บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 24


    ผู้ฟัง ถ้ายังคบกันครึ่งๆ กลางๆ ถือว่าไม่ใช่เพื่อน

    ท่านอาจารย์ และที่ว่า ไม่ควรคบมากเกินไป ไม่ควรคบพร่ำเพรื่อ นี่ก็ต่างกันกับ ที่จะคบใครก็คบอย่างจริงใจที่ว่า ไม่ควรคบในผู้อื่นจนหมดสิ้นก็หามิได้ คือ ต้องเป็นเพื่อนจริงๆ

    ผู้ฟัง หมายความว่าต้องคบอย่างจริงๆ จังๆ ไม่ใช่คบอย่างครึ่งๆ กลางๆ หรือต่อหน้าอย่างหนึ่ง ลับหลังอย่างหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ และข้อความต่อไป ไม่ควรคบมากเกินไป ไม่ควรคบพร่ำเพรื่อ ฟังดูเหมือนจะขัดกัน แต่ความจริงไม่ขัดกัน คือ แม้แต่มิตรสหายก็ไม่ควรคลุกคลีจนเกินไป จนพร่ำเพรื่อ เพราะจะเป็นไปในเรื่องของการติดข้อง หรือทำให้เกิดโทษ

    ผู้ฟัง มิตรรักไปหากันบ่อยๆ ก็อาจแตกคอกันได้

    ท่านอาจารย์ แน่นอน

    ผู้ฟัง ที่ว่าไม่รับของมากเกินไป ถ้าเขาให้ด้วยศรัทธาในตัวเรา จะขัดกันไหม

    ท่านอาจารย์ ทุกท่านปฏิเสธศรัทธาของคนอื่นไม่ได้ เพราะว่าผู้นั้นกำลังมีศรัทธา จริงๆ แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อรับแล้วควรจะพิจารณาด้วยว่า มากเกินไปเมื่อไหร่ ก็ไม่ควรที่จะรับเมื่อนั้น คือ รับให้พอดีๆ และเมื่อสนิทสนมคุ้นเคยกันมากขึ้น ก็อาจจะปฏิเสธ หรือชี้แจงให้ฟังว่าควรจะทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ได้หลายอย่าง เพราะฉะนั้น ไม่ปฏิเสธในศรัทธาของคนอื่นก็จริง แต่ไม่ควรรับมากเกินไปด้วย เพราะว่าบางท่านอาจจะมีศรัทธา แต่ทำให้เขาไม่มีโอกาสในการทำกุศลอย่างอื่นก็ได้ เพราะฉะนั้น ควรให้เขาได้ทำกุศลทุกอย่างด้วย ไม่ใช่แต่เฉพาะผู้ที่ต้องการจะให้ และผู้นั้นก็รับๆ มากตลอดเวลา นี่ก็เป็นเรื่องความละเอียดของสติสัมปชัญญะ

    ไม่ปฏิเสธการเชื้อเชิญที่เป็นธรรม ไม่แสดงตัวมากเกินไป ก็เป็นเรื่องความละเอียดของการรู้จักกาลเทศะ

    สำหรับการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ต้องมีสติสัมปชัญญะ อบรมเจริญกุศล ทุกประการด้วยความอดทน และไม่ต้องหวังว่าเมื่อไรจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม เพราะถ้าย้อนกลับมาพิจารณาจิตของตนเองก็จะรู้ได้ว่า ตราบใดที่ทุกวันๆ ยังมีอกุศลมากมาย บ่อยๆ และอยากจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ก็ไกลมากทีเดียว ควรเริ่มสะสมกุศล ทุกประการเพื่อเป็นบารมี

    ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา นิทานคาถาวรรณนา มีข้อความตอนหนึ่งที่แสดงว่า ทุกบารมีประกอบกัน เกื้อกูลส่งเสริมกัน คือ

    ก็ความอดทนอย่างยิ่ง ในการบำเพ็ญบุญมีทานเป็นต้น เพื่อปัจเจกโพธิญาณ หรือสาวกโพธิญาณ นี้ชื่อว่าวิริยะ

    ความอดทนต่อความโกรธนั้นใด นี้ชื่อว่าขันติ

    การให้ทาน การสมาทานศีลเป็นต้น และการไม่กล่าวให้คลาดเคลื่อน (จากความเป็นจริง) อันใด นี้ชื่อว่าสัจจะ

    การอธิษฐานใจที่ไม่หวั่นไหวแน่วแน่ อันให้สำเร็จประโยชน์ในที่ทั่วไปนั่นแหละ ชื่อว่าอธิษฐาน

    การมุ่งประโยชน์ในหมู่สัตว์ อันเป็นพื้นฐานของความเป็นไปแห่งทานและศีลเป็นต้นนี้ ชื่อว่าเมตตา

    การวางเฉยในประการที่ไม่เหมาะสมที่สัตว์ทั้งหลายกระทำแล้ว ชื่อว่าอุเบกขา

    ดังนั้น เมื่อทาน ศีล ภาวนา และศีล สมาธิ ปัญญามีอยู่ บารมีทั้งหลาย มีวิริยะบารมีเป็นต้น ย่อมชื่อว่าสำเร็จแล้วทีเดียว ด้วยอาการอย่างนี้

    การที่จะบำเพ็ญทานต้องมีความอดทนอย่างยิ่ง มีวิริยะ มีจิตไม่หวั่นไหว แน่วแน่ในอันให้สำเร็จประโยชน์ในที่ทั่วไป

    นอกจากนั้น การกล่าวถึงบารมีโดยนัยต่างๆ แม้ที่ต่างกันเพียงเล็กน้อย โดยความหมายเดียวกันก็ยังเกื้อกูล เช่น ข้อความที่ว่า การมุ่งประโยชน์ในหมู่สัตว์ อันเป็นพื้นฐานของความเป็นไปแห่งทานและศีลเป็นต้นนี้ ชื่อว่าเมตตา ก็จะได้ทราบลักษณะของเมตตาอีกความหมายหนึ่ง คือ การมุ่งประโยชน์ในหมู่สัตว์ เป็นพื้นฐานของทานและศีล

    ท่านผู้ใดที่ให้ทาน ท่านอาจจะไม่ได้พิจารณาจิตใจในขณะนั้นว่าเพราะเมตตา ท่านมีอุปนิสัยที่จะให้ ท่านก็ให้ ท่านสละวัตถุเพื่อประโยชน์สุขต่อบุคคลอื่น แต่ถ้าจะพิจารณาพื้นฐานที่ทำให้เกิดการกระทำนั้นก็คือเมตตา หรือท่านที่วิรัติทุจริต ทั้งกายและวาจา ก็จะได้เห็นว่า พื้นฐานที่ทำให้ท่านวิรัติทุจริตนั้นก็คือเมตตาด้วย ไม่ต้องการให้คนอื่นเดือดร้อนหรือเป็นทุกข์แม้ด้วยกายหรือวาจาของท่านขณะนั้น ก็เพราะเมตตา

    ผู้ฟัง ลักษณะของขันติ ไม่โกรธ มีอโทสเจตสิกเป็นองค์ธรรม กับเมตตา ขอให้อาจารย์ช่วยอธิบายอารมณ์ที่ต่างกัน หรือลักษณะที่ต่างกัน

    ท่านอาจารย์ เมตตาต้องมีสัตว์บุคคลเป็นอารมณ์

    ผู้ฟัง ขันติมีสัตว์บุคคลเป็นอารมณ์ด้วยได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ขันติหมายถึงความไม่โกรธ ความอดทน อย่างอธิวาสนขันติ อดทนต่อความร้อน ความหนาว ต่อสิ่งแวดล้อมทุกประการในชีวิต

    ผู้ฟัง ขณะที่มีเมตตาต่อสัตว์บุคคล ชื่อว่ามีขันติด้วยได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นเป็นขันติ แต่ในลักษณะของเมตตาไม่ใช่ไม่มีอโทสะ มีอโทสะ แต่อโทสะนั้นเป็นไปในสัตว์บุคคล

    ผู้ฟัง ลักษณะของอนุโมทนากับมุทิตา ต่างกันอย่างไร

    ท่านอาจารย์ อนุโมทนา คือ พลอยยินดีในกุศลที่ผู้อื่นกระทำ ส่วนมุทิตา เวลาที่ สัตว์อื่นได้ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ก็มีจิตยินดีในลาภ ยศ สรรเสริญ สุขที่บุคคลนั้นได้ ไม่ริษยา

    ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย จริยาปิฎก ปกิณณกคาถา แสดงกุศลบารมีแต่ละบารมีว่า เป็นปฏิปักษ์ต่ออกุศลอย่างไรบ้าง คือ

    ทานเป็นปฏิปักษ์แก่โลภะ โทสะ และโมหะ เพราะประกอบด้วยคุณ คือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ ในไทยธรรม (คือ วัตถุทาน) ปฏิคาหก (คือ ผู้รับทาน) และผลของทาน

    แสดงให้เห็นว่า แม้แต่ทานบารมีก็ยังเป็นปฏิปักษ์ต่ออกุศล คือ โลภะ โทสะ โมหะ เพราะในขณะที่ให้ทานหรือที่บำเพ็ญทานนั้น ประกอบด้วยคุณ คือ อโลภะ ความไม่โลภ ไม่ติดข้องในไทยธรรม คือ วัตถุที่จะให้ เพราะถ้ายังติดข้องอยู่ ให้ไม่ได้ ยังนึกเสียดาย ยังไม่ให้ หรือคิดที่จะให้ แต่ก็ยังให้ไม่ได้ ยังรอโอกาสอยู่ หรือยังเป็นผู้ที่มีจิตใจไม่มั่นคง ยังหวั่นไหว คิดว่าจะให้ แต่ไม่ให้ก็เป็นไปได้ เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นยังไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อโลภะ

    แต่ในขณะที่เป็นทานกุศล ขณะนั้นประกอบด้วยคุณ คือ อโลภะ ไม่ติดข้องในวัตถุทาน คือ ไทยธรรม ปราศจากโทสะ เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นประกอบด้วยคุณธรรม คือ อโทสะในผู้รับ เพราะถ้ามีความขุ่นเคืองไม่พอใจในผู้รับขณะนั้นก็ไม่ให้ อย่างบางท่านเวลาที่เดินไปเห็นคนขอทาน อาจจะมีจิตขุ่นเคืองในคนขอทานก็ไม่ให้ เพราะว่าร่างกายแข็งแรงดีประการหนึ่ง ทำให้รู้สึกไม่พอใจที่มาขอทาน หรืออาจจะเห็นเด็กเล็กๆ ซึ่งพิการ ก็ขุ่นเคืองใจที่เอาเด็กมาทรมานเพื่อขอทาน ก็ไม่ให้อีก แสดงให้เห็นว่า ขณะใดที่ทานกุศลเกิด ขณะนั้นต้องประกอบด้วยคุณ คือ อโลภะในไทยธรรมคือวัตถุทาน อโทสะในปฏิคาหกคือผู้รับ และอโมหะ เมื่อรู้ผลของทานทั้งหลายว่าเป็นสิ่งที่ดี ขณะนั้นเป็นการบริจาค เป็นการสละกิเลสของตนเองด้วย

    ข้อความต่อไป

    ศีลเป็นปฏิปักษ์แก่โลภะเป็นต้น เพราะปราศจากความคดคือโทสะ มีกายทุจริตเป็นต้น

    เนกขัมมะเป็นปฏิปักษ์แก่หมวด ๓ แห่งโทสะ เพราะเว้นจากกามสุข การเข้าไปเบียดเบียนผู้อื่น และการทำตนให้ลำบาก

    เมื่อไม่ติด ไม่ยินดีในกาม โทสะก็ต้องลดน้อยลงเป็นของธรรมดา เพราะถ้าใครติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะมาก โทสะของคนนั้นก็มากด้วย เมื่อไม่ได้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ต้องการ ขณะนั้นก็เกิดความขุ่นเคือง แต่ถ้าสละความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะลงไป ก็ย่อมเกิดโทสะน้อยลงไปด้วย

    ปัญญาเป็นปฏิปักษ์ของโลภะเป็นต้น เพราะทำความมืดมนแก่โลภะเป็นต้น และเพราะทำความไม่มืดมนแก่ญาณ

    นี่คือคำอธิบายความหมายของปัญญาที่เป็นปฏิปักษ์ต่ออกุศล เพราะว่าปัญญา ทำความมืดมนแก่โลภะเป็นต้น และเพราะทำความไม่มืดมนแก่ญาณ

    เวลาที่เห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้วโลภะเกิดทันที ปัญญาเกิดไม่ทัน โลภะไม่ติดขัด ไม่มืดมนเลย เกิดได้คล่องแคล่วดี ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่ขณะใดที่ปัญญาเกิด ปัญญาเท่านั้นเป็นปฏิปักษ์ของโลภะเป็นต้น เพราะขณะนั้นทำความมืดมนแก่โลภะ โลภะไม่สามารถเกิดได้ในขณะนั้น เพราะปัญญาเกิด ด้วยเหตุนี้ปัญญาจึงเป็นปฏิปักษ์ของโลภะ เพราะ ทำความมืดมน แก่โลภะเป็นต้น และเพราะทำความไม่มืดมนแก่ญาณ

    เวลาที่ปัญญาเกิดสามารถรู้และเข้าใจสิ่งที่ปรากฏถูกต้องตามความเป็นจริง กุศลเป็นกุศล อกุศลเป็นอกุศล และเจริญยิ่งขึ้นจนกระทั่งรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ทำความไม่มืดมนแก่ญาณที่สามารถรู้และเข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้

    วิริยะเป็นปฏิปักษ์แก่โลภะเป็นต้น ด้วยไม่ย่อหย่อน ไม่ฟุ้งซ่าน และปรารภเพื่อความรู้

    ขันติเป็นปฏิปักษ์แก่โลภะเป็นต้น เพราะอดทนต่อความสูญของสิ่งที่ น่าปรารถนา และอดทนต่อสิ่งที่ไม่น่าปรารถนา

    บารมีทุกบารมีมีประโยชน์มาก ถ้าเพียงแต่ค่อยๆ ระลึกได้และบำเพ็ญไป ถ้ามีเหตุการณ์ที่จะทำให้เกิดความไม่อดทน และคิดถึงขันติ ความอดทน ในขณะนั้น ก็จะเป็นการสะสมความอดทนต่อสภาพที่ไม่น่าพอใจ หรือต่อความสูญของสิ่งที่ น่าปรารถนา

    สัจจะเป็นปฏิปักษ์แก่โลภะเป็นต้น เพราะเป็นไปตามความเป็นจริง เมื่อผู้อื่นทำอุปการะและทำความเสียหาย

    สามารถรู้ตามความเป็นจริงว่า อะไรถูก อะไรผิด ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ใดๆ ทั้งสิ้น

    อธิษฐานเป็นปฏิปักษ์แก่ความโลภเป็นต้น เพราะครอบงำโลกธรรม แล้ว ไม่หวั่นไหวในการสั่งสมบารมีตามที่สมาทานแล้ว

    แสดงให้เห็นว่า กว่าจิตใจจะมั่นคงหนักแน่นจริงๆ ในการเจริญกุศล ผู้นั้น จะเป็นผู้รู้ตัวดีว่า ขณะนั้นเป็นไปตามอธิษฐาน ความตั้งใจมั่นจริงๆ หรือเปล่า เพราะจิตใจเปลี่ยนง่าย กลับกลอกง่าย ศรัทธาก็หวั่นไหวง่าย เปลี่ยนแปลงง่ายด้วย

    ผู้ฟัง ลักษณะของอธิษฐาน ขณะที่มีสัจจะ รู้สึกว่ามีสัจจะเป็นเหตุใกล้มาก ขณะที่ตรงต่อตัวเองและพิจารณาสิ่งที่ผิด ก็ยอมรับว่าผิด สิ่งที่ถูก ก็ยอมรับว่าถูกแล้ว รู้สึกว่ามีความไม่หวั่นไหวปรากฏขึ้น นี่เป็นเหตุใกล้โดยตรงหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ สัจจะก็ต้องอาศัยอธิษฐานบารมีด้วย ที่จริงแล้วสัจจะต้องอาศัยความมั่นคงในความจริงนั้นด้วย เพราะถ้าไม่มีความมั่นคง สัจจะนั้นก็ชั่วครั้งชั่วคราว เพราะฉะนั้น อธิษฐานบารมีเป็นสิ่งที่เกื้อกูลต่อบารมีอื่นๆ

    เมตตาเป็นปฏิปักษ์แก่ความโลภเป็นต้น เพราะสงบจากนิวรณ์

    นิวรณ์ ๕ ได้แก่ กามฉันทนิวรณ์ พยาปาทนิวรณ์ ถีนมิทธนิวรณ์ อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ วิจิกิจฉานิวรณ์

    ที่กล่าวว่า เมตตาเป็นปฏิปักษ์แก่ความโลภเป็นต้น เพราะสงบจากนิวรณ์ จะเห็นได้ว่า ต้องมีปัญญาที่จะรู้ว่าเป็นนิวรณ์หรือเปล่า มิฉะนั้นอาจจะเข้าใจว่า เป็นเมตตา แต่ความจริงเป็นโลภะ ซึ่งได้แก่กามฉันทะนิวรณ์นั่นเอง เพราะฉะนั้น ต้องเป็นปัญญาที่จะทำให้กุศลทั้งหลายเจริญขึ้นด้วย

    อุเบกขาเป็นปฏิปักษ์แก่ความโลภเป็นต้น เพราะกำจัดความคล้อยตามและความคับแค้นในสิ่งที่น่าปรารถนาและสิ่งที่ไม่น่าปรารถนา และเพราะเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ

    เพราะฉะนั้น จะต้องพิจารณาลักษณะของบารมี ๑๐ และเห็นประโยชน์ว่า บารมีทั้ง ๑๐ นั้น เป็นปฏิปักษ์ต่ออกุศล

    ผู้ฟัง อุเบกขาบารมีไม่คล้อยตามไปในโลภะ หมายถึงไม่คล้อยตามอย่างไร

    ท่านอาจารย์ เป็นผู้ที่สามารถรู้ว่า อกุศลเป็นอกุศล

    ผู้ฟัง ไม่คล้อยตาม จึงชื่อว่าวางเฉยในขณะนั้น

    ท่านอาจารย์ วางเฉย ไม่คล้อยตามไปในเหตุการณ์ที่จะทำให้อกุศลประเภทหนึ่งประเภทใดเกิด เป็นอุเบกขาบารมี

    พระ อาตมาอยู่ต่างจังหวัด อยู่ไกล ที่อำเภอนาดี ปราจีนบุรี ฟังคุณโยมอาจารย์ทางวิทยุอยู่บ่อยๆ ประมาณร่วม ๒๐ ปี ทั้งฟังทั้งอ่าน ก็สงสัยอยู่เรื่อย ฟังไปๆ ไม่เห็นใครถามตรงความเห็นของอาตมา อาตมาสงสัยเรื่องญาณ ๑๖ ไปอ่านหนังสือ ไม่รู้หนังสืออะไร ญาณที่ ๑ ญาณที่ ๒ ท่านว่าเป็นญาณปริยัติ ญาณที่ ๓ เรื่อยไปถึงญาณ ๑๖ เป็นญาณปฏิบัติ อาตมาก็คิดว่า ญาณปริยัติเราศึกษา เราก็ได้แล้ว สำนักปฏิบัติต่างๆ ในปัจจุบันนี้ก็คงทำนองนี้แหละ เคยไปเหมือนกัน ให้ไปดูความเกิดดับ ในครั้งพุทธกาลก็เคยอ่านว่า ให้ดูความเกิดดับของนามรูปซึ่งเป็นญาณที่ ๓ อาจารย์ในปัจจุบันนี้ก็เอานามรูปเกิดดับเป็นญาณที่ ๓ ไปเลย

    สงสัยว่า ญาณที่ ๑ ที่ ๒ เป็นญาณปริยัติอย่างไร และญาณปฏิบัติก็นั่งดูการเกิดดับของนามรูปเลย เหมือนครั้งพุทธกาลที่เคยอ่านหนังสือมา ที่ว่ากำหนดนามรูป เกิดดับๆ ท่านก็สำเร็จไปเลย ใช่ไหม ขอให้คุณโยมอาจารย์อธิบายให้เข้าใจแจ่มแจ้ง

    ท่านอาจารย์ ญาณที่ ๑ และญาณที่ ๒ คือ นามรูปปริจเฉทญาณกับปัจจยปริคคหญาณ ที่ว่าเป็นปริยัติ ไม่ทราบพระคุณเจ้าอ่านจากไหนเจ้าคะ

    พระ ไม่รู้เหมือนกัน อ่านมานานแล้ว ตำรับตำราอ่านมามาก

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ในพระไตรปิฎก ก่อนอื่นต้องทราบว่า วิปัสสนาญาณคืออะไร วิปัสสนาเป็นปัญญาที่เห็นแจ้ง วิปัสสนาญาณไม่ใช่ปัญญาขั้นอ่านหรือขั้นฟัง แต่เป็นขั้นประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งแม้ในขณะนี้ปรากฏแต่อวิชชาไม่เห็น เพราะฉะนั้น ต้องเป็นปัญญาจึงเห็นแจ้งในลักษณะของสภาพธรรมอย่างถูกต้อง นี่คือ วิปัสสนาญาณ แต่กว่าจะถึงวิปัสสนาญาณ จะต้องอาศัยการฟังให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏให้ถูกต้องจริงๆ เสียก่อน พร้อมทั้งต้องรู้ว่า ไม่ใช่เราจะดู การเกิดดับ แต่ปัญญาต้องเริ่มตั้งแต่ความเข้าใจในลักษณะของสภาพที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ถ้าปัญญาขั้นต้นไม่มี วิปัสสนาญาณก็มีไม่ได้ เพราะฉะนั้น นามรูปปริจเฉทญาณจะเป็นเพียงขั้นการฟังเรื่องของสภาพที่กำลังเห็นในขณะนี้และสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาไม่ได้

    ขณะนี้พระคุณเจ้าเข้าใจเรื่องของวิปัสสนาญาณว่า ไม่ใช่เป็นขั้นการฟัง ไม่ใช่ขั้นการศึกษา เพราะในขณะนี้กำลังฟังเรื่องรูปที่กำลังปรากฏทางตาและสภาพเห็น ลักษณะของสภาพเห็นเป็นธาตุรู้ เป็นนามธรรม สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ใช่สภาพที่เห็น เป็นสิ่งที่มีจริง เป็นรูปธรรม ถ้าฟังอย่างนี้ เป็นปริยัติ เป็นความเข้าใจขั้นการศึกษา เป็นวิปัสสนาญาณไม่ได้ แต่ที่วิปัสสนาญาณจะเกิดมีได้ ก็เพราะอาศัยการฟังเรื่องลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้จนเข้าใจ

    ขณะนี้จิตกำลังเกิดดับหรือเปล่าเจ้าคะ

    พระ ตามปริยัติบอกว่า เกิดดับทุกอย่าง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ตามปริยัติ ไม่ใช่วิปัสสนาญาณ นี่ก็เป็นการเตือนให้ระลึกได้ว่า ความรู้ขั้นการฟังไม่ใช่วิปัสสนาญาณ เพราะแม้ในขณะนี้จิตกำลังเกิดดับ ปัญญาก็ไม่ได้ประจักษ์แจ้งสภาพของจิตที่กำลังเกิดดับในขณะนี้ ฟังแล้วรู้ว่าจิตเกิดดับ นี่เป็นขั้นฟัง ไม่ใช่วิปัสสนาญาณ

    พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ให้ผู้ฟังได้เข้าใจทันที เพราะฉะนั้น ในขณะนี้กำลังเห็น วิปัสสนาญาณจะรู้ตามความเป็นจริงได้ว่า ไม่ใช่ตัวตน ต่อเมื่อสติสัมปชัญญะเกิดแล้วระลึก และค่อยๆ เข้าใจขึ้น

    ขณะนี้จะต้องรู้ลักษณะของสติสัมปชัญญะก่อน ถ้าปราศจากสติสัมปชัญญะ วิปัสสนาญาณเกิดไม่ได้ วิปัสสนาญาณไม่ใช่ปัญญาขั้นฟัง ไม่ใช่ปัญญาขั้นอ่านเรื่องของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่วิปัสสนาญาณจะเกิดไม่ได้เลย ถ้าไม่มีความเข้าใจขั้นฟังและขั้นอ่านเรื่องของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะเหตุว่าพระธรรมที่ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเป็นสัจจธรรม เป็นธรรมที่มีจริงทุกกาลสมัย แม้ในขณะนี้เอง ทุกอย่างที่กำลังปรากฏในขณะนี้เป็นธรรมทั้งสิ้นสำหรับสติสัมปชัญญะที่จะสามารถระลึกได้ และรู้ว่าขณะนี้ทางตาที่กำลังเห็นเป็นสภาพธรรม ทางหูที่กำลังได้ยิน เป็นสภาพธรรม ถ้าสติสัมปชัญญะสามารถระลึกและเข้าใจลักษณะของธรรมว่า เป็นธรรมจริงๆ แต่ละอย่าง ก็จะเป็นหนทางที่ทำให้นามรูปปริจเฉทญาณเกิดขึ้น ประจักษ์แจ้งลักษณะที่ขาดตอนของนามธรรมและรูปธรรมแต่ละลักษณะ ไม่ปะปน กันเลยทีละลักษณะทางมโนทวาร ซึ่งจะเห็นได้ว่า ต่างกันมากกับขณะที่กำลังฟังเรื่องสภาพธรรมทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และค่อยๆ เข้าใจขึ้น

    เพราะฉะนั้น กว่าปัญญาแต่ละขั้นจะค่อยๆ เจริญสมบูรณ์ขึ้น ต้องอาศัย ความอดทน และต้องอาศัยการเป็นผู้รู้จักตนเองตามความเป็นจริงเมื่อได้ฟังพระธรรม เพราะว่าการฟังพระธรรมเป็นการตรวจสอบความจริงคือสัจจธรรมในชีวิตประจำวันของแต่ละคน

    แต่ละคนมีทั้งกุศลธรรมและอกุศลธรรม ซึ่งอกุศลธรรมก็วิจิตรต่างๆ กันมาก กุศลธรรมก็โดยนัยเดียวกัน เพราะฉะนั้น เมื่อได้ฟังพระธรรมก็เป็นการตรวจสอบว่า ธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไม่ได้อยู่ที่อื่นเลย แต่คือจิต เจตสิก และรูปของ แต่ละท่านซึ่งกำลังเป็นไปอยู่ในแต่ละขณะนั่นเอง ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมเลย วันหนึ่งๆ สภาพจิตจะเป็นกุศล เป็นอกุศล หรือเป็นวิบากอย่างไร ผู้ปราศจากปัญญาก็ไม่รู้ว่าเพราะเหตุใดสภาพธรรมเหล่านั้นจึงเกิดขึ้นเป็นไปอย่างนั้น

    บางท่านบอกว่า ไม่คิดเลยว่าจะคิดอย่างนี้ จะพูดอย่างนี้ จะทำอย่างนี้ แต่เมื่อถึงเวลามีปัจจัยที่จะคิดอย่างนั้น จะทำอย่างนั้น จะพูดอย่างนั้น สภาพธรรม ก็เป็นไปอย่างนั้น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเป็นอนัตตาที่ไม่มีใครสามารถบังคับบัญชา สภาพธรรมได้ แต่สามารถเข้าใจการสะสมของแต่ละคน ซึ่งทำให้สภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไป เกิดอีกและดับไป เกิดอีกและดับไป สืบต่อ เป็นชีวิตของแต่ละคนที่ต่างกัน ทั้งในเรื่องของกรรม ผลของกรรม และความคิดนึกต่างๆ

    อรรถกถา สังยุตตนิกาย นิทานวรรค ทุกขวรรค อภิสมยสังยุต อรรถกถานิทานสูตร มีข้อความที่อุปมาการแสดงพระธรรมของพระผู้มีพระภาค ที่ได้ทรงแสดงเพื่อประโยชน์แก่สัตว์โลกนั้นว่า

    ดุจว่าวางสิ่งของนับพันอย่างลงทุกประตูเรือน ที่พระธรรมไปถึง

    แล้วแต่ว่าใครจะเปิดประตูรับสมบัติมหาศาลที่กองไว้ให้ที่หน้าประตูเรือน หรือบางคนอาจจะไม่เปิดประตูเลย เพราะไม่เห็นคุณของพระธรรม ทั้งนี้ก็แล้วแต่อวิชชาและปัญญาของแต่ละบุคคล

    การฟังพระธรรมมีประโยชน์ทั้งหมด ทุกกาล บางทีโอกาสนี้อาจจะไม่สามารถประพฤติปฏิบัติตามได้ แต่เมื่อฟังไปๆ ก็ย่อมมีปัจจัยที่จะทำให้กุศลธรรมเจริญขึ้น และอกุศลค่อยๆ ลดลง

    ขอให้เห็นคุณประโยชน์ของผู้ที่แสดงพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดง เพราะเปรียบเสมือน ดุจว่าวางสิ่งของนับพันอย่างลงทุกประตูเรือน ที่พระธรรมไปถึง

    ข้อความอีกตอนหนึ่งมีว่า

    สัตว์ทั้งหลายผู้สับสนยุ่งเหยิงวุ่นวาย ด้วยความไม่รู้ในเหตุและในผลทั้งหลาย ที่เกิดขึ้นเป็นไปแต่ละขณะจิตนั้น เป็นเหมือนเส้นด้ายที่ยุ่งที่เขาเอาน้ำส้มใส่ แล้วเอาเก้าอี้ทับ ย่อมจะเกิดเป็นก้อนติดกันเป็นปม เป็นกลุ่ม ไม่สามารถจะคลี่ออกได้ให้ตรงด้วยตนเอง นอกจากพระโพธิสัตว์ทั้ง ๒ คือ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าและ พระปัจเจกพุทธเจ้าผู้บำเพ็ญบารมีเพื่อรู้แจ้งอริยสัจจธรรมด้วยตนเอง

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่เป็นสาวกยังมีโอกาสได้ฟังพระธรรมโดยถ้วนทั่วที่ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงพระมหากรุณาแสดงไว้ตลอด ๔๕ พรรษา เพื่อให้พิจารณาคลี่ปมของเส้นด้ายที่ยุ่งเหยิงจนไม่สามารถจับได้ว่าตรงไหนเป็นตอนต้น ตรงไหนเป็นตอนปลาย นอกจากอาศัยการฟังพระธรรม และพิจารณาให้ถูกต้อง

    อย่างพระคุณเจ้าที่กล่าวถึงเรื่องของการอบรมเจริญปัญญาเมื่อกี้ จะเห็นได้ว่า ถ้าไม่พิจารณาจริงๆ ฟังแล้วก็ยังคงสับสนวุ่นวายยุ่งเหยิง คือ ไม่รู้ว่าการที่จะอบรมเจริญปัญญาจริงๆ นั้น จะต้องฟังให้เข้าใจเรื่องของสภาพธรรมก่อน และค่อยๆ อบรม เจริญปัญญาไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น การตั้งต้นไม่ถูก จึงยังคงสับสนวุ่นวายและ เข้าใจผิดว่า วิปัสสนาญาณเป็นเพียงขั้นการฟังหรือการอ่านเรื่องของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเท่านั้น

    ธรรมเป็นเรื่องจริง และตรวจสอบปัญญาของตนเองได้ ซึ่งปัญญามีหลายขั้น แม้ขั้นการฟัง ฟังแล้วเข้าใจไหมเรื่องลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ขณะนี้เอง ทางตาที่กำลังเห็น สิ่งที่กำลังปรากฏมีจริง และสภาพที่เห็นก็ไม่ใช่ตัวตนเป็นแต่เพียงสภาพรู้ ซึ่งในขณะที่กำลังเห็นไม่ใช่ได้ยิน ถ้าเป็นขณะที่ได้ยินต้องเป็นอีกเรื่องหนึ่ง คือ เรื่องเสียง และการรู้เสียง เพราะฉะนั้น ต้องพิจารณาเรื่องของนามธรรมและรูปธรรม ที่ได้ฟังจนกระทั่งมีความเข้าใจเพิ่มขึ้น สติปัฏฐานจึงสามารถระลึกศึกษาเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จนกว่าปัญญาจะสมบูรณ์ถึงขั้นประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเป็นนามรูปปริจเฉทญาณ

    เรื่องของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา อาจจะพูดแล้วพูดอีกได้บ่อยๆ เพราะ แม้จะได้ยินได้ฟังแล้วๆ เล่าๆ แต่ถ้าสติปัฏฐานยังไม่เกิด ยังไม่ระลึก ยังไม่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตาตามความเป็นจริง ก็ต้องฟังอีก เพื่อเป็นการเตือนให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตาจริงๆ เพื่อที่สติจะระลึก และเข้าใจได้

    ขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นสีสันวัณณะต่างๆ แต่คิดเรื่อง ยกหยิบเรื่อง มาจากสิ่งที่ปรากฏทางตาและจำเรื่อง โดยละเลยการรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตาว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา ข้อทดสอบ คือ ขณะนี้ มีสีมากมาย ทั้งแดง เขียว ขาว ดำ ส้ม หลายสี รูปร่างสัณฐานต่างๆ คืนนี้หรือกลับไปบ้านแล้ว ขอให้นึกถึงสถานที่นี้อีกครั้งหนึ่ง ทดสอบความจำว่า จำอะไรได้บ้าง ทั้งๆ ที่สิ่งที่ปรากฏทางตา ในขณะนี้มีให้เห็นชัดเจน แต่ความจำ ก็จำเพียงเรื่องบางเรื่องเท่านั้นเอง

    แสดงให้เห็นว่า ไม่มีการพิจารณารู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตาว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นเพียงสภาพธรรมที่มีจริงที่ปรากฏให้นึกถึงเรื่องราวต่างๆ เป็นสัตว์ เป็นบุคคล แม้ฝันก็ฝันเรื่อง แม้จำก็จำเรื่อง เพราะฉะนั้น ต้องรู้ว่า ขณะที่เห็นเป็นขณะหนึ่ง ขณะที่กำลังนึกถึงเรื่องราวต่างๆ เป็นอีกโลกหนึ่ง คือ โลกทางใจ อาศัยเห็นและนึกเป็นเรื่องเป็นราวต่างๆ ตลอดชีวิตในสังสารวัฏฏ์

    เพราะฉะนั้น เรื่องของชาติก่อน ก็อาศัยการเห็นสีสันวัณณะที่กำลังปรากฏ ทางตาอย่างนี้โดยที่ปัญญาไม่รู้ความจริงว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น และเรื่องของชาติก่อนก็จบ

    เรื่องของชาตินี้ ก็อาศัยสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาและคิดนึกเป็นเรื่องราวต่างๆ เมื่อสิ้นชีวิตลง ก็จบเรื่องของสิ่งที่ปรากฏทางตาในชาตินี้ แต่ก็จะมีการเห็นสิ่งที่ปรากฏให้นึกคิดต่างๆ อีก

    นี่คือการที่จะต้องฟัง จนกว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาจะเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาจริงๆ และจะรู้ว่า แต่ละบุคคลอยู่ในโลกของความคิดนึกของตนเอง ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว ก็อยู่คนเดียว และคิดนึกเรื่องต่างๆ จากสิ่งที่ปรากฏชั่วแวบเดียวทางตา หรือเสียงที่ปรากฏชั่วนิดเดียวทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    การอบรมเจริญปัญญาให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม เป็นเรื่องที่ละเอียด เป็นเรื่องที่ต้องสะสมบารมีทุกประการเพื่อที่จะค่อยๆ ละคลายอกุศล เพราะว่าวันหนึ่งๆ อกุศลเกิดมากกว่ากุศล ถ้ามุ่งหน้าอยากเป็นพระโสดาบัน อยากดับกิเลส อยากถึงพระนิพพาน โดยไม่ฟังพระธรรมเพื่อจะได้ตรวจสอบสภาพจิตใจของตนเองใน วันหนึ่งๆ ว่า ใกล้หรือไกลต่อปัญญาที่จะรู้แจ้งสภาพธรรมที่ปรากฏทันทีที่ตื่นขึ้น ทางตา ทางหู ทางจมูก


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 2
    30 ต.ค. 2566

    ซีดีแนะนำ