โสภณธรรม ครั้งที่ 036


    ตอนที่ ๓๖

    เป็นประโยชน์ทั้งตนเองและบุคคลอื่น และเวลาที่กุศลกรรมให้ผล ก็ย่อมนำมาซึ่งทรัพย์สมบัติ สิ่งของให้เป็นของของตน ซึ่งแต่ก่อนนี้ไม่ใช่ของตนเลย แต่เวลาที่กุศลกรรมให้ผลขณะใด ทรัพย์สมบัติสิ่งของทั้งหลายก็เป็นของตนเมื่อนั้น เพราะฉะนั้น กุศลกรรมชื่อว่าเป็นของตน

    ซึ่งข้อความในอรรถกถาอุปมาว่า

    เหมือนคนมีทรัพย์และมีโภคะที่เดินทางไกล ในระหว่างทางก็ได้ยินโฆษณาการเล่นฉลองตามฤดูกาลในหมู่บ้าน และในตำบล เป็นต้น ผู้ที่มีทรัพย์ มีโภคะ ก็ไม่ได้คิดว่า เราเป็นคนจรมา จะอาศัยใครถึงจะเล่นการเล่นฉลองตามฤดูกาลได้ เพราะเหตุว่าเมื่อมีทรัพย์ มีโภคะ ก็ย่อมใช้ทรัพย์ ใช้โภคะนั้นเล่นการเล่นฉลองตามฤดูกาลได้ตามใจชอบ เพราะฉะนั้น ในการเดินทางนั้นก็ย่อมจะผ่านทางกันดารไปได้โดยสบาย ฉันใด บุคคลผู้ตั้งอยู่ในกมฺมสฺสกตญฺญาณนี้ ก็เหมือนฉันนั้น สร้างกรรมอันเป็นวัฏฏคามีไว้เป็นอันมาก เสวยความสุข บรรลุอรหัตผลโดยง่าย นับไม่ถ้วน

    ซึ่งทุกคนก็คงจะไม่ลืมว่า กำลังเดินทางอยู่ทุกขณะจิต แล้วแต่ว่าจะผ่านอะไรบ้าง จะผ่านทางทุรกันดาร จะผ่านที่ๆ มีการเล่นสนุกสนานรื่นเริง และก็สามารถที่จะร่วมการเล่นสนุกสนานรื่นเริง เพราะมีทรัพย์ หรือว่าเมื่อไม่มีทรัพย์ ก็ไม่สามารถที่จะร่วมการเล่นฉลองรื่นเริงนั้นได้โดยสบาย

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่ไม่ได้กระทำกุศลกรรมไว้ ก็ย่อมจะต้องผ่านทางทุรกันดารของชีวิตไปด้วยความยากลำบาก

    สิ่งของในโลกนี้น่าปลื้มใจมีมากไหม ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ผ่านไปตามถนนหนทาง ตามร้านสรรพสินค้าต่างๆ ก็ดูว่ามีสิ่งที่น่าปลื้มใจทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายมากไหม และสิ่งต่างๆ เหล่านั้นจะเป็นของใครบ้าง ที่จะพอใช้ไปในการเดินทางชีวิต ก็เป็นเรื่องของกุศลกรรมเป็นของตน แต่อกุศลกรรมไม่ใช่ของตน

    ลักษณะของอโลภเจตสิก เป็นโสภณสาธารณเจตสิก เกิดกับกุศลจิตทุกประเภท ทุกดวง เพราะฉะนั้น เวลาที่กุศลจิตเกิดขึ้นเป็นไปทางกาย ทางวาจา หรือว่าเป็นไปในทาน เป็นไปในในศีล เป็นไปในในความสงบของจิต เป็นไปในการเจริญสติปัฏฐาน ไม่จำเป็นที่จะต้องกล่าวถึงลักษณะของอโลภเจตสิกในขณะนั้นก็ได้ ใช่ไหม ในเมื่อเข้าใจลักษณะของอโลภเจตสิกว่าเป็นสภาพธรรมที่ไม่ติดข้อง ไม่เห็นแก่ตัว เป็นสภาพธรรมที่สละ บริจาค เพราะฉะนั้น กุศลทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นกุศลที่ดูเหมือนว่าจะเล็กน้อยสักเพียงไร ก็จะต้องมีอโลภเจตสิกเกิดร่วมด้วย อย่างเช่นท่านที่อ่านพระวินัยปิฎก พระวินัยปิฎกแสดงอาจาระ คือ การประพฤติทางกาย ทางวาจาของพระภิกษุที่แสดงความเคารพนอบน้อมในพระรัตนตรัย แม้ในการที่จะปิดประตูหน้าต่าง ก็ต้องกระทำด้วยความเรียบร้อย ด้วยเสียงค่อยๆ เบาๆ ไม่ใช่ปิดอย่างแรงตามใจชอบ เพียงเท่านี้เกิดกุศลจิตได้ไหม ที่จะพิจารณา วันหนึ่งๆ ซึ่งทุกบ้านต้องปิดประตูหน้าต่างกันอยู่เป็นประจำ ลองดูจิตในขณะที่ปิดประตูหน้าต่างที่บ้านกับปิดเปิดประตูหน้าต่างที่วัดว่า เป็นจิตที่เหมือนกันไหม

    ท่านที่มาฟังการบรรยายธรรมที่นี่ คงไม่ทราบว่า มีท่านที่มาก่อนเวลา และก็มีการทำกุศลที่ควรแก่การอนุโมทนา ทั้งเปิดหน้าต่าง ต้มน้ำเตรียมดื่มสำหรับท่านที่มาฟังคำบรรยาย จัดเก้าอี้ ทุกสิ่งทุกอย่าง แต่แม้กระนั้นก็ตาม ถ้าเป็นผู้ที่ยิ่งละเอียด ก็ยิ่งจะเจริญกุศลได้เพิ่มขึ้น ที่จะรู้ว่าการเคลื่อนไหวต่างๆ เหล่านี้ เป็นความนอบน้อมในสถานที่ หรือในพระรัตนตรัยเพิ่มขึ้นหรือเปล่า เพราะว่าถ้าปิดเปิดประตูเหมือนอยู่บ้าน จัดโต๊ะ จัดเก้าอี้ เหมือนอยู่บ้าน เป็นกุศลจิตได้ เป็นญาณวิปปยุตต์ก็ได้ หรือว่าบางครั้ง บางขณะก็อาจจะเป็นอกุศลจิตก็ได้ ถ้าประตูฝืด หน้าต่างฝืด ต้องใช้กำลังมาก เพราะฉะนั้น การเป็นผู้ละเอียดที่จะไม่เว้นข้อความหนึ่งข้อความใดในพระไตรปิฎกที่จะเกื้อกูลในชีวิตประจำวัน ที่จะเป็นการเจริญกุศลยิ่งขึ้น ก็จะมีการเช็ดปัดกวาดถูสถานที่ที่ควรเคารพ ด้วยความเคารพนอบน้อมเพิ่มขึ้น แม้ว่าเป็นสิ่งซึ่งอาจจะข้ามไป แต่ว่าเมื่อได้พิจารณาโดยละเอียด แล้วก็พิจารณาจิตก็จะเห็นได้ว่า ทำให้กุศลจิตเจริญได้ เพราะเหตุว่าในขณะนั้นละความเห็นแก่ตัว ความสบายที่จะทำทุกสิ่งทุกอย่างเหมือนเคยที่บ้าน แต่จะต้องกระทำด้วยความนอบน้อมเพิ่มขึ้นในเมื่อเป็นสถานที่ที่ควรแก่การเคารพ

    บางท่านอาจจะมีมดเกาะ และก็ด้วยความตกใจก็สลัดไปแรงๆ แต่ก็ลืมว่าในขณะที่ตกใจ สลัดไปแรงๆ ลืมระวังว่า การสลัดแรงๆ นั้น ก็จะทำให้มดนั้นไปกระทบกับสิ่งอื่นแล้วก็เจ็บหรือถึงตายได้

    นี่ ก็เป็นสิ่งซึ่งดูเล็กน้อยจริงๆ แต่ว่าถ้าเกิดได้มากขึ้นในปกติประจำวัน ก็จะเห็นได้ว่า ขณะใดที่ไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ ขณะใดที่เป็นไปในทาน ในศีล ในสมถะ ในสติปัฏฐาน ขณะนั้นเป็นกุศล เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงได้ทรงแสดงเรื่องของอกุศลไว้ โดยบท โดยพยัญชนะ โดยธรรมเทศนา หาประมาณมิได้ แม้ในเรื่องของกุศล ก็โดยนัยเดียวกัน

    ท่านที่พิจารณาชีวิตในวันหนึ่งๆ ไม่ให้พระธรรมอยู่เฉพาะในตำรา ในหนังสือ แต่ว่าพิจารณาธรรมที่ได้ศึกษาข้างนอกหนังสือ ก็ยิ่งเห็นได้ว่า ขณะใดที่กุศลจิตไม่เกิด ขณะนั้นมืดมัวด้วยโมหะ แต่อาจจะไม่รู้ ใช่ไหม เพราะสิ่งนั้นก็สวย สิ่งนี้ก็อร่อย แต่ว่าขณะนั้นก็ลืมแล้วว่า กำลังเห็นว่าสวย กำลังเห็นว่าอร่อย ขณะนั้นมืดมัวด้วยโมหะ ไม่รู้ความจริงของนามธรรมและรูปธรรม ซึ่งมีปัจจัยเกิดขึ้นเป็นไปชั่วขณะจิตเดียว แล้วก็ดับไป

    เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ หลงแค่ไหน แล้วก็โลภะซึ่งเป็นสมุทัยมากแค่ไหน ยิ่งเป็นผู้ละเอียดก็จะยิ่งเห็นความต่างกันด้วยสติว่า ลักษณะของกุศลธรรมและอกุศลธรรมนั้นต่างกัน

    ข้อความในขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค วิโมกขกถา ข้อ ๕๑๔ มีข้อความว่า

    ธรรมอันเป็นประธานเป็นไฉน ธรรมอันเป็นไปในฝักฝ่ายความตรัสรู้ เป็นกุศล ไม่มีโทษ เกิดในภาวนานั้น นี้ธรรมอันเป็นประธาน ฯ

    เวลาที่รู้ว่า กุศลธรรมและอกุศลธรรมต่างกัน จะรู้ชัดเจนขึ้นด้วยการเจริญปัญญา และถ้าปัญญาไม่ถึงขั้นที่จะรู้จริงๆ ในลักษณะที่ต่างกันของกุศลและอกุศลแล้ว ไม่สามารถที่จะละกิเลสได้ เพราะฉะนั้น เมื่อเป็นผู้ฝักใฝ่ในการตรัสรู้ ซึ่งเป็นกุศล ไม่มีโทษ ขณะนั้น ธรรมอันเป็นประธานเป็นไฉน ธรรมอันเป็นไปในฝักฝ่ายความตรัสรู้ เป็นกุศล ไม่มีโทษ เกิดในภาวนานั้น นี้ธรรมอันเป็นประธาน

    ถ้าไม่มีประธาน ไม่มีฉันทะที่จะเจริญปัญญา ที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ที่จะดับกิเลส วันหนึ่งๆ ก็จะเป็นไปตามกำลังของอกุศลอยู่เสมอ แต่ว่าถ้าเป็นผู้ที่มีฉันทะ มีการฝักใฝ่ในการอบรมเจริญสติปัฏฐาน มีการที่จะดับกิเลส เจริญกุศลในวันหนึ่งๆ ก็จะทำให้สติสามารถที่จะระลึกได้ แม้ขณะที่กำลังเป็นอกุศลตามปกติในวันหนึ่งๆ

    หลายท่านอยากจะเปลี่ยนชีวิตจากวันหนึ่งๆ ที่เต็มไปด้วยอกุศล ให้เป็นวันหนึ่งๆ ที่เต็มไปด้วยกุศล อยากอย่างนี้หรือเปล่า ผิดหรือถูก ต้องคิด เป็นเพียงความอยาก แต่ว่าจะเป็นจริงได้อย่างไร ตามความเป็นจริง ไม่ใช่สำเร็จด้วยความอยาก แต่ว่าต้องสำเร็จด้วยปัญญา เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ฝืน ไม่ให้มีโลภะ แต่ว่าเป็นการรู้จักโลภะตามความเป็นจริง เดินไปด้วยโลภะที่จะดื่มน้ำสักแก้วหนึ่ง อย่างท่านที่มาฟังคำบรรยาย ก็ปฏิบัติอยู่เป็นประจำ ใช่ไหม หน้าร้อนก็มักจะดื่มน้ำกัน ในขณะนั้นเมื่อเป็นผู้ที่มีฉันทะในการที่จะเจริญปัญญา รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง แม้โลภะจะเกิด สติปัฏฐานก็ยังเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น โดยไม่ฝืน โดยไม่คิดว่าจะเปลี่ยนให้เป็นกุศลไปตลอดเวลา เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่ว่าสติสามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของแม้อกุศล ซึ่งเกิดอยู่เป็นประจำตามความเป็นจริง จนกว่าปัญญาจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น และเมื่อปัญญาค่อยๆ เพิ่มขึ้น จึงจะละคลายความเป็นตัวตนลงไป โดยที่ยังจะต้องมีโลภะนั่นเองเป็นสมุทัย ที่จะทำให้ชีวิตดำเนินไป จนกว่าจะถึงการที่จะสามารถดับโลภะได้เพิ่มขึ้นเป็นลำดับขั้น เพราะฉะนั้น อย่าหวังที่จะไม่ให้โลภะเกิด หรือว่าอย่าหวังที่จะให้เปลี่ยนเป็นกุศลได้มากๆ เพราะเหตุว่าถึงจะมากอย่างไร ก็ยังมีปัจจัยที่จะทำให้อกุศลเกิดมากกว่ากุศลอยู่นั่นเอง

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ธรรมอันเป็นประธานแห่งวิโมกข์ (คือ การหลุดพ้นจากกิเลส) เป็นไฉน นิพพานอันเป็นที่ดับ เป็นอารมณ์ของธรรมเหล่านั้น (หมายความถึงเป็นอารมณ์ของโลกุตตรจิตและเจตสิกที่เกิดร่วมกัน) นี้เป็นธรรมอันเป็นประธานแห่งวิโมกข์

    การที่จะดับกิเลสได้นี้ ถ้ายังไม่ประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพานตราบใด แม้ว่าปัญญาจะเจริญขึ้น จนกระทั่งสามารถที่จะประจักษ์แจ้งในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังเกิดดับ แม้กระนั้นก็ยังดับกิเลสไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ ธรรมอันเป็นประธานแห่งวิโมกข์เป็นไฉน นิพพานอันเป็นที่ดับ เป็นอารมณ์ของธรรมเหล่านั้น นี้เป็นธรรมอันเป็นประธานแห่งวิโมกข์

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะอบรมเจริญปัญญา จะไม่หลงผิดว่า กิเลสหมดแล้ว โดยที่ยังไม่ได้ประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่ประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรมซึ่งกำลังเกิดดับในขณะนี้ หรือแม้ว่าประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปแล้ว ก็ต้องรู้ตามความเป็นจริงว่า กิเลสยังไม่ดับจนกว่าจะถึงการรู้แจ้งลักษณะของพระนิพพาน

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ธรรมอันเป็นข้าศึกแก่วิโมกข์เป็นไฉน

    ทรงแสดงไว้โดยละเอียด ทรงเตือน ทรงชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่เป็นข้าศึกของวิโมกข์ก็มี

    ธรรมอันเป็นข้าศึกแก่วิโมกข์เป็นไฉน อกุศลมูล ๓ ทุจริต ๓ อกุศลธรรมแม้ทุกอย่างเป็นข้าศึกแก่วิโมกข์ นี้ธรรมอันเป็นข้าศึกแก่วิโมกข์

    เพราะฉะนั้น ใครที่ต้องการจะดับกิเลส อย่าลืม อกุศลธรรมแม้ทุกอย่างเป็นข้าศึกแก่วิโมกข์ ทุกคนรู้ว่าอีกนานใช่ไหม กว่าจะถึงวันที่รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพาน ดับกิเลสได้ แต่ก็อย่าให้นานออกไปยิ่งกว่านั้นอีก โดยที่ไม่ควรจะละเลย หรือว่าปล่อยให้รู้ว่า อกุศลที่เกิดขึ้นกับท่านนั้น มีอะไรบ้างยังคงครอบงำแล้วกลุ้มรุมอยู่ต่อไป อย่างท่านที่ผูกโกรธ ก็จะได้รู้ว่า ไม่มีประโยชน์เลย เพราะเหตุว่าเป็นข้าศึกแก่วิโมกข์ แก่การดับกิเลส แก่การรู้แจ้งอริยสัจจธรรม

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ธรรมอันอนุโลมต่อวิโมกข์เป็นไฉน

    ทุกท่านอยากจะถึงพระนิพพานเร็วๆ ใช่ไหม ก็ควรที่จะได้รู้ว่า ธรรมอะไรน้อมไป อนุโลมต่อวิโมกข์

    ธรรมอันอนุโลมต่อวิโมกข์เป็นไฉน กุศลมูล ๓ สุจริต ๓ กุศลธรรมแม้ทุกอย่างเป็นธรรมอันอนุโลมต่อวิโมกข์ นี้ธรรมอันอนุโลมต่อวิโมกข์

    มีกุศลอะไรที่จะทำ ทำทันที เพราะอนุโลมต่อวิโมกข์

    เกือบปีใหม่แล้ว ใช่ไหม โดยมากทุกท่านก็ให้พรคนอื่น ให้พรมิตรสหาย ให้พรใครต่อใคร ให้พรตัวเองบ้างดีไหม พร คือ ความตั้งใจที่จะทำกุศลที่สามารถจะกระทำได้ โดยที่แม้ว่าคนอื่นจะให้พรท่านสักเท่าไรก็ตาม แต่ว่าถ้าท่านไม่ให้พรแก่ตัวของท่านเอง คือ ไม่ตั้งใจที่จะทำกุศลทุกประการที่สามารถจะกระทำได้ อันนั้นก็เป็นแต่เพียงความคิดเรื่อง พร แต่ว่าพรจริงๆ นั้นคือ ความตั้งใจที่จะกระทำกุศล และก็กุศลก็อย่าคิดเรื่องของทานอย่างเดียว เพราะเหตุว่ากุศลควรจะเป็นทุกประการ ไม่ใช่แต่เฉพาะในเรื่องของทานเท่านั้น อย่างท่านที่อาจจะไม่ได้พิจารณาตนเอง ไม่ได้พิจารณาจิตของตนเอง ถ้าให้พรแก่ตัวเองบ้าง ก็คือว่าเริ่มพิจารณาจิตของตนเอง ไม่ใช่เพียงแต่ให้ทานกุศลเท่านั้น

    วันคืนก็ผ่านไปเรื่อยๆ จากวัน เป็นเดือน เป็นปี สำหรับท่านที่ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม และน้อมประพฤติปฏิบัติพระธรรมทีละเล็กทีละน้อยทุกๆ วัน จากเดือนไปสู่เดือน จนกระทั่งถึงปี ควรที่จะได้พิจารณา หรืออาจจะระลึกด้วยตัวของตัวเองว่า ในปีหนึ่งๆ ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมเพิ่มขึ้นได้มากน้อยแค่ไหน ควรที่จะเพิ่มขึ้นใช่ไหม แม้ความเข้าใจ เข้าใจสิ่งที่ได้ฟังซ้ำแล้วซ้ำอีก พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำอีก สติระลึกที่ลักษณะของสภาพธรรมบ้าง แล้วก็ซ้ำแล้วซ้ำอีก คือ ระลึกทางตา ระลึกทางหู ระลึกทางจมูก ระลึกทางลิ้น ระลึกทางกาย ระลึกทางใจ แล้วแต่สติปัฏฐานนั้นจะมีปัจจัยเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมใดบ่อยๆ เนืองๆ โดยที่ไม่บังคับ

    เพราะฉะนั้น ก็ควรที่จะพิจารณาว่า ได้มีการประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน บางท่านก็จะไปนมัสการสังเวชนียสถาน ซึ่งขณะที่ไปนมัสการสังเวชนียสถาน ก็ควรที่จะพิจารณาเพื่อประโยชน์ของตนเองว่า จากครั้งหนึ่งซึ่งได้ไปนมัสการ จนถึงอีกครั้งหนึ่งที่ได้ไปนมัสการนั้น ประพฤติปฏิบัติธรรม เพิ่มความเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมขึ้นบ้างไหม

    นี่ เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ อะไรก็ตามที่จะเตือนให้ได้พิจารณาธรรม แม้ว่าจะเป็นวันเดือนปีที่ผ่านไป และชาวโลกนิยมนับถือกันว่าปีใหม่และปีเก่าก็ตาม แต่ว่าสำหรับผู้ที่ศึกษาและปฏิบัติธรรมก็ยังอาศัยเหตุนั้นเป็นเครื่องระลึกได้ว่า ได้มีความเข้าใจในสภาพธรรมมากน้อยแค่ไหน เพิ่มขึ้นแล้วมากน้อยแค่ไหน

    เพราะเหตุว่าคำว่า “พหูสูต” คือ ผู้ที่ฟังพระธรรมแล้วเข้าใจอรรถของพระธรรม ถึงแม้จะเป็นผู้ที่ฟังน้อย เพราะเหตุว่าคงจะมีส่วนมากทีเดียว ที่ไม่ได้ศึกษาพระไตรปิฎกจบทั้งอรรถกถาฎีกา แต่เป็นผู้ที่พิจารณาข้อความที่ได้ฟังแม้น้อย โดยที่ไม่ผ่านไป เช่น คำว่า จิต” เป็นสภาพรู้ เป็นลักษณะรู้ เป็นธาตุรู้ เพียงคำเดียวนี้ และมีอยู่ทุกขณะ แต่ว่าเข้าใจลักษณะของจิตจริงๆ สติระลึกตรงลักษณะของจิต ซึ่งเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เพิ่มขึ้นพอที่จะพิจารณาได้ว่า มีความคุ้นเคยและชินกับสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ซึ่งเป็นเพียงธาตุรู้ หรือสภาพรู้ ซึ่งแต่ก่อนนี้ไม่เคยรู้ เมื่อหลายปีก่อนก็ไม่เคยได้ยินได้ฟังเลย และเมื่อมีการได้ยินได้ฟังขึ้น ถึงแม้ว่าจะเป็นเพียงคำเดียว คือ คำว่า “จิต” แต่ก็ยังสามารถที่จะเกื้อกูลให้ผู้ที่พิจารณาธรรม ไม่ผ่านเลยไป แต่พยายามที่จะศึกษาด้วยการระลึกได้ รู้ว่าในขณะที่กำลังเห็นในขณะนี้ เป็นธาตุรู้อย่างไร เป็นอาการรู้อย่างไร และสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาก็เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่สามารถกระทบกับจักขุปสาทเท่านั้น ที่มีความสำคัญว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคลต่างๆ ตามความเป็นจริงแล้วก็ลดความสำคัญลง จนกระทั่งเหลือเพียงเป็นสิ่งที่มีจริงอย่างหนึ่ง ที่สามารถที่จะปรากฏเมื่อกระทบกับจักขุปสาท ในขณะที่จักขุปสาทยังไม่ดับ เท่านั้นเอง เมื่อจักขุปสาทดับ การเห็นก็ดับ สิ่งที่ปรากฏทางตาก็ดับ นี่คือทุกขอริยสัจจ์ คือ ความจริง

    เพราะฉะนั้น การแสวงหาธรรม การฟังธรรม หรือว่าพยายามที่จะได้เข้าใจธรรม ย่อมมีมานานแล้ว ไม่ใช่แต่เฉพาะที่ประเทศไทยเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นที่อื่นก็จะต้องมีผู้ที่สนใจใคร่ที่จะเข้าใจความจริงของชีวิต แต่ว่าก็ย่อมแล้วแต่บุญกรรมว่า ท่านผู้ใดมีโอกาสที่จะได้ฟังพระธรรมที่ประกอบด้วยเหตุผล ที่จะเกื้อกูลให้สติปัญญาเจริญขึ้นมากน้อยแค่ไหน

    ขอกล่าวถึงการแสวงหาธรรมของคนในอดีตของประเทศอื่น เช่น เรื่องที่เล่ากันมาของคนอเมริกัน มีว่า มีคนฉลาดคนหนึ่งที่ทุกคนนับถือมาก เวลาที่เขาใกล้จะตาย ผู้คนก็พากันไปเฝ้าเยี่ยม และโดยเฉพาะเมื่อใกล้จะตาย ก็คิดว่า คำพูดของคนใกล้จะตายนั้นย่อมสำคัญและมีประโยชน์ เป็นคำพูดตอนสุดท้ายที่ยังมีชีวิตเหลืออยู่ที่จะพูด เพราะฉะนั้น ก็คงจะเป็นคำที่มีประโยชน์และมีความสำคัญ เพราะฉะนั้น คนที่ไปเฝ้าเยี่ยมก็คอยฟังว่า ท่านผู้นี้จะพูดว่าอะไร เมื่อกระซิบถามท่านที่กำลังจะสิ้นใจ ท่านก็กล่าวว่า “โลกเหมือนกับถังไม้” คือ ถังไม้ที่มีรูปกลมยาว แล้วตรงกลางป่องสำหรับใส่เบียร์ พวกที่ไปเฝ้าคอยฟังก็คิดว่า “โลกเหมือนถังไม้” หมายความว่าอะไร เพราะคงจะมีความหมายที่ลึกซึ้ง สำคัญซ่อนเร้นอยู่ แต่พยายามคิดกันเท่าไร ก็คิดไม่ออก เพราะฉะนั้น ก็รีบเข้าไปถามท่านที่ใกล้จะตายนั้นว่า “ไม่เข้าใจว่า โลกเหมือนถังไม้ หมายความว่าอะไร” ท่านผู้ใกล้จะตายนั้นก็ตอบว่า “งั้นโลกก็ไม่เหมือนถังไม้”

    เท่านี้เอง คือสิ่งที่คนอาจจะตื่นเต้น คิดว่ามีสาระหรือว่ามีความสำคัญ มีความลึกซึ้ง แต่ว่าตามความจริงแล้ว ไม่ใช่ธรรมที่แจ่มแจ้ง ไม่ใช่ธรรมที่มีเหตุผล ไม่ใช่ธรรมที่มีของจริงที่ชัดเจนที่สามารถจะพิสูจน์ได้ แต่ว่าพุทธบริษัทมีโอกาสที่จะได้ฟังพระธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเสริฐสุด เพราะเหตุว่าเป็นเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริง ซึ่งถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงตรัสรู้ หรือว่าไม่ทรงแสดงธรรม ก็ไม่มีใครสามารถที่จะรู้เรื่องจิต เจตสิก และรูปได้

    เพราะฉะนั้น ในขณะที่กำลังฟังและพิจารณา ขณะนั้นก็เป็นกุศลจิต ได้ยินว่าอย่างนี้ แต่รู้ลักษณะของกุศลจิตไหม

    นี่เป็นเรื่องที่ว่าจะต้องเข้าใจตามความเป็นจริงว่า ศึกษาเรื่องของสภาพธรรมกับการที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม กับการที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรม ปัญญาจะต้องเจริญขึ้นตามลำดับขั้น เพราะเหตุว่าถ้าได้ศึกษาเรื่องของกุศลจิต หรือโสภณเจตสิก ก็ทราบว่าขณะใดขณะหนึ่งที่กุศลจิตเกิด จะต้องประกอบด้วยโสภณสาธารณเจตสิก เช่น ศรัทธา สติ หิริ โอตตัปปะ อโลภเจตสิก และโสภณเจตสิกอื่นๆ ไม่น้อยๆ กว่า ๑๙ ดวง ต้องมีโสภณสาธารณเจตสิก ๑๙ ดวงเกิดร่วมกับกุศลจิตนั้น แล้วยังจะต้องมีอัญญสมานาเจตสิกเกิดร่วมอีกไม่น้อยกว่า ๑๒ ดวง คิดดู เพียงชั่วขณะจิตเดียวที่เกิดขึ้น แล้วศึกษาเรื่องของจิต เจตสิก มีความเข้าใจ แต่ถ้าสติไม่ได้ระลึกลักษณะของสภาพธรรมแล้ว ก็จะไม่รู้จริงๆ ว่า ลักษณะของจิตซึ่งเกิดดับสืบต่อกันแต่ละขณะนั้น โดยสภาพจริงๆ แล้ว ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนอย่างไร แม้ว่าจะรู้โดยละเอียดว่า กุศลจิตเกิดขึ้นขณะหนึ่งมีเจตสิกประกอบเท่าไร

    รู้ได้ยากหรือง่าย กุศลจิตขณะหนึ่งมีเจตสิกประกอบเท่าไร ลักษณะของศรัทธา ลักษณะของสติ ลักษณะของหิริ ลักษณะของโอตตัปปะ ลักษณะของอโลภะ ถ้าจะอุปมากับเครื่องแกง ซึ่งจะต้องมีพริก กะปิ หอม กระเทียม เกลือ รากผักชี ลูกผักชี ยี่หร่า ข่า ตะไคร้ น้ำปลา น้ำตาล กะทิ ผสมกันอย่างละเอียด ในช้อนหนึ่งที่มีรสกลมกล่อม มีใครสามารถที่จะรู้ได้ไหมว่า ส่วนไหนเป็นพริก ข่า ตะไคร้ หอม กระเทียม ซึ่งจะขาดส่วนผสมอย่างใดอย่างหนึ่งที่รวมกันอยู่ในที่นั้นไม่ได้เลย ฉันใด ลักษณะของจิตแต่ละประเภทที่เกิดขึ้นและมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย แม้ว่าจะมีศรัทธาเจตสิก สติเจตสิก หิริเจตสิก โอตตัปปเจตสิก หรืออโลภเจตสิกเป็นต้น เกิดร่วมด้วย อย่างละนิดอย่างละหน่อย ที่รวมอยู่ในจิตขณะหนึ่งซึ่งเกิดแล้วดับ ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด ไม่ระลึก ไม่มีลักษณะของสภาพนั้นๆ ปรากฏให้รู้ ก็ย่อมไม่สามารถที่จะรู้ในสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนได้

    เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นพระมหากรุณาธิคุณของพระผู้มีพระภาค


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 23
    18 ม.ค. 2565

    ซีดีแนะนำ