โสภณธรรม ครั้งที่ 012


    ตอนที่ ๑๒

    ถ้าเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงรู้แจ้งเรื่องทุกข์ ก็จะต้องทรงรู้แจ้งหนทางที่จะดับทุกข์ด้วย ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ตรัส

    พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “สติเป็นเครื่องกั้นกระแสเหล่านั้น ปัญญาเป็นเครื่องปิดกั้น”

    ต่อจากนั้น พระผู้มีพระภาคก็ทรงแสดงเรื่องของความเป็นผู้มีสติ ได้แก่เป็นผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน เพราะเหตุว่าในวันหนึ่งๆ ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด ก็ไม่มีอะไรที่จะกั้นกระแสของอกุศล ซึ่งไหลไปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    คำว่า ภิกษุพึงมีสติเว้นรอบ ความว่า ภิกษุพึงมีสติเว้นรอบ คือ พึงมีสติเดิน พึงมีสติยืน พึงมีสตินั่ง พึงมีสตินอน พึงมีสติก้าวไปข้างหน้า พึงมีสติถอยกลับ พึงมีสติแลดู พึงมีสติเหลียวดู พึงมีสติคู้เข้า พึงมีสติเหยียดออก พึงมีสติทรงผ้าสังฆาฏิ บาตร และจีวร พึงมีสติเที่ยวไป พึงมีสติอยู่ คือ เป็นไป เปลี่ยนแปลง รักษา บำรุง เยียวยา ให้เยียวยา เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าภิกษุพึงมีสติเว้นรอบ

    จนกว่าจะถึงความเป็นผู้มีสติอย่างนี้ ซึ่งก็จะต้องอบรมไปเรื่อยๆ จากชีวิตประจำ วัน แม้ว่าพระผู้มีพระภาคจะทรงแสดงประโยชน์ของสติ แต่ถ้าผู้ใดไม่อบรม ก็ไม่มีปัจจัยที่จะให้สติเกิด แต่ว่ามีปัจจัยที่จะให้ความหลงลืมสติเกิด และมีปัจจัยที่จะทำให้เป็นผู้ที่ขาดสติ แม้ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ตัวอย่างของการหลงลืมสติ และขาดสติของพระภิกษุในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน

    ข้อความในมัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ อุปักกิเลสสูตร ข้อ ๔๓๙ มีข้อความโดยย่อว่า

    ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารโฆสิตาราม เขตพระนครโกสัมพีสมัยนั้นแล พวกภิกษุในพระนครโกสัมพีเกิดขัดใจทะเลาะวิวาทกันเสียดสีกันและกันด้วยฝีปากอยู่

    ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ กราบทูลพระผู้มีพระภาคทรงทราบ และทูลขอให้ได้โปรดอาศัยความอนุเคราะห์ เสด็จเข้าไปยังที่อยู่ของภิกษุเหล่านั้นเถิด พระผู้มีพระภาคทรงรับด้วยดุษณีภาพ

    ต่อนั้น ได้เสด็จเข้าไปยังที่อยู่ของภิกษุเหล่านั้น ครั้นแล้วได้ตรัสกะภิกษุเหล่านั้นดังนี้ว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่าเลย อย่าขัดใจ อย่าทะเลาะ อย่าแก่งแย่ง อย่าวิวาทกันเลย”

    เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสแล้วอย่างนี้ ภิกษุรูปหนึ่งได้ทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคผู้เป็นเจ้าของธรรมทรงยับยั้งก่อน ขอได้โปรดทรงเป็นผู้ขวนขวายน้อย ทรงประกอบเนืองๆ แต่สุขวิหารธรรมในปัจจุบันอยู่เถิด พวกข้าพระองค์ยังจักปรากฏอยู่ด้วยการขัดใจ ทะเลาะ แก่งแย่งวิวาทกันเช่นนี้”

    ใครห้ามก็ไม่ฟัง แม้ว่าผู้นั้นจะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่จะทรงพระมหากรุณา ทรงเตือน ทรงโอวาท ก็ไม่อาจที่จะยับยั้งอกุศลธรรมในขณะนั้นได้

    พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะภิกษุเหล่านั้นแม้ในวาระที่ ๒ และแม้ในวาระที่ ๓ ภิกษุรูปนั้นก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเหมือนเดิม

    เป็นท่านผู้ฟังอาจจะเป็นอย่างนี้ก็ได้ ใช่ไหม กำลังโกรธ ใครบอกว่าอย่าโกรธเลย ก็ห้ามไม่ฟัง นี่ก็เป็นเรื่องที่ว่า ไม่ว่ากาลสมัยไหม ไม่ว่าใครทั้งนั้น เพราะฉะนั้น ก็น่าจะเห็นโทษว่า ถ้าเกิดในอนาคตได้เฝ้าพระผู้มีพระภาค แล้วก็กำลังมีความโกรธ แล้วตรัสให้ละความโกรธ แล้วยังกราบทูลว่า

    พวกข้าพระองค์ยังจักปรากฏอยู่ด้วยการขัดใจ ทะเลาะ แก่งแย่ง วิวาทกันเช่นนี้

    ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงนุ่งสบง ทรงบาตรจีวร เสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังพระนครโกสัมพีในเวลาเช้า ครั้นเสด็จกลับจากบิณฑบาต ภายหลังเวลาพระกระยาหารแล้ว ทรงเก็บเสนาสนะ กำลังประทับยืนอยู่นั่นแหละ ได้ตรัสพระคาถาแสดงโทษของการมาดร้ายกัน ซึ่งเป็นข้อความที่ยาว แล้วได้เสด็จเข้าไปบ้านพาลกโลณการ ซึ่งขณะนั้นท่านพระภคุอยู่ที่นั่น พระองค์ทรงสนทนากับท่านพระภคุ ทรงชักชวนให้อาจหาญ ร่าเริงด้วยกถาประกอบด้วยธรรมแล้ว ทรงลุกจากอาสนะเสด็จเข้าไปประทับนั่งยังป่าปาจีนวงส์ ซึ่งขณะนั้นท่านพระอนุรุทธ ท่านพระนันทิยะ และท่านพระกิมพิละ อยู่ด้วยกันด้วยความเมตตาต่อกัน ทั้งกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ทั้งในที่แจ้ง และในที่ลับ เข้ากันได้ดังนมสดและน้ำ

    เมื่อตรัสเตือนแล้วไม่ฟัง ก็ควรที่จะได้ทรงแสดงธรรมกับผู้ที่ฟัง จะเป็นประโยชน์กว่า จึงได้เสด็จไปถึงที่อยู่ของท่านพระภคุ และที่อยู่ของท่านพระอนุรุทธะ ท่านพระนันทิยะ ท่านพระกิมพิละ

    ซึ่งเรื่องของการที่จะหลงลืมสติ ขาดสตินี้เป็นอันตรายจริงๆ ทำให้ภิกษุบางรูปเป็นผู้ที่ขัดใจกับภิกษุบางรูป แต่ก็ยังมีภิกษุที่มาดร้ายต่อพระผู้มีพระภาค ไม่ใช่กับภิกษุด้วยกัน

    ซึ่งข้อความในอรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ สีหนาทวรรค มธุมีณฑกสูตร มีข้อความที่แสดงถึง ความขาดสติของท่านพระเทวทัต เป็นเหตุให้กระทำการต่างๆ ที่เห็นผิดเป็นชอบ แม้ในการที่ท่านบวช บางท่านอาจจะมีการเห็นถูกในการบวช แต่สำหรับพระท่านเทวทัต ท่านไม่ได้พิจารณาธรรมตามควรแก่ธรรม เพราะเหตุว่าสติไม่เกิด ไม่เป็นโสภณธรรม ไม่ใช่กุศลจิตในขณะนั้น เพราะท่านมีความเห็นว่า พระผู้มีพระภาคทรงมีเวรกับตระกูล ไม่ทรงหวังความเจริญแก่พระนางยโสธราพิมพา ซึ่งควรที่จะได้เป็นพระมเหสี ไม่ทรงยินดีกับความเจริญของตระกูลของท่าน เมื่อให้ท่านพระราหุลบวช

    นี่คือความคิดของคนซึ่งขาดสติ ก็ย่อมจะพิจารณาในสิ่งที่ตรงกันข้าม คือ เห็นผิดเป็นชอบ และเมื่อท่านพระราหุลผู้เป็นหลานของท่านบวชแล้ว ท่านก็ไม่เห็นความเจริญของการเป็นฆราวาสอีกต่อไป ท่านจึงได้บวชตาม

    นี่คือการที่ท่านบวช ระหว่างบวชนั้น ท่านมีความคิดว่า พระผู้มีพระภาคทรงมีเวรกับตระกูลของท่าน แม้ว่าบวชในสำนักของพระผู้มีพระภาคแล้ว ก็ยังไม่หมดทิฏฐิ หรือความคิดความเห็นอย่างนั้น

    ท่านคิดว่าตั้งแต่วันที่ท่านบวช พระผู้มีพระภาคไม่ได้ทรงมองดูท่านแม้ผู้บวชอย่างนี้ด้วยพระเนตรตรงๆ และเมื่อตรัสในท่ามกลางบริษัทก็เหมือนประหารด้วยคำเท็จมากหลาย เช่น ตรัสว่า “เทวทัตเป็นสัตว์อบาย ดังนี้” นอกจากท่านจะยุยงภิกษุด้วยกันแล้ว ท่านก็ยังยุยงพระเจ้าอชาตศัตรูด้วย

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่าจิตวิจิตรมาก ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายกุศล หรือทางฝ่ายอกุศล แม้แต่พระผู้มีพระภาค ท่านพระเทวทัตก็กลับมองดูเห็นว่า พระผู้มีพระภาคไม่ทรงมองดูท่าน แม้ผู้บวชอย่างนี้ด้วยพระเนตรตรงๆ ไม่เห็นในพระมหากรุณา ไม่เห็นในพระบริสุทธิคุณ และพระปัญญาคุณของพระผู้มีพระภาคตามความเป็นจริง และมีข้อความที่กล่าวว่า

    “พระผู้มีพระภาคย่อมไม่ทรงทะเลาะกับชาวโลก แต่ชาวโลกทะเลาะกับพระผู้มีพระภาค”

    ฟังดูก็เป็นธรรมดา ใช่ไหม สำหรับพระอรหันต์ซึ่งหมดจดจากกิเลสแล้ว เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ทรงทะเลาะกับชาวโลก แล้วก็เป็นธรรมดาอีกเหมือนกันที่ แต่ชาวโลกทะเลาะกับพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะพระผู้มีพระภาคตรัสความจริงว่า ไม่เที่ยง แต่ชาวโลกก็กล่าวว่า เที่ยง พระผู้มีพระภาคตรัสความจริงว่า ทุกข์ แต่ชาวโลกก็กล่าวว่า สุข พระผู้มีพระภาคตรัสความจริงว่า อนัตตา แต่ชาวโลกก็กล่าวว่า อัตตา พระผู้มีพระภาคตรัสความจริงว่า ไม่งาม แต่ชาวโลกก็กล่าวว่า งาม เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่ กำลังทะเลาะกับพระผู้มีพระภาคหรือเปล่า สำหรับชาวโลกที่ยังเห็นว่า เที่ยง เป็นสุข และเป็นอัตตา

    นี่คือความละเอียดที่จะต้องพิจารณาธรรมด้วยสติ

    ขอกล่าวถึงข้อความในพระไตรปิฎก ซึ่งแสดงให้เห็นลักษณะของผู้ที่หลงลืมสติ ขาดสติ เพราะแต่ละท่านถ้าไม่เป็นผู้ที่เจริญกุศลทุกประการ แล้วก็รู้ว่าเมื่อใดสติเกิด เมื่อนั้นเป็นกุศล เพราะฉะนั้น ถ้าหลงลืมสติ และมุ่งแต่จะเจริญสติปัฏฐานอย่างเดียว เป็นไปไม่ได้ เพราะเหตุว่าสติมีหลายขั้น ตามเหตุตามปัจจัย ตามกาละ ตามเทศะ ในชีวิตประจำวันจริงๆ

    เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่ไม่พิจารณาทุกอย่างด้วยสติ หลงลืมสติและเป็นผู้ที่เห็นผิดเป็นชอบ และไม่ขัดเกลากิเลสเลย อกุศลทั้งหลายก็ย่อมจะเจริญจนปรากฏลักษณะของความเป็นผู้ที่หลงลืมสติถึงขั้นของความขาดสติ

    ความในมัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ จูฬสัจจกสูตร ข้อ ๓๙๒ มีข้อความว่า

    ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน เขตเมืองเวสาลี

    ท่านที่จะมีโอกาสไปพระนครเวสาลี ก็จะได้ทราบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งหนึ่งในสมัยที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน

    ครั้งนั้นแล สัจจกนิครนถ์ผู้เป็นนิคันถบุตร อาศัยอยู่ในเมืองเวสาลี เป็นนักโต้ตอบ พูดยกตนว่าเป็นนักปราชญ์

    นี่คือลักษณะของความขาดสติ

    ชนเป็นอันมากยอมยกว่าเป็นผู้มีความรู้ดี เขากล่าววาจาในที่ประชุมชนในเมืองเวสาลีอย่างนี้ว่า เราไม่เห็นสมณะหรือพราหมณ์ที่เป็นเจ้าหมู่ เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ แม้ที่ปฏิญญาตนว่า เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ปรารภโต้ตอบวาทะกับเราจะไม่พึงประหม่า ไม่สะทกสะท้าน ไม่หวั่นไหว ไม่มีเหงื่อไหลจากรักแร้ แม้แต่คนเดียวเลย หากเราปรารภโต้ตอบวาทะกะเสาที่ไม่มีเจตนา แม้เสานั้นปรารภโต้ตอบวาทะกับเรา ก็ต้องประหม่า สะทกสะท้าน หวั่นไหว จะป่วยกล่าวไปไยถึงมนุษย์เล่า

    มีจริงๆ บุคคลอย่างนี้ ไม่ใช่ไม่มี เพราะเหตุว่าเป็นข้อความที่แสดงไว้ในพระไตรปิฎก นอกจากนั้นท่านผู้นี้ ยังกลัวว่าท้องจะแตกเพราะเต็มไปด้วยปัญญา ท่านถึงกับเอาแผ่นเหล็กคาดท้องเที่ยวไป

    ครั้งนั้น ท่านพระอัสสชินุ่งสบงแล้วถือบาตรจีวรเข้าไปบิณฑบาตในเมืองเวสาลี ในเวลาเช้า สัจจกนิครนถ์ผู้เป็นนิคันถบุตรเดินเที่ยวยืดแข้งขาอยู่ในเมืองเวสาลี ได้เห็นท่านพระอัสสชิเดินอยู่แต่ที่ไกล ครั้นเห็นแล้ว จึงเข้าไปหาท่านพระอัสสชิ ได้ปราศรัยกับท่าน ครั้งผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้ถามท่านพระอัสสชิดังนี้ว่า “ดูกรท่านอัสสชิผู้เจริญ ก็พระสมณโคดม แนะนำพวกสาวกอย่างไร และคำสั่งสอนของพระสมณโคดมมีส่วนอย่างไร ที่เป็นไปมากในพวกสาวก”

    ท่านพระอัสสชิบอกว่า “ดูกรอัคคิเวสสนะ พระผู้มีพระภาคทรงแนะนำสาวกทั้งหลายอย่างนี้ และคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคมีส่วนอย่างนี้ ที่เป็นไปมากในสาวกทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง รูปไม่ใช่ตน เวทนาไม่ใช่ตน สัญญาไม่ใช่ตน สังขารทั้งหลายไม่ใช่ตน วิญญาณไม่ใช่ตน สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่ตน ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่ตน ดูกรอัคคิเวสสนะ พระผู้มีพระภาค ทรงแนะนำสาวกทั้งหลายอย่างนี้ และคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคมีส่วนอย่างนี้ ที่เป็นไปมากในสาวกทั้งหลาย”

    ทุกกาลสมัยจะไม่พ้นจาก รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่เที่ยง ใครจะเคยได้ยินได้ฟังมาแล้วที่เมืองเวสาลี ที่พระวิหารเชตวัน และมีโอกาสที่จะได้ฟังอีก แล้วก็ยังไม่ประจักษ์รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง ก็จะต้องฟังต่อไป เพื่อที่จะให้สติเกิดระลึกได้ และศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ จนกว่าจะประจักษ์แจ้ง แต่จะไม่พ้นไปจากรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่เที่ยงเลย

    สัจจกนิครนถ์กล่าวว่า “ดูกรท่านอัสสชิผู้เจริญ ข้าพเจ้าได้ฟังว่า พระสมณโคดมมีวาทะอย่างนี้ เป็นอันว่า ข้าพเจ้าได้ฟังไม่ดีแล้ว ถ้ากระไรบางทีข้าพเจ้าจะพบกับพระสมณโคดมผู้เจริญนั้น จะได้สนทนากันบ้าง ถ้ากระไรข้าพเจ้าจะพึงช่วยปลดเปลื้องพระสมณ โคดมเสียจากความเห็นที่เลวทรามนั้นได้”

    ครั้งนั้นเจ้าลิจฉวีประมาณ ๕๐๐ องค์ ประชุมกันอยู่ในอาคารเป็นที่ประชุมด้วยกรณียกิจบางอย่าง

    สมัยนั้น สัจจกนิครนถ์เข้าไปหาพวกเจ้าลิจฉวีเหล่านั้น ครั้นเข้าไปหาแล้วได้กล่าวกะเจ้าลิจฉวีเหล่านั้นดังนี้ว่า ขอเจ้าลิจฉวีทั้งหลายจงไปด้วยกัน ขอเจ้าลิจฉวีทั้งหลายจงไปด้วยกัน วันนี้ ข้าพเจ้าจักสนทนากับพระสมณโคดม ถ้าพระสมณโคดมจักตั้งอยู่ตามคำที่ภิกษุชื่ออัสสชิ ซึ่งเป็นสาวกรูปหนึ่งที่มีชื่อเสียงยืนยันแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจักฉุดกระชากลากถ้อยคำพระสมณโคดมมาด้วยคำข้าพเจ้า ให้เป็นเหมือนบุรุษที่มีกำลังจับแกะอันมีขนยาวที่ขนแล้วลากมาลากไป ฉะนั้น หรือให้เป็นเหมือนคนที่ทำการงานในโรงสุรา ซึ่งมีกำลัง วางเสื่อลำแพนสำหรับรองแป้งสุราผืนใหญ่ในห้วงน้ำลึกแล้วแล้วจับที่มุมชักลากฟัดฟาดไปมาฉะนั้น ข้าพเจ้าจักสลัดฟัดฟาดถ้อยคำพระสมณโคดมเสีย ให้เป็นเหมือนบุรุษที่มีกำลัง ซึ่งเป็นนักเลงสุราจับถ้วยที่หูแล้วสลัดไปมาฉะนั้น ข้าพเจ้าจักเล่นงานพระสมณโคดมเหมือนอย่างที่คนเขาเล่นกีฬาชื่อสาณโธวิก ให้เป็นเหมือนช้างที่มีวัยล่วงหกสิบปี จึงจะถอยกำลัง ลงสู่สระโบกขรณีมีลำน้ำลึก แล้วเล่นกีฬาชนิดที่ชื่อว่าสาณโธวิกฉะนั้น ขอเจ้าลิจฉวีทั้งหลายจงไปด้วยกัน ขอเจ้าลิจฉวีทั้งหลายจงไปด้วยกัน วันนี้ ข้าพเจ้าจักสนทนากับพระสมณโคดม

    ท่านผู้ฟังอยากไปด้วยไหม ถ้ามีเหตุการณ์อย่างนั้นจริงๆ คงน่าที่จะต้องไปแน่ๆ ทีเดียว จะได้ฟังสัจจกนิครนถ์สนทนาธรรมกับพระผู้มีพระภาค คงจะไม่ละเว้นโอกาสนั้นเป็นแน่

    ในบรรดาเจ้าลิจฉวีเหล่านั้น บางพวกกล่าวว่า เหตุอะไร พระสมณโคดมจักยกถ้อยคำของท่านสัจจกะได้ ที่แท้ท่านสัจจกะกลับยกถ้อยคำของพระสมณโคดมเสีย

    คนที่เห็นอย่างนี้ก็มี คือ เห็นว่าสัจจกนิครนถ์สามารถที่จะทำให้พระผู้มีพระภาคตามคำของสัจจนิครนถ์ได้

    บางพวกกล่าวว่า ท่านสัจจกะเป็นอะไร จึงจักยกถ้อยคำของพระผู้มีพระภาคได้ ที่แท้พระผู้มีพระภาคกลับจักยกถ้อยคำของท่านสัจจกะเสีย

    ครั้งนั้นแล สัจจกนิครนถ์มีเจ้าลิจฉวีประมาณ ๕๐๐ ห้อมล้อมแล้ว เข้าไปยังกูฏาคาศาลาป่ามหาวัน

    นับว่าเป็นคนกล้ามากทีเดียว เพราะว่าบางคนพูดว่าจะไปเฝ้า แต่ถึงเวลาจริงๆ ไปไม่ได้ ตัวสั่น แล้วไม่สามารถแม้แต่ที่จะขยับเขยื้อน จนกระทั่งแม้แต่คนบอกว่า ท่านเคยบอกว่าท่านจะไป ท่านต้องไป ก็ยังไม่สามารถที่จะไปได้ แต่ว่าสำหรับสัจจกนิครนถ์นี้เป็นคนที่มีความเชื่อมั่นในความเห็นของตนเองมาก

    สมัยนั้น ภิกษุมากด้วยกันจงกรมอยู่ ณ ที่แจ้ง สัจจกนิครนถ์เข้าไปหาภิกษุเหล่านั้นแล้วถามว่า “ท่านผู้เจริญ เดี๋ยวนี้พระสมณโคดมนั้นอยู่ที่ไหน พวกข้าพเจ้าปรารถนาจะพบพระสมณโคดมนั้น” ภิกษุทั้งหลายนั้นบอกว่า “ดูกรอัคคิเวสสนะ พระผู้มีภาคพระองค์นั้น เสด็จเข้าไปสู่ป่ามหาวัน ประทับพักกลางวันที่โคนต้นไม้แห่งหนึ่ง”

    ข้อความในอรรถกถาแสดงว่า พระผู้มีพระภาคทรงทราบความคิดและคำพูดของสัจจกนิครนถ์ ก็ได้เสด็จเข้าไปสู่ป่ามหาวัน เพราะเหตุว่าที่ในพระวิหารมีที่นั่งไม่พอ เพราะฉะนั้น เพื่อความสะดวกก็ได้เสด็จเข้าไปสู่ป่ามหาวัน

    ลำดับนั้น สัจจกนิครนถ์พร้อมด้วยพวกเจ้าลิจฉวีมีจำนวนมากเข้าไปสู่ป่ามหาวันจนถึงที่ที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ แล้วทูลปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

    แม้เจ้าลิจฉวีทั้งหลายนั้น บางพวกถวายอภิวาท บางพวกทูลปราศรัย บางพวกประนมมือ บางพวกประกาศชื่อและโคตรของตนในสำนักพระผู้มีพระภาค บางพวกก็นิ่งอยู่ ครั้นแล้วต่างก็นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

    ก็น่าดูน่าเห็น มีการกระทำต่างๆ กัน เพราะเหตุว่าใจมนุษย์ต่างๆ กัน ไม่มีเหมือนกันเลย แม้แต่การที่จะได้พบได้เฝ้าพระผู้มีพระภาค

    ข้อความในอรรถกถาอธิบายว่า

    พวกเจ้าลิจฉวีที่อัญชลี คือไหว้พระผู้มีพระภาคนั้น มีความคิดอย่างนี้ว่า ถ้าพวกสัจจกนิครนถ์ท้วงว่า ไหว้พระสมณโคดมทำไม ก็จะตอบว่า ไหว้อะไรกัน เพียงประนมมือเท่านั้น

    ความคิดของคน กลัวคนอื่นจะมองในแง่ไหน จะคิดในแง่ไหน จะเป็นมิตรในแง่ไหน จะเข้าใจในแง่ไหน จะติจะชมในแง่ไหน ถ้าเป็นความเห็นที่ไม่ถูก แม้แต่การที่จะแสดงความอ่อนน้อม ความเคารพโดยสถานหนึ่งสถานใดย่อมทำได้ แต่แม้กระนั้นผู้ที่หวั่นไหวด้วยอกุศลก็ยังคิดว่า ถ้าไหว้แล้วพวกสัจจกนิครนถ์ท้วงว่า ไหว้พระสมณโคดมทำไม ก็จะตอบว่า ไหว้อะไรกัน เพียงประนมมือเท่านั้น และถ้าพวกที่นอบน้อมในพระผู้มีพระภาคท้วงว่า ทำไมท่านไม่ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเล่า เขาก็จะตอบว่า ทำไมการถวายบังคมจะต้องศีรษะจรดพื้นเล่า เพียงอัญชลีกรรม ก็เป็นการถวายบังคม มิใช่หรือ นี่ก็แสดงถึงความหวั่นไหว แม้แต่การที่จะถวายบังคม

    ผู้ที่ประกาศชื่อและผู้ที่ประกาศโคตร ก็คิดที่จะให้ผู้ที่อยู่ในหมู่ชนนั้นรู้ว่า เป็นบุตรของตระกูลเก่า ส่วนพวกที่นั่งนิ่งบางพวกก็คิดว่า ถ้าสนทนากันแม้เพียง ๒ คำ ก็ได้ชื่อว่า เป็นผู้คุ้นเคยกัน เมื่อคุ้นเคยกันอยู่ จะไม่ถวายภิกษาสักหนึ่งหรือสองทัพพี ก็ไม่ควร เพื่อที่จะให้ตนพ้นจากความคุ้นเคยนั้น จึงพากันนั่งนิ่ง

    บางท่านไปที่ไหนไม่ได้ทักทายกับใครเลย ก็อาจจะมีเหตุผลส่วนตัว แต่สำหรับผู้ที่นั่งนิ่งเวลาที่ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคและมีพระภิกษุสงฆ์ก็เกรงไปว่า ถ้าทักทายสัก ๒ – ๓ คำ ก็จะกลายเป็นคนคุ้นเคยกัน และเมื่อเป็นคนคุ้นเคยกันแล้วก็จะไม่ถวายภิกษาสัก ๑ หรือ ๒ ทัพพีก็ไม่ควร เพื่อที่จะให้ตนพ้นจากความคุ้นเคยนั้น จึงพากันนั่งนิ่ง ส่วนพวกที่นั่งนิ่งอีกพวกหนึ่งนั้น ก็นิ่ง เพราะไม่รู้ว่าควรจะกระทำอย่างไร นี่ก็แสดงให้เห็นถึงจิตใจที่ต่างกันไปทุกกาลสมัย

    ข้อความต่อไปมีว่า

    สัจจกนิครนถ์พอนั่งแล้ว ได้ทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าพเจ้าขอถามพระโคดมสักหน่อยหนึ่ง ถ้าพระโคดมจะทำโอกาสเพื่อแก้ปัญหาแก่ข้าพเจ้า”

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดูกรอัคคิเวสสนะ ท่านประสงค์จะถามปัญหาใด ก็ถามเถิด”

    สัจจกนิครนถ์ทูลว่า “พระโคดมแนะนำพวกสาวกอย่างไร และคำสั่งสอนของพระโคดมมีส่วนอย่างไรที่เป็นไปมากในพวกสาวก”

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดูกรอัคคิเวสสนะ เราแนะนำสาวกทั้งหลายอย่างนี้ และคำสั่งสอนของเรามีส่วนอย่างนี้ ที่เป็นไปมากในสาวกทั้งหลายว่า รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง รูปไม่ใช่ตน เวทนาไม่ใช่ตน สัญญาไม่ใช่ตน สังขารทั้งหลายไม่ใช่ตน วิญญาณไม่ใช่ตน สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่ตน ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่ตน ดังนี้ ดูกรอัคคิเวสสนะ เราแนะนำสาวกทั้งหลายอย่างนี้ และคำสั่งสอนของเรามีส่วนอย่างนี้ ที่เป็นไปมากในสาวกทั้งหลาย”

    ซึ่งเมื่อสัจจกนิครนถ์ได้ฟังก็เข้าใจว่า ตัวเองเป็นผู้ที่เก่งกว่าพระผู้มีพระภาค จึงขอโอกาสที่จะอุปมา แล้วได้ทูลพระผู้มีพระภาคว่า

    “ท่านพระโคดม ขออุปมาจงแจ่มแจ้งแก่ข้าพเจ้า”

    คือขอโอกาสที่จะอุปมา

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ ดูกรอัคคิเวสสนะ อุปมานั้นจงแจ่มแจ้งแก่ท่านเถิด”

    สัจจกนิครนถ์ทูลว่า “พระโคดม เหมือนพืชพันธุ์ไม้เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ที่ถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ พืชพันธุ์เหล่านั้นทั้งหมดต้องอาศัยแผ่นดิน ตั้งอยู่ในแผ่นดิน จึงถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ได้ หรือเหมือนการงานอย่างใดอย่างหนึ่งที่ต้องทำด้วยกำลังอันบุคคลทำอยู่ การงานเหล่านั้นทั้งหมดบุคคลต้องอาศัยแผ่นดิน ต้องตั้งอยู่บนแผ่นดินจึงทำกันได้ฉันใด ปุริสบุคคลนี้มีรูปเป็นตน มีเวทนาเป็นตน มีสัญญาเป็นตน มีสังขารเป็นตน มีวิญญาณเป็นตน ต้องตั้งอยู่ในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จึงได้ประสบผลบุญ ผลบาป ฉันนั้น”

    เมื่อใครคิดอย่างนี้ เดี๋ยวนี้ สะสมไป แล้วไม่เห็นว่า รูป เวทนา ไม่ใช่ตน ก็อาจจะมีความเห็นอย่างสัจจกนิครนถ์ได้ ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    “ดูกรอัคคิเวสสนะ ข้อนั้นท่านกล่าวอย่างนี้ว่า รูปเป็นตนของเรา เวทนาเป็นตนของเรา สัญญาเป็นตนของเรา สังขารทั้งหลายเป็นตนของเรา วิญญาณเป็นตนของเราดังนี้ มิใช่หรือ”

    สัจจกนิครนถ์ทูลว่า “พระโคดม ข้าพเจ้ากล่าวอย่างนั้น ประชุมชนเป็นอันมากก็กล่าวอย่างนั้น”

    ยังยืนยันในความคิดเห็น แทนที่จะกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงแสดงธรรมโดยละเอียด

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดูกรอัคคิเวสสนะ ประชุมชนเป็นอันมากนั้นจักทำอะไรแก่ท่าน ดูกรอัคคิเวสสนะ เชิญท่านยืนยันถ้อยคำของท่านเถิด”

    คือไม่จำเป็นต้องอ้างคนอื่นว่า เมื่อใครๆ ก็เห็นอย่างนี้ ทุกคนก็เห็นอย่างนี้ แต่พระผู้มีพระภาคเห็นตรงกันข้ามกับบุคคลอื่น เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคไม่ได้กล่าวถึงความคิดเห็นของคนอื่น แต่เพื่อที่จะให้สัจจกนิครนถ์มีความแน่ใจว่า คิดอย่างนั้นจริงๆ หรือเปล่า ก็ได้ตรัสถามอีกครั้งหนึ่ง

    ซึ่งสัจจกนิครนถ์ก็กราบทูลว่า “พระโคดม เป็นความจริง ข้าพเจ้ากล่าวอย่างนี้”

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดูกรอัคคิเวสสนะ เราจักสอบถามท่านในข้อนี้แหละ ท่านเห็นควรอย่างไร ท่านพึงแก้ไขอย่างนั้น ดูกรอัคคิเวสสนะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน อำนาจของพระราชามหากษัตริย์ผู้ได้มุรธาภิเษกแล้ว เช่นพระเจ้าปเสนทิโกศล หรือพระเจ้ามคธอชาตศัตรูเวเทหิบุตรอาจฆ่าคนที่ควรฆ่า ริบราชบาตรคนที่ควรริบ เนรเทศคนที่ควรเนรเทศ พึงให้เป็นไปได้ในพระราชอาณาเขตของพระองค์มิใช่หรือ”

    ซึ่งสัจจกนิครนถ์ทูลรับว่าเป็นความจริงอย่างนั้น


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 23
    18 ม.ค. 2565

    ซีดีแนะนำ