แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 260


    ครั้งที่ ๒๖๐


    . คำว่าภูมิ ที่แบ่งออกไปหลายๆ ภูมิ เช่น อบายภูมิ มนุษย์ภูมิ เทวภูมิ และภูมิอื่นๆ ภูมินี้หมายความถึงอะไร จะเป็นพื้นเพของจิต หรือเป็นสถานที่ เช่น ในบ้านผมมีสารพัดสัตว์ ซึ่งสารพัดสัตว์เหล่านั้น ที่ฟังมากล่าวว่าเป็นอบายภูมิ ผมก็อยู่ในนั้น ถือว่าบ้านของผมเป็นอบายภูมิ หรือมนุษย์ภูมิกันแน่

    สุ. คำว่า ภูมิ หมายความถึงภูมิของสัตว์ ความหมายหนึ่ง และหมายความถึงภูมิของจิต อีกความหมายหนึ่ง

    ภูมิของสัตว์โลก ก็แล้วแต่ว่าสัตว์โลกนั้นถือกำเนิดในภูมิใด ถ้ากำเนิดเป็นดิรัจฉาน ก็เป็นภูมิดิรัจฉาน ถ้ากำเนิดเป็นเทพ ก็เป็นภูมิเทวดา ไม่ใช่ภูมิมนุษย์ และถ้าเกิดเป็นมนุษย์อยู่ในที่ๆ สัตว์ดิรัจฉานอยู่ โดยกำเนิดเป็นภูมิมนุษย์ ไม่ใช่ดิรัจฉาน

    เพราะฉะนั้น คำว่าภูมิ มี ๒ ความหมาย คือ ภูมิของสัตว์ กับภูมิของจิต

    เกิดเป็นมนุษย์แล้ว จิตที่เป็นอกุศล เป็นกามาวจรภูมิ จิตที่เป็นกุศลที่เป็นไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นกามาวจรภูมิ แต่ถ้าขณะใดที่เห็นโทษภัยของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เจริญสมาธิ ความสงบ จนกระทั่งถึงอัปปนาสมาธิเป็นรูปาวจรฌานจิต แม้ว่าเป็นมนุษย์ แต่จิตในขณะนั้นเป็นรูปาวจรภูมิ

    . ..............

    สุ. มีความหมาย ๒ อย่าง แต่นั่นเป็นโอกาสโลก เป็นที่อยู่ของสัตว์ที่ภูมิ นั้นๆ จะอยู่ได้ อย่างในโอกาสโลกที่เป็นโลกมนุษย์ในขณะนี้ เป็นที่อยู่ของสัตว์ที่เป็นภูมิมนุษย์ ภูมิดิรัจฉาน ภูมิปิตติวิสัย คือ เปรต และเทพก็ได้

    คำว่า ภูมิ มีความหมาย ๒ นัยเท่านั้น คือ ภูมิของสัตว์ ๑ ภูมิของจิต ๑

    ส่วนภูมิของสถานที่ ถ้าใช้ในความหมายนั้น ต้องหมายถึงโอกาสโลก อย่างมนุษย์โลกเป็นโอกาสโลก เป็นที่อยู่ของสัตว์ที่เป็นภูมิมนุษย์ก็มี สัตว์ที่เป็นภูมิดิรัจฉานก็มี สัตว์ที่เป็นเปรต ปิตติวิสัยก็มี สัตว์ที่เป็นเทพก็มี

    . ................

    สุ. ภูมิของสัตว์ ๑ และภูมิของจิต ๑ เกิดเป็นมนุษย์เป็นภูมิหนึ่ง แต่ว่าจิตที่เป็นรูปฌานกุศล เป็นรูปาวรภูมิ ถ้าผู้นั้นเจริญสติปัฏฐานรู้แจ้งอริยสัจธรรม จิตขณะนั้นเป็นโลกุตตรภูมิ แต่ว่าโดยความหมายที่เป็นภูมิของสัตว์ ผู้นั้นเป็นมนุษย์ที่จิตเป็นโลกุตตรภูมิ ในขณะที่โลกุตตรจิตเกิดขึ้น

    แต่โอกาสโลก ไม่มีความหมายอะไรเลย ไม่ใช่สภาพรู้ ไม่ใช่นามธรรม เจริญกุศลอะไรก็ไม่ได้ทั้งนั้น ก้อนโลก ก้อนดิน พวกนี้เป็นแต่เพียงโอกาสโลกเท่านั้น

    . พูดกันถึงเรื่องภูมิ ศัพท์บาลีว่า ภู - มิ แปลว่า ที่เกิด ที่เป็น เป็นศัพท์กลางๆ ถ้าเป็นดิรัจฉาน ก็เป็นดิรัจฉานภูมิ เป็นมนุษย์ ก็เป็นมนุษย์ภูมิ เพราะฉะนั้น ภูมิ คิดว่าไม่ใช่ที่เราเรียกว่าโลก ภูมิ แปลว่า เป็น หรือว่าเกิด

    หรืออีกนัยหนึ่ง ภูมินี้ เฉพาะตัวแปลว่า ปัญญาก็ได้ บางทีก็แปลว่า ทำไม่ดี อย่าง ภูตวาที แปลว่าพูดโกหก เพราะฉะนั้น ภู ตัวเดียว แปลว่าปัญญาก็ได้ แปลว่าเกิดก็ได้ แต่ว่าโดยมากในที่นี้จะแปลว่าที่เกิด ที่เป็น

    สุ. ขอขอบพระคุณ และขออนุโมทนาท่านผู้ฟังที่กรุณาให้ความรู้ทางพยัญชนะ ซึ่งจะเห็นได้ว่า โดยนัยที่ท่านกล่าว ตรงกับเรื่องภูมิของจิตด้วย เช่น โลกุตตรภูมิ ไม่ใช่โอกาสโลก ไม่ใช่โลก ไม่ใช่ดวงดาวต่างๆ แต่ว่าเป็นสภาพของจิตเป็นภูมิของจิต ซึ่งภูมิของจิตมีถึง ๔ ภูมิ คือ จิตที่เป็นกามาวจรจิต ก็เป็นกามาวรภูมิ จิตที่เป็นรูปาวจรจิต ก็เป็นรูปาวรภูมิ จิตที่เป็นอรูปาวจรจิต ก็เป็นอรูปาวจรภูมิ ส่วนจิตที่เป็นโลกุตตระ ก็เป็นโลกุตตรภูมิ

    . ในอริยสัจ ๔ นี้ ทุกขอริยสัจ ท่านจำแนกเป็นโลกียจิต ๘๑ ประเภท เจตสิก ๕๑ ประเภท เป็นรูปทั้งหมด ๒๘ และท่านกล่าวว่าทุกขสัจนี้ควรกำหนดรู้ แต่การเจริญสติปัฏฐาน เว้นรูป ๑๐ รูป ไม่ครบ ๒๘ รูป เจริญสติปัฏฐานได้เพียง ๑๘ รูปเท่านั้น อย่างนี้จะไม่ค้านกันหรือ

    สุ. รูปทั้งหมดมี ๒๘ รูป เป็นสมสนรูป ๑๘ คือ รูปที่ควรแก่การพิจารณาส่วนอีก ๑๐ รูปนั้น ไม่ใช่รูปที่ควรแก่การพิจารณา แต่เป็นรูปที่รู้ได้

    รูปที่ควรแก่การพิจารณาทางตา คือ สีสันวัณณะที่กำลังปรากฏ เสียงปรากฏทางหู กลิ่นปรากฏทางจมูก รสปรากฏทางลิ้น โผฏฐัพพะ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหวปรากฏที่กาย เป็นรูปที่มีลักษณะปรากฏอยู่ตลอดเวลา จึงควรแก่การพิจารณา เพราะว่าสภาพของรูปนั้นเป็นอนัตตา ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว ที่จะไม่ให้ปรากฏนั้นไม่ได้ ที่จะไม่ให้เกิดขึ้นปรากฏไม่ได้ ทั้งสี ทั้งเสียง ทั้งกลิ่น ทั้งรส ทั้งโผฏฐัพพะ ลืมตาขึ้นมา ใครจะบังคับไม่ให้สีปรากฏไม่ได้ แสดงความเป็นอนัตตาของรูปธรรม เสียงปรากฏแล้ว ใครจะยับยั้งไม่ให้เสียงปรากฏก็ไม่ได้ ลักษณะของเสียงเป็นอนัตตา

    เพราะฉะนั้น จึงควรพิจารณารูปที่มีปรากฏโดยความเป็นอนัตตา โดยไม่ต้องไปเจาะจง ไปแสวงหาอื่น โดยที่ไม่ระลึกรู้ลักษณะของรูปธรรมที่ปรากฏ ซึ่งก็แล้วแต่ว่าในขณะที่ปัญญารู้ชัดในสภาพธรรม คือ รูปธรรมที่ปรากฏ จะเป็นรูปสี รูปเสียง รูปกลิ่น รูปรส รูปโผฏฐัพพะ หรือสมสนรูปอื่นอีก ทั้งหมดรวม ๑๘ รูป และยังจะรู้ถึงลักษณะของรูปที่ไม่ใช่รูปที่ควรแก่การพิจารณาด้วย เช่น ลักษณะที่เกิดขึ้นและดับไปของรูป แต่ถ้าไม่พิจารณาสีที่กำลังปรากฏ ไม่พิจารณาระลึกรู้เสียงที่กำลังปรากฏ แล้วจะไปรู้การเฉพาะเกิดขึ้นแล้วดับไปของอะไร

    ลักษณะการเกิดดับ คือ อุปจย การเกิดขึ้น สันตติ การที่รูปเจริญขึ้น ชรตาการเสื่อม อนิจจตา ลักษณะที่ดับของรูปธรรมที่เป็นสมสนรูป

    ต้องรู้สมสนรูป ต้องพิจารณาสมสนรูป และจะรู้ถึงรูปอื่นด้วย คือ การเกิดขึ้น ลักษณะที่เกิดขึ้น ลักษณะที่ดับไปของรูปนั้น แต่ไม่ใช่ว่า ไม่รู้ลักษณะของรูปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย จะไปหาลักษณะเกิดดับของรูปอะไร ก็ไม่ได้

    เมื่อรูปปรากฏ เช่น โผฏฐัพพารมณ์ที่กำลังปรากฏทางกาย ถ้าปัญญารู้ชัด ประจักษ์ในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน รู้ลักษณะของรูปที่เป็นสมสนรูป และการที่พิจารณาสมสนรูปนั่นเอง เวลาที่แทงตลอดในสภาพธรรมนั้น ก็ทำให้รู้รูปปรมัตถ์อื่นที่เป็น อสมสนรูปด้วย แต่ไม่ใช่ไปพิจารณาอสมสนรูปให้เกิดความรู้ขึ้น

    ถ้าจะพิจารณาโผฏฐัพพารมณ์ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว ธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลมที่ปรากฏ บางส่วนลักษณะของธาตุดินเป็นแต่เพียงลักษณะที่กระด้าง แต่ถ้าปัญญาสามารถที่จะรู้ชัด เป็นผู้ที่อบรมอินทรีย์ที่จะรู้สภาพธรรมที่ละเอียด ลักษณะของธาตุดินที่ต่างกัน ระหว่างธาตุดินที่มีลักษณะหยาบกระด้าง กับธาตุดินที่อ่อนที่ควรแก่การงานที่กำลังปรากฏในขณะนั้น ก็รู้ถึงลักษณะที่ต่างกันด้วย แต่การรู้ลักษณะที่อ่อนที่ควรแก่การงานของธาตุดินนั้น ต้องรู้ทางมโนทวารไม่ใช่รู้ทางกายทวาร

    สำหรับทางกายทวาร ปรากฏลักษณะของธาตุดินที่เป็นลักษณะที่อ่อนหรือแข็งแต่ว่าในขณะที่ลักษณะนั้นปรากฏ ความรู้ชัดถึงความพิเศษของความวิการของธาตุดินในขณะนั้น รู้ถึงสภาพที่เบา ที่อ่อน ที่ควรแก่การงานทางมโนทวาร ในเมื่อทาง ปัญจทวารกำลังรู้ลักษณะของธาตุดินนั้น ทางมโนทวารก็รู้ชัดในสภาพลักษณะที่เบา ที่อ่อน ที่ควรแก่การงานของธาตุดินที่ปรากฏทางกายทวารนั้นด้วย

    . ............. (ไม่ได้ยินชัด)

    สุ. ความละเอียด ความเป็นสุขุมรูป แต่ไม่ใช่หมายความว่าไม่ใช่รูปปรมัตถ์ เป็นรูปปรมัตถ์ แต่จะรู้ได้เพราะรู้สมสนรูปก่อน และรู้ตรงตามความเป็นจริงถ้ารู้ในลักษณะที่เป็นธาตุดินทางกาย ทางใจที่จะรู้ในความวิการ ความเบา ความอ่อน ความควรของธาตุดิน จะรู้ชัดในลักษณะของธาตุดินที่กำลังปรากฏ แต่ไม่ใช่เป็นท่าทาง

    การรู้ชัดต้องรู้ทีละลักษณะ เพราะมโนทวารวิถีเกิดคั่น ซึ่งสามารถที่จะรับรู้ประจักษ์แจ้งในลักษณะของรูปธรรม และนามธรรมทั้งปวงทางมโนทวารได้

    . ในเรื่องของสติปัฏฐาน การเจริญสติปัฏฐานนี้ รู้แจ้ง เห็นชัดในนามและรูป รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเราก็รู้ รู้ชัดว่าไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่ใช่บุคคล รู้ชัดไปอีกว่าเป็น อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา รู้ชัดอยู่เสมอ พิจารณาตามอยู่เสมอ และอะไรที่ควรจะรู้ยิ่งไปกว่านี้ ให้เป็นอริยมรรค อริยผล

    สุ. อารมณ์ที่ปรากฏไม่ผิดปกติเลย การที่จะละการยึดถือนามธรรมและรูปธรรมให้เกิดความรู้จริงว่า นามธรรม และรูปธรรมทั้งหมดนั้นไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ก็เพราะสติระลึกรู้ในลักษณะของแต่ละนาม แต่ละรูป ที่ปรากฏแต่ละทางชัดเจน ความรู้ที่ชัดเจนนี้จะทำให้ละคลายการที่เคยไม่รู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม เมื่อละคลายการที่เคยยึดถือ การที่เคยไม่รู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมแล้ว ลักษณะความเกิดขึ้นและดับไปจริงๆ ของแต่ละนามแต่ละรูปที่ปรากฏแต่ละทวารย่อมปรากฏแก่ปัญญา

    เวลานี้นามธรรมและรูปธรรมทั้งหมด ก็เกิดขึ้นและดับไปอย่างรวดเร็ว แต่ถ้าไม่รู้ในสภาพที่เกิดขึ้นและดับไปก็ไม่ใช่ปัญญาที่รู้แจ้ง ไม่ใช่ปัญญาที่แทงตลอดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมนั้นๆ

    ซึ่งการรู้ ก็ไม่ใช่การรู้อื่น การละความเห็นผิด ก็ไม่ใช่ละความเห็นผิดอื่น นอกจากการเห็นผิดที่ยึดถือนามธรรมและรูปธรรมในขณะนี้นั่นเอง

    . เราพิจารณารู้อยู่เสมอว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา รู้อยู่เสมอว่า เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป รู้อยู่เสมอ พิจารณาอยู่เสมอ แต่เราอยากจะรู้อีกต่อหนึ่งว่า ยิ่งกว่านั้น เมื่อเรารู้อย่างนี้แล้ว อะไรจะทำให้เรารู้ไปถึงอริยมรรค อริยผล อะไรที่จะทำให้อริยมรรค อริยผลปรากฏให้เห็นชัดต่อไป

    สุ. รู้นามธรรมอะไร รูปธรรมอะไร ที่เกิดขึ้นและดับไป

    ถ. รู้ว่าเกิดขึ้นเป็นเสียง รู้อย่างนี้แล้วว่าตั้งอยู่ แล้วเสียงนั้นก็หายไป เรียก ว่าดับไป เป็นอนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา แล้วอะไรจะทำให้รู้ไปถึง อริยมรรค

    สุ. รู้นามธรรมที่รู้เสียงไหม

    ถ. รู้ว่านามเป็นนาม เสียงเป็นเสียง

    สุ. นามธรรมที่รู้เสียง รู้ไหม

    ถ. นามธรรมเป็นสภาพที่รู้ รู้ว่าเป็นเสียง

    สุ. ไม่เหมือนกับนามธรรมอื่น

    ถ. อยากจะทราบว่า อะไรให้เห็นอริยมรรค อริยผลเท่านั้น

    สุ. ไม่มีอะไร นอกจากนามธรรมที่เกิดดับตามปกติ ตรวจดูได้ใน พระไตรปิฏก ไม่มีนามอื่น รูปอื่นเลย นอกจากปัญญาเพิ่มขึ้น

    ถ. พิจารณาอยู่อย่างนี้เสมอ มรรคญาณ ผลญาณที่จะเกิดนั้น จะมาเกิดกับเราดุจพระอาทิตย์ส่องแสงโลกอย่างนั้นหรือ อย่างท่านพระอานนท์ท่านบำเพ็ญอยู่ตั้งแต่พระพุทธเจ้าของเรานิพพานไปได้หลายราตรี พระอานนท์พิจารณาอยู่เสมอๆ ท่านก็มาบรรลุตอนที่ท่านจะเอนนอน อะไรที่ทำให้แจ้ง เป็นอริยมรรค

    สุ. การเจริญปัญญาไม่ใช่เรื่องความสงสัย การเจริญปัญญาเป็นเรื่องของการรู้ขึ้นในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทีละเล็กทีละน้อย ชัดเจนยิ่งขึ้น ละเอียดขึ้น ไม่ว่ากำลังโกรธ กำลังดีใจ กำลังเป็นสุข กำลังเป็นทุกข์ กำลังคิดนึกอย่างไรก็ตาม เป็นการรู้ชัดในสภาพธรรมนั้นๆ ยิ่งขึ้น และละการที่เคยยึดถือว่าเป็นเราที่เห็น เป็นเราที่สุข เป็นเราที่คิดนึกต่างๆ เป็นเราที่กำลังโกรธ ไม่ใช่ทำอย่างอื่นเลย เป็นการรู้แล้วละ แต่ไม่ใช่เป็นการสงสัยว่าอย่างไร รู้อย่างไร ถ้าเป็นความรู้จริงๆ แล้วไม่สงสัยว่ารู้อย่างไร แต่เพราะยังไม่รู้จึงสงสัยว่าจะรู้อย่างไร

    เพราะฉะนั้น หนทางที่ถูก คือ ควรเจริญอย่างไรจึงจะเกิดความรู้จริงๆ ได้ ไม่ใช่เพียงแต่ว่า ทุกอย่างไม่เที่ยง หมดแล้วเวลานี้ อย่างนี้ไม่ได้ อย่างนี้ยังไม่ชื่อว่า รู้ชัดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่เป็นความสมบรูณ์ที่เป็นวิปัสสนาญาณแต่ละขั้น จะรู้รวมไปทีเดียวว่ารู้แล้วหมดไม่ได้ จะต้องมาจากเหตุด้วย คือ การเจริญอย่างไร การรู้รู้ชัดแต่ละทาง ทางไหน อย่างไร และขณะที่รู้ เป็นความรู้ลักษณะของนามอะไร ของรูปอะไรที่เป็นความสมบูรณ์ของวิปัสสนาญาณ แต่จะรวมไปว่าทั้งหมดไม่เที่ยง ทั้งหมดเป็นทุกข์ ทั้งหมดเป็นอนัตตา ทุกสิ่งทุกอย่างพิจารณาแล้วไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา รู้แล้วหมด และก็มีความสงสัย นั่นไม่ใช่ลักษณะของปัญญา

    มีใครบ้างที่ไม่รู้อย่างนี้ ก็รู้กันหมดแล้วทั้งนั้นว่าไม่เที่ยง เสียงเมื่อสักครู่นี้ก็ไม่เที่ยง คิดนึกเมื่อสักครู่ก็ ไม่เที่ยง อย่างนี้หรือชื่อว่ารู้แล้วในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

    การศึกษาปริยัติ ทุกท่านก็กล่าวตรงตามที่ได้ทรงแสดงไว้ถึงความไม่เที่ยงของนามธรรมและรูปธรรม ที่เกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็วทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่ทำไมไม่เจริญสติที่จะให้รู้ชัดตามความเป็นจริงตามปกติ ของนามธรรมและรูปธรรมซึ่งเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็วเป็นปกติในขณะนี้ ต้องตรงกันด้วย แต่ถ้าข้อปฏิบัตินั้นยังไม่ใช่การเจริญสติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมตามปกติ ตามความเป็นจริง ให้เกิดความรู้แจ้งจริงๆ นั่นก็ไม่ใช่การปฏิบัติธรรม เป็นแต่เพียงความรู้ขั้นการศึกษา รู้ขั้นการพิจารณาว่า นามรูปทั้งหมดไม่เที่ยงเท่านั้นเอง ซึ่งการเจริญปัญญาจะทำให้หมดความสงสัย ไม่ใช่ทำให้สงสัย ถ้าเป็นปัญญา แต่ถ้าปัญญายังไม่ประจักษ์ ยังไม่เกิดขึ้น ยังไม่รู้ ก็เป็นความสงสัย

    . ถ้าเราปฏิบัติตามอาจารย์ทุกอย่าง ถูกต้องตามปริยัติแล้วทุกอย่าง และปฏิบัติจริงๆ ด้วย อะไรที่ให้เราเห็นแจ้งเป็นมรรคญาณ และผลญาณ

    สุ. ปฏิบัติเสียก่อน ไม่ใช่ถ้า ถ้าก็ยังคงสงสัยอยู่ ไม่มีวันจบสิ้น แต่ถ้าปฏิบัติจริงๆ ปัญญาจะเกิดขึ้น เพิ่มขึ้นเป็นลำดับขั้นจริงๆ ตามการสะสม

    . ที่อาจารย์บรรยายว่า นามรูปเกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็ว ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็พอจะเห็นว่า เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แต่ว่าทางตา เช่น เสาในศาลานี้ มองไปทีไรก็ตั้งอยู่อย่างนั้น ไม่เห็นดับไปสักที การเกิดดับในที่นี้หมายความว่าอย่างไร

    สุ. สัญญาความจำ ยังคงมีลักษณะของรูปที่ปรากฏทางตาว่า ยังอยู่ในสภาพเดิม แต่ความจริงแล้ว เมื่อมหาภูตรูปซึ่งเป็นธาตุที่เป็นใหญ่ เป็นประธานเกิดขึ้นแล้วดับไป สีสันวัณณะที่ปรากฏ ที่อาศัยเกิดกับมหาภูตรูปจะเที่ยงอยู่ได้อย่างไร

    เวลานี้ท่านที่ยังไม่รู้ชัด ยังไม่เกิดอนิจจสัญญาด้วยวิปัสสนาญาณ ก็ยังคงเต็มไปด้วยนิจจสัญญา ทางตาก็เป็นนิจจสัญญา คือ เห็นว่าไม่เปลี่ยนแปลง เห็นว่าเที่ยง ไม่เห็นว่าดับไป สัญญาความจำเกิดสืบต่ออย่างรวดเร็วที่สุดทุกขณะจิต ยังไม่ประจักษ์ด้วยวิปัสสนาญาณถึงความเป็นอนิจจังของสภาพธรรมที่เป็นความสมบูรณ์ของวิปัสสนาญาณ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๒๖ ตอนที่ ๒๕๑ – ๒๖๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 37
    28 ธ.ค. 2564