บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 12


    กองทัพน้อยถอยร่น ลำดับนั้นเขาก็จะกราบทูลให้พระราชาทรงทราบ พระองค์ก็จะพึงส่งคน และพาหนะไปให้ กองทัพของพระองค์ที่มีพลและพาหนะนั้นสนับสนุน พึงยังกองทัพของข้าศึกให้กลับพ่ายแพ้ได้ ฉันใด วิริยะก็ฉันนั้น ย่อมไม่ทำให้สัมปยุตตธรรมทั้งหลายท้อถอย ท้อแท้ ย่อมยกคือประคองสัมปยุตตธรรมเหล่านั้นไว้ เพราะฉะนั้น ท่านกล่าวว่า วิริยะมีการประคองไว้เป็นลักษณะ

    พอที่จะรู้สึกไหมว่า ต้องมีวิริยะในขณะที่กำลังฟังด้วย เพราะเดี๋ยวก็จะเผลอเป็นอกุศล หรืออาจจะคิดเรื่องอื่น แต่วิริยะประคองให้สนใจในสิ่งที่กำลังฟัง ให้พิจารณาเกิดความเข้าใจขึ้น

    อีกตัวอย่างหนึ่งในเรื่องของวิริยะ ซึ่งเป็นบริวารของปัญญา ข้อความใน ขุททกนิกาย มหานิทเทส อรรถกถาอัฏฐกวรรค กามสุตตนิทเทสที่ ๑ มีข้อความว่า

    ท่านพระสารีบุตรแสดงการอบรมเจริญบารมีเพื่อดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ถึงความเป็นพระอรหันต์ว่า เหมือนอย่างว่า มีนคร ๒ นคร คือ โจรนคร ๑ เขมนคร ๑

    ครั้งนั้น นายทหารใหญ่คนหนึ่งเกิดความคิดว่า โจรนครนี้ยังตั้งอยู่ตราบใด เขมนครย่อมไม่พ้นภัยอันตรายนั้น เราจะทำโจรนครให้ไม่เป็นนคร เขาสวมเกราะ ถือดาบเข้าไปยังโจรนคร เอาดาบฟันเสาระเนียดซึ่งเขายกขึ้นไว้ที่ประตูนคร ทำลาย ที่ต่อบานประตูและหน้าต่าง ถอนลิ่มสลัก ทำลายกำแพง ถมคู เอาธงที่ยกขึ้นเพื่อความสง่างามของนครลง เอาไฟเผานคร แล้วเข้าเขมนคร ขึ้นบนปราสาท แวดล้อมไปด้วยหมู่ญาติ บริโภคโภชนาหารที่มีรสอร่อย ฉันใด ข้ออุปไมยก็ฉันนั้น สักกายทิฏฐิดุจโจรนคร นิพพานดุจเขมนคร ผู้อบรมเจริญภาวนาดุจนายทหารใหญ่ ที่คิดว่า เครื่องผูกคือสักกายทิฏฐิยังผูกพันอยู่ตราบใด ก็ยังไม่พ้นภัยตราบนั้น

    เพราะฉะนั้น อกุศลธรรมที่จะต้องดับก่อน คือ สักกายทิฏฐิที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน

    ต้องเป็นปัญญาที่เห็นจริงๆ ว่า โจรนครกับเขมนครต่างกัน เขมนครนั้น สงบ แต่โจรนครนั้น เดือดร้อน วุ่นวาย กระสับกระส่าย เพราะฉะนั้น ถ้ายังมีความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล จะพ้น ความกระสับกระส่าย ความเดือดร้อน ความกังวล ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ นอกจากนั้น ผู้ที่อบรมเจริญปัญญาที่จะบรรลุคุณธรรมเป็นพระโสดาบันรู้แจ้ง อริยสัจจธรรมนั้น อย่างมากอีก ๗ ชาติก็จะบรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์ ซึ่งไม่มี การเกิดอีกเลย ต้องเป็นผู้ที่เห็นว่า กิเลสและความทุกข์ทั้งหลายอยู่ที่อัตภาพ คือ ที่นามธรรมและรูปธรรมนี่เอง เพราะฉะนั้น การที่จะหมดกิเลส หมดทุกข์โดยสิ้นเชิง โดยเด็ดขาดเป็นสมุจเฉท ก็คือไม่มีนามธรรมและรูปธรรมอีกต่อไป ซึ่งจะเป็นไปได้ ด้วยบารมีหนึ่งที่ขาดไม่ได้ คือ วิริยบารมี

    ขุททกนิกาย ชตุกัณณีมาณวกปัญหานิทเทส ข้อ ๓๘๙ มีข้อความว่า

    ท่านชตุกัณณีทูลพระผู้มีพระภาคว่า ท่านได้ฟังมาว่า พระผู้มีพระภาคทรงกล้า เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าวีระ ทรงมีความเพียร เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าวีระ

    ตัว ว กับตัว พ ใช้แทนกันได้ เพราะฉะนั้น วิริยะ พิริยะ วีระ ความเพียร เหล่านี้หมายถึงวิริยเจตสิก

    สำหรับความหมายของคำว่า วีระ ที่เราเข้าใจว่าเป็นผู้กล้า ท่านชตุกัณณี ทูลพระผู้มีพระภาคว่า

    ได้ฟังมาว่า พระผู้มีพระภาคทรงกล้า เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าวีระ ทรงมี ความเพียร เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าวีระ ทรงองอาจ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าวีระ ทรงให้ผู้อื่นมีความเพียร เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าวีระ ทรงเป็นผู้สามารถ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าวีระ ทรงเป็นผู้แกล้วกล้า ผู้ก้าวหน้า ผู้ไม่ขลาด ผู้ไม่หวาดเสียว ผู้ไม่สะดุ้ง ผู้ไม่หนี ละความกลัว ความขลาดแล้ว ปราศจากความเป็นผู้ขนลุกขนพอง เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงทรงเป็นผู้แกล้วกล้า

    พระผู้มีพระภาคทรงเว้นแล้วจากบาปธรรมทั้งปวงในโลกนี้ ล่วงเสียแล้วซึ่งทุกข์ในนรก ทรงอยู่ด้วยความเพียร พระองค์ทรงมีวิริยะ มีปธาน ทรงแกล้วกล้า เป็นผู้คงที่ ท่านกล่าวว่ามีพระหฤทัยเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พระองค์ทรงเป็นผู้แกล้วกล้า

    นี่คือพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าไม่ทรงเป็นผู้แกล้วกล้าจะไม่สามารถ รู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะว่าการเจริญกุศล ทุกประการ แม้แต่การอบรมปัญญาด้วยการไตร่ตรองพิจารณาธรรม ก็ต้องอาศัยวิริยะ ความเพียรจริงๆ ก็จะเห็นได้ว่า แม้พระผู้มีพระภาค ทรงเป็นผู้แกล้วกล้า กว่าจะได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ เพราะฉะนั้น ทุกท่านต้องเป็นผู้แกล้วกล้าในการเพียรที่จะเปลี่ยนจากวิริยะในทางอกุศลให้เป็น วิริยะในทางกุศล มิฉะนั้นกุศลเจริญไม่ได้ และวิริยะจะไม่มีประโยชน์เลย ถ้าทุกชาติๆ วิริยะเป็นไปในอกุศลทั้งนั้น

    แต่ถ้าสามารถเข้าใจลักษณะของวิริยะที่เป็นไปในกุศล และสามารถเพิ่มวิริยะในทางกุศลขึ้น ก็แสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้ก้าวหน้า ไม่ขลาด ไม่หวาดเสียว ไม่สะดุ้ง ไม่หนี

    เรื่องของวิริยะเป็นเรื่องใหญ่ และในชีวิตประจำวันไม่ทราบว่าแต่ละท่านสังเกตวิริยะบ้างหรือเปล่า

    เคยโกรธ ใช่ไหม ทุกคนจะต้องกระทบกับอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจบ้างในวันหนึ่งๆ บางท่านอาจจะเป็นอารมณ์ที่รุนแรง บางท่านอาจจะนิดๆ หน่อยๆ ความขุ่นใจ หรือความไม่พอใจในบุคคลหนึ่งบุคคลใด ถ้าขณะนั้นสติสัมปชัญญะไม่เกิด ไม่มีการรู้สึกตัว ไม่รู้ว่าขณะนั้นเป็นอกุศลธรรม วิริยะก็ไม่มีโอกาสที่จะเปลี่ยนจาก อกุศลธรรมเป็นกุศลธรรม ก็ยังคงมีฉันทะ มีความพอใจ มีความยินดีที่จะให้เป็นอกุศลต่อไป

    แต่ผู้ที่ได้ฟังพระธรรม และเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน อบรมเจริญปัญญา ในขณะที่ขุ่นเคืองใจหรือไม่พอใจ สติสัมปชัญญะสามารถที่จะเกิดและระลึกได้

    เพราะฉะนั้น จะเข้าใจความหมายของสติสัมปชัญญะว่า ไม่ใช่เวลาที่เดินไปตามถนนแล้วไม่หกล้ม หรือข้ามถนนได้ รถไม่ชน ไม่ใช่อย่างนั้น แต่เวลาที่อกุศลธรรมเกิดขึ้นและสติสัมปชัญญะมีการระลึกได้ในขณะนั้น และไม่ใช่เพียงแต่ระลึกได้ แต่ยังระลึกถึงพระธรรมที่จะพิจารณาว่า ขณะนั้นเป็นอกุศลควรหรือที่จะให้เป็นอกุศลต่อไป ซึ่งย่อมขึ้นอยู่กับสติปัญญาของแต่ละท่าน ถ้าขณะนั้นมีปัญญาพอที่จะพิจารณาว่า ไม่ควรเลยที่จะมีความขุ่นเคืองใจ ไม่ว่าโดยประการใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นโกรธคนนั้นที่ทำไม่ดี โกรธคนนี้ที่พูดอย่างนั้น หรือเห็นสิ่งนั้นไม่ถูกต้อง หรืออะไร ก็ตามแต่

    และขณะใดที่อกุศลจิตเกิด เช่น โทสะ สติสัมปชัญญะระลึกได้ จะเห็นความเพียรว่า ในขณะนั้นเพียรที่จะไม่โกรธหรือเปล่า ถ้ายังโกรธต่อไปเรื่อยๆ ก็แปลว่า วิริยะทางฝ่ายอกุศลมีกำลังอยู่มาก แต่ถ้าวิริยะทางฝ่ายกุศลเพิ่มขึ้น การระลึกได้ จะทำให้จิตที่ขุ่นเคืองละคลาย เบาบาง และอาจจะมีเมตตาเกิดขึ้นทันที แปลงสภาพจากความขุ่นเคืองเป็นความผ่องใสทันทีได้

    นั่นคือสภาพของกุศลธรรมซึ่งเป็นสภาพที่ผ่องใส ไม่ใช่เป็นสภาพที่ขุ่นเคือง เศร้าหมอง เพราะฉะนั้น ประโยชน์ของสติสัมปชัญญะ จะเห็นได้ว่า เป็นขั้นๆ เพราะเราไม่สามารถที่จะมีสติปัฏฐานเกิดได้ตลอดเวลา

    เพียงของสติสัมปชัญญะในชีวิตประจำวันที่จะเห็นลักษณะของวิริยเจตสิก ซึ่งเป็นกุศล เพราะเหตุว่าเวลาที่วิริยเจตสิกเป็นไปกับอกุศล ชินจนกระทั่งไม่สามารถรู้ลักษณะของวิริยเจตสิกที่เกิดกับอกุศลได้ เช่น ในขณะที่โกรธก็ต้องมีวิริยเจตสิกเกิดกับอกุศลจิต เกิดกับโทสมูลจิตในขณะนั้น แต่จะมีใครเห็นวิริยเจตสิกที่เกิดกับโทสมูลจิต

    ดูเหมือนกับเป็นธรรมชาติที่เกิดขึ้นมาทันทีทันใด แต่ไม่ทราบเลยว่า ในขณะนั้นมีเจตสิกอะไรเกิดร่วมกับโทสมูลจิตในขณะนั้นบ้าง แต่ต้องมีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย กับโทสมูลจิตในขณะนั้น

    โทสมูลจิต จะสังเกตได้ ขณะใดที่จิตใจไม่สบาย ถ้าใครไม่รู้ว่าโทสมูลจิต คือขณะไหนบ้าง ก็ให้ทราบจากเวทนาความรู้สึกว่า ขณะใดที่ความรู้สึกไม่สบาย ขณะนั้นทั้งหมดเป็นโทสมูลจิต จะเป็นความน้อยใจ จะเป็นความเสียใจ ความกลัว ความตื่นเต้น ความตกใจ อะไรก็ได้ ซึ่งเป็นลักษณะสภาพที่ไม่สบายใจ ขณะนั้น เป็นโทสมูลจิตซึ่งมีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    แม้ว่าลักษณะของวิริยเจตสิกที่เกิดกับโทสมูลจิตจะไม่ปรากฏให้เห็น แต่เวลาที่โทสะเกิด สภาพของความไม่สบายใจมี และถ้าสติสัมปชัญญะเกิดระลึกรู้ในขณะนั้น ก็เป็นขณะที่วิริยะทางฝ่ายกุศลจะเกิดได้ ถ้ามีการฟังพระธรรม และเป็นผู้ที่ไม่เนิ่นช้าพร้อมที่จะละอกุศล

    เพราะฉะนั้น แต่ละคนจะรู้จักสภาพธรรมที่เกิดกับตนเองตามความเป็นจริง วันก่อนๆ เวลาโกรธ สติสัมปชัญญะไม่เกิด ผ่านมาแล้วมาก แต่เมื่อได้ฟังพระธรรมแล้ว โอกาสที่สติสัมปชัญญะจะเกิดย่อมมีเมื่อความไม่สบายใจเกิด ตามการ ฟังพระธรรม เข้าใจพระธรรม และเห็นประโยชน์ของพระธรรม

    ต่อไปนี้ทุกท่านคงจะสังเกตด้วยสติสัมปชัญญะเวลาที่อกุศลประเภทหนึ่งประเภทใดเกิด แม้ว่าจะไม่รู้ลักษณะของวิริยะที่เกิดกับอกุศลในขณะนั้น แต่สามารถเห็นวิริยะทางฝ่ายกุศลซึ่งเพียรที่จะไม่โกรธในขณะนั้น

    คิดดู การเพียรที่จะไม่โกรธ ไม่ใช่ขณะเดียวที่นึกได้แล้วจะไม่โกรธ แต่เมื่อรู้สึกตัว มีสติสัมปชัญญะ มีความเพียรเห็นว่าเป็นอกุศล และรู้ว่าธรรมที่ตรงกันข้ามกับโทสะคือเมตตา เพราะฉะนั้น ขณะนั้นย่อมมีวิริยะที่เพียรที่จะอภัย เพียรที่จะเมตตา เพียรที่จะรู้ว่า ทุกคนต้องทำผิด แม้แต่ท่านเองก็เคยทำผิดอย่างนั้นๆ มาแล้ว เพราะฉะนั้น ไม่ควรที่จะขุ่นเคืองใจในบุคคลอื่น หรือในสภาพธรรมที่เกิดขึ้นและ ดับไปแล้ว แต่เวทนาทำให้เนิ่นช้า และสัญญาก็ทำให้เนิ่นช้า คือ ไม่ละทิ้งเรื่องนั้นๆ และทำให้เกิดอกุศล

    ไม่ทราบท่านผู้ฟังเคยสังเกตลักษณะของวิริยะที่เป็นไปในกุศลบ้างไหม ยากหรือง่าย เป็นไปได้ไหม ช้าหรือเร็ว แต่ความก้าวหน้าในทางธรรมเป็นวิริยะ เป็นวีระ เป็นบุคคลผู้กล้าที่จะละธรรมทางฝ่ายอกุศล

    สำหรับวิริยะที่ต่างกันเป็นอธิบดี เป็นอิทธิบาท เป็นอินทรีย์ หรือที่เป็นพละ ต่างๆ เหล่านี้ ก็เป็นการเจริญขึ้นของวิริยเจตสิกนั่นเอง ซึ่งในขณะที่ยังไม่ถึงระดับ ขั้นนั้น ก็ไม่สามารถรู้ลักษณะของวิริยะที่เกิดร่วมกับสติปัฏฐานและเป็นสภาพที่มีกำลังเพิ่มขึ้น

    สำหรับอินทรีย์ ๕ ได้แก่ ศรัทธา เป็นสัทธินทรีย์ ๑ วิริยะ เป็นวิริยินทรีย์ ๑ สติ เป็นสตินทรีย์ ๑ สมาธิ เป็นสมาธินทรีย์ ๑ และปัญญา เป็นปัญญินทรีย์ ๑ ธรรมหมวดต่างๆ อาจจะเคยได้ยินได้ฟังกันมาแล้วทั้งนั้น เช่น อธิบดี ๔ เคย ได้ฟังแล้ว ได้กล่าวถึงแล้ว อิทธิบาท ๔ เป็นองค์ธรรมชนิดเดียวกันก็ได้กล่าวถึงแล้ว แต่เวลากล่าวถึงวิริยะที่เป็นวิริยินทรีย์ จะเห็นได้ว่า จะเกิดร่วมกับศรัทธา สติ สมาธิ ปัญญา เพราะฉะนั้น ก็ต้องเป็นไปทางฝ่ายกุศล

    ถ้าเป็นอิทธิบาท จะเป็นฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา แต่ถ้าเป็นอินทรีย์จะเป็นสัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์ นี่ต่างกันแล้ว

    ฉันทะเป็นอิทธิบาท แต่ฉันทะไม่ได้เป็นอินทรีย์ เมื่อเป็นอินทรีย์แล้วเปลี่ยนจากฉันทะเป็นศรัทธา และสำหรับอินทรีย์ ๕ ก็เพิ่มสภาพธรรม คือ สติ ซึ่งเมื่อเป็น อิทธิบาท ไม่มีสติเป็นอิทธิบาท

    ก็เป็นเรื่องที่เป็นความละเอียด ซึ่งท่านผู้ฟังคงไม่จำเป็นต้องไปสนใจหรือคิดถึงเรื่องความละเอียดเหล่านี้ แต่ให้ทราบว่า วิริยะจะเจริญขึ้นตามลำดับจากอกุศลสู่ กุศลขั้นต่างๆ

    ขอกล่าวถึงข้อความบางประการในพระไตรปิฎก เพื่อให้เข้าใจเรื่องของอินทรีย์

    สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ทัฏฐัพพสูตร ข้อ ๘๕๒ – ๘๕๗ มีข้อความว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อินทรีย์ ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์

    ล้วนแต่สภาพธรรมที่เป็นใหญ่ทั้งนั้น แต่เมื่อไรจะเกิดขึ้น ก็ขณะที่สติปัฏฐานเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมนั่นเอง

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็จะพึงเห็นสัทธินทรีย์ในธรรมไหนเล่า ในโสตาปัตติยังคะ ๔ พึงเห็นสัทธินทรีย์ในธรรมนี้

    ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นขาดศรัทธาเจตสิกไม่ได้เลย แต่กุศลก็มีหลายระดับขั้น เพราะฉะนั้น ศรัทธาที่จะเป็นอินทรีย์ เป็นใหญ่ในกิจของศรัทธา ที่จะทำให้เห็นสภาพลักษณะของศรัทธาที่เป็นใหญ่จริงๆ จะเห็นได้ในโสตาปัตติยังคะ ๔ คือองค์ของพระโสดาบัน ๔ ได้แก่ เป็นผู้ที่ไม่หวั่นไหวในพระพุทธ ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ด้วยปัญญาที่รู้แจ้งอริยสัจจธรรม

    ท่านผู้ฟังในขณะนี้กำลังฟังพระธรรม และมีศรัทธาในการที่จะฟังพระธรรม แต่ศรัทธานี้จะคลอนแคลน จะหวั่นไหว จะคลาดเคลื่อนไปถ้าไม่มีความเข้าใจ สภาพธรรมอย่างถูกต้อง หรือไม่รู้หนทางข้อปฏิบัติที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ก็อาจจะทำให้ไขว้เขวไปได้ แต่ที่จะเห็นศรัทธาที่ไม่หวั่นไหวแน่นอนมั่นคงจริงๆ ที่ไม่มีทางที่จะไขว้เขวคลาดเคลื่อนไป ต้องเป็นศรัทธาในโสตาปัตติยังคะ คือ ศรัทธาของผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลซึ่งประกอบด้วยความไม่หวั่นไหวในพระพุทธ ในพระธรรม ในพระสงฆ์ และในศีล

    จะพึงเห็นวิริยินทรีย์ในธรรมไหนเล่า

    วิริยะที่จะเป็นอินทรีย์ ที่จะถึงความเป็นใหญ่ แสดงให้เห็นว่า มีความเพียร ที่ค่อยๆ สะสมไปทีละเล็กทีละน้อยจากอกุศลที่เกิดขึ้นจนกระทั่งค่อยๆ เป็นกุศลขึ้น จนกระทั่งเป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่นั้น จะเห็นได้ในธรรมไหน

    ในสัมมัปปธาน ๔ พึงเห็นวิริยินทรีย์ในธรรมนี้

    คือ เพียรที่จะไม่ให้บาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดเกิดขึ้น เพียรเพื่อละอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว เพียรเพื่อให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดเกิดขึ้น เพียรเพื่อความตั้งอยู่ เพื่อความไม่เลือนหาย เพื่อความเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป เพื่อความไพบูลย์ เพื่อความ เจริญบริบูรณ์แห่งกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว

    เพราะฉะนั้น ความเพียรของท่านผู้ฟังจะสังเกตได้ว่า เริ่มเพียรเล็กๆ น้อยๆ หรือว่าเพียรไม่ให้บาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดเกิดขึ้น เพียรเพื่อละอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว เพียรเพื่อให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดเกิดขึ้น กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดหมายความถึง สมถวิปัสสนาและมรรคผลนิพพาน เวลาใช้คำว่า สมถวิปัสสนา หมายความถึง การอบรมเจริญสติปัฏฐาน เพราะว่าสติปัฏฐานนั้นพร้อมทั้งสมถะและวิปัสสนาโดยที่ ไม่ต้องแยกกัน หรือเพียรเพื่อความตั้งอยู่ เพื่อความไม่เลือนหาย เพื่อความเจริญยิ่งขึ้น เพื่อความไพบูลย์ เพื่อความเจริญบริบูรณ์แห่งกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว

    นี่เป็นการเทียบเคียงให้เห็นถึงความเพียรที่นิดๆ หน่อยๆ เล็กๆ น้อยๆ ไม่พอ

    จะพึงเห็นสตินทรีย์ในธรรมไหนเล่า ในสติปัฏฐาน ๔ พึงเห็นสตินทรีย์ในธรรมนี้

    เวลาที่กุศลเกิดจะขาดสติเจตสิกไม่ได้เลย ไม่ว่าในขณะที่ให้ทานหรือในขณะที่วิรัติทุจริต แต่จะเห็นสตินทรีย์ สภาพของสติที่เป็นใหญ่ในธรรมไหน ก็ในสติปัฏฐาน ๔

    จะพึงเห็นสมาธินทรีย์ในธรรมไหนเล่า ในฌาน ๔ พึงเห็นสมาธินทรีย์ในธรรมนี้

    ถ้าเป็นเรื่องของสมาธิจริงๆ ที่จะเป็นใหญ่ ต้องเห็นในฌาน ๔

    พึงเห็นปัญญินทรีย์ในธรรมไหนเล่า ในอริยสัจจ์ ๔ พึงเห็นปัญญินทรีย์ใน ธรรมนี้

    แม้แต่ปัญญาที่รู้แจ้งสภาพธรรมแต่ละขั้นที่เป็นวิปัสสนาญาณ ก็เป็น ปัญญินทรีย์ แต่ยังไม่ถึงขั้นที่สมบูรณ์จริงๆ ถ้าถึงขั้นที่สมบูรณ์จริงๆ ก็ในอริยสัจจ์ ๔

    ข้อความใน อรรถกถา ทัฏฐัพพสูตร มีว่า

    คำว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็จะพึงเห็นสัทธินทรีย์ในธรรมไหนเล่า ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสคำเป็นต้นว่า ในโสตาปัตติยังคะ ๔ ประการ เพื่อทรงชี้ ความที่อินทรีย์เหล่านี้สำคัญที่สุดในวิสัย (อารมณ์) ของตน

    เหมือนอย่างว่า ลูกชายเศรษฐี ๔ คน ในเมื่อกลุ่มเพื่อนซึ่งมีพระราชาธิราช เป็นที่ ๕ หยั่งลงสู่ถนน ด้วยคิดว่า พวกเราจะเล่นงานนักษัตรฤกษ์ เวลาไปบ้าน ลูกชายเศรษฐีคนหนึ่ง อีก ๔ คนก็นั่งนิ่ง เจ้าของเรือนเท่านั้นที่เที่ยวสั่งงานในเรือนว่า จงให้ของเคี้ยวของกินแก่ท่านเหล่านี้ จงให้เครื่องแต่งตัวมีของหอมและพวงมาลัย เป็นต้นแก่ท่านเหล่านี้

    ครั้นเวลาไปถึงเรือนลูกชายเศรษฐีคนที่ ๒ และคนที่ ๓ และคนที่ ๔ คนอื่น ก็นั่งนิ่ง เจ้าของเรือนเท่านั้นที่เที่ยวสั่งงานในเรือนว่า จงให้ของเคี้ยวของกินแก่ ท่านเหล่านี้ จงให้เครื่องแต่งตัวมีของหอมและพวงมาลัยเป็นต้นแก่ท่านเหล่านี้ ฉันใด ก็ฉันนั้นเหมือนกัน แม้เมื่ออินทรีย์ ๕ ไปถึงโสตาปัตติยังคะ สัทธินทรีย์ การน้อมลงเชื่อเป็นลักษณะเท่านั้นย่อมเป็นใหญ่ เป็นหัวหน้า อินทรีย์ที่เหลือต่างก็คล้อยไปตามสัทธินทรีย์นั้น เหมือนในเรือนคนแรก อีก ๔ คนนั่งนิ่ง เจ้าของเรือนเท่านั้นเที่ยวสั่งงาน ฉะนั้น

    นี่คือลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดพร้อมกัน และต่างเป็นอินทรีย์เฉพาะหน้าที่ของตนๆ

    เมื่อมาถึงความเพียรชอบ วิริยินทรีย์ ซึ่งมีการประคับประคองเป็นลักษณะเท่านั้นที่มาเป็นใหญ่ เป็นหัวหน้า อินทรีย์ที่เหลือต่างก็คล้อยไปตามวิริยินทรีย์นั้น เหมือนในเรือนคนที่ ๒ อีก ๔ คนนั่งนิ่ง ปล่อยให้เจ้าของเรือนเท่านั้นเที่ยวสั่งงาน ในเรือนว่า จงให้ของเคี้ยวของกินแก่ท่านเหล่านี้ จงให้เครื่องแต่งตัวมีของหอมและพวงมาลัยเป็นต้นแก่ท่านเหล่านี้

    ครั้นมาถึงสติปัฏฐาน สตินทรีย์ซึ่งมีการเข้าไปปรากฏเป็นลักษณะเท่านั้น ที่เป็นใหญ่ เป็นหัวหน้า อินทรีย์ที่เหลือต่างก็คล้อยไปตามสตินทรีย์นั้น เหมือนในเรือนคนที่ ๓ อีก ๔ คนนั่งนิ่ง

    ครั้นถึงเรื่องฌานและวิโมกข์ สมาธินทรีย์ที่มีลักษณะไม่ซัดส่ายเท่านั้นเป็นใหญ่ เป็นหัวหน้า อินทรีย์ที่เหลือต่างก็คล้อยไปตามสมาธินทรีย์นั้น เหมือนในเรือนคนที่ ๔ อีก ๔ คนก็นั่งนิ่ง

    แต่ท้ายสุดเมื่อถึงอริยสัจจ์ ปัญญินทรีย์ที่มีลักษณะรู้ชัดเท่านั้นย่อมเป็นใหญ่ เป็นหัวหน้า อินทรีย์ที่เหลือต่างก็คล้อยไปตามปัญญินทรีย์นั้น เหมือนเวลาไปถึงพระราชวัง ๔ คนนอกนี้นั่งนิ่ง พระราชาเท่านั้นย่อมทรงเที่ยวสั่งงานในพระตำหนัก ฉะนั้น ด้วยประการฉะนี้.

    นี่เป็นการแสดงอุปมาเพื่อให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดร่วมกัน เท่านั้นเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่เมื่อสภาพธรรมค่อยๆ เจริญขึ้น จะค่อยๆ รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นอินทรีย์ได้ตามขั้นของธรรมนั้นๆ

    แต่เมื่อยังไม่ถึง ก็ขอกลับมากล่าวถึงวิริยะในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์มากที่จะได้รู้ความจริงว่า วิริยะในวันหนึ่งๆ เป็นกุศลในขณะใด เป็นอกุศลในขณะใด

    สำหรับผู้ที่อบรมเจริญปัญญาที่จะมีวิริยะเป็นบารมี มีความเพียรที่จะ ขัดเกลาละคลายอกุศลและเจริญกุศลขึ้น ถ้าไม่พิจารณาธรรมที่เกิดกับตน ย่อม ไม่สามารถรู้ลักษณะของวิริยเจตสิกที่เป็นกุศลและอกุศลได้

    ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ในครั้งอดีต มีผู้ที่ฟังพระธรรม อบรมเจริญปัญญาด้วยความพากเพียรและรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นจำนวนมากมายนับไม่ถ้วน ซึ่งท่านเหล่านั้น ท่านเป็นบัณฑิต และท่านมีหนทางที่จะเตือนตัวของท่านเอง เพราะฉะนั้น ก็เปรียบเทียบกับบุคคลในสมัยนี้ว่า มีความคิดที่จะพิจารณาตนเหมือนบัณฑิตทั้งหลายในครั้งอดีตหรือไม่

    ตอนท้ายของ อรรถกถา อนุมานสูตร มีข้อความว่า

    โบราณาจารย์ (อาจารย์ในอดีต) ทั้งหลายกล่าวว่า ภิกษุพึงพิจารณาตนเอง วันละ ๓ ครั้ง คือ ตอนเช้า ควรพิจารณาว่า กิเลสมีประมาณเท่านี้ของเรามีอยู่หรือไม่ ถ้าเห็นว่า มี พึงพยายามเพื่อละกิเลสเหล่านั้น ถ้าเห็นว่า ไม่มี พึงเป็นผู้มีใจเป็นของตนว่า เราบวชดีแล้ว

    ตอนกลางวันก็พิจารณาอีก ตอนเย็นก็พิจารณาอีก

    เมื่อไม่อาจพิจารณาถึงวันละ ๓ ครั้ง ก็พึงพิจารณาเพียง ๒ ครั้ง แต่เมื่อ ไม่อาจถึง ๒ ครั้ง ก็พึงพิจารณาเพียง ๑ ครั้ง แต่การไม่พิจารณาเลย ไม่สมควร

    เพราะฉะนั้น ทุกท่านก็จะได้ทราบว่า ท่านได้ทำสิ่งที่สมควรหรือไม่สมควร ในวันหนึ่งๆ ซึ่งจะเห็นได้ว่า แม้แต่การพิจารณาอกุศลและกุศลของตนเอง ก็ต้องอาศัยวิริยะ ตอนเช้า ๑ ครั้ง ตอนกลางวันอีก ๑ ครั้ง ตอนเย็นอีก ๑ ครั้ง ถ้า ๓ ครั้งไม่ได้ ก็ ๒ ครั้ง ถ้า ๒ ครั้งไม่ได้ เพียงครั้งหนึ่งก็ยังดี ซึ่งท่านผู้ฟังจะได้ทราบต่อไปว่า มีกิเลสอะไรที่ท่านโบราณาจารย์ในครั้งนั้นได้เตือนให้พิจารณา

    มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ อนุมานสูตร ข้อ ๒๒๕ มีข้อความว่า

    ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้แสดงธรรมที่เป็นคนว่าง่ายกับภิกษุทั้งหลาย และได้กล่าวให้ภิกษุทั้งหลายพิจารณาตน ท่านกล่าวว่า

    ภิกษุพึงพิจารณาตนด้วยตนเองอย่างนี้ว่า เราเป็นคนมีความปรารถนาลามก ลุอำนาจแห่งความปรารถนาลามกหรือไม่ หากพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า เราเป็นคน มีความปรารถนาลามก ลุอำนาจแห่งความปรารถนาลามกจริง ก็ควรพยายามเพื่อที่จะละอกุศลอันชั่วช้านั้นเสีย หากพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า เราไม่ใช่คนมีความปรารถนาลามก ไม่ลุอำนาจแห่งความปรารถนาลามก ภิกษุนั้นพึงอยู่ด้วยปีติ และปราโมทย์นั้นทีเดียว หมั่นศึกษาทั้งกลางวันกลางคืนในกุศลธรรมทั้งหลาย

    ข้อความตอนต้นที่ว่า ภิกษุพึงพิจารณาตนด้วยตนเอง จะเห็นได้ว่า ถ้าจะให้คนอื่นมาพิจารณาให้ ถามเขาว่าเราเป็นอย่างไร คนนั้นย่อมไม่สามารถพิจารณา ได้ละเอียดเท่าตัวของเราเองเป็นผู้พิจารณาอกุศลของเราเอง เพราะคนอื่นไม่มีทางที่จะรู้ดีกว่า เพราะฉะนั้น วันนี้พิจารณาว่า


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 2
    26 ต.ค. 2566

    ซีดีแนะนำ