวก

    แน่นอนที่สุดทุกคนก็ต้องยอมรับว่า ถ้าไม่มีความติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะแล้ว จะสงบจริงๆ เป็นความสุขที่เกิดแต่วิเวก สงัดจากความ ติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แต่ทำอย่างไรจึงจะพลิกใจจากความติดข้องไปสู่การละความติดข้องได้ ซึ่งก็ต้องอาศัยหลายทางที่จะสะสมกุศลเป็นบารมี จนกว่าจะสามารถละได้จริงๆ

    ความคิดเกิดแก่พระโพธิสัตว์ในพระชาติในอดีตกาล

    เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชย์สมบัติในพระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์เป็นบุตรของปุโรหิต ท่านมีนามว่า สุสีมกุมาร ส่วนพระโอรสของพระเจ้าพาราณสี มีพระนามว่า พรหมทัตกุมาร กุมารทั้ง ๒ เติบโตมาด้วยกัน และเรียนศิลปะทุกอย่างที่เมืองตักกสิลา เมื่อสำเร็จกลับมาแล้วพรหมทัตกุมารทรงเป็นพระอุปราช และเมื่อสิ้นรัชกาลของบิดาแล้วก็ได้ครองราชย์ และทรงตั้งสุสีมกุมารเป็นปุโรหิต

    วันหนึ่งพระราชาประทับนั่งบนคอช้างต้น แล้วให้พระโพธิสัตว์นั่งบนหลังช้าง ณ ที่นั่งด้านหลัง ทรงทำประทักษิณพระนคร

    สมเด็จพระราชชนนีประทับยืนมองดูที่ช่องพระแกล ทอดพระเนตรเห็นปุโรหิตนั่งเบื้องหลังพระราชา ทรงมีพระทัยปฏิพัทธ์ ไม่ยอมเสวย พระราชาทรงทราบ จึงเสด็จไปตรัสถาม แต่พระราชชนนีไม่ตรัสบอกเพราะทรงละอาย พระราชาจึงรับสั่งให้พระมเหสีไปทูลถาม พระราชชนนีจึงตรัสบอก

    พระราชาจึงทรงรบเร้าให้ปุโรหิตรับเป็นพระราชา และทรงตั้งพระราชชนนีให้เป็นมเหสี ส่วนพระองค์ทรงเป็นอุปราช

    นี่เป็นเรื่องของโลภะในอดีตชาติ ซึ่งไม่ทราบว่าเป็นอย่างไรมาอย่างไรจึงเป็นได้อย่างนี้ ก็ต้องตามการสะสมของแต่ละบุคคล

    ในกาลต่อมา พระโพธิสัตว์ทรงระอาพระทัยในการครองเรือน แม้พระมเหสี จะทูลประการใด และได้ทำอุบายต่างๆ ที่จะให้พระองค์เสวยราชสมบัติ แต่ พระโพธิสัตว์ก็ทรงแสดงธรรม ชี้ให้เห็นคุณและโทษในกามทั้งหลาย และทรงมอบ ราชสมบัติคืนให้แก่อุปราช แล้วบวชเป็นฤๅษี ยังฌานและอภิญญาให้เกิดขึ้น ได้เป็น ผู้เข้าถึงพรหมโลก

    พระอัครมเหสีในครั้งนั้น ได้แก่ มารดาพระราหุลในบัดนี้ พระราชาผู้เป็น พระสหาย ได้แก่ ท่านพระอานนท์ ส่วนพระเจ้าสุสีมะ ได้แก่ เราตถาคต

    ข้อความตอนท้ายของชาดกนี้ พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงอดีตอนันตชาติ ซึ่งไม่มีใครสามารถรู้ได้ว่า กำลังของโลภะแต่ละชาติจะเกิดขึ้นในลักษณะใด

    เพราะฉะนั้น การออกจากกามเป็นเรื่องที่ยากแสนยาก ถ้าจะสละเพศคฤหัสถ์ออกสู่เพศบรรพชิต ยิ่งยากกว่าหลายเท่า เพราะต้องเป็นผู้ที่มุ่งตรงต่อพระวินัยบัญญัติ จึงจะสามารถดำรงเพศบรรพชิตได้ แต่แม้กระนั้นการที่จะออกจากกาม ความติดข้องยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะจริงๆ ต้องเป็นการออกด้วยการอบรม เจริญปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ว่าจะเป็นโลภะ โทสะ โมหะ เห็น ได้ยิน ความริษยา มานะ ความสำคัญตน ทุกอย่างล้วนเป็นสภาพธรรมที่ทุกท่านกล่าวถึง โดยจิตบ้าง โดยเจตสิกบ้าง โดยปัจจัยต่างๆ บ้าง โดยการเกิดเป็นปัจจัยซึ่งกันและกันชั่วขณะหนึ่งบ้าง แต่ตามความเป็นจริง ลึกไปกว่านั้น ปัญญาจะต้องสามารถประจักษ์แจ้ง ในสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนของสภาพธรรมในขณะนี้จริงๆ

    นี่คือจุดประสงค์ที่ทุกคนจะต้องฟังพระธรรมและอบรมเจริญปัญญาเพื่อที่จะ ขัดเกลากิเลส มิฉะนั้นแล้วไม่มีทางเลย ไม่ว่าจะเป็นเพศบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ ก่อนอื่นต้องละการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ในขณะที่ มีชีวิตเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัยในแต่ละชาติ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 2
    3 พ.ย. 2566

    ซีดีแนะนำ