บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 07


    แต่ถ้าศึกษาเพื่อเหตุอื่น คือ เพื่อลาภ เพื่อยศ เพื่อสรรเสริญ หรือเพื่อสักการะ ขณะนั้นไม่ใช่ความจริงใจ ในการศึกษาพระธรรม เพราะฉะนั้น ไม่เป็นสัจจบารมี

    ทุกท่านที่ศึกษาพระธรรมควรพิจารณาจุดประสงค์จริงๆ ของการศึกษาว่า มีความจริงใจต่อการที่จะเข้าใจพระธรรมเพื่อขัดเกลากิเลส เพื่ออบรมเจริญปัญญา ที่จะละกิเลสได้เป็นสมุจเฉทเท่านั้น ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่น นี่คือสัจจบารมี

    ถ้าเป็นบารมี หมายความว่า ต้องเพื่อให้ถึงฝั่ง คือ การดับกิเลส และเมื่อมี สัจจบารมีแล้ว ก็มีความมั่นคง คือ อธิษฐานบารมี ไม่หวั่นไหว ไม่ว่าสิ่งใดจะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะมีสักการะ ก็ไม่ใช่เป็นผู้ที่ติดในสักการะ แต่รู้ว่าจุดประสงค์ของการศึกษาว่า เพื่อละความเป็นตัวตน ไม่ใช่เพิ่มความเป็นตัวตนเพราะมีผู้สักการะ จึงจะเป็นผู้มั่นคง ไม่หวั่นไหวในสัจจะ ในความจริงใจ

    . อธิษฐาน คือ มีการที่จะกระทำ และมีความมั่นคงแน่วแน่ในขณะที่ รู้ตัวเองตามความเป็นจริงอย่างนั้น ไม่หวั่นไหวในกรณีที่ทำสิ่งที่ถูกต้องแล้ว สัจจะ คือ ความตรงต่อตัวเอง เช่น ลักษณะของสติปัฏฐาน หรือธรรมต่างๆ ที่เริ่มมีความรู้เกิดขึ้น ก็รู้ตรงว่า ตัวเองรู้แค่ไหน เจริญอย่างไร และขัดเกลากิเลสอย่างไร ก็ตรงต่อตัวเองและธรรมนั้นๆ ก็เป็นสัจจบารมี ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เป็นผู้ที่จริงใจ

    . จริงใจที่จะเจริญธรรมนั้นๆ

    ท่านอาจารย์ ที่จะประพฤติปฏิบัติตามด้วย ไม่ใช่ว่าโกรธแล้วก็ไม่รู้สึกตัว ไม่ยอมที่จะมีเมตตา และยังคงจะโกรธต่อไป แต่ถ้านึกขึ้นมาได้ขณะใด ขณะนั้นสามารถที่จะเป็นสัจจบารมีได้ตรงที่ว่า ศึกษาธรรมเพื่อละความโกรธ เห็นโทษของความโกรธ เห็นประโยชน์ของเมตตาบารมี ถ้าไม่มีความเข้าใจอย่างนี้ ไม่สามารถเจริญต่อไปได้ เพราะเหตุว่าศึกษาทำไม ทุกท่านศึกษาทำไม เมื่อความโกรธเกิดขึ้น ความโกรธ มีปัจจัยก็เกิด แต่สติอย่างละเอียดพิจารณาได้ไหมว่าไม่มีประโยชน์ ความโกรธไม่มีประโยชน์กับใครเลย การรังเกียจในกายวาจาของบุคคลอื่นก็ไม่มีประโยชน์ ถ้าสติไม่เกิดอย่างละเอียดก็จะไม่เห็นว่า กายวาจาของบุคคลอื่นซึ่งทำให้เกิดความ ไม่พอใจขึ้นนั้น ไม่ใช่เหตุอันแท้จริงที่จะทำให้อกุศลจิตเกิด แต่เหตุอันแท้จริง คือ การสะสมอกุศลของตนเองและไม่เห็นโทษของอกุศล ไม่จริงใจที่จะประพฤติปฏิบัติตาม ถ้าจริงใจที่จะประพฤติปฏิบัติตาม สละความโกรธทันทีได้ และเมตตาก็เกิดได้ทันที

    แต่ถ้ายังไม่เป็นอย่างนี้ ก็จะมีความโกรธ และไม่สามารถขจัดความโกรธหรือบรรเทาความโกรธนั้นได้ เพราะฉะนั้น เมตตาบารมีก็ไม่มีทางเจริญได้

    . เพราะฉะนั้น การเจริญบารมี จึงเป็นปัจจัยให้ถึงฝั่งพระนิพพานโดยตรง

    ท่านอาจารย์ เพราะสติปัฏฐานไม่เกิด แต่สติขั้นอื่นเกิดได้

    . และน้อมไปเพื่อการขัดเกลาจริงๆ จนกว่าสติปัฏฐานจะมีกำลัง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น การที่แต่ละท่านมีความละเอียดในการที่กุศลจิตจะเกิด แสดงว่าเป็นผู้ที่สะสมสติปัฏฐานมากกว่าผู้ที่ไม่สามารถระลึกได้ เพราะว่าทุกคนก็โกรธ แต่มีใครบ้างที่จะให้อภัย และมีใครบ้างที่จะเห็นโทษของอกุศล แม้แต่เพียงการรังเกียจในกายวาจาของบุคคลอื่นก็เป็นอกุศลแล้ว แทนที่จะเป็นมิตร เพราะถ้าเป็นมิตร ต้องเป็นไมตรี ไม่มีความรังเกียจ แม้ว่าบุคคลนั้นจะมีกายวาจาที่ไม่น่าพอใจ ต้องเป็นผู้ที่มั่นคง ไม่หวั่นไหว ไม่ว่าบุคคลอื่นจะแสดงกิริยาอาการอย่างไรก็ตาม ผู้นั้นก็ยังเห็นประโยชน์ของเมตตาบารมี

    . ในวันหนึ่งๆ เราอาจจะได้เจริญบารมีบ้างแล้ว แต่ไม่สามารถรู้ได้ เนื่องจากการที่จะรู้ว่าขณะไหนเป็นบารมีนั้น จะต้องเป็นการอบรมเจริญสติปัฏฐาน

    ท่านอาจารย์ และเป็นในขณะที่กำลังเห็นโทษของอกุศลจริงๆ และเห็นประโยชน์ ของกุศลด้วย อย่างที่ว่ากำลังโกรธ มีเหตุที่จะทำให้โกรธหรือไม่พอใจ ถ้าสติที่เป็นเมตตาบารมีเกิด หรือเป็นอภัยทาน เป็นทานบารมีเกิด หรือเป็นศีลบารมี คือ สามารถสงบกายวาจา ไม่แสดงการล่วงกายทุจริต วาจาทุจริต ในขณะนั้นก็เป็น ขันติบารมี และในขณะนั้นก็รู้ด้วยว่า เป็นโทษถ้าอกุศลนี้เจริญ ขณะที่กำลังเป็น อย่างนั้นต้องเป็นบารมี ไม่ใช่เรื่องที่ว่าทำอย่างไรจึงจะไม่โกรธ เพราะว่าไม่ชอบเลย เวลาโกรธนี่ไม่สบายใจ นั่นก็แสดงให้เห็นว่า เป็นตัวเราที่อยากจะสบาย ไม่อยากให้มีความรู้สึกขุ่นเคืองใจ นั่นคือความรักตัว ไม่อยากให้มีโทมนัสเวทนา คือ เวทนาที่ไม่สบาย ซึ่งนั่นไม่ใช่บารมี บารมีต้องเป็นผู้ที่เห็นโทษของอกุศลจริงๆ และเห็นประโยชน์ของกุศล และ รู้ด้วยว่า ขณะที่สละอกุศลนั้นเพราะเห็นโทษ ขณะนั้นก็เป็นบารมี

    . ถ้าไม่สละอกุศล ไม่เห็นโทษ การอบรมเจริญปัญญาจนถึงพระนิพพานก็ไม่มีเหตุให้ถึงได้

    ท่านอาจารย์ เป็นไปไม่ได้เลย เพราะว่าการอบรมเจริญปัญญารู้แจ้งอริยสัจจธรรมเพื่อการเป็นพระโสดาบันบุคคล และเมื่อเป็นพระโสดาบันบุคคลแล้วเหลืออีกเพียง ๗ ชาติเท่านั้นก็จะเป็นพระอรหันต์ หมายความว่ากิเลสทั้งหมดดับไม่เหลือเลย จากการบรรลุคุณธรรมเป็นพระโสดาบันดับทิฏฐิทั้งหมดไม่เกิดอีกเลย ดับวิจิกิจฉา ความสงสัยในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมไม่เกิดอีกเลย และเมื่อเป็น พระโสดาบันแล้วก็เหลืออีกเพียง ๗ ชาติ แต่ถ้ายังคงเป็นผู้ที่ไม่มีบารมีเลย ทำอย่างไรกิเลสที่ยังเหลืออยู่จากการเป็นพระโสดาบันจะดับได้เมื่อถึงความเป็นพระอรหันต์

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่อบรมเจริญปัญญาเพื่อรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเพื่อเป็น พระโสดาบัน ให้ทราบว่า ไม่ใช่เพียงเพื่อความเป็นพระโสดาบันเท่านั้น แต่ให้ถึง ความเป็นพระอรหันต์ด้วย เพราะว่าหลังจากนั้นอีก ๗ ชาติต้องเป็นพระอรหันต์

    กิเลสมีมากมายเหลือเกิน ถ้าไม่อาศัยบารมีต่างๆ ไม่มีทางที่จะรู้แจ้ง อริยสัจจธรรมเป็นพระโสดาบันเพื่ออีก ๗ ชาติจะเป็นพระอรหันต์ เพราะแม้แต่ ผู้ที่มีปัญญาขั้นพระอัครสาวก คือ ท่านพระสารีบุตร ท่านก็บำเพ็ญบารมีมา ๑ อสงไขย แสนกัปเพื่อที่จะเป็นพระโสดาบัน แต่หลังจากนั้นแล้วเพราะบารมีที่ท่านได้สะสมมาทำให้ท่านได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ๑๕ วัน หลังจากได้เป็นพระโสดาบัน

    . พระอริยสาวกทุกองค์สังเกตจากการบำเพ็ญบารมี ถ้าหากเป็นผู้ที่บำเพ็ญบารมีมานาน ผลจากบารมีที่บำเพ็ญไว้ คือ ความแตกฉานต่างกัน เช่น ท่านพระสารีบุตร ท่านใช้เวลานานกว่าพระสาวกรูปอื่นๆ ที่ไม่ได้เป็นพระสาวกผู้เลิศทางเบื้องขวา เบื้องซ้าย นี่เป็นเหตุเป็นผลที่ตรงกันในการเจริญธรรม ตามที่เข้าใจ รู้สึกว่าเป็นเรื่องของเหตุและผลทั้งนั้นเลย

    ท่านอาจารย์ ใช่ เหตุกับผลต้องตรงกันเสมอ

    . ขณะที่กุศลจิตเกิดขึ้นหลังจากทำทาน หรือเจริญกุศลขั้นอื่นๆ แล้ว และท่องในใจว่า ขออธิษฐานให้ผลบุญผลกุศลเหล่านี้เป็นปัจจัยให้ถึงพระนิพพาน อย่างนี้จะเป็นอธิษฐานบารมีไหม

    ท่านอาจารย์ ต้องเป็นผู้ที่เข้าใจด้วย เพราะว่าบารมีทั้งหมดต้องเกี่ยวเนื่องกับปัญญา ปราศจากปัญญาไม่ได้ เพราะฉะนั้น ผู้ที่ไม่เข้าใจว่า นิพพานคืออะไร และไม่รู้จักหนทาง เพียงแต่เมื่อทำกุศลแล้วก็ปรารถนาขอถึงนิพพาน ผู้นั้นอาจจะเข้าใจว่านิพพานเป็นสวรรค์ เพราะฉะนั้น ก็อยากจะถึงนิพพานเท่านั้น ซึ่งไม่ถึงนิพพานแน่นอนเพราะไม่รู้ว่านิพพานคืออะไร แต่ผู้ใดก็ตามแม้ว่าอกุศลจะเกิดขึ้น สติก็ระลึกได้ทัน และรู้ว่านี่เป็นโทษ สิ่งที่เป็นอกุศลไม่เป็นปัจจัยทำให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ ในขณะนั้นสละอกุศล และมีบารมีหนึ่งบารมีใด เช่น ทานบารมี หรือเมตตาบารมี จึงจะเป็นบารมีได้

    สามารถที่จะรู้ได้ แม้แต่การที่จะสละวัตถุให้เพื่อประโยชน์สุขของบุคคลอื่น การช่วยเหลือ การสงเคราะห์บุคคลอื่นก็รู้ได้ว่า กระทำไปโดยเป็นบารมีหรือว่า ไม่ใช่บารมี ถ้ายังหวังสิ่งหนึ่งสิ่งใดตอบแทน ไม่ใช่บารมี เพราะยังมีความเป็นตัวตน ขณะนั้นไม่ใช่ปัญญาที่รู้ว่า ต้องสละความเป็นตัวตน

    ต่อไปเป็นปัญญาบารมี ซึ่งใน อรรถกถา ขุททกนิกาย จริยาปิฎก ยุธัญชยจริยาที่ ๑ แสดงการเริ่มต้นของปัญญาในพระชาติที่พระโพธิสัตว์ทรงเป็น ยุธัญชัยกุมาร ข้อความมีว่า

    ในพระชาติที่ทรงเป็นยุธัญชัยกุมารนั้น ทรงเป็นพระโอรสองค์ใหญ่ และทรงดำรงตำแหน่งพระอุปราช ทรงให้มหาทานทุกวัน วันหนึ่งเมื่อเสด็จประพาส พระราชอุทยาน ทอดพระเนตรเห็นหยาดน้ำค้างที่ค้างอยู่บนยอดไม้ ยอดหญ้า ปลายกิ่งและใยแมงมุมเป็นต้น มีลักษณะเหมือนข่ายแก้วมุกดา

    ทุกคนก็คงจะเห็นอย่างนี้ ถ้าตื่นเช้าๆ และไปในที่ที่มีต้นไม้ สวนต่างๆ

    พระองค์ทรงเพลิดเพลินอยู่ ณ พระราชอุทยาน และเมื่อพระอาทิตย์ขึ้น หยาดน้ำค้างทั้งหมดก็สลายละลายไป ทรงดำริว่า หยาดน้ำค้างเหล่านี้เกิดขึ้นแล้วสลายไปฉันใด แม้สังขารคือชีวิตของสัตว์ทั้งหลายก็ฉันนั้น เช่นกับหยาดน้ำค้าง ที่ยอดหญ้า พระองค์ทรงสลดพระทัย ทูลลาพระราชมารดาและพระราชบิดาออกบวช

    แสดงให้เห็นถึงปัญญาที่ต่างกัน ทุกคนก็เห็นน้ำค้างบนยอดหญ้า แต่มีใครที่จะถึงกับสลดใจเมื่อเปรียบเทียบกับชีวิตและรู้ว่า ชีวิตก็เหมือนกับหยาดน้ำค้างบน ยอดหญ้า คือ สั้นมาก เพียงพระอาทิตย์ขึ้นก็หมดไป

    พระโพธิสัตว์ทรงกระทำความไม่เที่ยงของหยาดน้ำค้างนั่นเองให้เป็นใหญ่ เป็นหัวหน้า เป็นปุเรจาริก ทรงพอกพูนความสังเวชอันเกิดขึ้นครั้งเดียวนั้นให้เกิดขึ้นบ่อยๆ

    แสดงให้เห็นว่า เวลาที่ความเห็นถูกหรือความสลดใจเกิดขึ้น ไม่ควรปล่อยให้ผ่านไป ควรที่จะระลึกถึงเหตุที่ทำให้สลดใจนั้นบ่อยๆ เช่น ระลึกถึงความตาย หรือความไม่เที่ยง ก็จะทำให้บารมีทั้งหลายเจริญขึ้น ไม่ใช่เพียงแต่จะระลึกได้ครั้งเดียว แต่ต้องพิจารณาบ่อยๆ

    อรรถกถา ขุททกนิกาย จริยาปิฎก ยุธัญชยจริยาที่ ๑ แสดงการเริ่มต้นของปัญญาในพระชาตินั้นว่า

    การบริจาคมหาทานเมื่อก่อนบวชและการสละราชสมบัติเป็นต้น เป็นทานบารมี การสำรวมกายวาจาเป็นศีลบารมี การบรรพชาและการบรรลุฌานเป็นเนกขัมมบารมี ปัญญาเริ่มต้นด้วยการมนสิการโดยความเป็นของไม่เที่ยง จนบรรลุอภิญญา เป็นที่สุด และปัญญากำหนดธรรมเป็นอุปการะและไม่เป็นอุปการะแห่งทานเป็นต้น เป็นปัญญาบารมี ความเพียรยังประโยชน์นั้นให้สำเร็จในที่นั้นทั้งปวงเป็นวิริยบารมี ญาณขันติและอธิวาสนขันติเป็นขันติบารมี การไม่พูดผิดจากคำปฏิญญา ชื่อว่าสัจจบารมี การตั้งใจสมาทานอันไม่หวั่นไหวในที่ทั้งปวง ชื่อว่าอธิษฐานบารมี เพราะจิตคิดแต่ประโยชน์ในสรรพสัตว์ทั้งหลายด้วยอำนาจแห่ง เมตตาพรหมวิหาร ชื่อว่าเมตตาบารมี ด้วยการวางเฉยในความผิดปกติที่สัตว์และสังขารทำแล้ว และด้วย อุเบกขาพรหมวิหาร ชื่อว่าอุเบกขาบารมี

    เป็นอันได้บารมี ๑๐ ด้วยประการฉะนี้ แต่พึงทราบโดยความพิเศษว่า เป็นเนกขัมมบารมี (ในพระชาติที่บรรพชาเป็นบรรพชิต)

    เพราะฉะนั้น เนกขัมมะ การสละกาม เริ่มมีได้ตั้งแต่ในเพศของคฤหัสถ์จนถึงที่สุดคือบวชเป็นบรรพชิต

    พระ เนกขัมมบารมี คือ การออกบรรพชาเป็นบรรพชิต เนื่องจากเห็นโทษของกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อาตมาย้อนคิดถึงครั้งที่เริ่มบวช อาตมามีความรู้สึกว่า มีศรัทธาในการออกบวชเท่านั้นเอง แต่ไม่ได้เห็นโทษของ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเลย การบรรพชาแบบนี้จัดว่าเป็นเนกขัมมบารมี ได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ต้องประกอบด้วยปัญญาจึงจะเป็นเนกขัมมบารมี เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ถ้าเพียงแต่ประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา และกุลบุตรในประเทศนั้นนิยมการบวชตามประเพณีโดยที่ยังไม่ได้เข้าใจพระธรรมจริงๆ นั่นก็เป็น กุศลญาณวิปปยุตต์ คือ ไม่ประกอบด้วยปัญญา เพียงประกอบด้วยศรัทธาเท่านั้น แต่ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานและทรงแสดงพระธรรม ผู้ที่ไปเฝ้า ฟังพระธรรมแล้วเข้าใจ จึงพิจารณาตนเองได้ว่า จะอบรมเจริญปัญญา รู้แจ้งอริยสัจจธรรมในเพศของคฤหัสถ์หรือในเพศของบรรพชิต เพราะว่าแต่ละคน สะสมมาไม่เหมือนกัน อย่างท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ท่านก็ได้ฟังพระธรรมและ บรรลุคุณธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคลโดยที่ท่านไม่ได้สะสมมาที่จะเป็นพระภิกษุ หรือแม้แต่ท่านวิสาขามิคารมาตา และคฤหัสถ์ทั้งหลายที่รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ท่านเหล่านั้นก็รู้การสะสมของตนเองว่า พุทธบริษัทไม่จำเป็นต้องออกบวชเป็นพระภิกษุจึงจะสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ แต่ในสมัยนี้โดยมากจะบวชก่อน ด้วยศรัทธา และจึงจะศึกษาพระธรรมในภายหลัง

    พระ อาตมาเคยสนทนาธรรมกับเพื่อนบรรพชิตด้วยกันเกี่ยวกับคำพูดของอาจารย์ที่ว่า การบรรลุอริยสัจจธรรมนั้น คฤหัสถ์สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ ก็มีผู้ตีความว่า โยมอาจารย์ไม่แนะนำและไม่สนับสนุนในการบวช ภายหลังอาตมาศึกษาธรรมและฟังรายการแนวทางเจริญวิปัสสนาแล้วจึงเข้าใจว่า สิ่งต่างๆ ที่ โยมอาจารย์แสดงนั้น ไม่ใช่ไม่สนับสนุนการบวช แต่แสดงให้เห็นโทษในการไม่รู้จัก เพศนี้โดยตรงมากกว่า

    อาตมาค่อยๆ เริ่มศึกษาพระวินัยและฟังการบรรยายของโยมอาจารย์สุจินต์ ซึ่งได้มีข้อแนะนำในเรื่องศีล และยกพระวินัยปิฎกขึ้นมาแสดงให้ฟัง อาตมาเห็นว่า เป็นประโยชน์ และมีแนวทางที่จะค้นอรรถกถาและพระวินัยปิฎกว่า การดำรงตน ในเพศบรรพชิตนั้น ควรจะดำรงตนอย่างไร รู้สึกว่าการฟังคำแนะนำต่างๆ นั้น ควรละเอียดในการศึกษาธรรมด้วย และเริ่มมีความอบอุ่นที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติพระวินัยให้พระภิกษุหลายข้อ ยิ่งมีมากเท่าไร ความอยู่ผาสุกก็จะมีมากขึ้น

    ที่โยมอาจารย์สุจินต์แนะนำว่า ควรรู้จักตัวเองว่าสะสมมาในทางใดนั้น เป็นการไตร่ตรองตัวเองเรื่อยๆ ซึ่งอาตมาเองก็ไตร่ตรองตัวเองเหมือนกันว่า การศึกษาธรรมนั้นต้องมีสัจจะคือความตรงต่อตัวเองในการที่จะรู้ตัวว่า เราสมควรอยู่ในเพศใด ถ้าเรารู้ตัวว่าสมควรอยู่ในเพศนี้ เราก็ควรศึกษาธรรมและพระวินัยให้ละเอียดขึ้นเรื่อยๆ ส่วนจะได้แค่ไหนนั้น อาตมาคิดว่า ถ้ามีศรัทธาในการเจริญธรรมและพระวินัย เมื่อเข้าใจธรรมแล้ว เหมือนกับคราวแรกที่อาตมาบวชใหม่ๆ ไม่ได้เป็นบารมี หรือไม่ได้มุ่งเพื่อนิพพาน เพียงแต่บวชเพราะมีความคิดว่าคงจะเป็นการดีเท่านั้นเอง และเมื่อ เข้ามาอยู่ในเพศนี้ใหม่ๆ ก็ไม่สันทัดในพระวินัยจนรู้สึกว่า ไม่ต่างกับคฤหัสถ์เลย แต่ภายหลังได้ฟังรายการแนวทางเจริญวิปัสสนา ที่อาตมาพูดนี้ไม่ใช่ว่าจะชมรายการอย่างเดียว แม้เพื่อนภิกษุหรือผู้อื่นๆ ที่ศึกษาพระวินัยและอรรถกถา เขาก็แนะนำให้ศึกษาวินัยจริงๆ จนอาตมารู้สึกว่า พระวินัยนั้นมีประโยชน์มาก และในการบวช เพื่อมุ่งหมายขัดเกลาและเห็นโทษ พร้อมกับเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งขั้นแรกอาจจะ ไม่เข้าใจ แต่เมื่อบวชเป็นบรรพชิตแล้ว มีความเลื่อมใสในพระวินัย ก็เริ่มศึกษา ทั้ง ๓ ปิฎก

    การศึกษาแบบนี้จะค่อยๆ เห็นโทษของกามและกามคุณต่างๆ ของ เพศคฤหัสถ์นั้นว่า ไม่เหมาะสม ไม่สมควร และศึกษาเพื่อให้เห็นโทษมากขึ้น การเห็นโทษของกามคุณนั้น คือ เห็นโทษของกิเลสอกุศลต่างๆ อาตมาคิดว่า ที่จะเป็นเนกขัมมบารมีได้ ต้องเริ่มเข้าใจอย่างนี้ก่อนหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ต้องเป็นไปกับปัญญา หรือต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้อง มิฉะนั้นแล้ว ไม่ใช่เนกขัมมบารมี เพราะว่าไม่ได้มุ่งหวังที่จะถึงฝั่งคือพระนิพพาน ซึ่งเป็นฝั่งที่ ดับกิเลส ต่อเมื่อใดได้เข้าใจจุดประสงค์ เมื่อนั้นจึงจะเป็นบารมี

    พระ ขาดปัญญาไม่ได้เลย

    ท่านอาจารย์ ทุกบารมีต้องเป็นไปกับปัญญา ถ้าไม่มีความเห็นถูก ไม่มีความ เข้าใจถูก แม้ทานหรือศีลนั้นก็ไม่ใช่บารมี เพราะว่าศีลและทานย่อมมีในคำสอน ของศาสดาอื่น และศาสดาอื่นไม่ได้มุ่งหวังที่จะให้ผู้ที่เชื่อและประพฤติปฏิบัติตาม คำสอนของตนรู้แจ้งอริยสัจจธรรม

    พระ การที่คฤหัสถ์ศึกษาธรรมวินัย และค่อยๆ ประพฤติปฏิบัติ ก็ชื่อว่า เจริญเนกขัมมบารมีด้วยเช่นเดียวกัน

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าเป็นการละกาม ตั้งแต่การค่อยๆ สละ คือ การที่จะเป็นพุทธศาสนิกชนผู้ที่มีพระรัตนตรัยเป็นสรณะนั้น ก็เพื่อประพฤติปฏิบัติตาม ไม่ว่าจะ ในเพศของคฤหัสถ์ หรือในเพศของบรรพชิต

    ความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ไม่ได้มีแต่เฉพาะในคฤหัสถ์ แม้บรรพชิตซึ่งยังไม่ใช่พระอริยบุคคลก็ยังมีความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และการที่จะเป็นคฤหัสถ์ที่ดี ก็คือ ฟังพระธรรม พิจารณาให้เข้าใจ ประพฤติปฏิบัติตามในเพศของคฤหัสถ์ เพราะว่าเพศของบรรพชิตนั้นต้องเป็นผู้ที่มีอัธยาศัยใหญ่จริงๆ สามารถสละอาคารบ้านเรือน วงศาคณาญาติ ทรัพย์สมบัติทั้งหมด สละ คือ ไม่มีความติดข้อง ไม่ใช่ว่าเมื่อไปแล้วก็ยังติดข้องอยู่

    ต้องพิจารณาเห็นความต่างกันระหว่างเพศคฤหัสถ์กับบรรพชิต เพราะฉะนั้น บรรพชิตจึงได้รับสักการะจากคฤหัสถ์ เพราะว่าคฤหัสถ์ไม่สามารถทำตามอย่างนั้นได้

    พระ เพราะฉะนั้น พระโพธิสัตว์ที่จะบำเพ็ญบารมีเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงต้องบำเพ็ญบารมีใหญ่ด้วย และขณะที่บำเพ็ญเนกขัมมบารมี จึงต้องบำเพ็ญ ในเพศของบรรพชิต ซึ่งไม่ใช่ว่าจะต้องออกบวชทุกๆ ท่านไป

    ท่านอาจารย์ การบำเพ็ญบารมีเนื่องจากเป็นจิรกาลภาวนา แสดงให้เห็นว่า บุคคล ที่ได้บำเพ็ญบารมีมาแล้วจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมในเพศใดนั้น ไม่สามารถกำหนดได้ อาจจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมในเพศคฤหัสถ์ หรืออาจจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมใน เพศบรรพชิต แต่ต้องมีบารมีมาพร้อมที่จะรู้แจ้งได้ เพราะว่าบารมีทั้งหลาย คือสตินั่นเอง ขาดสติขั้นหนึ่งขั้นใดไม่ได้เลย รวมทั้งปัญญาบารมีซึ่งจะต้องเป็น การอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏด้วย

    การบำเพ็ญบารมีโดยตรง ต้องเป็นปัญญาบารมี จุดมุ่งหมายของ การบำเพ็ญบารมี คือ เพื่อปัญญาบารมีที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม แต่เพราะว่า อริยสัจจธรรมไม่ใช่สิ่งที่จะรู้ได้โดยเร็ว จึงต้องอาศัยบารมีอื่นๆ ด้วย ซึ่งจะเห็นได้ ในชาตินี้ว่า ผู้ใดได้บำเพ็ญบารมีมาแล้ว และผู้ใดยังไม่ได้บำเพ็ญบารมี โดยการที่ ผู้ที่ไม่ได้อบรมเจริญบารมีมา ย่อมไม่เห็นคุณของการอบรมเจริญปัญญา จึงเป็นผู้ที่ ไม่ยอมฟังพระสัทธรรม เพราะถ้าไม่ฟังพระสัทธรรมแล้ว ปัญญาจะเกิดได้อย่างไร

    เพราะฉะนั้น ในชาตินี้จะเห็นได้ว่า ใครฟังพระสัทธรรม และใครไม่ยอม แม้เพียงฟังพระสัทธรรม แสดงให้เห็นว่า ผู้ที่ใคร่จะฟังพระสัทธรรม คือ ผู้ที่ ได้บำเพ็ญบารมีมาแล้ว แต่ผู้ที่ยังไม่สนใจ ไม่เห็นประโยชน์ แม้ว่ามีพระสัทธรรม แต่ก็ไม่ฟัง นั่นคือผู้ที่ยังไม่ได้บำเพ็ญบารมีมา ซึ่งในชีวิตประจำวันก็พอจะเห็นได้ว่า ใครบำเพ็ญบารมีมาแล้ว และใครยังไม่ได้บำเพ็ญบารมี

    สำหรับผู้ที่บำเพ็ญปัญญาบารมีมาแล้ว ไม่ว่าจะเกิด ณ สถานที่ใด ในตระกูลมิจฉาทิฏฐิก็ตาม ก็เป็นผู้ที่ใคร่จะเข้าใจ ใคร่ที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรม ซึ่งขอให้พิจารณาข้อความใน ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส ปิงคิยมาณวกปัญหานิทเทส ข้อ ๕๑๑ ซึ่งท่านปิงคิยพราหมณ์ผู้มีอายุ ๑๒๐ ปี ได้ทูลพระผู้มีพระภาคว่า

    ข้าพระองค์เป็นคนแก่มีกำลังน้อย ปราศจากผิวพรรณ นัยน์ตาไม่แจ่มใส หูฟังไม่สะดวก ข้าพระองค์อย่าเป็นคนหลงเสียไปในระหว่างเลย ขอพระองค์โปรด ตรัสบอกธรรมซึ่งข้าพระองค์พึงรู้แจ้ง อันเป็นที่ละชาติและชรา ณ ที่นี้เถิด

    ความมีปัญญาของบุคคลในครั้งนั้น ไม่ได้ขออย่างอื่น แต่ขอฟังพระสัทธรรม ซึ่งเป็นธรรมที่ละชาติและชรา อายุถึง ๑๒๐ ปีแต่ก็ปรารถนาที่จะฟังพระสัทธรรม เพราะสะสมมามากที่จะเห็นประโยชน์ของการฟังพระธรรม ท่านจึงได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรมซึ่งข้าพระองค์พึงรู้แจ้ง อันเป็นที่ ละชาติและชรา ณ ที่นี้เถิด

    ท่านผู้ฟังเคยมีใครมาขอให้พูดถึงเรื่องนามธรรม รูปธรรม พูดเรื่องสภาพธรรม พูดเรื่องโลภะ โทสะ โมหะ พูดเรื่องชีวิตตามความเป็นจริงในขณะนี้บ้างไหม ก็คงจะยาก แต่ถ้าเป็นผู้ที่สะสมปัญญาบารมีมาแล้ว ต้องเป็นผู้ที่ใคร่ต่อการที่จะเข้าใจและสามารถรู้แจ้งสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แม้ว่าจะมีอายุถึง ๑๒๐ ปี และเป็นผู้ที่ชรามาก แต่ก็เป็นผู้ที่เห็นประโยชน์ของการที่จะได้ฟังพระสัทธรรม

    เทียบจำนวนของผู้ที่ขอฟังพระสัทธรรม กับจำนวนของผู้ที่ขอฟังอย่างอื่น จะเห็นได้ว่า ผู้ที่สะสมปัญญาบารมีมานั้นมีจำนวนไม่มากเลย ซึ่งพระผู้มีพระภาค ได้ตรัสตอบท่านปิงคิยพราหมณ์ว่า

    ชนทั้งหลายผู้มัวเมา ย่อมเดือดร้อนในเพราะรูปทั้งหลาย เพราะเห็น ชนทั้งหลายลำบากอยู่ในเพราะรูปทั้งหลาย ดูกร ปิงคิยะ เพราะเหตุนั้น ท่านจงเป็นผู้ไม่ประมาท ละรูปเสีย เพื่อความไม่เกิดต่อไป

    เพียงเท่านี้ สำหรับผู้ที่อบรมเจริญปัญญามาแล้วฟังแล้วรู้ได้ทันทีว่า ทุกข์ทั้งหมดเกิดเพราะรูป เพราะฉะนั้น การที่จะดับทุกข์ได้ คือ ควรละความยินดีพอใจ ในรูปเสีย

    จะเห็นได้ว่า ทุกข์ในชีวิตของทุกคนเนื่องมาจากรูปทั้งหมด เพราะว่ามีความติด มีความยินดี มีความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะนั่นเอง จึงเป็นทุกข์ต่างๆ

    ข้อ ๕๑๘ มีข้อความว่า

    คำว่า รูเปสุ ความว่า มหาภูตรูป ๔ และรูปอันอาศัยมหาภูตรูป ๔ สัตว์ทั้งหลายย่อมเดือดร้อน ลำบาก ถูกเขาเบียดเบียน ถูกเขาฆ่าเพราะเหตุแห่งรูป เพราะปัจจัยแห่งรูป เพราะการณะแห่งรูป เมื่อรูปมีอยู่ พระราชาทั้งหลายย่อม ให้ทำกรรมกรณ์ (ลงโทษ) หลายอย่าง คือ ให้เฆี่ยนด้วยแส้บ้าง

    ถ้ารูปไม่มี ก็ไม่ต้องถูกตี ถูกเฆี่ยน แต่เมื่อรูปมี ผลของการที่จะต้องถูกลงโทษ ก็คือ

    ให้เฆี่ยนด้วยแส้บ้าง ให้เฆี่ยนด้วยหวายบ้าง ให้ตอกคาบ้าง ตัดมือบ้าง ตัดเท้าบ้าง ตัดทั้งมือและเท้าบ้าง ให้ตัดใบหูบ้าง ตัดจมูกบ้าง ตัดทั้งใบหูและ จมูกบ้าง ทำให้มีหม้อข้าวเดือดบนศีรษะบ้าง

    ฟังดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ แต่ไม่จำกัดเฉพาะมนุษย์ สัตว์ที่เป็นอาหารทั้งหลาย พิจารณาดูได้ว่า ได้รับโทษอย่างนี้หรือเปล่า

    ให้ถลกหนังศีรษะโล้นมีสีขาวดังสังข์บ้าง ทำให้มีหน้าเหมือนหน้าราหูบ้าง ทำให้ถูกเผาทั้งตัวบ้าง ทำให้มีไฟลุกที่มือบ้าง ให้ถลกหนังและผูกเชือกฉุดไปบ้าง ให้ถลกหนังแล้วให้นุ่งเหมือนนุ่งผ้าคากรองบ้าง ทำให้มีห่วงเหล็กที่ศอกและเข่า แล้วใส่หลาวเหล็กตรึงไว้บ้าง ให้เอาเบ็ดเกี่ยวติดที่เนื้อปากบ้าง ให้ถากด้วยพร้า ให้ตกไปเท่ากหาปณะบ้าง ให้มีตัวถูกถากและทาด้วยน้ำแสบบ้าง ให้นอนตะแคง แล้วตอกหลาวเหล็กไว้ในช่องหูบ้าง

    เวลารักษาโรคบางครั้งก็ต้องทำอย่างนี้ ใช่ไหม ให้มีตัวถูกถากและทาด้วย น้ำแสบบ้าง

    ให้ถลกหนังแล้วทุบกระดูกพันไว้เหมือนตั่งใบไม้บ้าง รดตัวด้วยน้ำมัน อันร้อนบ้าง ให้สุนัขกัดกินเนื้อที่ตัวบ้าง เอาหลาวเสียบเป็นไว้บ้าง และเอาดาบ ตัดศีรษะ สัตว์ทั้งหลายย่อมเดือดร้อนลำบาก ถูกเขาเบียดเบียน ถูกเขาฆ่า เพราะเหตุ ปัจจัย การณะแห่งรูปอย่างนี้ เพราะพบเห็น พิจารณา เทียบเคียง ให้เจริญ ทำให้กระจ่าง ซึ่งชนทั้งหลายผู้เดือดร้อนลำบากอยู่อย่างนี้ เพราะฉะนั้น จึงตรัสว่า เพราะเห็นชนทั้งหลายลำบากอยู่ในเพราะรูปทั้งหลาย

    จากโลกนี้ไปไม่ทราบจะไปอยู่โลกไหน และการที่จะถูกลงโทษลงทัณฑ์อย่างนี้ ก็ย่อมมีได้ ตราบใดที่ยังมีรูป ไม่มีใครรู้ว่าจะมีอะไรเกิดกับรูปนี้บ้าง

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 2
    25 ต.ค. 2566

    ซีดีแนะนำ