โสภณธรรม ครั้งที่ 037


    ตอนที่ ๓๗

    เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นพระมหากรุณาคุณของพระผู้มีพระภาคที่ทรงแสดงธรรมไว้โดยละเอียด เพื่อที่จะให้สติเกิด ระลึก ศึกษาลักษณะของสภาพธรรม ไม่ใช่เก็บไว้ในตำรา แต่ว่าจะต้องศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้

    ซึ่งท่านผู้ฟังก็เห็นได้ว่า ถ้าไม่พิจารณาจิต ไม่มีทางที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงเลย เพราะฉะนั้น ถ้าได้ฟังเรื่องของจิตแล้ว ก็ควรที่สติจะระลึก แล้วก็พิจารณาลักษณะของจิตที่กำลังปรากฏในขณะนี้

    ต้องรู้ความต่างกัน ขณะที่คิดนึกเรื่องจิต กับขณะที่สติระลึกที่ลักษณะของจิต ขณะที่กำลังฟัง กำลังศึกษา กำลังพิจารณา กำลังคิดเรื่องจิต ไม่ใช่ขณะที่สติระลึกตรงลักษณะของสภาพรู้ ธาตุรู้ ในขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน เป็นต้น

    ผู้ฟัง การพิจารณาเรื่องของจิต ถ้าสำหรับผู้ที่ศึกษาธรรมใหม่ๆ นี้ การรู้ลักษณะของจิตและเจตสิกก็จะมีน้อย ส่วนผู้ที่ได้ฟังหรือได้เรียนพระอภิธรรมแล้ว ก็คงจะพิจารณาได้มาก เพราะฉะนั้น คนที่เจริญสติปัฏฐานโดยเรียนมาน้อย ก็เสียเปรียบคนที่เรียนอภิธรรมมามาก ไหม

    ท่านอาจารย์ ขึ้นอยู่กับสติที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรม เรียนมาก แต่เป็นเรื่องชื่อทั้งหมด หรือว่าเวลาที่คิดเรื่องจิต ก็อาจจะอดไม่ได้ที่จะเป็นจิตเขา จิตเรา ขณะนั้นก็ไม่ใช่สติที่ระลึกรู้ลักษณะของจิต

    ผู้ฟัง สภาพที่จะระลึกถึงจิต ก็ให้รู้ลักษณะของปรมัตถธรรม ๔ ก็เพียงพอแล้ว

    ท่านอาจารย์ ทุกอย่างที่ได้ยิน ได้ฟัง แล้วเข้าใจขึ้น จะทำให้ปรุงแต่งเหมือนกับพริก กะปิ หอม กระเทียม ซึ่งจะต้องผสมกันจนกระทั่งรสกลมกล่อม ที่จะทำให้สามารถจะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมได้ ถ้าไม่มีการฟัง ไม่มีการพิจารณาเลย ถึงแม้สติจะระลึกที่ลักษณะของแข็งที่กำลังปรากฏ ก็ไม่มีเหตุปัจจัยพอที่จะละคลายการยึดถือแข็งว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล หรือไม่รู้ความต่างกันของสภาพที่รู้แข็งกับลักษณะที่แข็ง เพราะเหตุว่าสภาพธรรมมีอยู่เสมอ และสติก็อาจที่จะระลึกได้ แต่ว่าขึ้นอยู่กับแต่ละท่าน ว่าละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนหรือยัง หรือว่าเพิ่มความรู้ความเข้าใจในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏนั้นมากขึ้นหรือยัง ถ้าปัญญาไม่ได้เพิ่มขึ้น ไม่มีหนทางที่จะละคลาย เพราะฉะนั้น จึงต้องอาศัยการฟังด้วย

    ผู้ฟัง ทีนี้ปัญญาจะเพิ่มขึ้น สำหรับผู้ที่สติระลึกที่แข็ง ผู้ที่ไม่ได้เรียนอภิธรรมเลย และยังสดับตรับฟังน้อยนี้ พอแข็ง คงระลึกได้ว่าแข็งกับรู้แข็ง ทีนี้จะระลึกที่แข็งหรือรู้แข็ง โดยส่วนลึกของอภิธรรมแล้ว ถ้าได้เรียนเรื่องจิต เจตสิกมากๆ แล้ว สภาพที่แข็งและรู้แข็งเมื่อตอนที่เรียนอภิธรรมแล้ว กับตอนที่ยังไม่ได้เรียนอภิธรรม ตอนไหนปัญญาจะคมกล้ากว่ากัน

    ท่านอาจารย์ ขึ้นอยู่กับความเข้าใจอรรถ ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับชื่อ หรือคำที่รู้ ถ้ารู้คำ รู้ชื่อมากๆ อย่างกำลังเดินไปก็เป็นจิตตชวาโยธาตุ ถ้ากล่าวว่าอย่างนี้ เป็นเรื่องชื่อ แต่ไม่ใช่เป็นลักษณะ

    ผู้ฟัง รู้คำด้วย รู้ชื่อด้วย รู้ลักษณะด้วย

    ท่านอาจารย์ ถ้าขณะที่กำลังยืนอยู่เดี๋ยวนี้ ศึกษาพระอภิธรรมแล้ว กำลังยืนในขณะนี้ สติระลึกลักษณะของรูปที่กาย รู้ลักษณะของรูปอะไร ชื่อจะไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวเลย หรือใครจะเกิดนึกขึ้นมาว่า ขณะนี้ที่เคร่ง ตึง ไหว เป็นจิตตชวาโยธาตุ นั่นไม่ใช่การระลึกลักษณะที่ตึงไหว ถ้าขณะนั้นสติระลึกที่ลักษณะที่ไหว หรือที่ตึง หรือที่แข็ง หรือที่อ่อน หรือที่เย็น หรือที่ร้อน ขณะนั้นกำลังมีปรมัตถธรรม ไม่ได้อยู่ในตำรา แต่กำลังมีลักษณะแข็ง ข้อสำคัญก็คือจะต้องพิจารณาศึกษาจนกว่าจะเข้าใจว่า ลักษณะนั้นไม่ใช่สภาพรู้ ที่แข็งนั้นไม่ใช่สภาพรู้ และส่วนลักษณะของธาตุรู้ อาการรู้ ที่กำลังรู้แข็งนั้น ก็เป็นแต่เพียงธาตุชนิดหนึ่ง นี่คือสิ่งที่จะต้องได้ยินแล้วพิจารณาทันที แต่ว่าไม่ใช่เรื่องชื่อ เพราะฉะนั้น เวลาที่ฟังพระธรรมนี้ เข้าถึงอรรถ ความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ทรงแสดง ไม่ใช่เรื่องการจำชื่อ

    ผู้ฟัง เข้าถึงอรรถ แล้วต้องเข้าใจคาถา ๔ บาท ที่ว่า..

    ท่านอาจารย์ ระลึกศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏประกอบกันไปในขณะที่ฟังได้ยิ่งเป็นประโยชน์ มิฉะนั้นแล้วก็จะเพียงฟัง แล้วไม่ได้น้อมประพฤติปฏิบัติตาม

    ผู้ฟัง เมื่อน้อมประพฤติปฏิบัติตามอย่างที่อาจารย์ได้พร่ำสอน และผมก็ได้พยายามฟังอยู่นี้ เมื่อระลึกแล้ว พูดไปแล้วก็เหมือนกับหวังผล ผลก็ยังไม่เห็นสักที

    ท่านอาจารย์ มิได้ ท่านผู้ฟังต้องการผลอะไร อย่าข้ามไปเลย เพื่อความละเอียด

    ผู้ฟัง พูดไปแล้ว ก็อยากจะให้ถึงเป้าหมายว่า รู้แจ้งอริยสัจจธรรมเลย

    ท่านอาจารย์ ขอประทานโทษ ขณะที่กำลังระลึกลักษณะของสภาพธรรม เข้าใจในอรรถ ลักษณะของสิ่งที่ไม่ใช่สภาพรู้และสภาพรู้ ว่าเป็นสภาพธรรมที่ต่างกันในขณะนี้ไหม ต้องการผลอย่างนี้ไหม หรือว่าไม่ต้องการขั้นนี้ แต่ต้องการจะถึงนิพพาน

    ผู้ฟัง ก็ควรจะเป็นไปตามลำดับ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็ลดความต้องการลงมา จากนิพพาน เป็นการเข้าใจให้ถูกต้องในลักษณะของสภาพธรรม

    ผู้ฟัง ลดความต้องการลงมา ก็เหมือนกับเราตั้งความปรารถนาน้อยไป

    ท่านอาจารย์ มิได้ ความปรารถนาสูงนั้นสำเร็จไม่ได้ ถ้าไม่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้เสียก่อน

    ผู้ฟัง คือยังต้องเชื่อฟังอยู่ต่อไป

    ท่านอาจารย์ ต้องศึกษาจริงๆ พร้อมสติที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรม

    ผู้ฟัง ผมได้ยินมาอย่างนี้ การศึกษานี้ต้องให้ครบทั้ง ๓ ขั้นตอน รู้ชื่อ รู้ความหมาย แล้วรู้ลักษณะ ถ้าไม่รู้ชื่อ ไม่รู้ความหมาย ไม่รู้ลักษณะทั้ง ๓ ขั้นตอนนี้ ก็จะเจริญสติปัฏฐานไม่ได้ ถูกหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ เวลานี้รู้ชื่อแล้วใช่ไหม เวลาฟังนี้ ชื่อว่ารู้ชื่อแล้ว ใช่ไหม แล้วรู้อรรถ คือเข้าใจ

    ผู้ฟัง การฟังแล้วท่องจำต่างๆ นี้ แล้วไปติดที่ท่องนี้ มีค้านกันว่า ท่องไม่ได้ จะท่องเป็นนกแก้ว นกขุนทองไป แล้วลักษณะจะไม่รู้จัก

    ท่านอาจารย์ เวลาที่เข้าใจนี่ต้องท่องไหม ถ้าเข้าใจแล้ว พูดถึงเข้าใจแล้ว ท่องอะไรบ้างคะ ลองบอกตามความจริงซิคะว่า ท่องอะไรบ้าง

    ผู้ฟัง อย่างสัจจะมี ๔ คือ ทุกข์ ได้แก่ จิต ๘๙ เจตสิก ๕๑ เว้นโลภะ รูป ๒๘ เป็นทุกขสัจจ์ สมุทัย ได้แก่ โลภเจตสิก เป็นสมุทัยสัจจ์

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นสติระลึกที่ลักษณะของสภาพธรรมอะไร

    ผู้ฟัง อันนี้เพียงรู้ชื่อ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เมื่อกี้นี้บอกว่า ต้องมี ๓ ขั้น ขั้นที่ ๑ คือรู้ชื่อ ขั้นที่ ๒ เข้าใจ และขั้นที่ ๓ รู้ลักษณะ ทำอย่างไรจึงจะรู้ลักษณะ

    ผู้ฟัง สังเกตสภาพธรรม

    ท่านอาจารย์ สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม อย่างถ้าพูดถึงเรื่องจักขุวิญญาณ กำลังเห็นนี้เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ ในขณะนี้มีชื่อและมีความเข้าใจ แล้วขั้นรู้ลักษณะจะเกิดได้ไหม เมื่อเข้าใจแล้ว

    ผู้ฟัง เกิดได้

    ท่านอาจารย์ ต้องท่องไหม

    ผู้ฟัง ในขณะนั้นไม่ต้องท่อง แต่จำเป็นจะต้องศึกษาอภิธรรม มีความจำเป็นมาก

    ท่านอาจารย์ ศึกษาเพื่อที่จะให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม หรือเพื่อจำได้

    ผู้ฟัง เพื่อให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม

    ท่านอาจารย์ เมื่อเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมแล้ว จำได้แน่ๆ ขอให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมแล้วจะจำได้ แต่ถ้าไม่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมแล้วจำได้ ไม่กี่วันก็ลืม หรือไม่กี่เดือน ไม่กี่ปีก็ต้องลืมแน่ๆ เหมือนกัน

    ผู้ฟัง การศึกษาด้วยการท่องจำ จะมีประโยชน์ไหม

    ท่านอาจารย์ ได้เรียนถามจุดประสงค์แล้วว่า ศึกษาเพื่ออะไร ศึกษาเพื่อจะจำ หรือว่าศึกษาเพื่อที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม

    เพราะฉะนั้น แม้แต่เพียงการศึกษาธรรม จุดประสงค์เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ท่านที่ศึกษาธรรมเพื่อเข้าใจ ท่านจะรู้เลยว่า ขณะที่กำลังฟังนี้ เข้าใจ และมีสภาพธรรมปรากฏให้ระลึกได้ เพื่อที่จะเข้าใจชัดขึ้นอีก อย่างคำว่า “ธาตุรู้ สภาพรู้” เข้าใจแล้วว่า หมายความถึงสิ่งซึ่งไม่ใช่ลักษณะที่เย็น หรือร้อน อ่อน หรือแข็ง ตึง หรือไหว เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง คิดนึกบ้าง จำได้บ้าง นี่เป็นสภาพรู้ ธาตุรู้ ในขณะที่ฟังเข้าใจ เมื่อเข้าใจแล้ว มีสิ่งนั้นพร้อมที่จะให้รู้ชัดทันทีที่ระลึก เพราะฉะนั้น จะศึกษาเพื่ออะไร ถ้าเพื่อความเข้าใจ ก็ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่เข้าใจแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสภาพธรรมทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ถ้ายังติดใจที่จะท่อง ก็จะละเลยการที่จะเข้าถึงอรรถของธรรมที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง สมัยเมื่อกระผมบวชอยู่ ได้รับคำสอนจากอาจารย์ที่สอนกัมมัฏฐานว่า ไม่ต้องอ่านตำรา ไม่ต้องดู เพราะว่ารู้มากทำให้ฟุ้งซ่าน ทำให้จิตไม่สงบ ต้องปฏิบัติอย่างเดียว เมื่อใจเป็นสมาธิแล้วจะรู้เอง เพราะท่านบอกว่า ผู้ที่มีจิตเป็นสมาธิแล้ว จะอบรมให้ปัญญาเกิด กระผมก็พยายามกระทำตาม แต่ก็ไม่ได้ผล ก็เลยมารู้ว่าการศึกษาของพุทธศาสนิกชนในปัจจุบันนี้ ไม่ค่อยถูกหลักเกณฑ์ เพราะว่าเท่าที่กระผมศึกษามานี้ ก็เป็นแต่เพียงท่องจำอย่างที่ว่า ไม่เข้าใจอรรถ ไม่เข้าใจลักษณะ ก็ได้แต่เพียงท่องจำและพูดได้ บอกคนอื่นได้ แต่ความหมายที่แท้จริงก็ไม่ค่อยจะรู้แจ้งชัดเจน

    เพราะฉะนั้น ความรู้ที่ได้มาจากการศึกษาอย่างนี้ ก็ไม่สามารถจะเกื้อกูลแก่การปฏิบัติ ถ้ากระผมไม่ได้มาฟังอาจารย์สอน กระผมก็คิดว่า ชาตินี้ที่เกิดมาก็คงจะตายไปพร้อมกับความไม่รู้ พร้อมกับความเข้าใจผิดๆ ที่ศึกษากันมาไม่ค่อยตรงประเด็น ไม่ตรงเป้าหมาย เพราะฉะนั้น เรื่องที่ศึกษาธรรม และเข้าใจอรรถ และรู้สภาวะนี้เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งที่จะเป็นบาท และเกื้อกูลต่อการปฏิบัติ กระผมก็นึกถึงเรื่องท่านพระ โปฏฐิละ ว่าท่านเป็นพระอาจารย์สอนหมู่คณะถึง ๑๘ คณะ แต่ก็ช่วยตัวเองไม่ได้ ต้องไปหาสามเณรเล็กๆ ซึ่งเป็นพระอรหันต์ เมื่อสามเณรบอกท่านเพียงนิดเดียวเท่านั้น ท่านก็สามารถช่วยตัวเองได้ ก็แปลว่า ตอนแรกที่ท่านศึกษา เชี่ยวชาญในพระไตรปิฎกนั้น แสดงว่าท่านไม่รู้อรรถ หรือไม่ได้รู้ลักษณะของธรรมหรืออย่างไรไม่ทราบ

    ท่านอาจารย์ ก็จุดประสงค์สำคัญที่ว่า ถ้าผู้ใดรู้ว่า ศึกษาธรรมเพื่อความเข้าใจลักษณะของธรรมที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ แล้วจะได้เข้าถึงอรรถที่ว่า สภาพธรรมไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ที่ใช้คำว่า ธรรม ก็แสดงอยู่แล้วว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นธรรม เพราะฉะนั้น เพียงศัพท์หรือเพียงคำที่ได้ยินคำเดียวว่า ธรรม ก็จะต้องเข้าถึงความหมายของธรรม คือ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

    เพราะฉะนั้น เมื่อฟังแล้วก็มีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ผู้ที่เป็นพหูสูต คือ ผู้ที่ศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏพร้อมสติ ด้วยสติ จนกระทั่งรู้ชัด และประจักษ์แจ้ง ไม่ใช่เป็นผู้ที่จำมาก แต่หมายความว่า เป็นผู้ที่เข้าใจในอรรถ แล้วศึกษาธรรมที่ปรากฏตามที่เข้าใจ นั่นก็จะได้ประโยชน์จริงๆ เพราะเหตุว่าถ้าศึกษาตำรามากมาย แต่ว่าไม่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏว่าตรงกับที่ได้ศึกษา ก็ไม่มีประโยชน์ เป็นแต่เพียงความจำเท่านั้นเอง

    ผู้ฟัง ทีนี้พูดถึงจิตที่เป็นมหากุศล ขณะที่จิตเป็นกุศลเกิดขึ้น เรารู้ว่าจิตเป็นกุศล และจิตที่เป็นกุศลจะต้องประกอบด้วยสหชาตธรรม จะต้องมีโสภณสาธารณกุศลเจตสิกประกอบอย่างน้อยจะต้อง ๑๙ ดวง ในขณะที่สติระลึกรู้สภาพของจิตที่เป็นกุศลที่เกิดขึ้นนั้น ก็รู้สึกว่าเป็นขณะที่สั้นเหลือเกิน เกินที่สติปัญญาสามารถที่จะไปจำแนกแจกแจงว่า มีธรรมอะไรเกิดขึ้นในขณะนั้น

    ท่านอาจารย์ ถ้าจะคิดจำแนกแจกแจง ก็ไม่รู้ในสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนอีก เพราะฉะนั้น เรื่องของการฟังและการจำแนกแจกแจง เป็นเรื่องปริยัติ ในขณะที่กำลังฟังและพยายามเข้าใจ แต่ว่าขณะใดที่สติเกิด ระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรม ขณะนั้นต้องศึกษาสภาพที่เป็นปรมัตถธรรม ที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่คิดเรื่องของสภาพธรรม

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้น ในขณะนั้นไม่ต้องไปคิดว่า ในขณะนั้นคือศรัทธา อันนี้ คือ หิริ โอตตัปปะ ไม่จำเป็นต้องไปคิด

    ท่านอาจารย์ แน่นอน ลักษณะของหิริ มีจริง ลักษณะของโอตตัปปะ มีจริง ลักษณะของศรัทธา มีจริง ลักษณะของสติ มีจริง ลักษณะของอโลภะ มีจริง ถ้าสภาพธรรมต่างๆ เหล่านี้ไม่ปรากฏ สติระลึกไม่ได้ ไม่ใช่ให้ไปนึกจนกระทั่งให้ปรากฏ ไม่ใช่อย่างนั้น

    ผู้ฟัง คงจะเหมือนอย่างที่อาจารย์เปรียบเทียบว่า เหมือนกับแกง คือ แกงนี้เมื่อผสมเครื่องแกงหลายๆ ชนิดแล้วเป็นแกงขึ้นมา เราไม่จำเป็นจะไปแยกแยะว่า แกงนี้มีรสมาจากเครื่องแกงอะไรบ้าง

    ท่านอาจารย์ ที่จะต้องรู้ชัด ก็คือลักษณะที่เป็นนามธรรมต่างกับลักษณะที่เป็นรูปธรรม เพราะเหตุว่าเพียงได้ยินได้ฟังว่า นามธรรมต่างกับรูปธรรมเท่านั้น ยังไม่ใช่การประจักษ์ลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมและรูปธรรม

    เพราะฉะนั้น ขั้นต้นจริงๆ ก็คือว่านามธรรมมีหลายประเภท หลายชนิดในวันหนึ่งๆ จริงไหม นี่ ควรที่จะได้พิจารณาว่า โดยขั้นของการฟัง วันหนึ่งมีนามธรรมหลายชนิด เห็นเป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ได้ยินเป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง สุขเป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ทุกข์เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง จำได้เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ดีใจเป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง เสียใจเป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง จริงไหม

    นี่คือลักษณะของนามธรรมต่างๆ แต่ว่าทุกอย่างเป็นเราทั้งหมด เพราะเหตุว่าไม่ได้รู้จริงๆ ว่า แต่ละอย่างนั้นเป็นนามธรรมแต่ละชนิด แต่ละลักษณะ เพราะฉะนั้น เมื่อสภาพธรรมมีต่างๆ กัน ตามเหตุปัจจัยที่เกิดขึ้น สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมชนิดใด ลักษณะของสภาพธรรมชนิดนั้นก็เป็นนามธรรมชนิดนั้น ที่ปัญญาจะต้องพิจารณาจนรู้ว่า ไม่ใช่เรา แต่ไม่ใช่ให้นึกเรื่อง หรือให้นึกถึงชื่อของสภาพธรรมนั้นในขณะนั้น แต่ถ้าเกิดคิดนึกขึ้น ก็ไม่มีใครที่จะสามารถยับยั้งได้ แต่ก็จะต้องรู้ว่าขณะนั้นเป็นสภาพคิด เห็นกับคิดนี่ ต่างกัน

    ผู้ฟัง การตอบปัญหาของท่านอาจารย์ในวันนี้มีประโยชน์มาก เนื่องจากว่า มีผู้สงสัยว่า จะต้องศึกษาพระอภิธรรมกันแค่ไหน เพียงใด แล้วจึงจะเจริญสติปัฏฐาน เพราะฉะนั้น สติระลึกรู้รูปธรรม นามธรรม และถ้าละได้ว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ได้แล้ว นั่นคือสิ่งที่ถูกต้อง โดยสรุปกันอย่างนี้

    อยากจะให้กำลังใจกับผู้ที่ท่องได้แล้ว ไม่ต้องไปท้อแท้ ได้กำไรแล้ว เมื่อท่องได้แล้ว แล้วค่อยๆ ศึกษาลักษณะสภาพ อรรถ ต่อไป ได้กำไรกว่าผมแล้ว ผมยังท่องไม่ได้เลย

    ท่านอาจารย์ แต่ว่าเรื่องของธรรม ขอเรียนให้ทราบว่า เป็นเรื่องละทั้งหมด ถ้าใครยิ่งละได้มาก ก็หมายความว่าเข้าใจในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เท่านั้น เพราะฉะนั้น ถ้ายังมีความพอใจในสิ่งหนึ่งสิ่งใดอยู่ แม้แต่ความสามารถในการศึกษา ความสามารถในการจำ ความสามารถในการเข้าใจ นั่นก็เป็นอกุศลธรรมที่จะต้องละ เพราะฉะนั้น เรื่องของอกุศลและกุศล ไม่ใช่เรื่องที่จะรู้ง่ายเลย โดยตำรานี้ไม่ยากเลย อกุศลจิตมี ๑๒ ดวง ๑๒ ประเภท มหากุศลจิตรึกามาวจรจิตมี ๘ ดวง แต่ลักษณะจริงๆ ของอกุศลธรรม อกุศลจิตแต่ละประเภท แต่ละขณะในวันหนึ่งๆ มีใครรู้ รู้แต่ชื่อ ทั้งๆ ที่อกุศลจิตนี้มีมาก ตั้งแต่ตื่นจนถึงเดี๋ยวนี้ และกุศลก็มี แต่แม้กระนั้นก็รู้เพียงชื่อ ไม่ใช่รู้ลักษณะจริงๆ ของกุศลจิตและอกุศลจิตเลย เพราะเหตุว่าสภาพธรรมมีปัจจัยเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็วมาก ที่จะรู้ลักษณะของกุศลจิตได้ ในขณะที่เป็นไปในทานบ้าง ในศีลบ้าง ในความสงบของจิตบ้าง และในการเจริญสติปัฏฐานบ้าง

    ชั่วครู่ที่ผ่านไป จิตอะไร ถ้าจะย้อนถาม จะมีคำตอบแต่เพียงว่า รู้แต่เพียงว่ามีจิตเท่านั้นเอง แม้แต่ว่ารู้ว่ามีจิต ก็ไม่ใช่ว่าในขณะนั้นมีจิตนั้นกำลังเป็นไปด้วย

    นี่แสดงให้เห็นว่า จะต้องเป็นผู้ที่ละเอียดจริงๆ ในการที่จะรู้แจ้งลักษณะของสภาพธรรมจนกระทั่งละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้

    ในขณะที่มีการบริจาคทานวัตถุ พอที่จะเห็นลักษณะของอโลภะได้ไหม แต่ต้องเป็นในขณะที่จิตผ่องใส สละวัตถุนั้นให้เป็นประโยชน์แก่บุคคลอื่น ต่างกับขณะที่หวังสิ่งตอบแทน เพราะฉะนั้น ลองพิจารณาดู การให้ เป็นกุศล แต่ต้องละเอียดที่จะรู้ว่า ต่างกับขณะที่หวังสิ่งตอบแทน แม้หวังว่าจะได้รับเพียงความสนิทสนมคุ้นเคย นั่นก็เป็นอกุศลแล้ว หรือว่าหวังที่จะให้บุคลที่ได้รับ เคารพนอบน้อม หรือว่าหวังที่จะให้ผู้รับ กตัญญูกตเวที ขณะนั้นก็เป็นอกุศลแล้ว

    เพราะฉะนั้น ที่เป็นกุศลจริงๆ ถ้าสติจะระลึกลักษณะสภาพของจิตที่ผ่องใส ไม่ติดข้อง แล้วก็สละ โดยไม่หวังสิ่งตอบแทนใดๆ เลย ในขณะนั้นถึงจะเห็นลักษณะของอโลภเจตสิก แต่ทันที่หวังแม้เพียงความสนิทสนมคุ้นเคย ขณะนั้นก็เป็นอกุศลจิตแล้ว เป็นโลภมูลจิตแล้ว

    แล้ววันหนึ่งๆ ลักษณะของอกุศลจิตและกุศลจิตจะอยู่แต่เพียงในตำรา ถ้าสติ ปัฏฐานไม่เกิด ไม่ระลึก ไม่รู้ความต่างกัน ซึ่งเป็นไปอย่างรวดเร็วมาก เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ ก็ย่อมจะรู้จักตนเองตามความเป็นจริงว่า กุศลจริงๆ เกิดในขณะไหน และหลังจากนั้นแล้ว จะมีอกุศลจิตเกิดโดยแทรกคั่นมากน้อยแค่ไหน

    ในขณะที่วิรัติทุจริต ก็พอที่จะเห็นลักษณะของอโทสเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพที่เมตตา ไม่ต้องการที่จะทำให้คนอื่นเดือดร้อน ด้วยการกระทำของท่าน ไม่ว่าจะเป็นทางกาย หรือทางวาจา ในขณะนั้นก็พอที่จะระลึกได้ขณะที่วิรัติทุจริต แต่ก็ต้องเป็นผู้ที่ละเอียดอีก เพราะเหตุว่าทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เกิดสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้น เพียงชั่วขณะที่ตาเห็นสิ่งที่ไม่พอใจ ขณะนั้นความขุ่นใจแม้เพียงเล็กน้อยก็เกิดแล้ว นี่ก็เป็นเรื่องที่จะต้องรู้ว่า อกุศลช่างเกิดง่ายและมีปัจจัยที่จะเกิดอย่างรวดเร็ว ต้องเป็นผู้ที่เจริญสติปัฏฐานจริงๆ จึงจะค่อยๆ ละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เพราะรู้ในลักษณะที่เป็นนามธรรมหรือรูปธรรม แต่ไม่ใช่เป็นผู้ที่จะไปพยายามบังคับกิเลส เพราะเหตุว่ากิเลสและธรรมทั้งหลายไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร

    นี่เป็นสิ่งที่ควรแก่การฟัง ควรแก่การพิจารณา ควรแก่การศึกษา คือ เรื่องของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ถ้าไม่พูดถึงเรื่องสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ก็จะไม่มีปัจจัยที่จะเกื้อกูลให้สติระลึกลักษณะของธรรมที่ได้ยินได้ฟังบ่อยๆ คือ นามธรรมกับรูปธรรม แต่กำลังเห็นก็ไม่ละเลยที่จะรู้ว่า นามธรรมในขณะนี้กำลังเห็น เข้าถึงลักษณะรู้ ธาตุรู้ที่กำลังเห็นในขณะที่เห็น

    นี่คือประโยชน์ของการศึกษาพระธรรม เพราะเหตุว่าผู้ที่ศึกษาพระธรรมควรที่จะรู้ประโยชน์ของพระธรรมว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรมเพื่อประโยชน์อะไร อันนี้สำคัญที่สุด เพื่อให้จำ หรือว่าเพื่อให้เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    ถ้าเข้าใจว่าเพื่อให้จำ ก็จะมีการอ่านหรือการฟัง แล้วก็ท่องจำ แต่ว่าไม่ได้พิจารณาให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ว่า เป็นจริงตามที่ทรงแสดงไว้หรือไม่ อย่างทรงแสดงว่า ขณะเห็นเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ ถ้าท่องว่า ทุกขอริยสัจจะ ได้แก่ จิตกี่ดวง ได้แก่ เจตสิกกี่ดวง ได้แก่ รูป เพื่อที่จะจำ อันนั้นไม่เข้าใจพุทธประสงค์ที่ทรงแสดงเรื่องของจิตกี่ดวงที่เป็นทุกขสัจจ์ว่า ไม่ว่าจะเป็นจิตใดก็ตาม ที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ที่ทรงแสดงว่า จำนวนเท่านั้น ก็เพื่อว่าในขณะนี้เองก็เป็นหนึ่งในจำนวนเท่านั้น จิตเห็นในขณะนี้ก็รวมอยู่ในทุกขสัจจ์ จิตได้ยินในขณะนี้ก็รวมอยู่ จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส โลภะ โทสะ หรือกุศลต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ก็รวมอยู่ในจิตที่เป็นทุกขอริยสัจจ์ เพราะฉะนั้น แทนที่จะไปคิดท่องจำจำนวน แต่รู้พระพุทธประสงค์ว่า ทรงแสดงเพื่อที่จะให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏที่ไม่ใช่ตัวตน ที่ทรงแสดงว่า ทุกขสัจจ์ ได้แก่ จิตอะไรบ้าง

    ข้อความในอังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต โยธาชีววรรคที่ ๔ อุมมังคสูตร ข้อ ๑๘๖ ที่มีข้อความว่า

    เพราะเป็นผู้รู้ทั่วถึงอรรถ รู้ทั่วถึงธรรมแห่งคาถา ๔ บาทแล้ว เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมไซร้ ก็ควรเรียกว่าเป็นพหูสูต เป็นผู้ทรงธรรม ฯ

    ไม่ใช่การจำได้มากๆ โดยไม่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะว่าไม่ว่าจะฟังเรื่องอะไร จะสั้นสักเพียงไรก็ตาม แต่ว่าขอให้เข้าใจในอรรถนั้นจริงๆ ให้เป็นผู้ที่รู้ทั่วถึงอรรถ รู้ทั่วถึงธรรมแห่งคาถานั้นแล้ว ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม คือ สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ได้ยินได้ฟังทั้งหมดในพระไตรปิฎก ไม่ว่าจะทรงแสดงเรื่องของโลภะ สติระลึกลักษณะของโลภะ ทรงแสดงเรื่องของโทสะ สติระลึกลักษณะของโทสะ ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม จึงเป็นพหูสูต

    แต่ถ้าโลภมูลจิตมีกี่ดวง ประกอบด้วยเจตสิกเท่าไร แล้วก็ไม่ระลึกลักษณะของโลภมูลจิต ขณะนั้นก็ไม่สามารถที่จะเข้าใจในสภาพที่เป็นเพียงจิต แต่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนได้ ถ้าโดยนัยนั้น จะรู้มากเท่าไรก็ไม่ใช่พหูสูต เพราะเหตุว่าไม่รู้เลยว่า พระธรรมที่ทรงแสดงเป็นความจริงอย่างนั้นๆ สามารถที่จะพิสูจน์ได้ในขณะที่โลมูลจิตเกิด ระลึกรู้ตามความเป็นจริง ตามที่ทรงแสดง สามารถที่จะรู้ทั่วถึงในความหมาย ในอรรถของสภาพธรรมนั้น ก็เป็นพหูสูต

    เพราะฉะนั้น เรื่องของธรรมก็เป็นเรื่องที่ละเอียด ที่จะต้องรู้ว่า เป็นการรู้ทั่วถึงในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นปรมัตถธรรม และบัญญัติธรรมนั่นเอง สามารถที่จะแยกรู้ได้ว่า สุข ทุกข์ ในวันหนึ่งๆ นี้ เกิดจากปรมัตถธรรม หรือว่าเกิดจากบัญญัติธรรม ถ้าเป็นบัญญัติธรรมก็หลงสุข หลงทุกข์ ในสิ่งซึ่งไม่มีอะไรเป็นของจริง นอกจากเป็นการคิดนึกเท่านั้นเอง เหมือน สัญญา คือ กำมือเปล่า ซึ่งทำให้เกิดความหวังว่ามีสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่เมื่อปรากฏตามความเป็นจริง ก็ไม่มีสิ่งใดทั้งสิ้น

    เพราะฉะนั้น ถ้าไม่รู้ปรมัตถธรรม ก็ยังคงอยู่ในโลกของบัญญัติ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 23
    18 ม.ค. 2565

    ซีดีแนะนำ