แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 279


    ครั้งที่ ๒๗๙


    ปรมัตถทีปนี อรรถกถา มีข้อความว่า

    ก็จักษุเหล่านี้ โดยย่อมี ๒ อย่าง คือ ญาณจักษุและมังสจักษุ ส่วนญาณจักษุท่านกล่าวจำแนกเป็น ๒ ในที่นี้คือ ๑. ทิพยจักษุ ตาทิพย์ ๒. ปัญญาจักษุ ตา คือ ปัญญา

    คำว่า ทิพยจักษุ ได้แก่ตาที่ชื่อว่าเป็นทิพย์ ก็เพราะเช่นกับด้วยสิ่งที่เป็นทิพย์ คือ เช่น ปสาทจักษุของพวกเทพ เป็นต้น ส่วนปัญญาจักษุนั้น คือ สภาพใดย่อมรู้ชัด เหตุนั้นสภาพนั้นชื่อว่าปัญญา

    มีคำถามว่า ย่อมรู้ชัดอะไร

    แก้ว่า คืออธิบายว่า ย่อมรู้ชัดอริยสัจ ๔

    ปัญญา กล่าวคือ ญาณที่เป็นเครื่องทำความสิ้นไปแห่งอาสวะ พระผู้มีพระภาคทรงประสงค์เอาแล้วว่า เป็นปัญญาจักษุในที่นี้ ในบรรดาจักษุทั้ง ๓ อย่างนั้น มังสจักษุเป็นของเล็กน้อย คือ เป็นปริตตะ ทิพยจักษุเป็นสภาพใหญ่ ปัญญาจักษุเป็นจักษุไม่มีประมาณ

    มังสจักษุ หรือปสาทจักษุ เห็นได้ก็เพียงแค่รูปารมณ์ คือ สิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น จะเห็นลึกซึ้งเกินกว่านั้นไม่ได้ ที่จะให้เกิดการเห็นด้วยความรู้อย่างปัญญาว่าเป็นนามธรรม เป็นรูปธรรมแต่ละชนิด อาศัยปัจจัยเกิดขึ้นแต่ละทาง แต่ละอย่าง เกิดขึ้นและดับไป ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่วิสัยของมังสจักษุ

    มังสจักษุ หรือจักษุปสาทนั้น เป็นแต่เพียงปัจจัยที่ทำให้เกิดการเห็นธรรมดาๆ คือ เห็นรูปารมณ์

    ข้อความต่อไปมีว่า

    สองบทว่า อกฺขาสิ ปุริสุตฺตโม ความว่า พระผู้มีพระภาคผู้สูงสุด คือ ผู้เลิศกว่าบุรุษทั้งหลายได้แสดงไว้แล้ว ความเป็นไปแห่งมังสจักษุชื่อว่า ความบังเกิดขึ้น

    บทว่า มคฺโค ได้แก่ อุบาย คือ เป็นเหตุแห่งทิพยจักษุ

    ข้อความต่อไปมีว่า

    จริงอยู่ทิพยจักษุย่อมบังเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้มีตาโดยปกติเท่านั้น เพราะการเจริญ อาโลกกสิณแล้ว ทำทิพยจักษุญาณให้บังเกิดขึ้นได้

    อาโลกะ คือ แสงสว่างนั้น เป็นเครื่องที่ช่วยให้เห็นละเอียดขึ้น อย่างปัจจัยที่ทำให้เกิดจักขุวิญญาณ ในอรรถกถาแสดงไว้ว่ามีถึง ๔ คือ จักขุปสาท ๑ คือ รูปที่มีลักษณะที่ใส ที่สามารถรับกระทบสีสันได้ รูปนี้เกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย ถ้าใครมีกรรมที่จะไม่ทำให้จักขุปสาทรูปเกิด ผู้นั้นจะมองอะไรไม่เห็นเลย เป็นคนตาบอด แต่เพราะเหตุว่ากรรมเป็นปัจจัยทำให้จักขุปสาทรูปเกิดขึ้น สามารถรับกระทบสีสันวรรณะต่างๆ ได้ การเห็นจึงต้องประกอบด้วยจักขุปสาทรูป

    นอกจากนั้น ต้องมีรูปารมณ์ คือ สิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นของจริง เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ที่ปรากฏให้รู้ได้ทางตา นอกจากนั้นก็มีอาโลกะ คือ แสงสว่าง และมีมนสิการ ได้แก่ ปัญจทวาราวัชชนจิต ซึ่งเกิดก่อนจักขุวิญญาณ เพราะฉะนั้น ปัจจัย ๔ ที่จะทำให้เกิดจักขุวิญญาณ ได้แก่ จักขุปสาทรูป ๑ รูปารมณ์ ๑ อาโลกะ คือ แสงสว่าง ๑ และมนสิการ คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑

    แต่ในพระไตรปิฎก ทรงแสดงปัจจัยที่ทำให้เกิดการเห็นเพียง ๓ คือ จักขุปสาทรูป ๑ รูปารมณ์ ๑ และมนสิการ ได้แก่ ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑

    ที่เป็นอย่างนี้ เพราะเหตุว่าผู้ที่มีจักขุปสาท แม้ว่าขาดอาโลกะ คือ แสงสว่าง ก็ยังเป็นปัจจัยให้เกิดการเห็นได้ แต่ไม่ใช่เห็นละเอียด หรือชัดจนสามารถจะจำแนกออกได้ว่าเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นวัตถุสิ่งของต่างๆ ท่านที่มีจักขุปสาทอยู่ในห้องมืดๆ เห็นไหม เห็น และถ้าท่านอยู่ในห้องที่มืดๆ นานพอสมควร ก็เห็นชัดขึ้นอีก และเวลาที่มีแสงสว่าง เช่น เปิดไฟ อาโลกะ แสงสว่างมากขึ้น การเห็นของท่านก็ละเอียดขึ้น สามารถที่จะรู้ส่วนสัด ลักษณะต่างๆ ของสีสันวรรณะที่เห็น เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า เรื่องของการเห็นเกี่ยวกับแสงสว่าง อาโลกะมาก

    สำหรับจักษุทิพย์ ผู้ที่จะมีตาทิพย์ได้นั้น ต้องเป็นผู้ที่ได้เจริญสมถภาวนาจนกระทั่งฌานจิตเกิด มีความชำนาญอย่างแคล่วคล่องทีเดียว และเวลาที่จะให้เกิดทิพยจักษุนั้น จะต้องอาศัยการเจริญอาโลกกสิณ ให้มีแสงสว่างยิ่งขึ้น เพื่อจะได้เห็นรูปที่ไกล และละเอียดขึ้นได้

    ข้อความในพระไตรปิฎกก็ชัดเจนแล้วที่ว่า ความบังเกิดขึ้นแห่งมังสจักษุเป็นทางแห่งทิพยจักษุ ถ้ายิ่งมีแสงสว่างมากเท่าไร ก็ยิ่งเห็นรูปละเอียดชัดเจน ไกลขึ้นเท่านั้น เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะได้ทิพยจักษุ เห็นสิ่งที่เกินวิสัยของจักขุปสาทธรรมดา จึงต้องเป็นผู้ที่เจริญสมถภาวนาอย่างชำนาญ แคล่วคล่อง และเจริญอาโลกกสิณเพื่อให้มีแสงสว่างยิ่งขึ้น

    การเห็นเปรต ไม่ใช่ว่าจะเห็นได้ทั่วไปกับบุคคลธรรมดา ผู้ที่มีทิพยจักษุก็ย่อมจะเห็นได้ชัดเจน และเห็นมากได้ เวลาที่น้อมจิตไปถึงกำเนิดใด ก็สามารถที่จะเห็นกำเนิดนั้นได้

    สำหรับเรื่องของเปรต เป็นกำเนิดที่เป็นผลของอกุศลกรรม ซึ่งท่านประมาทไม่ได้เลย อกุศลกรรมแม้เพียงเล็กน้อย นิดหน่อย ก็มีโอกาสที่จะเป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิในอบายภูมิได้ ซึ่งมีข้อความในพระไตรปิฎก เป็นเรื่องผลของอกุศลกรรมที่ทำให้ปฏิสนธิเป็นเปรต

    ใน ขุททกนิกาย เปตวัตถุ สูกรเปตวัตถุ มีข้อความว่า

    ท่านพระนารทะถามเปรตตนหนึ่งว่า

    กายของท่านมีสีเหมือนทองคำทั่วทั้งกาย รัศมีกายของท่านสว่างไสวไปทั่วทุกทิศ แต่ปากของท่านเหมือนปากสุกร เมื่อก่อนท่านได้ทำกรรมอะไรไว้

    เปรตนั้นตอบว่า

    ข้าแต่พระนารทะ เมื่อก่อนข้าพเจ้าได้สำรวมกาย แต่ไม่ได้สำรวมวาจา เพราะเหตุนั้นรัศมีกายของข้าพเจ้าจึงเป็นเช่นกับที่ท่านได้เห็นอยู่นั้น เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าขอกล่าวกะท่าน สรีระของข้าพเจ้าท่านเห็นเองแล้ว ขอท่านอย่าได้ทำบาปด้วยปาก อย่าให้ปากสุกรเกิดมีแก่ท่าน

    ทางวาจา บางท่านอาจไม่ได้ระมัดระวัง สำรวมแต่เฉพาะทางกาย แต่ว่าทางวาจาก็เป็นโทษ เป็นกรรมที่หนักเหมือนกัน แล้วแต่ว่าอกุศลกรรมทางวาจาที่ท่านกระทำนั้นจะให้ผลแค่ไหน สำหรับมนุษย์ก็มีรูปร่างต่างกันไป สัตว์ดิรัจฉานก็วิจิตรมาก มีสัตว์หลายประเภทที่มีรูปร่างลักษณะไม่น่าดู แม้มนุษย์บางบุคคลก็จะมีลักษณะที่เป็นผลของอกุศลกรรม ทำให้ปรากฏสภาพที่ไม่น่าดูต่างๆ เปรตก็เหมือนกัน มีลักษณะต่างๆ อย่างเช่น เปรตที่มีปากเป็นสุกร เป็นต้น

    ปูติมุขเปตวัตถุ มีข้อความว่า

    ท่านพระนารทะถามเปรตตนหนึ่งว่า

    ท่านมีผิวงามดังทิพย์ ยืนอยู่ในอากาศ แต่ปากของท่านมีกลิ่นเหม็น หมู่หนอนพากันมาไชชอนอยู่ แต่ก่อนท่านทำกรรมอะไรไว้

    เปรตนั้นตอบว่า

    เมื่อก่อนข้าพเจ้าเป็นสมณะลามก มีวาจาชั่ว สำรวมกายเป็นปกติ ไม่สำรวมปาก ผิวพรรณดังทองข้าพเจ้าได้แล้วเพราะพรหมจรรย์นั้น แต่ปากของข้าพเจ้าเน่าเหม็น เพราะกล่าววาจาส่อเสียด

    ข้าแต่ท่านพระนารทะ รูปของข้าพเจ้านี้ท่านเห็นเองแล้ว ท่านผู้ฉลาดอนุเคราะห์กล่าวไว้ว่า ท่านอย่าพูดส่อเสียด และอย่าพูดมุสา ถ้าท่านละคำส่อเสียดและคำมุสาแล้ว สำรวมด้วยวาจา ท่านจะเป็นเทพเจ้าผู้สมบูรณ์ด้วยสิ่งที่น่าใคร่

    แม้แต่ภูมิมนุษย์ หนอนในปากมีไหม มีได้ ถ้าเป็นโรคภัยไข้เจ็บที่จะเป็นเหตุให้มีหนอนในปาก ยังมีได้ทั้งๆ ที่เป็นมนุษย์ เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม ทำให้ถึงกับปฏิสนธิเป็นเปรต จะได้รับความทุกข์ทรมานตามควรแก่กรรมที่ได้กระทำไว้กรรมนั้นก็ทำให้วิจิตรต่างๆ กันไปทีเดียว ก็ควรที่จะได้ทราบถึงอกุศลกรรมที่เป็นปัจจัยทำให้เกิดเป็นเปรต เพราะว่าท่านจะได้ละเว้นจากอกุศลกรรมนั้น ไม่แน่ท่านอาจจะกำลังกระทำอยู่ หรือว่าจะกระทำต่อไปก็ได้

    ภุสเปตวัตถุ มีข้อความว่า

    ท่านพระมหาโมคคัลลานเถระได้ถามบุพกรรมของเปรตทั้ง ๔ ด้วยคาถานี้ความว่า

    ท่านทั้ง ๔ นี้ คนหนึ่งกอบเอาแกลบข้าวสาลีที่ไฟลุกโชนโปรยใส่ศีรษะของตนเอง อีกคนหนึ่งทุบศีรษะของตนเองด้วยค้อนเหล็ก ส่วนคนที่เป็นหญิงเอาเล็บจิกหลัง กินเลือดกินเนื้อของตนเอง ส่วนท่านกินคูถอันเป็นของไม่สะอาด ไม่น่าปรารถนา นี้เป็นวิบากแห่งกรรมอะไร

    ภรรยาของพ่อค้าโกงตอบว่า

    เมื่อชาติก่อน ผู้นี้เป็นบุตรของดิฉัน ได้ตีศีรษะของฉันผู้เป็นมารดา ผู้นี้เป็นสามีของดิฉัน เป็นพ่อค้าโกงข้าวเปลือกปนแกลบ ผู้นี้เป็นลูกสะใภ้ของดิฉัน ลักกินเนื้อแล้วกลับหลอกลวงด้วยมุสาวาท ดิฉันเมื่อเกิดเป็นมนุษย์อยู่ในมนุษย์โลก เป็นหญิงแม่เรือน เป็นใหญ่กว่าสกุลทั้งปวง เมื่อสิ่งของมีอยู่ เหล่ายาจกขอแล้ว เก็บซ่อนไว้เสีย ไม่ได้ให้อะไรจากของที่มีอยู่ ปกปิดไว้ด้วยมุสาวาทว่า ของนี้ไม่มีในเรือนของเรา ถ้าเราปกปิดของที่มีไว้ ขอคูถจงเป็นอาหารของเรา ภัตรแห่งข้าวสาลีอันมีกลิ่นหอมย่อมกลับกลายเป็นคูถเพราะวิบากแห่งกรรม คือ มุสาวาทของดิฉัน

    ก็กรรมทั้งหลายไม่ไร้ผล กรรมนั้นย่อมไม่สาบสูญ เพราะฉะนั้น ดิฉันจึงกินและดื่มมูตรคูถอันมีกลิ่นเหม็น มีหนอน

    ถ้าเป็นอกุศลกรรมที่กำลังกระทำอยู่ในมนุษย์ ดูเป็นของไม่น่าหวั่นเกรงอะไร ไม่มีใครจับได้ ไม่มีใครรู้ ยังไม่ได้รับผลของอกุศลกรรมนั้นที่จะให้ปรากฏทันตา แต่ว่าอกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้วไม่ไร้ผล เช่นเดียวกับกุศลกรรมก็ไม่ไร้ผล เพราะฉะนั้น ถ้าทำอกุศลกรรมใดๆ ไว้ และสังสารวัฏยังมีอยู่ ก็แล้วแต่ว่ากรรมใดจะเป็นปัจจัยทำให้ปฏิสนธิ ถ้าเป็นกุศลกรรมก็ปฏิสนธิในสุคติภูมิ ถ้าเป็นอกุศลกรรมก็ปฏิสนธิในอบายภูมิ หรือถ้าในสุคติภูมิปฏิสนธิเป็นมนุษย์ ก็ยังมีโอกาสได้รับผลของอกุศลกรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายตามควรแก่กรรมนั้นๆ

    เพราะฉะนั้น ไม่ควรประมาทจริงๆ ในอกุศลกรรม และขอให้ดูความเป็นจริงว่าจะเป็นไปได้ไหมที่ว่า คนหนึ่งกอบเอาแกลบข้าวสาลีที่มีไฟลุกโชนโปรยใส่ศีรษะของตนเอง อีกคนหนึ่งทุบศีรษะของตนเองด้วยค้อนเหล็ก มีใครเคยทุบศีรษะของตนเองบ้างไหม เคย ทำไมถึงทำอย่างนั้น ทีนี้ถ้าเป็นกรรมหนัก แทนที่จะทุบนิดหน่อยให้หายปวดหายเจ็บ ก็อาจจะแรงยิ่งกว่านั้นก็ได้ และยิ่งเป็นผลของอกุศลกรรม ก็อาจจะทำให้ต้องทำอย่างนั้น สำหรับคนที่เป็นหญิงเอาเล็บจิกหลัง กินเลือดและเนื้อของตนเอง ก็เป็นไปได้อีกใช่ไหม มนุษย์ที่ชอบแกะ ชอบเกา ชอบขูด ชอบอะไรอย่างนี้มีไหม มีใช่ไหม ทำไมจึงทำอย่างนั้น ก็ต้องเป็นผลของอกุศลกรรม สบายหรือ คนอื่นทำไมไม่สบาย แต่ทำไมคนนี้ถึงสบาย แกะแผล แกะอะไรก็ได้ทั้งนั้น เป็นการสะสมมาที่จะให้กระทำอย่างนั้น ซึ่งถ้าไม่แกะ ไม่เกา ไม่คุ้ย ไม่เขี่ย อย่างนั้นน่าจะสบายกว่า แต่เพราะสะสมมาเป็นปัจจัยที่จะให้เกิดทุกขเวทนาอย่างนั้น นี่เป็นเศษของกรรมมาถึงภพชาติที่ได้กำเนิดในสุคติภูมิ แต่ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม มิยิ่งพอใจยิ่งกว่านั้นหรือ คือ พอใจถึงกับต้องเอาเล็บจิกหลัง กินเนื้อและเลือดของตนเอง ทำอย่างนั้น เป็นอย่างนั้น ใครจะให้ไม่ทำอย่างนั้นก็ไม่ได้ เป็นไปตามอำนาจของกรรม

    ถ. มีตัวอย่างจริงๆ คือ มีผู้หญิงยังสาวอยู่ด้วย แต่ว่าชอบถอนผมของตัวเอง เอารากผมมากิน ถอนเรื่อยๆ จนผมโกร๋นหมด ต้องเอาอะไรมาปิดไว้ พอขึ้นมาก็ถอนอีก ทำอยู่อย่างนี้ นี่ประเภทหนึ่ง ส่วนอีกประเภทหนึ่ง ก็เป็นผู้หญิงเหมือนกัน จะนอนลงแล้วให้คนใช้เท้า ๒ เท้าถีบที่ศีรษะ เขาบอกว่าสบายดี

    สุ. ถ้าได้เกิดเป็นมนุษย์ และมีเศษกรรมเล็กๆ น้อยๆ ติดตามมา กับการที่จะเป็นกรรมหนัก ถึงกับทำให้ปฏิสนธิในเปรตวิสัย เป็นเปรต การเกิดเป็นมนุษย์แล้วได้รับเศษของกรรมเล็กๆ น้อยๆ ก็ยังดีกว่า ยังมีโอกาสที่จะเจริญกุศลให้พ้นกรรมทั้งหลายเหล่านี้ได้ด้วยการเจริญสติปัฏฐาน แต่ว่าให้เห็นกำลังอำนาจของกรรม ที่ทำให้วิจิตรต่างๆ แม้ในภูมิของเปรต และยังติดตามมาจนถึงในภูมิของมนุษย์ ที่ทำให้มีลักษณะต่างๆ กันได้

    ข้อความต่อไป เป็นตัวอย่างของกรรมที่ทำให้ปฏิสนธิในอบายภูมิ เป็นเปรต

    มิคลุททเปตวัตถุที่ ๑ มีข้อความว่า

    ท่านพระนารทเถระถามเปรตตนหนึ่งว่า

    ท่านเป็นคนหนุ่มแน่น ห้อมล้อมด้วยเทพบุตรและเทพธิดา รุ่งเรืองอยู่ด้วยกามคุณ อันให้เกิดความกำหนัดยินดีในราตรี เสวยทุกข์ในกลางวัน ท่านได้ทำกรรมอะไรไว้ในชาติก่อน

    เปรตนั้นตอบว่า

    เมื่อก่อนกระผมเป็นพรานเนื้อ อยู่ที่ภูเขาวงกตอันเป็นที่รื่นรมย์ใกล้กรุงราชคฤห์ เป็นผู้มีฝ่ามือเปื้อนโลหิต เป็นคนหยาบช้าทารุณ มีใจประทุษร้ายในสัตว์เป็นอันมาก ผู้ไม่กระทำความโกรธเคือง ยินดีแต่ในการเบียดเบียนสัตว์อื่น เป็นผู้ไม่สำรวมแล้วด้วยกาย วาจา ใจเป็นนิตย์

    อุบาสกคนหนึ่งผู้เป็นสหายของกระผม เป็นคนใจดีมีศรัทธา ก็อุบาสกคนนั้นเป็นคนเอ็นดูกระผม ห้ามกระผมอยู่เนืองๆ ว่า อย่าทำบาปกรรมเลย พ่อเอ๋ย อย่าไปทุคติเลย ถ้าท่านปรารถนาความสุขในโลกหน้า จงงดเว้นการฆ่าสัตว์อันเป็นการไม่สำรวมเสียเถิด

    กระผมฟังธรรมของสหายผู้หวังดี มีความอนุเคราะห์ด้วยประโยชน์นั้นแล้ว ไม่ทำตามคำสั่งสอนทั้งสิ้น เพราะกระผมเป็นคนไม่มีปัญญา ยินดีแล้วในบาปตลอดกาลนาน สหายผู้มีปัญญาดีนั้น แนะนำกระผมให้ตั้งอยู่ในความสำรวม ด้วยความอนุเคราะห์ว่า ถ้าท่านฆ่าสัตว์ในเวลากลางวัน ส่วนกลางคืนจงงดเว้นเสีย กระผมจึงฆ่าสัตว์แต่เฉพาะกลางวัน กลางคืนเป็นผู้สำรวมงดเว้น เพราะฉะนั้น กลางคืนผมจึงได้รับความสุข กลางวันได้เสวยทุกข์ ถูกสุนัขรุมกัดกิน คือ กลางคืนได้เสวยทิพยสมบัติด้วยผลแห่งกุศลกรรมนั้น ส่วนกลางวันฝูงสุนัขมีจิตเดือดดาล พากันห้อมล้อมกัดกินกระผมรอบด้าน

    ก็ชนเหล่าใดผู้มีความเพียรเนืองๆ บากบั่นมั่นในศาสนาของพระสุคต กระผมเข้าใจว่า ชนเหล่านั้นจะได้บรรลุอมตบท อันปัจจัยอะไรๆ ปรุงแต่งไม่ได้อย่างแน่นอน

    ถ้อยคำของพวกเปรตก็ดี หรือผู้ที่ไปปฏิสนธิในอบายภูมิ และได้เห็นกรรม ได้เห็นผลของอกุศลกรรม จะมีถ้อยคำที่แสดงความเชื่อมั่นในกรรม และถ้าผู้ใดเป็นผู้ที่บากบั่นในกุศล ละเว้นอกุศลจริงๆ แม้แต่เปรตก็ยังกล่าวว่า ผู้นั้นย่อมถึงอมตบท คือ ความพ้นทุกข์โดยสิ้นเชิง

    ท่านผู้ที่มีปัญญาจะต้องเห็นอย่างนี้ สามารถที่จะละเว้นอกุศลกรรมได้ แต่ถ้าปัญญายังไม่พอ อกุศลกรรมก็ยังละเว้นไม่หมด แต่ถ้าดูในพระวินัยของพระภิกษุ สิ่งใดที่ประพฤติปฏิบัติตามพระวินัยแล้ว ย่อมเป็นสิ่งที่เหมาะ ที่ควร ที่ดี ที่งามทั้งสิ้น เพื่อความสุขในโลกหน้า เพื่อความพ้นจากทุกข์ของอกุศลกรรม

    เพราะฉะนั้น ถ้าท่านผู้ใดจะเห็นกุศลซึ่งต่างกับอกุศล และอบรมเจริญกุศลให้มากขึ้น ลดอกุศลให้น้อยลง ท่านก็ย่อมเป็นผู้ที่จะได้รับวิบากของอกุศลกรรมน้อยลงด้วยตามควรแก่ปัจจัย แม้แต่เรื่องการเว้นของอุบาสกที่เป็นคนฆ่าสัตว์ ถ้าเว้นในเวลากลางคืน ตอนกลางคืนก็ยังมีโอกาสที่จะได้รับความสุขตามควรแก่กรรมนั้นๆ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๒๘ ตอนที่ ๒๗๑ – ๒๘๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 37
    28 ธ.ค. 2564