โสภณธรรม ครั้งที่ 049


    ตอนที่ ๔๙

    ถ้ากุศลจิตไม่เกิด อโทสเจตสิกก็เกิดไม่ได้ และถ้าอโทสเจตสิกเกิดขณะใด ขณะนั้นจิตเป็นกุศล

    เพราะฉะนั้นขอให้พิจารณาตนเองเพื่อประโยชน์ว่า การที่แต่ละท่านจะมีพระธรรมเป็นที่พึ่งอย่างมั่นคง ถึงขั้นโลกุตตรสรณคมน์ จะต้องอบรมเจริญกุศลที่จะขัดเกลาอกุศลไปเรื่อยๆ พร้อมกับการเป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน จะเพียงแต่เจริญกุศลเท่านั้น โดยไม่เจริญสติปัฏฐาน ก็ไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้ หรือถ้าคิดที่จะเจริญสติปัฏฐานโดยไม่เจริญกุศลอื่นเลย ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เหมือนกัน เพราะเหตุว่าอกุศลก็จะต้องเพิ่มพูนมากขึ้น ไม่เป็นปัจจัยต่อการที่จะให้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้น

    การที่จะเจริญกุศลจนกระทั่งสามารถที่จะดับกิเลสได้ ก็ต้องประกอบด้วยธรรมที่เป็นบารมี ๑๐ ซึ่งธรรมแต่ละส่วนที่ได้ฟังจากพระไตรปิฎกเกื้อกูลจริงๆ ไม่ใช่ว่าแยกจากกัน แม้แต่บารมี ๑๐ ก็เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน และการที่จะอบรมเจริญหนทางที่จะสามารถดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท เพราะถ้าขาดการอบรมเจริญกุศล คือ บารมี ๑๐ ให้มั่นคงแล้ว การที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมก็มีไม่ได้

    บารมี ๑๐ คือ

    • ๑. ทาน
    • ๒. ศีล
    • ๓. เนกขัมมะ
    • ๔. ปัญญา
    • ๕. วิริยะ
    • ๖. ขันติ
    • ๗. สัจจะ
    • ๘. อธิษฐาน
    • ๙. เมตตา
    • ๑๐. อุเบกขา

    จะเห็นได้ว่า อโทสะ คือ เมตตา ก็เป็นบารมีด้วย ถ้าใครที่ยังคงไม่คิดที่จะเป็นผู้ที่มีเมตตาเพิ่มขึ้นๆ ก็ไม่มีทางที่จะถึงฝั่ง คือ พระนิพพานได้ เพราะฉะนั้นจะขาดบารมีข้อหนึ่งข้อใดก็ไม่ได้ คือ ต้องมีทั้งทาน ศีล เนกขัมมะ คือ การออกจากความติดข้องพัวพันในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แม้ว่าจะไม่ใช่โดยวัตถุกาม แต่โดยจิต คือ โดยสติที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตนขณะใด ขณะนั้นก็ชื่อว่าเป็นการออกจากความติด ความพอใจ ยึดมั่นนามธรรมและรูปธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ซึ่งก็ต้องเป็นปัญญาบารมี พร้อมกับวิริยะ คือ ความเพียร พร้อมทั้งขันติ คือ ความอดทน เพราะว่าผลของการอบรมเจริญปัญญา ไม่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นโดยเร็วและโดยง่าย แต่จะต้องเป็นไปทีละเล็กทีละน้อย ค่อยๆ เพิ่มขึ้นจริงๆ จากความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม การที่หลงลืมสติ ไม่ระลึกลักษณะของสภาพธรรม จนกระทั่งค่อยๆ เป็นผู้มีปกติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม แล้วสังเกตศึกษาพิจารณาจนเป็นความรู้ที่เพิ่มขึ้นๆ ซึ่งก็จะเห็นได้ว่า ต้องอาศัยนอกจากมีความเพียรแล้ว ยังต้องมีขันติ คือ การรอคอยผลซึ่งเป็นไปทีละเล็กทีละน้อยด้วย

    นอกจากนั้นต้องเป็นผู้ที่มีสัจจะ ความจริงใจต่อการที่จะเป็นผู้ตรงในการที่จะละกิเลส ต้องมีความตั้งใจมั่น คือ อธิษฐาน และมีเมตตา คือ อโทสะ และบารมีที่ ๑๐ คือ อุเบกขา ซึ่งบารมีทั้ง ๑๐ นี้ก็ได้แก่ โสภณจิตและโสภณเจตสิกนั่นเอง

    ขณะใดที่เป็นกุศลประการหนึ่งประการใด ก็ย่อมจะต้องเป็นไปในการที่จะเป็นบารมีหนึ่งบารมีใด สำหรับผู้ที่ต้องการที่จะดับกิเลส

    สำหรับเมตตา บารมีที่ ๙ ก็ได้แก่ อโทสเจตสิก และอุเบกขาบารมีก็ได้แก่ ตัตตรมัชฌัตตตาเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เป็นกลาง เที่ยงตรง ไม่เอนเอียง ซึ่งเป็นโสภณสาธารณเจตสิกดวงต่อไปที่จะกล่าวถึง คือ ดวงที่ ๗ ต่อจากสัทธาเจตสิก สติเจตสิก หิริเจตสิก โอตตัปปเจตสิก อโลภเจตสิก อโทสเจตสิกที่ได้กล่าวถึงแล้ว

    สำหรับเจตสิกดวงที่ ๗ ตัตตรมัชฌัตตตาเจตสิก ถ้าได้ฟังบ่อยๆ ก็คงจะจำได้ เจตสิกนี้เป็นสภาพธรรมที่ไม่เอนเอียง เที่ยงตรง เป็นกลาง จึงจะเป็นกุศลได้ ซึ่งเป็นการยาก ลองคิดดูถึงการที่จะเป็นผู้ที่ตรง ไม่เอนเอียง ในเมื่อยังมีความเห็นผิดบ้าง มีความเห็นถูกบ้าง มีความเข้าใจผิดบ้าง มีความเข้าใจถูกบ้าง แล้วยังเป็นผู้ที่หนาแน่นด้วยโลภะ โทสะ โมหะ

    เพราะฉะนั้นในวันหนึ่งๆ จะเห็นได้ว่า ที่กุศลจิตจะเกิดต้องประกอบด้วยโสภณสาธารณเจตสิก เพราะเหตุใดจึงไม่ง่ายที่กุศลจิตจะเกิด เพราะนอกจากจะต้องเป็นผู้มีศรัทธา มีสติระลึกได้ มีหิริ ความรังเกียจอกุศล มีโอตตัปปะที่เห็นโทษภัยของอกุศล และถอยกลับจากอกุศล ยังจะต้องมีอโลภเจตสิก อโทสเจตสิก และเจตสิกอื่นๆ ซึ่งเป็นโสภณสาธารณเจตสิก และถ้าจะพิจารณาเจตสิกแต่ละดวงว่าจะขาดดวงหนึ่งดวงใดไม่ได้เลย ในการที่กุศลจิตแต่ละขณะจะเกิด เช่น หิริกับโอตตัปปะ ทุกคนรู้ว่าสภาพธรรมใดเป็นอกุศล โลภะเป็นอกุศล โทสะเป็นอกุศล โมหะเป็นอกุศล แต่ทำไมไม่ถอยกลับจากขณะที่เป็นโลภะ จากขณะที่เป็นโทสะ หรือว่าจากขณะที่เป็นโมหะ เพราะเหตุว่าหิริเจตสิกและโอตตัปปเจตสิกไม่เกิด จึงไม่รังเกียจ ไม่ละอาย ไม่เห็นโทษภัยของอกุศล

    เพราะฉะนั้นจึงจะต้องอาศัยโสภณสาธารณเจตสิกครบทั้ง ๑๙ ประเภท หรือ ๑๙ ดวง กุศลจิตจึงจะเกิดขึ้นได้ เวลาที่ไม่โกรธ เป็นกุศลหรือเปล่า ไม่แน่ เพราะเหตุว่าถ้าโทสะไม่เกิด โลภะอาจจะเกิดก็ได้ และวันหนึ่งๆ ส่วนใหญ่แล้วไม่ใช่โทสมูลจิตที่เกิด แต่เป็นโลภมูลจิตนั่นเองที่เกิดจนชิน จนไม่รู้สึกตัว เพราะฉะนั้นถ้าเพียงแต่คิดว่า โทสะไม่เกิด ไม่มีโทสะ ก็อย่าเพิ่งคิดว่าดีแล้ว เพราะเหตุว่าต้องพิจารณาต่อไปด้วยความเป็นผู้ตรงจริงๆ ว่า เมื่อโทสะซึ่งเป็นอกุศลชนิดหนึ่งไม่เกิด แล้วอกุศลอื่น เช่น โลภะเกิดหรือเปล่า ถ้าขณะนั้นเป็นโลภะก็ขาดศรัทธา สติ หิริ โอตตัปปะ อโลภะ อโทสะ และตัตตรมัชฌัตตตาเจตสิก เพราะฉะนั้นขณะนั้นอกุศลจิตจึงเกิด

    นี่เป็นเรื่องที่ละเอียดที่จะต้องพิจารณา และจะต้องเป็นผู้ตรงต่อสภาพของจิตจริงๆ ถ้ายังไม่รู้ตัวเองว่า ไม่มีโทสะ แต่มีโลภะ ถ้าไม่รู้อย่างนี้ โลภะก็เกิดต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งเป็นชีวิตจริงๆ ของทุกคนในทุกวัน ต่อเมื่อใดโสภณสาธารณเจตสิกเกิด มีตัตตรมัชฌัตตตา และก็เห็นว่า แม้โลภะก็เป็นสิ่งซึ่งไม่ควรจะเกิด เมื่อนั้นขณะนั้นจิตที่เป็นกุศลจึงจะเกิดขึ้นเป็นไปในทานบ้าง เป็นไปในศีลบ้าง เป็นไปในความสงบของจิตบ้าง เป็นไปในการอบรมเจริญปัญญาเพื่อที่จะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ซึ่งเป็นสติปัฏฐานบ้าง

    นี่คือชีวิตตามความเป็นจริงของแต่ละบุคคล

    สำหรับโสภณสาธารณเจตสิกดวงที่ ๗ คือ ตัตตรมัชฌัตตตาเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่เป็นกลาง ไม่เอนเอียงด้วยอคติ คือ ไม่เอนเอียงด้วยฉันทาคติ ความพอใจ หรือโทสาคติ ความไม่พอใจ หรือโมหาคติ ความไม่รู้ความจริง และภยาคติ คือ ความกลัว ต้องเป็นตรงที่จะพิจารณาเหตุการณ์แต่ละเหตุการณ์ และสภาพของจิตแต่ละขณะในแต่ละเหตุการณ์นั้นด้วย จึงจะรู้ว่ามีฉันทาคติ เป็นผู้ที่ไม่ตรง เพราะมีความชอบใจฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดหรือเปล่า มีโทสาคติ เพราะไม่ชอบใจบุคคลหนึ่งบุคคลใดหรือเปล่า มีโมหาคติ เพราะความจริงไม่ได้รู้เรื่องจริงๆ เลย ว่าเรื่องจริงๆ นั้นเป็นอย่างไรหรือเปล่า แล้วก็มีภยาคติ คือ ความกลัว อาจจะกลัวความเสื่อมลาภ ความเสื่อมยศ หรือการที่บุคคลอื่นจะติเตียน ก็ต้องการที่จะให้เป็นที่รักที่ชอบใจ เพราะฉะนั้นก็เป็นผู้ที่ไม่ตรงในขณะที่ทำด้วยอกุศลจิต

    สภาพของตัตตรมัชฌัตตตาเจตสิก คือ

    จิตฺตเจตสิกานํ สมวาหิตลกฺขณา มีการยังจิตและเจตสิกให้เป็นไปสม่ำเสมอ เป็นลักษณะ

    คือ ไม่หวั่นไหวและก็ไม่เอนเอียงไปด้วยความรักและความชัง

    อูนาธิกตานิวารณรสา มีการห้ามความยิ่งและหย่อนของจิตและเจตสิก เป็นกิจ

    คือ ไม่ให้ตกไปฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด

    หรือ ปกฺขปาตุปจฺเฉท รสา มีการตัดขาดการตกไปฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

    คือตัดความไม่เสมอในอารมณ์ทั้งหลาย คือ ด้วยโลภะ หรือโทสะ เป็นต้น

    มชฺฌตฺตภาว ปจฺจุปฏฺฐานา มีความเป็นกลาง เป็นอาการปรากฏ

    สมฺปยุตฺตปทฏฺฐานา มีสัมปยุตตธรรมเป็นเหตุใกล้

    สัมปยุตตธรรมก็ได้แก่ เจตสิกอื่นๆ ที่ได้กล่าวถึงแล้ว ที่เป็นโสภณสาธารณเจตสิกเกิดร่วมด้วย คือ ต้องมีศรัทธา มีสติ มีหิริ มีโอตตัปปะ มีอโลภะ มีอโทสะ เป็นต้น เกิดในขณะนั้น มิฉะนั้นแล้วก็จะไม่เป็นผู้ที่ตรง

    การที่จะอบรมตน ฝึกตน มีทุกเหตุการณ์ เพราะว่าไม่มีใครเลยซึ่งจะไม่ประสบกับโลกธรรม เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเห็นสิ่งที่น่าพอใจหรือไม่น่าพอใจ ได้ยินเรื่องที่น่าพอใจหรือไม่น่าพอใจก็ตาม ขณะนั้นต้องเป็นผู้ตรงที่จะรู้ว่า ไม่ประกอบด้วยอคติ

    ข้อความในขุททกนิกาย มหานิทเทส ปรมัตถสุตตนิทเทสที่ ๕ เป็นข้อความที่พอจะแสดงให้เห็นลักษณะของตัตตรมัชฌัตตตาเจตสิก เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีเหตุการณ์หนึ่งเหตุการณ์ใด ก็ยากที่จะรู้ได้ว่า ในขณะที่กุศลจิตเกิด มีตัตตรมัชฌัตตตาเจตสิกแล้ว

    ข้อ ๑๖๓ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    นรชนเหล่านั้นละตนแล้ว ไม่ถือมั่น ไม่ทำนิสัยแม้ในเพราะญาณ เมื่อชนทั้งหลายแตกกัน นรชนนั้นไม่แล่นไปกับพวก ไม่ถึงเฉพาะแม้ซึ่งทิฏฐิอะไร

    นี่ต้องเป็นผู้ตรงจริงๆ ทุกคนทุกวันจะต้องมีเรื่องต่างๆ ถ้ามีเรื่องหนึ่งเรื่องใดเกิดขึ้น ก็จะต้องมีการพิจารณาว่า ใครถูกหรือว่าใครผิด หรือว่าใครเป็นกุศล หรือว่าใครเป็นอกุศล นี่เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ในทุกบ้าน แม้แต่ว่าในระหว่างพี่น้อง ในญาติสนิทในมิตรสหาย ก็จะต้องมีความเห็นต่างกัน แต่ว่าใครก็ตามที่จะมีความเห็นต่างกัน ตามอัธยาศัย ผู้ที่ละตนแล้วและไม่ถือมั่น ไม่ทำนิสัยแม้ในเพราะญาณ เมื่อชนทั้งหลายแตกกัน นรชนนั้นไม่แล่นไปกับพวก ไม่ถึงเฉพาะแม้ซึ่งทิฏฐิอะไร

    ข้อ ๑๖๖ มีข้อความอธิบายว่า

    คำว่า เมื่อชนทั้งหลายแตกกันแล้ว นรชนนั้นก็ไม่แล่นไปกับพวก คือ ผู้ที่เป็นผู้ตรง มีความว่า เมื่อชนทั้งหลายแยกกัน แตกกัน ถึงความเป็นสองฝ่าย เกิดเป็นสองพวกมีทิฏฐิต่างกัน มีความควรต่างกัน มีความชอบใจต่างกัน มีลัทธิต่างกัน อาศัยทิฏฐินิสัยต่างกัน ถึงฉันทาคติ ถึงโทสาคติ ถึงโมหาคติ ถึงภยาคติ นรชน คือ ผู้ที่มี ตัตตรมัชฌัตตตาเจตสิก คือ ผู้ที่เป็นกลาง ไม่หวั่นไหว ไม่เอนเอียง ย่อมไม่ถึงฉันทาคติ ไม่ถึงโทสาคติ ไม่ถึงโมหาคติ ไม่ถึงภยาคติ ไม่ถึงด้วยอำนาจแห่งราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ อุทธัจจะ วิจิกิจฉา อนุสัย และไม่ไป ไม่ดำเนินไป ไม่เลื่อนลอยไป ไม่แล่นไปเพราะธรรมทั้งหลาย อันทำความเป็นพวก เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เมื่อชนทั้งหลายแตกกันแล้ว นรชนไม่แล่นไปกับพวก

    เป็นอย่างนี้ได้ทุกเหตุการณ์ ก็คงจะเป็นผู้ประเสริฐจริงๆ ใช่ไหม นี่ต้องเป็นผู้ตรง เป็นอย่างนี้ได้หรือยัง หรือว่ายังไม่ได้เป็น หรือเป็นในบางเหตุการณ์ บางเหตุการณ์ก็ยังไม่เป็น ไม่มีใครจะช่วยใครได้เลย นอกจากสติที่จะระลึกรู้ว่า ขณะนั้นเป็นผู้ตรงหรือเปล่า เป็นผู้ที่ไม่เอนเอียงด้วยโทสะ โมหะ ราคะ มานะ ทิฏฐิ อุทธัจจะ วิจิกิจฉาและอนุสัยอื่นๆ

    เพราะฉะนั้นทุกคนเป็นผู้ที่ประมาทไม่ได้ บางกาลบางเหตุการณ์เป็นผู้ตรง เพราะเหตุว่าไม่ใช่ตัวตน แต่เป็นเพราะตัตตรมัชฌัตตตาเจตสิก และโสภณเจตสิกอื่นๆ เกิด แต่บางกาลซึ่งขณะที่เป็นผู้ที่ไม่ตรง จะไม่มีการรู้สึกตัวเลยว่า ขณะนั้นเป็นผู้ที่ไม่ตรง เพราะเหตุว่าอวิชชาไม่สามารถที่จะรู้ความจริง ไม่สามารถที่จะเป็นสติที่ระลึกแล้วก็รู้ได้ว่า ธรรมใดถูก ธรรมใดเป็นกุศล ธรรมใดเป็นอกุศล

    เพราะฉะนั้นทุกท่านก็มีสิ่งที่จะต้องฝึกอบรมจิตใจอยู่ตลอดเวลา ในเมื่อทุกท่านพิจารณาเห็นจิตของตัวเองว่า ยังเป็นจิตที่มากด้วยกิเลส แต่ถ้าเห็นแล้วก็ไม่สนใจ นั่นก็ใกล้ที่จะถึงสภาพของการเป็นอัมพาตทางจิต คือ ไม่สามารถที่จะมีความไว ความชำนาญ การคล่องแคล่วต่อการงานในการที่จะแก้ไขจากอกุศลเป็นกุศลได้

    ผู้ฟัง ตัตตรมัชฌัตตตาเจตสิก กับ อุเบกขาเวทนาเหมือนกันหรือไม่

    ท่านอาจารย์ ไม่เหมือนกัน เพราะเหตุว่าอุเบกขาเวทนาเป็นความรู้สึก ซึ่งถ้าจะให้ชัดก็ใช้คำว่า อทุกขมสุขเวทนา หมายถึงความรู้สึกที่ไม่สุขไม่ทุกข์ นั่นเป็นลักษณะของเวทนาเจตสิกซึ่งเป็นสภาพความรู้สึก แต่นี่ไม่ใช่ความรู้สึก นี่เป็นสภาพที่เป็นกลาง สภาพที่ไม่เอนเอียง สภาพที่ทำให้จิตและเจตสิกสม่ำเสมอ

    อุเบกขาเวทนาก็เกิดได้กับจิตทุกประเภท ทั้งที่เป็นกุศล อกุศล ส่วนตัตตรมัชฌัตตตาเป็นโสภณเจตสิก ต้องเกิดกับโสภณจิตเท่านั้น

    ผู้ฟัง แต่ในอุเบกขาบารมี ก็เป็นอย่างเดียวกับตัตตรมัชฌัตตตา

    ท่านอาจารย์ แน่นอน เพราะฉะนั้นต่อไปจะเห็นความสำคัญของตัตตรมัชฌัตตตาเจตสิก ต้องเป็นผู้ตรงตั้งแต่ขั้นต้น ของกุศลธรรมดาในชีวิตประจำวัน แม้ในขั้นทาน ในขั้นศีล ในขั้นความสงบของจิต ในขั้นที่สติระลึกลักษณะของสภาพธรรม ตลอดไปจนกระทั่งถึงการที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม เพราะฉะนั้นตัตตรมัชฌัตตตาเจตสิกจะเป็นถึงอุเบกขาสัมโพชฌงค์

    ผู้ฟัง ตัตตรมัชฌัตตตาเจตสิกที่ว่า มีตนเสมอ เป็นกลางในอารมณ์

    ท่านอาจารย์ ไม่ตกไปในฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดด้วยโลภะ โทสะ โมหะ หรืออคติต่างๆ

    ผู้ฟัง ก็คล้ายๆ กับอุเบกขา

    ท่านอาจารย์ อุเบกขาเวทนาเป็นความรู้สึกที่เกิดกับโลภะก็ได้ แต่ตัตตรมัชฌัตตตาเกิดกับโลภะไม่ได้ ต้องเป็นโสภณ อารมณ์เป็นอะไรก็ได้ แต่จิตเป็นกุศล อารมณ์ที่ปรากฏเป็นอนิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่ไม่น่าพอใจเลย แต่จิตไม่หวั่นไหว ขณะนั้นเพราะมีศรัทธา มีสติ มีหิริ มีโอตตัปปะ มีอโลภะ มีอโทสะ มีตัตตรมัชฌัตตตาด้วย ซึ่งทำให้เป็นสภาพที่ตรงต่อการที่จะไม่ตกไปด้วยอนิฏฐารมณ์ที่ปรากฏ ซึ่งจะทำให้เกิดอกุศลจิต คือ สภาพที่ไม่พอใจ

    ผู้ฟัง หมายความว่า อารมณ์จะเป็นอิฏฐารมณ์หรืออนิฏฐารมณ์ แต่ว่าเมื่อมีตัตตรมัชฌัตตตาเจตสิก

    ท่านอาจารย์ จะไม่ตกไปในอกุศลที่เป็นโลภะ หรือโทสะ หรือโมหะ ด้วยการเป็นผู้ที่มีสภาพธรรมที่เป็นโสภณสาธารณะเกิดร่วมกัน ทั้งศรัทธาด้วย ต้องมีสติด้วย มีหิริด้วย มีโอตตัปปะด้วย มีอโลภะด้วย มีอโทสะด้วย และต้องมีตัตตรมัชฌัตตตาด้วย

    ผู้ฟัง แต่ถ้ามีอารมณ์ที่เป็นกุศล ถ้ายังตกไปในอิฏฐารมณ์ที่เป็นกุศล ก็ยังไม่ใช่เป็นตัตตรมัชฌัตตตา

    ท่านอาจารย์ ต้องไม่ลืมเลยว่า ถ้าไม่ตรงแล้วจะเป็นกุศลไม่ได้ อย่างเห็นพระพุทธรูป และขณะนั้นจิตเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล นี่จะต้องมีตัตตรมัชฌัตตตาที่จะต้องรู้แล้ว ถ้าไม่รู้ก็เข้าใจว่า เป็นกุศล ใช่ไหม แต่เวลาเห็น จิตในขณะนั้นเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล ถ้าไม่รู้ก็เป็นอวิชชา เป็นโมหะ แม้ว่าเป็นอกุศล ก็ไม่รู้ เห็นพระพุทธรูป มีโอกาสจะเป็นอกุศลได้ไหม

    ผู้ฟัง ก็เป็นได้ ถ้าไปติดในพระพุทธรูปว่า พระพักตร์สวย ไม่ได้นึกถึงพระพุทธคุณ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นตัตตรมัชฌัตตตาทำให้เป็นผู้ตรง ที่จะรู้ว่า ขณะนั้นเป็นอกุศล

    ผู้ฟัง ตัตตรมัชฌัตตตาเจตสิกตัวนี้ ผมว่าคงจะฝึกกันยาก เพราะไม่เคยมีความคุ้นเคยกันเลย ตั้งแต่ศึกษาธรรมมา หรือว่าตั้งแต่วัยเด็กมา ไม่คุ้นเคยกันเลย พูดง่ายๆ คือ คงจะพบกันยาก แม้ว่าชีวิตประจำวันทุกวันนี้ บ้านใครก็บ้านมัน ไม่สนใจกัน หรือว่ารถชนกัน เราขับไป เราก็ไม่เหลียวมามอง อย่างนี้ก็ไม่ใช่ตัตตรมัชฌัตตตาแน่นอน เพราะว่าเป็นอกุศลทั้งนั้น แม้กระทั่งบ้านใครบ้านมันก็เหมือนกัน อย่างนี้ก็ไม่เป็นกลางแน่ แต่ถ้าไปยุ่งเข้า ก็ยิ่งไม่เป็นกลางใหญ่ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เวลาที่ไปยุ่ง หมายความว่าอย่างไร เรื่องของจิตใจเป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาโดยละเอียดจริงๆ เพราะว่ามีเหตุการณ์มากมายในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นสิ่งเตือนสติได้ ถ้าเป็นผู้ที่ละเอียด ทุกเหตุการณ์เตือนสติ คือ ไม่เลื่อนลอยไปกับอกุศลทั้งหลาย แต่จะต้องระลึกได้ว่า แม้แต่การที่จะไปยุ่งเกี่ยว จะยุ่งเกี่ยวในสถานใด จะไปช่วยให้เรื่องสงบ ให้ได้รับความถูกต้อง หรือว่าจะไปช่วยให้ยิ่งยุ่งใหญ่ นี่ก็เป็นสิ่งซึ่งยาก แม้แต่เจตนาดี แต่ว่าวาจาเผลอไปแล้ว เพียงนิดเดียวเท่านั้นเอง เรื่องที่จะดีก็กลายเป็นเรื่องร้าย ก็กลายเป็นเรื่องยุ่งไปอีก เพราะโสภณสาธารณเจตสิกในขณะนั้นไม่เกิด

    อกุศลเร็วมาก เกิดเร็วทีเดียว เพราะว่ามีการสะสมมาชำนาญจริงๆ เจตนาดี ตั้งใจดี ทำทุกอย่างดี แต่เผลอนิดเดียวก็ยุ่งไปอีก

    ผู้ฟัง ผมว่าชาวตะวันตก เขาคงกลัวยุ่ง เขาก็เลยไม่ค่อยยุ่งกันเลย มากยิ่งกว่าคนไทยอีก คนไทยเรายังมีการแบ่งปันช่วยเหลือกัน อย่างในหัวเมือง แต่ในกรุงเทพก็ยากขึ้น

    ท่านอาจารย์ อันนี้ไม่อยากจะให้ใช้คำว่า ชาวไหน เพราะว่าตามความเป็นจริงตรงโดยสภาพปรมัตถธรรมแล้วก็เป็นสภาพของจิตและเจตสิก ชาวอื่นก็มีทั้งกุศลและอกุศล ชาวเราก็มีทั้งอกุศลและกุศล เพราะว่าถ้ายังคิดถึงในลักษณะของเรากับเขา ก็จะมีการเปรียบเทียบ แม้แต่ในขณะนี้จิตเป็นอย่างไร เห็นไหม ตรงไหม แค่นี้ก็ยังจะต้องคิดแล้ว ถ้าเป็นผู้ที่ตรงจริงๆ ก็ไม่ต้องพิจารณาเรื่องเราเขา เพราะเหตุว่าเป็นสภาพธรรม เป็นกุศลจิต เป็นอกุศลจิต เป็นกุศลเจตสิก เป็นอกุศลเจตสิกเท่านั้นเอง

    ผู้ฟัง ก็คงจะได้กุศลขึ้นมาอันหนึ่งว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าช่างละเอียดจริงๆ แม้แต่เจตสิกซึ่งละเอียดขนาดนี้ ท่านก็ยังแสดงได้ด้วยสัพพัญญุตญาณจริงๆ ไม่มีนักปราชญ์ผู้ใดที่จะมารู้ความละเอียดของจิตถึงขนาดนี้ได้ อันนี้ก็ระลึกถึงพุทธคุณจริงๆ

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่ละเอียดอย่างนี้ ดับกิเลสไม่ได้ เพียงตัวอย่างของท่านผู้ฟัง ก็ยังเห็นได้ ใช่ไหม ขณะนั้นเพียงเราหรือเขาเท่านั้น ขณะนั้นก็ไม่ใช่ผู้ตรงต่อลักษณะของจิตและเจตสิกซึ่งเป็นปรมัตถธรรม

    เพราะฉะนั้นต้องละเอียดขึ้นๆ ๆ อีก จึงจะมีพระธรรมเป็นสรณะจริงๆ เพราะเหตุว่าในขณะใดที่กล่าวคำขอถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ถึงพระธรรมเป็นสรณะ ควรที่จะขอถึงการประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมด้วยทุกครั้งที่กล่าว เพราะว่าส่วนใหญ่กล่าวคำขอถึงพระผู้มีพระภาค พระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ จบเร็วมาก ไม่ได้คิดอะไรมากกว่านั้นเลย แต่ถ้าเป็นผู้ที่ละเอียด ขณะใดที่ขอถึงพระผู้มีพระภาค พระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ที่จะมีพระธรรมเป็นสรณะได้จริงๆ ไม่ใช่เพียงฟัง และก็ไม่ใช่เพียงศึกษา ไม่ใช่เพียงรู้ว่ามีจิตเท่าไร มีเจตสิกเท่าไร แต่ว่าไม่ได้น้อมประพฤติปฏิบัติ เพราะเหตุว่าในขณะที่ขอถึงพระธรรมนั้น ลืมว่าควรที่จะขอถึง คือ ขอประพฤติปฏิบัติตามพระธรรม ทุกครั้งที่กล่าวคำว่าขอถึงพระธรรมเป็นสรณะ ขอให้น้อมจิตคิดว่า ขอปฏิบัติตามพระธรรมด้วย ขอประพฤติปฏิบัติตามพระธรรม ถ้าเป็นอย่างนี้บ่อยๆ จิตจะอ่อนโยนจริงๆ แล้วก็จะเป็นผู้ที่ละเอียดขึ้น แม้ว่ายังมีกิเลสอยู่ แต่ว่าสติก็ระลึกได้ว่า ในขณะใดเป็นอกุศล และในขณะใดเป็นกุศล และโดยเฉพาะเมื่อได้ศึกษาเรื่องโสภณสาธารณเจตสิกแต่ละดวง จะเห็นความสำคัญว่า จะขาดโสภณสาธารณเจตสิกดวงหนึ่งดวงใดไม่ได้จริงๆ ในการที่กุศลจิตจะเกิดแต่ละขณะ แม้แต่ในการที่จะพิจารณาเหตุการณ์แต่ละเหตุการณ์ เพื่อที่จะเป็นผู้ยุติธรรม เป็นผู้ตรง และแม้แต่จะรู้ว่า ใครถูก ใครผิด หรือรู้ว่าความจริงเป็นอย่างไร ขณะนั้นยังต้องพิจารณาจิตของตนเองว่า เมื่อรู้แล้ว


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 23
    20 ม.ค. 2565

    ซีดีแนะนำ