โสภณธรรม ครั้งที่ 039


    ตอนที่ ๓๙

    ดูไม่น่าเชื่อเลยว่า จะเป็นไปได้ว่า คนที่เคยพอใจทุกอย่างในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ตลอดกาลยาวนานของสังสารวัฏฏ์นี้ เมื่อได้อบรมเจริญปัญญา ปัญญานั้นสามารถจะค่อยคลายๆ ค่อยๆ ละ ค่อยๆ ดับโลภะนั้นได้ตามลำดับขั้น

    เพราะฉะนั้น ก็เห็นหนทางของอกุศลธรรมกับโสภณธรรม แม้ว่าโลภะจะเกิดอยู่เป็นประจำทุกวัน ในชาตินี้ และในสังสารวัฏฏ์ ในอดีตที่ยาวนานมาแล้วก็จริง ก็ไม่น่าเชื่อว่าจะมีผู้ที่อบรมเจริญปัญญาไปทีละเล็กทีละน้อยๆ จนกระทั่งปัญญานั้นคมกล้า สามารถที่จะดับโลภะได้ตามลำดับขั้นจริงๆ เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ เป็นสิ่งที่ควรพากเพียร เป็นสิ่งที่ควรจะพยายามไปทุกภพทุกชาติ เพราะเหตุว่าถ้าไม่ได้เจริญอบรมปัญญาถึงขั้นที่จะดับกิเลส จะเห็นได้ว่าการละหรือการสละความติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะนั้น เป็นได้เพียงชั่วขณะจริงๆ ไม่นานเลย เพราะว่าสละวัตถุเพื่อเป็นทาน เป็นประโยชน์สุขแก่บุคคลอื่นชั่วเล็กน้อยในวันหนึ่ง แล้วก็หมดแล้ว หลังจากนั้นโลภะก็เข้ามาอีกทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    เพราะฉะนั้น มีหนทางเดียวจริงๆ คือ อบรมเจริญปัญญาที่จะดับโลภะที่เกิดร่วมกับความเห็นผิด ที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลเสียก่อน ก่อนที่จะถึงการดับกิเลสขั้นต่างๆ

    ตัวอย่างของท่านที่อบรมเจริญปัญญา เห็นโทษของโลภะแล้ว สะสมมาพร้อมที่จะดับโลภะเป็นสมุจเฉท หลังจากที่ในสังสารวัฏฏ์ในอดีต ท่านก็ได้เป็นผู้ที่มีความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ

    ขอกล่าวถึงข้อความในมัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ รัฏฐปาลสูตร ข้อ ๔๒๓ ซึ่งเป็นชีวิตของท่านรัฏฐปาล ผู้เป็นเลิศกว่าพวกภิกษุสาวกผู้บวชด้วยศรัทธา ข้อความมีว่า

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคได้เสด็จจาริกไปในหมู่ชนชาวกุรุ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่เสด็จถึงนิคมของชาวกุรุอันชื่อว่า ถุลลโกฏฐิตะ

    ซึ่งความหมายของคำนี้คือ เป็นที่ที่มีข้าวแน่นยุ้ง เป็นที่ๆ มีความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหาร

    พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงธรรมแก่พวกพราหมณ์และพวกคฤหบดีชาวถุลลโกฏฐิตนิคม ให้เห็นชัด ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริงด้วยธรรมีกถา

    ครั้งนั้น รัฐปาละกุลบุตร ผู้เป็นบุตรของสกุลเลิศ ในถุลลโกฏฐิตนิคม

    ก็ได้ขออนุญาตมารดาบิดาบวชด้วยความยากยิ่ง เพราะเหตุว่าท่านเป็นบุตรเพียงคนเดียว มีทรัพย์สมบัติมาก มีทุกสิ่งทุกอย่างพร้อม แต่ว่าเมื่อได้ฟังธรรม ท่านก็เห็นว่า การที่จะอบรมเจริญปัญญาในเพศคฤหัสถ์สำหรับท่านเป็นการยาก เพราะเหตุว่าท่านสะสมอุปนิสัยที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมในเพศบรรพชิต ความยากของการที่ท่านจะขออนุญาตมารดาบิดาบวช ทำให้ท่านต้องอดอาหารตลอด ๗ วัน มิฉะนั้น มารดาบิดาก็ไม่ยอมให้บวช แต่เมื่อเห็นศรัทธาของท่านที่มั่นคง ในที่สุดมารดาบิดาก็ยอมให้บวช โดยกล่าวว่า เมื่อบวชแล้วก็ให้มาเยี่ยมบ้าง

    เมื่อท่านรัฐปาละอุปสมบทได้กึ่งเดือน พระผู้มีพระภาคได้ประทับอยู่ในถุลลโกฏฐิตนิคมตามควรแล้ว ก็ได้เสด็จจาริกไปถึงนครสาวัตถี ประทับ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี และไม่นานท่านพระรัฐปาละก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์รูปหนึ่งในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย

    คำว่า “ไม่นาน” ไม่นานในพระไตรปิฎก ก็ควรที่จะได้ทราบว่า ในแต่ละสูตรนั้น ข้อความในอรรถกถาแสดงว่าอย่างไร สำหรับท่านพระรัฐปาละที่กล่าวว่า ไม่นาน ท่านพระรัฐปาละก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ก็คือ ๑๒ ปี

    เมื่อท่านได้เป็นพระอรหันต์แล้ว ท่านก็ได้ทูลขออนุญาตพระผู้มีพระภาคไปเยี่ยมมารดาบิดาของท่านที่ถุลลโกฏฐิตนิคม เมื่อท่านไปถึงบ้านมารดาบิดาของท่าน ขณะนั้นบิดาของท่านกำลังให้ช่างตัดผมสางผมให้ที่ซุ้มประตูบ้าน ซึ่งซุ้มประตูบ้านของท่านมี ๗ ซุ้ม เพราะฉะนั้น เมื่อบิดาของท่านเห็นท่านแต่ไกล ก็ไม่รู้ว่า เป็นบุตร ก็ได้กล่าวว่า

    “พวกสมณะศีรษะโล้นเหล่านี้ บวชบุตรคนเดียวผู้เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา”

    ครั้งนั้น ท่านพระรัฐปาละไม่ได้การให้ ไม่ได้คำตอบคือ ไม่ได้การเชื้อเชิญ หรือการนิมนต์ที่บ้านบิดาของท่าน ที่แท้ได้แต่คำด่าเท่านั้น

    เพราะกล่าวว่า “พวกสมณะศีรษะโล้นเหล่านี้ บวชบุตรคนเดียวผู้เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา”

    ขณะนั้น ทาสีของญาติของท่านพระรัฐปาละกำลังจะเอาขนมกุมมาสค้างคืนไปทิ้ง ท่านรัฐปาละก็ได้กล่าวว่า ถ้าจะทิ้ง ก็ขอให้ใส่ลงในบาตรของท่านเถอะ เมื่อกล่าวอย่างนั้น ทาสีก็จำเสียงและก็จำสัณฐานมือเท้าของท่านได้ ก็ได้รีบไปเรียนให้มารดาของท่านทราบว่า ท่านรัฐปาละมาแล้ว

    เมื่อมารดาบิดาของท่านได้ไปหาท่านรัฐปาละซึ่งอาศัยฝาเรือนแห่งหนึ่ง ฉันขนมกุมมาสค้างคืนนั้น มารดาบิดาก็ได้นิมนต์ให้ท่านไปฉันที่บ้าน แต่ท่านก็กล่าวว่าท่านฉันเสร็จแล้ว มารดาบิดาจึงนิมนต์ท่านให้ไปฉันในวันรุ่งขึ้น

    แม้ว่าอาหารที่บ้านจะเป็นอาหารที่ประณีต และก็อาหารที่กำลังฉันก็เป็นขนมกุมมาสค้างคืน แต่ผู้ที่ดับกิเลสแล้ว ไม่มีความต่างกัน เมื่อฉันเสร็จแล้ว ก็ไม่ต้องไปฉันต่อที่อื่นอีก

    ในวันรุ่งขึ้น มารดาบิดาของท่านก็ให้ขนเงินทอง ทรัพย์สมบัติออกมากองเป็นอันมาก

    ที่ว่าเป็นอันมากหมายความว่า กองจนคนที่ยืนข้างนี้ไม่เห็นคนที่ยืนอีกข้างหนึ่ง เพื่อที่จะให้ท่านลาสิกขาบท ออกมาใช้ทรัพย์สมบัตินั้น และทำบุญเถอะ เพราะเหตุว่าเมื่อมีเงินก็ยังสามารถที่จะทำกุศลอื่นได้ ไม่จำเป็นที่ท่านจะต้องบวช แต่ท่านพระรัฐปาละก็ได้กล่าวตอบว่า

    “ดูกรคฤหบดี ถ้าท่านพึงทำตามคำของอาตมภาพได้ ท่านพึงให้เขาขนกองเงินกองทองนี้บรรทุกเกวียนให้เข็นไปจมเสียที่กลางกระแสแม่น้ำคงคา ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะความโศก ความร่ำไร ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส มีทรัพย์นั้นเป็นเหตุ จักเกิดขึ้นแก่ท่าน”

    ไม่ค่อยได้มีใครพิจารณาว่า ความทุกข์ของท่านเกิดจากทรัพย์ แต่ว่าอยากจะได้ทรัพย์ เพราะเห็นว่า ถ้าได้ทรัพย์แล้วก็จะไม่มีความทุกข์ แต่ลองคิดจริงๆ ว่า ความทุกข์ของท่านทั้งหมดมาจากทรัพย์ จริงไหม มาจากเยื่อใย ความติดข้อง ความต้องการ ความปรารถนาทรัพย์ ขณะที่กำลังติดข้องต้องการ ปรารถนา แล้วไม่ได้ เป็นทุกข์ไหม หรือว่าจะต้องหมดสิ้นไป ก็เป็นทุกข์ แต่ขอให้ดูชีวิตของบางคนที่อาจจะไร้ทรัพย์ แต่ก็ยังสามารถที่จะเป็นความสุข มีหน้าตาเบิกบาน ยังยิ้มแย้มแจ่มใสได้ ในขณะที่คนมีทรัพย์มากๆ บางทีก็หน้าตาไม่เป็นสุขเลย อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปได้

    เพราะฉะนั้น ก็ขึ้นอยู่กับสภาพของจิตใจว่า ท่านมีความผูกพัน เกี่ยวข้อง ปรารถนาทุกข์ ซึ่งเกิดจากทรัพย์ มากน้อยแค่ไหน

    เมื่อท่านรัฐปาละทำภัตตกิจที่บ้านมารดาบิดาของท่านแล้ว ท่านก็ได้ไปนั่งพักกลางวันที่โคนไม้แห่งหนึ่งในพระราชอุทยานมิคาจีระของพระเจ้าโกรัพยะ เมื่อพระเจ้าโกรัพยะทรงทราบว่า ท่านพระรัฐปาละนั่งพักกลางวันอยู่ในพระราชอุทยาน ก็ได้เสด็จไปพบ

    เพราะว่าทุกคนต้องรู้จักท่านพระรัฐปาละในอดีต ซึ่งเป็นบุตรของตระกูลที่เลิศ ว่ามีทุกอย่างสมบูรณ์เพียบพร้อมหมด แต่ก็ยังสละทรัพย์สมบัติเหล่านั้นไปได้ เพราะฉะนั้น เมื่อพระเจ้าโกรัพยะทรงทราบว่า ท่านพระรัฐปาละนั่งพักกลางวันอยู่ในพระราชอุทยาน ก็ได้เสด็จไปพบ และได้ตรัสกับท่านพระรัฐปาละว่า

    “ท่านรัฐปาละ ผู้เจริญ ความเสื่อม ๔ ประการนี้ ที่คนบางพวกในโลกนี้ถึงเข้าแล้ว ย่อมปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ความเสื่อม ๔ ประการนั้นเป็นไฉน คือ ความเสื่อมเพราะชรา ๑ ความเสื่อมเพราะความเจ็บไข้ ๑ ความเสื่อมเพราะโภคสมบัติ ๑ ความเสื่อมจากญาติ ๑...

    แต่ท่านรัฐปาละไม่ได้มีความเสื่อมเหล่านั้นเลย ท่านรัฐปาละรู้เห็นหรือได้ฟังอะไร จึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเสียเล่า

    ท่านพระรัฐปาละก็ได้ถวายพระพรว่า พระผู้มีพระภาคพระองค์ทรงแสดงธัมมุทเทส ๔ ข้อที่ท่านรู้เห็นและได้ฟังแล้ว จึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ธัมมุทเทส ๔ คือ

    ธัมมุทเทสข้อที่หนึ่งว่า โลกอันชรานำเข้าไป ไม่ยั่งยืน ดังนี้แล อันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงแล้ว ที่ท่านรู้เห็นและได้ฟังแล้ว จึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต

    เห็นภัยของความชราว่าต้องมีแน่นอน เวลาชราแล้ว ทุกอย่างเปลี่ยน ไม่เหมือนเดิม ตั้งแต่ร่างกายที่ไม่แข็งแรง ตลอดไปทุกสิ่งทุกอย่าง น่าที่จะหน่าย ที่จะเบื่อในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้น บางคนเห็นโทษของชรา จึงได้ออกจากเรือน บวชเป็นบรรพชิต

    ธัมมุทเทสข้อที่สองว่า โลกไม่มีผู้ต้านทาน ไม่เป็นใหญ่เฉพาะตนดังนี้แล อันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นผู้ทรงรู้ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว ที่ท่านรู้เห็นและได้ฟังแล้ว จึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต

    ธัมมุทเทสข้อที่สามว่า โลกไม่มีอะไรเป็นของตน จำต้องละสิ่งทั้งปวงไป ดังนี้แล อันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงแล้ว ที่ท่านรู้เห็นและได้ฟังแล้ว จึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต

    ธัมมุทเทสข้อที่สี่ว่า โลกพร่องอยู่เป็นนิตย์ ไม่รู้จักอิ่ม เป็นทาสแห่งตัณหา ดังนี้แล อันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงแล้ว ที่ท่านรู้เห็นและได้ฟังแล้ว จึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต

    ข้อความตอนท้ายของพระสูตรนี้ ข้อ ๔๕๑ มีข้อความว่า

    ท่านพระรัฐปาละได้กล่าวคำนี้แล้ว ครั้นแล้ว ภายหลังได้กล่าวคาถาประพันธ์นี้อื่นอีกว่า

    เราเห็นมนุษย์ทั้งหลายในโลก ที่เป็นผู้มีทรัพย์ ได้ทรัพย์แล้วย่อมไม่ให้ เพราะความหลง โลภแล้วย่อมทำการสั่งสมทรัพย์ และยังปรารถนากามทั้งหลายยิ่งขึ้นไป พระราชาทรงแผ่อำนาจชนะตลอดแผ่นดิน ทรงครอบครองแผ่นดินมีสาครเป็นที่สุด มิได้ทรงรู้จักอิ่มเพียงฝั่งสมุทรข้างนี้ ยังทรงปรารถนาฝั่งสมุทรข้างโน้นอีก พระราชาและมนุษย์เหล่าอื่นเป็นอันมาก ยังไม่สิ้นความทะเยอทะยาน ย่อมเข้าถึงความตาย เป็นผู้พร่องอยู่ ละร่างกายไปแท้ ความอิ่มด้วยกามย่อมไม่มีในโลกเลย

    อนึ่ง ญาติทั้งหลายพากันสยายผมคร่ำครวญถึงผู้นั้น พากันกล่าวว่า ได้ตายแล้วหนอ พวกญาตินำเอาผู้นั้นคลุมด้วยผ้าไป ยกขึ้นเชิงตะกอน แต่นั้นก็เผากัน ผู้นั้นเมื่อกำลังถูกเขาเผา ถูกแทงอยู่ด้วยหลาว มีแต่ผ้าผืนเดียว ละโภคสมบัติไป ญาติก็ดี มิตรก็ดี หรือสหายทั้งหลายเป็นที่ต้านทานของบุคคลผู้จะตาย ไม่มี ทายาททั้งหลายก็ขนเอาทรัพย์ของผู้นั้นไป ส่วนสัตว์ย่อมไปตามกรรมที่ทำไว้ ทรัพย์อะไรๆ ย่อมติดตามคนตายไปไม่ได้ บุตร ภรรยา ทรัพย์ และแว่นแคว้นก็เช่นนั้น บุคคลย่อมไม่ได้อายุยืนด้วยทรัพย์ และย่อมไม่กำจัดชราได้ด้วยทรัพย์ นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวชีวิตนี้ ว่าน้อยนัก ไม่เที่ยง มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ทั้งคนมั่งมี ทั้งคนยากจน ย่อมกระทบผัสสะ ทั้งคนพาล ทั้งนักปราชญ์ก็กระทบผัสสะเหมือนกัน แต่คนพาลย่อมนอนหวาดอยู่ เพราะความที่ตนเป็นพาล ส่วนนักปราชญ์อันผัสสะถูกต้องแล้ว ย่อมไม่หวั่นไหว เพราะเหตุนั้นแล ปัญญาจึงประเสริฐกว่าทรัพย์ ปัญญาเป็นเหตุถึงที่สุดในโลกนี้ได้ คนเป็นอันมากทำบาปกรรมเพราะความหลงในภพน้อยภพใหญ่ เพราะไม่มีปัญญาเครื่องให้ถึงที่สุด สัตว์ที่ถึงการท่องเที่ยวไปมา ย่อมเข้าถึงครรภ์บ้าง ปรโลกบ้าง ผู้อื่นนอกจากผู้มีปัญญานั้นย่อมเชื่อได้ว่า จะเข้าถึงครรภ์และปรโลก หมู่สัตว์ผู้มีบาปธรรม ละโลกนี้ไปแล้วย่อมเดือดร้อนเพราะกรรมของตนเองในโลกหน้า เปรียบเหมือนโจรผู้มีความผิด ถูกจับเพราะโจรกรรม มีตัดช่อง เป็นต้น ย่อมเดือดร้อนเพราะกรรมของตนเอง ฉะนั้น

    ความจริง กามทั้งหลายวิจิตร รสอร่อยเป็นที่รื่นรมย์ใจ ย่อมย่ำยีจิตด้วยรูปมีประการต่างๆ มหาบพิตร อาตมาภาพเห็นโทษในกามทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น จึงบวชเสีย ผลไม้ทั้งหลายยังไม่หล่นทีเดียว มานพทั้งหลายทั้งหนุ่มทั้งแก่ ย่อมมีสรีระทำลายได้ มหาบพิตร อาตมภาพรู้เหตุนี้จึงบวชเสีย ความเป็นสมณะ เป็นข้อปฏิบัติอันไม่ผิด เป็นคุณประเสริฐแท้ ดังนี้แล

    จบ รัฐปาลสูตร ที่ ๒

    วันนี้บางท่านฟังแล้วอาจจะลืม แต่ว่าบางท่านฟังแล้วก็ยังอาจจะพิจารณาธรรมที่ประสบพบเห็นได้ ที่บ้านทุกคนมีต้นไม้ใบหญ้า บางท่านก็มองดู ใบไม้บางใบยังไม่ทันแก่ เหี่ยวจริงๆ ยังไม่ถึงความแห้งจริงๆ ก็หลุดจากขั้วหล่นแล้ว ฉันใด เพราะฉะนั้น ชีวิตของทุกๆ คนนี้ ก็ไม่มีใครที่สามารถจะรู้ได้ว่า ทั้งๆ ที่มีความยินดีติดข้องในกาม ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ อย่างไม่รู้จักอิ่ม แต่ว่าเมื่อถึงเวลา ก็ไม่มีทรัพย์สมบัติสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่จะตามไปได้เลย และก็ทุกคนก็ย่อมเป็นไปตามกรรม

    เพราะฉะนั้น ความชราก็ดีหรือว่าโรคภัยต่างๆ ก็ดี ไม่ใช่ว่าทรัพย์จะเป็นสิ่งที่ป้องกันได้ แต่ว่าความเป็นผู้มีปัญญาที่จะอบรมเจริญการรู้แจ้งในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ สามารถที่จะทำให้ถึงที่สุด คือ ที่สุดของการท่องเที่ยวไปในครรภ์และในปรโลกได้

    ทางที่จะละคลายความยึดมั่นในความเห็นว่า มีสัตว์ มีบุคคล มีตัวตน ก็โดยการที่ระลึกได้ว่า สภาพปรมัตถธรรมเพียงปรากฏ ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง โดยไม่ได้มีเรื่องราวต่างๆ มาปะปน เพราะฉะนั้น ถ้าคิดถึงเรื่องหนึ่งเรื่องใด ก็ให้ทราบว่า ขณะนั้นไม่ใช่การรู้ลักษณะของปรมัตถธรรมซึ่งเกิดแล้วดับแล้ว เพราะฉะนั้น ทุกคนจะอยู่ในโลกของเรื่องสมมติบัญญัติของสิ่งที่เพียงปรากฏสั้นๆ และก็ดับไปอย่างรวดเร็ว คงเหลือแต่ความทรงจำกับเรื่องราวต่างๆ

    เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐานจะทำให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรมได้ถูกต้อง ถ้ายังแยกไม่ได้ ก็ยังคงเป็นโลกของสมมติบัญญัติอยู่ และก็ไม่สามารถที่จะประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไป ความไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคลได้

    ทุกคนที่เกิดมาแล้ว ถ้าได้ศึกษาพระธรรม ก็จะทราบได้ว่า โลภะนี้มีกำลังมากกว่า อโลภะ

    ข้อความในมัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ฆฏิการสูตร มีข้อความว่า

    แม้ในปัจจุบัน มีใครชวนไปไหว้พระเจดีย์ ไปฟังพระธรรม ก็จะไม่กระทำอุตสาหะ แต่ถ้าใครๆ ชวนไปดูฟ้อนรำ ขับร้อง เป็นต้น จะรับคำด้วยการชวนเพียงครั้งเดียวเท่านั้น

    จริงไหม หรือยังไม่มีใครชวนก็ไปเองเสียแล้ว ที่บ้านก็สะดวก ง่ายมาก เพียงเปิดโทรทัศน์ก็สามารถที่จะดูได้ตามใจชอบ

    ข้อความนี้เป็นตอนที่ฆฏิการะช่างหม้อชวนโชติปาลมานพ ซึ่งคือ พระผู้มีพระภาคในอดีต ในสมัยพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่า กัสสปะ ให้ไปฟังพระธรรม ให้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่า กัสสปะ แต่โชติปาลมานพไม่ไป แต่เมื่อฆฏิการะช่างหม้อชวนไปอาบน้ำก็ไป

    นี่ก็คือครั้งหนึ่ง สมัยหนึ่ง ซึ่งทุกคนก็จะเป็นอย่างนี้ แต่ว่าการอบรมเจริญกุศลไปทุกประการทีละเล็กทีละน้อย วันหนึ่งก็จะมีกำลังที่จะทำให้อกุศลอ่อนกำลังลง

    สำหรับเรื่องของอโลภเจตสิก ยังมีข้อสงสัยอะไรอีกบ้างไหม

    โสภณสาธารณเจตสิก เป็นเจตสิกที่เกิดกับโสภณจิต คือ จิตที่ดีงาม มีจำนวนทั้งหมด ๑๙ ดวง จะเห็นได้ว่า ที่กุศลจิต โสภณจิต จะเกิดขึ้นแต่ละครั้ง ต้องอาศัยโสภณเจตสิกจำนวนมากทีเดียวเกิดร่วมกัน มิฉะนั้นแล้ว ไม่สามารถจะสู้กำลังของอกุศลจิตได้ในวันหนึ่งๆ

    สำหรับโสภณสาธารณเจตสิก ๑๙ ดวง ขอกล่าวถึงเป็นการทบทวนโดยชื่อก่อน

    ๑. ศรัทธาเจตสิก ๒. สติเจตสิก ๓. หิริเจตสิก ๔. โอตตัปปเจตสิก ๕. อโลภเจตสิก ๖. อโทสเจตสิก ๗. ตัตตรมัชฌัตตตัตตาเจตสิก ๘. กายปัสสัทธิเจตสิก ๙. จิตปัสสัทธิเจตสิก ๑๐. กายลหุตาเจตสิก ๑๑. จิตลหุตาเจตสิก ๑๒. กายมุทุตาเจตสิก ๑๓. จิตมุทุตาเจตสิก ๑๔. กายกัมมัญญตาเจตสิก ๑๕. จิตกัมมัญญตาเจตสิก ๑๖. กายปาคุญญตาเจตสิก ๑๗. จิตปาคุญญตาเจตสิก ๑๘. กายุชุกตาเจตสิก ๑๙. จิตตุชุกตาเจตสิก

    หลายท่านอาจจะบอกว่า ไม่รู้จักหลายเจตสิก แต่ว่าขณะใดที่กุศลจิตเกิด จะครบทั้ง ๑๙ เจตสิก ที่เป็นโสภณสาธารณเจตสิก เป็นจิตของทุกท่าน แต่ว่าถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดง ก็ย่อมไม่มีใครสามารถจะพิจารณารู้ความเป็นโสภณธรรมของเจตสิกเหล่านี้เลย เพราะไม่คุ้นหู และก็ไม่สังเกต ไม่ได้พิจารณาลักษณะของสภาพของโสภณเจตสิกเหล่านั้น แต่ว่าให้ทราบได้ ถึงแม้ว่าจะยังไม่ได้กล่าวถึงครบทั้ง ๑๙ เจตสิกที่เป็นโสภณสาธารณะ แต่ให้ทราบว่า ทุกขณะที่กุศลจิตเกิด แม้ในขณะนี้เองก็มีโสภณสาธารณเจตสิกเกิดทั้ง ๑๙ ดวง

    สำหรับโสภณสาธารณเจตสิกที่จะขอกล่าวถึงต่อไป ก็คือ “อโทสเจตสิก” เป็นสภาพธรรมที่ตรงกันข้ามกับโทสะ เพราะฉะนั้น ถ้าจะกล่าวถึงลักษณะของโทสะ ก็จะทำให้เข้าใจลักษณะของอโทสเจตสิกซึ่งตรงกันข้ามได้ เพราะเหตุว่าการที่จะละคลายโทสะ ก็จะต้องรู้ว่าโทสะมีลักษณะอย่างไร และก็เกิดขึ้นขณะไหน มีอะไรเป็นอารมณ์ ถ้าไม่รู้ธรรมที่ต้องการจะละ จะละได้อย่างไร แต่เมื่อต้องการจะละธรรมใดที่เป็นอกุศล ก็จะต้องรู้จักสภาพของอกุศลธรรมนั้นให้ละเอียดขึ้น เพื่อที่จะได้รู้ว่า เป็นสภาพที่เป็นอกุศลธรรมน่ารังเกียจ

    เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นก็จะต้องทราบว่า โทสะ ไม่ใช่ในขณะที่โกรธ หรือไม่พอใจเท่านั้น พอได้ยินคำว่า โทสะ ทุกคนก็คิดถึงความขุ่นเคืองใจ ความไม่พอใจ หรือความโกรธ แต่ให้ทราบว่า ในขณะใดที่รู้สึกไม่สบายใจ เป็นโทมนัสเวทนา เวทนา ความรู้สึกนี้ ทุกข์ โทมนัสไม่ดี ไม่สบายใจ ขณะนั้นต้องมีโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง

    เพราะฉะนั้น ลักษณะอาการของโทสเจตสิก ก็ไม่ใช่แต่เฉพาะในขณะที่รู้สึกขุ่นเคืองใจ หรือไม่พอใจเท่านั้น แต่ให้ทราบว่า ในขณะที่กลัว ในขณะที่ตกใจ ในขณะที่กังวลใจ ในขณะที่โศกเศร้า ในขณะที่เสียใจ เดือดร้อนใจ น้อยใจ เบื่อ ท้อถอย หงุดหงิด รำคาญ กลุ้มใจ วิตก กังวล หดหู่ หรือแม้แต่คิดมาก ขณะนั้นลองพิจารณาดูว่า ความรู้สึกดีหรือไม่ดี เพราะว่าส่วนใหญ่จะบอกว่า คิดมากไป เป็นทุกข์เสียแล้ว เพราะคิดมากเกินไป ก็แสดงให้เห็นว่า เรื่องที่คิดในขณะนั้น ต้องเป็นเรื่องที่ทำให้จิตใจไม่สบาย เพราะฉะนั้น นั่นก็เป็นลักษณะของโทสะ

    สรุปได้ว่า ขณะใดที่รู้อารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ เช่น เห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจทางตา หรือว่าได้ยินเสียงที่ไม่น่าพอใจทางหู ได้กลิ่นที่ไม่น่าพอใจ ลิ้มรสที่ไม่น่าพอใจ กระทบสัมผัสสิ่งที่ไม่น่าพอใจ ทุกขณะนั้นเป็นโทสมูลจิต มีโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วย และก็ไม่จำเป็นที่จะต้องโกรธ หรือว่าไม่พอใจ ขุ่นเคืองใจ เฉพาะในสัตว์ ในบุคคลเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นสิ่งใดๆ ก็ตาม ถ้าในวันหนึ่งๆ เป็นผู้ที่ละเอียด จะสังเกตลักษณะของความไม่พอใจ แม้เพียงเล็กน้อยได้ เช่น ทุกคนจะต้องบริโภคอาหารเป็นประจำ ขณะที่เห็นผักหรือเห็นผลไม้เสีย ขณะนั้นเป็นอย่างไร เป็นอกุศลจิตไหม ชอบหรือไม่ชอบ ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ เพียงแต่เห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ เป็นผักหรือผลไม้ที่ไม่น่ารับประทานเท่านั้น ความรู้สึกเป็นอย่างไร จิตในขณะนั้น เป็นอกุศลประเภทไหน ก็ต้องเป็นโทสมูลจิต มีโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    ถ้าเป็นอย่างนี้ลองคิดดู จะดับโทสะ ดับง่ายหรือดับยาก เพียงทันทีที่เห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ แม้แต่ผลไม้เสียนิดเดียว โทสเจตสิกก็เกิดกับอกุศลจิตนั้น ทำให้เป็นโทสมูลจิต เวลาได้ยินเสียงดัง อาจจะเป็นเสียงเพลงก็ได้ แต่ว่าดังไป ขณะนั้นเป็นอย่างไร โทสมูลจิตก็เกิดแล้ว


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 23
    18 ม.ค. 2565

    ซีดีแนะนำ