แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 274


    ครั้งที่ ๒๗๔


    ถ. ผมว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ สติเราก็รู้ว่าเป็นการระลึก ระลึกอย่างไร มีปัญหาแล้ว ระลึกนิดหน่อย ระลึกให้ลึกซึ้ง ระลึกไปถึงอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ระลึกแค่อ่อน แค่แข็ง ผมเข้าใจที่อาจารย์สอน ฟังมา ๒ ปี ๓ ปี เข้าใจ แต่เวลาปฏิบัติๆ ไม่ได้ ที่จะระลึกปัจจุบันธรรม ขณะที่ระลึกๆ อย่างไร การระลึกนี้สำคัญ ระลึกตื้น ระลึกลึก ระลึกมาก ระลึกน้อย ระลึกยาว ระลึกสั้น

    สุ. ช่างวุ่นจริงๆ เลยใช่ไหม เพราะแม้สติจะระลึก ก็ไม่ทราบว่าจะให้เผินหรือจะให้ลึก หรือจะให้แรง หรือจะให้มาก หรือจะให้น้อย แต่ตามความเป็นจริงแล้ว ก็ระลึกรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง พยัญชนะนี้สมบูรณ์ที่สุด

    ถ้าลักษณะที่เย็นกำลังปรากฏ ก็รู้ตามความเป็นจริงอย่างนั้นเท่านั้น ไม่ต้องไปกดให้แรง ไม่ต้องไปผ่อนให้เบา ไม่ต้องไปทำให้เผิน หรืออะไรเลย เพราะว่านั่นเป็นตัวตน ไม่ใช่การรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง

    สภาพธรรมตามความเป็นจริงเป็นอย่างไร ผู้ไม่หลงลืมสติ คือ กำลังระลึกรู้สภาพลักษณะนั้นตามปกติ ตามความเป็นจริง และไม่ติดใจสงสัย หรือว่าเยื่อใยที่จะมีความเป็นตัวตนไปบังคับต่อไปอีก ที่จะให้สติจดจ้องให้ลึกลงไปอีก หรือว่าให้เผินออกมาหน่อย ซึ่งขณะนั้น สติจะระลึกต่อไป หรือว่าสติจะหลงลืมไป และเกิดระลึกทางอื่น ทวารอื่นต่อไป ก็เป็นเรื่องที่จะได้เห็นความเป็นอนัตตา แม้ของสติ

    จะระลึก ก็ไม่ทราบว่าแค่ไหนถูก จะหนัก จะเบา หรือจะแรง หรือจะเผิน ก็ทำไม่ได้ใช่ไหม แต่ถ้าตามปกติ ตามธรรมดา ตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ แล้ว จะไม่ยุ่ง

    พอที่จะเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติได้ไหม ถ้าปรากฏว่าไม่ยุ่งเมื่อไร นั่นคือ เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน

    ถ. ผมยังไม่รู้ว่า สติปัฏฐานมีลักษณะที่แท้จริงอย่างไร บางครั้งที่ผมฟังอาจารย์บรรยายแนวทางการเจริญสติปัฏฐาน เวลาตั้งใจฟังและรู้เรื่อง แต่ว่าไม่ได้พิจารณาให้เป็นรูปเป็นนาม ขณะนั้นไม่ทราบว่า จะเป็นสติปัฏฐานหรือเปล่า

    สุ. ถ้าไม่รู้ว่าเป็นนามเป็นรูป เยื่อใยความเป็นตัวตนมีอยู่เต็ม ซึ่งที่จะละคลายไปได้ทีละน้อย ก็เพราะความรู้เกิดขึ้นทีละน้อย

    เริ่มจากไม่รู้ และสติระลึก เมื่อระลึกแล้วสำเหนียก สังเกต เพิ่มความรู้ขึ้นทีละน้อย ขณะที่ความรู้เกิดขึ้นทีละน้อยนั้น ละคลายความไม่รู้ออกไปทีละน้อย และการรู้จริงๆ ไม่ใช่รู้โดยชื่อ โดยการฟัง โดยการอ่าน แต่เพราะรู้ในลักษณะที่เป็นสภาพรู้ซึ่งเป็นนามธรรม

    การรู้เรื่องก็เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง และก็หมดไป แต่ไม่ใช่เห็น ถ้ายังไม่รู้ว่าเป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม ก็ต้องอบรมไป ก่อนภัทรกัปนี้ถอยไปถึงเท่าไร ถึงจะเมื่อระลึกแล้วไม่นาน จึงรู้แจ้งเป็นพระอรหันต์บ้าง เป็นพระอนาคามีบ้าง เป็นพระสกทาคามีบ้าง เป็นพระโสดาบันบุคคลบ้าง แต่ต้องเป็นความรู้จริงๆ แทงตลอดได้จริงๆ ตามปกติ

    ในคราวก่อนได้กล่าวถึงเรื่องภูมิ ซึ่งเป็นอบายภูมิ ผลของอกุศลกรรมเมื่อทำให้ปฏิสนธินั้น ก็ทำให้เกิดในอบายภูมิ ๔ คือ นรก ๑ ดิรัจฉาน ๑ เปรต ๑ อสุรกาย ๑

    ใน มโนรถปุรณี อรรถกถาอังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต มหาวรรค อธิบายคำว่า อบาย ว่าได้แก่ นรก ดิรัจฉาน เปรตวิสัย อสุรกาย และมีข้อความอธิบายว่า จริงอยู่ทั้งหมดนี้เรียกว่า อบาย เพราะไม่มีความเจริญ เรียกว่า ทุคติ เพราะเป็นทางแห่งทุกข์ เรียกว่า วินิบาต เพราะพลาดจากความพอกพูนขึ้นแห่งความสุข

    สำหรับเรื่องของ อสุรกาย มีกล่าวไม่มากในกำเนิดของอบาย เพราะว่าในกำเนิดของอบายภูมินั้น มักจะกล่าวถึงนรก สัตว์ดิรัจฉาน ปิตติวิสัย ที่เป็นอย่างนี้เพราะเหตุว่า สำหรับภูมิอสุรกายนั้น รวมอยู่ในพวกเปรตบ้าง รวมอยู่ในพวกเทพบ้าง เป็นภูมิที่ไม่แน่นอน หมายความว่า อสุรกายบางประเภท บางจำพวก ก็เป็นพวกเปรต บางจำพวกก็เป็นพวกเทพ แต่ข้อความในพระไตรปิฎกบางตอน ก็กล่าวถึงอสุรกายด้วย เช่น ใน ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค พระผู้มีพระภาคตรัสกับปริพาชก ชื่อภควโคตรว่า พระองค์ทรงพยากรณ์อเจลกะชื่อโกรักขัตติยะ ให้สุนักขัตตะโอรสเจ้า ลิจฉวีฟังว่า โกรักขัตติยะจักบังเกิดในเหล่าอสูรชื่อกาลกัญชิกา ซึ่งเลวกว่าอสุรกายทั้งปวง และมีข้อความอธิบายเรื่องกำเนิดของอสูร หรืออสุรกาย พวกกาลกัญชิกาว่า

    อสูรพวกนี้มีตัวสูง ๓ คาวุต มีเนื้อและโลหิตน้อย เช่นใบไม้แก่ มีตาติดบนศีรษะคล้ายตาของปู มีปากเท่ารูเข็มบนศีรษะ

    ซึ่งข้อความใน สัมโมหวิโนทนี อรรถกถาพระวิภังคปกรณ์ ก็มีข้อความเรื่องของอสุรกาย พวกกาลกัญชิกานี้ด้วย

    ในกำเนิดของอบายภูมิ ซึ่งเป็นผลของอกุศลกรรมนั้น หนักที่สุด คือ นรก เกิดเป็นดิรัจฉานดีกว่านรก เพราะเหตุว่าไม่ต้องทนทุกข์ทรมานมากมายสาหัสอย่างสัตว์ในนรก แต่ว่าพวกเปรตวิสัย คือ พวกเปรตดีกว่าสัตว์ดิรัจฉาน เพราะเหตุว่าสามารถที่จะรู้กรรมและอนุโมทนาในส่วนกุศลที่บุคคลอื่นอุทิศให้ เมื่อได้อนุโมทนาในส่วนกุศลที่บุคคลอื่นอุทิศให้แล้ว ก็มีโอกาสที่จะพ้นกรรม และได้สมบัติอันเป็นทิพย์ พ้นจากสภาพของความเป็นเปรต ฉะนั้น ก็ดีกว่าสัตว์ดิรัจฉาน

    คราวก่อนได้กล่าวถึงเรื่องของกุศลจิต ซึ่งเป็นไปในทาน และกุศลที่เป็นไปกับทานนั้นมี ๓ คือ

    ๑. ทาน การให้สิ่งที่เป็นประโยชน์กับผู้รับ

    . ปัตติทาน การอุทิศส่วนกุศลให้ผู้อื่นอนุโมทนา เช่น เวลาที่ปรารภบุคคลหนึ่งบุคคลใด หรือว่าพวกหนึ่งพวกใดขึ้น แล้วถวายทานอุทิศส่วนกุศลให้กับบุคคลนั้น

    สำหรับกุศลที่เป็นไปในทานอีกประการหนึ่ง คือ

    ๓. ปัตตานุโมทนาทาน การอนุโมทนาส่วนกุศลที่บุคคลอื่นกระทำ และอุทิศให้ หรือการอนุโมทนาในกุศลของผู้อื่น ซึ่งก็ต้องเนื่องกัน คือ ต้องมีทาน การให้ และเมื่อมีทานการให้แล้ว ก็มีการอุทิศส่วนกุศลที่ได้กระทำทานนั้นให้บุคคลอื่นอนุโมทนา และบุคคลอื่นจะได้รับผลของการอุทิศส่วนกุศลให้ ก็ด้วยการอนุโมทนาของตนเอง

    สำหรับภูมิที่จะได้รับอุทิศส่วนกุศล พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับชาณุสโสณี พราหมณ์ ใน อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต ชาณุสโสณีสูตร ซึ่งมีข้อความว่า

    ทานที่อุทิศให้ผู้ล่วงลับ ย่อมสำเร็จในฐานะ และย่อมไม่สำเร็จในอฐานะ

    อฐานะ คือ ไม่สำเร็จแก่บุคคลที่เกิดในนรก สัตว์ดิรัจฉาน มนุษย์ เทวโลกย่อมสำเร็จแก่ผู้ที่เกิดในเปรตวิสัย คือ พวกเปรตพวกเดียว

    ซึ่งข้อความนี้พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร พราหมณ์ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ฆ่าสัตว์ และกระทำอกุศลกรรมอื่น ตลอดจนถึง มีความเห็นผิด บุคคลนั้นเมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงเปรตวิสัย เขาย่อมเลี้ยงอัตภาพอยู่ในเปรตวิสัยนั้น ย่อมตั้งอยู่ในเปรตวิสัยนั้น ด้วยอาหารของสัตว์ผู้เกิดในเปรตวิสัย หรือว่าญาติ อำมาตย์ หรือสาโลหิตของเขา ย่อมเพิ่มให้ซึ่งปัตติทานมัยจากมนุษยโลกนี้ เขาเลี้ยงอัตภาพอยู่ในเปรตวิสัยนั้น ย่อมตั้งอยู่ในเปรตวิสัยนั้นด้วยปัตติทานมัยนั้น ดูกร พราหมณ์ ฐานะอันเป็นที่เข้าไปสำเร็จแห่งทานแก่สัตว์ผู้ตั้งอยู่นี้แล เป็นฐานะ

    คือ ฐานะของบุคคลที่จะได้รับอุทิศส่วนกุศล อนุโมทนาได้ และได้รับผล ได้แก่ พวกเปรต เพราะฉะนั้น ถ้าญาติมิตรสหายของท่านสิ้นชีวิตลง ถ้าเกิดในนรกเกื้อกูลไม่ได้ เกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉานก็เกื้อกูลไม่ได้ แต่ถ้าเกิดเป็นเปรตแล้ว ท่านสามารถกระทำบุญกุศลและอุทิศส่วนกุศลนั้นให้เปรต ซึ่งเป็นญาติมิตรสหายอนุโมทนาได้ ซึ่งก็เป็นธรรมเนียมที่พุทธศาสนิกชนประพฤติปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่ในครั้งพุทธกาล

    เรื่องการที่จะกระทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติมิตรสหายนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงกับพระเจ้าพิมพิสาร ใน ปรมัตถโชติกา อรรถกถา ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ติโรกุฑฑกัณฑ์ มีข้อความว่า

    ครั้นเมื่อพระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณล่วงไปได้ ๗ สัปดาห์แล้ว ก็เสด็จไปสู่พระนครพาราณสี ทรงแสดงธัมมจักรแก่พระปัญจวัคคีย์ แล้วทรงจำพรรษา และทรงแสดงธรรมโปรดชาวเมืองพาราณสี แล้วเสด็จไปโปรดชฎิลและบริวารได้บรรลุอรหันต์ จากนั้นก็เสด็จจาริกไปสู่พระนครราชคฤห์พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่จำนวน ๑,๐๐๐ รูป ล้วนเป็นปุราณชฎิล (คือ พวกชฎิลที่ได้บรรลุอรหันต์แล้วอุปสมบท) เสด็จถึงพระนครราชคฤห์แล้ว ประทับอยู่ใต้ต้นไทรชื่อ สุประดิษฐ์เจดีย์ ในสวนตาลหนุ่มเขตพระนครราชคฤห์

    พระเจ้าพิมพิสาร พระราชาแห่งแคว้นมคธทรงสดับข่าว และทรงแวดล้อมด้วยพวกพราหมณ์ คหบดีชาวมคธเป็นจำนวนมาก เสด็จไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ซึ่งพระ ผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดงธรรมโปรดพระเจ้าพิมพิสาร และบริวาร พระเจ้าพิมพิสารทรงรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคล และบริษัทบริวารของพระองค์ส่วนมากก็ได้บรรลุธรรมด้วย

    พระวินัยปิฎก มหาวรรค มหาขันธกะ มีข้อความว่า

    ครั้งนั้น พระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามคธราชได้ทรงเห็นธรรมแล้ว ได้ทรงบรรลุธรรมแล้ว ได้ทรงรู้ธรรมแจ่มแจ้งแล้ว ทรงมีธรรมอันหยั่งลงแล้ว ทรงข้ามความสงสัยได้แล้ว ปราศจากถ้อยคำแสดงความสงสัย ทรงถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่ต้องทรงเชื่อผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา ได้ทูลพระวาจานี้ต่อพระผู้มีพระภาคว่า

    ครั้งก่อนเมื่อหม่อมฉันยังเป็นราชกุมาร ได้มีความปรารถนา ๕ อย่าง บัดนี้ความปรารถนา ๕ อย่างนั้นของหม่อมฉันสำเร็จแล้ว ความปรารถนา ๕ อย่าง คือ

    ๑. ครั้งก่อนเมื่อหม่อมฉันยังเป็นราชกุมาร ได้มีความปรารถนาว่า ไฉนหนอ ชนทั้งหลายพึงอภิเษกเราในราชสมบัติ ดังนี้ นี้เป็นความปรารถนาของหม่อมฉันประการที่หนึ่ง บัดนี้ความปรารถนานั้นของหม่อมฉันสำเร็จแล้วพระพุทธเจ้าข้า

    ๒. ขอพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพึงเสด็จมาสู่แว่นแคว้นของหม่อมฉัน นี้เป็นความปรารถนาของหม่อมฉันประการที่สอง บัดนี้ความปรารถนานั้นของหม่อมฉัน สำเร็จแล้วพระพุทธเจ้าข้า

    ๓. ขอหม่อมฉันพึงได้เฝ้าพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น นี้เป็นความปรารถนาของหม่อมฉันประการที่สาม บัดนี้ความปรารถนานั้นของหม่อมฉันสำเร็จแล้วพระพุทธเจ้าข้า

    ๔. ขอพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นพึงแสดงธรรมแก่หม่อมฉัน นี้เป็นความปรารถนาของหม่อมฉันประการที่สี่ บัดนี้ความปรารถนานั้นของหม่อมฉันสำเร็จแล้ว พระพุทธเจ้าข้า

    ๕. ขอหม่อมฉันพึงรู้ทั่วถึงธรรมของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น นี้เป็นความปรารถนาของหม่อมฉันประการที่ห้า บัดนี้ความปรารถนานั้นของหม่อมฉันสำเร็จแล้วพระพุทธเจ้าข้า

    ที่กล่าวถึงความปรารถนาของพระเจ้าพิมพิสาร เพื่อที่จะแสดงให้เห็นความวิจิตรของจิตของบุคคลที่จะบรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยเจ้าต่างกันไป ไม่เหมือนกัน ท่านอาจจะปรารถนาอะไรอย่างหนึ่งหรือหลายๆ อย่าง แต่ไม่ทิ้งความปรารถนาที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยสาวกด้วย ซึ่งความปรารถนาของท่านเป็นทั้งทางโลกทั้งทางธรรมตามความวิจิตรของจิต เมื่อยังไม่ได้รู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยเจ้า ใครหมดความปรารถนาบ้าง ไม่ปรารถนาสำหรับตนเอง ปรารถนาสำหรับบุตรธิดา วงศาคณาญาติ มิตรสหาย

    เพราะฉะนั้น ตราบใดที่ยังไม่เป็นพระอริยเจ้า ยังไม่ได้ดับความปรารถนาหมดสิ้น ยังมีความปรารถนาอยู่ ความปรารถนานั้นก็ย่อมวิจิตร ต่างๆ กัน อย่างความปรารถนาของพระเจ้าพิมพิสาร ความปรารถนาข้อที่ ๑ ปรารถนาที่จะได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินของแคว้นมคธ และก็สมความปรารถนาด้วย

    ความปรารถนาข้อที่ ๒ ไม่ทิ้งทางธรรม คือ ขอให้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาสู่แคว้นของพระองค์ นี่เป็นความปรารถนาทางธรรม

    ความปรารถนาประการที่ ๓ เป็นไปในทางธรรมอีก คือ ขอให้พระองค์ได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ซึ่งความปรารถนานั้นก็สำเร็จ และเมื่อได้เฝ้าแล้วความปรารถนาข้อที่ ๔ คือ ขอให้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นทรงแสดงธรรมแก่พระองค์ ซึ่งความปรารถนานั้นก็สำเร็จ และความปรารถนาประการที่ ๕ คือขอให้พระองค์พึงรู้ทั่วถึงธรรมของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ซึ่งความปรารถนานี้ก็สำเร็จ คือ ความปรารถนาของพระองค์สำเร็จทั้งทางโลกและทางธรรม

    เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ไหม หรือว่าเมื่อเป็นพระอริยสาวกขั้นพระโสดาบันแล้วจะต้องเหมือนกับขั้นพระอรหันต์ หมดความปรารถนาใดๆ ทั้งสิ้น นี่เป็นความวิจิตรของจิตของความปรารถนาของมนุษย์ แล้วแต่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นใคร ตั้งความปรารถนา หรือว่ามีความปรารถนาอย่างไร ถ้าเหตุสมควรแก่ผลก็สำเร็จ ถ้าเพียงแต่ปรารถนาความเป็นพระเจ้าแผ่นดิน โดยไม่ปรารถนาความเป็นพระอริยสาวก ก็คงจะสำเร็จความปรารถนาประการเดียว

    การเป็นพระอริยบุคคล ไม่ใช่การที่จะเปลี่ยนจากบุคคลหนึ่งให้ไปเหมือนกับบุคคลทั้งหลาย แต่ว่า แล้วแต่การสะสมของจิตของแต่ละบุคคล ซึ่งการที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมนั้น แล้วแต่จิตของพระเจ้าพิมพิสารในขณะนั้นว่ามีสภาพอย่างไร ทรงรู้แจ้งสภาพธรรมนั้นตามความเป็นจริง จิตของบริษัทบริวารของพระองค์ ของพราหมณ์คฤหบดีที่ตามเสด็จไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคในขณะนั้น นามธรรมและรูปธรรมขณะนั้นเป็นอย่างไร แต่ละบุคคลก็จะต้องระลึกรู้ชัดในสภาพธรรมนั้น ถูกต้องตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้น ก็ไม่มีปัญหาที่ท่านจะกลัวว่า ถ้าท่านเป็นพระอริยเจ้าแล้ว ท่านต้องละทิ้งการงาน หน้าที่ หรือความหวัง ความปรารถนาต่างๆ ที่ท่านเคยหวัง เคยต้องการ แม้ว่าขณะนี้ท่านยังไม่ใช่พระอริยเจ้า ท่านมีความหวัง มีความปรารถนาอะไรตามวิสัยที่ท่านได้สะสมมาเกิดขึ้น ก็ขออย่าได้ทิ้งความหวังที่จะได้รู้แจ้ง อริยสัจธรรมเป็นพระอริยเจ้าด้วย พร้อมทั้งสะสมเหตุที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยเจ้าคู่กันไปด้วย และวันหนึ่งท่านก็จะได้สำเร็จความหวังที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรมตามควรแก่การที่ท่านเป็นบุคคลใดในภพในชาติ ที่ท่านได้รู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยสาวก

    ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ติโรกุฑฑกัณฑ์ ซึ่งข้อความโดยละเอียดใน ปรมัตถโชติกา อรรถกถา มีว่า

    เมื่อพระเจ้าพิมพิสารทรงรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยสาวกแล้ว ก็ได้ทรงนิมนต์พระผู้มีพระภาค เพื่อเสวยภัตตาหารในวันรุ่งขึ้น เมื่อพระเจ้าพิมพิสารได้ถวาย ภัตตาหารแด่พระผู้มีพระภาคและพระสงฆ์แล้ว พวกเปรตญาติพระเจ้าพิมพิสารซึ่งได้ไปยืนล้อมด้วยหวังว่า พระเจ้าพิมพิสารจะทรงอุทิศส่วนกุศลทานให้ แต่เมื่อพระเจ้าพิมพิสารถวายทานแด่พระผู้มีพระภาคแล้ว ก็ได้ทรงดำริถึงที่ประทับของพระผู้มีพระภาค และได้ทรงถวายสวนเวฬุวันแก่ภิกษุสงฆ์มีพระผู้มีพระภาคเป็นประมุข จึงมิได้ทรงอุทิศทานนั้นแก่ใครๆ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๒๘ ตอนที่ ๒๗๑ – ๒๘๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 37
    28 ธ.ค. 2564