โสภณธรรม ครั้งที่ 008


    ตอนที่ ๘

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นผู้ที่ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ และเข้าใจถูกต้อง ถ้าเพียงแต่ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ แต่ยังไม่เข้าใจโดยถูกต้อง ก็ยังไม่ถึง ยังไม่บรรลุ

    ผู้ฟัง ศรัทธา สมมติว่าต่างศาสนาล่ะ เขาศรัทธาในศาสดาของเขา ชื่อว่าศรัทธาไหม

    ท่านอาจารย์ ไม่ชื่อ

    ผู้ฟัง ต้องในพระพุทธศาสนา

    ท่านอาจารย์ ศรัทธาเป็นโสภณสาธารณเจตสิก เพราะฉะนั้น ก็เกิดกับกุศลจิต โดยที่ไม่จำกัดเชื้อชาติและศาสนา ไม่ได้หมายความว่า คนที่นับถือศาสนาอื่นหรือว่ามีความเห็นผิด จะไม่มีกุศลจิตเลย เพราะเหตุว่ากุศลจิตก็ต่างขณะกับที่กำลังมีความเห็นผิด แต่ในขณะใดที่มีความเชื่อในลัทธิในความเห็นที่ไม่ตรงต่อลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นชาติศาสนาใด ก็เป็นอกุศลจิตในขณะนั้น คือ เป็นโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์

    ผู้ฟัง ทีนี้มาถึงพุทธศาสนา ถ้าเราเลื่อมใสในพระรัตนตรัย และศรัทธาในพระพุทธเจ้า ในสมัยพุทธกาล มีคนเลื่อมใส ศรัทธาในพระผู้มีพระภาค แล้วก็บวช เลื่อมใสในพระผู้มีพระภาค ศรัทธานี้เสื่อมได้

    ท่านอาจารย์ ถ้ายังไม่ถึงไตรสรณคมน์ ที่เป็นโลกุตตระก็เสื่อมได้ ก็ควรเป็นผู้ไม่ประมาทจริงๆ เพราะว่าเรื่องของจิตใจเป็นเรื่องที่เกิดมาชั่วขณะที่มีสังขารขันธ์ปรุงแต่งที่จะเป็นกุศล อกุศลเพียงเล็กน้อยแล้วก็ดับ เพราะฉะนั้น ความมั่นคงจริงๆ ในการที่จะเข้าใจในเหตุผลของสภาพธรรม จนไม่หวั่นไหว ก็เป็นสิ่งที่ลองพิสูจน์ว่า ในวันหนึ่งๆ จะไขว้เขวไปบ้างหรือเปล่า เหตุกับผลจะตรงกันไหม

    ขณะใดที่ไขว้เขว ขณะนั้นก็ไม่ใช่ศรัทธา ศรัทธานั้นไม่มั่นคง อกุศลจิตจึงทำให้ไขว้เขว เพราะฉะนั้น ศรัทธาที่จะมั่นคงจริงๆ จะต้องเป็นศรัทธาของผู้ที่เป็นพระอริยบุคคล ได้ประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง และก็เป็นผู้ที่รู้จักสภาพธรรมที่เกิดขึ้นกับตน แม้แต่ศรัทธาก็สามารถที่จะรู้ได้ว่า เจริญขึ้นหรือว่าเสื่อมลงในประการใด เพราะว่าเรื่องของกุศลก็มีมากมายหลายประการ ทั้งในเรื่องของทาน ในเรื่องของศีล ในเรื่องของภาวนา

    ก็เป็นเรื่องของเหตุการณ์และกาลเวลา แต่ถ้าเป็นผู้ที่มั่นคงในการเจริญสติปัฏฐานจะช่วยได้มากทีเดียว เพราะเหตุว่าเมื่อไม่หวั่นไหว ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์อย่างใด จิตใจอาจจะขุ่นเคือง เศร้าหมอง หมกมุ่น หรือว่าเต็มไปด้วยโลภะในรูปบ้าง ในเสียงบ้าง แต่ว่าการระลึกได้ที่จะศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น ก็ยังเกิดได้ เมื่อมีเหตุปัจจัย ซึ่งผู้ที่จะเป็นพระอริยบุคคล จะเลือกเวลาหรือเลือกอารมณ์ของการที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ทุกขณะที่เป็นวิถีจิต สติปัฏฐานควรที่จะเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง อาจารย์กล่าวว่า ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใด สติควรระลึกรู้ เวลานี้ผมอยู่ในสถานการณ์ท่ามกลางโลภะอย่างขนาดหนัก เพราะขณะนี้ผมกำลังซ่อมบ้านอยู่ ช่างต้องระดมสี เอาวัสดุต่างๆ มา สติไม่เกิดเลย มีแต่วุ่นวาย หลายๆ วันนี้ไม่ค่อยได้ระลึกเลย แสดงว่าท่ามกลางสถานการณ์นี้ไม่ดีแน่

    ท่านอาจารย์ มิได้ ให้ทราบว่าเป็นธรรมดา ไม่ว่าสถานการณ์ไหน ปัญญาต้องสามารถรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมในขณะนั้นจริงๆ จึงจะดับ...

    ผู้ฟัง มันไม่รู้

    ท่านอาจารย์ เรื่องของการไม่รู้ เป็นเรื่องของการไม่รู้ แต่เรื่องรู้ที่จะละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนนี้ จะต้องรู้ว่า อบรมไป เจริญไป พอระลึกขึ้นมาได้ ก็ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทางหนึ่งทางใด ใน ๖ ทาง มีอยู่เสมอ

    ผู้ฟัง มันไม่พ้นหรอก แต่พอเวลามานั่งฟังอาจารย์ ไม่ว่าในท่ามกลางในสถานการณ์อะไร ก็ทำให้คิดได้ ประเดี๋ยวเรากลับไป คงจะไม่จู้จี้กับช่าง

    ท่านอาจารย์ ขณะที่กำลังจู้จี้ก็เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม เรียกว่าไม่ควรเว้นเลยสักขณะที่เป็นวิถีจิต กำลังจู้จี้ก็รู้ ลักษณะของรูปธรรมหรือนามธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ไม่มีอื่นเลยตลอดสังสารวัฏที่ผ่านมาด้วยความไม่รู้ วิธีที่จะแก้ไขก็ต้องแก้ไขด้วยความรู้ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นไปในสังสารวัฏ มิฉะนั้น ก็จะดับความยึดถือว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลไม่ได้

    ไม่ได้หมายความว่า จะไม่ให้สวย แม้ในขณะที่จู้จี้ ก็เป็นนามธรรมและเป็นรูปธรรม ไม่ว่าเวทนา ความรู้สึก จะเป็นโสมนัส โทมนัส อุเบกขา ก็ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เพราะฉะนั้น ไม่ควรที่จะเข้าใจผิด คิดว่าธรรมเป็นอีกโลกหนึ่ง ซึ่งเป็นโลกซึ่งไม่ทำอะไรเลย แล้วก็ปล่อยให้ทุกอย่างผ่านไป ผิดๆ ถูกๆ

    ในเรื่องของศรัทธา ยังมีข้อสงสัยอะไรอยู่อีกหรือไม่ อย่าปนศรัทธากับความเชื่อในความเห็นผิด

    สำหรับโสภณสาธารณเจตสิกดวงต่อไป คือ สติเจตสิก ซึ่งเป็นคำที่ได้ยินบ่อย นภาษาไทย บางท่านอาจจะเข้าใจความหมายของสติ ผิด เพราะเหตุว่าคิดว่า สติ คือ ความรู้สึกตัวธรรมดาๆ ไม่หลงฟั่นเฟือน ก็เข้าใจว่ามีสติ หรือขณะที่ไม่ใช่เผลอ ก็เข้าใจว่าขณะนั้นมีสติ แต่ว่าตามความเป็นจริงแล้ว สติเป็นโสภณเจตสิก ซึ่งต้องเกิดเฉพาะกับโสภณจิตเท่านั้น

    ข้อความในอรรถสาลินี จิตตุปาทกัณฑ์ อธิบาย สตินทรีย์ มีข้อความว่า

    ธรรมที่ชื่อว่า สติ เพราะเป็นเหตุระลึก หรือว่าเป็นสภาพที่ระลึก หรือว่าเป็นเพียงการระลึกเท่านั้น

    นี่คือการที่จะแยกลักษณะของเจตสิกแต่ละประเภท แต่ละชนิดซึ่งเกิดร่วมกัน ให้เห็นว่าลักษณะของสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ก็เป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ไม่ปะปนกัน เช่น สติกับปัญญา ไม่ใช่เจตสิกเดียวกัน เพราะฉะนั้น ที่ชื่อว่า สติ เพราะเป็นเหตุระลึก หรือว่าเป็นสภาพธรรมที่ระลึก หรือว่าเป็นเพียงการระลึกเท่านั้น

    ถ้าจะพิจารณาธรรม จะเห็นได้ว่า ถ้าเข้าใจจริงๆ ว่าสติเป็นเจตสิก และเป็นขณะที่ระลึก ย่อมไม่มีเราที่จะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย ใช่ไหม

    ข้อความในอรรถสาลินี จิตตุปาทกัณฑ์ อธิบาย สตินทรีย์ มีข้อความว่า

    ธรรมที่ชื่อว่า สติ เพราะเป็นเหตุระลึก หรือว่าเป็นสภาพที่ระลึก หรือว่าเป็นเพียงการระลึกเท่านั้น

    นี่คือการที่จะแยกลักษณะของเจตสิกแต่ละประเภท แต่ละชนิดซึ่งเกิดร่วมกัน ให้เห็นว่าลักษณะของสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ก็เป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ไม่ปะปนกัน เช่น สติกับปัญญา ไม่ใช่เจตสิกเดียวกัน เพราะฉะนั้น ที่ชื่อว่า สติ เพราะเป็นเหตุระลึก หรือว่าเป็นสภาพธรรมที่ระลึก หรือว่าเป็นเพียงการระลึกเท่านั้น

    ถ้าจะพิจารณาธรรม จะเห็นได้ว่า ถ้าเข้าใจจริงๆ ว่า สติเป็นเจตสิก และเป็นขณะที่ระลึก ย่อมไม่มีเราที่จะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย ใช่ไหม

    มีแต่รู้ว่า ขณะใดหลงลืมสติ คือ สติไม่เกิด หรือว่าขณะใดสติเกิด จึงทำกิจของสติ เพราะเหตุว่าสติเป็นสภาพที่ระลึก เจตสิกอื่นจะทำกิจระลึก ซึ่งเป็นกิจของสติไม่ได้เลย

    ก็สตินั้น ชื่อว่า อินทรีย์ เพราะอรรถเป็นอธิบดี โดยครอบงำความเป็นผู้หลงลืมด้วยสติเสียได้

    วันหนึ่งๆ ทำไมกุศลจิตไม่เกิด เพราะเหตุว่าหลงลืมสติ สติไม่เกิด จึงไม่ระลึกเป็นไปในทาน ไม่ระลึกเป็นไปในศีล และไม่ระลึกเป็นไปในภาวนา แต่ถ้าขณะใดที่ระลึกจะให้ทาน ขณะนั้นไม่ใช่เรา คือ สติที่ทำกิจระลึกเป็นไปในทาน

    ที่สตินั้น ชื่อว่า อินทรีย์ เพราะอรรถเป็นอธิบดี โดยครอบงำความเป็นผู้หลงลืมด้วยสติเสียได้

    หรือชื่อว่า อินทรีย์ เพราะครองความเป็นใหญ่ในลักษณะแห่งการปรากฏ

    ที่จะรู้ได้ว่ามีสติ หรือหลงลืมสติ ก็ทำให้รู้ได้เพราะลักษณะของสตินั่นเอง

    สตินั่นแหละเป็นอินทรีย์ ชื่อว่า สตินทรีย์

    ก็สตินี้นั้นมีการระลึกได้ อติลาปนะ เป็นลักษณะ และมีการเข้าไปประคองไว้เป็นลักษณะ คือ สติย่อมให้กำหนด หรือย่อมให้ระลึกกุศลกรรมโดยชอบ

    ข้ออุปมาในอรรถสาลินีมีว่า

    เช่นเดียวกับขุนคลังของพระราชา ซึ่งรักษารัตนะ ๑๐ อย่างอยู่ ย่อมยังพระราชาให้กำหนด ให้ระลึกถึงอิสริยสมบัติทั้งตอนเย็นตอนเช้า ฉะนั้น ฉันใด สติก็ย่อมระลึกถึงกุศลธรรมทั้งหลาย คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ มรรคประกอบด้วยองค์ ๘ นี้สมถะ นี้วิปัสสนา อริยสัจเหล่านี้ นี้เป็นวิชชา นี้เป็นวิมุตติ โลกุตรธรรมเหล่านี้ สติมีการระลึกเป็นลักษณะอย่างนี้แล

    ท่านผู้ฟังคิดถึงสมบัติข้าวของของท่านบ่อยๆ ใช่ไหม วันหนึ่งอะไรอยู่ที่ไหนบ้าง แต่นั่นไม่ใช่สติ แต่ว่าลักษณะของสติก็เป็นสภาพที่ระลึก แต่ไม่ใช่ระลึกในอกุศล แต่ว่าระลึกเป็นไปในกุศลธรรมทั้งหลาย เช่น ระลึกเป็นไปในสติปัฏฐาน ๔ ขณะใดที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏที่กาย ระลึกรู้ลักษณะของเวทนา ความรู้สึก ระลึกถึงสภาพของจิตในขณะนี้ หรือระลึกถึงลักษณะของธรรม

    นอกจากนั้นการศึกษาธรรมขณะใด แล้วมีความเข้าใจในเรื่องของสัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ มรรคมีองค์ ๘ ซึ่งดูเป็นชื่อ เมื่อสภาพธรรมนั้นๆ ยังไม่ปรากฏ แต่ว่าความจริงขณะใดที่สติปัฏฐานเกิด ระลึกลักษณะของสภาพธรรม มีสัมมัปปธาน ๔ คือ วิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ได้ทรงแสดงไว้โดยละเอียด ก็ย่อมไม่สามารถที่จะรู้ว่า แม้ในขณะจิตเดียวที่สติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมนั้น มีสภาพธรรมอื่นที่เป็นโสภณธรรมเกิดร่วมด้วย แต่ว่าให้ทราบว่า ลักษณะของสตินั้นเป็นลักษณะที่ระลึก

    สติใคร่ครวญคติทั้งหลายแห่งธรรมทั้งที่เป็นประโยชน์ และไม่เป็นประโยชน์ รู้ว่าธรรมทั้งหลายมีกายทุจริตเป็นต้น ไม่มีประโยชน์เกื้อกูล แล้วบรรเทาธรรมที่ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูลให้น้อยลง

    นี่คือผู้ที่มีสติระลึกได้ ทำให้ระลึกถึงบาป ระลึกถึงบุญ ระลึกถึงคุณ ระลึกถึงโทษ ซึ่งถ้าจะเปรียบเทียบก็ดุจสีขาวกับสีดำ ที่ทำให้เห็นความต่างกันของธรรมที่เป็นอกุศล และธรรมที่เป็นกุศล เพราะเหตุว่าถ้าไม่ศึกษาโดยละเอียด หลายคนอาจจะคิดว่า อกุศลนั่นแหละเป็นกุศล เพราะบางท่านก็อาจจะกล่าวว่า อกุศลเล็กๆ น้อยๆ ไม่เป็นไร นั่นก็ยังไม่เห็นความต่างกันของสีดำกับสีขาว แต่ว่าความจริงแล้ว ถ้าสติเกิดขณะใดเป็นสภาพที่ระลึกที่จะให้รู้ในลักษณะของความต่างกันของธรรมที่เป็นอกุศลและกุศล

    รู้ว่าธรรมทั้งหลาย มีกายสุจริตเป็นต้นเหล่านี้เป็นประโยชน์เกื้อกูล ย่อมประคับประคองธรรมที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลไว้ เหมือนปริณายกรัตนะของพระเจ้าจักรพรรดิ รู้สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล และสิ่งที่เป็นประโยชน์เกื้อกูล แล้วนำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูลออกไปเสีย ย่อมน้อมเข้ามาซึ่งสิ่งเป็นประโยชน์เกื้อกูล ฉะนั้น

    ก็อีกนัยหนึ่ง สติมีการระลึกได้ เป็นลักษณะ มีการไม่หลงลืมเป็นรส คือ เป็นกิจ มีการรักษาอารมณ์ เป็นปัจจุปัฏฐาน หรือมีการจดจ่อต่ออารมณ์ คือ ระลึกตรงลักษณะของอารมณ์ เป็นปัจจุปัฏฐาน คือ เป็นอาการปรากฏ มีสัญญาอันมั่นคงเป็นปทัฏฐาน หรือว่ามีกายคตาสติปัฏฐานเป็นต้น เป็นปทัฏฐาน พึงเห็นสติเหมือนเสาเขื่อน เพราะตั้งอยู่มั่นคงในอารมณ์ และพึงเห็นว่าเหมือนนายทวารผู้รักษาประตู เพราะรักษาทวารทั้งหลาย มีจักขุทวารเป็นต้น

    นี่คือข้อความในอัฏฐสาลินี จิตตุปาทกัณฑ์

    ลักษณะของสติเกิดทุกขณะที่กุศลจิตเกิด แต่ว่ายังไม่คุ้นเคยกับลักษณะของสติ เพราะเหตุว่าพอเป็นกุศลที่เป็นไปในทาน ก็ระลึกถึงเรื่องการที่จะให้ทาน แต่ในขณะที่จิตกำลังระลึกเป็นไปในทานแต่ละขณะนั้นเอง มีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วย มีศรัทธาเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    ผู้ถาม อาจารย์กล่าวว่า เรานึกถึงสมบัติของเรา ไม่ชื่อว่า เป็นสติ ต้องนึกถึงว่า กุศลหรือ อกุศลเกิดขึ้นหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ วันหนึ่งๆ จำได้ว่าเอาอะไรไว้ที่ไหน ใช่ไหม หยิบถูก ขณะนั้นเป็นกุศลหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ก็เป็นกุศลก็เป็นสติ

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นไปในกุศล ในทาน ในศีล ในภาวนา ถึงจะเป็นสติ

    ผู้ถาม ถ้าระลึกเฉยๆ

    ท่านอาจารย์ ระลึกว่าเก็บอะไรไว้ที่ไหน อย่างนี้หรือ ขณะนั้นเป็นวิตกเจตสิก ไม่ใช่สติเจตสิก เพราะเหตุว่าสติเจตสิกจะเกิดกับอกุศลจิตไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นต้องทราบว่า ขณะนั้นเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต

    ผู้ฟัง แต่ถ้ามีสติรู้ว่า เป็นหรือไม่เป็น ก็ชื่อว่าเป็นสติ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ต้องเป็นไปในทาน เป็นไปในศีล ถ้าระลึกที่จะให้ทาน แล้วก็รู้ว่าสิ่งที่จะให้นั้นอยู่ที่ไหน และเวลาที่ระลึกถึง จิตก็เป็นกุศลที่จะให้ขณะนั้นได้ บางท่านอาจจะมีเงินที่จะบริจาคใส่ซองไว้เรียบร้อย วางไว้ที่ไหนไม่ทราบ ใช่ไหม ค้นหาแล้วระลึกได้ ว่าอยู่ที่ไหน ด้วยกุศลจิตที่จะให้ ขณะนั้นก็เป็นสติ

    ผู้ฟัง อย่างที่พระผู้มีพระภาคตรัสเล่าอดีตให้ท่านพระอานนท์ฟัง ทรงระลึกได้ พระองค์เคยเป็นกษัตริย์ทำอะไรอยู่ในวัง และนิมิตต่างๆ ที่ตรัสเล่า ระลึกเหล่านี้เป็นสติไหม

    ท่านอาจารย์ เป็นสติที่เป็นไปในการระลึกชาติ เพราะฉะนั้น ต้องเป็นสติชั้นยอดเยี่ยมกว่าสติธรรมดา เพราะเหตุว่าขณะที่เป็นไปในทาน ระลึกชาติไม่ได้ ใช่ไหม เพราะฉะนั้น อกุศลจิตระลึกชาติไม่ได้ แต่ว่าสติชั้นยอดเยี่ยมจึงระลึกชาติได้

    ผู้ฟัง สติยอดเยี่ยมต้องเป็นสติในมรรคจิตหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ บุพเพนิวาสานุสติญาณ

    ผู้ฟัง แค่นี้เอง ยังสงสัยอยู่ว่า ตอนที่พระองค์มีบุพเพนิวาสานุสติญาณ ตอนนั้นพระองค์ก็ยังไม่ได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ อรหัตมรรค

    ท่านอาจารย์ ญาณนี้มีทั้งโลกียะและโลกุตตระ ปัญญามีหลายระดับขั้น ทั้งที่เป็นกามาวจร รูปาวจร อรูปาวจร และโลกุตตระ

    ผู้ฟัง ขณะที่เกิดธรรมสังเวช ขณะที่เกิดโลภมูลจิต พอใจก็ดี หรือเกิดโทสะ ต่อมาเกิดธรรมสังเวช ขณะนั้นมีสติเกิดไหม

    ท่านอาจารย์ ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นต้องมีสติเกิด

    ผู้ฟัง บางครั้งเวลาที่เกิดธรรมสังเวช คือ สลดใจ ไม่ทราบว่าลักษณะของธรรมสังเวชเป็นกุศลหรือเป็นโทสมูลจิต

    ท่านอาจารย์ สลดใจ หมายความว่า ไม่เห็นความน่ายินดีในอารมณ์ แทนที่จะมีจิตใจฟูฟ่อง ด้วยความเพลิดเพลินที่เป็นอกุศล ก็เห็นว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรยินดี คำว่า “สลดใจ” ที่นี่ หมายความว่า เห็นสิ่งนั้นเป็นที่ไม่ควรยินดี ต้องเป็นการระลึกเป็นไปในธรรม

    ข้อความในอรรถสาลินี ได้แสดงลักษณะอาการของสติขั้นต่างๆ ซึ่งทำให้มีชื่อต่างๆ คือ

    ธรรมชาติที่ชื่อว่า สติ โดยที่เป็นความระลึกได้ บทนี้เป็นบทแสดงสภาวะของสติ

    คือ ภาวะลักษณะของสติ คือ การระลึกได้

    ที่ชื่อว่า อนุสสติ โดยที่ระลึกเนื่องๆ เพราะการระลึกบ่อยๆ

    เพราะฉะนั้น ก็มีสติที่ระลึกได้อย่างหนึ่ง แล้วก็อนุสสติที่ระลึกเนืองๆ บ่อยๆ

    ชื่อว่า ปฏิสสติ โดยที่ถึงเฉพาะ เพราะเหมือนไปตรงหน้า

    คือ ไม่หันเหไปทางอื่นเลย นั่นคือลักษณะของสติ คือ ถึงเฉพาะเหมือนไปตรงหน้า อย่างขณะที่กำลังฟังธรรม จิตใจหันเหไขว้เขวไปทางไหนหรือเปล่า กำลังฟังอยู่ หลงคิดเรื่องอื่นไปนิดหนึ่ง ขณะนั้นขาดสติ ใช่ไหม แต่ขณะที่ไม่หลงไปทางอื่นเลย โดยที่ถึงเฉพาะ เพราะเหมือนไปตรงหน้า นั่นคือ ลักษณะที่เป็นปฏิสสติ คือเป็นลักษณะของสติ

    อาการที่ระลึก ชื่อว่า สรณตา

    สติ ชื่อว่า ธารณตา เพราะทรงจำสิ่งที่ได้ฟังและได้เรียนมา

    เป็นอย่างนี้ไหม เทียบได้ มีสติชื่อไหนบ้าง เพราะชื่อของสติ แสดงอาการต่างๆ ของสติที่เกิดขึ้น ถ้าศึกษาธรรมด้วยความเข้าใจนั้น ก็ทรงจำสิ่งที่ได้ฟังและเล่าเรียนมาไว้ได้ สตินั้นชื่อว่า ธารณตา

    ภาวะที่ไม่เลื่อนลอย ชื่อว่า อปิลาปนตา โดยหมายความว่า หนักแน่น คือ ดิ่งเข้าไปในอารมณ์

    สติ ชื่อว่า อสัมมสนตา เพราะความไม่หลงลืมสิ่งที่ทำ คำที่พูดแม้ล่วงเลยมานาน

    ที่ชื่อว่า สตินทรีย์ เพราะครอบครองความเป็นใหญ่ในลักษณะแห่งสติที่ปรากฏ

    ที่ชื่อว่า สติพละ เพราะไม่หวั่นไหวในเพราะความประมาท

    ที่ชื่อว่า สัมมาสติ เพราะเป็นสติที่ถูกต้อง นำออกไปจากสังสารวัฏ เป็นในกุศล.

    สติ ชื่อว่าอสัมมสนตา เพราะความไม่หลงลืมในสิ่งที่ทำและคำที่พูดแม้ล่วงเลยมานาน

    คนที่จำเก่งๆ ชื่อว่ามีสติหรือเปล่า ระลึกได้ สมัยตอนเป็นเด็ก ป่วยไข้ได้เจ็บอย่างไร เคยซุกซนอย่างไร เคยรับประทานอะไรอร่อยที่ไหน อย่างนั้นเป็นสติหรือเปล่า

    สติ ชื่อว่าอสัมมสนตา เพราะความไม่หลงลืมในสิ่งที่ทำและคำที่พูดแม้ล่วงเลยมานาน

    บางคนจำเรื่องเบ็ดเตล็ดเก่งมาก แต่หลงลืมสิ่งที่ควรกระทำ อย่างนั้นไม่ชื่อว่า อสัมมสนตา แต่ว่าสิ่งที่ควรจะกระทำต่อผู้หนึ่งผู้ใดแล้วกระทำ โดยไม่หลงลืมในทางที่เป็นกุศล บางคนอาจจะเป็นหนี้เป็นสิน แล้วก็หลงลืม ไม่จำเลย นั่นก็ชื่อว่า จำเรื่องอื่นได้หมด เรื่องตอนเป็นเด็กสนุกสนานอย่างไร เคยรับประทานอะไรที่ไหน เคยเล่นสนุกอย่างไร จำได้ แต่เรื่องนี้ลืม เรื่องที่ควรจะกระทำหน้าที่ของตนเองกับบุคคลอื่น กลับลืม แต่ว่าจำเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ได้

    เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า สติจะต้องเกิดกับโสภณจิต ต้องเกิดกับกุศลจิตเท่านั้น แต่สำหรับการที่จะไประลึกถึงเรื่องอื่น ที่ไม่ใช่เป็นไปในทาน ในศีล ในภาวนา ขณะนั้นจิตไม่ใช่กุศล และลักษณะนั้นไม่ใช่สติเจตสิก แต่เป็นลักษณะของวิตกเจตสิก

    ข้อความในอรรถสาลินี จิตตุปาทกัณฑ์ กล่าวว่า

    อกุศลขันธ์ทั้งหลายเป็นธรรมเว้นจากสติ คือไม่มีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วย และเพราะเป็นปฏิปักษ์ต่อสติ

    อกุศลทุกประเภทเป็นปฏิปักษ์ต่อสติ โลภมูลจิต โทสมูลจิต อิสสา มัจฉริยะ ความเกียจคร้าน ความเคลือบแคลงสงสัย ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ ทั้งหมดเป็นธรรมเว้นจากสติ และเพราะเป็นปฏิปักษ์ต่อสติ

    ข้อความในโมหวิจเฉทนี เรื่องกุศลจิตดวงแรก มีข้อความว่า

    ด้วยเหตุนั้นนั่นแหละ ธรรมคือศรัทธา พระองค์จึงตรัสว่า โอกัปปนา ความจงใจเชื่อ และเรียกสติว่า อปิลาปนตา ความไม่เลือนลอย เรียกเอกัคคตาว่า อวัฏฐิติ ความมั่นคงแห่งจิต เพราะเหตุว่าเกิดกับกุศลจิต เรียกปัญญาว่า ปริโยคาหนา ความรอบคอบ

    ส่วนในฝ่ายอกุศล ธรรม ๓ อย่าง คือ ตัณหา ทิฏฐิ และอวิชชา ย่อมหยั่งลงสู่อารมณ์ ด้วยเหตุนี้ท่านจึงเรียกธรรมทั้ง ๓ เหล่านั้น ว่า โอฆะ

    หยั่งลงสู่อารมณ์เหมือนกัน แต่ต่างกันที่ถ้าเป็นฝ่ายอกุศลแล้วละก็ ด้วยตัณหา ทิฏฐิ อวิชชา ซึ่งหยั่งลงสู่อารมณ์ โดยเป็นโอฆะ เป็นห้วงน้ำใหญ่ ซึ่งทุกคนถูกพัดไหลไปอยู่ตลอดเวลา ตามอารมณ์ที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    เอกัคคตาในฝ่ายอกุศล ไม่เรียกว่า โอคาหนา ความหยั่งลง เพราะเหตุว่ายังเป็นธรรมประกอบด้วยอุทธัจจะ ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ไม่สงบ เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าเอกัคคตาเจตสิก จะชื่อว่าสมาธิ แต่ก็ไม่ใช่สัมมาสมาธิ และไม่เป็นสภาพธรรมที่จะเจริญถึงขั้นรูปฌาน อรูปฌาน หรือโลกุตตรกุศลได้ เพราะเหตุว่าในขณะนั้นเกิดร่วมกับอุทธัจจะเจตสิก ซึ่งลักษณะของสติตรงกันข้ามกับอวิชชา เพราะเหตุว่าอวิชชาเป็นสภาพที่เลื่อนลอย แต่ว่าสติเป็นสภาพที่ไม่หลงลืม ไม่เลื่อนลอย

    ศรัทธาตรงกันข้ามกับโลภะ เพราะเหตุว่าโลภะนี้ยอมสละให้ทุกอย่างด้วยความพอใจ ด้วยความรัก แต่ว่าศรัทธา บริจาคจริง แต่เป็นการสละออก ไม่ใช่เพื่อการติด หรือว่าการยึดข้อง

    ปัญญาก็ตรงกันข้ามกับมิจฉาทิฏฐิ

    ข้อความที่ท่านผู้ฟังจะได้ฟังเรื่องของสติ มักจะควบคู่กันไปกับลักษณะของปัญญา ซึ่งเป็นสัมปชัญญะ แต่ว่าต้องแยกออกจากกันด้วย แต่ก็จะเห็นได้ว่าในขณะใดที่สติเกิด ก็อาจจะมีลักษณะของปัญญาในขั้นต้นๆ อยู่ด้วย เช่น ในขณะที่รู้ว่า สิ่งใดดี สิ่งใดชั่ว นั่นก็เป็นสติที่ระลึกที่จะให้เกิดการไตร่ตรอง พิจารณาให้ตรงว่า ลักษณะของอกุศลธรรม ซึ่งเป็นฝ่ายธรรมฝ่ายดำ เป็นอกุศล ลักษณะของกุศลธรรมที่เป็นธรรมฝ่ายขาว เป็นกุศล ขณะใดที่ปัญญาเกิดร่วมด้วย กุศลจิตนั้นชื่อว่า ญาณสัมปยุตต์ ขณะใดที่ปัญญาเจตสิกไม่ได้เกิดร่วมด้วย ขณะนั้นเป็นญาณวิปปยุตต์

    ข้อความในอรรถสาลินี จิตตุปาทกัณฑ์ อธิบายคำว่า สโต จ สมฺปชาโน คือ สติและสัมปชัญญะ มีข้อความว่า

    ก็บทว่า สโต จ สมฺปชาโน คือ มีสติรู้ทั่วโดยชอบ ใน ๒ อย่างนั้น สติมีความระลึกได้ เป็นลักษณะ สัมปชัญญะ มีความไม่ฟั่นเฟือน เป็นลักษณะ

    สติ มีความไม่หลงลืม คือ เป็นกิจ เป็นรส สัมปชัญญะมีการไตร่ตรอง เป็นรสะ คือ เป็นกิจ

    สติมีความอารักขา เป็นอาการปรากฏ สัมปชัญญะมีการเลือกเฟ้น เป็นอาการปรากฏ

    ในการอบรมเจริญภาวนานั้น เมื่อมีสติฟั่นเฟือน ไม่รู้ทั่วโดยชอบ แม้คุณเพียงอุปจาระก็ไม่สำเร็จได้ จะป่วยกล่าวไปใยถึงอัปปนา

    นี่ก็แสดงให้เห็นถึงความละเอียดของกุศลจิตขั้นที่สูงกว่าขั้นทานและขั้นศีล ว่าจะต้องประกอบด้วยปัญญา ถ้าขณะนั้นไม่รู้หนทางที่จะทำให้กุศลจิตเจริญขึ้น สงบขึ้น แล้วเข้าใจว่า เป็นการเจริญสมถภาวนาแล้วละก็ ข้อความในอรรถสาลินีมีว่า เมื่อมีสติฟั่นเฟือน ไม่รู้ทั่วโดยชอบ แม้คุณเพียงอุปจาระก็ไม่สำเร็จได้ จะป่วยกล่าวไปใยถึงอัปปนา

    เพราะฉะนั้น กว่าจะถึงฌานจิตได้จริงๆ ความสงบที่เป็นกุศลต้องละเอียดขึ้น และถ้าไม่ประกอบด้วยปัญญาจริงๆ ก็ไม่สามารถที่จะถึงแม้ขั้นอุปจารสมาธิ

    เพราะฉะนั้น อย่าเพิ่งคิดที่จะทำฌาน หรืออย่างเพิ่งคิดแม้แต่จะทำสมาธิ เพราะเหตุว่าถ้ายังไม่มีความเข้าใจที่ถูกต้อง สมาธิที่กำลังทำอยู่นั้น ก็ต้องเป็นมิจฉาสมาธิ ซึ่งเป็นอกุศลจิต แล้วจะทำไหม หรือยังอยากจะทำอยู่ แม้ว่าเป็นมิจฉาสมาธิ

    ผู้ฟัง เรื่องสตินี้เป็นเรื่องที่เข้าใจกันยาก

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 23
    18 ม.ค. 2565

    ซีดีแนะนำ