บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 06


    ลำดับนั้นท้าวสักกะตรัสว่า

    ดีแล้ว พระคุณเจ้า ตั้งแต่บัดนี้ไป ข้าพเจ้าจะไม่มาหาพระคุณเจ้าอีกแล้ว

    ทรงกราบพระดาบสนั้น แล้วเสด็จกลับไป

    พระโพธิสัตว์อยู่ ณ ที่นั้นตลอดชีวิต เมื่อสิ้นอายุก็บังเกิดในพรหมโลก ในครั้งนั้น ท่านพระอนุรุทธเถระเป็นท้าวสักกะ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นอกิตติดาบส

    ไม่ทราบท่านผู้ฟังคิดเรื่องบารมีอย่างไร จะเหมือนท่านอกิตติดาบสซึ่งเป็นผู้ที่ ไม่ประมาทแม้แต่เพียงการเห็นสิ่งที่จะทำให้เป็นภัยไหม เพราะฉะนั้น ก็พิจารณาชีวิตประจำวันได้ และเทียบการที่จะเริ่มตั้งบารมีของท่านผู้ฟังที่เข้าใจแล้วว่า หนทางที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมที่จะดับกิเลสเป็นหนทางไกล ถ้ายังเป็นผู้ที่ไม่เข้าใจเรื่องบารมี ยังไม่มีความตั้งมั่นคงจริงๆ ว่า การศึกษาพระธรรมเพื่อเข้าใจ เพื่อน้อมประพฤติปฏิบัติตามด้วยความจริงใจ ด้วยสัจจบารมี ด้วยความไม่หวั่นไหวในลาภ ในยศ ในสรรเสริญ ในสุข ในการเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ ไม่หวั่นไหว ในเหตุการณ์ต่างๆ ก็จะเป็นผู้ที่เริ่มกระทำกุศลด้วยบารมีที่มั่นคงขึ้น มิฉะนั้นแล้ว ถ้าไม่เข้าใจเรื่องบารมีก็เพียงฟัง แต่ยังไม่ถึงกับเป็นปัจจัยให้เป็นบารมีจริงๆ ที่จะถึงฝั่ง

    เมื่อได้ทราบความประพฤติเป็นไปในแต่ละชาติ ซึ่งเป็นการอบรมเจริญบารมีของพระผู้มีพระภาคในจริยาปิฎก เทียบกับการบำเพ็ญบารมีของท่านในแต่ละชาติ ก็รู้ได้ว่ายังห่างไกลกันมาก และยังน้อยมากทีเดียว เพราะฉะนั้น ก็จะต้อง อบรมต่อไป ไม่ใช่หวังว่า ทำอย่างไรจะประจักษ์ลักษณะของนามธรรมรูปธรรม ที่เกิดดับในขณะนี้โดยรวดเร็ว ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย เพราะว่าต้องเป็น จิรกาลภาวนา

    ข้อความตอนท้ายของ อรรถกถาอกิตติจริยาที่ ๑ มีว่า

    แม้จิตเลื่อมใสในท่านเหล่านั้น ก็พึงพ้นจากทุกข์ได้ จะพูดไปทำไมถึงการทำตามท่านเหล่านั้นโดยธรรมสมควรแก่ธรรมเล่า

    คือ อย่าเพียงแต่เลื่อมใสในบารมีต่างๆ ที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงบำเพ็ญมาแล้ว ในพระชาติต่างๆ แต่ควรที่จะประพฤติปฏิบัติตามด้วย เพราะว่าเพียงจิตที่เลื่อมใส ก็ยังสามารถทำให้พ้นจากทุกข์ เพราะในขณะนั้นเป็นกุศลจิต เพราะฉะนั้น จะพูดไปทำไมถึงการทำตามท่านเหล่านั้นโดยธรรมสมควรแก่ธรรมเล่า

    เพราะฉะนั้น ก็เริ่มบารมีได้สำหรับท่านที่ยังไม่ตั้งบารมี หรือยังไม่มั่นคงพอ ซึ่งท่านผู้ฟังอาจจะพิจารณาเห็นบารมีของท่านที่เริ่มเกิดได้ในการสนใจฟังพระธรรม ในการประพฤติปฏิบัติธรรม เช่น ในการมาฟังพระธรรม ก็ต้องมีวิริยะ ถ้าขาดวิริยะ ก็คงจะไม่มา ไปฟังอย่างอื่นคงจะสนุกเพลิดเพลินกว่า หรือในขณะที่ฟัง ก็ยังจะต้องมีขันติบารมีด้วย คือ ต้องมีความอดทน เพราะบางครั้งบางคราวอาจจะมีสิ่งที่ ไม่น่าพอใจ แต่ในขณะนั้นก็สังเกตขันติบารมีได้ว่า ต้องมีความอดทนด้วย เพราะถ้า ไม่อดทน บารมีอื่นๆ ก็จะเป็นไปไม่ได้ เช่น ศีลบารมี ก็คงจะล่วงไปทางกายบ้าง หรือทางวาจาบ้าง เป็นต้น

    สำหรับเรื่องการคบหาสมาคมเป็นสิ่งสำคัญมาก ซึ่งท่านอกิตติดาบสก็ได้ กล่าวว่าแม้แต่ตัวท่านเองก็ไม่ปรารถนาที่จะเห็น หรือได้ยิน หรือใกล้ชิดกับคนพาล เพราะว่าข้อความในมิลินทปัญหา กล่าวเปรียบการอยู่ร่วมหรือคบหาสมาคมกับ คนพาลผู้มีความเห็นผิดว่า เหมือนกับน้ำหวานที่ถูกผสมกับยาพิษก็กลายเป็น น้ำขมเฝื่อนไป เพราะว่าทุกคนมีอกุศลอยู่แล้ว และมีกุศลด้วย เพราะฉะนั้น การคบหาสมาคมกับบุคคลที่เป็นพาล ก็คือการคบหาสมาคมกับความเห็นผิดๆ เพราะว่าผู้ที่เป็นพาลต้องมีความเห็นผิด และถ้าท่านมีอกุศลมาก มีความโน้มเอียง ของการสะสมอกุศลซึ่งเหมือนกับมีน้ำขมเฝื่อนมาก ถึงแม้ว่าจะมีโอกาสคบหาสมาคม กับบัณฑิต แต่คบหาสมาคมกับบัณฑิตน้อยกว่าคบหาสมาคมกับพาล ถ้าน้ำขมเฝื่อนมีมากและน้ำหวานมีน้อย ผลก็คือน้ำหวานจะกลายเป็นน้ำขมไปด้วย

    หรือแม้ท่านจะเป็นผู้ที่มีอกุศล แต่เห็นโทษเห็นภัยของการคบหาสมาคม กับคนพาล เพราะฉะนั้น ก็คบหาสมาคมกับบัณฑิตมาก ดังนั้น แม้ว่าจะมีน้ำขม แต่ก็มีน้ำหวานมากกว่า น้ำขมก็กลายเป็นน้ำหวานไปด้วยทีละเล็กทีละน้อย เพราะแม้แต่พืชพันธุ์ไม้ต่างๆ การใกล้ชิดก็ยังมีส่วนทำให้พืชพันธุ์นั้นเปลี่ยนแปลงได้ ทั้งๆ ที่ไม่มีจิตใจ โดยสภาพของรูปวัตถุก็ยังสามารถจะเป็นไปได้ เพราะฉะนั้น เรื่องของจิตใจเป็นเรื่องที่ละเอียด เพราะว่าไม่มีใครสามารถหยั่งรู้ไปถึงการสะสมในอดีตแสนโกฏิกัปป์ได้ว่า สะสมอกุศลประเภทใดมามากน้อยต่างกันแค่ไหน

    ตัวอย่างพระชาติหนึ่งของพระผู้มีพระภาคที่แสดงให้เห็นถึงการอยู่ในตระกูล ของมิจฉาทิฏฐิ คือ ในครั้งที่พระองค์ทรงเป็นโชติปาลมาณพ เกิดในตระกูลมิจฉาทิฏฐิ ไม่มีศรัทธาในพระผู้มีพระภาคและลบหลู่พระผู้มีพระภาคตามมารดาบิดา เพราะว่าพวกพราหมณ์ที่มีความเห็นผิดไม่เลื่อมใสในพระผู้มีพระภาค ซึ่งในครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่ากัสสปะ ก่อนพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นี้

    ข้อความใน มิลินทปัญหา ฉัททันตโชติปาลอารัพภปัญหา เปรียบการสะสมบารมีของพระผู้มีพระภาคจนกระทั่งถึงพระชาติที่เป็นโชติปาลมาณพ และไม่มีความเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่ากัสสปะว่า เปรียบเหมือนกองไฟใหญ่ คือ บารมีทั้งหลายที่ได้บำเพ็ญมาแล้วมีรัศมีสว่างไสว แต่ในชาตินั้นถูกน้ำดับ ก็หมดรัศมี มีแต่ถ่านดำ

    เพราะฉะนั้น ในชาติหนึ่งชาติใดใครจะเป็นอย่างไรก็ยากที่จะรู้ได้ จึงไม่ควรประมาทที่จะไม่เห็นโทษภัยของการคบกับพาล เพราะแม้แต่โชติปาลมาณพซึ่งได้สะสมบารมีมาเปรียบเหมือนกองไฟใหญ่ที่มีรัศมีสว่างไสว แต่เมื่อเกิดในสกุลของพราหมณ์ ที่ไม่เลื่อมใสในพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้รัศมีที่สว่างไสวนั้นก็ถูกน้ำดับ จึงหมดรัศมี มีแต่ถ่านดำ

    สำหรับศีลบารมี ท่านผู้ฟังคงจะเข้าใจอยู่แล้ว การที่จะประพฤติปฏิบัติตาม ศีล ๕ หรือศีล ๘ หรือศีลต่างๆ ก็ตามเพศ ตามอัธยาศัย ซึ่งต้องเป็นชีวิตประจำวัน ที่สะสมไป

    สำหรับเนกขัมมบารมี คือ การบรรเทา การละ การปราบปรามความพอใจ ในกาม หรือการออกจากกามนั่นเอง เพียงการรู้สึกตัวว่า เป็นผู้ที่ติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะในชาตินี้ และค่อยๆ คลายไปได้แค่ไหน นั่นก็เป็น การเจริญเนกขัมมบารมี เพราะถึงแม้ว่าจะสละเพศคฤหัสถ์เป็นบรรพชิตแล้ว แต่ถ้ายังมีความติดความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะเหมือนคฤหัสถ์ ก็ไม่มีความต่างกันเลย ระหว่างบรรพชิตและคฤหัสถ์ เพราะฉะนั้น เนกขัมมบารมี จริงๆ ไม่ใช่หมายเฉพาะการสละเพศคฤหัสถ์สู่เพศบรรพชิต แต่ต้องหมายความถึง การเพียรที่จะละคลายความติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ซึ่งทุกคนยังมี ตราบใดที่ยังไม่บรรลุคุณธรรมเป็นพระอนาคามีบุคคลก็ต้องรู้จักตนเองตาม ความเป็นจริงว่า มีความมั่นคง มีความจริงใจ มีความไม่หวั่นไหวที่จะละคลายการติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะลงบ้างไหม

    เช่น การติดในรูป ในสีสันวัณณะที่ปรากฏซึ่งมีหลายอย่าง แม้ในจิตรกรรม ภาพเขียนต่างๆ ก็จะเห็นได้ว่า เป็นสิ่งที่น่าดู น่าพอใจ และส่วนใหญ่เวลาเห็น สิ่งที่น่าพอใจ ทุกคนก็ต้องมีความยินดี คือ โลภะ ความติดข้อง ความพอใจเกิดขึ้น ถ้ารู้สึกตัวในขณะนั้นว่า ขณะนั้นเป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ แต่ละคลายได้ โดยไม่แสวงหาและไม่สะสม คือ มีก็ดู ไม่มีก็ไม่ดู ไม่ไปแสวงหาจนเป็นผู้ที่สะสมทรัพย์สมบัติมากมายทั้งสิ่งละอันพันละน้อย ไม่รู้ว่าอะไรต่ออะไรเต็มไปหมด ซึ่งนั่นคือเป็นผู้ที่ติดมาก อาจจะสำรวจดูห้องนอนก่อนก็ได้ และขยับขยายไปเรื่อยๆ ว่า ท่านเป็นผู้ที่แสวงหามากหรือน้อย

    แต่ถ้าท่านเป็นผู้ที่ได้สิ่งใดมา และมีความพอใจในสิ่งนั้นโดยไม่ขวนขวาย ก็ยังดีกว่าอยากจะได้จนทนไม่ได้ จนต้องไปขวนขวาย จนกระทั่งต้องสะสมมากมายเป็นร้อยเป็นพันชิ้นก็มี

    แสดงให้เห็นว่า เรื่องของเนกขัมมะ เป็นเรื่องของการสละ การบรรเทา การละคลาย แม้ในรูปก็ต้องพิจารณา แม้ในเสียงต่างๆ ได้ยินเสียงที่น่าพอใจ โลภะเกิดก็เป็นของธรรมดา เพราะว่ามีปัจจัยให้เกิด แต่ไม่แสวงหาและไม่สะสม ก็เป็นการค่อยๆ คลาย ค่อยๆ บรรเทาความติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น และในรสด้วย

    รับประทานอาหารแค่เพียงพอแก่การที่จะมีชีวิตอยู่ได้ไหม

    ถ้าปกติเป็นผู้ที่บริโภคอาหารอร่อยเสมอ และบริโภคมาก บางครั้งอาจจะรู้สึกอึดอัด ไม่สบาย ปวดท้อง มีโรคต่างๆ เกิดขึ้นเพราะบริโภคมาก แต่ไม่รู้เลยว่า นอกจากจะเป็นโทษภัยกับร่างกายแล้ว จิตใจที่มีความติด มีความพอใจในรสอาหาร ก็ทำให้บริโภคแม้ไม่หิว

    เพราะฉะนั้น ถ้าจะเป็นผู้ละคลายความติด ความพอใจ คือ เนกขัมมะในรส ออกจากรส ก็คือ บริโภคเพียงพออิ่มจริงๆ และถ้าเป็นไปได้ก็ไม่ชิมด้วย เพราะว่า บางคนไม่หิว แต่ถ้าอาหารอร่อย และไม่อยากจะรับประทานมาก เนื่องจากรับประทานแล้วจะไม่สบาย ก็ชิมอาหารเพียงคำเดียว ซึ่งนั่นแสดงว่า ไม่ใช่เนกขัมมะ

    ถ้าจะเป็นเนกขัมมะจริงๆ เริ่มฝึกหัดตนใหม่ด้วยความอดทน ซึ่งก็ต้องอาศัยขันติบารมีด้วยที่จะรู้ว่า อาหารที่เพียงอิ่มมีประโยชน์เพียงพอแล้ว และแม้จะเป็นอาหารที่อร่อย ถ้าเป็นเนกขัมมบารมีในขณะนั้น ที่เคยรับประทานมากก็ลดลง และถ้าลดลงแล้วเพียงแต่ชิม ก็อาจจะลดลงยิ่งกว่านั้นก็ได้ คือ ไม่ชิมด้วย ถ้าไม่หิว

    ถ้าเข้าใจเรื่องบารมีจริงๆ จะเห็นได้ว่า กว่าจะพ้นจากความติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะนั้น ยากเย็นสักแค่ไหน เพราะเพียงฝึกหัดที่จะละคลาย ก็ยังยาก และการที่จะให้ร่างกายและจิตใจเข้มแข็งค่อยๆ มีกำลัง ไม่ใช่คนป่วยทางจิต ที่เดินหนทางมรรคมีองค์ ๘ ไม่ไหวแน่ เพราะเจ็บไข้ได้ป่วยอย่างหนัก ก็จะต้องค่อยๆ รักษาโรคและบำรุงกำลังของจิตใจให้เข้มแข็งขึ้น จนกระทั่งบารมีทั้งหลายเกื้อกูล ต่อการที่สติปัฏฐานจะระลึกลักษณะของสภาพธรรมเป็นปกติเพิ่มขึ้นได้

    สำหรับเรื่องรส เป็นเรื่องที่ทุกท่านอาจจะเริ่มเนกขัมมบารมีได้โดยไม่จำเป็นต้องเป็นบรรพชิต เพราะว่าเนกขัมมะจริงๆ คือ การออกจากการติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

    สำหรับโผฏฐัพพะ ก็เช่นเดียวกัน ถ้าเป็นผู้ที่มีความอดทน บางครั้งกระทบสัมผัสกับความหนาวก็ทนได้ หรือความร้อนก็ทนได้ ไม่ต้องขวนขวายว่า เวลาร้อน ต้องอาบน้ำเย็น เวลาเย็นต้องอาบน้ำอุ่น หรืออะไรอย่างนั้น ซึ่งสำหรับบางท่านก็มีความจำเป็นที่เกี่ยวกับร่างกาย แต่ถ้าไม่ใช่เรื่องของร่างกาย ก็เป็นเรื่องของความติดความพอใจ เพราะถ้าได้อาบน้ำอุ่น บางท่านอาจจะรู้สึกสบาย โดยที่ร่างกายก็แข็งแรงอยู่แล้ว แต่ยังอยากสบายที่จะได้กระทบกับน้ำอุ่น หรือบางกาล บางโอกาสก็สบาย ที่จะได้กระทบกับน้ำเย็น แต่ถ้าเป็นผู้ที่เข้าใจในเรื่องเนกขัมมบารมีก็จะเป็นผู้อดทนขึ้น ไม่ว่าจะหนาว จะร้อน จะเย็นอย่างไร ก็ยังสามารถทนได้ ซึ่งในขณะที่ทนจะเห็นได้ว่า ต้องมีขันติบารมี และต้องมีวิริยบารมีด้วย

    ขอกล่าวถึงเนกขัมมบารมีในการปฏิบัติที่จะขาดปัญญาไม่ได้ เพราะถ้า ไม่เข้าใจแล้ว การที่จะออกจากความยินดีในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่สั่งได้ หรือบอกได้ หรือคิดจะทำได้ แต่เป็นเรื่องของปัญญาที่จะต้องเข้าใจในเรื่องของเนกขัมมะจริงๆ

    ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส ชตุกัณณีมาณวกปัญหานิทเทส ข้อ ๔๐๑ มีข้อความว่า

    คำว่า ซึ่งเนกขัมมะ … ความว่า เห็น คือ เห็นแจ้ง เทียบเคียง พิจารณา เจริญ ทำให้แจ้งแล้ว ซึ่งความปฏิบัติชอบ ความปฏิบัติสมควร ความปฏิบัติไม่เป็นข้าศึก ความปฏิบัติเป็นไปตามประโยชน์ ความปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ความทำให้บริบูรณ์ในศีลทั้งหลาย ความคุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ความเป็นผู้รู้จักประมาณในโภชนะ การประกอบความเพียรในความเป็นผู้ตื่น สติสัมปชัญญะ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ นิพพาน และข้อปฏิบัติให้ถึงนิพพาน โดยความเกษม คือ โดยเป็นที่ต้านทาน โดยเป็นที่ซ่อนเร้น โดยเป็นสรณะ โดยเป็นที่พึ่ง โดยไม่มีภัย โดยความไม่เคลื่อนไหว โดยความไม่ตาย โดยเป็นธรรมออกจากตัณหาเครื่องร้อยรัด เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าเห็นแล้วซึ่งเนกขัมมะ โดยความเกษม

    ที่จะเห็นว่าเนกขัมมะเป็นความเกษม ไม่ง่ายเลย เพราะต้องเข้าใจจริงๆ ว่า ต้องเป็นปัญญาที่เห็นประโยชน์ และเทียบเคียงพิจารณา และยังจะต้องประพฤติปฏิบัติชอบ ปฏิบัติสมควร ปฏิบัติไม่เป็นข้าศึก ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติเป็นไปตามประโยชน์ คือ ต้องเห็นประโยชน์ และปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม โดยความทำให้บริบูรณ์ในศีลทั้งหลาย ความคุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ความเป็นผู้รู้จักประมาณในโภชนะ การประกอบความเพียรในการเป็นผู้ตื่น สติสัมปชัญญะ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔

    จะเห็นได้ว่า เนกขัมมะไม่ใช่เรื่องง่ายๆ หรือไม่ใช่เรื่องที่คิดว่า จะมีตัวตนทำได้โดยไม่ประกอบด้วยปัญญา เพราะฉะนั้น ต้องเป็นปัญญาที่เข้าใจจริงๆ และรู้ว่า เนกขัมมะที่จะออกจากกามได้จริงๆ ต้องเป็นผู้ที่ สติสัมปชัญญะ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ นิพพาน และข้อปฏิบัติให้ถึงนิพพานโดยความเกษม คือ ต้องเห็นโทษเห็นภัยจริงๆ และเป็นผู้ที่มั่นคงในการอบรมเจริญปัญญาเพื่อจะละความพอใจในกามได้เป็นสมุจเฉท ซึ่งเริ่มจากการฟังและพิจารณาให้เห็นประโยชน์ก่อน เห็นว่าเนกขัมมะเป็นความเกษม ไม่ใช่ว่าเป็นตัวตนที่จะไม่พอใจ แต่ต้องเห็นว่า ถ้าไม่ติดในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะได้ จะมีความสงบ มีความสบายสักแค่ไหน

    สำหรับการบำเพ็ญบารมี ทุกบารมีต้องเป็นไปกับปัญญาจึงจะเป็นบารมี ถ้ายังไม่เห็นโทษของอกุศลจริงๆ หรือยังไม่พิจารณาเห็นประโยชน์ของบารมี บารมีทั้งหลายก็ย่อมเจริญไม่ได้ เพราะว่าปัญญามีกำลังอ่อนมากจนกระทั่งไม่สามารถเห็นประโยชน์ของการเจริญบารมีได้

    แต่ท่านที่หวังจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ก็ไม่ใช่ว่าต้องการเจริญแต่เฉพาะปัญญาอย่างเดียว เพราะว่าบารมีทุกบารมีเป็นสิ่งที่เกื้อกูลอุปการะแก่การที่จะรู้แจ้ง อริยสัจจธรรมด้วย

    บางท่านก็สงสัยว่า ทำไมบารมีจึงจำเป็นต้องอบรมพร้อมๆ กับการเจริญ สติปัฏฐาน ก็เพราะเหตุว่าชีวิตประจำวันสติปัฏฐานไม่ได้เกิดตลอดเวลา ทุกท่านที่เข้าใจเรื่องการเจริญมรรคมีองค์ ๘ ว่า สติจะต้องระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏและปัญญาจะค่อยๆ พิจารณาสังเกตจนกว่าจะรู้ลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตนเพราะว่าเป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม คือ เป็นสภาพรู้หรือเป็นสภาพ ที่ไม่ใช่สภาพรู้ แต่เมื่อสติปัฏฐานไม่สามารถเกิดได้ตลอดเวลา การอบรมเจริญ สติปัฏฐานก็ดี การฟังพระธรรม การเข้าใจหนทางเท่าที่ได้สะสมมาแล้ว ก็ย่อมเป็นปัจจัยให้สติขั้นอื่นซึ่งไม่ใช่สติปัฏฐานเกิด และสติขั้นอื่นนั้นก็ได้แก่บารมีทั้งหลายนั่นเอง

    แสดงให้เห็นว่า ผู้ที่มุ่งหวังจะเจริญแต่เฉพาะสติปัฏฐานโดยไม่เห็นว่า ต้องเจริญบารมีด้วยนั้น เข้าใจผิด เพราะว่าสติปัฏฐานเจริญตลอดเวลาไม่ได้ แต่เพราะเจริญสติปัฏฐานมาก่อนจึงทำให้สติขั้นอื่นสามารถเกิดระลึกรู้สภาพธรรม ในขณะที่เป็นอกุศล และรู้ว่าแม้สติปัฏฐานไม่เกิดในขณะนั้น กุศลจิตขั้นอื่นก็เกิดได้ ทุกบารมี

    เพราะฉะนั้น ถ้าจะพิจารณาทุกบารมี ไม่ว่าจะเป็นทานบารมี หรือศีลบารมี เนกขัมมบารมี วิริยบารมี ขันติบารมี สัจจบารมี อธิษฐานบารมี เมตตาบารมี อุเบกขาบารมี จะเห็นได้ว่า ต้องเป็นสติที่เกิดอย่างละเอียดจึงสามารถรู้ได้ว่า แม้ทานขณะนั้นเป็นบารมีหรือเปล่า หรือยังมีความต้องการด้วยความเป็นตัวตนในผลของทาน ซึ่งผู้ที่ยังมีกิเลสและไม่ใช่ผู้ละเอียดเวลาที่มีการให้แต่ละครั้งอาจจะไม่ได้พิจารณาว่า ขณะนั้นหวังอะไรหรือเปล่า ถ้าหวัง ทาน การให้ในขณะนั้นไม่ใช่บารมี แม้ศีลก็ดี หรือเนกขัมมะก็ดี โดยเฉพาะสำหรับเนกขัมมะ ต้องเป็นการออกจากกิเลส ไม่ใช่ เป็นการไปสู่ป่าด้วยความไม่รู้

    และถ้าพิจารณาดูชีวิตของผู้ที่เป็นบรรพชิต ซึ่งเป็นนักบวชในศาสนาต่างๆ หรือแม้แต่ในพระพุทธศาสนา ก็จะเห็นได้ว่า ถ้ามีการออกจากเรือนไปสู่ป่า หรือแม้แต่คฤหัสถ์ ถ้ามีการชักชวนให้ออกจากเรือนไปสู่สำนักหนึ่งสำนักใด หรือไปสู่ป่า ก็จะต้องพิจารณาว่า ถ้าไปโดยไม่มีปัญญา ไม่มีความเข้าใจถูกต้องในมรรคมีองค์ ๘ การไปนั้นก็ไม่ใช่บารมี

    เรื่องของบารมีทั้งหมดต้องเป็นเรื่องของปัญญาทั้งสิ้น การกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดแม้แต่การไปสู่สถานที่หนึ่งสถานที่ใดด้วยความไม่รู้จะเป็นบารมีไม่ได้ เพราะฉะนั้น มีหลักที่จะพิจารณาได้ว่า กุศลขณะใดเป็นบารมี และขณะใดไม่เป็นบารมี

    และบารมีในวันหนึ่งๆ ทุกท่านจะเห็นได้ว่า ถ้าขณะใดไม่สามารถเกิดเมตตา ขณะนั้นก็รู้ได้ว่าเพราะอะไร ก็เพราะว่าสติปัฏฐานที่เจริญมานั้นยังน้อย ยังไม่มีกำลัง ยังไม่สามารถทำให้เมื่อโกรธหรือไม่พอใจในสิ่งหนึ่งสิ่งใด สติไม่สามารถระลึกได้ที่จะ รู้ว่า ขณะนั้นเป็นอกุศล แต่ถ้าเป็นผู้ที่อบรมเจริญบารมีคือสติปัฏฐานมาแล้ว ขณะที่ มีความโกรธขุ่นเคืองใจเกิดขึ้น สติจะเกิดทัน และละเอียดพอที่จะเห็นโทษของอกุศล ในขณะนั้น

    บารมีทุกบารมีจะขาดสติอย่างละเอียดไม่ได้ และสติอย่างละเอียดนั้น มาจากไหน ก็ต้องมาจากการเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน และเมื่อสติปัฏฐานไม่สามารถเกิดได้ตลอดเวลา เพราะว่าไม่มีปัจจัยที่สติปัฏฐานจะเกิด แต่ขณะที่ อกุศลจิตเกิด การสะสมสติปัฏฐานมาแล้วก็เป็นปัจจัยให้สติขั้นอื่นเกิดระลึกได้

    เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ แม้สติปัฏฐานจะเกิดน้อย ก็ขอให้พิจารณาต่อไปว่า กุศลอื่นๆ เกิดน้อยด้วยหรือเปล่า หรือน้อยทั้งหมด ถ้าน้อยทั้งหมดก็หมายความว่า ต้องอบรมเจริญสติปัฏฐานพร้อมทั้งบารมี เป็นจิรกาลภาวนา คือ ต้องอาศัยกาลเวลาต่อไปอีกนานจึงจะรู้ว่าทั้งสติปัฏฐานก็ค่อยๆ เจริญขึ้น และบารมีอื่นๆ ซึ่งก็คือ สติอย่างละเอียดนั่นเองเกิดขึ้นเป็นไป แม้ว่าไม่ใช่ขั้นสติปัฏฐาน

    ชีวิตประจำวันจริงๆ เป็นเรื่องของการอบรมเจริญบารมี และสติปัฏฐานทั้งสิ้น

    มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง ท่านเข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน และท่านก็เป็นผู้ที่ มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน แต่ก็เหมือนทุกท่าน คือ สติปัฏฐานไม่ได้เกิดมากเลย ในวันหนึ่งๆ และท่านก็รู้อัธยาศัยของตนเองตามความเป็นจริง ซึ่งท่านมีการสะสมมาที่จะพอใจในการหัดเต้นรำแบบพื้นเมืองของชาวยุโรป นี่เป็นสิ่งธรรมดา ไม่แปลกเลย เพราะแต่ละคนก็มีฉันทะ อัธยาศัยต่างๆ กัน

    และในขณะที่ท่านกำลังฝึกซ้อมการเต้นรำแบบนั้นอยู่ ท่านก็ระลึกได้ว่า การติดข้อง ความชอบ ความพอใจ ในการเต้นรำแบบพื้นเมืองของชาวยุโรปอย่างนี้ ไม่ใช่เพียงแต่ความติดข้อง ชอบในการเต้นรำ ในการดู หรือในการอยากจะเต้นเท่านั้น แต่ขณะนั้นยังมีการติดข้องอีกหลายอย่าง คือ ในขณะที่ท่านกำลังฝึกซ้อมอยู่นั้น ท่านเห็นความติดข้องพอใจในเสียงดนตรีด้วยว่า ต้องมีความพอใจในเสียงเพลง และต้องมีความพอใจในจังหวะต่างๆ ของดนตรี เพราะว่าเพลงหนึ่งๆ ก็มีหลายจังหวะ นอกจากนั้น ก็ยังมีความพอใจในลีลาการเคลื่อนไหวของร่างกายทุกส่วน ทั้งการ ตบเท้า ตบมือ หมุนตัว โยกตัว ทอดสายตาไปตามมือ เป็นต้น

    แสดงให้เห็นว่า ถ้าเป็นผู้ที่มีสติ ก็ย่อมรู้จักตัวเองตามความเป็นจริง และ เห็นความละเอียดของแม้ขณะที่ทุกท่านอาจจะเต้นรำไปด้วยความสนุกสนานเพลิดเพลิน แต่บางท่านก็ยังเกิดระลึกได้ถึงความติดว่า ความติดข้องในขณะนั้น มีมากมายหลายทาง ทั้งในเสียงเพลง ทั้งในจังหวะดนตรี ทั้งในการเคลื่อนไหวของร่างกาย เพราะฉะนั้น กว่าสติปัฏฐานจะเจริญ และกว่าบารมีทั้งหลายจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น เป็นจิรกาลภาวนา ท่านผู้นั้นก็พิจารณาว่า การอบรมบารมีไม่ใช่สิ่งที่ง่ายเลย เพราะทั้งๆ ที่รู้ว่าบารมีทั้งหลายมีประโยชน์ แต่วันหนึ่งๆ ก็ไม่ใช่เรื่องของบารมี เสียมากมาย ซึ่งก็จะเห็นได้จริงๆ ว่า ไม่มีใครสามารถไปฝืนหรือบังคับสภาพธรรมได้ แต่สติปัฏฐานสามารถเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้นที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลได้

    เพราะฉะนั้น แม้แต่ขณะที่กำลังเต้นรำแบบพื้นเมืองของชาวยุโรป หรือจะทำอะไร ที่ไหน อย่างไรก็ตาม ถ้าสติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมและพิจารณา โดยรู้ว่าเป็นรูปธรรมหรือเป็นนามธรรม ไม่ใช่ตัวตน ขณะนั้นเป็นมัชฌิมาปฏิปทา ไม่ใช่ว่าจะต้องจำกัดชีวิตให้ไม่รื่นเริง ไม่สนุกสนาน ไม่ใช่ตัวเอง ทั้งๆ ที่พอใจเหลือเกินที่จะเพลิดเพลินไปทางหนึ่งทางใด แต่แม้มีปัจจัยที่จะสนุกสนานเพลิดเพลิน สติปัฏฐานก็ยังสามารถเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมขณะใด ขณะนั้นก็เป็นหนทางสายกลาง เพราะไม่ใช่ตัวตนที่กำลังระลึก ที่กำลังพิจารณารู้ลักษณะของ สภาพธรรม แต่เป็นหนทางที่จะละคลายการยึดถือสภาพธรรมทุกอย่างในขณะนั้น และรู้ตามความเป็นจริงว่า เป็นแต่เพียงนามธรรม หรือรูปธรรม ก่อนที่จะละคลายความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ

    นี่เป็นสิ่งที่จะต้องเข้าใจให้ถูกต้อง มิฉะนั้นแล้วไม่มีทางที่จะอบรมเจริญ มรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเป็นทางสายกลาง

    . อธิษฐานบารมี และสัจจบารมี มีความแตกต่างกันอย่างไร

    ท่านอาจารย์ สัจจะ คือ ความจริงใจ ไม่หลอกลวงตัวเองและบุคคลอื่น ต้องเป็นความจริงใจ เป็นสัจจะ เป็นความจริง ท่านที่ศึกษาพระธรรมมีความจริงใจที่จะศึกษาเพื่อเข้าใจพระธรรม นั่นเป็นสัจจะ เป็นความจริงใจ แต่ถ้าศึกษาเพื่อเหตุอื่น คือ เพื่อลาภ เพื่อยศ เพื่อสรรเสริญ

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 2
    25 ต.ค. 2566

    ซีดีแนะนำ