บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 28


    จระเข้ตอบว่า ต้องการหัวใจท่าน

    พระโพธิสัตว์คิดว่า เราไม่มีทางไปทางอื่น ทางไปของเราถูกปิดเสียแล้ว ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ดำริว่า เราไม่มีทางอื่นจะไป วันนี้เราจะลวงจระเข้ เราจะเปลื้องจระเข้จากบาปใหญ่ด้วยอาการอย่างนี้ และเราก็จะได้ชีวิตด้วย

    พระมหาสัตว์จึงกล่าวกะจระเข้ว่า เราจักกระโดดไปบนตัวท่าน

    จระเข้บอกว่า กระโดดมาเลย อย่ามัวชักช้า

    พระมหาสัตว์บอกให้จระเข้อ้าปากไว้ และงับตอนที่ท่านกระโดดไป

    ตามธรรมดาเมื่อจระเข้อ้าปาก ตาก็หลับ จระเข้ไม่รู้ทันก็อ้าปาก ตาของจระเข้ก็หลับ จระเข้นอนอ้าปาก ไม่ลืมตาเลย พระมหาสัตว์รู้อย่างนั้น จึงกระโดดจากเกาะไปเหยียบหัวจระเข้แล้วกระโดดไปยืนบนฝั่งโน้นดุจสายฟ้าแลบ

    แม้พระมหาสัตว์รักษาคำสัตย์ เพราะได้ให้ปฏิญญาไว้ว่า เราจะกระโดดไป และได้กระโดดไปจริง

    จระเข้เห็นความอัศจรรย์ดังนั้นคิดว่า พระยาวานรนี้ทำอัศจรรย์ยิ่งนัก จึงกล่าวว่า

    พระยาวานรผู้เจริญ บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ อย่างในโลกนี้ ย่อม ครอบงำศัตรูได้ ธรรมทั้งหมดนั้นคงมีอยู่ในตัวของท่าน ท่านพระยาวานร ธรรม ๔ อย่างเหล่านี้ คือ สัจจะ ธรรม ธิติ จาคะ มีอยู่แก่ผู้ใดเหมือนอย่างท่าน ผู้นั้นย่อมล่วงพ้นศัตรูได้

    บทว่า สจฺจํ คือ วจีสัจจะ ที่ท่านกล่าวว่า เราจักมาสำนักของเรา แล้วไม่โกหกมาจนได้ นี้เป็นวจีสัจจะของท่าน

    บทว่า ธมฺโม คือ วิจารณปัญญา ได้แก่ ปัญญาไตร่ตรอง ปัญญาที่เป็นไปว่า เมื่อเราทำอย่างนี้ จักเป็นอย่างนี้ ชื่อว่าวิจารณปัญญาของท่าน

    บทว่า ธิติ ได้แก่ ความเพียรที่ไม่ขาด แม้ความเพียรนี้ก็มีแก่ท่าน

    บทว่า จาโค คือ การบริจาคตน ท่านสละตนมาหาเรา เราไม่สามารถจะ จับท่านได้ นี้เป็นความผิดของเราเอง

    บทว่า ทิฏฺฐํ คือ ศัตรู

    บทว่า โส อติวตฺตติ ความว่า ธรรม ๔ อย่างเหล่านี้มีอยู่แก่บุคคลใด เหมือนอย่างมีแก่ท่าน ผู้นั้นย่อมก้าวล่วง คือครอบงำศัตรูของตน เหมือนท่านพ้นเราในวันนี้

    จระเข้สรรเสริญพระโพธิสัตว์อย่างนี้แล้วได้ไปที่อยู่ของตน

    จระเข้ในครั้งนั้นได้เป็นพระเทวทัตในครั้งนี้ นางจระเข้ คือ นางจิญจมาณวิกา ส่วนพระยาวานร คือ พระโลกนาถ

    ผู้ฟัง พระยาวานรพูดกับหิน ทั้งๆ ที่ความจริงหินพูดไม่ได้ และไม่เคยพูดด้วย แต่วันนั้นทำทีว่าเคยพูดกับหินมาก่อน และจระเข้ก็เชื่อ อย่างนี้เป็นมุสาวาทหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ นี่เป็นประเด็นที่ท่านผู้ฟังคงจะคิดว่า ท่านทำสิ่งซึ่งเหมือนลวง แต่ในขณะนั้นพระมหาสัตว์ดำริว่า เราไม่มีทางอื่นจะไป วันนี้เราจะเปลื้องจระเข้จาก บาปใหญ่ด้วยอาการอย่างนี้ และเราก็จะได้ชีวิตด้วย

    นี่คือผู้ที่จระเข้สรรเสริญ สัจจัง คือ วจีสัจจะ กระทำตามที่พูด ธัมโม คือ วิจารณปัญญา ได้แก่ ปัญญาที่ไตร่ตรอง ปัญญาที่เป็นไปว่า เมื่อเราทำอย่างนี้ จักเป็นอย่างนี้ คือ รู้ว่าถ้าพูดอย่างนี้แล้วอะไรจะเกิดขึ้น เหตุการณ์จะเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นใครก็ตามที่มีสติปัญญา และมีเหตุการณ์อะไรเฉพาะหน้า ที่เกิดขึ้น ก็สามารถพิจารณาแก้ไขเหตุการณ์เฉพาะหน้าได้ แม้ด้วยคำพูด และขณะนั้นเป็นประโยชน์ทั้ง ๒ ฝ่าย คือ จระเข้ก็พ้นจากบาปใหญ่ด้วย

    ผู้ฟัง ประโยชน์ใหญ่กว่า

    ท่านอาจารย์ วิธีจับคนโกง ต้องมี คือ ต้องเป็นผู้ที่ฉลาด ถ้าใครมีความประพฤติไม่ดี มีอุบาย หรือมีอะไรที่เป็นทุจริต และอีกผู้หนึ่งมีวิธีที่สามารถทำให้เกิดประโยชน์ทั้ง ๒ ฝ่าย ก็ไม่ควรคิดว่าเป็นการลวง แต่เป็นเพียงวิธีการที่ทำให้เกิดประโยชน์ทั้งตนเองและผู้อื่นด้วย

    ผู้ฟัง พระโพธิสัตว์ต้องการให้จระเข้กล่าว คือ พูดว่าวันนี้ก้อนหินทำไมไม่พูด รู้สึกว่าจะไม่คลาดเคลื่อนจากความจริง เพราะท่านพูดให้จระเข้เข้าใจเอาเองว่า ทุกวันก้อนหินคงพูด คือ ท่านเพียงกล่าวและคิดว่าจระเข้คงจะเข้าใจอย่างนี้ และคำกล่าวที่ว่า วันนี้ทำไมหินไม่พูด ก็เป็นคำกล่าวลอยๆ ขึ้นมา

    ท่านอาจารย์ ข้อความใน อรรถกถา มีว่า พระยาวานรคิดว่า เราจักทดลองจระเข้นั้นก่อน คือ ยังไม่รู้ว่าเป็นจระเข้หรือเปล่า อยู่ดีๆ หินก็สูงขึ้น ซึ่งความจริงพระยาวานรกำหนดขอบของน้ำกับขอบของหินเป็นประจำ เมื่อมีความผิดปกติก็ต้องการจะรู้ วิธีที่จะรู้ก็แล้วแต่ว่าจะเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้น ก็ทดลองโดยการทำเป็นพูดกับแผ่นหิน

    ผู้ฟัง สรุปว่า เจตนาเป็นตัวชี้ว่าจะเป็นสัจจะหรือไม่ ผมยังมองไม่เห็นว่า ที่พระโพธิสัตว์ท่านกล่าวว่า ทำไมวันนี้แผ่นหินไม่พูดล่ะ จะเป็นสัจจะได้อย่างไร เจตนาก็รู้ว่า สงสัยว่านี่ไม่ใช่แผ่นหิน ต้องลองดู และที่พูดว่า ทำไมเจ้าไม่พูดล่ะ ก็แสดงว่าไม่จริง เจตนาพูดไม่จริง จะลวงเขา เป็นสัจจะได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นพระโพธิสัตว์ไม่ทราบว่าเป็นจระเข้หรือเปล่า วิธีที่จะรู้ว่า เป็นจระเข้ใช่ไหม ก็ต้องมีหนทาง วิธีที่จะทราบก็คือพูด ก็จะรู้ว่าเป็นก้อนหินหรือ ไม่ใช่ก้อนหิน ธรรมดาเราไม่ควรเดา ทุกสิ่งทุกอย่างอย่าคิดเดา ต้องพิสูจน์

    ผู้ฟัง แต่วิธีพิสูจน์นั้นก็ควรรักษาสัจจะ การที่ไปพูดลอยๆ ว่า ทำไมเจ้าหิน ไม่พูด จระเข้ก็เขวเหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ ความฉลาดของพระโพธิสัตว์ที่พระองค์ได้สะสมมาที่จะรู้ว่า วิธีไหนที่จะทำให้รู้แน่ ถ้าบอกว่า จระเข้มานอนที่นี่ทำไม จระเข้จะไม่กระดุกกระดิกเลยก็ได้

    ผู้ฟัง ผมไม่เถียงเรื่องความฉลาด แต่ความฉลาดจะเป็นเครื่องอ้างว่า เราไม่เสียสัจจะนั้นคงไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ข้อสำคัญที่สุด ไม่ได้ทำลายประโยชน์ใครเลย

    ผู้ฟัง ทำลายประโยชน์จระเข้ ไม่ได้กินหัวใจลิง

    ท่านอาจารย์ แต่ประโยชน์ใหญ่กว่านั้น คือ ช่วยไม่ให้จระเข้ทำทุจริตกรรม

    ผู้ฟัง ที่ท่านอาจารย์บอกว่า พระโพธิสัตว์มีความฉลาด สามารถพูดให้เกิดประโยชน์ได้ คือ จระเข้ไม่ต้องทำบาปฆ่าสัตว์ คือ ฆ่าพระโพธิสัตว์ และพระโพธิสัตว์ก็ไม่ตายเพราะถูกจระเข้กัด ความฉลาดที่พูดนี้ ผมยังมองเห็นว่า ไม่ใช่สัจจะ ประเด็นสำคัญ พระโพธิสัตว์ คือ ผู้ที่ก่อนจะเป็นพระพุทธเจ้า ถ้าไม่จริงทำไมจึงพูด ปกติแล้วควรจะพูดในสิ่งที่จริง

    ผู้ฟัง ความจริงแล้ว พระโพธิสัตว์ไม่ได้โกหก ท่านถามว่า ทำไมวันนี้ก้อนหินไม่พูด ท่านไม่ได้บอกว่า ทุกวันหินจะพูด ท่านถามว่า ทำไมวันนี้ก้อนหินไม่พูด เป็นคำถามเฉยๆ

    พระ อาตมาเข้าใจว่า การกล่าวนั้นเป็นกล่าวด้วยกุศล เพราะเป็นคุณ

    ท่านอาจารย์ เรื่องของจิตเป็นเรื่องที่รู้ยาก แต่ถ้าเป็นจิตของพระโพธิสัตว์แล้วย่อมเป็นไปในกุศล เวลาที่มีกุศลเจตนาที่จะเปลื้องผู้ที่มีอกุศลจิตไม่ให้กระทำอกุศลกรรม ขณะนั้นก็ต้องเป็นกุศล

    พระ เพราะฉะนั้น คำพูดใดๆ ต้องมุ่งหมายถึงจิตด้วย ไม่ใช่เราจะเน้นเพียงคำพูดนั้นๆ เท่านั้น ถ้าจิตนั้นเป็นกุศลและกล่าววาจาออกไป เป็นประโยชน์ได้ ก็เป็นกุศล ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ สำคัญที่จิตซึ่งกล่าว

    ผู้ฟัง จะเป็นอย่างนี้ได้ไหม คือ วันนี้เจ้าหินไม่พูดกับเราจริงๆ จึงกล่าวว่าวันนี้เจ้าหินไม่พูดกับเรา ก็ไม่ได้เป็นการกล่าวโกหก

    ท่านอาจารย์ เจตนาของคนที่จะพูดความจริง เช่น หินวันนี้ไม่พูด หรือหินไม่พูด ก็คือหินไม่พูด เพราะฉะนั้น ขึ้นอยู่กับสภาพของจิตในขณะนั้นว่า มุ่งตรงต่อความจริงหรือเปล่า เพราะไม่ว่าในสถานการณ์ใดๆ ถ้ามีเหตุการณ์ที่จำเป็นต้องใช้คำพูด ผู้พูดย่อมรู้ดีว่า ขณะนั้นคำพูดนั้นตรงกับความจริงหรือเปล่า ไม่ว่าคนฟังจะเข้าใจอย่างไรก็ตาม จริงๆ แล้วพระโพธิสัตว์เพียงแต่ต้องการจะรู้ว่า ที่เข้าใจว่าเป็นจระเข้นอนบนหินนั้นจริงหรือเปล่า เพราะว่าความคิดทุกคนคิดได้ แต่ความจริงนั้นจะเป็นอย่างไรก็สมควรที่จะต้องพิสูจน์ ไม่ใช่เพียงแต่คิดเท่านั้น

    เพราะฉะนั้น ถ้ามีทางพิสูจน์ด้วยวิธีใดๆ ก็พิสูจน์ด้วยวิธีนั้น แต่คำที่ใครจะกล่าว บุคคลนั้นเป็นผู้ที่รู้ดีว่าเป็นผู้ที่กล่าวคำจริงหรือไม่ อย่างที่กล่าวว่า หินไม่พูด ผู้นั้นก็รู้ความจริงว่า หินไม่พูด และก็กล่าวว่า หินไม่พูด ไม่ได้กล่าวว่า หินพูด และในขณะที่กำลังพูดนั้น จิตของบุคคลนั้นก็รู้ว่าพูดในสิ่งที่จริง อย่างพูดกับต้นไม้วันนี้ว่า ต้นไม้ไม่พูด ต้นไม้ไม่พูดก็จริง ไม่ใช่ว่าต้นไม้ไม่พูดแล้วไม่จริง เพราะฉะนั้น ขึ้นอยู่กับเจตนาของคนที่พูดในขณะนั้นว่า มีจิตที่คิดจะพูดคำจริงหรือเปล่า ถ้ามีจิตที่คิดจะพูดคำจริง ก็แล้วแต่ว่าคนอื่นฟังแล้วจะตอบอย่างไรที่จะทำให้ตนรู้ว่า เป็นจระเข้จริงๆ ไม่ใช่ก้อนหิน

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น บุคคลที่ฟังไม่เกี่ยว เกี่ยวกับเจตนาของผู้พูด

    ท่านอาจารย์ ผู้ที่กำลังพูดรู้ว่าคำนั้นจริงไหม เพราะฉะนั้น ทุกท่านซึ่งเป็นผู้ที่จะกล่าววาจาจริง ไม่ว่าจะพูดในสถานการณ์ใดๆ ก็ตาม ถ้าสติสัมปชัญญะเกิด ย่อมทำให้ เป็นผู้ที่รู้สึกตัวในขณะนั้นว่า แม้คำพูดที่จะกล่าว คำนั้นจริงหรือเปล่า อย่างต้นไม้ ไม่พูด ก็เป็นคำจริงสำหรับผู้ที่กำลังกล่าวอย่างนั้น เป็นคำจริงสำหรับผู้พูดที่ว่า ต้นไม้ไม่พูด เพราะฉะนั้น ถ้าก้อนหินไม่พูด ก็เป็นคำจริงสำหรับผู้ที่ในขณะนั้นรู้ว่า ก้อนหินไม่พูด

    ผู้ฟัง ที่อาจารย์พูดว่า สัจจะ ทมะ ธิติ จาคะ ฟังคล้ายๆ กับฆราวาสธรรม

    ท่านอาจารย์ ธรรม ไม่ใช่ทมะ

    ผู้ฟัง และ ธิติ

    ท่านอาจารย์ ข้อความใน อรรถกถา มีว่า บทว่า ธิติ ได้แก่ความเพียรที่ไม่ขาด แม้ความเพียรนี้ก็มีแก่ท่าน ซึ่งหมายถึงพระโพธิสัตว์

    เพียรหรือเปล่า เพียรที่จะพิสูจน์ดูซิว่า ก้อนหินหรือจระเข้ เพียรที่จะใช้กำลัง ที่จะกระโดดไปบนหลังจระเข้

    นี่ก็เป็นประเด็นซึ่งท่านผู้ฟังมีโอกาสที่จะคิดใคร่ครวญ แต่ประโยชน์ที่สุด คือ ได้เข้าใจเรื่องของการอบรมบารมี ซึ่งเราทุกคนก็ไม่รู้ว่าจะเกิดที่ไหน ถ้ายังไม่เป็น พระโสดาบันบุคคลก็มีปัจจัยทำให้เกิดในอบายภูมิได้ คือ เกิดในนรกได้ เกิดเป็น เปรตได้ เกิดเป็นอสุรกายได้ เกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉานได้ แต่การสะสมปัญญา การพิจารณา การสังเกต การไตร่ตรองเหล่านี้ ไม่ว่าจะไปเกิดในภพภูมิใด แม้แต่เป็นสัตว์ดิรัจฉาน ก็แสดงให้เห็นว่า มีความคิดต่างกัน และมีมนสิการในเหตุการณ์ ต่างๆ กันด้วย

    ท่านผู้ฟังเคยเห็นสัตว์ฉลาดๆ ไหม มีบ้างไหมที่ต่างกับสัตว์อื่น แม้เป็น สัตว์ดิรัจฉานก็ต่างกันตามกำลังสติปัญญา แต่ไม่มีใครสามารถอ่านความคิดของ สัตว์ดิรัจฉานได้ ซึ่งจริงๆ แล้วหลังจากเห็นก็คิด หลังจากได้ยินก็คิด หลังจากได้กลิ่น ก็คิด หลังจากลิ้มรสก็คิด และปกติความคิด ก็คิดไปตามเรื่องของแต่ละภพแต่ละชาติ ถ้าใครมีโอกาส มีความสามารถ มีญาณวิเศษ ก็สามารถล่วงรู้ถึงความคิดของ สัตว์ดิรัจฉานต่างๆ ได้

    ที่บ้านมีบ่อปลาเล็กๆ และมีปลาตัวเล็กๆ วันหนึ่งเมื่อไปดูปลา ก็เห็นปลาทองตัวเล็กๆ ตัวหนึ่ง เตะก้อนกรวดด้วยปากเล่น ตัวอื่นไม่ทำอย่างนั้นเลย แต่ตัวนี้ ไม่ทราบว่าเคยเป็นนักฟุตบอลหรือเปล่า เขาทำอย่างนั้น ใช้ปากดันก้อนกรวดเล็กๆ เท่าที่กำลังของเขาจะดันไปได้ ดันไปแล้ว เขาก็ตามไปอีก และดันไปอีก ดันไปอีก เล่นอยู่ตัวเดียว ส่วนอีกตัวหนึ่ง ในบ่อนั้นก็มีปลาพิการ ทรงตัวไม่ค่อยได้ กินอาหารลำบาก อีกตัวหนึ่งจะคอยมาดันให้ตัวของเขาตรง ซึ่งตัวอื่นก็ไม่ทำ แต่ตัวนี้มีจิตเมตตา ใจดีเห็นว่าเพื่อนกินอาหารลำบาก ก็พยายามประคับประคองให้เขาทรงตัวได้

    แสดงให้เห็นถึงชีวิตที่วนเวียนไปในสังสารวัฏฏ์ และทุกชีวิตมีความคิด จะคิดสนุก หรือคิดทุกข์ หรือคิดกังวล คิดห่วงใย คิดดี คิดชั่ว ก็แล้วแต่สติปัญญา แม้แต่เป็นปลาตัวเล็ก อย่าคิดว่าไม่มีความคิด แต่เราไม่สามารถรู้ความคิดของเขาได้

    อีกเรื่องหนึ่งซึ่งเป็นสัจจบารมีของพระโพธิสัตว์

    ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย จริยาปิฎก กัณหทีปายนจริยา ข้อ ๓๑ มีข้อความว่า

    อีกเรื่องหนึ่ง ในกาลเมื่อเราเป็นฤๅษีชื่อว่า กัณหทีปายนะ เราไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์ยิ่งกว่า ๕๐ ปี ใครๆ จะรู้ใจที่ไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์ของเรานั้น หามิได้ แม้เราก็ไม่บอกแก่ใครๆ ว่า ความไม่ยินดีมีในใจของเรา

    สหายเพื่อนพรหมจรรย์ของเรา ชื่อมัณฑัพยะ เป็นฤๅษีมีอานุภาพมาก ประกอบด้วยบุรพกรรม คือ กรรมเก่าให้ผล ถูกเสียบด้วยหลาวทั้งเป็น เราทำการพยาบาลมัณฑัพยดาบสนั้นให้หายโรค แล้วได้อำลามาสู่บรรณศาลาอันเป็นอาศรมของเราเอง พราหมณ์ผู้เป็นสหายของเราได้พาภริยาและบุตร ต่างถือสักการะสำหรับต้อนรับแขกรวมสามคนมาหาเรา เรานั่งเจรจาปราศรัยกับสหายและภริยาของเขา อยู่ในอาศรมของตน เด็กโยนลูกข่างเล่นอยู่ ทำงูเห่าให้โกรธแล้ว ทีนั้นเด็กนั้นเอามือควานหาลูกข่างไปตามปล่องจอมปลวก ควานไปถูกเอาศีรษะงูเข้า พอมือไปถูกศีรษะของมัน งูก็โกรธ อาศัยกำลังพิษ เคืองจนเหลือจะอดกลั้นได้กัดเด็กในทันที พร้อมกับถูกงูกัดเด็กล้มลงที่พื้นดินด้วยกำลังพิษกล้า เหตุนั้นเราเป็นผู้ได้รับทุกข์ หรือว่าเรามีความรักจึงเป็นทุกข์ เราได้ปลอบมารดาบิดาของทารกนั้นผู้มีทุกข์เศร้าโศก ให้สร่างแล้ว ได้ทำสัจจกิริยาอันประเสริฐสุดก่อนว่า

    เราผู้ต้องการบุญ ได้ประพฤติพรหมจรรย์มีจิตเลื่อมใสอยู่ ๗ วันเท่านั้น ต่อแต่นั้นมาการประพฤติของเราไม่เลื่อมใส ๕๐ ปีเศษ เราไม่ปรารถนาจะประพฤติเสียเลย ด้วยความสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่เด็กนี้เถิด พิษจงระงับ ยัญญทัตตกุมารจงเป็นอยู่ พร้อมกับเมื่อเราทำสัจจกิริยา มาณพหวั่นไหวด้วยกำลังพิษไม่รู้สึกตัวได้ฟื้นกายหายโรคลุกขึ้นได้ ผู้เสมอด้วยความสัตย์ของเราไม่มี นี้เป็น สัจจบารมีของเรา ฉะนี้แล

    จบ กัณหทีปายนจริยาที่ ๑๑

    ซึ่งเรื่องก็มีตามข้อความใน อรรถกถา ว่า

    ได้ยินว่า พระโพธิสัตว์ในกาลนั้นชื่อว่า ทีปายนะ เข้าไปหาดาบสมัณฑัพยะ ผู้เป็นสหายของตนถูกเสียบหลาว ไม่ทอดทิ้งดาบสนั้นด้วยศีลคุณของเขา ได้ยืนพิงอยู่กับหลาวตลอด ๓ ยาม จึงได้ปรากฏชื่อว่า กัณหทีปายนะ เพราะร่างกายมีสีดำ ด้วยเปื้อนเลือดแห้งที่ไหลออกจากร่างกายของมัณฑัพยดาบสนั้น

    ถามว่า ก็เพราะเหตุไร พระมหาบุรุษในอัตภาพหลายแสนมีอัธยาศัยใน เนกขัมมะ ยินดีอยู่พรหมจรรย์ แต่ในจริยานี้ไม่ยินดีพรหมจรรย์นั้น

    ตอบว่า เพราะความหวั่นไหวแห่งความเป็นปุถุชน

    ถามว่า ก็เพราะเหตุไร จึงไม่ครองเรือนใหม่เล่า

    ตอบว่า เพราะครั้งแรกเห็นโทษในกามทั้งหลาย ด้วยมีอัธยาศัยในเนกขัมมะ จึงบวช แต่เพราะไม่ได้ใส่ใจโดยแยบคายจึงเกิดความไม่ยินดีในการประพฤติพรหมจรรย์ พระมหาบุรุษ แม้เมื่อไม่สามารถบรรเทาความไม่ยินดีนั้นได้ ก็รังเกียจ คำติเตียนนี้ว่า กัณหทีปายนะนี้บ้าน้ำลาย กลับกลอกจริงหนอ ละสมบัติใหญ่ ออกจากเรือน ละสมบัติใดก็กลับไปเพื่อสมบัตินั้นอีก เพราะเกรงหิริโอตตัปปะของตนจะแตกทำลาย พระมหาบุรุษแม้ร้องไห้น้ำตานองหน้าด้วยความทุกข์โทมนัส ก็ยังอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ ไม่สละพรหมจรรย์นั้น

    เรื่องราวของพระโพธิสัตว์ในพระชาติที่เป็นกัณหทีปายนดาบส มีว่า

    ในอดีตกาลพระราชาพระนามว่า โกสัมพิกะ ครองราชสมบัติอยู่ในกรุงโกสัมพี แคว้นวังสะ ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์บังเกิดเป็นบุตรของพราหมณ์มหาศาลมีสมบัติ ๘๐ โกฏิ ในนิคมแห่งหนึ่ง ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์มีชื่อว่า ทีปายนะ ทีปายนกุมาร มีสหายรักชื่อมัณฑัพยะ

    ต่อมาเมื่อมารดาบิดาถึงแก่กรรมแล้ว ทั้งสองเห็นโทษในกาม จึงบริจาค มหาทาน ละกาม บวช แล้วสร้างอาศรม ณ หิมวันตประเทศ เลี้ยงชีพด้วยอาหาร อันเป็นรากไม้และผลไม้ในป่า ด้วยการเที่ยวขออยู่เกิน ๕๐ ปี

    ทั้งสองไม่สามารถข่มกามฉันทะได้ แม้เพียงฌานก็เกิดขึ้นไม่ได้ สองดาบสเที่ยวจาริกไปยังชนบทเพื่อเสพอาหารมีรสเค็มและเปรี้ยว ถึงแคว้นกาสี

    ณ แคว้นกาสีนั้น ในนิคมหนึ่ง สหายครั้งเป็นคฤหัสถ์ของทีปายนะชื่อว่า มัณฑัพยพราหมณ์อาศัยอยู่ (คนนี้เป็นคหบดี ไม่ได้เป็นดาบส คือชื่อซ้ำกัน) ทั้งสอง จึงเข้าไปหามัณฑัพยคฤหบดีนั้น มัณฑัพยคฤหบดีเห็นดาบสทั้งสองก็ดีใจ สร้างบรรณศาลา บำรุงด้วยปัจจัย ๔ ดาบสทั้งสองอยู่ ณ ที่นั้นได้ ๓ – ๔ ปี ก็ลา มัณฑัพยคฤหบดีนั้นเที่ยวจาริกไปอาศัยอยู่ในป่าช้าเต็มไปด้วยไม้เต็ง ใกล้กรุงพาราณสี

    ต่อมาทีปายนดาบสก็กลับไปหามัณฑัพยคฤหบดีสหายของตนในนิคมนั้นอีก ส่วนมัณฑัพยดาบสคงอยู่ ณ ป่าช้า เต็มไปด้วยไม้เต็ง ใกล้กรุงพาราณสีนั้นเอง

    อยู่มาวันหนึ่ง โจรคนหนึ่งกระทำโจรกรรมภายในเมืองแล้วหนีไป ถูกพวกเจ้าของเรือนและพวกมนุษย์ที่รักษานครติดตามออกไปทางท่อน้ำ โจรรีบเข้าไปใน ป่าช้า แล้วทิ้งห่อทรัพย์ไว้ที่ประตูบรรณศาลาของมัณฑัพยดาบสแล้วหนีไป พวกมนุษย์เห็นห่อทรัพย์จึงคุกคามว่า เจ้าชฎิลชั่ว กลางวันเที่ยวไปโดยเพศของดาบส กลางคืนเป็นคนร้ายทำโจรกรรม แล้วช่วยกันทุบตี พามัณฑัพยดาบสนั้นไปแสดงโทษแด่พระราชา

    พระราชามิได้ทรงสอบสวน ทรงมีพระบัญชาให้เสียบมัณฑัพยดาบสบนหลาวไม้ตะเคียน แต่หลาวก็ไม่ได้เข้าไปในร่างกายของดาบส จากนั้นก็เอาหลาวไม้สะเดามาเสียบ แต่หลาวไม้สะเดาก็มิได้เข้าไปในร่างกายของดาบส จากนั้นนำหลาวเหล็กมา หลาวเหล็กก็ไม่เข้าไปในร่างกายของมัณฑัพยดาบส

    ดาบสนั้นคิดว่า เป็นกรรมเก่าของเรากระมังหนอ ดาบสระลึกชาติได้ ได้เห็นกรรมเก่าด้วยเหตุนั้น นัยว่าดาบสนั้นในอัตภาพก่อนเป็นบุตรของนายช่าง เขาไปยังที่ ที่บิดาถากไม้ จับแมลงวันตัวหนึ่งแล้วจึงเอาเสี้ยนไม้ทองหลางเสียบดุจหลาว บาปของเขาได้โอกาสในที่นี้

    ดาบสรู้ว่าไม่อาจพ้นจากบาปนี้ไปได้ จึงกล่าวกะพวกราชบุรุษว่า หากพวกท่านประสงค์จะเสียบเราที่หลาว พวกท่านจงนำหลาวไม้ทองหลางมาเถิด พวกราชบุรุษได้ทำตามนั้นแล้วเสียบดาบสที่หลาว จัดอารักขาแล้วจากไป

    ในกาลนั้น กัณหทีปายนดาบสคิดว่า เราไม่ได้เห็นสหายมานานแล้ว จึงมาหามัณฑัพยดาบส เมื่อได้ฟังเรื่องราวนั้นแล้วจึงไปยังที่นั้น ยืนอยู่ข้างหนึ่งถามว่า

    สหายท่านทำอะไร

    ดาบสบอกว่า

    เราไม่ได้ทำอะไร

    กัณหทีปายนะถามว่า

    ท่านสามารถรักษาความประทุษร้ายทางใจได้หรือไม่ได้

    มัณฑัพยดาบสตอบว่า

    เราไม่มีความประทุษร้ายทางใจต่อพวกราชบุรุษและพระราชาที่จับเรา

    กัณหทีปายนดาบสกล่าวว่า

    เมื่อเป็นอย่างนั้น ร่มเงาของผู้มีศีลเช่นท่านเป็นความสุขของเรา

    แล้วนั่งพิงหลาวอยู่

    พวกบุรุษที่ดูแลกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระราชา พระราชาทรงดำริว่า เราไม่ได้สอบสวนทำลงไป


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 2
    1 พ.ย. 2566

    ซีดีแนะนำ