แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 289


    ครั้งที่ ๒๘๙


    ใน กกุธสูตรที่ ๘ มีข้อความว่า

    ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระอัญชนวัน สถานพระราชทานอภัยแก่เนื้อ เขตเมืองสาเกต ครั้งนั้น กกุธเทวบุตร เมื่อราตรีปฐมยามสิ้นไปแล้ว มีวรรณะงามยิ่งนัก ยังอัญชนวันทั้งสิ้นให้สว่าง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว ก็ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

    กกุธเทวบุตรยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

    ข้าแต่พระสมณะ พระองค์ทรงยินดีอยู่หรือ

    มีผู้สงสัยแทนท่านสมัยนี้ ถ้าสมัยนี้ท่านได้พบพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จะมีความสงสัยในพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างนี้หรือไม่ แต่ถ้ายังมีกิเลสอยู่ และไม่รู้หนทางข้อปฏิบัติที่จะละกิเลส ก็จะต้องมีความสงสัยว่า จะมีความต่างอะไรกัน ระหว่างบุคคลที่เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ากับบุคคลอื่น แม้ว่าเป็นเทพ แต่กกุธเทวบุตรก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระสมณะ พระองค์ทรงยินดีอยู่หรือ

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ผู้มีอายุ เราได้อะไรจึงจะยินดี

    โดยมากเวลาที่ท่านจะยินดี เพราะได้สิ่งที่พอใจ ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสถามว่า เราได้อะไรจึงจะยินดี

    กกุทธเทวบุตรกราบทูลว่า

    ข้าแต่สมณะ ถ้าอย่างนั้นพระองค์ทรงเศร้าโศกอยู่หรือ

    เทวบุตรไม่ตอบตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสถาม ไม่ทราบว่าจะตอบว่าประการใด ก็เลยเปลี่ยนคำถาม

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ผู้มีอายุ เราเสื่อมจากอะไรจึงจะเศร้าโศก

    เวลาที่ท่านเศร้าโศก ลองคิดดูว่า ท่านเสื่อม ท่านเสีย ท่านพลัดพรากจากอะไรจึงได้เศร้าโศก ถ้าไม่มีอะไรที่จะต้องเสียไป ก็จะไม่เศร้าโศก

    กกุธเทวบุตรกราบทูลว่า

    ข้าแต่พระสมณะ ถ้าอย่างนั้นพระองค์ไม่ทรงยินดีเลย ไม่ทรงเศร้าโศกเลยหรือ

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    เป็นเช่นนั้น ผู้มีอายุ

    กกุธเทวบุตรกราบทูลว่า

    ข้าแต่ภิกษุ พระองค์ไม่มีทุกข์บ้างหรือ ความเพลิดเพลินไม่มีบ้างหรือ ความเบื่อหน่ายไม่ครอบงำพระองค์ ผู้ประทับนั่งแต่พระองค์เดียวบ้างหรือ

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ท่านผู้อันคนบูชา เราไม่มีทุกข์เลย และความเพลิดเพลินก็ไม่มี อนึ่ง ความเบื่อหน่ายก็ไม่ครอบงำเรา ผู้นั่งแต่ผู้เดียว

    กกุธเทวบุตรกราบทูลว่า

    ข้าแต่ภิกษุ ทำไมพระองค์จึงไม่มีทุกข์ ทำไมความเพลิดเพลินจึงไม่มี ทำไมความเบื่อหน่ายจึงไม่ครอบงำพระองค์ ผู้นั่งแต่ผู้เดียว

    ถ้าเป็นผู้ที่รู้ข้อปฏิบัติ คือ การเจริญสติปัฏฐาน จะทูลถามอย่างนี้ไหม เพราะรู้หนทางอยู่ว่า ถ้าเป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญา รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ดับกิเลสได้หมดสิ้น ไม่มีกิเลสที่จะทำให้เป็นทุกข์ ไม่มีกิเลสที่จะทำให้เพลิดเพลิน และไม่มีกิเลสที่จะทำให้เบื่อหน่ายด้วย

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ผู้มีทุกข์นั่นแหละ จึงมีความเพลิดเพลิน ผู้มีความเพลิดเพลินนั่นแหละ จึงมีทุกข์ ภิกษุย่อมเป็นผู้ไม่มีความเพลิดเพลิน ไม่มีทุกข์ ท่านจงรู้อย่างนี้เถิด ผู้มีอายุ

    ทีนี้ถึงตัวท่าน ท่านยังมีทุกข์อยู่บ้างหรือเปล่า ต้องมีแน่ เพราะอะไร เพราะยังมีความเพลิดเพลินอยู่ เป็นตัวของท่านเองจริงๆ ทุกขณะ ถ้าตราบใดที่เพลิดเพลินแล้วระลึกได้ รู้ในสภาพความจริงที่ปรากฏ ก็ให้ทราบว่า ท่านเป็นผู้ที่ต้องมีทุกข์แน่นอน เพราะท่านเป็นผู้ที่ยังมีความเพลิดเพลินอยู่ วันนี้ไม่ปรากฏทุกข์เลย เพราะมีแต่ความเพลิดเพลิน แต่วันหนึ่งก็จะต้องมีทุกข์ เพราะท่านยังมีความเพลิดเพลินอยู่ ถ้าหมดความเพลิดเพลินแล้ว ก็เป็นผู้ที่ไม่มีทุกข์ ด้วยเหตุนี้พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ผู้มีทุกข์นั่นแหละ จึงมีความเพลิดเพลิน ผู้มีความเพลิดเพลินนั่นแหละ จึงมีทุกข์ ภิกษุย่อมเป็นผู้ไม่มีความเพลิดเพลิน ไม่มีทุกข์ ท่านจงรู้อย่างนี้เถิด ผู้มีอายุ

    กกุธเทวบุตรกราบทูลว่า

    นานหนอ ข้าพระองค์จึงได้พบเห็นภิกษุ ผู้เป็นพราหมณ์ดับรอบแล้ว ไม่มีความเพลิดเพลิน ไม่มีทุกข์ ข้ามพ้นเครื่องข้องในโลกแล้ว

    เขมสูตรที่ ๒ มีข้อความว่า

    เขมเทพบุตร ครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กล่าวคาถาเหล่านี้ ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า

    คนพาลผู้มีปัญญาทราม ย่อมประพฤติกับตนเองดังศัตรู ย่อมทำกรรมลามกอันอำนวยผลเผ็ดร้อน บุคคลทำกรรมใดแล้วย่อมเดือดร้อนภายหลัง มีหน้านองด้วยน้ำตาร้องไห้อยู่ เสวยผลแห่งกรรมใด กรรมนั้นทำแล้วไม่ดีเลย บุคคลทำกรรมใดแล้วไม่เดือดร้อนในภายหลัง มีหัวใจแช่มชื่นเบิกบาน เสวยผลแห่งกรรมใด กรรมนั้นทำแล้วเป็นการดี

    บุคคลรู้กรรมใดว่าเป็นประโยชน์แก่ตน ควรรีบลงมือกระทำกรรมนั้นทีเดียว อย่าพยายามเป็นนักปราชญ์เจ้าความคิด ด้วยความคิดอย่างพ่อค้าเกวียน พ่อค้าเกวียนละหนทางสายใหญ่ที่เรียบร้อยสม่ำเสมอเสีย แวะไปสู่ทางที่ขรุขระ เพลาก็หักสะบั้น ต้องซบเซา ฉันใด บุคคลละทิ้งธรรม หันไปประพฤติตามอธรรม ก็ฉันนั้น เป็นคนเขลาเบาปัญญา ดำเนินไปสู่ทางมฤตยู ต้องซบเซาอยู่เหมือนพ่อค้าเกวียนมีเพลาเกวียนหักแล้ว ฉะนั้น

    ถ้าท่านจะคิดถึงการเจริญสติปัฏฐานในพระสูตรนี้ได้ไหม ข้อความที่ว่า อย่าพยายามเป็นนักปราชญ์เจ้าความคิด ด้วยความคิดอย่างพ่อค้าเกวียน พ่อค้าเกวียนละหนทางสายใหญ่ที่เรียบร้อยสม่ำเสมอเสีย แวะไปสู่ทางที่ขรุขระ เพลาก็หักสะบั้น ต้องซบเซา ฉันใด บุคคลละทิ้งธรรม หันไปประพฤติตามอธรรม ก็ฉันนั้น เป็นคนเขลาเบาปัญญา ดำเนินไปสู่ทางมฤตยู ต้องซบเซาอยู่เหมือนพ่อค้าเกวียนมีเพลาเกวียนหักแล้วฉะนั้น

    สิ่งใดที่ไม่ตรงตามพระธรรมวินัย และสภาพธรรมตามความเป็นจริง แต่ท่านยังคิดว่าเป็นข้อปฏิบัติที่ถูก ฉะนั้น ข้อความนี้จึงมีว่า อย่าพยายามเป็นนักปราชญ์เจ้าความคิด คือ คิดอย่างอื่นที่ไม่เป็นจริง ไม่ตรงตามสภาพธรรมที่ปรากฏ และไม่ตรงตามพระธรรมที่ได้ทรงแสดงไว้ แต่เข้าใจว่าทางนั้นถูก และปฏิบัติไป จึงไม่สามารถที่จะละกิเลส ไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้ และเป็นทางที่ดำเนินไปสู่ทางมฤตยู คือ ไม่สามารถที่จะพ้นจากการเกิดได้ ฉะนั้น อย่าพยายามเป็นนักปราชญ์เจ้าความคิดในทางที่ผิด ที่ไม่ตรงตามพระธรรมวินัย

    ข้อความต่อไป เทพบุตรได้ปรากฏกับภิกษุ เพื่อเกื้อกูลในทางธรรม

    ชันตุสูตรที่ ๕ มีข้อความว่า

    สมัยหนึ่ง ภิกษุเป็นจำนวนมากอยู่ในกุฎี อันตั้งอยู่ในป่า ข้างเขาหิมวันต์ แคว้นโกศล เป็นผู้ฟุ้งซ่าน เย่อหยิ่ง โอนเอน ปากกล้า วาจาสามหาว มีสติฟั่นเฟือนขาดสัมปชัญญะ ไม่มั่นคง มีจิตคิดนอกทาง ประพฤติเยี่ยงคฤหัสถ์

    วันหนึ่งเป็นวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ ชันตุเทพบุตรเข้าไปหาพวกภิกษุเหล่านั้นถึงที่อยู่ ครั้นแล้วจึงได้กล่าวกะภิกษุเหล่านั้น ด้วยคาถาทั้งหลายว่า

    ครั้งก่อน พวกภิกษุผู้เป็นสาวกพระโคดม เป็นอยู่ง่าย เลี้ยงง่าย ไม่เป็นผู้มักได้ แสวงหาบิณฑบาต ไม่มักได้ที่นอน ที่นั่ง ท่านรู้ว่าสิ่งทั้งปวงในโลกเป็นของไม่เที่ยง กระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ ส่วนท่านเหล่านี้ ทำตนให้เป็นคนเลี้ยงยาก เหมือนชาวบ้านที่โกงเขากิน กินๆ แล้วก็นอน เที่ยวประจบไปในเรือนของคนอื่น ข้าพเจ้าขอทำอัญชลีต่อท่าน ขอพูดกับท่านบางพวกในที่นี้ว่า

    พวกท่านถูกเขาทอดทิ้ง หมดที่พึ่ง เป็นเหมือนเปรต ที่ข้าพเจ้ากล่าวนี้ หมายเอาบุคคลจำพวกที่ประมาทอยู่ ส่วนท่านพวกใดไม่ประมาทอยู่ ข้าพเจ้าขอนมัสการท่านพวกนั้น

    ข้อความที่ว่า ภิกษุที่เป็นอยู่อย่างนี้เหมือนเปรต เพราะเป็นอยู่ได้ด้วยอาหารที่ได้มาจากบุคคลอื่น ที่ขอมาสำหรับที่จะประทังชีวิต หรือเพียงแต่ดับความกระวนกระวาย ทุกขเวทนาของร่างกายเท่านั้น แต่ว่าไม่ได้เป็นผู้ที่เจริญสมณธรรม และไม่ใช่ผู้ที่ไม่ประมาท ฉะนั้น ความเป็นอยู่ของภิกษุเหล่านั้น ก็ไม่ต่างอะไรกับพวกเปรต

    ต่อไป เป็นข้อความที่แม้เทวดาก็อนุโมทนาในคุณความดีของผู้ที่ทรงคุณความดี

    สุสิมสูตรที่ ๙ มีข้อความว่า

    สาวัตถีนิทาน

    ณ กาลครั้งหนึ่ง ท่านพระอานนท์เถระเจ้าเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วจึงถวายอภิวาท นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับท่านพระอานนท์ว่า

    อานนท์ เธอชอบสารีบุตรหรือไม่

    ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ใครเล่าที่ไม่ใช่คนพาล ไม่ใช่คนมุทะลุ ไม่ใช่คนงมงายไม่ใช่คนมีจิตวิปลาส จะไม่ชอบท่านพระสารีบุตร เพราะท่านเป็นบัณฑิต มีปัญญามาก เป็นเจ้าปัญญา มีปัญญาชวนให้ร่าเริง มีปัญญาแล่น มีปัญญาหลักแหลม มีปัญญาแทงตลอด มีความปรารถนาน้อย สันโดษ เป็นผู้สงัดกาย สงัดใจ ไม่คลุกคลีด้วยหมู่ ปรารภความเพียร เป็นผู้เข้าใจพูด อดทนต่อถ้อยคำ เป็นผู้โจทก์ท้วงคนผิด เป็นผู้ตำหนิคนชั่ว

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ใครเล่าที่ไม่ใช่คนพาล ไม่ใช่คนมุทะลุ ไม่ใช่คนงมงายไม่ใช่คนมีจิตวิปลาส จะไม่ชอบท่านสารีบุตร

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    อย่างนั้น อย่างนั้น อานนท์ ใครเล่าที่ไม่ใช่คนพาล ไม่ใช่คนมุทะลุ ไม่ใช่คนงมงาย ไม่ใช่คนมีจิตวิปลาส จะไม่ชอบสารีบุตร เพราะสารีบุตรเป็นบัณฑิต มีปัญญามาก เป็นเจ้าปัญญา มีปัญญาชวนให้ร่าเริง มีปัญญาแล่น มีปัญญาหลักแหลม มีปัญญาแทงตลอด มีความปรารถนาน้อย สันโดษ เป็นผู้สงัดกาย สงัดใจ ไม่คลุกคลีด้วยหมู่ ปรารภความเพียร เป็นผู้เข้าใจพูด อดทนต่อถ้อยคำ เป็นผู้โจทก์ท้วงคนผิด เป็นผู้ตำหนิคนชั่ว

    อานนท์ ใครเล่าที่ไม่ใช่คนพาล ไม่ใช่คนมุทะลุ ไม่ใช่คนงมงาย ไม่ใช่คนมีจิตวิปลาส จะไม่ชอบสารีบุตร

    ถ้าท่านไม่อนุโมทนาในคุณความดีของบุคคลอื่น ก็เป็นผู้มีจิตวิปลาส เป็นคนงมงายใช่หรือไม่ใช่ ฟังธรรม น้อมนำธรรมที่ได้ฟังมาพิจารณาว่า เป็นอย่างนั้นบ้างหรือเปล่า แม้เล็กๆ น้อยๆ นิดๆ หน่อยๆ ในความดีของคนอื่น ถ้าไม่อนุโมทนา ขณะนั้นจิตเป็นอย่างไร

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ณ กาลครั้งนั้น สุสิมเทพบุตร แวดล้อมไปด้วยเทพบุตรบริษัทเป็นอันมากขณะที่พระผู้มีพระภาคและพระอานนท์เถระเจ้ากำลังกล่าวสรรเสริญคุณท่านพระสารีบุตรอยู่ ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วจึงถวายอภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เมื่อยืนเรียบร้อยแล้ว จึงได้กราบบังคมทูลพระผู้มีพระภาคว่า

    จริงอย่างนั้น พระผู้มีพระภาค จริงอย่างนั้น พระสุคต อันใครเล่าที่ไม่ใช่คนพาล ไม่ใช่คนมุทะลุ ไม่ใช่คนงมงาย ไม่ใช่คนมีจิตวิปลาส จะไม่ชอบท่านพระสารีบุตร เพราะท่านเป็นบัณฑิต มีปัญญามาก เป็นเจ้าปัญญา มีปัญญาชวนให้ร่าเริง มีปัญญาแล่น มีปัญญาหลักแหลม มีปัญญาแทงตลอด มีความปรารถนาน้อยสันโดษ เป็นผู้สงัดกาย สงัดใจ ไม่คลุกคลีด้วยหมู่ ปรารภความเพียร เป็นผู้เข้าใจพูด อดทนต่อถ้อยคำ เป็นผู้โจทยก์ท้วงคนผิด เป็นผู้ตำหนิคนชั่ว

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะข้าพระองค์ได้เข้าร่วมประชุมเทพบุตรบริษัทใดๆ ก็ได้ยินเสียงอย่างหนาหูว่า ท่านพระสารีบุตรเป็นบัณฑิต ข้อความซ้ำต่อไปจนถึง เป็นผู้ตำหนิคนชั่ว

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ใครเล่าที่ไม่ใช่คนพาล ไม่ใช่คนมุทะลุ ไม่ใช่คนงมงายไม่ใช่คนมีจิตวิปลาส จะไม่ชอบท่าน

    ครั้งนั้น เทพบุตรบริษัทของสุสิมเทพบุตร ขณะที่สุสิมเทพบุตรกำลังกล่าวสรรเสริญคุณท่านพระสารีบุตรอยู่ เป็นผู้ปลื้มใจ เบิกบาน เกิดปีติโสมนัส มีรัศมีแห่งผิวพรรณแพรวพราวปรากฏอยู่

    แก้วมณีและแก้วไพฑูรย์ อันงามโชติช่วง ๘ เหลี่ยม อันบุคคลขัดสีเรียบร้อยแล้ว วางไว้บนผ้ากัมพลสีเหลือง ย่อมส่องแสงแพรวพราวรุ่งเรือง ฉันใด เทพบุตรบริษัทของสุสิมเทพบุตร ขณะที่สุสิมเทพบุตรกำลังกล่าวสรรเสริญคุณท่านพระสารีบุตรอยู่ เป็นผู้ปลื้มใจ เบิกบาน เกิดปีติโสมนัส มีรัศมีแห่งผิวพรรณแพรวพราวปรากฏอยู่ ฉันนั้น

    แท่งทองชมพูนุช เป็นของที่บุตรนายช่างทองผู้ขยันหมั่นใส่เบ้า หลอมไล่ จนสิ้นราคี เสร็จแล้ววางไว้บนผ้ากัมพลสีเหลือง ย่อมขึ้นสีผุดผ่องเปล่งปลั่ง ฉันใด เทพบุตรบริษัทของสุสิมเทพบุตร ขณะที่สุสิมเทพบุตรกำลังกล่าวสรรเสริญคุณท่านพระสารีบุตรอยู่ เป็นผู้ปลื้มใจ เบิกบาน เกิดปีติโสมนัส มีรัศมีแห่งผิวพรรณแพรวพราวปรากฏอยู่ ฉันนั้น

    ดาวประกายพฤกษ์ ขณะที่อากาศปลอดโปร่ง ปราศจากหมู่เมฆในฤดูสรทกาลย่อมส่องแสงสุกสกาววาวระยับ ฉันใด เทพบุตรบริษัทของสุสิมเทพบุตร ขณะที่สุสิมเทพบุตรกำลังกล่าวสรรเสริญคุณท่านพระสารีบุตรอยู่ เป็นผู้ปลื้มใจ เบิกบาน เกิดปีติโสมนัส มีรัศมีแห่งผิวพรรณแพรวพราวปรากฏอยู่ ฉันนั้น

    พระอาทิตย์ ขณะที่อากาศปลอดโปร่ง ปราศจากหมู่เมฆในฤดูสรทกาล พวยพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้า ขจัดความมืดที่มีอยู่ในอากาศทั้งปวง ย่อมแผดแสง แจ่มจ้า ไพโรจน์ฉันใด เทพบุตรบริษัทของสุสิมเทพบุตร ขณะที่สุสิมเทพบุตรกำลังกล่าวสรรเสริญคุณท่านพระสารีบุตรอยู่ เป็นผู้ปลื้มใจ เบิกบาน เกิดปีติโสมนัส มีรัศมีแห่งผิวพรรณแพรวพราวปรากฏอยู่ ฉันนั้น

    ครั้งนั้น สุสิมเทพบุตรได้กล่าวคาถานี้ทูลถวายพระผู้มีพระภาค ปรารภถึงท่านพระสารีบุตรว่า

    ท่านพระสารีบุตร คนรู้จักท่านดีว่าเป็นบัณฑิต ไม่ใช่คนมักโกรธ มีความปรารถนาน้อย สงบเสงี่ยม ฝึกฝนมาดี มีคุณงามความดีอันพระศาสดาทรงสรรเสริญ เป็นผู้แสวงคุณ

    พระผู้มีพระภาคได้ภาษิตคาถาตอบสุสิมเทพบุตร ปรารภถึงท่านพระสารีบุตรว่า

    สารีบุตร ใครๆ ก็รู้จักว่าเป็นบัณฑิต ไม่ใช่คนมักโกรธ มีความปรารถนาน้อยสงบเสงี่ยม อบรม ฝึกฝนมาดี จำนงอยู่ก็แต่กาลเป็นที่ปรินิพพาน

    แสดงให้เห็นว่า มนุษย์ไม่เห็นเทพ แต่เทพเห็นมนุษย์ ฉะนั้น ไม่ว่าใครจะทำดีทำชั่วอย่างไร แต่พวกอมนุษย์ทั้งหลาย เช่น เทพ หรือเปรตก็เห็นได้ ฉะนั้น เวลาที่ท่านคิดที่จะเชื้อเชิญเทพมาร่วมเวลาที่ท่านทำกุศลต่างๆ เช่น ในขณะที่ท่านกำลังฟังธรรม เชื้อเชิญเทพมาฟังธรรม ขอให้สังเกตจิตใจของท่าน เพราะบางคนมีความผูกพันในเทพ สนใจแต่เทพ อยากจะเกี่ยวข้อง อยากจะผูกพัน บางท่านที่ผูกพันมากๆ ทำสมาธิ อาจจะเข้าใจว่าตนเองได้เกี่ยวข้องกับเทพ ได้เห็นเทพ ได้ปราศรัยกับเทพ กังวลห่วงใยผูกพันในเทพ จนกระทั่งถ้าได้กลิ่นอะไรหอม คงจะเป็นเทพ แทนที่จะพิจารณาให้รอบคอบถี่ถ้วนว่าเป็นกลิ่นอะไร เกิดปรากฏแล้วก็หมดไป ถ้าเป็นกลิ่นธูปอาจจะลอยมาจากบ้านข้างเคียง ห้องข้างเคียง ที่อื่นก็ได้ หรือว่ากลิ่นอื่นมากระทบ ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ ก็จะละ โดยการรู้ในสภาพธรรมนั้น เกิดปรากฏแล้วก็หมดไป เท่านั้นเอง

    แต่นี่ไม่ใช่การละ เป็นการติด แทนที่จะพิจารณารู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏกลับไปห่วงพะวงถึงเทพว่า เทพคงจะมา ก็เป็นลักษณะของผู้ที่ผูกพันในเทพ แต่ตามความเป็นจริง เทพเป็นการเกิดในกำเนิดที่สูงกว่ามนุษย์ ด้วยคุณธรรมความดีที่เป็นผลของกุศลกรรม และชีวิตความเป็นอยู่ของเทพก็มีความสุข ความสบายมากกว่าในภูมิของมนุษย์

    ถ้าเทพเป็นผู้ที่ใคร่ต่อการศึกษาปฏิบัติธรรม ก็มีโอกาสมากกว่ามนุษย์ ไม่ลำบากเดือดร้อน ซึ่งท่านก็รู้ว่าเป็นมนุษย์ยุ่งยาก มีเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งเป็นความวุ่นวาย ความเดือดร้อน ความทุกข์ยากต่างๆ แต่ว่าในภูมิของเทพนั้น สุขสบายกว่าถ้าเทพจะเป็นผู้ที่ฝักใฝ่ในธรรม ในการศึกษา ในการปฏิบัติธรรม ก็มีศาลาสุธรรมาในสวรรค์ เทพมีโอกาสที่จะฟังบุคคลผู้รู้ ผู้เป็นพระอริยเจ้า อย่างในสวรรค์ชั้นดุสิตก็มีท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี มีพระอริยเจ้ามากมายทีเดียว ซึ่งถ้าเทพจะเป็นผู้ที่ฝักใฝ่ต่อการศึกษาธรรม การปฏิบัติธรรม จะมีโอกาสดีกว่าภูมิมนุษย์ เพราะว่ามีผู้รู้ ผู้ที่เป็นพระอริยเจ้าในภูมินั้นๆ มาก



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๒๙ ตอนที่ ๒๘๑ – ๒๙๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 37
    28 ธ.ค. 2564