แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 267


    ครั้งที่ ๒๖๗


    ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ รู้วิธีสลัดกามราคะ ไม่มีวิธีอื่น ไม่มีหนทางอื่นที่จะไปกั้นกามราคะ ความยินดีพอใจในรูป สิ่งต่างๆ ที่เห็น ที่สวยงาม ที่น่ายินดี ที่น่าพอใจ ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะได้ ไม่มีวิธีอื่น ถ้าด้วยการเจริญสมถภาวนา ก็เพียงระงับไว้ แต่ไม่ได้สลัดออกไปได้ นอกจากการเป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน จึงจะเป็นผู้ที่รู้วิธีที่จะสลัดกามราคะเป็นสมุจเฉทได้ตามลำดับขั้น โดยการที่สลัดความยินดีพอใจ ที่เกิดร่วมกับความยินดีที่ยึดถือสภาพธรรมนั้นว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน แต่ถ้าไม่รู้วิธี ก็ย่อมเพ่งเล็ง จดจ่อ ปักใจ มุ่งหมายเฉพาะกามราคะ ทำกามราคะไว้ในภายใน ขณะที่เพ่งเล็ง จดจ่อ ปักใจ เป็นฌานจิตที่ประกอบด้วยวิตก วิจาร ถ้าขณะนั้นยินดีพอใจ นึกถืงด้วยความสุข ก็เป็นปีติ สุข เอกัคคตา แต่เป็นอกุศลฌาน

    ข้อความต่อไปมีว่า

    มีใจปั่นป่วนด้วยพยาบาท ถูกพยาบาทครอบงำอยู่ และไม่รู้จักสลัดพยาบาท อันเกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง เธอย่อมเพ่งเล็ง จดจ่อ ปักใจ มุ่งหมายเฉพาะพยาบาท ทำพยาบาทไว้ในภายใน

    เวทนาเปลี่ยนแล้ว องค์ฌานยังมีในขณะที่เพ่งเล็ง จดจ่อ ปักใจด้วยพยาบาทนั้น ประกอบด้วยองค์ของฌาน คือ วิตก วิจาร แต่ไม่ใช่ปีติ เพราะว่าขณะนั้นเป็น โทสมูลจิต ต้องประกอบด้วยโทมนัสเวทนา และเอกัคคตาเจตสิก เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นเป็นอกุศลฌาน

    ข้อความต่อไปมีว่า

    มีใจกลัดกลุ้มด้วยถีนมิทธะ ถูกถีนมิทธะครอบงำอยู่ และไม่รู้จักสลัดถีนมิทธะอันเกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง เธอย่อมเพ่งเล็ง จดจ่อ ปักใจ มุ่งหมายเฉพาะถีนมิทธะ ทำถีนมิทธะไว้ในภายใน

    ข้อความต่อไปมีว่า

    มีใจกลัดกลุ้มด้วยอุทธัจจกุกกุจจะ ถูกอุทธัจจกุกกุจจะครอบงำอยู่ และไม่รู้จักสลัดอุทธัจจกุกกุจจะอันเกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง เธอย่อมเพ่งเล็ง จดจ่อ ปักใจ มุ่งหมายเฉพาะอุทธัจจกุกกุจจ ทำอุทธัจจกุกกุจจะไว้ในภายใน

    อุทธัจจะ เป็นเจตสิกธรรมที่ทำให้จิตไม่สงบ ฟุ้งซ่านไป กุกกุจจะเป็นเจตสิกธรรมที่รำคาญใจ เดือดร้อนใจในอกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว หรือในกุศลกรรมที่ยังไม่ได้กระทำ

    มีท่านผู้ใดบ้างไหมที่ไม่เคยทำอกุศลกรรม นึกขึ้นมาด้วยความเป็นตัวตนเดือดร้อนใจว่า ได้กระทำอกุศลกรรมไปมากเหลือเกิน วิธีที่จะสลัดออกนั้นทำอย่างไร ถ้าไม่ใช่เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ความเป็นตัวตนทำให้จิตเดือดร้อน ใจไม่สงบ กระวนกระวาย แต่ผู้ที่รู้วิธีสลัดออก เพราะเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ระลึกในสภาพที่กำลังเดือดร้อนใจนั้น ในขณะที่กำลังรำคาญใจนั้น รู้ว่าเป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่งแล้วก็หมดไป และมีนามธรรมรูปธรรมอื่นเกิดสืบต่อเพราะเหตุปัจจัย ที่สติจะต้องระลึกจนกว่าจะรู้ชัด จนกว่าจะชิน จนกว่าจะทั่ว จนกว่าจะละคลายการที่ยึดถือสภาพนามธรรมและรูปธรรมทั้งปวงที่เกิดปรากฏว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้จริงๆ ไม่ว่าในขณะใดทั้งสิ้น แม้ในขณะที่อุทธัจจกุกกุจจะกำลังเกิด ก็จะต้องรู้วิธีสลัดออก แต่ผู้ที่ไม่รู้วิธี ก็ย่อมเป็นผู้ที่เพ่งเล็ง จดจ่อ ปักใจ มุ่งหมายเฉพาะอุทธัจจกุกกุจจะ ทำอุทธัจจกุกกุจจะไว้ในภายใน ซึ่งเป็นอกุศลฌานในขณะนั้น

    ข้อความต่อไปมีว่า

    มีใจกลัดกลุ้มด้วยวิจิกิจฉา ถูกวิจิกิจฉาครอบงำอยู่ และไม่รู้จักสลัดวิจิกิจฉาอันเกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง เธอย่อมเพ่งเล็ง จดจ่อ ปักใจ มุ่งหมายเฉพาะวิจิกิจฉา ทำวิจิกิจฉาไว้ในภายใน

    เรื่องวิจิกิจฉานี้ก็มีเสมอ สำหรับผู้ที่ยังไม่รู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระโสดาบัน บุคคล ทางกายกำลังปรากฏกระทบ ลักษณะนี้เป็นนามธรรม หรือเป็นรูปธรรม สติไม่ได้ระลึกเนืองๆ บ่อยๆ เพราะฉะนั้น ก็ย่อมเกิดความสงสัยในสภาพธรรมที่ปรากฏในขณะนั้นด้วยความไม่รู้ชัด

    อย่างลักษณะที่ตึง ลักษณะที่ไหว บางท่านก็ไม่รู้ เพราะว่าท่านพยายามที่จะระลึกรู้ธาตุลม แต่ลักษณะที่ตึงไหวเป็นปกติ สติไม่ได้ระลึกรู้ เพราะท่านกำลังหาชื่อของธาตุลมว่า ธาตุลมมีลักษณะอย่างไร แต่ที่ตึงที่ไหวเป็นปกตินี้เอง เป็นลักษณะของธาตุลม เป็นปรมัตถธรรม มีลักษณะปรากฏ

    เรื่องของวิจิกิจฉาที่มี เกิดขึ้นเพราะสติระลึกรู้ไม่ทั่ว เพราะฉะนั้น หนทางที่จะสลัดวิจิกิจฉาคืออย่างไร ไม่ใช่วิธีอื่นเลย นอกจากสติระลึกรู้ทันทีว่า ขณะนั้นเป็นแต่เพียงนามธรรม หรือรูปธรรม จึงสามารถที่จะตรงลักษณะสภาพธรรมที่เป็นปกติตามความเป็นจริงได้

    ท่านพระอานนท์กล่าวกับวัสสการพราหมณ์ต่อไปว่า

    ดูกร พราหมณ์ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ไม่ทรงสรรเสริญฌานเช่นนี้แล

    หมายความถึง การเพ่งเล็ง จดจ่อ ปักใจ ด้วยกามราคะ ด้วยพยาบาท ด้วยถีนมิทธะ ด้วยอุทธัจจกุกกุจจะ ด้วยวิจิกิจฉา

    ท่านพระอานนท์กล่าวต่อไปว่า

    ดูกร พราหมณ์ ก็พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงสรรเสริญฌานเช่นไรเล่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม

    เข้าปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติ และสุข เกิดแต่วิเวกอยู่

    เข้าทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งใจภายใน มีความเป็นธรรมเอกผุดขึ้น เพราะสงบวิตกและวิจาร ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติ และสุข เกิดแต่สมาธิอยู่

    เป็นผู้วางเฉย เพราะหน่ายปีติ มีสติสัมปชัญญะอยู่ และเสวยสุขด้วยนามกาย เข้าตติยฌาน ซึ่งพระอริยะเรียกเธอได้ว่าผู้วางเฉย มีสติอยู่ เป็นสุขอยู่

    เข้าจตุตฌาน อันไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุข ละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีสติบริสุทธิ์ เพราะอุเบกขาอยู่

    ดูกร พราหมณ์ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงสรรเสริญฌานเช่นนี้แล

    วัสสการพราหมณ์กล่าวว่า

    ข้าแต่พระอานนท์ผู้เจริญ เป็นอันว่าพระโคดมผู้เจริญพระองค์นั้น ทรงติเตียนฌานที่ควรติเตียน ทรงสรรเสริญฌานที่ควรสรรเสริญ เอาล่ะ กระผมมีกิจมาก มีกรณียะมาก จะขอลาไปในบัดนี้

    ท่านพระอานนท์กล่าวว่า

    ดูกร พราหมณ์ ขอท่านโปรดสำคัญกาลอันควร ในบัดนี้เถิด

    ต่อนั้น วัสสการพราหมณ์ มหาอำมาตย์แห่งมคธรัฐ ชื่นชมยินดีภาษิตของท่านพระอานนท์แล้ว ลุกจากอาสนะหลีกไป

    พระสูตรนี้ หลังจากที่พระผู้มีพระภาคปรินิพพานแล้วไม่นาน ครั้งนั้นท่านพระอานนท์อยู่ที่พระวิหารเวฬุวัน เพราะฉะนั้น ธรรมที่ท่านพระอานนท์แสดงก็เป็นธรรมที่ท่านได้รู้แจ้งแล้ว และท่านเป็นผู้ที่ทรงจำพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงแล้ว

    เรื่องของฌาน ท่านผู้ฟังจะเข้าใจความหมายละเอียดขึ้น ความหมายของฌานนั้น หมายความถึงความเพ่ง หรือเผา อันเป็นเหตุ หรือเป็นปัจจัยให้ผลเกิดขึ้น

    คำว่า เพ่ง หมายถึงการเพ่ง หรือจดจ่อ หรือพิจารณาอารมณ์

    คำว่า เผา หมายถึงการเผาปฏิปักขธรรม คือ ธรรมฝ่ายตรงกันข้าม

    ถ้าท่านผู้ฟังศึกษาพระธรรมวินัยโดยละเอียด จะทราบว่า แม้แต่การเจริญวิปัสสนาก็ใช้คำว่า ฌาน ในความหมายว่า เผากิเลส

    เรื่องของฌาน มี ๒ ความหมาย ใน ปปัญจสูทนี ภาค ๓ ซึ่งเป็นอรรถกถามัชฌิมนิกาย วาเสฏฐสูตร มีข้อความอธิบายเรื่องฌานว่า ฌายี ในที่นี้ แก้เป็น ฌานทั้ง ๒ คือ อารัมมณูปนิชฌาน ๑ และลักขณูปนิชฌาน ๑

    ปฐมสมันตปาสาทิกา ภาค ๑ เวรัญชกัณฑวรรณา คาถาว่าด้วยปฐมฌานมีข้อความว่า

    ฌานมี ๒ นัย ฌานนี้นั้น มี ๒ อย่าง คือ อารัมมณูปนิชฌาน เพ่งอารมณ์ ๑ ลักขณูปนิชฌาน เพ่ง คือ หมายความถึง พิจารณาโดยรอบในลักษณะ ๑ ได้แก่ ไตรลักษณ์

    บรรดาฌานทั้ง ๒ นั้น สมาบัติ ๘ พร้อมด้วยอุปจาระ ท่านเรียกว่า อารัมมณูปนิชฌาน ถามว่า เพราะเหตุไร แก้ว่า เพราะการเข้าไปเพ่งอารมณ์ คือ กสิณ

    ข้อความต่อไป

    วิปัสสนา มรรค และผล ท่านเรียกว่า ลักขณูปนิชฌาน ถามว่า เพราะเหตุไร แก้ว่า เพราะการเข้าไปเพ่งลักษณะ

    ซึ่งคำแปล เพ่ง หมายความถึงพิจารณารู้ลักษณะที่เป็นไตรลักษณ์

    จริงอยู่ บรรดาวิปัสสนา มรรค และผลเหล่านี้ วิปัสสนาย่อมพิจารณาไตรลักษณ์ มีอนิจจลักษณะ เป็นต้น

    ก็กิจ คือ การเพ่ง พิจารณาด้วยวิปัสสนา ย่อมสำเร็จด้วยมรรค เพราะเหตุนี้ มรรคท่านเรียกว่า ลักขณูปนิชฌาน ส่วนผล ท่านก็เรียกว่า ลักขณูปนิชฌาน เพราะอรรถว่า เพ่ง พิจารณาลักษณะที่แท้จริงแห่งนิโรธ

    แต่ในอรรถนี้ คือ ในกถาว่าด้วยปฐมฌาน ท่านประสงค์อารัมมณูปนิชฌาน เท่านั้นว่า ฌาน

    เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมต้องละเอียดว่า อยู่ในหมวดไหน ถ้าอยู่ในเรื่องของปฐมฌาน ท่านหมายเฉพาะอารัมมณูปนิชฌาน คือ การเจริญสมถภาวนา ส่วนการเจริญวิปัสสนาภาวนาทั้งหมดเป็นลักขณูปนิชฌาน เพราะเป็นการพิจารณาไตรลักษณ์ ลักษณะที่ไม่เที่ยงของสังขารธรรม นาม และรูปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    คราวก่อนได้พูดถึงกำเนิดของสัตว์ดิรัจฉาน ซึ่งถ้าท่านผู้ฟังจะพิจารณาลักษณะจิตใจของสัตว์ดิรัจฉาน ก็มีทั้งโลภะ โทสะ โมหะ บางขณะก็รุนแรงไม่ต่างกับผู้ที่เป็นมนุษย์ ทางฝ่ายอกุศลมีมาก แต่ทางฝ่ายกุศลนั้นมีน้อยสำหรับกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน

    เพราะฉะนั้น ประโยชน์ของการเกิดเป็นมนุษย์ คือ ควรที่จะได้ขัดเกลา ละกิเลส เพราะถ้ายังไม่รู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยบุคคล ก็ยังมีเหตุ มีปัจจัยที่จะทำให้เกิดในกำเนิดของสัตว์ดิรัจฉานได้ และจะเห็นได้ว่า กิเลสที่สะสมาตั้งแต่อดีตอนันตชาติ ไม่ว่าจะในกำเนิดใดๆ จนถึงปัจจุบันชาติ ก็มีความโน้มเอียงไปแต่ละลักษณะที่จะทำให้เป็นแต่ละบุคคล ที่เป็นปัจจัยให้วิบากจิตเกิดขึ้น รับผลของกรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ต่างๆ กัน การขัดเกลากิเลสที่สะสมมาต่างๆ กันนั้น ก็ทำให้จิตที่เกิดนั้น วิจิตรต่างๆ กันไป

    ขอกล่าวถึงข้อความในชาดกที่แสดงถึงความรู้สึกของสัตว์ดิรัจฉาน ซึ่งถ้าไม่ขัดเกลากิเลสให้เบาบางจากชาติที่เป็นมนุษย์ ไปถึงความเป็นสัตว์ดิรัจฉานแล้ว กิเลสก็มากมายหนาแน่น สะสมสืบต่อไป และหมดโอกาสที่จะขัดเกลาในกำเนิดของ สัตว์ดิรัจฉานด้วย ท่านจะได้พิจารณาคติธรรม แม้ในชาดกก็ไม่ควรที่จะข้ามไป แม้เป็นเรื่องของสัตว์ดิรัจฉาน ก็ไม่พ้นไปจากความทุกข์ ความโศก และเศร้าโศกมากมายถ้าเป็นสัตว์ที่รู้ความมากจนเกือบจะเทียบเท่ามนุษย์ทีเดียว

    ขุททกนิกาย ชาดก ภัลลาติยชาดก มีข้อความว่า

    ได้มีพระราชาทรงพระนามว่า ภัลลาติยะ ทรงละรัฐสีมา เสด็จประพาสป่าล่ามฤค ท้าวเธอเสด็จไปถึงคันธมาทน์วรคิรี มีพันธุ์ดอกไม้บานสะพรั่ง ซึ่งกินนรเลือกเก็บอยู่เนืองๆ

    กำเนิดของสัตว์ดิรัจฉานวิจิตรมาก ตั้งแต่สัตว์ที่เล็กที่สุด จนกระทั่งสัตว์ที่รู้ความที่สุด

    มีกินนร ๒ สามีภรรยา ยืนกันอยู่ ณ ที่ใด ท้าวเธอประสงค์จะตรัสถาม จึงทรงห้ามหมู่สุนัข และเก็บแล่งธนูไว้ แล้วเสด็จเข้าไปใกล้ ณ ที่นั้น ตรัสถามว่า

    ล่วงฤดูหนาวแล้ว เหตุใดเจ้าทั้งสองจึงมายืนกระซิบกระซาบกันอยู่เนืองๆ ที่ริมฝั่งเหมวดี ณ ที่นี้เล่า เราขอถามเจ้าทั้งสองผู้มีเพศเหมือนกายมนุษย์ ชนทั้งหลายในมนุษย์โลกนี้จะรู้จักเจ้าทั้งสองว่าเป็นอะไร

    บางทีก็พบสัตว์ที่แปลกมากตามความวิจิตรของจิต

    กินนรกล่าวตอบว่า

    ข้าแต่ท่านพราน เราทั้งสองเป็นมฤค มีเพศพันธุ์ปรากฏเหมือนมนุษย์ เที่ยวอยู่ตามแม่น้ำเหล่านี้ คือ มาลาคิรีนที ปัณฑรกนที ติกูฏนที ซึ่งมีน้ำใสไหลเย็นสนิท ชาวโลกรู้จักเราทั้งสองว่าเป็น กินนร

    พระเจ้าภัลลาติยะตรัสว่า

    เจ้าทั้งสองเหมือนได้รับความทุกข์ร้อนเสียเหลือเกิน ปริเทวนาอยู่ เจ้าทั้งสองมีความรักกัน ได้สวมกอดกันสมความรักแล้ว เราขอถามเจ้าทั้งสองผู้มีเพศพันธุ์ดังกายมนุษย์ เหตุไรเจ้าทั้งสองจึงร้องไห้อยู่ในป่านี้ไม่สร่างซาเลย เจ้าทั้งสองเหมือนได้รับความทุกข์ร้อนเสียเหลือเกิน ปริเทวนาอยู่ เจ้าทั้งสองมีความรักกัน ได้สวมกอดกันสมความรักแล้ว เราขอถามเจ้าทั้งสอง ผู้มีเพศพันธุ์ดังกายมนุษย์ เหตุไรเจ้าทั้งสองจึงมาบ่นเพ้ออยู่ในป่านี้ไม่สร่างซาเลย

    เป็นสัตว์ดิรัจฉาน ไม่พ้นจากเรื่องของโลภะ โทสะความทุกข์ ความโศกก็มีประการต่างๆ ซึ่งถ้าท่านผู้ฟังยังสะสมโลภะ โทสะไว้มากๆ ถึงจะไปเกิดในกำเนิดไหน ก็ไม่พ้นจากโลภะ โทสะซึ่งแสดงออกมาตามควรแก่กำเนิดนั้นๆ

    กินนรกล่าวว่า

    ข้าแต่ท่านพราน เราทั้งสองไม่อยากจากกัน ก็ต้องจากกัน แยกกัน อยู่สิ้นราตรีหนึ่ง เมื่อมาระลึกถึงกันและกันก็เดือดร้อน เศร้าโศกถึงกันตลอดราตรีหนึ่งว่า ราตรีนั้นจะไม่มีอีก

    พระเจ้าภัลลาติยะตรัสว่า

    เจ้าทั้งสองคิดถึงทรัพย์ที่หายไปหรือ หรือว่าคิดถึงบิดามารดาผู้ล่วงลับไปแล้ว จึงได้เดือดร้อนอยู่สิ้นราตรีหนึ่ง เราขอถามเจ้าทั้งสองผู้มีเพศพันธุ์ดังกายมนุษย์ เหตุไรเจ้าทั้งสองจึงต้องจากกันไป

    นางกินนรีกล่าวว่า

    ท่านเห็นนทีนี้แห่งใด มีกระแสอันเชี่ยว ไหลมาในระหว่างหุบหิน ปกคลุมไปด้วยหมู่ไม้ต่างๆ พันธุ์ ในฤดูฝน กินนรสามีผู้เป็นที่รักของดิฉันได้ข้ามแม่น้ำนั้นไป ด้วยสำคัญว่าดิฉันคงจะติดตามมาข้างหลัง ส่วนดิฉันมัวเลือกเก็บดอกปรู ดอกลำดวน ดอกมะลิซ้อน และดอกคัดเค้าที่บานๆ ด้วยคิดว่าสามีที่รักของเราจะได้ทัดทรงดอกไม้ ส่วนเราก็จะได้สอดแซมดอกไม้ เข้าไปนอนแนบสามีที่รักนั้น

    อนึ่ง ดิฉันมัวเลือกเก็บดอกบานไม่รู้โรย ดอกราชพฤกษ์ ดอกแคฝอย ดอกย่านทราย ด้วยคิดว่าสามีที่รักของเราจะทัดทรงดอกไม้ ส่วนเราก็จะได้สอดแซมดอกไม้ เข้าไปนอนแนบสามีที่รักนั้น

    อนึ่ง ดิฉันมัวเลือกเก็บดอกสาละพฤกษ์ซึ่งกำลังบานดี ร้อยเป็นพวงมาลัย ด้วยคิดว่าสามีที่รักของเราจะได้สวมใส่พวงมาลัย ส่วนเราก็จะได้สวมใส่พวงมาลัย เข้าไปนอนแนบสามีที่รักนั้น

    อนึ่ง ดิฉันมัวเลือกเก็บดอกสาละพฤกษ์ซึ่งกำลังบานดีแล้ว ร้อยกรองให้เป็น พวงๆ ด้วยคิดว่าคืนวันนี้เราทั้งสองจะอยู่ ณ ที่แห่งใด พวงดอกรังนี้จะเป็นเครื่องปูลาด ณ ที่นั้น

    อนึ่ง ดิฉันมัวเลินเล่อ บดกฤษณาดำและจันทร์แดงด้วยศิลาด้วยคิดว่า สามีที่รักของเราจะได้ประพรมร่างกาย ส่วนเราประพรมร่างกายแล้ว จักเข้าไปนอนแนบสามีที่รักนั้น

    นี่เป็นความประมาทของชีวิต สำหรับสัตว์ซึ่งมีแต่ความสุข และก็เพลิดเพลินไปในชีวิต ในสิ่งที่สวยๆ งามๆ ทั้งหลาย แต่ว่าอกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว ก็ต้องให้ผลแม้แต่สัตว์ดิรัจฉาน

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ครั้งนั้น น้ำมีกระแสอันเชี่ยวไหลมา พัดเอาดอกสาละพฤกษ์ ดอกสน ดอกกรรณิการ์ทั้งหลายไป โดยครู่เดียวนั้น น้ำก็ขึ้นเต็มฝั่ง ถึงเวลาเย็น ดิฉันข้ามแม่น้ำไปไม่ได้ คราวนั้นเราทั้งสองยืนกันอยู่คนละฝั่งแม่น้ำ มองเห็นหน้ากันและกัน ก็หัวเราะครั้งหนึ่ง มองไม่เห็นหน้ากัน ก็ร้องไห้เสียครั้งหนึ่ง คืนวันนั้น ได้ผ่านเราทั้งสองไปโดยยาก

    ข้าแต่ท่านพราน เมื่อพระอาทิตย์ขึ้นเวลาเช้า เราทั้งสองท่องข้ามแม่น้ำอันยุบแห้ง มาสวมกอดกันและกัน ร้องไห้อยู่คราวหนึ่ง หัวเราะอยู่คราวหนึ่ง



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๒๗ ตอนที่ ๒๖๑ – ๒๗๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 37
    28 ธ.ค. 2564