โสภณธรรม ครั้งที่ 032


    ตอนที่ ๓๒

    อาจจะได้และก็อาจจะไม่ได้ ซึ่งไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้นะคะ แต่ว่าขณะนี้ยังมีชีวิตอยู่ ที่จะทำความดีได้ต่อไป และสำหรับแต่ละบุคคล ไม่ควรจะประมาทกุศล ไม่ควรคิดที่จะเพียงเจริญสติปัฏฐานเท่านั้น เพราะเหตุว่าวันหนึ่งๆ ถ้ากุศลขั้นอื่นๆ ไม่เกิดเลย และก็หวังที่จะให้สติปัฏฐานเกิดเท่านั้น ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

    ข้อความในอรรถกถามีว่า

    พราหมณ์ทั้งสองนั้นเห็นบุตรภรรยาของตนไม่ปฏิบัติตามคำของตน จึงได้คิดที่จะไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเพื่อแสวงหาทางที่จะนำออกจากทุกข์

    พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมเพื่อให้พราหมณ์ทั้งสองนั้นดำรงอยู่ในศีล ๕ เพราะเหตุที่ถึงแม้ว่าพราหมณ์นั้นจะบวช ก็ไม่สามารถจะบำเพ็ญวัตรให้บริบูรณ์ได้ เพราะเป็นคนแก่ ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสให้พราหมณ์นั้นดำรงอยู่ในศีล ๕ โดยการสำรวมกาย วาจา ใจ

    พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า บุญนั้น ชื่อว่า ตาณะ เพราะเป็นที่ต้านทานของผู้ไปสู่ปรโลก

    เวลาที่จะไปสู่ปรโลก เป็นเวลาที่ไม่มีใครสามารถที่จะต้านทานกรรมได้ ว่าอย่าให้กรรมนั้นให้ผล อย่าให้อกุศลกรรมให้ผล ขอให้กุศลกรรมให้ผล เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย นอกจากบุญที่ได้กระทำแล้ว ชื่อว่า ตาณะ เพราะเป็นที่ต้านทานของผู้ไปสู่ปรโลก

    ชื่อว่า เลณะ เพราะเป็นที่ซ่อนเร้น

    ชื่อว่า ทีปะ เพราะ เป็นที่พำนัก

    ชื่อว่า สรณะ เพราะเป็นที่อาศัย

    ชื่อว่า ปรายนะ เพราะสามารถจะให้คติที่สูงได้

    พราหมณ์ทั้งสองนั้นเมื่อได้ฟังพระธรรมแล้วก็ได้ถือศีล ๕ ตลอดชีวิต เกิดในสวรรค์

    เรื่องของการที่จะเจริญกุศลนี้ต้องเป็นผู้ตรง และก็รู้ว่ากว่าจะดับกิเลสได้ก็ต้องมีอกุศลแทรกการเจริญกุศลมากมายทีเดียว

    ท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง ท่านได้เล่าให้ฟังถึงเรื่องการรักษาอุโบสถศีลของท่าน ซึ่งทำให้ท่านเดือดร้อนใจ เพราะว่าท่านรักษาอุโบสถศีล เพราะใจจริงๆ ของท่านนั้นอยากได้อานิสงส์ของศีล เพราะว่าท่านอยากสวย ในเมื่อท่านทราบว่า ผู้ที่รักษาศีลจะเป็นผู้ที่มีรูปร่างสวยงาม แต่ว่าเมื่อท่านได้พิจารณาจิตใจของท่านและได้ฟังพระธรรม ก็รู้ว่าตามความเป็นจริงแล้ว ท่านยังมีกิเลสมากมาย ลองคิดดูซิคะ ที่อยากสวย เป็นกิเลสหรือเปล่า ก็เป็นอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ท่านจึงเป็นผู้ที่สมควรแก่การที่จะวิรัติทุจริตด้วยศีล ๕ ควรเป็นอุบาสิกาที่อบรมเจริญปัญญาเพื่อรักษาศีล ๕ ให้สมบูรณ์ ด้วยการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระโสดาบัน ซึ่งเมื่อได้รู้จักตนเองและกิเลสของตนเองอย่างมากมายตามความเป็นจริง ท่านก็เป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญาด้วยการรักษาศีล ๕ โดยไม่อึดอัดใจ เพราะว่าเป็นสิ่งที่ควรแก่ฐานะ แก่สภาพของจิตของท่านที่จะรักษาได้ เพราะฉะนั้น แต่ละบุคคลเมื่อจะกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็ควรที่จะได้พิจารณาจิตใจของตนเองโดยละเอียดจริงๆ อย่างท่านที่รักษาอุโบสถศีล ก็ต้องเป็นผู้ที่รู้ประโยชน์ว่า การที่ท่านสะสมอุโบสถศีลในวันหนึ่งคืนหนึ่งนั้น เพื่อความไม่ติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ แต่ถ้ายังติด แล้วยังจะรักษา ก็เป็นการยากมากทีเดียว ซึ่งก็คงจะทำให้เกิดความอึดอัดใจ

    นอกจากนั้นก็ยังต้องเป็นผู้ที่ไม่ติดในลาภ ในยศ ในบรรดาศักดิ์ ในความสำคัญตน ในตัวตน ในความเป็นตัวตนด้วย สำหรับผู้ที่รักษาศีลอุโบสถ เพื่อที่จะขัดเกลากิเลสยิ่งขึ้น สะสมไปเพื่อที่จะให้ถึงความเป็นพระอรหันต์ในวันหนึ่ง แต่เมื่อยังไม่ใช่พระอรหันต์ และก็ยังไม่ใช่พระโสดาบัน กำลังของกิเลสซึ่งแต่ละท่านมีอยู่ จะทำให้ผู้ที่พิจารณาตนเอง รู้จักตนเองตามความเป็นจริงว่า ยังมีกิเลสอีกมากที่ท่านควรที่จะขัดเกลา ยังไม่ถึงพร้อมที่จะเป็นผู้ที่ถึงขั้นที่จะรักษาอุโบสถศีลได้ด้วยความไม่อึดอัดใจ

    อย่างท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง ท่านฟังพระธรรม และในบางโอกาสท่านก็ดื่มเหล้าตามกาลเทศะ บุคคลอื่นก็ถามท่านว่า ฟังพระธรรมและเจริญสติปัฏฐาน แล้วก็ยังดื่มเหล้าอีกตามกาลเทศะ ท่านก็บอกว่า ท่านพิจารณาตัวของท่านแล้วเห็นว่า ท่านยังมีกิเลสอื่นที่สำคัญที่จะต้องขัดเกลายิ่งกว่านี้มาก

    อันนี้ก็เป็นแต่ละบุคคล ซึ่งแสดงให้เห็นว่า เมื่อยังไม่ได้รู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยบุคคลถึงขั้นพระโสดาบันแล้ว ศีล ๕ ก็ยังไม่สมบูรณ์ แต่ว่าแต่ละบุคคลก็รู้จักตนเองตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ท่านที่เจริญสติปัฏฐาน แม้ว่าจะมีการดื่มในบางกาลเทศะ ก็คงจะไม่ใช่ผู้ที่มีความต้องการที่จะเสพสุราจนมึนเมา จนกระทั่งถึงความเสียสติ หรือขาดสติ

    ผู้ถาม ขอเรียนถามเรื่องมนสิการ ถ้าพูดถึงโยนิโสมนสิการ หมายถึง มนสิการเจตสิกอย่างเดียวเสมอใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ มนสิการเจตสิกก็เป็นความใส่ใจด้วยดีที่เกิดกับกุศลจิต ทั้งญาณสัมปยุตต์และญาณวิปปยุตต์แต่ว่ามนสิการเจตสิกไม่ใช่ปัญญาเจตสิก

    ผู้ฟัง ถ้าโวฏฐัพพนะกระทำโยนิโสมนสิการนั้น คำว่า โยนิโสมนสิการ หมายถึงมนสิการเจตสิกหรือ ขณะที่กุศลจิตจะเกิด โวฏฐัพพนะต้องกระทำโยนิโสมนสิการใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ทางปัญจทวารใช่ไหม ก่อนชวนจิต อันนี้ท่านผู้ฟังควรจะพิจารณาถึงฐานะของจิต มโนทวาราวัชชนะกระทำโวฏฐัพพนกิจทางปัญจทวาร เป็นชาติอะไร เป็นกิริยาจิต เป็นชาติกิริยา มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่าไร มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วยไหม ไม่มี เพราะฉะนั้น เมื่อไม่มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย จิตนั้นจึงไม่ใช่โสภณจิต ไม่ใช่จิตที่ดีงาม เพราะฉะนั้น มโนทวาราวัชชนจิต ซึ่งทำโวฏฐัพพนกิจทางปัญจทวารนี้ เพียงเกิดขึ้นโดยอนันตรปัจจัย กระทำกิจสืบต่อจากสันตีรณกิจ

    ผู้ฟัง แล้วผมได้ยินข้อความเมื่อก่อนนี้ได้ยินว่า ถ้าโวฏฐัพพนะกระทำโยนิโสมนสิการ ข้อความนี้มีความหมายอย่างไร

    ท่านอาจารย์ โดยแยบคายของมโนทวาราวัชชนะ ในขั้นของการสะสมที่ได้สะสมมาแล้วเท่านั้นเอง แต่โดยสภาพของจิตไม่ใช่เป็นโสภณ เพราะฉะนั้น โวฏฐัพพนจิตกระทำกิจนี้คือ โวฏฐัพพนกิจ ซึ่งจิตอื่นกระทำกิจนี้ไม่ได้ เมื่อถึงกาลที่มีปัจจัยที่จะทำให้มีจิตนี้เกิดขึ้นกระทำกิจตามการสะสม จิตนี้ก็เพียงเกิดขึ้นเป็นกิริยาจิต กระทำกิจตามการสะสม ถ้าจะใช้คำว่า โยนิโส หมายความถึงการสะสมที่เป็นไปมาแล้วด้วยดี ที่ทำให้จิตนี้เกิดขึ้นกระทำกิจนั้น แล้วกุศลจิตจึงเกิดต่อ

    ผู้ฟัง แสดงว่า ที่ว่าโยสิโสมนสิการ โวฏฐัพพนะ หมายถึงจิต ใช่ไหม ไม่ใช่เจตสิก

    ท่านอาจารย์ ขณะใดที่เป็นโสภณจิต หรือกุศลจิต เป็นโยนิโสมนสิการ ต้องพิจารณาหลายอย่าง ต้องพิจารณาถึงชาติของจิตด้วย และต้องพิจารณาถึงกิจของจิตด้วย ถ้าพิจารณาถึงกิจของจิต จิตนี้เป็นชวนปฏิปาทกมนสิการที่เกิดก่อนชวนจิตซึ่งเป็นกุศลหรืออกุศล แต่ว่าจิตนี้เกิดขึ้นโดยอนันตรปัจจัย สืบต่อจากสันตีรณจิต โดยชาติเป็นกิริยา เพราะฉะนั้น ถ้าจะพิจารณาโดยแยบคายที่กุศลจิตจะเกิดต่อตามการสะสมที่เป็นปัจจัยทำให้จิตนี้เกิดขึ้นกระทำกิจอย่างนั้น ความแยบคายต้องเป็นความแยบคายของกุศลที่ได้สะสมแล้ว ที่เป็นปัจจัยทำให้มนสิการในขณะนั้นทำให้กุศลจิตเกิดต่อ หลังจากที่ โวฏฐัพพนจิตดับไปแล้ว

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้น ระหว่างกุศลจิตและอกุศลจิตเกิด โวฏฐัพพนจิตไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง

    ท่านอาจารย์ ไม่ ดับไปแล้ว ก่อนที่อกุศลจิตจะเกิดทางปัญจทวาร มโนทวาราวัชชนจิตทำโวฏฐัพพนกิจทางมโนทวาร มโนทวาราวัชชนจิตเกิดก่อนชวนจิต

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้น ข้อความที่ว่า โวฏฐัพพนะกระทำโยนิโสมนสิการ ไม่มีความหมายเลย ในการกระทำกิจ

    ท่านอาจารย์ หมายความว่าเกิดก่อนชวนจิต จึงชื่อว่า ชวนวิถีปฏิปาทกะ

    ถาม ถ้าเพื่อในขณะที่ตาเห็นรูป ระลึกรู้ในสภาพธรรมตรงตามความเป็นจริง ขณะนั้นต้องมีโยนิโสมนสิการ

    ท่านอาจารย์ ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นเป็นโยนิโสมนสิการ

    ผู้ฟัง แต่กุศลนั้นอาจจะยังไม่ถึงขั้นมีปัญญา

    ท่านอาจารย์ แน่นอน เพราะเหตุว่ามนสิการไม่ใช่ปัญญาเจตสิก

    ผู้ฟัง แต่โยนิโสซิ มนสิการไม่ใช่ปัญญาแน่นอน แต่ว่าโยนิโสมนสิการ

    ท่านอาจารย์ ก็ยังเป็นมนสิการนั่นเอง ถ้าเกิดกับมหากุศลญาณวิปปยุตต์ แม้เกิดกับมหากุศลญาณสัมปยุตต์ มนสิการก็เป็นมนสิการ ไม่ใช่ปัญญาเจตสิก

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น ถ้าพูดว่าโยนิโสมนสิการจะเป็นปัญญาโดยถ่ายเดียวไม่ได้

    ท่านอาจารย์ มนสิการแยกกับปัญญาเจตสิก

    ผู้ฟัง โยนิโสมนสิการ คือ มนสิการเป็นเจตสิกเกิดกับกุศล อกุศลได้

    ท่านอาจารย์ นี่เป็นเรื่องของศัพท์ซึ่งอาจจะทำให้ท่านผู้ฟังไม่เข้าใจ ใช่ไหม เพราะเหตุว่าถ้าใส่ใจโดยแยบคาย โดยถูกต้องแล้ว ก็ควรที่จะเป็นปัญญา ใช่ไหม แต่ปัญญาเป็นสภาพที่รู้ชัด รู้จริง รู้ถูก ไม่ใช่ขณะที่กำลังใส่ใจ พิจารณา สภาพที่ใส่ใจ สนใจ นั่นแหละ เป็นลักษณะของมนสิการเจตสิก ซึ่งปัญญาไม่ใช่ทำหน้าที่นี้ ปัญญาเป็นสภาพที่แทงตลอด รู้ชัด เป็นสภาพรู้ ซึ่งอยู่ดีๆ ปัญญาย่อมเกิดไม่ได้ ปัญญาต้องอาศัยการอบรมเจริญขึ้นเป็นลำดับขั้น ตั้งแต่ขั้นการฟัง ฟังก็ต้องฟังด้วยดี ใช่ไหม ฟังด้วยกันหลายคน ใครสนใจฟัง พิจารณาเหตุผลด้วยความแยบคาย นั่นคือ อาการ กิจของมนสิการเจตสิก

    ผู้ฟัง ที่นี้ถ้าใส่ โยนิ เข้าไป เมื่อกี้บอกว่าแปลว่าปัญญาได้ด้วย ตามที่คุณนิภัทรได้ไปค้นคว้ามา โยนิโสมนสิการน่าจะเป็นเรื่องของปัญญาได้ด้วย

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นปัญญาก็ไม่ใช่มนสิการเจตสิก เพราะเหตุว่าเจตสิกมี ๒ อย่าง มนสิการเจตสิกกับปัญญาเจตสิก ในขณะที่ปัญญาเจตสิกเกิดร่วมกับมหากุศลญาณสัมปยุตต์ ปัญญาทำกิจของปัญญา มนสิการกระทำกิจของมนสิการ

    ผู้ฟัง แต่ว่าโยนิโสมนสิการ

    ท่านอาจารย์ ขณะใดที่เป็นกุศล ถ้าคิดอย่างนี้แล้วก็สะดวกใจ ใช่ไหม ไม่ว่าจะเป็นกุศลญาณวิปปยุตต์ หรือกุศลญาณสัมปยุตต์ ขณะใดที่เป็นกุศล ขณะนั้นเป็นโยนิโสมนสิการ

    โยนิโสมนสิการก็ไม่ได้เกิดแยกต่างหากไปจากกุศลจิตและโสภณเจตสิกอื่นๆ เลย กระทำกิจของมนสิการ ในขณะที่ผัสสะทำกิจของผัสสะ เวทนาทำกิจของเวทนา มนสิการทำกิจของมนสิการ เมื่อมนสิการพิจารณาแยบคายถูกต้อง ปัญญาก็รู้แจ้งชัดในลักษณะของอารมณ์นั้น

    ผู้ฟัง เมื่อกี้นี้ อาจารย์บอกว่า โยนิโสมนสิการแล้ว ให้นึกถึงกุศลไว้ก่อนเท่านั้น

    ท่านอาจารย์ ขณะใดที่เป็นกุศลจิตขณะนั้นมนสิการเป็นโยนิโสมนสิการ ขณะใดที่เป็นอกุศลจิตไม่ใช่ว่าไม่มีมนสิการ มี แต่มนสิการนั้นเป็นอโยนิโสมนสิการ แยกกุศลกับอกุศลก่อน

    ผู้ฟัง แต่ทีนี้เท่าที่ฟังๆ มาแล้ว โยนิโส น่าจะเป็นเรื่องของปัญญา ถ้ามีโยนิโสเข้าไปแล้ว

    ท่านอาจารย์ ยังคงเป็นลักษณะสภาพที่ใส่ใจ สนใจในอารมณ์ แต่อย่างถูกต้อง และก็ถ้าเกิดกับกุศลญาณสัมปยุตต์ ก็ไม่ได้แยกกัน มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ว่ามนสิการเป็นเจตสิกประเภทหนึ่ง และปัญญาเจตสิกเป็นอีกประเภทหนึ่ง

    สภาพธรรมเกิดกับท่านทุกวัน แต่ว่าไม่สามารถจะรู้ตามความเป็นจริงได้ ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ได้ทรงแสดงไว้โดยละเอียด

    ผู้ฟัง ในขณะที่ระลึกรู้ลักษณะสภาพของนามและรูป ในขณะนั้นศึกษาและใส่ใจ ในขณะนั้นใส่ใจเป็นมนสิการ

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นมีโสภณสาธารณเจตสิกเกิดร่วมด้วยครบทีเดียว

    ผู้ฟัง แต่ปัญญายังไม่เกิด เพราะลักษณะของรูปและนามยังไม่ปรากฏ ถูกไหม

    ท่านอาจารย์ ปัญญาอาจจะอ่อนมาก และก็ค่อยๆ เจริญขึ้นได้

    ผู้ฟัง แต่ขณะที่มนสิการโดยการศึกษาลักษณะของสิ่งที่ปรากฏนั้น ได้ชื่อว่า มนสิการ

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้กำลังฟัง และก็เป็นกุศลหรือเปล่า ที่กำลังฟังหรือว่าเป็นอกุศล ไม่เข้าใจ สงสัย งง ขณะนั้นก็เป็นกุศลไม่ได้ แต่ขณะใดที่เข้าใจ ในขณะนั้นก็เป็นกุศล และก็สภาพของปัญญา ก็เป็นสภาพที่รู้

    เป็นชีวิตประจำวัน แม้ในขณะนี้เอง ซึ่งถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ได้ทรงแสดงไว้โดยละเอียดก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้

    ข้อความในอรรถสาลินี อรรถกถากัณฑ์ พรรณนาขยายความหมวดติกะ ข้อ ๑๔๒๙ มีข้อความว่า

    มโนทวาราวัชชนจิต ซึ่งเกิดก่อนกุศลจิตและอกุศลจิต มีอารมณ์ได้ทุกอารมณ์ทั้ง ๖ ทวาร

    ไม่เว้นเลย ไม่ว่าจะเป็นจิตประเภทใด เจตสิก รูป แม้นิพพาน แต่โดยสภาพที่เป็นอโสภณจิต เพราะเหตุว่าเป็นอเหตุกจิต เพราะฉะนั้น มโนทวาราวัชชนจิตซึ่งเป็นชวนปฏิปาทกมนสิการนั้นจึงเหมือนคนเซ่อ อุปมาเหมือนเด็กค่อมเตี้ยรับใช้พระราชา ซึ่งพระราชานั้นก็ย่อมเป็นที่เคารพของชาวโลกทั้งมวล แต่ว่าเด็กรับใช้ค่อมเตี้ยนั้นก็ไม่ได้เคารพอย่างยิ่ง ไม่เหมือนอย่างคนซึ่งเป็นบัณฑิต ซึ่งมีปัญญา เพราะเหตุว่าเด็กรับใช้ค่อมเตี้ยนั้น เป็นคนโง่เขลา ฉันใด มโนทวาราวัชชนจิตก็ฉันนั้น

    มโนทวาราวัชชนจิตนี้เกิดได้ทั้ง ๖ ทวาร ถ้าเป็นทางปัญจทวาร เมื่ออารมณ์กระทบกับจักขุปสาทรูป หรือโสตปสาทรูป ฆานปสาทรูป ชิวหาปสาทรูป กายปสาทรูป มโนทวาราวัชชนจิตยังไม่เกิด แต่ว่าปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดก่อน และเมื่อดับไปแล้ว ปัญจวิญญาณนั้นๆ จึงเกิดขึ้นทำกิจเห็น หรือได้ยิน หรือได้กลิ่น หรือลิ้มรส หรือรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เมื่อปัญจวิญญาณดับไปแล้ว สัมปฏิจฉนจิตก็เกิด เมื่อสัมปฏิจฉนจิตดับไปแล้ว สันตีรณจิตก็เกิด เมื่อสันตีรณจิตดับไปแล้ว โวฏฐัพพนจิตซึ่งเป็นมโนทวาราวัชชนจิตก็เกิดก่อนกุศลหรือกุศล

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า มโนทวาราวัชชนจิตสามารถจะรู้อารมณ์ได้ทุกอารมณ์ ไม่เว้นเลย ไม่ว่าจะเกิดในอบายภูมิ เป็นสัตว์ดิรัจฉาน ก็มีมโนทวาราวัชชนจิตเกิดก่อนกุศลจิตและอกุศลจิตทั้ง ๖ ทวาร ไม่ว่าจะเกิดเป็นมนุษย์ เกิดเป็นเทวดา หรือว่าเกิดเป็นรูปพรหม หรือเกิดเป็นอรูปพรหม ซึ่งเป็นพรหมที่ไม่มีรูปเลย เป็นผลของอรูปาวจรกุศลจิต ทำให้ปฏิสนธิเป็นอรูปพรหมบุคคลในอรูปพรหมภูมิ ก็มีมโนทวาราวัชชนจิต แม้ว่าจะไม่มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย ไม่มีรูปร่างใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่มีรูป ไม่มีตา ไม่มีหู ไม่มีจมูก ไม่มีลิ้น แต่เมื่อมีใจ ที่จะให้ปฏิสนธิจิตเกิด และก็เป็นภวังคจิตโดยตลอด โดยที่ไม่มีวิถีจิตเกิดเลยนั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่สำหรับจิตที่จะเกิดในอรูปพรหมภูมิ ก็จะต้องไม่ใช่จิตประเภทเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย แต่อกุศลจิตซึ่งเป็นโลภมูลจิต และโมหมูลจิตยังเกิดได้ เว้นโทสมูลจิตไม่เกิดในพรหมภูมิทั้งรูปพรหมและอรูปพรหม เพราะเหตุว่าเป็นภูมิที่ได้บำเพ็ญกุศลถึงขั้นที่ละความยินดีเพลิดเพลินในกามอารมณ์ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้น ก็ไม่มีปัจจัยที่จะทำให้โทสมูลจิตเกิด แต่เวลาที่เกิดเป็นอรูปพรหมภูมิแล้ว แล้วก็เป็นภวังคจิต โดยอรูปาวจรวิบากเกิดสืบต่อจากอรูปาวจรวิบากจิตที่ทำกิจปฏิสนธิ เมื่ออรูปาวจรวิบากจิตที่ทำกิจปฏิสนธิเป็นอรูปพรหมบุคคลดับไปแล้ว อรูปาวจรวิบากจิตก็เกิดสืบต่อทำภวังคกิจดำรงภพชาติความเป็นอรูปพรหมบุคคล แล้วมโนทวาราวัชชนจิตก็เกิดขึ้นเป็นวิถีจิตขณะแรก ก่อนที่จะเป็นกุศลหรืออกุศลประเภทหนึ่งประเภทใด

    เพราะฉะนั้น มโนทวาราวัชชนจิตเป็นจิตที่สามารถจะรู้อารมณ์ได้มากกว่าจิตอื่นๆ เพราะเหตุว่าไม่เว้นเลย แต่ว่าโดยสภาพที่ไม่ใช่เป็นโสภณจิต เป็นจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ เป็นอเหตุกกิริยาจิต ทำกิจเพียง ๒ กิจเท่านั้น คือ อาวัชชนกิจทางมโนทวาร และโวฏฐัพพนกิจทางปัญจทวาร เพียงขณะหนึ่งก่อนที่ชวนวิถีจิตจะเกิด เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจะมีมรรคจิตเป็นอารมณ์ก็ดี มีผลจิตเป็นอารมณ์ก็ดี หรือมีนิพพานเป็นอารมณ์ก็ดี แต่ก็มีโดยฐานะที่ไม่เหมือนอย่างผู้ที่เป็นบัณฑิต แต่เหมือนกับเด็กค่อมเตี้ยที่รับใช้พระราชา เป็นคนที่โง่เขลา คือ ไม่ใช่เป็นโสภณจิต ซึ่งในขณะนี้มโนทวาราวัชชนจิตก็เกิดก่อนกุศลจิตและอกุศลจิต ทั้ง ๖ ทวาร ที่จะมีกุศลจิตและอกุศลจิตเกิดโดยที่ไม่มีมโนทวาราวัชชนจิตเกิดก่อน เป็นไปไม่ได้เลย ด้วยเหตุนี้จิตนี้จึงชื่อว่า ชวนปฏิปาทกมนสิการ เพราะเหตุว่าเกิดก่อนชวนจิต

    ข้อสำคัญคือให้ทราบว่า ก่อนที่กุศลจิตหรืออกุศลจิตจะเกิด มโนทวาราวัชชนจิตต้องเกิดก่อน แล้วแต่ว่าจะเกิดทางปัญจทวารหรือเกิดทางมโนทวาร

    ซึ่งข้อความในอรรถสาลีนี นิกเขปกัณฑ์ อธิบายนิทเทส อินทรียอคุตตทวารตาทุกะ ข้อ ๑๓๕๒ ก็ได้อธิบายเรื่องของการสังวรและอสังวรทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซึ่งก็เป็นในขณะที่เป็นกุศลจิตหรือเป็นอกุศลจิตนั่นเอง เพราะเหตุว่าเมื่อมีการเห็นในชีวิตประจำวัน มีการได้ยิน มีการได้กลิ่น มีการลิ้มรส มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส มีการคิดนึกทางใจ ถ้าไม่ทรงแสดงไว้โดยหลายนัย ก็จะทำให้เป็นผู้ที่ประมาท ไม่รู้ว่าวันหนึ่งๆ นี้ เมื่อเห็นแล้วเป็นอสังวรมากกว่าเป็นสังวร เพราะเหตุว่าปล่อยไปตามอารมณ์ที่กระทบ ถ้าเป็นอารมณ์ดี ความยินดีพอใจก็เกิด ถ้าเป็นอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ โทสมูลจิตก็เกิด นี่คือในขณะที่เป็นอสังวร

    แต่ว่าสังวรหรืออสังวรก็ดี ต้องเป็นในขณะที่เป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต ซึ่งข้อความในอรรถสาลินีมีว่า

    สังวรก็ดี อสังวรก็ดี จะมีอยู่ในขณะภวังค์ หรือในขณะแห่งอาวัชชนะ เป็นต้น ขณะหนึ่งขณะใดก็หาไม่

    นี่แสดงให้เห็นถึงทาง ๖ ทวาร ที่ว่าในขณะที่เป็นภวังค์ ไม่ชื่อว่า สังวร หรือ อสังวร ไม่เป็นกุศล ไม่เป็นอกุศล ในขณะที่กำลังเป็นภวังค์ หรือในขณะแห่งอาวัชชนะ เป็นต้น

    ส่วนในขณะแห่งชวนะ ย่อมเกิดความเป็นผู้ทุศีลบ้าง เป็นผู้ฟั่นเฟือน หลงลืมสติบ้าง ไม่รู้บ้าง ไม่อดทนบ้าง เกียจคร้านบ้าง ย่อมเป็นอสังวร

    นี่คือแต่ละท่าน ตามความเป็นจริงในชีวิตประจำวัน เวลาที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส คิดนึก หลงลืมสติเป็น อสังวร ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ เป็นอสังวร ไม่อดทนในวันหนึ่งๆ เป็นอสังวร ไม่อดทนนี้ต้องไม่อดทนต่อสิ่งที่น่าพอใจ ที่จะให้เกิดโลภะ และไม่อดทนต่อสิ่งที่ไม่น่าพอใจ ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดโทสะ

    ในขณะที่เป็นโลภะบ้าง เพราะเหตุว่าไม่อดทนต่ออารมณ์ที่น่าพอใจ ขณะนั้นก็เป็นอสังวร ในขณะที่เป็นโทสะบ้าง ไม่อดทนต่ออารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ ในขณะนั้นก็เป็นอสังวร เกียจคร้านบ้าง มากไหมในวันหนึ่งๆ ขยันในทางอกุศล แต่ว่าถ้าพูดถึงความ ขยันจริงๆ ในทางกุศลแล้ว ก็ต้องเป็นไปในขณะที่กุศลจิตเกิด

    เมื่อขณะที่อสังวรนั้นมีอยู่ ย่อมเป็นอันมิได้คุ้มครองทั้งทวาร ทั้งภวังค์ ทั้งวิถีจิต มีอาวัชชนะ เป็นต้น

    การเห็นเกิดขึ้นครั้งหนึ่งๆ วิถีจิตเกิดขึ้นตั้งแต่อาวัชชนวิถี ถ้าเป็นทางปัญจทวาร จนถึงโวฏฐัพพนวิถี ในขณะนั้นถ้าอกุศลจิตเกิดต่อ เป็นอสังวร ถ้ากุศลจิตเกิดต่อ เป็นสังวร

    เปรียบเหมือนอะไร เปรียบเหมือนประตูในนคร ๔ ด้าน ที่ไม่ได้ปิดไว้ แม้จะปิดภายในเรือน ซุ้มประตูและห้องเป็นต้นไว้อย่างดีก็ตาม ถึงกระนั้นก็ย่อมเป็นอันมิได้รักษาคุ้มครองทรัพย์สินทั้งหมดในนครทีเดียว เพราะพวกโจรเข้าไปทางประตูนคร พึงกระทำตามที่ปรารถนาได้ฉันใด เมื่อความทุศีลเป็นต้นเกิดขึ้นในขณะชวนะ เมื่ออสังวรนั้นมีอยู่ ก็ย่อมเป็นอันไม่ได้คุ้มครองแม้ทวาร แม้ภวังค์ แม้วิถีจิต มีอาวัชชนะเป็นต้น เหมือนฉันนั้น

    การที่แสดงอุปมานี้ เพื่อแสดงประการเดียวเท่านั้นว่า เฉพาะชวนจิตเท่านั้นที่เป็นสังวรและอสังวร เพราะฉะนั้น ก็ไม่ต้องคำนึงถึงประตูต่างๆ ก็ได้ แต่ว่าที่แสดงไว้ให้เห็นว่า แม้ว่าวิถีจิตจะเกิด แต่ว่าชวนจิตเป็นอกุศล ก็ชื่อว่า ไม่ได้ปิดประตูนครใหญ่ แต่แม้กระนั้นก็ยังไม่ต้องคำนึงถึงเรื่องประตูต่างๆ เหล่านี้ เพียงแต่ให้ทราบว่า อุปมานี้เพื่อแสดงว่า เฉพาะชวนวิถีเท่านั้นที่เป็นสังวร หรืออสังวร

    ผู้ถาม ในวิถีจิตวิถีหนึ่งๆ นี้ ต่างกันที่ชวนะ คือ กุศลและอกุศล ใช่ไหม ทีนี้ปัญจทวาราวัชชนจิตก็ไม่มีความต่าง อารมณ์ก็ไม่มีความต่าง จักขุวิญญาณก็ไม่มีความต่าง เช่นว่า มันเป็นไปตามเหตุปัจจัย แต่ตัวโวฏฐัพพนะ ที่กุศลที่อกุศลเกิดนี้ โวฏฐัพพนะมีความต่างไหม

    ท่านอาจารย์ โวฏฐัพพนะก็เป็นจิตที่ทำกิจโวฏฐัพพนะ โดยอนันตรปัจจัย เช่นเดียวกับ สัมปฏิจฉนะ ทำกิจของสัมปฏิจฉนะ สันตีรณะทำกิจของสันตีรณะ เพียงแต่ว่าโวฏฐัพพนจิตเกิดก่อนชวนะ ตามกาลที่ควรที่จะเกิด โดยอนันตรปัจจัย

    ผู้ฟัง แปลว่า แม้กุศลจิตหรืออกุศลจิตจะเกิด โวฏฐัพพนะก็ดวงนั้นเอง ไม่มีความต่าง

    ท่านอาจารย์ แน่นอน เพราะเหตุว่าบางวิถี โวฏฐัพพนะเกิด ๒ – ๓ ขณะ โดยที่ชวนะไม่เกิด ไม่เปลี่ยนชาติของโวฏฐัพพจิต

    ผู้ฟัง แม้กิจก็ไม่เปลี่ยน ทุกอย่างไม่เปลี่ยน

    ท่านอาจารย์ ไม่เปลี่ยน

    ผู้ฟัง ไม่มีความต่างเลย ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เด็กค่อม ยังไงๆ ก็เป็นสภาพของเด็กค่อมเตี้ยนั่นแหละ

    ผู้ฟัง แต่ก็เกิดต่อจากมโนทวารวัชชนจิต สังวร อสังวร

    ท่านอาจารย์ กุศลจิตหรืออกุศลจิต ไม่ว่าจะเป็นทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทวาร จะต้องมีมโนทวาราวัชชนจิตเกิดก่อน แม้ทางปัญจทวาร มโนทวาราวัชชนจิต เกิดก่อนกุศลจิตและอกุศลจิต โดยทำโวฏฐัพพนกิจ ไม่ได้ทำอาวัชชนกิจ นี่เป็นความต่างกันของกิจทางปัญจทวารและมโนทวาร แต่จิตนั้นให้ทราบว่า สามารถที่จะรับอารมณ์ได้กว้างขวางมาก ไม่เว้นเลยสักอารมณ์เดียว แต่ว่าโดยฐานะของเด็กค่อมเตี้ย ไม่ใช่โดยฐานะของบัณฑิตผู้มีปัญญา

    จากชีวิตของพราหมณ์ชรา ๒ คน ที่มีอายุถึง ๑๒๐ ปี ในอังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ชนสูตรที่ ๑ มีพระธรรมที่เป็นประโยชน์ในการที่จะพิจารณาด้วยโยนิโสมนสิการอย่างไรบ้าง จึงได้มีข้อความนี้ในพระไตรปิฎก พราหมณ์ ๒ คนเดินทางชีวิตล่วงกาลผ่านวัยมาจนถึง ๑๒๐ ปี นานไหม จากเด็กทีละขวบ ๒ ขวบ จนกว่าจะถึง ๑๐ ปี ๒๐ ปี ๓๐ ปี ๔๐ ปี ก็รู้สึกว่านานมากนะคะ แล้วก็ต่อไปอีก ๕๐ ปี ๖๐ ปี ๗๐ ปี ก็นานอีกยังต่อไปอีกถึง ๘๐ ๙๐ ปี ๑๐๐ ปี ๑๑๐ ปี ๑๒๐ ปี เพราะฉะนั้น พราหมณ์ ๒ คนนี้จะผ่านสุขผ่านทุกข์ ผ่านความกังวล ผ่านโลภะ โทสะ มามากเพียงไร ที่พราหมณ์ทั้ง ๒ กล่าวว่า มิได้สร้างความดี มิได้ทำกุศล ซึ่งชีวิตจริงๆ ของบางท่านก็คงจะคล้ายคลึงกับชีวิตของพราหมณ์ทั้ง ๒ ท่าน เพราะเหตุว่าบางคนก็เกิดมามีชีวิตด้วยโลภะโดยตลอด มีความเห็นแก่ตัวตั้งแต่เด็ก ซึ่งตลอดชีวิตที่เติบโตมาก็คิดถึงแต่เรื่องของตนเอง โดยที่ไม่ได้ทำประโยชน์แก่พี่น้อง หรือว่าญาติมิตรสหาย เพราะว่าในวันหนึ่งๆ เหตุการณ์ของแต่ละบุคคลในแต่ละชีวิตนี้ก็ย่อมต่างกันไป บางท่านก็มีภาระในเรื่องการทำมาหาเลี้ยงชีพ เลี้ยงครอบครัว ซึ่งลองพิจารณาดูวันหนึ่งๆ ตั้งแต่เช้าถึงค่ำ ถ้าเต็มไปด้วยเรื่องการงานอาชีพ หรือว่าการเลี้ยงชีวิต การเลี้ยงครอบครัว คนที่ไม่ได้สะสมกุศลมาจนกระทั่งเป็นพื้นนิสัย กุศลก็ย่อมจะเกิดยากและน้อยมาก เพราะเหตุว่าไม่มีเวลาจะเกิด ตั้งแต่เช้าก็ยุ่งวุ่นวายอยู่กับเรื่องของชีวิต เรื่องของภาระหน้าที่ครอบครัว และก็ถ้าไม่สะสมกุศลมาจริงๆ ในขณะที่พบปะบุคคลอื่น ในขณะที่ประกอบกิจการงาน หรือในขณะที่ว่าง ก็อาจจะไม่ใช่โอกาสของกุศล อาจจะเป็นโอกาสของการพักผ่อนร่างกาย หลังจากที่ตรากตรำงานมามากแล้ว ด้วยความพอใจ ความยึดมั่นในตัวตน ที่จะต้องหาความสุข หาความเพลิดเพลิน เพราะฉะนั้น ลองสังเกตดูชีวิตในแต่ละวันๆ สำหรับบางท่าน ก็อาจจะไม่มีโอกาส หรือว่าไม่มีเวลาที่จะเป็นกุศลเลย

    พราหมณ์ชราทั้ง ๒ ท่าน กลุ้มใจเรื่องบ้าน เรื่องครอบครัว ซึ่งก็น่าคิดว่า ไม่ใช่แต่เฉพาะพราหมณ์ชรา ๒ คนนั้นเท่านั้นที่กลุ้มใจเรื่องบ้าน เรื่องครอบครัว หรือว่าเรื่องอื่นๆ สารพัดเรื่อง เมื่อเกิดมาแล้ว ทุกคนก็มีเวลาที่จะกลุ้มใจ กังวลใจ ถ้าไม่ใช่เรื่องบ้าน ไม่ใช่เรื่องครอบครัว ก็เป็นเรื่องงาน ไม่พ้นไปได้ใช่ไหม เรื่องปัญหาเศรษฐกิจต่างๆ แต่ละวันๆ ที่ผ่านเข้ามา เพราะฉะนั้น ก็ควรที่จะเป็นอนุสติให้ระลึกได้ว่า


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 23
    18 ม.ค. 2565

    ซีดีแนะนำ