แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 265


    ครั้งที่ ๒๖๕


    ท่านคุ้นเคยกับพระศาสดามาตลอดอดีตกาล หลายชาติทีเดียว โดยการเป็นน้องบ้าง โดยการได้พบ ได้ฟังธรรมบ้าง แม้ในชาติสุดท้าย ก็ได้เป็นพระญาติของพระผู้มีพระภาคอรหันสัมมาสัมพุทธเจ้า การได้พบ การได้คุ้นเคยตั้งแต่อดีตชาติมาจนถึงปัจจุบันชาติของท่านพระอานนท์นั้น ไม่ไร้ประโยชน์ เพราะท่านกล่าวคาถาว่า เราทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเสร็จแล้ว ปลงภาระหนักลงแล้ว ถอนตัณหาเครื่องนำไปสู่ภพได้แล้ว

    เพราะฉะนั้น ในอดีตชาติท่านผู้ฟังจะเคยเป็นใครมาอย่างไรก็ตาม เคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน อาจจะเป็นพระผู้มีพระภาคก็ได้ หรือว่าพระอรหันตสาวกที่ท่านปรินิพพานไปแล้ว แต่กิจของท่านผู้ฟังยังไม่เสร็จ ยังต้องเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติ เจริญปัญญา แม้ว่าจะได้คุ้นเคยบ้างแล้วในอดีต กับบุคคลที่ท่านปรินิพพานไปแล้วก็อาจจะเป็นไปได้ แต่ว่าท่านเหล่านั้นก็ได้สำเร็จกิจของท่านแล้ว แต่ท่านผู้ฟังซึ่งอาจจะมีอดีตที่เคยสัมพันธ์กันมายังไม่เสร็จกิจ ยังไม่ได้ปลงภาระ ก็จะต้องเป็นผู้ที่อบรมกระทำกิจ สะสมปัญญาที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมต่อไป ระลึกอดีตชาติของท่านเองไม่ได้ แต่ฟังอดีตชาติของบุคคลอื่น คล้ายคลึงกันไหม อาจจะเป็นไปได้เหมือนอย่างนั้นไหม หรืออาจจะวิจิตรกว่าก็ได้ ตามความวิจิตรของจิตที่ได้สะสมมา

    ขอกล่าวถึงอดีตชาติของพระเถรี อีกท่านหนึ่ง ใน ขุททกนิกาย เถรีคาถา จัตตาฬีสนิบาต อิสิทาสีเถรีคาถา มีข้อความว่า

    ภิกษุณี ๒ รูป เป็นผู้ทรงคุณธรรม เป็นกุลธิดาในศากยสกุล ในนครอันมีชื่อว่า โกสุม คือ เมืองปาตลีบุตรเดี๋ยวนี้ จัดเป็นมณฑลแห่งแผ่นดิน

    ในภิกษุณี ๒ รูปนั้น รูปหนึ่งชื่อ อิสิทาสี รูปหนึ่งชื่อ โพธี เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ยินดีในการเพ่งฌาน เป็นพหุสูต เป็นผู้กำจัดกิเลสได้แล้ว ภิกษุณี ๒ รูปนั้น ไปเที่ยวบิณฑิบาต กลับมาแล้ว ทำภัตตกิจเสร็จแล้ว ล้างบาตรแล้ว นั่งพักสบายอยู่ในที่อันสงัด ได้ไต่ถามและแก้ไขต่อกันอย่างนี้

    พระโพธีถามว่า

    ข้าแต่พระแม่เจ้า อิสิทาสี พระแม่เจ้าเป็นที่น่าเลื่อมใสอยู่ แม้วัยของท่านก็ยังไม่เสื่อม ก็พระแม่เจ้าเห็นโทษอะไร จึงประกอบเนกขัมมะ

    พระอิสิทาสีนั้น เป็นผู้ฉลาดในการแสดงธรรม ในฐานะแห่งบุญ เมื่อถูกถาม อย่างนี้ จึงได้กล่าวตอบอย่างนี้ว่า

    ข้าแต่พระแม่เจ้าโพธี ขอพระแม่เจ้าจงฟัง ตามเรื่องที่ฉันบวชแล้ว

    ต่อไปนี้เป็นคำวิสัชนา

    โยมบิดาของดิฉัน อยู่ในบุรีอันประเสริฐชื่ออุชเชนี เป็นเศรษฐีผู้สำรวมแล้วด้วยศีล ดิฉันเป็นธิดาคนเดียวของท่าน ซึ่งเป็นที่รัก ที่ชอบใจ และเป็นผู้อันท่านเอ็นดู ในเวลาที่ดิฉันเจริญวัยแล้ว เศรษฐีผู้มีรัตนะมาก เป็นสกุลอันอุดมคนหนึ่งในเมืองสาเกต มาขอดิฉันเป็นสะใภ้ โยมบิดาได้ให้ดิฉันเป็นสะใภ้ของเศรษฐีนั้น ดิฉันได้ไปสู่สำนักมารดาและบิดาของสามี ทำการนอบน้อมด้วยเศียรเกล้า ไหว้เท้าท่านทั้งสองทุกเช้าเย็น ท่านทั้งสองสอนดิฉันอย่างไร ดิฉันก็ทำอย่างนั้น พี่หญิงน้องหญิง พี่ชาย น้องชาย หรือบ่าวไพร่ของสามีดิฉัน ไม่ว่าคนใด ดิฉันเห็นแล้วแม้ครั้งเดียว ก็มีความยำเกรงให้อาสนะ ดิฉันต้อนรับด้วยข้าว น้ำ และของเคี้ยว ซึ่งเป็นของที่เขาจัดหาไว้ที่เรือน และสิ่งใดควรแก่ผู้ใด ก็ให้สิ่งนั้นแก่ผู้นั้น

    ดิฉันลุกขึ้นแต่เช้า เข้าไปยังเรือนสามี ล้างมือ ล้างเท้าที่ธรณีประตูแล้ว ประนมมือเข้าไปกราบสามี จัดหาหวี เครื่องผัดหน้า ยาหยอดตา แว่นส่องหน้า มาตบแต่งสามีเสียเองเหมือนสาวใช้ ดิฉันหุงข้าว ต้มแกงเอง ล้างภาชนะเอง มารดาบำรุงบำเรอบุตรน้อยคนเดียว ฉันใด ดิฉันบำเรอสามี ฉันนั้น ดิฉันมีความจงรักภักดี มีวัตรอันยอดยิ่ง ทำการงานอันหญิงพึงทำทุกอย่าง ไม่มีความถือเนื้อถือตัว ขยันไม่เกียจคร้าน สมบูรณ์ด้วยศีลอย่างนี้ สามีก็ยังโกรธ

    เป็นไปได้ไหม เรื่องจริง ทำไมเป็นไปได้ เพราะอะไร เพราะกรรมที่ได้กระทำแล้วในอดีต พ้นไม่ได้เลย ถึงแม้ว่าผู้นั้นจะทำอย่างไรในปัจจุบันชาติ แต่ว่าการที่จะได้รับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่ไม่น่าพอใจจากบุคคลหนึ่งบุคคลใดทั้งหมด ก็เป็นผลที่เนื่องมาจากอดีตกรรมที่ได้กระทำแล้ว

    ข้อความต่อไปมีว่า

    สามีของดิฉันพูดกับมารดาและบิดาของเขาว่า ฉันจักลาไป จักไม่อยู่ร่วมกับ นางอิสิทาสี ฉันไม่ควรอยู่ร่วมในเรือนหลังเดียวกับนางอิสิทาสี มารดาบิดาของเขาจึงห้ามว่า ลูกเอ๋ย เจ้าอย่าพูดอย่างนั้นเลย นางอิสิทาสีเป็นบัณฑิต ฉลาดรอบคอบ ขยัน ไม่เกียจคร้าน ไฉนจึงไม่ชอบใจเจ้าล่ะลูก

    สามีของนางอิสิทาสีกล่าวตอบว่า

    นางอิสิทาสี ไม่ได้เบียดเบียนอะไรฉันเลย แต่ว่าฉันไม่อยากอยู่ร่วมกับนาง อิสิทาสีเท่านั้น ฉันไม่อยากเห็น ไม่ต้องการ ฉันจักลาบิดามารดาไปล่ะ

    และบิดาของสามีของดิฉัน ฟังคำของเขาแล้ว ได้ถามดิฉันว่า เจ้าทำผิดอย่างไร สามีของเจ้าจึงจะละทิ้งเจ้าเช่นนี้ เจ้าจงบอกสิ่งที่เจ้าได้ทำตามจริงเถิด

    ดิฉันตอบว่า ดิฉันไม่ได้ทำผิดอะไร ทั้งไม่ได้ทำให้เขาเดือดร้อนอะไร และไม่ได้ดูหมิ่นอะไร ดิฉันจักอาจกล่าวคำชั่วหยาบอะไร อันเป็นเหตุให้สามีโกรธดิฉันได้เล่า

    มารดาและบิดาแห่งสามีเสียใจ ถูกทุกข์ครอบงำแล้วเหมือนกัน แต่หวังจักรักษาบุตรไว้ จึงได้นำดิฉันกลับไปส่งคืนให้โยมบิดาของดิฉันที่เรือน

    ข้อความต่อไปท่านเล่าว่า

    ดิฉันเป็นหญิงหม้าย มีรูปสวย เที่ยวไป ภายหลังโยมบิดาของดิฉันได้ยกดิฉันให้กุลบุตรผู้มีทรัพย์สมบัติน้อยกว่าสามีเก่าครึ่งหนึ่ง โดยสินสอดครึ่งหนึ่ง ต่อกับสินสอดที่เศรษฐีคนเก่าได้หมั้นดิฉัน ดิฉันอยู่ที่เรือนของสามีคนที่ ๒ นั้น เดือนหนึ่ง ต่อมา เขาได้ขับดิฉัน ผู้บำรุงบำเรออยู่ดังนางทาสี ประพฤติตัวดี มีศีล จากเรือนเขาอีก โยมบิดาของดิฉันบอกกับบุรุษคนหนึ่ง เป็นผู้ฝึกจิตแห่งชนเหล่าอื่น มีกายและวาจาอันฝึกแล้ว เที่ยวขอทานอยู่ว่า เจ้าจงทิ้งผ้าขี้ริ้วและหม้อเสีย จงมาเป็นลูกเขยของเราเถิด

    นี่เป็นคนที่ ๓ ซึ่งเป็นขอทาน ท่านเล่าต่อไปว่า

    เขาอยู่กับดิฉันได้ครึ่งเดือน ก็บอกโยมบิดาของดิฉันว่า ท่านจงให้ผ้าขี้ริ้ว หม้อและกระเบื้องขอทานแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะไปเที่ยวขอทานอีก

    ลำดับนั้น โยมบิดามารดากับพวกหมู่ญาติของดิฉันทั้งหมด พากันถามคนขอทานนั้นว่า สิ่งใดที่เจ้าทำไม่สำเร็จในที่นี้ ขอเจ้าจงรีบบอกเร็วๆ เขาจะทำสิ่งนั้นๆ ให้เจ้า เมื่อโยมบิดามารดาและพวกญาติของดิฉันพูดอย่างนี้แล้ว คนขอทานนั้นจึงตอบว่า เราอาจทำตัวของเราให้เป็นไทยได้โดยแท้ แต่ข้าพเจ้าไม่ต้องการอยู่ร่วมเรือนหลังเดียวกับนางอิสิทาสีได้ โยมบิดาของดิฉันปล่อยให้เขาไป ดิฉันผู้เดียวคิดว่า จักลาโยมมารดา โยมบิดาไปตาย หรือไปบวชดีกว่า

    ลำดับนั้น พระแม่ชินทัตตา ผู้ทรงไว้ซึ่งวินัย เป็นพหุสูต มีศีลสมบูรณ์ มาเที่ยวบิณฑบาตที่สกุลโยมบิดาของดิฉัน ดิฉันเห็นท่านแล้ว จึงลุกไปจัดอาสนะของดิฉันถวายท่าน และเมื่อท่านนั่งเสร็จแล้ว ดิฉันกราบเท้า และถวายโภชนาหารแก่ท่าน ดิฉันเลี้ยงดูท่านด้วยข้าว น้ำ ของเคี้ยว และสิ่งที่จัดไว้ในเรือนให้อิ่มหนำแล้ว จึงกราบเรียนว่า พระแม่เจ้า ดิฉันปรารถนาจะบวช

    ลำดับนั้น โยมบิดาบอกกับดิฉันว่า ลูกเอ๋ย ขอเจ้าจงอยู่ประพฤติธรรมในเรือนนี้เถิด และเจ้าจงเลี้ยงดูสมณะพราหมณ์ทั้งหลายด้วยข้าวน้ำเถิด

    ครั้งนั้น ดิฉันประนมอัญชลี ร้องไห้ พูดกับโยมบิดาว่า ขอคุณพ่อ จงอนุญาต ลูกเถิด ลูกจักยังกรรมที่ทำมาแล้วให้พินาศ โยมบิดาพูดกับดิฉันว่า ขอเจ้าจงบรรลุโพธิญาณ และธรรมอันประเสริฐ และจงได้นิพพานที่พระพุทธเจ้าผู้ประเสริญกว่าสัตว์ ทรงทำให้แจ้งแล้ว

    ดิฉันไหว้โยมบิดา มารดา และพวกญาติทั้งปวงแล้ว ออกบวชได้ ๗ วัน ก็ได้บรรลุวิชชา ๓ ดิฉันระลึกชาติหนหลังของดิฉันได้ ๗ ชาติ วิบากแห่งกรรมอันชั่วช้าใด ซึ่งเป็นผลให้เกิดความไม่พอใจแก่สามี ดิฉันจะบอกวิบากแห่งกรรมนั้นแก่ท่าน ขอท่านจงมีใจเป็นหนึ่งแน่นอน ฟังวิบากแห่งกรรมนั้นเถิด

    ข้อความต่อไปเป็นอดีตกรรมของท่าน ซึ่งท่านได้เล่าว่า

    เมื่อก่อนดิฉันเป็นนายช่างทอง มีทรัพย์มาก อยู่ในนครเอรกกัจฉะ เป็นคนมัวเมา เพราะความมัวเมาด้วยความเป็นหนุ่ม ได้คบชู้ภรรยาของบุคคลอื่น ดิฉันจุติจากชาตินั้นแล้ว ต้องหมกไหม้อยู่ในนรกตลอดกาลนาน

    ครั้นพ้นจากนรกนั้นแล้ว ท่านก็ได้ไปเกิดเป็นลิง ได้รับความทุกข์สาหัสทีเดียว หลังจากที่จุติจากกำเนิดวานรนั้นแล้ว ได้ไปเกิดเป็นแพะ ซึ่งท่านก็ได้รับความทุกข์ทรมานสาหัสทีเดียว นี่เพราะโทษที่คบชู้ภรรยาชายอื่น

    เมื่อจุติจากกำเนิดแพะนั้นแล้ว เกิดในท้องแม่โคของพ่อค้าคนหนึ่ง เป็นลูกโคมีขนแดงเหมือนสีคลั่ง เมื่อล่วงได้ ๑๒ เดือนก็ถูกตอน ถูกเขาใช้เทียมไถและเข็นเกวียน ต่อมาก็เป็นโคตาบอด เป็นโคกระจอก เป็นโคขี้โรค นี่เป็นโทษที่คบชู้กับภรรยาของชายอื่น

    ท่านอิสิทาสีเถรีได้เล่าอดีตของท่านต่อไป ซึ่งมีข้อความว่า

    ดิฉันจุติจากกำเนิดโคนั้นแล้ว เกิดในเรือนของนางทาสีในถนน จะเป็นหญิงก็ไม่ใช่ จะเป็นชายก็ไม่เชิง นี่เพราะโทษที่ดิฉันคบชู้กับภรรยาของชายอื่น ดิฉันอายุ ๓๐ ปีก็ถึงแก่กรรม แล้วมาเกิดเป็นลูกหญิงในสกุลช่างสานเสื่อ เป็นสกุลขัดสน มีทรัพย์น้อย ถูกแต่เจ้าหนี้รุมทวงอยู่เป็นนิจ ต่อมาเมื่อหนี้เจริญมากขึ้น พ่อค้าเกวียนคนหนึ่ง มาริบทรัพย์สมบัติแล้ว ฉุดเอาดิฉันลงจากเรือนแห่งสกุล ภายหลังที่ดิฉันมีอายุครบ ๑๖ ปี บุตรของพ่อค้าเกวียนนั้นมีชื่อว่าคิริทาสะ ได้เห็นดิฉันเป็นสาวกำลังรุ่น มีจิตปฏิพัทธ์รักใคร่ ขอไปเป็นภรรยา แต่นายคิริทาสนั้นมีภรรยาอื่นอีกคนหนึ่ง ซึ่งเป็นคนมีศีล ทรงคุณสมบัติ ทั้งมียศ รักใคร่สามีเป็นอย่างดียิ่ง ดิฉันบังคับนายคิริทาสให้ขับไล่ภรรยาของตน สามีทุกคนได้หย่าร้างดิฉันผู้บำรุงอยู่เหมือนนางทาสีไป นี่ผลแห่งการคบชู้ภรรยาของชายอื่น และการบังคับสามีให้ขับไล่ภรรยาของตน ที่สุดแห่งบาปกรรมนั้น ดิฉันทำเสร็จแล้ว

    จบ จัตตาฬีสนิบาต

    เป็นเรื่องอดีตชาติของท่านพระเถรีท่านหนึ่ง ซึ่งท่านได้เห็นชีวิตต่างๆ ในชาติต่างๆ ที่ผ่านมา จนกระทั่งถึงชาติสุดท้าย ซึ่งท่านก็รับผลของกรรมด้วยการรู้ว่า เป็นผลของอดีตกรรมของท่านเองที่ได้กระทำไว้แล้ว ท่านมิได้ปรารถนาที่จะเป็นบุรุษ แต่ปรารถนาที่จะปฏิบัติธรรมเพื่อการพ้นจากกรรมทั้งปวงที่ท่านได้กระทำแล้ว และท่านได้กระทำเสร็จแล้วจริงๆ ด้วยการบรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์

    ท่านที่สงสัยว่า ผู้ที่บรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยเจ้าแต่ยากจน หมดข้อสงสัยหรือยัง เป็นเรื่องการสะสมความวิจิตรของกรรม ซึ่งไม่ทราบว่ากรรมใดจะให้ผลในชาติใด อย่างไร แม้แต่ผู้ที่เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก่อนปรินิพพานก็ยังทรงได้รับผลของอดีตกรรมที่ได้ทรงกระทำไว้ แม้ว่าจะเป็นถึงพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ยังมีโอกาสที่จะได้รับผลของอกุศลกรรมที่ได้กระทำไว้แล้ว

    ระลึกชาติไม่ได้ก็จริง แต่ปัจจุบันชาติที่ได้รับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจอยู่ทุกวัน ขณะใดที่ได้รับอิฏฐารมณ์ก็เป็นผลของกุศลกรรม ขณะใดถึงแม้ว่าท่านจะเป็นผู้ที่มีศีล ประพฤติธรรม แต่ก็ยังมีการได้รับกระทบกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่เป็นอนิฏฐารมณ์ ก็ให้ทราบว่าเป็นการรับผลของอดีตกรรมที่ท่านได้กระทำไว้เอง ไม่ใช่ว่าจะโทษท่านผู้อื่น เพราะถ้าไม่ใช่กรรมของท่าน ก็จะไม่มีการเกี่ยวข้องกับบุคคลต่างๆ เหล่านั้น ที่จะนำรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ไม่เป็นที่พอใจมาให้ได้

    . ผมได้ฟังคำบรรยาย ณ ที่แห่งหนึ่ง ท่านบรรยายเรื่องสติปัฏฐานว่า การเจริญสตินี่ ก่อนจะไปสู่สำนักปฏิบัติควรจะซ้อมๆ ที่บ้านเสียบ้าง หรือว่ากลับจากสำนักปฏิบัติแล้ว ก็มาซ้อมๆ ที่บ้านบ้างให้คล่องแคล่วขึ้น และท่านสรุปตอนท้ายว่าอย่างไรก็ดีปัญญาจะเกิดขึ้นได้ที่สำนักปฏิบัติเท่านั้น

    สุ. เรื่องของผล เป็นเรื่องที่ผู้ที่สนใจในการปฏิบัติวิปัสสนาถ้าไม่พิจารณา เหตุผลโดยละเอียดรอบคอบ ท่านจะไม่ได้รับผลที่ต้องการ คือ ปัญญาที่รู้ชัดในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง

    ถ้าท่านกล่าวว่า เวลาที่ไปสู่สำนักปฏิบัติแล้ว ท่านมีความรู้ชัดในลักษณะของนามและรูปมากกว่าการที่สติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ตามความเป็นจริง ในขณะนั้นจะเป็นการติด ในขณะนั้นจะเป็นความยินดี ในขณะนั้นจะเป็นความพอใจในสิ่งที่ท่านเข้าใจว่าเป็นความรู้ชัด แต่ไม่ใช่การละ การคลาย ด้วยปัญญาที่รู้แจ้งจริงๆ ว่า ไม่ว่าจะเป็นนามอะไร ไม่ว่าจะเป็นรูปอะไร ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ก็เป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น แต่ท่านกลับยินดีพอใจใคร่ที่จะให้เกิดปัญญาอย่างนั้นมากขึ้น และเวลาที่ท่านมีชีวิตปกติธรรมดา สติอาจจะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม แต่ท่านกลับเห็นว่า รู้ไม่ชัดเท่ากับการที่ท่านไปสู่สำนักปฏิบัติ ซึ่งไม่ชื่อว่าเป็นปัญญาที่รู้แจ้ง ไม่ชื่อว่าเป็นปัญญาที่รู้ชัดจริงๆ

    เพราะฉะนั้น ความรู้ชัดจริงๆ สำหรับผู้ที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ต้องมีความรู้ว่า สภาพธรรมทั้งหมดที่เกิดขึ้นปรากฏนั้น เสมอกันหมด ไม่ว่าจะเป็นนาม หรือรูปทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ ที่นี่ หรือที่อื่น ปัญญาที่จะแทงตลอดรู้ชัดในอริยสัจธรรมได้ ต้องรู้ชัดว่า สภาพธรรมทั้งหลายนั้นเป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรม เสมอกันจริงๆ จึงจะละคลายการติด การยินดี การพอใจ แม้ในความรู้ หรือแม้ในสิ่งที่ท่านเข้าใจว่าเป็นความรู้ชัดในสภาพของนามธรรมและรูปธรรม

    ถ้าท่านผู้ใดกล่าวว่า เวลาที่ท่านไปสู่สำนักปฏิบัติแล้ว ก็รู้ชัดในสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม และการรู้แจ้งอริยสัจธรรม จะต้องไปรู้ที่สำนักปฏิบัติ ถ้าเจริญสติเป็นปกติแล้ว จะไม่รู้แจ้งอริยสัจธรรม ก็หมายความว่า ท่านไม่ได้เจริญอบรมปัญญาที่จะรู้แจ้ง ที่จะเห็นความเสมอกันของนามธรรมและรูปธรรมทั้งปวง จนถึงขั้นที่จะละคลายความยินดีพอใจในนามรูปทั้งปวงทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจได้ และ ขอให้ท่านตรวจสอบว่ามีข้อความนี้ไหมในพระไตรปิฎกที่ว่า การรู้แจ้งอริยสัจธรรมนั้น จะต้องไปรู้แจ้งที่สถานที่ปฏิบัติ หรือที่สำนักปฏิบัติ ทำไมท่านถึงจะพูดหรือคิดเอง ในเมื่อในพระไตรปิฎกไม่มีข้อความที่ว่านี้

    เมื่อการเจริญเหตุ คือ ปัญญาสมบูรณ์ สมควรแก่ญาณหนึ่งญาณใดที่จะเกิดขึ้น ญาณนั้นจึงจะเกิดขึ้นได้ จนกระทั่งสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ซึ่งการรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยเจ้า ไม่ได้จำกัดสถานที่เลย



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๒๗ ตอนที่ ๒๖๑ – ๒๗๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 37
    28 ธ.ค. 2564