โสภณธรรม ครั้งที่ 034


    ตอนที่ ๓๔

    ท่านอาจารย์ ถ้าสติไม่เกิด ไม่ระลึกแล้วจะเห็นได้อย่างไร

    ผู้ฟัง แล้วคนที่ถามนี่เป็นใคร ถามพระผู้มีพระภาคที่ว่าพระผู้มีพระภาคก็ตอบว่าธรรมอันผู้บรรลุจะพึ่งเห็นเอง

    ท่านอาจารย์ นี่ก็บอกว่ามีพราหมณ์คนหนึ่ง คงไม่ต้องทราบชื่อเสียง เพราะว่าพราหมณ์นั้นเวลานี้ก็ไม่อยู่แล้วในโลกนี้ แล้วก็จะเป็นพราหมณ์คนไหนต่อไปก็ไม่ทราบ หรืออาจจะเป็นผู้ที่เป็นชาติไหนก็ไม่ทราบในขณะนี้ แต่ว่าครั้งหนึ่งคือพราหมณ์คนหนึ่ง ที่ได้เฝ้าแล้วก็ทูลถาม สงสัยหรือคะ ว่าต้องเป็นพราหมณ์คนไหน หรือคนไหนก็ได้ คือคนหนึ่ง

    ผู้ฟัง ที่พราหมณ์แสดงตนเป็นอุบาสก พร้อมด้วยบุตร ภรรยา และบริวารนั้น แสดงว่า พราหมณ์นั้นรู้ธรรม เห็นธรรมแล้ว

    ท่านอาจารย์ ในอรรถกถาไม่ได้อธิบายอะไรเลย

    ผู้ฟัง แต่บอกว่า ขอถึงพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ตลอดชีวิต

    ท่านอาจารย์ ท่านผู้ฟังกำลังขอถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ตลอดชีวิตหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ก็อนาคตก็ไม่ทราบ

    ท่านอาจารย์ แต่ในขณะนี้

    ผู้ฟัง ในขณะนี้ก็ขอถึง

    ท่านอาจารย์ ขอถึง ก็พราหมณ์อีก ในอดีต จะกลับมาเป็นใครอีกในชาตินี้ก็ไม่มีใครรู้ ท่านผู้ฟังสนใจเหตุการณ์ในอดีตเมื่อ ๒,๕๐๐ กว่าปี แต่คงจะไม่ลืมว่า สังสารวัฏฏ์ที่ยาวนาน พราหมณ์ทั้งหลายที่ปรากฏข้อความในพระไตรปิฎก ก็คงจะไม่กระจัดกระจายไปไหน ก็คงจะเกิดวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏฏ์ แล้วก็ผู้ที่เคยได้ยินได้ฟังพระธรรม ก็มีโอกาสได้ยินได้ฟังตามที่เคยประพฤติปฏิบัติมา

    ผู้ฟัง พราหมณ์ ๒ ท่านนี้ในสมัยพุทธกาล อายุตั้ง ๑๒๐ ปี ยังมีคำถามที่แยบยลขนาดนี้ ไม่แก่หง่อมถึงขนาดไม่มีปัญญาจะถาม ก็เป็นที่น่าสังเกตว่า คนในสมัยพุทธกาลทอายุแก่ขนาดนั้นก็ยังมีสติสัมปชัญญะ

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นบุญของพราหมณ์ ๒ ท่าน ซึ่งแม้ว่าอายุจะล่วงกาลผ่านวัยมา ก็ยังมีโอกาสที่จะได้ฟังพระธรรมจากพระโอษฐ์

    ผู้ฟัง ในอังคุตตรนิกาย ติกนิบาตร ในมังคลาวรรค ที่อาจารย์บรรยาย สำหรับมังคลาวรรคนี้ ความจริงผมเองได้สนใจและได้ถือปฏิบัติมาตั้งแต่ก่อนศึกษาพระพุทธศาสนาด้วยว่า ทำอะไร ทำดี ไม่ต้องเลือกฤกษ์เลือกยามว่า ต้องไปดูฤกษ์ดูยาม ได้ฟังมังคลาวรรคนี้สนับสนุนอย่างดีเลยว่า ชีวิตประจำวันของทุกๆ ท่านในสมัยนี้ จะทำอะไรทีก็ต้องไปดูฤกษ์ดูยาม เพราะฉะนั้น ที่อาจารย์บรรยายมานี้นี้ชัดเจนเหลือเกินว่า ไม่ต้องรอไม่ต้องอะไรทั้งนั้น ผมเองผมจะย้ายบ้านก็ดี จะทำอะไรต่อมิอะไรขึ้นบ้านใหม่ ไม่มีฤกษ์ ไม่เคยมียามเลย แต่วันนี้ได้ฟังมังคลวรรคแล้ว ทำให้จิตใจมั่นคงยิ่งขึ้น ที่จะถือปฏิบัติอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ ก็ขออนุโมทนา ไม่ทราบว่าท่านผู้ฟังยังมีข้อสงสัยอะไรอีกหรือเปล่า

    ข้อความในอรรถกถา พราหมณสูตร อธิบายพยัญชนะหลายคำ เช่นคำว่า

    บทว่า สมฺโมทนียํ ได้แก่ ให้เกิดการบันเทิงใจ

    นี่ก็เป็นคำพูดที่เกิดจากกุศลจิตได้ ที่จะทำให้เป็นคำพูดที่น่าฟัง และก็ทำให้คนฟังรู้สึกสบายใจ เพราะฉะนั้น เวลาพบปะมิตรสหาย หรือว่านานๆ จะได้พบกัน ก็ควรที่จะได้มีสัมโมทนียํ คือ การพูดที่จะให้เกิดการบันเทิงใจด้วยกุศลจิต

    บทว่า สาราณียํ ได้แก่ ที่สมควรให้ระลึกถึงกัน

    ถ้าเป็นคนที่มีจิตใจเป็นมิตรกัน การกระทำและวาจาก็ย่อมจะทำให้ระลึกถึงกัน เพราะเหตุว่าเป็นการกระทำเป็นการกระทำที่ดีต่อกัน และวาจาก็เป็นวาจาที่ดีต่อกัน นี่ก็เป็นการแสดงให้เห็นถึงกุศลจิตในขณะนั้นได้ เวลาที่สติเกิด ก็จะรู้ได้ว่าในขณะนั้นเป็นจิตประเภทใด

    บทว่า สนฺทิฏฺฐิโก ธมฺโม โหติ ความว่า เป็นธรรมที่จะพึงเห็นได้ด้วยตนเอง

    ทุกอย่างที่กำลังเกิดขึ้นกับแต่ละบุคคล เป็นธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง เป็นสิ่งที่สามารถที่จะประจักษ์แจ้ง รู้ได้ด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิตประเภทใดๆ ขั้นใดๆ ก็ตาม

    บทว่า อกาลิโก ความว่า ไม่ให้ผลในกาลอื่น

    บทว่า เอหิ ปสฺสิโก เป็นข้อความที่พราหมณ์ทูลถามถึงอาคมนียปฏิปทา คือ ข้อปฏิบัติเพื่อที่จะให้บรรลุผลว่า พระธรรมอันผู้ปฏิบัติสามารถเพื่อที่จะชี้ได้อย่างนี้ว่า เอหิ ปสฺส คือ จงดูว่า เป็นจริงอย่างนั้น

    เอหิ ปสฺสิโก คือ จงดูว่าเป็นจริงอย่างนั้น

    พระธรรมที่ทรงแสดงทั้งหมดเกี่ยวกับสภาพธรรมที่สามารถที่จะเห็นได้ด้วยตนเอง เป็นสิ่งที่ให้ทุกคนควรจะได้พิสูจน์ ไม่ใช่เพียงแต่ที่จะได้ฟังเฉยๆ แต่ว่าจงดูว่าเป็นจริงอย่างนั้นด้วย

    บทว่า โอปนยิโก ความว่า พึงน้อมจิตของตนเข้าไปพิจารณา

    ไม่ใช่พิจารณาอื่น แต่ว่าพิจารณาสภาพธรรมที่ปรากฏ คือควรเข้าถึงด้วยการปฏิบัติ ไม่ใช่เพียงในขั้นของการฟังเท่านั้น

    เพราะฉะนั้น สภาพธรรมทั้งหลายที่เคยยึดถือว่าเป็นเรา หรือว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ในขณะนี้เป็นสิ่งที่พึงน้อมจิตเข้าไปพิจารณา คือ เพื่อที่จะให้รู้จริงว่า สภาพธรรมนั้นไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ตามที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงประจักษ์แล้ว

    ในพระสูตรนี้ พราหมณ์ทูลถามถึงโลกุตรมรรค แม้พระบรมศาสดา ก็ตรัสโลกุตรมรรคนั้นเหมือนกัน ด้วยว่าโลกุตรมรรคนั้น ชื่อว่า สันทิฏฐิกะ เพราะจะต้องเห็นด้วยตนเอง ฉะนี้แล

    สำหรับในสูตรต่อไป คือ สูตรที่ ๕ นิพฺพุตสูตร ข้อ ๔๙๕ ก็ได้แสดงว่า พระนิพพาน เป็น สนฺทิฏฐิกํ อกาลิกํ เอหิ ปสฺสิกํ เป็นต้น เพราะเหตุว่าเป็นสภาพธรรมที่จะพึงเห็นได้เอง ไม่ประกอบด้วยกาล และก็จงดูว่าเป็นจริงอย่างนั้น

    ไม่มีใครปฏิเสธเลยในเรื่องของโลภะ เวลาที่กลุ้มรุมครอบงำจิตใจ แต่ว่าอาจจะไม่ได้พิจารณาว่า โลภะที่กลุ้มรุมครอบงำจิตใจนั้นทำตนเองให้ลำบาก เพราะเหตุว่าเป็นชีวิตประจำวัน ซึ่งถ้าจะพิจารณาก็จะเห็นได้ว่า ความลำบากทั้งหลายมาจากโลภะทั้งสิ้น ตั้งแต่ลืมตาตื่นจนหลับ เริ่มตั้งแต่เช้า การบำรุงรักษาร่างกาย ตั้งแต่ตื่น บำรุงผิวด้วยสบู่ หรือว่าด้วยเครื่องบำรุงต่างๆ บำรุงผม บำรุงรักษาส่วนต่างๆ ของร่างกาย ทั้งเช้าถึงค่ำ ลองพิจารณาว่า ทำตัวให้ลำบากไหม ถ้าไม่ทำอย่างนั้นย่อมสบายกว่า ใช่ไหม แต่เมื่อมีโลภะ ก็ย่อมพอใจที่จะกระทำ ซึ่งในขณะที่กระทำอย่างนั้น ก็ไม่ทราบว่าแท้จริงแล้ว ถ้าไม่ทำเสียได้จะไม่ลำบาก แต่เพราะเหตุว่ามีความพอใจยึดมั่นในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้น ก็กระทำด้วยความพอใจ โดยไม่เห็นว่า ในขณะนั้นเป็นการทำตนให้ลำบาก

    บางท่านต้องการใส่เสื้อใหม่ตอนเช้า เย็บเสื้อใหม่ตลอดคืน นี่ก็เป็นการทำตนให้ลำบากหรือเปล่า ซึ่งในขณะนั้นก็ไม่ได้คิดเลยว่า กำลังลำบากด้วยโลภะ เป็นการแสวงหาทุกข์โดยรอบจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ และบางทีก็ไม่ได้ทำความลำบากให้เฉพาะตัวเอง ถ้าเสื้อไม่สวย เย็บไม่ดี ต้องเลาะ ต้องแก้ ก็ต้องหาคนช่วยเป็นเวลานานทีเดียว ลองพิจารณาว่า ลำบากไหม นี่เป็นชีวิตประจำวันจนมองไม่เห็นว่า โลภะทำให้ตนเองลำบาก แล้วก็ทำให้คนอื่นลำบากด้วย

    สำหรับในทางหู ถ้าจะพิจารณาก็ตลอดหมด ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย บางท่านที่ติดในเสียงเพราะๆ ก็ต้องลำบากในการหาซื้อเสียง ไม่ว่าจะเป็นตลับเทป หรือว่าแผ่นเสียง บางคนก็หัดตีสีตีเป่า หัดร้องรำทำเพลง ลำบากไหม ในขณะนั้น ดูเหมือนไม่ลำบาก แต่ความจริงถ้าไม่ทำอย่างนั้น ก็สบายกว่ามากทีเดียว แต่เมื่อมีความพอใจก็ไม่รู้ว่า ขณะนั้นกำลังทำตัวให้ลำบาก

    บางท่านชอบดอกไม้หอมๆ ในบ้าน เพราะฉะนั้น ก็ลำบากเที่ยวหาซื้อดอกไม้หอมๆ มาปลูก ต้องเสาะแสวงหา บางครั้งก็ด้วยความยากลำบากจริงๆ นอกจากนั้น แม้แต่อาหารบางชนิด ก็ยังต้องอบกลิ่นด้วย ถ้าไม่อบกลิ่น รสก็ยังคงเหมือนเดิม ก็อร่อยอย่างเดิม แต่ก็ยังไม่เป็นที่พอใจ ก็ยังจะต้องลำบากที่จะต้องอบกลิ่นให้หอมขึ้นด้วย

    น่าพิจารณาจริงๆ ว่าในวันหนึ่ง ถ้าตัดสิ่งที่กระทำด้วยโลภะ ไม่ให้ลำบากจนเกินไป ชีวิตย่อมสะดวกสบายมากขึ้น สำหรับทางลิ้นก็เป็นเรื่องธรรมดาที่เห็นกันอยู่ กว่าอาหารแต่ละมื้อจะเสร็จลงไปได้ด้วยรสที่กลมกล่อม ก็ต้องปรุงอย่างประณีต แล้วก็เติมรสแล้วเติมอีก คลุกแล้ว คลุกอีก บางครั้งก็จะต้องถึงกับอุ่นแล้วอุ่นอีก นี่ก็เป็นเรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย

    สำหรับทางวาจา ก็มีเรื่องลำบากหลายเรื่องเหมือนกัน สำหรับบางท่าน เช่นพูดคำหลอกลวงคนอื่น ในขณะนั้นก็ลำบากแล้วใช่ไหม ถ้าไม่ทำอย่างนั้นก็ย่อมไม่ลำบาก หรือบางท่านก็ถึงกับใช้คนอื่นให้ไปว่าคนที่ตนไม่พอใจ นี่ก็เป็นสิ่งซึ่งเป็นชีวิตประจำวันจริงๆ แต่ว่าทุกคนไม่สามารถที่จะดับโลภะได้ ถ้าไม่ใช่เป็นพระอริยบุคคลตามลำดับขั้น เพราะฉะนั้น โลภะในชีวิตประจำวันก็ยังต่างออกไป เป็น ๒ ลักษณะ คือ สมโลภ ๑ และวิสมโลภ ๑

    ข้อความในอรรถกถา อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต พราหมณวรรคที่ ๑ ปโลภสูตร ข้อ ๔๙๖ มีข้อความอธิบายความต่างกันของโลภะ ซึ่งทุกคนมีเป็นปกติในชีวิตประจำวัน

    บทว่า อธมฺมราครตฺตา ความว่า ราคะเป็นอธรรมโดยส่วนเดียวเท่านั้น

    คือจะว่าโลภะดีนั้นเป็นไปไม่ได้เลย สำหรับคนที่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง เป็นที่เข้าใจอยู่ว่า ทุกคนในโลกนี้จะมีชีวิตอยู่ต่อไปในสังสารวัฏฏ์ไม่ได้ ถ้าปราศจากโลภะ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม โดยลักษณะสภาพแท้จริงของโลภะแล้ว เป็นอธรรม คือ ไม่ใช่ธรรมฝ่ายดี โดยส่วนเดียวเท่านั้น แต่ข้อความอธิบายต่อไปมีว่า

    แต่ราคะที่เกิดในบริขาร คือ สมบัติของตน ไม่ทรงหมายเอาว่าเป็นอธรรมราคะ ราคะที่เกิดขึ้นในบริขารของคนอื่น จึงทรงประสงค์เอาว่าเป็นอธรรมราคะ

    เพราะฉะนั้น ก็ยังแบ่งความพอใจว่า ถ้าพอใจในสมบัติของตน ไม่ใช่อธรรม แต่ถ้าเกิดความยินดีพอใจในบริขาร หรือสมบัติของคนอื่น จึงทรงประสงค์เอาว่า เป็นอธรรมราคะ

    เพราะฉะนั้น ทุกคนก็ทราบว่า วันนี้มีอธรรมราคะหรือเปล่า ถ้ายังเป็นความพอใจเฉพาะในสิ่งของๆ ตน ไม่ใช่อธรรมราคะ แต่ถ้าเกิดต้องการของๆ คนอื่นในขณะใดในขณะนั้นเป็นอธรรมราคะ

    ข้อความต่อไปอธิบายว่า

    บทว่า วิสมโลภาภิภูตา ความว่า ขึ้นชื่อว่าโลภะ จะมีเวลาสม่ำเสมอ ไม่มี

    ยากที่จะเป็นผู้ตรง เพราะว่าโลภะเป็นอกุศลธรรม เพราะฉะนั้นจึงต้องเอียง ไม่ตรง ในขณะที่โลภะเกิด ลองสังเกตดูก็ได้ คนที่รักทำผิดเป็นอย่างไร ไม่เป็นไร ช่วยเหลือกัน แก้ไขได้ แต่ว่าเวลาคนที่ชัง ไม่ชอบทำผิด ไม่ได้แล้วใช่ไหม ไม่แม้แต่ที่จะอภัยให้ เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่าอกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่ทำให้เป็นผู้ที่ตรง แต่ว่าวิสมโลภาภิภูตา ขึ้นชื่อว่าโลภะ จะมีเวลาสม่ำเสมอ ไม่มี โลภะนี้ไม่สม่ำเสมอโดยส่วนเดียวเท่านั้น

    แต่ว่าเมื่อเกิดขึ้นในวัตถุที่ตนหวงแหน คือ วัตถุที่เป็นสมบัติของตน ชื่อว่า สมโลภะ ที่เกิดขึ้นในวัตถุที่ผู้อื่นหวงแหนเท่านั้น คือในสมบัติของผู้อื่น ทรงประสงค์เอาว่า วิสมโลภะ

    เพราะฉะนั้น ก็ไหนๆ ก็ไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงโลภะ ก็ควรที่จะเป็นสมโลภะ คือ หวงแหนในทรัพย์สมบัติของตน และก็มีความพอใจยินดีในสิ่งที่เป็นของๆ ตน ไม่ควรที่จะเป็นวิสมโลภะ คือ เกิดความพอใจในสมบัติของคนอื่น

    ผู้ถาม ยังสงสัยว่าการอาบน้ำ ถูตัว การทำให้อาหารอร่อย ไม่ทราบว่าจะเป็นโลภะหรือไม่

    ท่านอาจารย์ ถ้าทราบว่าขณะใดไม่ใช่กุศลจิต ขณะนั้นต้องอกุศลจิต เมื่อไม่ใช่พระอรหันต์แล้ว ขณะใดที่ไม่เป็นในทาน ไม่เป็นในศีล ไม่เป็นในสมถะ ความสงบของจิต ไม่เป็นไปในการเจริญสติปัฏฐานแล้ว ต้องเป็นอกุศล โดยไม่รู้ตัวว่า เป็นโลภะแล้ว มีความต้องการเกิดขึ้นขณะใด ขณะนั้นเป็นโลภะ ไม่ใช่มีการสละ หรือการไม่เห็นแก่ตัว

    ผู้ฟัง สมมติว่าเราไม่อาบน้ำหลายๆ วัน แต่ว่าเราก็อยากให้มีความรู้สึกสบายขึ้น ก็อาบน้ำ แล้วก็จะเป็นโลภะด้วยไหม

    ท่านอาจารย์ คำตอบก็บอกว่าแล้วว่า อยากจะอาบน้ำให้สบายขึ้น ให้สบายขึ้นนั่นเป็นโลภะไหม ต้องการที่จะให้สบาย เป็นไหม ความต้องการแม้เพียงเล็กน้อย นิดหน่อย ก็เป็นโลภะ เมื่อตื่นมาแล้วอยากจะอาบน้ำ ต้องการที่จะกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด ขณะนั้นก็โลภะทั้งนั้น

    เพราะฉะนั้น การที่จะละโลภะ เป็นเรื่องที่ละเอียด และก็เป็นเรื่องที่ยาก การที่จะดับกิเลสทั้งหมด ไม่ใช่จะดับได้โดยรวดเร็ว

    สำหรับผู้ที่ไม่รู้จักโลภะ ก็คิดว่าจะละโลภะได้ง่ายๆ แต่ถ้าผู้ที่เห็นโลภะตามความเป็นจริงว่า เมื่อตื่นก็โลภะตื่น

    ผู้ฟัง ที่ไม่ได้อาบน้ำเลย ก็ไม่มีโลภะ เวลาทานอาหารก็ไม่ต้องใช้น้ำปลา กินไปเลย อย่างจับสัตว์ได้ก็กินไปเลย

    ท่านอาจารย์ หมายความถึงคนที่ไม่อาบน้ำ แล้วก็ไม่ปรุงอาหาร ได้อาหารมาอย่างไร ก็บริโภคอย่างนั้น จะมีโลภะหรือเปล่า ใช่ไหม

    ขณะใดที่ไม่เป็นกุศลจิต ไม่ใช่ทาน ไม่ใช่ศีล ไม่ใช่สมถะ ไม่ใช่วิปัสสนา ขณะนั้นเป็นอกุศลประเภทหนึ่งประเภทใดคือ ถ้าจิตใจในขณะนั้นไม่ขุ่นเคือง ไม่โกรธ ไม่หยาบกระด้าง ขณะนั้นก็เป็นโลภมูลจิต ถ้าขณะนั้นไม่ใช่โมหมูลจิต ให้ทราบไว้ก่อนว่า ขณะใดที่ไม่เป็นกุศล ขณะนั้นเป็นอกุศล ถ้าไม่กล่าวถึงวิบากจิตและกิริยาจิต

    ไม่สงสัยแล้วใช่ไหม ตื่นขึ้นมาอยากทำอะไร นั่นแหละ โลภะตลอดหมด

    มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง ท่านก็เป็นผู้ที่บางวาระ กุศลจิตของท่านก็เกิดมาก ขะมักเขม้นในการกระทำกุศล แต่บางวาระท่านก็มีเรื่องที่จะต้องเป็นอกุศลมากทีเดียว ท่านก็พิจารณาเห็นว่า กุศลนั้นช่างเกิดยากจริงๆ บางวาระมีเหตุปัจจัยที่กุศลจิตจะเกิดมาก กุศลจิตก็เกิด แต่ว่าไม่ใช่ตลอดไป เพราะว่าวาระอื่นก็มีเหตุปัจจัยของอกุศลที่จะเกิดอย่างมาก

    เพราะฉะนั้น ทุกท่านก็พอที่จะพิจารณาเห็นได้ว่า ทั้งๆ ที่รู้ว่ากุศลคืออะไร และอกุศลคืออะไร กุศลก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย และอกุศลก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ทั้งๆ ที่รู้ว่าเป็นอกุศล ก็ยังตามอกุศล ไม่ได้อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครเลย แล้วแต่ว่าขณะใดโยนิโสมนสิการเกิดขึ้น ขณะนั้นก็เป็นกุศล มีการพิจารณาสภาพธรรมอย่างถูกต้องแยบคายขณะใด ขณะนั้นก็เป็นปัจจัยให้กุศลจิตเกิด

    ในระยะนี้มีผู้ที่ถามบ่อยๆ ในเรื่องของโยนิโสมนสิการ แต่ว่าตามความเป็นจริงแล้ว ถ้าไม่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ก็จะไม่สามารถจะรู้ได้ในความหมายของโยนิโสมนสิการ เพราะว่าโดยศัพท์ แปลได้ แต่ว่าไม่ทราบว่า ขณะไหนเป็นโยนิโสมนสิการ และขณะไหนไม่เป็นโยนิโสมนสิการ ก็เลยทำให้ดูเหมือนกับค้นหากันใหญ่ ถามกันว่า นี่เป็นโยนิโสมนสิการไหม อย่างนี้เป็นโยนิโสมนสิการหรือเปล่า อย่างนั้นเป็นโยนิโสมนสิการหรือเปล่า แต่ว่าตามความเป็นจริง ถ้าเข้าใจหลักว่า ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นเป็นโยนิโสมนสิการ ขณะใดที่อกุศลจิตเกิด ขณะนั้นก็เป็นอโยนิโสมนสิการ

    เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าใครจะทำโยนิโส หรือว่าใครจะใช้ โยนิโส แต่ว่าสภาพธรรมทั้งโยนิโสมนสิการและอโยนิโสมนสิการต้องเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย อย่างท่านที่ได้ฟังพระธรรมที่เป็นประโยชน์ ก็ทำให้พิจารณาธรรมด้วยความถูกต้องได้ บางท่านมีเรื่องที่จะทำให้เกิดความขุ่นเคือง ไม่พอใจ แต่พอระลึกถึงพระธรรม ขณะนั้นจิตสงบ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ขณะที่ระลึกถึงพระธรรมด้วยความถูกต้อง ด้วยความแยบคาย แล้วไม่เกิดอกุศล ขณะนั้นก็เป็นโยนิโสมนสิการ ไม่ต้องไปค้นหาที่ไหนอีก แต่ว่าวันหนึ่งๆ เดี๋ยวเป็นกุศล เดี๋ยวเป็นอกุศล

    เพราะฉะนั้น ขณะใดที่เป็นกุศลเกิดขึ้น ไม่โกรธ หรือว่าไม่มีความคิดในทางที่ไม่ดีต่างๆ ขณะนั้นก็ให้ทราบว่า โยนิโสมนสิการ เคยไหมที่กำลังจะโกรธ แล้วก็นึกขึ้นได้ นึกถึงพระธรรม นึกถึงความไม่มีประโยชน์ของความโกรธ ขณะนั้นให้ทราบว่า ที่ไม่โกรธนั้นเป็นกุศลจิตและเป็นโยนิโสมนสิการ แต่ว่าขณะใดที่กำลังจะโกรธ แล้วก็ยังโกรธ ระลึกเท่าไรก็ยังโกรธ ก็ให้ทราบว่า ขณะนั้นอโยนิโสมนสิการ ไม่มีใครจะไปบังคับ หรือไปทำโยนิโสมนสิการได้ ทั้งๆ ที่รู้ว่าไม่ดี แต่เมื่อมีปัจจัยที่จะเกิดโกรธขึ้น ความโกรธที่เกิดนั้นก็เพราะอโยนิโสมนสิการ

    มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง ท่านศึกษาปริยัติ ท่านศึกษาพระอภิธรรม แต่ว่าท่านไม่เข้าใจ ท่านสับสน เพราะเหตุว่าเป็นการศึกษาเรื่องชื่อทั้งหมด คำภาษาบาลี เวลาที่มีคนถาม ท่านก็ตอบได้ แต่ว่าวันหนึ่งๆ ท่านก็คิดเรื่องต่างๆ ที่วุ่นวายใจอยู่เรื่อยๆ ทำให้ท่านเกิดสงสัยขึ้นมาว่า ในเมื่อท่านก็ศึกษาปริยัติ ศึกษาพระอภิธรรมแล้ว ทำไมไม่ได้ประโยชน์ นอกจากจะรู้ชื่อต่างๆ เท่านั้น แต่ภายหลังเมื่อท่านได้ฟังเรื่องจุดประสงค์ของการศึกษาพระธรรมแล้ว ท่านก็รู้ว่าที่เรียนปริยัติมาแล้วนั้น อยู่ในหนังสือเท่านั้นจริงๆ ไม่ได้ออกมานอกตำราเรียนเลย ไม่ว่าจะเป็นจิตกี่ดวง กี่ประเภท ล้วนแล้วแต่อยู่ในหนังสือทั้งหมด ยังไม่ได้ออกมาศึกษา ยังไม่ได้ออกจากตำรา มาพิจารณาลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นจิต เจตสิก รูป ในชีวิตจริงๆ ในชีวิตประจำวันในขณะนี้ เพราะฉะนั้น ก็ทำให้งงและสับสน แต่ภายหลังเมื่อทราบจุดประสงค์ของการศึกษาพระธรรมแล้ว ท่านก็รู้ว่า ประโยชน์ที่แท้จริงของการศึกษาพระธรรมก็คือ เพื่อรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ข้างนอกหนังสือ อย่าไปเก็บไว้เฉพาะในหนังสือ ที่เป็นบรรทัด เป็นหน้าต่างๆ เป็นปริจเฉทต่างๆ แต่ว่าจะต้องศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่เป็นการรู้คำ หรือรู้ชื่อข้างในหนังสือเท่านั้น

    เพราะฉะนั้น เวลาที่มีจุดประสงค์ที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ก็ไม่มุ่งที่จะเพียงแต่รู้ชื่อภาษาบาลียาวๆ หรือยากๆ แต่ต้องเข้าใจในอรรถว่า คำนั้นหมายความถึงสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้อย่างไร แม้แต่โยนิโสมนสิการคือขณะไหน ขณะที่กำลังฟังนี้เอง แล้วก็เข้าใจ นี่ โยนิโสมนสิการแล้ว จะต้องไป นั่นเป็นโยนิโสหรือเปล่า นี่เป็นโยนิโสหรือเปล่า นั่นก็เป็นเรื่องของในหนังสือ หรือในตำรา แต่ว่าในขณะนี้เอง ที่กุศลจิตเกิดและก็กำลังพิจารณา กำลังเข้าใจ ในขณะนั้นไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แต่เป็นกุศลจิตจึงเป็นโยนิโสมนสิการ

    แล้วก็มีท่านผู้ฟังอีก ๒ ท่าน ซึ่งต่างกับท่านผู้ฟังท่านนี้ ซึ่งเมื่อได้ทราบชีวิตของแต่ละท่านแล้ว ก็จะเห็นได้ว่า ผู้ที่สนใจในธรรมและก็ศึกษาธรรม มีชีวิตและมีความคิดเห็นต่างๆ กัน อย่าง ๒ ท่านนี้ ท่านก็ได้มาฟังการบรรยายธรรมที่นี่ แต่ว่าท่านชวนกัน สัญญากันว่า ทั้ง ๒ จะไม่เรียน จะฟังอย่างเดียวเท่านั้น คือจะไม่ยอมเรียนอย่างที่เรียนๆ กัน แต่ว่าเมื่อได้ฟังไป พิจารณาไป และก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้นๆ ๆ ๆ ท่านก็สามารถจะเข้าใจสิ่งที่ได้ฟังเพิ่มขึ้น ซึ่งแต่ก่อนนี้ท่านเข้าใจว่า การที่จะเรียนปริยัตินั้น จะต้องคร่ำเคร่งศึกษาเฉพาะในตำราอย่างเดียว นี่ก็เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง การฟังพระธรรม เรื่องของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จะโดยนัยใดๆ ก็ตาม เพื่อให้เกิดความเข้าใจ เพราะฉะนั้น เมื่อเข้าใจแล้ว นั่นคือปริยัติ ขณะใดที่สติปัฏฐานไม่เกิด ไม่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ขณะนั้นคือกำลังศึกษาปริยัติ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 23
    18 ม.ค. 2565

    ซีดีแนะนำ