บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 04


    บารมีสุดท้าย อุเบกขาบารมี ถ้าไม่ใช่เป็นผู้ทีมีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ก็ยากที่จะไม่หวั่นไหวไปด้วยความรัก ความชัง เพราะว่าย่อมกระทบกระทั่งกับอารมณ์ภายนอก และเกิดความเศร้าโศก เสียใจ ความหม่นหมองใจต่างๆ แล้วแต่อารมณ์ที่ปรากฏนั้น จะเป็นอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย เพราะฉะนั้น ถ้าไม่สามารถที่จะเกื้อกูลสงเคราะห์บุคคลอื่นซึ่งเป็นเมตตาหรือกรุณา ในขณะนั้นก็ต้องระวังสภาพของจิตไม่ให้เศร้าหมอง เพราะว่าความเศร้าหมองของจิตเป็นอกุศล

    ในวันหนึ่งๆ ถ้าสังเกตสภาพของจิตโดยละเอียด คือ สติที่ระลึกได้ จะรู้ว่าขณะนั้นจิตเศร้าหมองหรือไม่ด้วยความรัก หรือด้วยความชัง ถ้าเป็นวงศ์ญาติ มิตรสหายที่รักที่พอใจ ในขณะนั้นไม่ใช่อุเบกขา เพราะว่าเกิดความรัก ความพอใจขึ้น และถ้าเห็นบุคคลซึ่งไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจ และไม่ระลึกรู้ลักษณะของจิตในขณะนั้น ก็จะไม่รู้ว่า มีสภาพของความชัง ความไม่พอใจเกิดขึ้นแล้ว

    หรือว่าขณะที่มีความทุกข์ ก็ให้ทราบว่า ทุกข์นั้นต้องเนื่องมาจากความรัก และความชังอย่างหนึ่งอย่างใดเสมอ เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะไม่ทุกข์ได้ คือ ผู้ที่ไม่หวั่นไหวไปด้วยความรัก ด้วยความชังในบุคคลต่างๆ นั่นเป็นการอบรมเจริญอุเบกขาบารมี

    คนฆ่างู บางท่านเข้าใจว่า ท่านมีความเมตตากรุณาสงสารงูที่ถูกฆ่า แต่ว่าจิตในขณะนั้นหวั่นไหวแล้วด้วยความชังในคนที่ฆ่างู มีคำพูดที่แสดงว่า คนนั้นใจร้าย หรือไม่ควรจะกระทำสิ่งนั้นเลย แต่ขอให้ระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิตในขณะนั้นว่า จิตที่มีต่อคนฆ่างูนั้นเป็นอย่างไร ถ้าเป็นเมตตาไม่ได้ ก็เป็นอุเบกขา คือ ไม่หวั่นไหว เพราะว่าทุกคนย่อมเป็นไปตามกรรมของตน

    ถ้ามีเมตตา ก็น่าสงสารคนที่ทำอกุศลกรรม เพราะว่าเขาย่อมได้รับผลของอกุศลกรรมนั้น ซึ่งท่านก็จะไม่เดือดร้อนใจ ไม่ใช้วาจาที่ไม่สมควร หรือวาจาที่รุนแรงกับบุคคลนั้น เพราะว่าขณะนั้นมีเมตตา รู้ว่าบุคคลนั้นย่อมได้รับผลของอกุศลกรรม เพราะฉะนั้น ก็อาจจะเกิดกุศลจิตที่เป็นเมตตาต่อบุคคลนั้นก็ได้ หรือว่าอุเบกขาต่อบุคคลนั้นก็ได้

    เพราะฉะนั้น ในชีวิตประจำวัน อย่าเห็นอกุศลเป็นกุศล อย่าเข้าใจว่า อกุศลธรรมนั้นดีที่จะต้องใช้คำที่รุนแรงกับผู้ที่ประกอบอกุศลกรรม ไม่มีความจำเป็นเลยที่จิตจะหวั่นไหวไปอย่างนั้น เพราะว่าจิตที่หวั่นไหวไปนั้นเป็นอกุศลแล้ว เพราะฉะนั้น ถ้าอบรมเจริญปัญญา สามารถที่จะรู้ลักษณะของความคงที่ของจิตที่ไม่หวั่นไหวไปด้วยความรัก และความชัง ก็ย่อมจะเจริญกุศลที่เป็นอุเบกขาบารมีได้มากขึ้น

    ความแยบคาย โยนิโสมนสิการ ขาดไม่ได้เลยในการฟังพระธรรม

    เท่าที่ได้ฟังพระธรรมมาทั้งหมด ความคิดที่แยบคายควรจะเป็นความคิดอย่างไร คือ คิดที่จะสละกิเลส หรือคิดที่จะทำ ถ้าเข้าใจเรื่องสภาพธรรมไม่ใช่ตัวตน ก็คงจะ ตัดปัญหาเรื่องการคิดที่จะทำได้ แต่สำหรับการคิดที่จะสละกิเลสจะมีมากน้อย ประการใด

    ถ้าไม่ได้อ่านความประพฤติเป็นไปในแต่ละชาติๆ ของพระผู้มีพระภาค เปรียบเทียบกับความประพฤติปฏิบัติของท่านในชาตินี้ ก็คงไม่ทราบว่า ยังห่างจากการประพฤติปฏิบัติของพระผู้มีพระภาคอีกแสนไกล เพราะว่า เมื่อฟังพระธรรม และมีความเข้าใจพระธรรมว่าเพื่อขัดเกลากิเลส เพื่อละกิเลส แต่ระลึกถึงสัจจบารมี คือ ความจริงใจที่จะขัดเกลากิเลสบ้างไหม

    บารมี ๑๐ ได้แก่ ทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมบารมี ปัญญาบารมี วิริยบารมี ขันติบารมี สัจจบารมี อธิษฐานบารมี เมตตาบารมี อุเบกขาบารมี

    บารมีต้องครบ เพราะบางท่านอาจจะไม่ได้พิจารณาความละเอียด แม้สัจจบารมี เช่น ความจริงใจที่จะขัดเกลากิเลส พูดตามได้ว่า ศึกษาพระธรรมเพื่อ ขัดเกลากิเลส แต่แล้วก็โกรธ

    ขณะที่โกรธจะนึกได้ไหมว่า จริงใจที่จะขัดเกลา ไม่ใช่เพียงแต่บอกว่า จะขัดเกลา แต่ไม่อภัยคนนั้นคนนี้ หรือยังพอใจที่จะคิดถึงความไม่ดีของคนอื่น ด้วยความขุ่นเคืองใจ

    การคิดถึงความไม่ดีของคนอื่นด้วยเมตตาได้ย่อมเป็นประโยชน์ แต่ถ้าคิดถึง ความไม่ดีของคนอื่นด้วยความขุ่นข้อง ทุกครั้งที่คิดถึงก็ขุ่นเคืองใจ และตั้งหลายวันมาแล้วที่ฟังพระธรรม เมื่อคิดถึงความไม่ดีของคนอื่นก็ยังขุ่นเคืองใจอีก เพราะฉะนั้น สัจจบารมีที่ว่า ความจริงใจที่จะขัดเกลากิเลส มีมากน้อยแค่ไหน

    บารมีทั้งหมดจะขาดไม่ได้เลย แม้แต่ความจริงใจที่จะขัดเกลากิเลสก็ต้องมี เป็นสัจจบารมี ระลึกได้ที่จะคิดถึงความไม่ดีของคนอื่นด้วยเมตตา มิฉะนั้นแล้ว จะถึงการดับกิเลสไหม ถ้าไม่เข้าใจเรื่องของบารมี และนอกจากความจริงใจที่เป็น สัจจบารมีแล้ว ยังต้องมีอธิษฐานบารมี คือ ความมั่นคง ไม่หวั่นไหว แม้ว่ามีความจริงใจแล้ว แต่บางครั้งก็ยังหวั่นไหวไป ก็ต้องมีอธิษฐานบารมีว่า ต้องมีความมั่นคง ในการเป็นผู้ที่จริงใจต่อการที่จะขัดเกลากิเลสด้วย

    นอกจากนั้น ยังต้องมีขันติบารมี คือ อดกลั้น

    หลายบารมีที่จะต้องเกิด ที่จะต้องอบรมจริงๆ เป็นโยนิโสมนสิการ มิฉะนั้น ไม่มีทางที่จะเป็นผู้ที่มีโยนิโสมนสิการในการอบรมเจริญปัญญา

    ขอกล่าวถึงพระชาติหนึ่งของพระโพธิสัตว์ เพื่อที่จะแสดงให้เห็นถึงพุทธจริยา คือ ความประพฤติเป็นไป ซึ่งท่านผู้ฟังอาจจะเห็นว่าเป็นชีวิตธรรมดา แต่ถ้าไม่พิจารณาจะไม่เห็นเลยว่า เป็นบารมีที่พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญ

    โสณนันทปัณฑิตจริยา มีข้อความว่า

    ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์จุติจากพรหมโลกบังเกิดเป็นบุตรของพราหมณ์มหาศาลคนหนึ่งมีสมบัติ ๘๐ โกฏิ ในพรหมวัทธนนคร มารดาบิดาได้ตั้งชื่อท่านว่า โสณกุมาร

    เมื่อโสณกุมารเดินได้ ก็มีสัตว์อื่นจุติจากพรหมโลกถือปฏิสนธิในครรภ์ของมารดาพระโพธิสัตว์ และมารดาก็ตั้งชื่อบุตรนั้นว่า นันทกุมาร

    นันทกุมาร คือ ท่านพระอานนท์ในชาติสุดท้ายของท่าน

    มารดาบิดาได้เห็นรูปสมบัติของบุตรทั้งสอง ก็ให้ศึกษาศิลปะทุกอย่าง และอยากจะให้ท่านครองเรือน แต่พระโพธิสัตว์ไม่ปรารถนาที่จะครองเรือน ปรารถนาที่จะบำรุงบิดามารดาตลอดชีวิต เมื่อมารดาบิดาสิ้นชีวิตแล้วก็ปรารถนาที่จะบวช

    มารดาบิดาของท่านพยายามชักชวนให้พระโพธิสัตว์ทราบความประสงค์ที่จะ ให้ครองเรือน แต่พระโพธิสัตว์ก็มีความตั้งใจมั่นคงที่จะบวช มารดาบิดาก็มอบสมบัติให้นันทกุมารแทน แต่นันทกุมารก็กล่าวว่า เมื่อโสณกุมารผู้เป็นพี่ชายไม่รับสมบัติ เพราะฉะนั้น นันทกุมารก็ไม่รับสมบัติ และจะบวชด้วย ซึ่งมารดาบิดาก็แปลกใจมากที่บุตรทั้งสองต้องการจะละสมบัติออกบวชในวัยหนุ่ม ทั้งๆ ที่มารดาบิดาก็เป็นผู้สูงอายุกว่ามาก เพราะฉะนั้น เมื่อเห็นความตั้งใจของบุตรทั้งสองก็คิดว่า เมื่อบุตรซึ่งอยู่ในวัยหนุ่มยังสามารถออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตได้ มารดาบิดาก็ขอบวชด้วย

    ในครั้งนั้น ท่านเหล่านั้นก็ได้สร้างอาศรมอยู่ในป่า และทั้งสองพี่น้องนั้นก็บำรุงมารดาบิดา นันทบัณฑิตคิดว่า เราจะให้มารดาบิดาบริโภคผลไม้ที่เรานำมาเท่านั้น ท่านจึงได้นำผลไม้ที่เหลือจากวันก่อน และที่ตนหาได้ในวันก่อนๆ มาให้มารดาบิดาบริโภคตั้งแต่เช้าตรู่ เมื่อมารดาบิดาบริโภคผลไม้เหล่านั้นแล้วก็บ้วนปาก รักษาอุโบสถ ส่วนโสณบัณฑิตไปไกลหน่อย และนำผลไม้ที่สุกดีแล้ว มีรสอร่อย นำไปให้มารดาบิดาบริโภค มารดาบิดากล่าวกับโสณบัณฑิตว่า เราบริโภคแล้ว และรักษาอุโบสถ เพราะฉะนั้น ก็ไม่ต้องการบริโภคผลไม้ของโสณบัณฑิต แต่ผลไม้ของนันทบัณฑิตนั้น เป็นผลไม้ที่เก็บไว้ก่อน เนื่องจากอยากให้มารดาบริโภคแต่เช้า เพราะฉะนั้น บางทีก็เป็นผลไม้ที่เสีย

    ลำดับนั้นพระโพธิสัตว์ดำริว่า มารดาบิดาเป็นคนแบบบาง นันทะนำผลไม้ ดิบบ้าง สุกไม่ดีบ้าง มาให้มารดาบิดาบริโภค มารดาบิดาก็จะอยู่ได้ไม่นาน

    คือ เป็นผู้อยู่ในตระกูลสูง เพราะฉะนั้น ไม่ควรบริโภคผลไม้ที่ไม่ดี คือ บางครั้งก็เสีย บางครั้งก็ดิบไปบ้าง

    ท่านห้ามนันทะ โดยกล่าวว่า ตั้งแต่นี้ไปเวลาที่นันทะนำผลไม้มาให้มารดาบิดา ก็ขอให้รอท่านกลับมาก่อน เพื่อให้มารดาบิดาบริโภคร่วมกัน

    คือ ไม่ใช่บริโภคแต่ผลไม้ของนันทะเท่านั้น

    เมื่อโสณบัณฑิตกล่าวอย่างนี้แล้ว นันทบัณฑิตหวังได้บุญ จึงไม่ทำตาม

    คือ หวังที่จะให้มารดาบิดาบริโภคแต่ผลไม้ที่ตนนำมาเท่านั้น

    เมื่อพระโพธิสัตว์เห็นนันทบัณฑิตไม่ทำตาม ก็บอกให้นันทบัณฑิตไปอยู่เสียที่อื่น ท่านเองจะเป็นผู้บำรุงมารดาบิดา

    นันทบัณฑิตเมื่อถูกพี่ชายขับไล่ไม่ให้อยู่ในที่นั้น ก็ได้ไหว้พระโพธิสัตว์ แล้วได้บอกลามารดาบิดา ท่านเจริญกุศลยังสมาบัติ ๘ และอภิญญา ๕ ให้เกิดขึ้น และ คิดที่จะขอโทษพี่ชาย

    นี่เป็นความรู้สึกของผู้ที่สะสมบารมีมาที่จะรู้ว่า สิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร

    แต่ท่านก็เห็นว่า การที่จะให้พี่ชายยกโทษให้ ก็ควรจะเป็นการยกโทษอย่างดียิ่ง เพราะฉะนั้น ก็คิดว่า ทำอย่างไรพี่ชายจึงจะยกโทษให้อย่างดี ท่านคิดที่จะนำท้าวสักกเทวราชมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อมาขอขมาพี่ชาย แต่ก็คิดว่าทำอย่างนั้นไม่ควร เพราะว่าเมื่อทั้งสองยังอยู่ในโลกนี้ ก็ควรนำพระราชาผู้เป็นใหญ่ของเมืองพรหมวัทธนะผู้มีนามว่า มโนชะ ซึ่งเป็นใหญ่กว่าพระราชาทั้งหลายมาเพื่อให้ได้รับทราบการขอโทษพี่ชายของท่านด้วย

    เมื่อท่านคิดอย่างนั้นแล้ว ท่านก็ได้ไปยังพระราชวังของพระเจ้ามโนชะ และกล่าวว่า จะยึดราชสมบัติทั่วชมพูทวีปมาถวาย แต่ขอให้พระองค์ได้เสด็จไปหาพี่ชายของท่าน เพื่อที่ท่านจะได้ขอโทษพี่ชาย ซึ่งในที่สุดท่านก็ได้กระทำอย่างนั้น และท่าน ก็ได้ขอขมาพี่ชาย

    พระโพธิสัตว์ให้นันทบัณฑิตดูแลมารดา ส่วนท่านเองบำรุงบิดาจนตลอดชีวิต และพระโพธิสัตว์ได้แสดงธรรมแก่พระราชาเหล่านั้นด้วยพุทธลีลาว่า

    ความยินดี ความบันเทิง อันผู้รู้พึงได้เพราะบำรุงบำเรอมารดาให้ท่านหัวเราะแจ่มใสอยู่ทุกเมื่อ

    ความยินดี ความบันเทิง อันผู้รู้พึงได้เพราะบำรุงบำเรอบิดาให้ท่านหัวเราะแจ่มใสอยู่ทุกเมื่อ

    การสงเคราะห์เหล่านี้แลในโลกตามสมควรในธรรมนั้นๆ คือ การให้ การเจรจาถ้อยคำอ่อนหวาน การประพฤติเป็นประโยชน์ การวางตนเสมอต้น เสมอปลาย ดุจลิ่มรถที่แล่นไปฉะนั้น

    การสงเคราะห์เหล่านี้ไม่พึงมี มารดาย่อมไม่ได้การนับถือหรือการบูชาเพราะเหตุแห่งบุตร หรือบิดาย่อมไม่ได้การนับถือหรือการบูชาเพราะเหตุแห่งบุตร

    คือ ถ้าไม่สงเคราะห์กันอย่างนี้ ก็จะไม่เป็นการบูชามารดาบิดา

    เพราะบัณฑิตทั้งหลายเพ่งเล็งโดยชอบการสงเคราะห์เหล่านี้ ฉะนั้น จึงถึงความเป็นผู้ยิ่งใหญ่ และได้ความสรรเสริญ

    มารดาบิดาท่านกล่าวว่า เป็นพรหม เป็นบูรพาจารย์ และเป็นผู้ควรบูชา ของบุตรทั้งหลาย เป็นผู้อนุเคราะห์สัตว์

    เพราะฉะนั้นแล บัณฑิตพึงนอบน้อม พึงสักการะบิดามารดาเหล่านั้น ด้วยข้าว ด้วยน้ำ ด้วยผ้า ด้วยที่นอน ด้วยเครื่องนุ่งห่ม ด้วยน้ำอาบ และด้วยการล้างเท้า

    บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมสรรเสริญบุคคลนั้นในโลกนี้ ด้วยการบำรุงบำเรอ ในมารดาบิดาทั้งหลาย บุคคลนั้นละจากโลกนี้ไปแล้ว ย่อมบันเทิงในสวรรค์

    มีบารมีอะไรบ้างหรือเปล่าในพุทธจริยา ในพระชาติที่เป็นโสณบัณฑิต ถ้าไม่พิจารณาจะไม่เห็น

    ข้อความตอนท้ายมีว่า

    เนกขัมมบารมียอดเยี่ยมอย่างยิ่งของโสณบัณฑิตนั้นก็จริง แม้ถึงอย่างนั้น ก็พึงกล่าวถึงบารมีที่เหลือโดยนัยดังกล่าวแล้วในหนหลังนั่นแล อนึ่ง พึงประกาศ คุณานุภาพของพระมหาสัตว์มีอาทิอย่างนี้คือ ความเป็นผู้ไม่คำนึงถึงกามทั้งหลาย โดยสิ้นเชิง (เนกขัมมบารมี) ความเป็นผู้มีความเคารพยำเกรงอย่างแรงกล้าในมารดาบิดาทั้งหลาย ความไม่อิ่มด้วยการบำรุงมารดาบิดา แม้เมื่อมีการบำรุง มารดาบิดาเหล่านั้นอยู่ ก็ยังกาลเวลาทั้งหมดให้น้อมไปด้วยสมาบัติ …

    นี่เป็นชีวิตประจำวัน ต้องมีวิริยบารมีในการที่จะไปแสวงหาผลไม้ที่ดีๆ มา เพื่อบำรุงมารดาบิดา และต้องมีความอดทน มีความเพียรด้วย ในการที่จะทำอย่างนั้น

    ถ้าทุกท่านจะพิจารณาบารมี ๑๐ ของท่านเอง ก็ดูจากความประพฤติของตนเองในปัจจุบันชาติซึ่งสืบต่อมาจากชาติก่อนๆ โดยไม่มีระหว่างคั่นเลย ไม่ว่าจะเกิด เป็นอะไร ที่ไหน ชาติไหนก็ตาม แต่ชาติก่อนซึ่งผ่านไปแล้วอุปมาเหมือนกับประตู ที่ปิดสนิท เพราะฉะนั้น ย่อมไม่มีผู้ที่สามารถมองผ่านประตูนั้นเข้าไปเห็นชาติก่อน หรือการกระทำความประพฤติในชาติก่อนทั้งหมดได้ แต่สามารถเห็นการกระทำ และความประพฤติของตนเองในชาตินี้ได้

    ผู้ฟัง จำเป็นไหมที่จะต้องบำเพ็ญบารมีทั้ง ๑๐

    ท่านอาจารย์ จำเป็น เพราะถ้าขาดสัจจะก็จะเป็นผู้ที่เพียงกล่าวว่า จะละกิเลส แต่เป็นผู้จริงใจในการละกิเลสหรือเปล่า ถ้าเป็นผู้ที่จริงใจ ถ้าโกรธหรือคิดถึงความไม่ดีของคนอื่นแล้วขุ่นเคือง สติก็ควรที่จะเกิดระลึกได้ว่า เป็นผู้จริงใจในการที่จะขัดเกลากิเลสหรือเปล่า ถ้าระลึกได้ มีความมั่นคง มีความจริงใจ ขณะนั้นจะคิดถึงความไม่ดีของคนอื่นด้วยเมตตา เพราะฉะนั้น เป็นสิ่งที่จำเป็น

    ผู้ฟัง ถ้าไม่บำเพ็ญบารมีครบทั้ง ๑๐ จะมีอะไรเกิดขึ้นไหม จะตกอบายไหม

    ท่านอาจารย์ ไม่มีการที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเลยได้ เพราะแม้แต่การเจริญปัญญา ก็ต้องอาศัยขันติ อาศัยวิริยะ อาศัยสัจจะ อาศัยอธิษฐาน อาศัยเนกขัมมะ อาศัยทาน อาศัยศีล หลายประการทีเดียว ไม่ใช่ว่าใครอยากจะปฏิบัติ ใครอยากจะทำก็จะถึง แต่เป็นจิรกาลภาวนาที่จะต้องบำเพ็ญอย่างนานทีเดียว

    สำหรับปัญหาในเรื่องบารมี ๑๐ ที่ว่ามีความจำเป็นไหม ก็จะเห็นได้ว่า สภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา แม้แต่เจตสิกแต่ละประเภททั้งอัญญสมานาเจตสิกก็ดี อกุศลเจตสิกก็ดี โสภณเจตสิกก็ดี ต่างเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย และต่างก็เป็นปัจจัย ซึ่งกัน และกัน โดยเป็นปัจจัยประเภทต่างๆ เกิดดับสืบต่อตลอดมายาวนานใน แสนโกฏิกัปป์จนถึงขณะปัจจุบัน คือ ในขณะนี้ โดยไม่เว้นว่างเลยในสังสารวัฏฏ์

    ขอให้คิดถึงสภาพของเจตสิก เช่น ผัสสเจตสิก กระทบอารมณ์ทุกครั้งที่จิตเกิด ไม่มีการว่างเว้นสักขณะเดียวที่จิตเกิด จะต้องมีผัสสเจตสิก และเจตสิกอื่นๆ เกิด ถอยไปทุกๆ ชาติ ไม่ว่าอดีตจะยาวนานสักเท่าไร ผัสสเจตสิกก็เกิดพร้อมจิต ดับพร้อมจิต และเมื่อจุติจิตดับไป ปฏิสนธิจิตก็เกิดต่อ แสดงว่าผัสสะไม่ได้ว่างเว้น ที่จะกระทบอารมณ์ และเจตสิกอื่นๆ ก็เกิดกับจิตสืบต่อมา จะว่างเว้นก็เฉพาะ ในขณะที่ผู้ใดปฏิสนธิเป็นอสัญญสัตตาพรหม คือ มีแต่รูปธรรม ไม่มีนามธรรม ในระหว่างที่เป็นอสัญญสัตตาพรหม หรือถ้าเป็นในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ก็ในระหว่างที่ เข้านิโรธสมาบัติ ซึ่งจิตเจตสิกไม่เกิด แต่สังสารวัฏฏ์ก็ยาวนานมากจนกระทั่งทุกท่าน จำไม่ได้ ระลึกไม่ได้เลยว่า ในชาติไหนเคยเป็นใคร หรืออาจจะเคยเกิดเป็น อสัญญสัตตาพรหม เพราะว่าสิ่งที่ผ่านไปแล้วในชาติก่อน ก็เหมือนกับประตูที่ปิดสนิท ไม่มีใครสามารถจะมองผ่านไป และเห็นได้ แต่ให้ทราบว่า สภาพธรรมไม่หยุด การทำงานเลย

    การเห็นชาติก่อน กับการเห็นชาตินี้สืบต่อกันเร็ว และเป็นปกติไปเรื่อยๆ หลับไปแล้วก็ตื่นขึ้น และก็เห็นอีก ได้ยินอีก คิดนึกอีก ถ้าไม่นับชาติซึ่งเป็นสมมติ ก็จะเห็นได้ว่า ไม่มีการว่างเว้น เพราะว่าสมมติมรณะก็คือการตายของชาติหนึ่ง แต่เมื่อมีการเกิดสืบต่อก็เท่ากับว่า จิตของแต่ละท่านเกิดดับมาแล้ว สืบต่อมาแล้ว ทำงานมาแล้ว ไม่ว่างเว้นนับไม่ถ้วนเลย ซึ่งตลอดทุกชาติมา และในชาตินี้ ทุกคนก็อยากจะเจริญธรรมฝ่ายดี คือ อยากจะให้โสภณธรรมเจริญมากๆ แต่ธรรมฝ่ายดี ก็เจริญช้ากว่าธรรมที่เป็นฝ่ายอกุศล ซึ่งจะเห็นได้ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะ ปัญญาเจตสิกที่ทุกคนหวัง และปรารถนามากที่จะให้โสภณธรรมประเภทนี้เจริญ แต่ก็เป็นสภาพธรรมที่เจริญช้ายิ่งกว่าโสภณธรรมอื่นๆ เช่น ศรัทธา เป็นต้น

    ถ้าไม่ได้พิจารณาในเหตุผลของธรรมโดยละเอียด ปัญญาก็ยิ่งเจริญช้า เพราะปัญญาเจตสิกเจริญช้าอยู่แล้ว และถ้าไม่รู้เหตุที่จะทำให้ปัญญาเจริญ ปัญญาเจตสิกก็ยิ่งเจริญช้ามากไปอีก เมื่อเทียบกับการเจริญของอกุศลธรรม ในวันหนึ่งๆ เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องของบารมีที่จะต้องบำเพ็ญด้วย

    ก่อนที่จะได้ฟังพระธรรม อกุศลจิตย่อมเกิดมาก และไม่มีความรู้ ไม่มีความเข้าใจเรื่องของการเจริญมรรคมีองค์ ๘ เลย เมื่อได้ฟังพระธรรมแล้วก็มีความเข้าใจ เรื่องการอบรมเจริญปัญญา เรื่องการอบรมเจริญมรรคมีองค์ ๘ แต่ทั้งๆ ที่ทุกท่านเข้าใจแล้วทุกท่านก็ทราบว่า การที่วันหนึ่งๆ สัมมาสติจะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นน้อยมาก เพราะฉะนั้น ก็ควรที่จะรู้จักตัวเองตามความเป็นจริงว่า เพราะเหตุใดสัมมาสติจึงเกิดน้อย แม้ว่าจะเข้าใจหนทางแล้ว

    หนทางมี มองเห็น และรู้ว่าหนทางนี้เป็นทางที่ปัญญาจะเจริญ เป็นทาง ที่จะละการยึดถือว่าเป็นตัวตน เป็นทางที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม แต่เพราะเหตุใดสัมมาสติจึงไม่เจริญตามหนทางที่เข้าใจแล้ว ก็เพราะว่าทุกคนซึ่งยังมีกิเลส เปรียบเหมือนผู้ที่เป็นโรค เพราะฉะนั้น ต้องรักษาโรคที่กำลังเป็น จนกระทั่งเป็นผู้ที่แข็งแรงสามารถเดินหนทางไกล คือ มรรคมีองค์ ๘ ให้ถึงจุดหมายปลายทาง คือ การรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ แต่ถ้าไม่พิจารณาตนเองเลย ก็ยังคงเป็นผู้ที่รู้ทาง แต่ไปไม่ไหว และไม่รู้วิธีว่า ทำอย่างไรถึงจะเป็นผู้ที่แข็งแรงขึ้นจากโรคภัยต่างๆ

    เพราะฉะนั้น การฟังพระธรรม และการพิจารณาพระธรรมให้เข้าใจ เปรียบเสมือนการแสวงหายารักษาโรค ซึ่งจะรู้ได้จริงๆ ว่า ผู้ที่ไม่เคยฟังพระธรรม ไม่รู้แม้ว่าตนเองเป็นโรค จึงไม่แสวงหายาที่จะรักษาโรค และทั้งๆ ที่แสวงหาพระธรรม มีความเข้าใจซึ่งเปรียบเหมือนมียารักษาโรคแล้ว ก็ยังต้องบำรุงร่างกายให้แข็งแรงพอที่จะเดินไปในหนทางไกล คือ การอบรมเจริญมรรคมีองค์ ๘ ให้บรรลุจุดหมายปลายทางได้

    ขอให้คิดถึงคนที่เห็นทาง แต่ป่วยไข้ได้เจ็บ และทางนั้นก็แสนไกล ทำอย่างไรจึงจะเดินไปไหวให้ถึงจุดหมายปลายทางนั้นได้ เพราะฉะนั้น ต้องรู้ว่า ถ้าร่างกาย ไม่สมบูรณ์แข็งแรง ก็ไม่สามารถไปได้ตลอด และธรรมที่จะบำรุงจิตใจให้แข็งแรง ที่จะดำเนินไปในมรรคมีองค์ ๘ ได้ตลอด คือ บารมี ๑๐

    ผู้ฟัง คนที่ไม่ได้เจริญบารมีทั้ง ๑๐ ครบบริบูรณ์ จะไม่สามารถบรรลุ พระอริยบุคคลได้เลย ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ก็เหมือนคนเจ็บ ไม่แข็งแรง จะไปได้อย่างไร เพราะฉะนั้น เรื่องของบารมีเป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาจริงๆ มิฉะนั้นแล้ววันหนึ่งๆ ที่ฟังพระธรรม จะไม่ใช่บารมีก็ได้ เพราะบางท่านบอกว่า ท่านฟังไปอย่างนั้นแหละ ดีกว่าไม่ฟัง แสดงให้เห็นว่า ยังไม่เป็นบารมี

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 2
    4 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ