บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 05


    แสดงให้เห็นว่า ยังไม่เป็นบารมี ยังไม่มีความตั้งใจมั่นคงที่รู้ว่า จุดประสงค์ของการ ฟังนั้นเพื่อขัดเกลากิเลส เพราะกิเลสเป็นสิ่งที่แม้ยังไม่ต้องดับ เพียงแต่จะบรรเทา จะละคลาย ก็แสนยากแล้ว เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีกำลังจริงๆ ไม่มีอธิษฐานบารมี คือ เวลาที่ท่านทำกุศล เช่น ทานกุศล บางท่านก็อธิษฐาน แต่ก็ยังไม่ทราบว่า ความหมายของอธิษฐานจริงๆ นั้น ต้องเป็นความมั่นคงไม่หวั่นไหวในฝ่ายกุศล จึงจะเป็นบารมีที่จะทำให้สามารถอบรมเจริญปัญญาไปโดยตลอดได้

    เพราะฉะนั้น ที่ฟังอยู่ทุกวัน ขอให้พิจารณาว่า ฟังด้วยความตั้งใจมั่นคง ที่จะเข้าใจ และประพฤติปฏิบัติตามเท่าที่จะประพฤติปฏิบัติตามได้แต่ละชาติ เพื่อที่จะเป็นบารมี หรือว่าเพียงฟังไปเฉยๆ

    แต่ละคนที่ฟังคงจะพิจารณาได้ว่า เริ่มเป็นบารมีหรือเปล่า หรือถ้ายังไม่พูดถึงบารมี ก็ฟังไปเฉยๆ เรื่อยๆ จนกว่าจะรู้ว่า ถ้าไม่เป็นบารมีจะไม่ถึงแน่ ต่อเมื่อใด มีความมั่นคง เมื่อนั้นจะต้องบำเพ็ญบารมีทั้ง ๑๐ จึงจะสมบูรณ์ได้

    ผู้ฟัง อาจารย์ช่วยอธิบายเนกขัมมบารมีว่ามีความหมายแค่ไหน

    ท่านอาจารย์ ถ้าจะพูดถึงเรื่องบารมี ก่อนที่จะถึงเนกขัมมบารมี ขอเริ่มจาก ทานบารมี เพื่อจะได้พิจารณาว่า ทาน การให้ของทุกท่านในชีวิตประจำวัน ที่เป็นการสงเคราะห์ทางวัตถุนั้น เป็นบารมีหรือยัง เพราะว่าการให้เป็นของประจำโลก การสงเคราะห์การช่วยเหลือก็มีอยู่ไม่ว่าชาติไหน ภาษาไหน แต่เป็นบารมีหรือเปล่า

    สำหรับผู้ที่ไม่ต้องการที่จะดับกิเลส การให้สักเท่าไรก็ไม่ใช่บารมี และแม้ ผู้ที่ได้เข้าใจพระธรรมแล้ว และยังมีการให้อยู่ ก็จะได้พิจารณาว่า การให้ของท่านเป็นไปในแนวของบารมีหรือเปล่า คือ เป็นการให้วัตถุโดยที่ไม่หวังสิ่งใดตอบแทนแม้แต่การเกิดในสวรรค์ หรือว่ายังอยากจะได้สิ่งตอบแทน เช่น ขอให้เกิดเป็นเศรษฐี มั่งมี หรือขอให้เกิดในสวรรค์ชั้นต่างๆ ขอให้ได้ลาภ ได้ยศ ได้สรรเสริญ ซึ่งขณะนั้นเป็นไปด้วยความหวัง ไม่ใช่เป็นไปเพื่อละคลายความหวัง เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า แม้การให้ของท่าน เป็นบารมีหรือไม่ใช่บารมี

    ถ้าเป็นบารมีจริงๆ ก็หมายความว่า ต้องถึงอีกฝั่งหนึ่ง คือ เป็นฝั่งที่ดับกิเลส ต่างจากฝั่งที่เป็นฝั่งของกิเลส เพราะฉะนั้น การที่จะถึงอีกฝั่งหนึ่งซึ่งแสนไกล ก็ไม่ใช่ว่าจะถึงได้โดยง่าย แต่จะต้องมีความเข้าใจจริงๆ ว่า เป็นเรื่องของการละกิเลส เป็นเรื่องของการขัดเกลากิเลส เพราะฉะนั้น แม้การให้ก็จะต้องพิจารณาด้วยว่า มีการมุ่งหวังสิ่งใดหรือไม่ที่เป็นการตอบแทน ถ้ายังคงหวังสิ่งหนึ่งสิ่งใด การให้นั้น ไม่ใช่บารมี เพราะยังเป็นไปกับกิเลส

    การให้ที่จะเป็นการละโลภะ ต้องเป็นการให้เพื่อขัดเกลากิเลส คือ ไม่หวัง สิ่งใดตอบแทนทั้งสิ้น และยังต้องพิจารณาเรื่องของทานในชีวิตประจำวันโดยตลอด คือ นอกจากวัตถุทานแล้ว ก็มีการให้ที่สูงกว่านั้น คือ การให้ธรรม การให้ความรู้ ความเข้าใจ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งในชาตินี้ และในชาติต่อๆ ไปด้วย เพราะว่า ถ้าพิจารณาแล้ว การให้วัตถุสิ่งของเพื่อสงเคราะห์ผู้ที่ขัดสนยากไร้นั้น เป็นเพียง ปลายเหตุ แต่ไม่ได้พิจารณาถึงเหตุที่ทำให้บุคคลนั้นต้องเป็นผู้ที่ยากไร้ ซึ่งการเป็นผู้ที่ยากไร้ย่อมเป็นผลของอกุศลกรรม ตราบใดยังมีอกุศลกรรมอยู่ ก็ยังเป็นเหตุให้ภพชาติของการเกิดมาเป็นผู้ยากไร้ต้องมีอยู่ เพราะฉะนั้น การที่จะสงเคราะห์จริงๆ นอกจากจะสงเคราะห์ทางด้านวัตถุแล้ว ควรสงเคราะห์ให้ถึงต้นเหตุ คือ เหตุที่ทำให้เป็น ผู้ยากไร้ โดยการให้เป็นผู้เข้าใจธรรมตามความเป็นจริง

    จะเห็นได้ว่า ชีวิตประจำวันที่จะสงเคราะห์ช่วยเหลือกันจริงๆ สามารถที่จะกระทำได้ทั้งในระดับขั้นของวัตถุทาน และในระดับขั้นของธรรมทาน ซึ่งเป็นการช่วยเหลือให้ผู้อื่นได้มีโอกาสเข้าใจธรรมถูกต้อง และได้ประพฤติปฏิบัติธรรมด้วย นอกจากนั้นการทำให้บุคคลอื่นมีความเข้าใจธรรม จะทำให้กุศลทั้งหลายเจริญขึ้นด้วย เพราะถ้าไม่เข้าใจธรรม กุศลอื่นๆ ก็เจริญไม่ได้ แม้แต่ในเรื่องของทาน ในเรื่องของศีล ในเรื่องของภาวนา

    ผู้ที่หวังจะให้ผู้อื่นเข้าใจพระธรรมโดยวิธีต่างๆ ทั้งโดยการเผยแพร่พระธรรม ทางวิทยุ หรือการพิมพ์หนังสือ การสนทนาธรรม การแสดงธรรม โดยไม่หวังผล เป็นบารมี ทั้งหมดต้องเป็นเรื่องของการขัดเกลาจริงๆ โดยไม่หวังสิ่งหนึ่งสิ่งใดจริงๆ นั่นคือผู้นั้นมีความมั่นคง และมีความเข้าใจว่า การเจริญกุศลทั้งหมดเป็นบารมี เมื่อไม่เป็นไปด้วยโลภะ

    บางท่านที่สนใจในการเผยแพร่พระธรรม ก็ใคร่ที่จะให้มีการประเมินผล การทำงานขององค์การกุศลต่างๆ แต่การประเมินผลที่แท้จริงไม่ใช่อยู่ที่จำนวนของ คนฟัง หรือไม่ใช่อยู่ที่กิจการต่างๆ ที่กระทำ แต่อยู่ที่จิตใจของแต่ละท่านว่า หนึ่งปี ที่ผ่านไป ผลของการฟังมีการประพฤติปฏิบัติตามดีขึ้นบ้างไหม นี่จึงเป็นผลจริงๆ ไม่ใช่เป็นการประเมินทางด้านจำนวนของผู้ฟัง หรือจำนวนของกิจกรรมต่างๆ แต่อยู่ที่สภาพจิตของผู้ที่ได้ฟังว่า เมื่อมีการเข้าใจธรรมแล้ว มีความจริงใจ เป็นสัจจบารมี มีอธิษฐานบารมี คือ ไม่หวั่นไหวในจุดประสงค์ที่จะละคลายกิเลส มั่นคงขึ้นเรื่อยๆ หรือเปล่า

    ทุกท่านก็กล่าวว่า การฟังพระธรรมมีประโยชน์ แต่ประโยชน์ที่กล่าวนั้น จะรู้ได้ในขณะปัจจุบันทุกๆ วันว่า การฟังที่แล้วมาเป็นหลายๆ เดือนก่อน หรือเป็น ปีๆ ก็ตาม ประโยชน์คือสภาพจิตในขณะนี้ ถ้าพิจารณาโดยละเอียด ขณะนั้น ก็เป็นประโยชน์

    ทานอีกประการหนึ่ง ซึ่งควรจะพิจารณาสำหรับผู้ที่จะเจริญบารมี คือ อภัยทาน ถ้าไม่คิดว่าเป็นบารมี บางท่านไม่อภัย แต่เมื่อคิดว่า ถ้าไม่อภัยแล้ว จะสามารถบรรลุมรรคผลนิพพานดับกิเลสได้อย่างไร ถ้าคิดอย่างนี้ก็จะเป็นปัจจัยหนึ่ง ที่ทำให้สามารถมีอภัยทานได้ ซึ่งเป็นทานที่สูงกว่าทานขั้นอื่นๆ เพราะว่าเป็นการ ขัดเกลากิเลสในเรื่องของโทสะ

    คิดดู ถ้าไม่สามารถอภัยให้คนที่ไม่ชอบ กุศลอื่นๆ ที่จะเจริญจากคนที่ไม่ชอบ ก็ย่อมเกิดไม่ได้ แม้วัตถุทานที่จะให้บุคคลนั้นก็ให้ไม่ได้ เพราะไม่อภัยให้ หรือเพราะ ยังโกรธอยู่ หรือแม้แต่ธรรมทานที่จะสนทนาธรรม ที่จะเกื้อกูล ที่จะชี้สิ่งที่ เป็นประโยชน์ ไม่เป็นประโยชน์ ก็ทำไม่ได้ เพราะยังไม่อภัยให้บุคคลนั้น หรือยัง โกรธอยู่

    เพราะฉะนั้น อภัยทานก็เป็นเหตุที่ทำให้ศีลบารมีเจริญขึ้น เพราะเป็นเหตุ ที่จะให้วิรัติกาย วาจา ที่ไม่ควร ที่เกี่ยวเนื่องกับบุคคลซึ่งยังไม่ได้อภัยให้

    คิดดู ถ้าไม่อภัยให้ใคร กาย วาจาที่มีต่อบุคคลนั้นจะเป็นอย่างไร ก็ต้องไม่เป็นไปในทางที่เป็นมิตรเลย เพราะฉะนั้น กุศลก็ย่อมเจริญไม่ได้ และจะถึงฝั่งได้อย่างไร

    แสดงให้เห็นว่า การพิจารณากุศลทุกประการในชีวิตประจำวัน ต้องเป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ ถ้าผู้นั้นต้องการที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ก็จะต้องรู้สภาพจิตว่า ในเมื่อจิตยังเป็นอย่างนี้ จิตยังเป็นโรค จิตยังไม่มีกำลัง จะเดินหนทางที่แสนไกลได้อย่างไร เพราะฉะนั้น จะต้องพิจารณาสภาพจิต เพื่อบำรุงจิตให้มีกำลังด้วยบารมีต่างๆ แม้รู้อยู่ว่าหนทางมี คือ สติเกิดระลึกศึกษาลักษณะของสภาพธรรม แต่สติ ก็เกิดไม่ได้ เพราะกุศลธรรมซึ่งเป็นบารมีไม่มีกำลังพอ

    สำหรับศีลบารมี ทุกคนก็คงเข้าใจเรื่องของศีลอยู่แล้ว

    อรรถกถา ขุททกนิกาย จริยาปิฎก อรรถกถาอกิตติจริยาที่ ๑ มีข้อความว่า

    ในกาลที่พระผู้มีพระภาคทรงเป็นดาบสชื่อว่า อกิตติ อยู่ในป่าใบหมากเม่านั้น ด้วยเดชแห่งการบำเพ็ญตบะ คือ ด้วยอานุภาพแห่งศีลบารมี

    จริงอยู่ศีลท่านเรียกว่า ตบะ เพราะเผาความเศร้าหมองอันเกิดแต่ทุจริต หรือเพราะอานุภาพแห่งเนกขัมมบารมี และวิริยบารมี เพราะแม้บารมีเหล่านั้น ท่านก็เรียกว่า ตบะ เพราะเผาความเศร้าหมองคือตัณหา และความเกียจคร้าน

    ถ้าศึกษาเรื่องของบารมีจะเห็นได้ว่า บารมีทั้ง ๑๐ เป็นปัจจัยเกื้อกูลกัน ทุกบารมี แม้แต่ในสมัยที่พระผู้มีพระภาคทรงเป็นดาบสชื่อ อกิตติ ก็มีศีลบารมี พร้อมทั้งบารมีอื่น คือ เนกขัมมะ และวิริยบารมี

    ในพระชาติที่เป็นอกิตติดาบสนั้น ท่านอกิตติดาบสสร้างบรรณศาลา อาศัยต้นหมากเม่าใหญ่ต้นหนึ่ง ในกาลที่ต้นไม้นั้นมีผลก็บริโภคผลไม้นั้น เมื่อยังไม่มีผล ก็บริโภคใบไม้ชงน้ำ และยังกาลเวลาให้น้อมไปด้วยฌานสมาบัติ

    ต้องเป็นผู้ที่มีวิริยบารมีด้วย ที่จะมีความเป็นอยู่อย่างนี้ได้

    ท่านอกิตติดาบสแสวงหาใบหมากเม่าเพื่อบริโภคเพียงวันละครั้งเดียวเพราะเห็นว่า การแสวงหาอาหารบริโภควันละ ๒ ครั้ง ไม่เป็นการขัดเกลากิเลส

    นี่ต้องเป็นขันติบารมี ที่จะไม่เป็นไปตามกำลังของความต้องการในอาหาร

    ความประพฤติของท่านทำให้ท้าวสักกะจอมเทพเกิดความสงสัยว่า ที่ท่านอกิตติดาบสมีความประพฤติทางกาย วาจา และใจ บริสุทธิ์ สะอาด ไม่อาลัยในชีวิต บริโภคใบหมากเม่าชงน้ำ เป็นตบะที่ทำได้ยากอย่างนี้ เพื่ออะไรหนอ

    คนเราทุกคนควรจะรู้จุดประสงค์ของการทำทุกอย่าง แม้แต่ผู้ที่จะรักษาศีล ก็ควรรู้ว่าเพื่ออะไร แม้แต่ผู้ที่จะละคลายความติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ก็ควรรู้ว่าเพื่ออะไร ไม่ใช่เพียงทำไปโดยไม่มีจุดหมาย เพราะฉะนั้น เมื่อท้าวสักกะเห็นอย่างนี้ ท่านก็เกิดความสงสัยว่า อะไรทำให้อกิตติดาบส มีความประพฤติเช่นนี้

    ท้าวสักกะจอมเทพคิดว่า หรือว่าท่านอกิตติดาบสทำอย่างนี้ เพื่อปรารถนาจะเป็นท้าวสักกะจอมเทพ

    คือ แล้วแต่ใจของใครที่จะคิด ในเมื่อท่านเป็นท้าวสักกะจอมเทพท่านก็คิดว่า ที่ท่านอกิตติดาบสประพฤติอย่างนี้ อาจเป็นเพราะปรารถนาที่จะเป็นท้าวสักกะ จอมเทพ

    ท้าวสักกะทรงแปลงเพศเป็นพราหมณ์ เข้าไปหาอกิตติดาบสด้วยคิดว่า ถ้าอกิตติดาบสปรารถนาจะเป็นท้าวสักกะ ก็จะให้ใบหมากเม่าชงน้ำแก่พระองค์ แต่ถ้าไม่ปรารถนาก็จะไม่ให้

    คิดว่าถ้าปรารถนาเป็นท้าวสักกะ ก็คงจะบำเพ็ญทานอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้น เมื่อปรารถนาอย่างนั้น ก็คงจะให้ใบหมากเม่าชงน้ำแก่พระองค์ แต่ถ้าไม่ปรารถนา ก็คงจะไม่ให้

    เมื่อท่านอกิตติดาบสเห็นพราหมณ์นั้นมีความต้องการด้วยอาหาร ก็ได้เอา ใบหมากเม่าชงน้ำนั้นให้พราหมณ์นั้นไปจนหมด แม้ในวันที่ ๒ แม้ในวันที่ ๓ ก็เช่นเดียวกัน

    แสดงให้เห็นว่า ทั้งทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมบารมี ขันติบารมี วิริยบารมี สัจจบารมี คือ ความจริงใจที่จะบำเพ็ญกุศลเพื่อพระโพธิญาณ อธิษฐานบารมี ความไม่หวั่นไหว ต้องเกี่ยวเนื่องกัน และเป็นปัจจัยเกื้อกูลกันด้วย เพราะว่าท่านอกิตติดาบสไม่หวั่นไหวในการที่จะให้ใบหมากเม่าชงน้ำจนหมดทั้ง ๓ วัน แสดงถึงความมั่นคงที่จะไม่หวั่นไหวไปด้วยความตระหนี่

    ไม่อาลัยแม้ชีวิต คือ ไม่อาลัยแม้แต่น้อยด้วยความโลภ

    นี่คือสัจจบารมี

    และชื่อว่าเมตตาบารมี ด้วยอัธยาศัยเกื้อกูลในสรรพสัตว์ทั้งหลาย ชื่อว่าอุเบกขาบารมี เพราะว่าถึงความเป็นกลางไม่เดือดร้อนในความผิดปกติที่สัตว์ และสังขารกระทำแล้ว

    คิดดู มาขอได้ถึง ๓ วันติดๆ กัน ซึ่งท่านอกิตติดาบสก็ให้ไปโดย ไม่หวั่นไหวเลย ไม่ว่าผู้ขอจะเป็นใคร

    ชื่อว่าปัญญาบารมี ได้แก่ ปัญญาอันเป็นความรู้ในหนทางที่เกิดพร้อมกับจิต และปัญญาให้สำเร็จความประพฤติในการขัดเกลากิเลสอย่างยิ่ง เพราะรู้ ธรรมเป็นอุปการะ และไม่เป็นอุปการะแก่บารมีเหล่านั้น และละธรรมอันไม่เป็นอุปการะเสีย มุ่งประพฤติอยู่ในธรรมอันเป็นอุปการะ

    เมื่อท้าวสักกะทรงทราบอัธยาศัยของท่านอกิตติดาบสแล้ว ก็ได้ประทานพร ซึ่งพระโพธิสัตว์คือท่านอกิตติดาบสก็ได้แสดงธรรมโดยหัวข้อของการรับพร ตามข้อความใน อกิตติจริยาที่ ๑ ซึ่งมีข้อความว่า

    ท้าวสักกะผู้เป็นภูตบดีทอดพระเนตรเห็นท่านอกิตติดาบสพักสำราญอยู่ จึงถามว่า

    ข้าแต่มหาพรหม พระคุณเจ้าปรารถนาอะไรจึงอยู่ผู้เดียวในฤดูร้อน

    เป็นการซักถามถึงความจริงใจของผู้ที่ประพฤติธรรมอย่างสูง จนกระทั่งแม้ ท้าวสักกะก็ยังเรียกว่า มหาพรหม

    ท่านอกิตติดาบสกล่าวว่า

    ท่านท้าวสักกรินทรเทพ ความเกิดใหม่เป็นทุกข์ การแตกทำลายแห่งสรีระ เป็นทุกข์ การตายด้วยความหลงเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้น อาตมาจึงอยู่ผู้เดียว

    ท้าวสักกะตรัสว่า

    ข้าแต่ท่านกัสปะ เมื่อพระคุณเจ้ากล่าวคำสุภาษิตอันสมควรนี้แล้ว พระคุณเจ้าปรารถนาอะไร ข้าพเจ้าจะให้พรนั้นแก่ท่าน

    เป็นเรื่องของพร ซึ่งบางท่านอาจจะสงสัยว่า ให้ได้หรือ แต่ความจริงแล้ว เป็นการแสดงความตั้งมั่นในการเจริญกุศลของผู้ที่ปรารถนาพร ซึ่งพรที่ ท่านอกิตติดาบสปรารถนาก็เป็นไปในธรรมทั้งสิ้น ซึ่งแสดงถึงสภาพธรรมที่เป็นบารมี

    ท่านอกิตติดาบสกล่าวว่า

    ท่านท้าวสักกะผู้เป็นจอมเทพทั้งหลาย หากท่านจะให้พรแก่อาตมา ขอจง ให้พรดังนี้ คนทั้งหลายได้บุตร ภรรยา ทรัพย์สมบัติ และของเป็นที่รักด้วย ความโลภใดแล้วไม่เดือดร้อน ขอความโลภนั้นไม่พึงอยู่ในอาตมาเลย

    นี่เป็นความละเอียดของจิตใจที่จะรู้ว่า ไม่ปรารถนาแม้ความโลภในสิ่งที่ไม่ทำให้เดือดร้อน ซึ่งผู้ที่ยังไม่มีความมั่นคงที่จะบำเพ็ญบารมี ก็ยังเห็นว่า ความโลภ เป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตมีความสะดวกสบาย มีความสุข เมื่อไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน ก็คงจะไม่เป็นอันตรายอะไร แต่แม้กระนั้นท่านอกิตติดาบสก็กล่าวว่า คนทั้งหลาย ได้บุตร ภรรยา ทรัพย์สมบัติ และของเป็นที่รักด้วยความโลภใดแล้วไม่เดือดร้อน ขอความโลภนั้นไม่พึงอยู่ในอาตมาเลย นี่เป็นความมั่นคงที่เป็นบารมี

    ท้าวสักกะตรัสว่า

    ข้าแต่ท่านกัสสปะ เมื่อพระคุณเจ้ากล่าวดีแล้ว ฯลฯ พระคุณเจ้าปรารถนาอะไรอีก

    ท่านผู้ฟังปรารถนาพรที่จะได้เจริญกุศลให้มั่นคงยิ่งขึ้นต่อไปเหมือนอย่างที่ ท่านอกิตติดาบสปรารถนาหรือไม่ เพราะว่าเพียงเท่านี้ไม่พอ เพราะฉะนั้น พรที่ ท่านอกิตติดาบสปรารถนาซึ่งแสดงถึงสภาพธรรมที่เป็นบารมีต่อไป ท่านอกิตติดาบสกล่าวว่า

    ท่านท้าวสักกะผู้เป็นจอมเทพทั้งหลาย หากท่านจะให้พรแก่อาตมา ขอจง ให้พรดังนี้ นา ไร่ ทอง โค ม้า ทาส และบุรุษ ย่อมเสื่อมไปด้วยโทษใด โทษนั้น ไม่พึงอยู่ในอาตมาเลย

    การที่ทรัพย์สมบัติทั้งหลายจะเสื่อมไปก็ด้วยอกุศลกรรม เป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว เป็นผลของกรรมของท่านเอง ถ้าไม่เป็นผลของอกุศลกรรมแล้ว นา ไร่ ทอง โค ม้า ทาส บุรุษก็จะไม่เสื่อมไป เพราะฉะนั้น เมื่อมีการเสื่อมในลาภ ในสมบัติต่างๆ ก็คือผลของอกุศลกรรมนั่นเอง ท่านอกิตติดาบสจึงกล่าวว่า นา ไร่ ทอง โค ม้า ทาส และบุรุษ ย่อมเสื่อมไปด้วยโทษใด โทษนั้นไม่พึงอยู่ ในอาตมาเลย คือ ไม่พึง ไม่ควรที่จะให้เกิดอกุศลกรรมใดๆ ที่จะเป็นเหตุให้มี ความเสื่อมต่างๆ เหล่านี้

    ท้าวสักกะตรัสว่า

    ข้าแต่ท่านกัสสปะ พระคุณเจ้าปรารถนาอะไรอีก

    ท่านอกิตติดาบสกล่าวว่า

    ท่านท้าวสักกะ หากท่านจะให้พรแก่อาตมา ขอจงให้พรดังนี้ บุคคลไม่พึงเห็น ไม่พึงได้ยินคนพาล ไม่พึงอยู่ร่วมด้วยคนพาล ไม่พึงกระทำ และไม่พึงชอบใจในการสนทนาปราศรัยด้วยคนพาล

    ทั้งขอให้ไม่พึงเห็น นอกจากไม่พึงเห็นแล้ว ยังไม่พึงได้ยินคนพาล ไม่พึงอยู่ ร่วมด้วยคนพาล ไม่พึงกระทำ และไม่พึงชอบใจการสนทนาปราศรัยด้วยคนพาล

    ท้าวสักกะตรัสว่า

    ข้าแต่ท่านกัสสปะ เพราะอะไรท่านจึงไม่ชอบคนพาล ขอจงบอกเหตุ เพราะเหตุใดพระคุณเจ้าจึงไม่ปรารถนาที่จะเห็นคนพาล

    เนกขัมมบารมีจะต้องมีจากการพิจารณาธรรมเหล่านี้ด้วย เพราะถ้าคบคนพาลก็ไม่สามารถมีเนกขัมมบารมีได้ เพราะฉะนั้น เบื้องต้นของการที่จะเข้าใจ แม้เนกขัมมบารมี จะต้องเข้าใจแม้บารมีอื่นๆ ด้วย เพราะท้าวสักกะตรัสว่า

    ข้าแต่ท่านกัสสปะ เพราะอะไรท่านจึงไม่ชอบคนพาล ขอจงบอกเถิด เพราะอะไรพระคุณเจ้าจึงไม่ปรารถนาที่จะเห็นคนพาล

    ท่านอกิตติดาบสกล่าวว่า

    คนพาลย่อมแนะนำสิ่งไม่ควรแนะนำ ย่อมขวนขวายในกิจอันไม่ใช่ธุระ คนพาลแนะนำให้ดีได้ยาก พูดดีหวังจะให้เขาเป็นคนประเสริฐกลับโกรธ คนพาลนั้น ไม่รู้วินัย การไม่เห็นคนพาลได้เป็นความดี

    แสดงให้เห็นว่า ยากที่จะอนุเคราะห์หรือเกื้อกูลคนพาล เพราะว่า แนะนำให้ดีได้ยาก หวังจะให้เขาเป็นคนประเสริฐก็กลับโกรธ การไม่เห็นคนพาลได้เป็นความดี

    ท้าวสักกะตรัสว่า

    ข้าแต่ท่านกัสสปะ พระคุณเจ้าปรารถนาอะไรอีก

    ท่านอกิตติดาบสกล่าวว่า

    ท่านท้าวสักกะจอมเทพ หากท่านจะให้พรแก่อาตมา ขอจงให้พรดังนี้ บุคคลพึงเห็นนักปราชญ์ พึงฟังนักปราชญ์ พึงอยู่ร่วมกับนักปราชญ์ พึงกระทำ และพึงชอบใจการสนทนาปราศรัยกับนักปราชญ์

    น่าสงสัยไหมว่า ทำไม ซึ่งท้าวสักกะก็ตรัสถามเพื่อความกระจ่าง สำหรับ ผู้ที่ต้องการความละเอียด หรือความเข้าใจ คือ เพื่อประโยชน์กับผู้ที่จะศึกษา พระธรรมนั่นเอง

    ท้าวสักกะตรัสว่า

    ข้าแต่ท่านกัสสปะ เพราะอะไรท่านจึงชอบใจนักปราชญ์ ขอจงบอกเหตุนั้น เพราะเหตุใดพระคุณเจ้าจึงปรารถนาจะเห็นนักปราชญ์

    ท่านอกิตติดาบสกล่าวว่า

    นักปราชญ์แนะนำสิ่งที่ควรแนะนำ ไม่ขวนขวายในกิจที่ไม่ใช่ธุระ นักปราชญ์แนะนำได้ง่าย พูดหวังจะให้ดีก็ไม่โกรธ นักปราชญ์ย่อมรู้จักวินัย การสมาคมกับนักปราชญ์เป็นความดี

    อย่าเพียงหวังที่จะเห็นนักปราชญ์ แต่ต้องทำตามนักปราชญ์ด้วยเพื่อความ เป็นปราชญ์ของท่านเอง เพราะว่า นักปราชญ์แนะนำสิ่งที่ควรแนะนำ มีสิ่งใดที่จะ เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น ท่านก็แนะนำด้วยความหวังดี เมื่อแนะนำในสิ่งที่ดี ก็เป็นนักปราชญ์ ไม่ขวนขวายในกิจที่ไม่ใช่ธุระ นักปราชญ์แนะนำได้ง่าย เวลาที่ ใครแนะนำท่าน ท่านก็พร้อมที่จะรับพิจารณา และประพฤติปฏิบัติตาม เพราะ เห็นประโยชน์ในสิ่งที่ผู้นั้นแนะนำ พูดหวังจะให้ดีก็ไม่โกรธ นี่ก็คือนักปราชญ์ นักปราชญ์ย่อมรู้จักวินัย การสมาคมกับนักปราชญ์เป็นความดี

    ท้าวสักกะตรัสว่า

    พระคุณเจ้าปรารถนาอะไรอีก

    เพื่อที่จะได้ทราบว่า การที่เป็นคนดี การที่จะอบรมเจริญบารมี จะต้องอาศัยธรรมอะไรอีกซึ่งจะต้องอบรมต่อไป

    ท่านอกิตติดาบสกล่าวว่า

    ท่านท้าวสักกะผู้เป็นจอมเทพ หากท่านจะให้พรแก่อาตมา ขอจงให้พรดังนี้ เมื่อราตรีหมดไป ดวงอาทิตย์ขึ้นเป็นเจ้าโลก ของบริโภคอันเป็นทิพย์พึงปรากฏ ผู้ขอพึงเป็นผู้มีศีล เมื่ออาตมาให้ของบริโภคไม่หมดสิ้นไป ครั้นให้แล้วอาตมา ไม่พึงเดือดร้อน เมื่อให้จิตพึงผ่องใส ท่านท้าวสักกะขอจงให้พรนี้เถิด

    ท้าวสักกะตรัสว่า

    พระคุณเจ้าปรารถนาอะไรอีก

    ท่านอกิตติดาบสกล่าวว่า

    ท่านท้าวสักกะผู้เป็นจอมเทพ หากท่านจะให้พรแก่อาตมา ขอจงให้พรดังนี้ ท่านไม่พึงกลับมาหาอาตมาอีก ท่านท้าวสักกะขอจงให้พรนี้เถิด

    นี่เป็นพรสุดท้ายที่ท่านอกิตติดาบสขอ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความไม่ประมาท ในอกุศลที่ยังมี ท้าวสักกะก็แปลกใจมาก เพราะว่าทุกคนปรารถนาที่จะเห็นเทพบุตร และเทพธิดานางฟ้าต่างๆ บางท่านก็ถึงกับเจริญกุศลธรรม ความสงบ เพื่อที่จะ เห็นเทพ แต่สำหรับท่านอกิตติดาบส พรสุดท้ายที่ท่านขอ คือ ท่านไม่พึงกลับมาหา อาตมาอีก ท่านท้าวสักกะขอจงให้พรนี้เถิด

    ท้าวสักกะตรัสว่า

    นรชาติหญิงชายทั้งหลายปรารถนาจะเห็นด้วยการประพฤติพรตเป็นอันมาก อะไรจะเป็นภัยในการเห็นข้าพเจ้า

    เห็นเทวดานี่เป็นภัย แต่อาจจะไม่ทราบถ้าอยากจะเห็น

    ท่านอกิตติดาบสกล่าวว่า

    อาตมาเห็นท่านผู้มีวรรณะของเทพเช่นนั้น ผู้ล้วนแล้วไปด้วยความสุขสมบูรณ์ในกาม ก็พึงประมาท หลงลืมซึ่งตบะ นี้เป็นภัยในการเห็นท่าน

    ลำดับนั้นท้าวสักกะตรัสว่า

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 2
    4 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ