บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 37


    แม้มหาชนก็ตั้งอยู่ ในโอวาทของพระองค์ บำเพ็ญฐานะ ๑๐ ประการเหล่านั้นบริบูรณ์แล้วได้ไปสวรรค์

    พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้วตรัสว่า

    ดูกร มหาบพิตร โบราณกบัณฑิต ไม่มีอาจารย์ แสดงธรรมตามความรู้ ของตน พามหาชนไปสวรรค์ได้อย่างนี้

    แล้วทรงประชุมชาดกว่า

    บริษัทในครั้งนั้นได้มาเป็นพุทธบริษัทในครั้งนี้ ส่วนพระเจ้าชนสันธราชได้มาเป็นเราตถาคตแล

    พุทธบริษัทที่ฟังธรรมในครั้งโน้นก็จะฟังธรรมในครั้งนี้ และจะฟังธรรมในครั้ง ต่อๆ ไป เพราะว่าพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเป็นเรื่องชีวิตจริงๆ ตั้งแต่เกิดจนตายทุกๆ ชาติ พระองค์ทรงตรัสรู้ลักษณะของสภาพธรรมและทรงแสดงธรรมเพื่อให้ผู้ที่ได้ฟังเข้าใจสภาพธรรม และประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่เป็นประโยชน์ในทุกๆ ชาติ เพราะว่าพระนิพพานนั้นแสนไกล ถ้าใครคิดจะบรรลุถึงพระนิพพาน คิดถึงการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม คิดถึงการประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับในขณะนี้ จะรู้ว่า ไม่ใช่เป็นสิ่งซึ่งปัญญาสามารถจะประจักษ์ได้อย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้น ก็ยังอีกไกลมาก แต่ถ้าได้เข้าใจธรรม ได้ประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่เป็นประโยชน์ไปทุกชาติ ปัญญาจะค่อยๆ อบรมเจริญขึ้น เพราะว่าเป็นความจริงที่เมื่อเกิดมาแล้วทุกคนก็เป็น ผู้ที่ยังมีกิเลส ซึ่งในชีวิตประจำวันจะเห็นได้จริงๆ ว่า ยังเป็นไปตามกำลังของกิเลส ที่จะไม่ให้กิเลสเกิดเลยในวันหนึ่งๆ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

    เพราะฉะนั้น หนทางเดียวที่จะทำให้กิเลสค่อยๆ ลดกำลังลง คือ การเป็นผู้ที่ไม่ทอดทิ้งการศึกษา การฟังพระธรรม การพิจารณาพระธรรมโดยละเอียดเพื่อให้เกิดปัญญาที่จะสามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมในชีวิตประจำวันจริงๆ ซึ่งการดำเนินชีวิตในแต่ละวันก็ย่อมแสดงถึงการที่เคยได้ฟังพระธรรม ได้พิจารณาพระธรรม และเข้าใจธรรมในอดีตด้วย

    ขอกล่าวถึงข้อความที่พระเจ้าชนสันธะได้ตรัสอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้ท่านผู้ฟัง ได้พิจารณาโดยละเอียดถึงเหตุที่ทำให้จิตเดือดร้อน ๑๐ ประการ คือ

    บุคคลเมื่อยังเป็นหนุ่ม ไม่ทำความพยายามยังทรัพย์ให้เกิดขึ้น ครั้นแก่ลง หาทรัพย์ไม่ได้ ย่อมเดือดร้อนภายหลังว่า เมื่อก่อนเราไม่ได้แสวงหาทรัพย์ไว้

    ท่านที่มีความลำบากในวัยชราคงจะเห็นจริงด้วยว่า ที่ท่านต้องลำบากในยามชรานั้นก็เพราะว่า เมื่อยังเป็นหนุ่ม ไม่ทำความพยายามยังทรัพย์ให้เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น สำหรับผู้ที่อยู่ในวัยที่ยังสามารถกระทำกิจการงาน ก็ควรจะมีชีวิตต่อไปในโลกด้วยความเจริญทั้งทางโลกและทางธรรม ถ้าชีวิตประจำวันไม่สามารถดำเนินไปด้วยดี เช่น บางท่านไม่มีเวลาศึกษาพิจารณาธรรมเลย มีกิจธุระที่จะต้องกระทำมาก เพราะฉะนั้น เวลาที่จะศึกษาธรรมก็น้อย นี่ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่ง แต่บางท่านไม่ต้องลำบากในเรื่องการเลี้ยงชีพเลย แม้กระนั้นก็ยังมีกำลังของกิเลสทำให้ไม่สนใจที่จะศึกษาพระธรรมมากขึ้น

    แสดงให้เห็นว่า กว่าจะถึงการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ทุกคนต้องเป็นผู้ที่พิจารณาละเอียดถึงชีวิตของตนเองตามความเป็นจริงที่จะเป็นเหตุให้เดือดร้อนใจในภายหลังได้ แม้แต่ในเรื่องของตอนที่ยังสามารถกระทำกิจการงาน แต่ไม่พยายามยังทรัพย์ให้เกิดขึ้น

    ประการต่อไป คือ

    สิปปะหรือศิลปะที่สมควรแก่ตน บุคคลใดไม่ได้ศึกษาไว้ในกาลก่อน บุคคลนั้นย่อมเดือดร้อนในภายหลังว่า เราไม่ได้ศึกษาสิปปะหรือศิลปะไว้ก่อน ผู้ไม่มีศิลปะย่อมเลี้ยงชีพลำบาก

    แสดงให้เห็นถึงชีวิตประจำวัน ซึ่งควรจะเป็นผู้ที่ขยัน และสนใจในการเป็นผู้ที่ มีความรู้มีความสามารถในเรื่องต่างๆ เพราะว่าความรู้ความสามารถทุกอย่าง ย่อมเป็นประโยชน์ แม้แต่ในเรื่องการทำอาหารอร่อย การเย็บปักถักร้อย การเกษตร การกสิกรรม ต่างๆ เหล่านี้ เป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตดำเนินไปด้วยความราบรื่นได้เมื่อเป็น ผู้มีสิปปะหรือเป็นผู้ที่มีความสามารถ

    ประการต่อไป

    ผู้ใดเป็นคนโกง ผู้นั้นย่อมเดือดร้อนในภายหลังว่า เราเป็นคนโกง ส่อเสียด กินสินบน ดุร้าย หยาบคายในกาลก่อน

    เมื่อไม่เกี่ยวกับเรื่องการดำรงชีพหรือการอาชีพ ต่อไปก็เป็นเรื่องของกิเลสนั่นเอง คือ ถ้าเป็นผู้ที่ไม่สุจริตย่อมเดือดร้อนในภายหลังว่า เคยโกง หรือเคยส่อเสียด เคยกินสินบน เคยดุร้าย เคยหยาบคายในกาลก่อน เพราะว่าขณะใดที่โกง กำลังกระทำทุจริต ขณะนั้นย่อมไม่เห็นโทษ แต่โทษของทุจริตย่อมมี ไม่มีใครสรรเสริญ และผลของทุจริตนั้นก็ย่อมเป็นไปตามกรรม แล้วแต่ว่าจะได้รับผลของทุจริตใน ชาติปัจจุบัน หรือในชาติต่อๆ ไป

    ประการต่อไป

    ผู้ใดเป็นคนฆ่าสัตว์ ผู้นั้นย่อมเดือดร้อนในภายหลังว่า เราเป็นคนฆ่าสัตว์ หยาบช้า ทุศีล ประพฤติต่ำช้า ปราศจากขันติ เมตตา และเอ็นดูสัตว์ในกาลก่อน

    เรื่องของศีล ๕ จะสมบูรณ์ได้เมื่อเป็นพระโสดาบัน เพราะฉะนั้น ถ้าใคร ได้กระทำทุจริตกรรมประการใดๆ แม้แต่เป็นผู้ฆ่าสัตว์ จะเป็นสัตว์เล็ก สัตว์ใหญ่อย่างไรก็ตาม ภายหลังเมื่อรู้ว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรก็ย่อมเดือดร้อน หรือเวลาที่เห็นคนอื่นบาดเจ็บ ได้รับภัยอันตราย ขณะนั้นก็ไม่รู้ จนกว่าตนเองจะเจ็บอย่างนั้น จึงรู้ว่า ความปวดเจ็บทรมานของคนอื่นนั้นมากมายแค่ไหน ถ้าไม่ถูกกับตัวเองก็อาจจะไม่สามารถรู้ได้ แต่ถ้าตนเองกำลังได้รับผลของอกุศลกรรมที่ได้กระทำไว้ เมื่อนั้น ก็จะระลึกถึงบุคคลซึ่งท่านเองครั้งหนึ่งอาจจะเคยทำกรรมนั้น หรืออาจจะเป็น สัตว์เล็กสัตว์น้อยใดๆ ก็ตามที่ได้เคยฆ่า เคยประทุษร้าย และไม่เคยรู้สึกเลยว่า ความเจ็บปวดของสัตว์เหล่านั้นเป็นอย่างไร จนกว่าเมื่อท่านเป็นผู้ได้รับผลของกรรมนั้น ก็จะรู้ว่า การได้รับความรู้สึกปวดเจ็บนั้นเพราะว่า เป็นคนฆ่าสัตว์ หยาบช้า ทุศีล ประพฤติต่ำช้า ปราศจากขันติ ปราศจากเมตตาและเอ็นดูสัตว์ในกาลก่อน

    ประการต่อไป

    ผู้ใดคบชู้ในภรรยาผู้อื่น ย่อมเดือดร้อนในภายหลังว่า หญิงที่ไม่มีใครหวงแหนมีอยู่เป็นอันมาก ไม่ควรที่เราจะคบหาภรรยาผู้อื่นเลย

    สังสารวัฏฏ์ยาวนานมาก ทั้งอดีตที่ผ่านมาแล้ว ก็ไม่มีใครจำได้เลยว่า เคยทำอย่างนี้หรือเปล่า ปัจจุบันชาตินี้อาจจะไม่ได้ทำ และสำหรับชาติหน้าต่อไป ตราบใดที่ยังไม่บรรลุถึงความเป็นพระโสดาบันบุคคลก็มีการล่วงศีลได้ เพราะฉะนั้น ทุกข้อเป็นสิ่งที่ควรจะระลึกได้เมื่อมีเหตุการณ์นั้นๆ ที่จะให้อกุศลนั้นๆ เป็นไป

    ประการต่อไป

    คนตระหนี่ ย่อมเดือดร้อนในภายหลังว่า เมื่อก่อนข้าวและน้ำของเรามีอยู่มากมาย เราก็ไม่ได้ให้ทานเลย

    บางคนเวลาทรัพย์สมบัติสูญไปก็เกิดเสียดายว่า รู้อย่างนี้ให้ทานเสียดีกว่า แต่ตอนที่ยังไม่สูญก็ไม่เคยคิดที่จะให้ ต่อเมื่อใดที่สูญทรัพย์สมบัติไปก็เกิดความคิดว่า รู้อย่างนี้ก็ให้ทานเสียดีกว่า

    หรือขณะที่มีความต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใดไม่ได้รับสิ่งนั้น ก็จะเห็นได้ถึงความต่างกันของคนที่เมื่อต้องการสิ่งใดก็ได้สิ่งนั้นทันที แต่บางคนเพราะเหตุใดต้องการด้วยกัน คนหนึ่งได้ อีกคนหนึ่งไม่ได้

    แสดงให้เห็นถึงความต่างกันว่า คนที่เมื่อปรารถนาสิ่งใดก็ได้สิ่งนั้น ต้องเป็น คนที่เคยให้สิ่งที่เป็นทานซึ่งเป็นประโยชน์กับบุคคลอื่นในยามที่เขาต้องการ เพราะฉะนั้น เมื่อบุคคลนั้นปรารถนาสิ่งใด ผลของกุศลนั้นก็ทำให้ได้สิ่งที่ปรารถนา ตรงกันข้ามกับบางคน ปรารถนาแล้ว หวังแล้ว คอยไป ก็ไม่ได้รับสิ่งที่ต้องการ

    มีท่านผู้หนึ่งเล่าให้ฟังว่า สมัยที่ลูกของท่านยังเล็ก ท่านมีวิธีสอนลูกตั้งแต่ครั้งที่ยังจูงมือลูกไปโรงเรียน ซึ่งแสดงว่าขณะนั้นลูกของท่านต้องเล็กมาก ท่านก็ชี้ให้ดูความต่างกันของบุคคลแต่ละคน บางคนเป็นผู้ที่มีฐานะดี บางคนเป็นผู้ที่ยากจน ท่านก็ ถามลูกว่า เห็นไหมว่า ๒ คนนี้ต่างกัน และแสดงถึงเหตุที่ทำให้ทั้ง ๒ คนนี้ต่างกันว่า เพราะผู้หนึ่งต้องเป็นผู้ที่มีจิตใจดี เคยเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และเคยสละวัตถุที่เป็นประโยชน์ให้บุคคลอื่น ส่วนอีกบุคคลหนึ่งซึ่งยากจน ก็ต้องเป็นผู้ที่ไม่ได้ให้ทานมาในอดีต เพราะฉะนั้น ก็เป็นการสอนเด็กตั้งแต่เล็กให้เป็นผู้ที่สามารถเห็นใจและเข้าใจในเหตุ ในผลว่า การที่ฐานะของบุคคลต่างกันนั้นเพราะเหตุใด และควรมีจิตใจอ่อนโยน เอื้อเฟื้อ ช่วยเหลือผู้ที่ขัดสนยากไร้ ซึ่งจะเป็นเหตุให้ได้รับผลที่ดี

    ข้อความต่อไป

    ผู้ไม่เลี้ยงดูมารดาบิดา ย่อมเดือดร้อนในภายหลังว่า เราสามารถพอจะเลี้ยงดูมารดาและบิดาผู้แก่เฒ่าชราได้ ก็ไม่ได้เลี้ยงดูท่าน

    ผู้ที่มารดาบิดายังมีชีวิตอยู่ก็ทราบว่า วันหนึ่งท่านต้องจากไป ถ้าไม่เลี้ยงดูท่านในขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ก็คือเป็นผู้ไม่เห็นคุณของมารดาบิดา เพราะฉะนั้น ผู้นั้น จะเห็นคุณของบุคคลอื่นได้อย่างไร แม้แต่ผู้ที่เป็นมารดาบิดาซึ่งเลี้ยงดูให้ทุกสิ่ง ทุกอย่าง ให้ความสุขสบายมาตั้งแต่เกิด ผู้นั้นยังไม่เห็นคุณ ยังไม่ทำการกตเวที คือ ตอบแทนคุณของท่าน ที่จะคิดถึงคุณของบุคคลอื่นก็คงจะยาก เพราะแม้แต่ คุณของมารดาบิดาก็ไม่เห็น

    ข้อความต่อไป

    ผู้ไม่ทำตามโอวาทบิดา ย่อมเดือดร้อนในภายหลังว่า เราได้ดูหมิ่นบิดาผู้เป็นอาจารย์สั่งสอน ผู้นำรสที่ต้องการทุกอย่างมาเลี้ยงดู

    เป็นชีวิตประจำวันที่จะต้องพิจารณา แม้แต่การไม่ทำตามโอวาทบิดา คงจะ ไม่มีใครรักลูกเท่ากับมารดาบิดา เพราะฉะนั้น โอวาทของมารดาบิดาก็คือการใคร่ที่จะให้บุตรได้สิ่งที่เป็นประโยชน์ และกระทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ แต่บุตรที่ได้ชื่อว่า ดูหมิ่นบิดาผู้เป็นอาจารย์สั่งสอน ก็คือในขณะที่ไม่ทำตามโอวาท จึงชื่อว่าดูหมิ่น ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าคิด ไม่ว่าใครก็ตามถ้ากล่าวว่า ท่านเคารพหรือนับถือบุคคลนั้น แต่ไม่ได้ทำตามจริงๆ จะชื่อว่าเคารพนับถือได้ไหม แม้แต่พระรัตนตรัย พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ก็ต้องเป็นผู้ที่พิจารณาและมีความตั้งใจที่จะประพฤติ ปฏิบัติตาม เพียงแต่ยังไม่สามารถปฏิบัติตามได้ทั้งหมด เพราะว่ายังเป็นผู้ที่มีกิเลสอยู่ แต่ไม่ใช่มีความคิดว่า จะไม่ปฏิบัติตาม หรือปฏิบัติตามไม่ได้ ควรคิดว่า จะพยายามปฏิบัติตามให้มากที่สุดเท่าที่จะกระทำได้ แม้บางครั้งไม่สามารถกระทำได้ เพราะว่ายังเป็นผู้ที่มีกิเลสอยู่

    ข้อความต่อไป

    ผู้ไม่เข้าใกล้สมณพราหมณ์ ย่อมเดือดร้อนในภายหลังว่า เมื่อก่อนเราไม่ได้ ไปมาหาสู่สมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้มีศีล เป็นพหูสูตเลย

    เพราะบางคนก็บอกว่า คอยไว้ก่อน อายุมากๆ จึงจะศึกษาพระธรรม

    เวลาที่อายุมากแล้ว ก็อาจจะเดือดร้อนใจว่า เมื่อก่อนเราไม่ได้ไปมาหาสู่ สมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้มีศีลเป็นพหูสูตเลย เพราะถ้าไม่ไปเข้าใกล้ท่านเหล่านั้น คือ ไม่ได้ฟังธรรม หรือฟังสิ่งที่เป็นประโยชน์ ก็อาจจะเข้าใจอกุศลธรรมว่าเป็นกุศลธรรม มีความเห็นผิด ไม่ใช่มีความเห็นถูกก็ได้ หรือแม้มีความเห็นถูกแต่ก็มีความเข้าใจ เพียงเล็กน้อย ไม่สามารถเข้าใจโดยละเอียด โดยกว้างขวาง โดยลึกซึ้งได้ หรือบางที แม้มีความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมแล้ว แต่ก็ไม่ทันต่ออกุศลที่เกิดขึ้น

    อย่างเรื่องของความกังวล หลายท่านอาจจะไม่ได้พิจารณาว่า เรื่องที่ท่านกังวล บางครั้งไม่ได้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับตัวท่าน ครอบครัวท่าน การงานท่าน หรือความลำบากยุ่งยากในกิจการงานของท่านเลย แต่ท่านกลับไปกังวลเรื่องของคนอื่น โดยที่ไม่น่าจะกังวลเลย คือ คนอื่นก็มีความประพฤติทำการงานสุจริตเป็นไปต่างๆ แต่ท่านก็ยังอุตส่าห์กังวลว่า ทำไมคนนี้ไม่ทำอย่างนั้น ซึ่งในขณะนั้นควรจะได้พิจารณา จริงๆ ว่า มีความสำคัญตนแอบแฝงอยู่หรือเปล่าในการคิดถึงการกระทำของคนอื่น

    ถ้าเป็นผู้ที่เข้าใจพระธรรมจริงๆ เรื่องของบุคคลอื่นเป็นเรื่องที่ท่านช่วยไม่ได้เลยที่จะไปแก้ไข เพราะว่าแต่ละคนย่อมเป็นไปตามการสะสม แต่สำหรับตัวท่านเองเท่านั้นได้กระทำสิ่งที่ดีที่สุดแล้วหรือยัง คือ กระทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและคนอื่น ไม่ได้ทำสิ่งที่เป็นโทษต่อตนเองและคนอื่นแล้วหรือยัง เท่านั้นเอง

    วันหนึ่งๆ ถ้าจะคิดถึงกิจที่ควรทำของตนเอง ย่อมเป็นประโยชน์มากกว่าที่จะไปกังวลเรื่องของคนอื่น ซึ่งในขณะนั้นก็ไม่รู้เลยว่า แท้ที่จริงแล้วเป็นมานะ ความสำคัญตนนั่นเอง

    ข้อความต่อไป

    ผู้ใดไม่ประพฤติสุจริตธรรม ไม่เข้าไปนั่งใกล้สัตบุรุษ ย่อมเดือดร้อนในภายหลังว่า สุจริตธรรมที่ประพฤติแล้ว และสัตบุรุษอันเราไปมาหาสู่แล้ว ย่อมเป็นความดี แต่เมื่อก่อนนี้เราไม่ได้ประพฤติสุจริตธรรมไว้เลย

    และ ข้อ ๑๖๖๐ ซึ่งเป็นข้อความตอนท้าย มีข้อความว่า

    ผู้ใดย่อมปฏิบัติเหตุเหล่านี้โดยอุบายอันแยบคาย ผู้นั้นเมื่อกระทำกิจที่บุรุษ ควรทำ ย่อมไม่เดือดร้อนใจในภายหลังเลย

    ชีวิตจริงๆ เป็นอย่างนี้ ก่อนที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม การที่สติจะเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติตามความเป็นจริง ต้องรู้ทั่ว ถ้ายังรู้ไม่ทั่วก็ละไม่ได้ เมื่อเข้าใจลักษณะของสติ ซึ่งสติปัฏฐานคือขณะที่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นขณะที่กังวลหรือไม่กังวล ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ ถ้าขณะนั้นปัญญายังไม่รู้ชัดในสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ก็ต้องอบรมสติที่จะระลึกและเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมไปตลอด ไม่ว่าเหตุการณ์ใดๆ จะเกิดขึ้นในแต่ละภพแต่ละชาติ

    บางท่าน สังเกตได้ แม้ตัวท่านเองหรือบุคคลอื่นก็ตาม ผู้ใดที่ได้สะสมความ คิดถูก ความเห็นถูก ความเข้าใจสภาพธรรมถูก คนนั้นคิดไม่ดีไม่เป็น คิดอิจฉาไม่เป็น ดีไหม คิดดูหมิ่นคนอื่นไม่เป็น คิดยกตนข่มคนอื่นก็ไม่เป็น แต่คิดเมตตาเป็น คิดกรุณาเป็น คิดเห็นใจเป็น คิดเข้าใจเป็น คิดช่วยเหลือเป็น

    เพราะฉะนั้น แต่ละคนก็จะเห็นความต่างกันของการสะสมว่า ถ้าท่านอยากจะเป็นบุคคลใด ก็สะสมที่จะเป็นบุคคลนั้น โดยสติเกิดระลึกทันที เห็นโทษทันที เปลี่ยนจากอกุศลเป็นกุศลได้ทันที

    การสะสมความคิดที่ดี ที่ถูก ที่ควร ย่อมเกิดขึ้นได้ในเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ซึ่งถ้าท่านไม่พิจารณาสังเกตแม้เพียงเล็กน้อยอาจจะไม่รู้ว่า การที่ แต่ละบุคคลคิดดีในขณะนั้น ต้องเป็นเพราะเคยสะสมที่จะคิดดีมาแล้วในอดีต

    อีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งคงเป็นประโยชน์ที่จะได้เห็นความรู้สึกของผู้ที่ได้สะสมปัญญามามาก

    อรรถกถาชาดก จตุกกนิบาตชาดก อนนุโสจิยชาดก มีข้อความว่า

    นางสัมมิลลหาสินีผู้เจริญ ได้ไปอยู่ในระหว่างพวกสัตว์ที่ตายไปแล้วเป็น จำนวนมาก เมื่อนางไปอยู่กับสัตว์เหล่านั้น จักชื่อได้ว่าเป็นอะไรกับเรา เพราะฉะนั้น เราจึงมิได้เศร้าโศกถึงนางสัมมิลลหาสินีที่รักนี้

    ถ้าบุคคลจะพึงเศร้าโศกถึงความตาย อันจะไม่เกิดมีแก่สัตว์ผู้เศร้าโศกนั้น ก็ควรจะเศร้าโศกถึงตน ซึ่งจะต้องตกไปอยู่ในอำนาจของมัจจุราชทุกเมื่อ

    อายุสังขารหาได้เป็นไปตามเฉพาะสัตว์ที่ยืน นั่ง นอน หรือเดินอยู่เท่านั้น ก็หาไม่ วัยย่อมเสื่อมไปทุกขณะที่ยังหลับตาและลืมตาอยู่ เมื่อวัยเสื่อมไปอย่างนั้นหนอ ในตนซึ่งเป็นทางอันตรายนั้นหนอ ต้องมีความพลัดพรากจากกันโดย ไม่ต้องสงสัย หมู่สัตว์ที่ยังเหลืออยู่ควรมีเมตตาเอ็นดูกัน ส่วนที่ตายไปแล้วไม่ควรต้องเศร้าโศกถึงกัน

    ข้อความใน อรรถกถา อนนุโสจิยชาดกที่ ๘ มีว่า

    พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภกุฎุมพีคนหนึ่ง ผู้มีภรรยาตาย จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า พหูนํ วิชฺชติ โภติ ดังนี้

    ได้ยินว่า กุฎุมพีนั้นเมื่อภรรยาตายแล้วไม่อาบน้ำ ไม่บริโภคอาหาร ไม่ประกอบการงาน ถูกความโศกครอบงำ ไปป่าช้า เที่ยวปริเทวนาการอยู่อย่างเดียว แต่อุปนิสัยแห่งโสดาปัตติมรรคโพลงอยู่ในภายในของกุฎุมพีนั้น เหมือนประทีปโพลงอยู่ในหม้อฉะนั้น

    ใครมีอุปนิสัยที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระโสดาบัน บุคคลอื่นไม่สามารถรู้ได้ นอกจากพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    เพราะเหตุว่ากิเลสยังไม่ดับ จึงยังมีเหตุปัจจัยทำให้เกิดขึ้นเป็นความโศกเศร้าอย่างมาก แต่ปัญญาที่ได้สะสมมาแล้วในอดีตสามารถที่จะได้ฟังพระธรรมและเข้าใจ จนกระทั่งประจักษ์แจ้งอริยสัจจธรรมได้

    ในเวลาใกล้รุ่ง พระศาสดาทรงตรวจดูโลก ได้ทอดพระเนตรเห็นกุฎุมพีนั้น ทรงพระดำริว่า เว้นเราเสีย ใครๆ อื่นผู้จะนำความโศกออกแล้วให้โสดาปัตติมรรค แก่กุฎุมพีนี้ย่อมไม่มี เราจักเป็นที่พึงอาศัยของกุฎุมพีนั้น

    นี่คือพระมหากรุณา ซึ่งถ้าไม่ทรงพระมหากรุณา กุฎุมพีนั้นไม่อาจจะ รู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระโสดาบันได้ ตลอดชีวิตของพระองค์หลังจากการตรัสรู้แล้ว ถ้ามีโอกาสที่จะอนุเคราะห์ให้บุคคลใดได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ไม่ทรงละเว้น

    จึงเสด็จกลับจากบิณฑบาต ภายหลังภัต ทรงพาปัจฉาสมณะไปยังประตูเรือนของกุฎุมพีนั้น กุฎุมพีได้สดับการเสด็จมา ทรงมีสักการะมีการลุกรับเป็นต้นอันกุฎุมพีกระทำแล้ว ประทับนั่งบนอาสนะที่เขาปูลาด แล้วตรัสถามกุฎุมพีผู้มานั่งอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่งว่า

    อุบาสก ท่านคิดอะไรหรือ

    ทุกคนคิด แล้วแต่ว่าขณะนั้นมีปัจจัยที่จะให้คิดอย่างไร

    เมื่อกุฎุมพีนั้นกราบทูลว่า พระเจ้าข้า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภรรยาของ ข้าพระองค์ตาย ข้าพระองค์เศร้าโศกถึงเขา จึงคิดอยู่ พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

    อุบาสก ขึ้นชื่อว่าสิ่งที่มีการแตกเป็นธรรมดาย่อมแตกไป เมื่อแตกไป จึงไม่ควรคิด แม้โบราณกบัณฑิตทั้งหลายเมื่อภรรยาตายแล้วก็ยังคิดว่า สิ่งที่มี การแตกเป็นธรรมดา ได้แตกไปแล้ว

    อันกุฎุมพีนั้นทูลอาราธนา พระองค์จึงตรัสเรื่องในอดีต

    ในพระชาติที่พระองค์ทรงเป็นพระโพธิสัตว์ ซึ่งมีชีวิตคล้ายกับชีวิตก่อนบวชของท่านพระมหากัสสปะและนางภัททากาปิลานี ที่มารดาบิดาให้ท่านแต่งงานกับ นางสัมมิลลหาสินี ทั้งพระผู้มีพระภาคและนางสัมมิลลหาสินีต่างก็มีความประสงค์ จะบวช

    คนทั้งสองนั้นนอนอยู่ในห้องเดียวกัน แม้จะนอนอยู่บนที่นอนเดียวกัน ก็ไม่ได้แลดูกันและกันด้วยอำนาจกิเลส อยู่ในสถานที่เดียวกัน เหมือนภิกษุ ๒ รูป และเหมือนพรหม ๒ องค์อยู่ในที่เดียวกันฉะนั้น

    ภายหลังเมื่อบิดามารดาสิ้นชีวิตแล้ว คนทั้งสองนั้นจึงสละทรัพย์ทั้งหมดให้ทาน ละทิ้งสมบัติเหมือนก้อนน้ำลาย เข้าไปยังป่าหิมวันต์ ทั้งสองบวชเป็นฤๅษี มีรากไม้และผลไม้ในป่าเป็นอาหาร เมื่ออยู่ในป่าหิมวันต์นานแล้ว ต้องการจะเสพรสเค็ม และรสเปรี้ยว จึงลงจากป่าหิมวันต์ถึงเมืองพาราณสีโดยลำดับ ดาบสทั้งสองนั้นบริโภคภัตอันเจือปนปราศจากโอชะ (คือ บริโภคอาหารที่ไม่มีรสอร่อย ไม่มีโอชะ ไม่ทำให้ร่างกายสมบูรณ์) ก็เกิดอาพาธลงโลหิต นางดาบสนั้นเมื่อไม่ได้เภสัช อันเป็นสัปปายะก็ได้อ่อนกำลังลงในเวลาภิกขาจาร พระโพธิสัตว์ได้พยุงนางนำไปยังประตูพระนคร แล้วให้นอนบนแผ่นกระดาน ณ ศาลาหลังหนึ่ง ส่วนตนเข้าไปภิกขาจาร

    นางดาบสนั้นสิ้นชีวิตในขณะที่พระโพธิสัตว์ยังไม่กลับ มหาชนเห็นรูปสมบัติ ของนางก็พากันห้อมล้อมร้องไห้ร่ำไร พระโพธิสัตว์เที่ยวภิกขาจารแล้วกลับมาก็รู้ว่า นางสิ้นชีวิตแล้ว ดำริว่า สิ่งที่มีอันจะแตกไปเป็นธรรมดา ย่อมแตกไป


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 2
    3 พ.ย. 2566

    ซีดีแนะนำ