โสภณธรรม ครั้งที่ 023


    ตอนที่ ๒๓


    เพราะเหตุว่าเมื่อเห็นอกุศลตามความเป็นจริง ย่อมเกิดความละอาย ความรังเกียจ และก็อบรมเจริญปัญญา ที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่จะละคลายอกุศล จนสามารถที่จะดับได้เป็นสมุจเฉท

    เห็นกำลังของอหิริกะ อโนตตัปปะไหม วันหนึ่งๆ มีมากแค่ไหน และทุกวันเป็นอย่างนี้ในสังสารวัฏฏ์ เพราะฉะนั้น การที่อหิริกะ และอโนตตัปปะ จะลดกำลังลงไปได้ ก็ต่อเมื่อหิริ และโอตตัปปะมีกำลังขึ้น

    ข้อความในอังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต พลสูตรที่ ๒ ข้อ ๔ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย พละ ๗ ประการนี้ ๗ ประการเป็นไฉน คือ ศรัทธาพละ วิริยพละ หิริพละ โอตตัปปพละ สติพละ สมาธิพละ ปัญญาพละ

    เป็นสภาพธรรมที่มีกำลัง แต่ว่าขณะนี้มีหรือยัง พระธรรมที่ทรงแสดงไว้ ทรงแสดงลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง เพื่อให้น้อมมาพิจารณาตนเองว่า ธรรมที่เป็นพละที่มีกำลัง มี ๗ คือ ศรัทธาพละ วิริยพละ หิริพละ โอตตัปปพละ สติพละ สมาธิพละ ปัญญาพละ

    แต่ว่าสำหรับแต่ละบุคคล ศรัทธามีกำลังหรือยัง วิริยะ หิริ โอตตัปปะ สติ สมาธิ มีกำลังหรือยัง นี่คือการรู้จักตนเองตามความเป็นจริง เพื่อที่จะได้อบรมธรรมเหล่านี้ให้เพิ่มขึ้น จนกระทั่งมั่นคงมีกำลังขึ้น พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ศรัทธาพละเป็นไฉน

    ทุกคนมีศรัทธา แต่ว่าศรัทธาของท่าน เป็นศรัทธาพละหรือยัง

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศรัทธา คือ เชื่อพระปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ตรัสรู้เองโดยชอบ ข้อความละต่อไปจนถึง เป็นผู้เบิกบาน เป็นผู้จำแนกธรรม นี้เรียกว่า ศรัทธาพละ

    บางท่านอาจจะบอกว่า ท่านมีศรัทธา เชื่อมั่นคงในพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านกราบนมัสการทั้งเช้าทั้งเย็น บางท่านก็อาจจะทำวัตรเช้าทำวัตรเย็น แต่ว่าศรัทธาที่จะมั่นคงขึ้นก็ต่อเมื่อได้เข้าใจในพระธรรมยิ่งขึ้น ถ้ายังไม่เข้าใจพระธรรม ก็จะไม่เห็นประโยชน์ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมถึง ๔๕ พรรษา

    สำหรับท่านผู้ฟังที่ศึกษาพระธรรม ท่านจะเห็นได้ว่า ท่านเพิ่มศรัทธาในพระผู้มีพระภาคยิ่งขึ้น เมื่อได้เข้าใจพระธรรมเพิ่มขึ้น แต่ว่าศรัทธานี้ก็จะเพิ่มขึ้นอีก ในเมื่อน้อมประพฤติปฏิบัติตาม จนถึงการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม

    ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย วิริยพละเป็นไฉน

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้เป็นผู้ปรารภความเพียรเพื่อละอกุศลธรรม เพื่อความถึงพร้อมแห่งกุศลธรรม เป็นผู้มีกำลัง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดทิ้งธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย นี้เรียกว่า วิริยพละ

    ที่จะเป็นวิริยพละได้ ก็ต่อเมื่อเป็นสัมมัปปธาน ๔ ซึ่งเป็นในขณะที่สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งเป็นสติปัฏฐาน จึงจะเป็นวิริยพละ ไม่ใช่ให้เพียรทำอย่างอื่น แต่ว่าวิริยพละต้องเป็นไปในการเจริญมรรคมีองค์ ๘

    ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็หิริพละเป็นไฉน

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีความละอาย คือ ละอายต่อกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ละอายต่อการถูกต้องอกุศลธรรมอันลามกทั้งหลาย นี้เรียกว่า หิริพละ

    เป็นธรรมที่มีกำลังเพิ่มขึ้นได้ ถ้ารู้ลักษณะของหิริ ถ้าเกิดการรู้ว่าขณะนี้เป็นอกุศล และก็มีอหิริกะ ไม่ละอายขณะนั้น ก็จะเป็นปัจจัยที่จะทำให้หิริเกิดขึ้นละอายที่ขณะนั้นเป็นอกุศลธรรม เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่สังเกตละเอียด จะทำให้เห็นว่าหิริในวันหนึ่งๆ เพิ่มขึ้นไหม

    ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็โอตตัปปพละเป็นไฉน

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีความสะดุ้งกลัว คือ สะดุ้งกลัวต่อกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต สะดุ้งกลัวต่อการถูกต้องอกุศลธรรมอันลามกทั้งหลาย นี้เรียกว่า โอตตัปปพละ

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สติพละเป็นไฉน

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีสติ คือ ประกอบด้วยสติเครื่องรักษาตนอย่างยิ่ง ย่อมระลึกนึกถึงแม้สิ่งที่ทำคำที่พูดไว้นานๆ ได้ นี้เรียกว่า สติพละ

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สมาธิพละเป็นไฉน

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม ข้อความละต่อไป เป็นนิวรณธรรมประการต่อๆ ไป บรรลุจตุตถฌาน นี้เรียกว่า สมาธิพละ

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ปัญญาพละเป็นไฉน

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีปัญญา คือ ประกอบด้วยปัญญาที่กำหนดความเกิด และความดับ เป็นอริยะ ชำแรกกิเลส ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ นี้เรียกว่าปัญญาพละ

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย พละ ๗ ประการนี้แล ศรัทธาพละ วิริยพละ หิริพละ โอตตัปปพละ สติพละ สมาธิพละ ปัญญาพละเป็นที่ ๗ ภิกษุผู้มีพละด้วยพละ ๗ ประการนี้ เป็นบัณฑิตย่อมอยู่เป็นสุข พึงเลือกเฟ้นธรรมโดยแยบคาย ย่อมเห็นอรรถแห่งธรรมชัดด้วยปัญญา ความหลุดพ้นแห่งจิต คือ ความดับของภิกษุนั้นย่อมมีได้ เหมือนความดับแห่งประทีป ฉะนั้น

    จบสูตรที่ ๔

    ผู้ฟัง สติพละ นี่หมายความว่าอย่างไร ที่ว่าระลึกถึงสิ่งที่ทำ คำที่พูดได้

    ท่านอาจารย์ แม้สิ่งที่ทำ คำที่พูดได้ ไม่ใช่หมายความถึงเฉพาะการระลึกถึงสิ่งที่ทำ คำที่พูด แต่ระลึกได้แม้สิ่งที่ทำ คำที่พูดด้วย

    ผู้ฟัง หมายความว่ามีสติระลึกด้วย แล้วก็ยังสามารถจำ ไม่หลงลืมเรื่องราวในอดีต หรือเรื่องราวที่เคยพูดอะไรต่างๆ

    ท่านอาจารย์ เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ อย่างที่ได้กล่าวถึงอาการ ๑๗ ของสติ ซึ่งเป็นไปในกุศลธรรม เพราะว่าบางคนก็หลงลืมแม้ที่จะกระทำกุศล แต่ถ้าเป็นพละจริงๆ ก็เป็นการเจริญสติปัฏฐาน และก็สติ ๑๗ ประการนั้นก็มีกำลังเพิ่มขึ้นด้วย

    การสะสมกุศล และอกุศลในชีวิตประจำวันของแต่ละคน ทำให้แต่ละบุคคลมีอัธยาศัย มีอุปนิสัยต่างๆ กัน เพราะฉะนั้น ถ้าจะพิจารณาอุปนิสัย และอัธยาศัยของแต่ละบุคคลที่ต่างกัน ก็ย่อมทำให้เห็นการสะสมของหิริโอตตัปปะได้ เช่นเดียวกัน

    ข้อความในอังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต ข้อ ๑๕๒ แสดงถึงลักษณะของบุคคลที่มีหิริโอตตัปปะต่างกัน พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๖ ประการ เป็นผู้สามารถในอันปฏิบัติเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ทั้งตน และผู้อื่น ธรรม ๖ ประการเป็นไฉน

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีความเข้าใจได้เร็วในกุศลธรรมทั้งหลาย ๑ เป็นผู้ทรงจำธรรมที่ได้ฟังแล้ว ๑ พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำแล้ว ๑ รู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ๑ เป็นผู้มีวาจางาม กล่าวถ้อยคำไพเราะ ประกอบด้วยวาจาของชาวเมืองอันสละสลวย ไม่มีโทษ ให้รู้ประโยชน์ ๑ เป็นผู้ชี้แจงชักชวนสพรหมจารีให้อาจหาญร่าเริง ๑

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๖ ประการนี้แลเป็นผู้สามารถในอันปฏิบัติเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ทั้งตนเอง และผู้อื่น ฯ

    นี่ก็จะเห็นการสะสมของหิริโอตตัปปะ ทำให้เป็นผู้ที่มีความตั้งใจในการศึกษาพระธรรม แล้วก็เป็นผู้ที่มีความสามารถเข้าใจเร็ว เป็นผู้ทรงจำธรรมที่ได้ฟังแล้ว และก็พิจารณาธรรมที่ได้ทรงจำแล้ว เมื่อพิจารณาแล้ว ก็รู้อรรถ รู้ธรรม แล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม และเป็นผู้ที่มีวาจางาม กล่าวถ้อยคำไพเราะ นี่ก็แสดงให้เห็นถึงการอบรมเจริญหิริโอตตัปปะด้วย

    สำหรับบางท่าน ข้อความในอลํสูตรที่ ๒ ข้อ ๑๕๓ แสดงถึงบุคคลที่ถึงแม้ไม่มีความเข้าใจเร็วในกุศลทั้งหลาย แต่ก็เป็นผู้ที่ทรงจำธรรมที่ได้ฟังแล้ว พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำแล้ว จึงรู้อรรถ รู้ธรรม แล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม เป็นผู้ที่มีวาจางาม กล่าวถ้อยคำไพเราะ ประกอบด้วยวาจาของชาวเมืองอันสละสลวย ไม่มีโทษ เป็นผู้ชี้แจงชักชวนสพรหมจารีให้อาจหาญร่าเริง เพราะฉะนั้น ก็เป็นผู้ที่สามารถในอันปฏิบัติ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ทั้งตนเอง และผู้อื่น นี่ก็เป็นความต่างกันของ ๒ บุคคล

    สำหรับบุคคลอื่น ข้อความในอลํสูตรที่ ๓ ข้อ ๑๕๔

    เป็นผู้ที่สามารถที่จะเข้าใจได้เร็วในอกุศลธรรมทั้งหลาย เป็นผู้ทรงจำธรรมที่ฟังแล้ว พิจารณาเนื้อความที่ทรงจำแล้ว รู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม แต่หาเป็นผู้มีวาจางาม กล่าวถ้อยคำไพเราะประกอบด้วยวาจาของชาวเมืองอันสละสลวย ไม่มีโทษ เพราะฉะนั้น ก็สามารถที่จะประพฤติปฏิบัติเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ตน แต่ไม่เป็นผู้สามารถในอันปฏิบัติเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้อื่น

    อันนี้จะเห็นหิริโอตตัปปะได้ไหม ทุกอย่าง ข้อความทั้งหมดในพระไตรปิฎก ไม่ว่าจะพิจารณาในเรื่องของธรรมประเภทใด ก็ย่อมสามารถที่จะเข้าใจได้ว่า บุคคลที่สามารถจะเข้าใจเร็วในธรรม และก็ทรงจำไว้ได้ และก็พิจารณาเนื้อความได้ รู้อรรถ รู้ธรรม แต่ไม่มีหิริโอตตัปปะที่จะมีวาจางาม กล่าวถ้อยคำไพเราะ เพราะฉะนั้น ก็เป็นประโยชน์สำหรับตนเอง แต่ว่าไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่บุคคลอื่น

    อีกบุคคลหนึ่ง ข้อความในอลํสูตรที่ ๔ กล่าวถึง

    ผู้ที่มีความเข้าใจได้เร็วในกุศลธรรมทั้งหลาย เป็นผู้ทรงจำธรรมที่ได้ฟังแล้ว แต่ไม่พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ได้ฟังแล้ว และหารู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมไม่ เป็นผู้มีวาจางาม กล่าวถ้อยคำไพเราะ ประกอบด้วยวาจาของชาวเมืองอันสละสลวย ไม่มีโทษ ให้รู้ประโยชน์ เป็นผู้ชี้แจงชักชวนสพรหมจารีให้อาจหาญร่าเริง เพราะฉะนั้นผู้นี้เป็นผู้ที่สามารถในอันปฏิบัติเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้อื่น แต่ว่าไม่เป็นผู้สามารถในอันปฏิบัติเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ตน

    สามารถที่จะชี้แจ้งให้ผู้อื่นรู้ประโยชน์ได้ แต่ว่าไม่สามารถที่จะปฏิบัติเพื่อประโยชน์เกื้อกูลตนเองได้ มีไหม แสดงให้เห็นหิริโอตตัปปะแต่ละอย่างใช่ไหม ทั้งๆ ที่สามารถเข้าใจได้เร็ว และก็ทรงจำธรรมด้วย แต่ไม่มีหิริโอตตัปปะที่จะพิจารณาให้เข้าใจในอรรถโดยละเอียด แต่เมื่อเป็นผู้ที่มีหิริโอตตัปปะในการที่จะกล่าววาจาที่ไพเราะ เพราะฉะนั้น ก็สามารถที่จะเป็นประโยชน์ต่อบุคคลอื่น แสดงธรรมที่ไพเราะ ที่ดี เป็นประโยชน์แก่คนอื่น แต่ไม่เป็นประโยชน์กับตนเอง เพราะว่าตนเองไม่ได้พิจารณาธรรมที่ได้ฟังโดยละเอียด และไม่ประพฤติปฏิบัติตามด้วย

    อีกบุคคลหนึ่ง ข้อความในอลํสูตรที่ ๕ ข้อ ๑๕๖

    บุคคลผู้นี้ไม่เป็นผู้มีความเข้าใจได้เร็วในกุศลธรรมทั้งหลาย แต่เป็นผู้ทรงจำธรรมที่ได้ฟังแล้ว

    ตัวใครตัวเขาหรือเปล่า แต่ละบุคคลในที่นี้ พิจารณาตนเองได้ว่า ไม่เป็นผู้มีความเข้าใจได้เร็วในกุศลธรรมทั้งหลาย แต่เป็นผู้ทรงจำธรรมที่ได้ฟังแล้ว ฟังแล้วก็ยังไม่เข้าใจ แต่จำได้ว่าได้ฟังอย่างนี้ ได้ยินอย่างนี้

    แต่ว่าเป็นผู้ที่พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำแล้ว จึงรู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม แต่เป็นผู้ที่ไม่มีวาจางาม เพราะฉะนั้น ก็ เป็นผู้ที่สามารถในอันปฏิบัติเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ตน แต่ไม่เป็นผู้สามารถอันปฏิบัติเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้อื่น

    ถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับวาจาแล้ว ถ้าเป็นวาจาที่ดี ย่อมมีความสามารถที่จะเกื้อกูลบุคคลอื่น แต่ถ้าไม่มีวาจาที่ดี ก็ไม่อาจจะเกื้อกูลบุคคลอื่น แต่ว่าสามารถที่จะเกื้อกูลตนเอง

    นี่เป็นข้อความที่แสดงไว้โดยละเอียด ซึ่งถ้าท่านผู้ฟังจะพิจารณา จะเห็นได้ว่า มีบุคคลแต่ละประเภทๆ อย่างนี้ ซึ่งเป็นผู้ที่สนใจพระธรรม แต่ว่าประโยชน์ที่จะได้รับจากพระธรรม ก็ย่อมต่างๆ กันไป ตามอัธยาศัย

    สำหรับข้อ ๑๕๗ อลํสูตรที่ ๖

    บางท่านเป็นผู้ที่ไม่เป็นผู้มีความเข้าใจได้เร็วในกุศลธรรมทั้งหลาย แต่เป็นผู้ทรงจำธรรมที่ได้ฟังแล้ว และไม่พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ได้ทรงจำแล้ว จึงไม่รู้อรรถรู้ธรรม และไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม แต่เมื่อเป็นผู้ที่มีวาจางาม ก็เป็นผู้ที่สามารถในอันปฏิบัติเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้อื่น แต่ไม่เป็นผู้สามารถปฏิบัติเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ตน

    ข้อความในอลํสูตรที่ ๗ ข้อ ๑๕๘ ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดงไว้โดยละเอียด ท่านผู้ฟังจะคิดหรือจะพิจารณาในความต่างกันแม้เล็กๆ น้อยๆ ของแต่ละบุคคลไหมว่า มีความต่างกันในแต่ละข้อ เช่นสำหรับท่านผู้นี้

    ไม่เป็นผู้มีความเข้าใจได้เร็วในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่เป็นผู้ทรงจำธรรมที่ได้ฟังแล้ว

    เข้าใจก็ช้า และก็จำก็ไม่เก่ง

    แต่พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ได้ทรงจำแล้ว

    ส่วนใดที่จำได้ก็พิจารณา เพราะว่าวันหนึ่งๆ ได้ฟังธรรมมากเหลือเกิน ใช่ไหม บางท่านอาจจะฟังหลายๆ ชั่วโมงทีเดียว แต่ว่าจำไม่ได้ว่า ที่ได้ฟังมาทั้งหมดนั้น เรื่องอะไรบ้าง แต่ธรรมใดที่จำได้ ก็พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ได้ทรงจำแล้ว ทำให้

    เข้าใจอรรถ รู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม แต่ว่าเมื่อไม่เป็นผู้ที่มีวาจางาม ก็เป็นผู้สามารถในอันปฏิบัติเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ตน แต่ไม่สามารถในอันปฏิบัติเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้อื่น ฯ

    อีกท่านหนึ่ง ในอลํสูตรที่ ๘ ข้อ ๑๕๙

    ท่านผู้นี้เป็นผู้ที่ไม่เข้าใจได้เร็วในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่ทรงจำธรรมที่ได้ฟังแล้ว ไม่พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ได้ทรงจำแล้ว จึงไม่เข้าใจอรรถ และธรรม เพราะฉะนั้น ก็ไม่ได้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม แต่ว่าเป็นผู้ที่มีวาจางาม เพราะฉะนั้น ก็เป็นผู้ที่สามารถในอันปฏิบัติเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้อื่น แต่ไม่เป็นผู้สามารถในอันปฏิบัติเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ตน

    ผู้ฟัง ปฏิบัติอย่างไร จึงจะชื่อว่า ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม

    ท่านอาจารย์ เจริญสติปัฏฐาน เจริญกุศลทุกประการ ไม่กระทำอกุศล เพราะถ้าทำอกุศล ก็ไม่ใช่การปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม

    ผู้ฟัง ถ้ายังไม่เข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน เป็นแต่เพียงเข้าใจขั้นทาน ขั้นศีล ธรรมดาแล้วก็ปฏิบัติในเรื่องทานเรื่องศีล จะถือว่าเป็นการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมหรือไม่

    ท่านอาจารย์ เป็นการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ขั้นทาน ขั้นศีล

    ผู้ฟัง ถ้าเข้าใจธรรมขั้นไหน แล้วก็ปฏิบัติธรรมขั้นนั้นให้สมบูรณ์ เรียกว่า ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม

    ท่านอาจารย์ ใช่

    ผู้ฟัง แล้วก็การที่จะปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมได้นี่ ก็จะต้องมีความสัมพันธ์กับข้อแรกๆ ที่ก่อนที่จะถึงข้อนี้ เช่นอย่าง ต้องฟังให้เข้าใจ แล้วก็ต้องจำให้ได้ แล้วก็ต้องพิจารณาเนื้อความ และก็จะต้องรู้อรรถ รู้ธรรม หมายความว่าต้องเข้าใจเนื้อหาสาระของข้อความที่ฟังนั้น แล้วถึงจะปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมได้ ถ้าหากฟังไม่เข้าใจแล้ว ก็การปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมก็คงจะเกิดไม่ได้

    ท่านอาจารย์ แน่นอน เพราะฉะนั้น บางท่านที่ไม่ได้ฟังพระธรรมเลย ไม่มีความเข้าใจในสิ่งที่กำลังปรากฏ ซึ่งเป็นสติปัฏฐานเลย แต่อยากจะปฏิบัติ ซึ่งการปฏิบัติโดยที่ไม่เข้าใจอะไรเลย ไม่ทำให้รู้จักสภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่ทำให้เข้าใจตัวเองตามความเป็นจริง ก็ย่อมไม่เป็นประโยชน์

    ผู้ฟัง อาจารย์ยกตัวอย่างขึ้นมา ๗ จำพวกด้วยกัน ใช่ไหม ๗ จำพวกเท่าที่ผมจำได้ มี ๗ จำพวก ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม เข้าใจได้ เข้าใจไม่ได้ จำได้ จำไม่ได้ จำได้บางอย่างพิจารณา บางคนก็ไม่พิจารณา ผมก็มาพิจารณาตัวเองว่า เราพิจารณาธรรม ได้อรรถ ได้กุศลธรรม ไปแค่ไหนแล้ว ที่นี้ก็มาพิจารณาแล้ว ก็คิดว่าคงจะจำได้บ้าง จำไม่ได้บ้าง เข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง แล้วอย่างนี้จะปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ขณะใดที่ปฏิบัติถูก ขณะใดที่เป็นกุศล ขณะนั้นเป็นการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม

    ผู้ฟัง ปฏิบัติธรรมได้สมควรแก่ธรรม แต่ยังไม่แล้ว ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ต้องเป็นพระอรหันต์ พอถึงคำว่าปฏิบัติธรรม ก็สงสัยอีกเหมือนกันว่า ปฏิบัติอย่างไร ปฏิบัติธรรมก็เป็นการอบรมเจริญกุศลทุกประการ และก็กุศลทุกประการที่จะเจริญขึ้น ก็จะพ้นจากการอบรมเจริญปัญญาไม่ได้ เพราะว่าถ้าไม่มีปัญญา ความเข้าใจในพระธรรม กุศลทั้งหลายก็เจริญไม่ได้ แต่ที่กุศลทั้งหลายจะเจริญได้ ก็เพราะมีความเข้าใจพระธรรมเพิ่มขึ้น และสำหรับหิริโอตตัปปะก็เป็นเหตุที่จะให้เกิดปัญญาด้วย

    ผู้ฟัง ขอต่อไปอีกนิดหนึ่งที่นี้มันมีอีกอันว่าถ้าเราจะไปเกื้อกูลคนอื่นด้วย ต้องกล่าววาจางาม กล่าววาจาไพเราะ กล่าวธรรมนั้นโดยสละสลวย อันนี้อาจารย์ขยายความ

    ท่านอาจารย์ เป็นวาจาที่เป็นประโยชน์

    ผู้ฟัง ถ้ากล่าวแล้วกุศลธรรมเกิดก็กล่าว ถ้ากล่าวแล้ว อกุศลธรรมเกิด ก็ไม่ควรกล่าว

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นวาจาที่ไม่งาม ไม่ไพเราะสละสลวย คนฟังไม่เลื่อมใส

    ผู้ฟัง ก็พูดเสียเพราะเลย แต่ว่าเนื้อหาไม่ได้เรื่องก็มี

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็ต้องเป็นผู้ที่เข้าใจธรรมด้วย แต่ว่าจะเร็วหรือจะช้านั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

    ผู้ฟัง งามในที่นั้น ต้องหมายถึงได้อรรถ อรรถต้องถูกต้องด้วย

    ท่านอาจารย์ แน่นอน เพราะว่าถ้าใช้คำว่า กล่าวธรรม ต้องหมายความว่าเป็นธรรม

    ผู้ฟัง เป็นธรรมงาม

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ว่ากล่าวอธรรม ธรรมถูกต้อง และก็วาจาเป็นประโยชน์ด้วย สละสลวย ไพเราะทำให้บุคคลอื่นเลื่อมใส ไม่ใช่ฟังแล้วก็ไม่อยากฟัง

    ผู้ฟัง ดิรัจฉานกถา ไพเราะได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ดิรัจฉานกถา ไม่ใช่ธรรม นี่เรื่องการกล่าวธรรม

    ผู้ฟัง แต่ว่าทุกวันนี้ ที่เป็นอยู่นี่ ส่วนมากดิรัจฉานกถาไพเราะมาก

    ท่านอาจารย์ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า แม้ถ้อยคำนั้นเป็นถ้อยคำไพเราะ แต่ไม่ใช่ถ้อยคำที่จริง พระองค์ไม่ตรัส และถ้าเป็นถ้อยคำที่จริง และก็ไพเราะ พระองค์ยังรู้กาละที่จะตรัสด้วย

    สำหรับหิริโอตตัปปะ ความรังเกียจ ความละอาย ความกลัวอกุศลธรรม เป็นเหตุให้ปัญญาเจริญขึ้น ข้อความในอังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต ปัญญาสูตร ข้อ ๙๒ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหตุ ๘ ประการ ปัจจัย ๘ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญาอันเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ที่ยังไม่ได้ เพื่อความงอกงามไพบูลย์ เจริญ บริบูรณ์แห่งปัญญาที่ได้แล้ว

    ท่านผู้ฟังนี่ฟังพระธรรม เพื่อประโยชน์อย่างเดียว คือ เพื่อปัญญา เพื่อความเข้าใจถูกต้องในสภาพธรรมที่ปรากฏ เพื่อรู้จักสภาพธรรมที่เกิดกับตนตามความเป็นจริง เพื่อการละอกุศล เพื่อการดับกิเลสเป็นสมุจเฉท แต่ก็จะต้องมีธรรมที่เหตุ ๘ ประการ ที่จะให้ปัญญาเจริญด้วย ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ๘ ประการเป็นไฉน

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อาศัยพระศาสดาหรือเพื่อนพรหมจรรย์รูปใดรูปหนึ่งผู้ตั้งอยู่ในฐานะครู ซึ่งเป็นที่เข้าไปตั้งความละอาย ความเกรงกลัว ความรัก และความเคารพไว้อย่างแรงกล้า

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ ๑ ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญา ฯลฯ เพื่อความบริบูรณ์แห่งปัญญาที่ได้แล้ว

    สำคัญไหม หิริโอตตัปปะหรือเปล่า เป็นผู้ที่มีความละอาย ความเกรงกลัว ความรัก ความเคารพอย่างแรงกล้าในผู้ที่ตั้งอยู่ในฐานะครู ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนพรหมจรรย์รูปใดรูปหนึ่งก็ตาม เพราะเหตุว่าถ้าไม่เคารพผู้ที่มีความรู้ในธรรม จะทำให้ผู้นั้นตั้งใจที่จะฟังแล้วก็ศึกษา แล้วก็พิจารณา จนกระทั่งเกิดความเข้าใจเพิ่มขึ้นไหม ลองคิดถึงความรู้สึกในใจของแต่ละท่าน ถ้าท่านไม่เคารพผู้แสดงธรรมท่านหนึ่งท่านใด ท่านย่อมไม่ฟังบุคคลนั้น ใช่ไหม แต่เพราะเหตุว่าท่านรู้ว่าผู้นั้นสามารถที่จะให้ความเข้าใจที่ถูกต้องได้ นี่เป็นเหตุที่ทำให้เกิดความเคารพในบุคคลนั้น ซึ่งจะทำให้การฟังเป็นไปด้วยความเคารพ พิจารณาในเหตุผล แล้วก็ย่อมเป็นเหตุให้ได้ปัญญาหรือเพื่อความบริบูรณ์แห่งปัญญาที่ได้แล้ว นี่เป็นประการที่ ๑

    ประการต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    เธออาศัยพระศาสดา หรือเพื่อนพรหมจรรย์รูปใดรูปหนึ่ง ผู้ตั้งอยู่ในฐานะครู ซึ่งเป็นที่เข้าไปตั้งความละอาย ความเกรงกลัว ความรัก และความเคารพไว้อย่างแรงกล้านั้นแล้ว เธอเข้าไปหาแล้วไต่ถาม สอบถามเป็นครั้งคราวว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ภาษิตนี้เป็นอย่างไร เนื้อความแห่งภาษิตนี้เป็นอย่างไร” ท่านเหล่านั้นย่อมเปิดเผยข้อที่ยังไม่ได้เปิดเผย ทำให้แจ้งข้อที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง และบรรเทาความสงสัยในธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความสงสัยหลายประการแก่เธอ

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ ๒ ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญา ฯลฯ เพื่อความบริบูรณ์แห่งปัญญาที่ได้แล้ว

    ข้อนี้ก็ไม่พ้นจากหิริโอตตัปปะ คือ ขณะที่ไต่ถามสอบถามธรรมกับท่านผู้ใด ก็แสดงว่ามีความเคารพในท่านผู้นั้น มิฉะนั้นท่านก็คงจะไม่ไต่ถามสอบถามท่านผู้นั้นใช่ไหม


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 23
    9 ก.พ. 2567

    ซีดีแนะนำ