แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 277


    ครั้งที่ ๒๗๗


    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร พราหมณ์ อนึ่งบุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ฆ่าสัตว์ และอกุศลกรรมอื่น ตลอดไปจนถึง มีความเห็นผิด บุคคลนั้นย่อมให้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน มาลา ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก และเครื่องประทีปแก่สมณพราหมณ์ ผู้นั้นเมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของม้า ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของโค ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของสุนัข เขาย่อมได้ข้าว น้ำ มาลา และเครื่องอลังการต่างๆ ในกำเนิด ต่างๆ จนถึง ในกำเนิดสุนัขนั้น

    ดูกร พราหมณ์ ข้อที่บุคคลเป็นผู้ฆ่าสัตว์ และอกุศลกรรมอื่นตลอดไปจนถึง มีความเห็นผิด บุคคลนั้นเมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของสุนัขด้วยกรรมนั้น และข้อที่ผู้นั้นเป็นผู้ที่ให้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน มาลา ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก และเครื่องประทีปแก่สมณพราหมณ์ ผู้นั้นย่อมได้ข้าว น้ำ มาลา และเครื่องอลังการต่างๆ ในกำเนิดสุนัขนั้น ด้วยกรรมนั้น

    มีสุนัขที่น่าสงสารมากมาย ไม่ได้ข้าว ไม่ได้น้ำ ไม่ได้อะไรต่างๆ แต่ถ้าสุนัข หรือโค หรือช้าง หรือม้าตัวใดได้รับสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ก็ต้องมีเหตุปัจจัย คือ ต้องเป็นบุคคลที่ได้กระทำการให้ทานแก่สมณพราหมณ์ด้วยสิ่งต่างๆ เหล่านั้น ซึ่งแม้ว่าจะได้ทำอกุศลกรรม และเกิดในกำเนิดของสัตว์ดิรัจฉาน แต่ก็ยังมีการสะสมของกุศลกรรมที่ ติดตามมาให้ผล

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร พราหมณ์ บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ จากการลักทรัพย์ จากการประพฤติผิดในกาม จากการพูดเท็จ จากการพูดส่อเสียด จากการพูดคำหยาบ จากการพูดเพ้อเจ้อ ไม่มีความอยากได้ของผู้อื่น มีจิตไม่ปองร้าย มีความเห็นชอบ ให้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน มาลา ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก และเครื่องประทีปแก่สมณพราหมณ์ บุคคลนั้นเมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของพวกมนุษย์ เขาย่อมได้เบญจกามคุณอันเป็นของมนุษย์ในมนุษย์โลกนั้น

    ข้อความซ้ำต่อไปจนถึง บุคคลที่เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ และอกุศลกรรมอื่น มีความเห็นชอบ และให้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน เป็นต้น แก่สมณพราหมณ์ บุคคลนั้นเมื่อตายไปย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดา เขาย่อมได้เบญจกามคุณอันเป็นทิพย์ในเทวโลกนั้น ด้วยกรรมนั้น ดูกร พราหมณ์ แม้ทายกก็เป็นผู้ไม่ไร้ผล

    ชาณุสโสณีพราหมณ์กราบทูลว่า

    ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีแล้ว ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้อที่แม้ทายกก็เป็นผู้ไม่ไร้ผล นี้เป็นของควรเพื่อให้ทานโดยแท้ เป็นของควรเพื่อกระทำศรัทธาโดยแท้

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร พราหมณ์ ข้อนี้เป็นอย่างนี้ ข้อนี้เป็นอย่างนี้ ดูกร พราหมณ์ แม้ทายกก็เป็นผู้ไม่ไร้ผล

    ชาณุสโสณีพราหมณ์กราบทูลว่า

    ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้อความละต่อไป ขอพระโคดมผู้เจริญ โปรดทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

    จบสูตรที่ ๑๐ จบชาณุสโสณีวรรคที่ ๒

    ไม่ว่าเมื่อจุติแล้วจะไปเกิดในกำเนิดใด ทานที่ได้กระทำแล้วย่อมให้ผล แม้ในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน หรือว่าในกำเนิดของมนุษย์ ในกำเนิดของเทพ เรื่องของเปรต เรื่องของภูมิอีกภูมิหนึ่ง ซึ่งปรากฏแก่บางท่านให้เห็นให้รู้ ไม่ใช่ทั่วไป แต่เป็นภูมิที่มีจริง

    ถ. ฐานะของเปรตว่าดีกว่าสัตว์ดิรัจฉาน เพราะว่าเปรตสามารถที่จะอนุโมทนาส่วนกุศลที่มีผู้อุทิศให้นั้นได้ สัตว์ดิรัจฉานนั้นอนุโมทนาไม่ได้ แต่สัตว์ดิรัจฉานจะได้รับโดยตรงเลยเมื่อมีผู้ให้ทานนั้น ทำไมสัตว์ดิรัจฉานจึงเลวกว่าเปรต

    สุ. เรื่องเปรตนี้มีมาก เปรตบางพวกมีวิมาน มีทิพยสมบัติ เฉพาะบาง กาล คือ เสวยสุขแต่ตอนกลางวัน ตอนกลางคืนได้รับทุกข์ทรมาน เพราะว่าเป็นอบายภูมิ ไม่เหมือนกับภูมิเทพ หรือภูมิมนุษย์ที่สามารถจะรื่นเริงมีความสุขได้ตลอดเวลา สำหรับภูมิดิรัจฉาน ไม่รู้อะไร แต่เปรตยังรู้กรรม และสามารถที่จะเกิดกุศลปีติอนุโมทนา และพ้นจากกรรมได้ตามควรแก่กรรมที่ได้กระทำมา

    อาหารที่ให้แก่สัตว์ สัตว์ไม่อนุโมทนา ส่วนพวกเปรต ทั้งๆ ที่ทุกข์ทรมาน แต่ถ้าใครอุทิศส่วนกุศลให้ และเปรตได้รับทราบ เกิดปีติโสมนัสอนุโมทนา ก็สามารถที่จะได้รับสมบัติที่เป็นทิพย์ได้ พ้นจากสภาพของความเป็นเปรตได้ หรือมิฉะนั้นก็ยังดำรงชีพอยู่ต่อไปได้ด้วยปัตติทานมัยที่บุคคลอื่นอุทิศส่วนกุศลให้ และเปรตบางจำพวกก็ยังมีความสุขสบายเฉพาะบางกาลด้วย

    ถ. เรื่องแม่ไก่ฟังธรรม แม่ไก่ป้วนเปี้ยนหากินอยู่ พระกำลังเทศน์อยู่ แม่ไก่ก็มาฟังธรรม จะฟังจริง หรือไม่จริง ผมไม่ทราบ แต่ท่านอ้างว่าอย่างนั้น แม่ไก่ฟังธรรม พอตายไป ไปสู่สุคติ อย่างนี้จะเรียกว่า แม่ไก่ไม่ได้อนุโมทนาหรือ

    สุ. ท่านกล่าวถึงเรื่องของจิตที่ผ่องใส เป็นกุศลก่อนจุติ

    ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ มหารถวรรคที่ ๕ มัณฑูกเทวปุตตวิมาน มีข้อความว่า

    พระผู้มีพระภาคตรัสถามมัณฑูกเทพบุตรว่า

    ใครมีวรรณะงามยิ่งนัก รุ่งเรืองด้วยฤทธิ์และยศ ยังทิศทั้งปวงให้สว่างไสว ไหว้เท้าทั้งสองของเราอยู่

    มัณฑูกเทพบุตรกราบทูลว่า

    เมื่อชาติก่อนข้าพระองค์เป็นกบ เที่ยวหาอาหารอยู่ในน้ำ เมื่อข้าพระองค์กำลังฟังธรรมของพระองค์อยู่ คนเลี้ยงโคได้ฆ่าข้าพระองค์ ขอพระองค์ทรงดูฤทธิ์ ยศ อานุภาพ ผิวพรรณ และความรุ่งเรืองของข้าพระองค์ผู้มีจิตเลื่อมใสครู่หนึ่งเท่านั้น

    ข้าแต่พระโคดม ก็ผู้ใดได้ฟังธรรมของพระองค์สิ้นกาลนาน ผู้นั้นพึงได้บรรลุนิพพาน อันเป็นฐานะไม่หวั่นไหว เป็นสถานที่ๆ ไปแล้วไม่เศร้าโศกเป็นแน่

    จบมัณฑูกเทวปุตตวิมาน ที่ ๑

    ตัวอย่างนี้เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า ในขณะที่ใกล้จะจุติ และจิตผ่องใสด้วยความเลื่อมใส จะเป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิในสุคติภูมิได้ เพราะฉะนั้น ไม่ควรที่จะ ประมาท โดยเฉพาะคำของเทพบุตรที่กล่าวว่า

    ขอพระองค์ทรงดูฤทธิ์ ยศ อานุภาพ ผิวพรรณ และความรุ่งเรืองของ ข้าพระองค์ผู้มีจิตเลื่อมใสครู่หนึ่งเท่านั้น

    ข้าแต่พระโคดม ก็ผู้ใดได้ฟังธรรมของพระองค์สิ้นกาลนาน ผู้นั้นพึงได้บรรลุ นิพพาน อันเป็นฐานะไม่หวั่นไหว เป็นสถานที่ๆ ไปแล้วไม่เศร้าโศกเป็นแน่

    แม้เพียงครู่เดียวที่จิตเลื่อมใสก่อนจะจุติก็ให้ผลมาก เพราะฉะนั้น ถ้าท่านเป็นผู้ที่ฟังธรรมอยู่เป็นประจำ มีจิตเลื่อมใสเจริญกุศล เทพบุตรนั้นก็กล่าวว่า ย่อมสามารถที่จะบรรลุถึงนิพพานได้ เพราะท่านเองก็เป็นแต่เพียงผู้ที่เลื่อมใสชั่วขณะเล็กน้อยก่อนที่จะจุติ ซึ่งที่เป็นอย่างนี้เป็นเพราะเหตุว่า เรื่องของกรรมที่จะทำให้ปฏิสนธิมีหลายประเภท ถ้าไม่มีครุกรรมซึ่งเป็นกรรมหนักที่ได้กระทำแล้ว ก็เป็นโอกาสของอาสันนกรรม กรรมที่ใกล้จะจุติ ใกล้จะตาย หรือว่าถ้าไม่มีอาสันนกรรม ก็เป็นโอกาสของอาจิณณกรรม กรรมที่ทำเสมอๆ บ่อยๆ เนืองๆ แล้วแต่ว่าปกติของท่านจะเป็นผู้ที่กระทำอกุศลกรรมหรือกุศลกรรม นอกจากนั้นก็มีกตัตตากรรม คือ กรรมที่เป็นเศษของกรรมที่เหลือมา ก็ยังสามารถเป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิได้

    เพราะฉะนั้น การที่จิตจะเลื่อมใส ผ่องใสเมื่อใกล้จะตายนี้ เป็นสิ่งที่สำคัญที่ควรจะเกื้อกูล เพราะเหตุว่าการเกื้อกูลกัน ไม่ว่าจะเป็นญาติ มิตรสหายก็ตาม ท่านควรจะเกื้อกูลทั้งในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ก็ให้เขาเจริญกุศลยิ่งขึ้นด้วยการฟังธรรม ศึกษาธรรม เข้าใจธรรม ปฏิบัติธรรม นั่นเกื้อกูลในระหว่างที่มีชีวิต แต่ว่าในขณะที่ใกล้จะตาย ถ้าบุคคลนั้นไม่น้อมจิตไปทางกุศล ท่านก็ควรที่จะให้บุคคลนั้นได้ระลึกถึงกุศล จะเป็นการระลึกถึงทาน ถึงศีล หรือระลึกถึงสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เป็นการเตือนให้เจริญสติปัฏฐานในขณะนั้นก็ได้ ซึ่งกุศลจิตที่ผ่องใสในขณะนั้นจะเป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิเกิดได้

    ท่านถามว่า ข้อที่ยังสงสัยกันอยู่ คือ แม่ไก่นั้นฟังธรรมรู้เรื่องหรือ

    จิตที่ผ่องใสเป็นกุศล กับขณะที่เป็นอกุศล เป็นลักษณะที่ต่างกัน ในขณะที่จิตของท่านผ่องใสด้วยความเลื่อมใส ด้วยกุศลจิตในเสียง โดยเฉพาะเสียงของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งประกอบด้วยพระมหากรุณาธิคุณ แม้ว่าแม่ไก่จะฟังไม่รู้เรื่อง กบจะฟังไม่รู้เรื่อง แต่ว่าเคยอบรมมาที่จิตจะเลื่อมใส ปีติในเสียงที่ประกอบด้วยกรุณาเมตตา เพราะฉะนั้น แม้ขณะนั้นเพียงเสียงที่เป็นปัจจัยให้กุศลจิตเกิดก่อนจุติ ก็ยังสามารถเป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิในสุคติภูมิได้

    ถ. แต่เรื่องจริงๆ มีในธรรมบทประโยค ๓ ที่ผมเรียนมา คือ นิมิตฺตสทฺทํ ใช้ว่าอย่างนั้น ค้างคาวลูกไก่อยู่ในถ้ำ พระท่านไปสวดมนต์ พระท่านสวดมนต์ก็ฟังเสียงพระ ในนั้นใช้ศัพท์ว่าอย่างนี้ ไม่ใช่อนุโมทนา อนุโมทนา แปลว่า บันเทิงตาม สทฺท นิมิตฺตํ สุตวา ว่าอย่างนั้น คือ ฟังเครื่องหมายของเสียงและเกิดชอบใจ ตายไปก็เกิดเป็นเทวดา นิมิตฺตสทฺทํ ไม่ใช่อนุโมทนา สัตว์ต่างๆ จะรู้ภาษาคนผมว่ายากเหมือนกัน สทฺท นิมิตฺตํ สุตวา สุตวา แปลว่า ฟัง สทฺท นิมิตฺตํ คือ เครื่องหมายของเสียง ฟังและนึกว่านี่เสียงดี คล้ายๆ ว่าอย่างนั้น พอตายแล้วไปสวรรค์

    สุ. เพราะฉะนั้น ท่านที่เป็นผู้น้อมใจไปในทางกุศลอยู่เสมอๆ อารมณ์ใดเป็นที่ตั้งที่จะให้เกิดความปีติเลื่อมใส ก็เลื่อมใสในสิ่งที่ควรเลื่อมใส ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติอย่างนี้ เวลาที่ใกล้จะจุติ จะมีภาพ คือ รูปปรากฏทางตาเป็นพระภิกษุสงฆ์ หรือพระพุทธรูป หรือมีเสียงสวดมนต์ มีเสียงธรรม มีเสียงที่ประกอบด้วยความเมตตากรุณา และเกิดปีติเลื่อมใสขึ้นในขณะนั้น ก็เป็นปัจจัยทำให้ปฏิสนธิในสุคติภูมิได้

    ถ. ท่านอาจารย์อธิบายลักษณะนี้ ผมเห็นตามได้ และเห็นตามว่าเป็นความจริงเสียด้วย เพราะว่ามีบางครั้งบางโอกาส ที่ท่านทั้งหลายได้ผ่านไปในที่ที่มีการสวดมนต์ ซึ่งที่จริงการสวดมนต์นั้นก็ไม่มีใครรู้เรื่องว่าเขาสวดอะไร เพราะเป็นภาษาบาลี แต่แม้กระนั้นก็ยังทำให้จิตใจสงบ เกิดความผ่องใสขึ้นได้ ไม่รู้เรื่องเหมือนกัน แต่อาศัยเสียงอย่างที่อาจารย์ว่านี่เอง ก็นับว่าถูกต้อง

    สุ. ข้อนี้ท่านคงรับว่าเป็นความจริง มีท่านท่านใดบ้างที่เข้าใจความหมายของคาถา หรือคำสวดมนต์โดยตลอด ทั้งๆ ที่ท่านสามารถสวดได้โดยตลอดตั้งแต่ต้นจนจบด้วยภาษาบาลี แต่ว่าบางท่านไม่เข้าใจความหมายเลย โดยเฉพาะเด็กๆ อาจจะสวดมนต์เก่ง จำได้ถูกต้อง แต่ไม่รู้ว่าแปลว่าอะไร

    ขอกล่าวถึงภพภูมิของบุคคลที่เกิดเป็นเปรต ซึ่งไม่ใช่ว่าจะปรากฏให้เห็นได้ทั่วๆ ไป แล้วแต่ว่าบุคคลใดจะเห็น หรือว่าไม่เห็น

    สังยุตตนิกาย นิทานวรรค ลักขณสังยุต ปฐมวรรคที่ ๑ อัฏฐิสูตร มีข้อความว่า

    ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน เขตพระนครราชคฤห์ ก็สมัยนั้นแล ท่านพระลักขณะกับท่านพระมหาโมคคัลลานะอยู่บนภูเขาคิชฌกูฏ

    สารัตถปกาสินี อรรถกถา ลักขณสังยุต อัฏฐิสูตร มีข้อความว่า

    ท่านพระลักขณเถระนั้นอยู่ในจำนวนชฎิล ๑,๐๐๐ รูป อุปสมบทด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา บรรลุพระอรหันต์ในที่สุดแห่งอาทิตตปริยายสูตร เป็นพระมหาสาวกองค์ หนึ่ง เพราะเหตุที่ท่านเป็นผู้ที่มีอัตภาพสมบูรณ์ด้วยลักษณะ บริบูรณ์ด้วยอาการทุกอย่างเสมอพรหม จึงได้ชื่อว่าลักขณะ

    ข้อความต่อไปในพระไตรปิฎกมีว่า

    ครั้งนั้นแล เป็นเวลาเช้า ท่านพระมหาโมคคัลลานะนุ่งแล้ว ถือบาตร และจีวร เข้าไปหาท่านพระลักขณะจนถึงที่อยู่ ครั้นแล้วได้กล่าวชวนท่านพระลักขณะว่ามา ไปบิณฑบาตยังพระนครราชคฤห์ด้วยกันเถิดท่านลักขณะ ท่านพระลักขณะรับคำท่านพระมหาโมคคัลลานะว่า อย่างนั้น

    ถ้าท่านสังเกต จะเห็นได้ว่า ชีวิตปกติของพระอรหันต์ก็ดำเนินไปตามปกติ ตอนเช้าท่านก็ไปมาหาสู่กัน ชักชวนกันไปบิณฑบาตได้ไหม หรือว่าถ้าเป็นพระอรหันต์ก็ต้องปลีกตัวอยู่คนเดียว ไม่พูดอะไรกับใครทั้งนั้น เป็นอย่างนั้นหรือเปล่า ชีวิตของพระอรหันต์ท่านจะกระทำกายวาจาอย่างใด ก็ย่อมเป็นไปตามการสะสมของท่าน ท่านเคยสะสมมาที่จะไปมาหาสู่กัน เคยสะสมมาที่จะชักชวนกันกระทำในสิ่งที่ไม่ใช่อกุศลธรรม ท่านก็กระทำเป็นปกติ เป็นชีวิตธรรมดา แต่ว่าหลังจากที่บรรลุการเป็นพระอรหันต์แล้ว ไม่มีเจตนากรรมที่เป็นกุศล หรือเป็นอกุศลที่จะเป็นปัจจัยทำให้มีการปฏิสนธิอีก และปกติชีวิตของท่านก็เป็นธรรมดา ซึ่งอาจจะผิดความคาดหวัง หรือความเข้าใจของบางท่าน ถ้าคิดว่าเป็นพระอรหันต์แล้วจะต้องไม่พูดกับใคร ไม่เกี่ยวข้องกับใคร อยู่เฉยๆ ตามลำพัง ซึ่งหากท่านศึกษาในพระไตรปิฎกจะเห็นว่า พระอรหันต์แต่ละรูป ท่านก็มีชีวิตดำเนินไปตามปกติ ตามที่ท่านได้สะสมมาตามความเป็นจริง

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ลำดับนั้นแล ท่านพระมหาโมคคัลลานะกำลังลงจากภูเขาคิชฌกูฏ ได้ยิ้มแย้มขึ้นในที่แห่งหนึ่ง ทีนั้นท่านพระลักขณะได้ถามท่านพระมหาโมคคัลลานะว่า

    ท่านโมคคัลลานะ อะไรเล่าเป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้ยิ้มแย้ม

    ท่านพระมหาโมคคัลลานะตอบว่า

    ท่านลักขณะ มิใช่เวลาที่จะเฉลยปัญหาข้อนี้ ท่านจงถามผมในสำนักพระผู้มีพระภาคเถิด

    การยิ้มแย้มต้องมีเหตุ หรือไม่มีเหตุ และเหตุอะไรเป็นปัจจัยให้เกิดการยิ้มแย้ม โสมนัสเวทนาที่เกิดกับจิตในขณะนั้น เป็นปัจจัยให้เกิดการยิ้มแย้มขึ้น ถ้าท่านเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ไม่ว่ากายจะเป็นอย่างไร ถ้าขณะนั้นท่านระลึกรู้ถึงสภาพของจิต ท่านทราบได้ว่า ที่กายเกิดขึ้นเป็นไปอย่างนั้น เพราะจิตประเภทนั้นๆ เป็นปัจจัย ถ้าท่านกำลังหัวเราะรื่นเริงสนุกสนาน และท่านเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ ขณะนั้นที่กำลังหัวเราะสนุกสนาน สติระลึกรู้ลักษณะของจิต จะรู้ว่าเป็นจิตที่โสมนัส ประกอบด้วยความยินดีในขณะนั้น ทำให้เกิดการยิ้มแย้มขึ้น

    เพราะฉะนั้น สำหรับการยิ้มแย้มของท่านพระมหาโมคคัลลานะ ก็มีปัจจัยที่ทำให้เกิดการยิ้มแย้มขึ้น ซึ่งก็ต้องเป็นจิตประเภทโสมนัสนั่นเอง แต่ไม่ใช่ด้วยกุศลหรืออกุศล เพราะจิตของพระอรหันต์ไม่มีกุศลและอกุศล จึงเป็นกิริยาจิต สำหรับวิบากจิตก็เป็นผลของอกุศลกรรมและกุศลกรรมในอดีต ด้วยเหตุนี้ พระอรหันต์จึงมีเฉพาะวิบากจิต กับกิริยาจิตเท่านั้น

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ครั้งนั้นแล ท่านพระลักขณะกับท่านพระมหาโมคคัลลานะเที่ยวบิณฑบาตในพระนครราชคฤห์ กลับจากบิณฑบาต ภายหลังภัตตาหารแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วท่านพระลักขณะได้ถามท่านพระมหาโมคคัลลานะว่า

    ท่านพระมหาโมคคัลลานะ เมื่อลงมาจากภูเขาคิชฌกูฏได้ยิ้มแย้มขึ้นแล้วในที่แห่งหนึ่ง ดูกร ท่านมหาโมคคัลลานะ อะไรเล่าเป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้ยิ้มแย้มขึ้น

    ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้ตอบว่า

    เมื่อผมลงมาจากภูเขาคิชฌกูฏ ได้เห็นโครงกระดูกลอยอยู่ในเวหาส พวกแร้งบ้าง กาบ้าง นกตะกรุมบ้าง ต่างก็โผถลาตามเจาะจิกทึ้งโครงกระดูกนั้น ได้ยินว่า โครงกระดูกนั้นส่งเสียงร้องครวญคราง ผมคิดว่า อัศจรรย์จริงหนอ ไม่เคยมีมาหนอ สัตว์แม้เห็นปานนี้ก็จักมี ยักษ์แม้เห็นปานนี้ก็จักมี การได้อัตภาพแม้เห็นปานนี้ก็จักมี

    ท่านคิดว่าเป็นไปได้ไหม เรื่องของเปรต เป็นอบายภูมิอีกภูมิหนึ่ง ซึ่งก็ได้รับความทุกข์ทรมาน และมีรูปร่างกายวิจิตรต่างๆ ตามกรรมที่ได้กระทำไว้



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๒๘ ตอนที่ ๒๗๑ – ๒๘๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 37
    28 ธ.ค. 2564