โสภณธรรม ครั้งที่ 011


    ตอนที่ ๑๑

    ขันธโลก ธาตุโลก อายตนโลก โลกนี้ โลกอื่น พรหมโลกกับทั้งเทวโลก ไม่ว่าโลกไหน ก็คือโลกที่กำลังปรากฏ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ อะไรปิดบังทุกโลก ไม่ใช่ปิดบังเฉพาะโลกเดียว ใช่ไหม ทางตาที่กำลังเห็นก็ปิดบัง ทางหูที่กำลังได้ยินก็ปิดบัง ทางจมูกที่กำลังได้กลิ่นก็ปิดบัง ทางลิ้นที่กำลังลิ้มรสก็ปิดบัง ทางกาย ทางใจ ปิดบังทุกโลก

    อะไรคือเครื่องฉาบทาโลก ที่โลกไม่ปรากฏ ก็เพราะมีสิ่งที่ฉาบทาปิดบังไว้ ทำให้โลกไม่ปรากฏ ทุกคนมีอีกเหมือนกัน เครื่องฉาบทาโลก สิ่งที่ฉาบทาโลกนั้นเป็นเครื่องข้อง เป็นเครื่องผูก เป็นเครื่องเข้าไปเศร้าหมอง ทำให้โลกมัวหมอง ติดเปื้อนระคนไว้ ข้องไว้ คล้องไว้ พัวพันไว้ และอะไรเป็นภัยใหญ่ของโลก เป็นเครื่องบีบ เป็นเครื่องเสียดสี เป็นอันตราย เป็นเครื่องขัดข้องของโลกนั้น

    แม้แต่ทุกข์ก็เป็นสภาพธรรมที่เป็นเครื่องบีบ เป็นเครื่องเสียดสี ถ้าไม่มีการเสียดสี จะไม่มีความรู้สึกใดๆ เลยทั้งสิ้น ทางตาก็เสียดสีกับรูป ทางหู เสียดสีกับเสียง มีการกระทบกระทั่งทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นเครื่องเสียดสี ที่จะทำให้ความทุกข์เกิดขึ้น

    พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ดูกรอชิตะ โลกอันอวิชชาหุ้มห่อไว้ โลกไม่ปรากฎเพราะความตระหนี่ เรากล่าวตัณหาว่าเป็นเครื่องฉาบทาโลก ทุกข์เป็นภัยใหญ่ของโลกนั้น”

    พระผู้มีพระภาคตรัสสั้นๆ แต่ว่าผู้มีสติจะต้องพิจารณาข้อความที่ได้ยินได้ฟังอย่างละเอียดและอย่างลึกซึ้ง และอย่างให้เข้าใจจริงๆ

    ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “โลกไม่ปรากฏเพราะความตระหนี่” มีความว่า ความตระหนี่ ๕ ประการ คือ อาวาสมัจฉริยะ ตระหนี่ที่อยู่ ๑ กุลมัจฉริยะ ตระหนี่สกุลอุปัฏฐากสำหรับพระภิกษุ ๑ ลาภมัจฉริยะ ตระหนี่ลาภ ๑ วรรณมัจฉริยะ ตระหนี่วรรณะ คือ คำสรรเสริญ ๑ ธรรมมัจฉริยะ ตระหนี่ธรรม ๑

    ไม่เคยคิดมาก่อนใช่ไหมว่า โลกไม่ปรากฏเพราะความตระหนี่ แต่ถ้าพิจารณาจริงๆ ลึกลงไปของความตระหนี่ คืออะไร ความเห็นแก่ตัว ขณะใดที่ไม่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ลึกลงไปในขณะนั้นที่สติจะต้องติดตามหยั่งลงไปว่าเพราะอะไร ก็คือความเห็นแก่ตัว เพราะฉะนั้น ”ตัว” นี้ยังเป็นที่ยึดถือ ผูกพัน ติดข้องอย่างมากเพียงไร ลักษณะอาการของความตระหนี่ย่อมปรากฏ

    เพราะฉะนั้น ขณะใดที่มีความตระหนี่อย่างหนึ่งอย่างใดเกิดขึ้น ควรที่จะเป็นเครื่องระลึกได้ว่า ในขณะนั้นยังมีความติดข้อง ยังมีความเห็นแก่ตัว ยังความยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนมากทีเดียว

    และสำหรับ “ธรรมมัจฉริยะ” คือ ความตระหนี่ธรรม ถ้าเกิดความตระหนี่ธรรมแล้ว ทุกอย่างย่อมไม่ปรากฏตามความเป็นจริง เพราะว่าไม่แสดงธรรมนั้นให้บุคคลอื่นได้รู้ หรือเข้าใจด้วย

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ จะไม่ตระหนี่ธรรม เพราะรู้ว่าเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ และขณะใดที่ตระหนี่ ขณะนั้นก็แสดงถึงความเห็นแก่ตัว หรือความยึดมั่นในตัวตน ซึ่งยังไม่ได้ละคลาย

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ท่านเรียกว่า เววิจฉะ ความตระหนี่ กิริยาที่ตระหนี่ ความเป็นผู้ตระหนี่ ความปรารถนาต่างๆ ความเหนียวแน่น ความเป็นผู้มีจิตหดหู่โดยความเป็นจิตเผ็ดร้อน

    นี่ก็แสดงลักษณะของมัจฉริยเจตสิกว่า เกิดกับโทสมูลจิต ซึ่งเป็นอกุศลจิต จะไม่เกิดกับโลภมูลจิตและโมหมูลจิตเลย

    ความที่แห่งจิตอันใครเชื่อไม่ได้เห็นปานนี้ เรียกว่า ความตระหนี่

    เวลาเกิดความตระหนี่ขึ้น จริงใจไหม จะต้องมีความรู้สึก มีอาการที่ปิดบังหรือซ่อนเร้น ที่ไม่จริงใจ เพราะฉะนั้น ความที่แห่งจิต อันใครเชื่อไม่ได้เห็นปานนี้ เรียกว่า ความตระหนี่

    อีกอย่างหนึ่ง แม้ความตระหนี่ขันธ์ ท่านก็เรียกว่ามัจฉริยะ แม้ความตระหนี่ธาตุ

    ท่านก็เรียกว่ามัจฉริยะ ๑

    ไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล เพราะฉะนั้น ที่ตระหนี่นี่ตระหนี่อะไร ลองคิดดู ถ้าไม่ตระหนี่ขันธ์ คือ รูปขันธ์บ้าง เวทนาขันธ์บ้าง สัญญาขันธ์บ้าง สังขารขันธ์บ้าง วิญญาณขันธ์บ้าง

    ท่านมีความสุข แล้วเห็นคนอื่นเป็นทุกข์เดือดร้อน อยากจะให้คนอื่นเขามีความสุขอย่างเรา ขณะนั้นไม่ตระหนี่ในสุขเวทนา ใช่ไหม แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีความสุข และคนอื่นมีความทุกข์เดือดร้อน ก็ไม่มีความคิดที่จะเกื้อกูลบุคคลนั้นให้มีความสุขบ้าง ขณะนั้นก็เป็นการตระหนี่ขันธ์ คือ ตระหนี่สุขเวทนา ไม่ว่าจะเป็นธาตุก็ตาม ในเมื่อไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล เป็นแต่เพียงปรมัตถธรรม เพราะฉะนั้น ถ้าพิจารณาจริงๆ ในขณะใดที่เกิดความตระหนี่ ก็คือ ตระหนี่ขันธ์ ตระหนี่ธาตุ ตระหนี่อายตนะนั่นเอง

    ซึ่งเห็นได้ว่า ขณะใดที่อกุศลธรรมเกิด ขณะนั้นหลงลืมสติ เพราะเหตุว่าสติไม่เกิด ด้วยเหตุนี้ สติจำปรารถนาในที่ทั้งปวง

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ความประมาท สมควรกล่าวว่า การปล่อยจิต ความเพิ่มการปล่อยจิต ในกายทุจริตก็ดี ในวจีทุจริตก็ดี ในมโนทุจริตก็ดี ในเบญจกามคุณก็ดี หรือความเป็นผู้ทำโดยความไม่เอื้อเฟื้อ ความเป็นผู้ทำไม่ติดต่อ ความเป็นผู้ทำๆ หยุดๆ ความเป็นผู้มีความประพฤติย่อหย่อน ความเป็นผู้ปลงฉันทะ ความเป็นผู้ทอดธุระ ความเป็นผู้ไม่ซ่องเสพ ความไม่เจริญ ความไม่ทำให้มาก ความไม่ตั้งใจ ความไม่ประกอบเนืองๆ ในการบำเพ็ญกุศลธรรมทั้งหลาย เป็นความประมาท ความมัวเมา กิริยาที่มัวเมา ความเป็นผู้มัวเมา เห็นปานนี้ เรียกว่า ความประมาท

    พระผู้มีพระภาคไม่ทรงละเว้นพยัญชนะ ซึ่งอาจจะทำให้ท่านผู้หนึ่งผู้ใดเกิดสติระลึกได้ เพราะว่าทรงแสดงเรื่องของความประมาทว่า เป็นการปล่อยจิต เป็นการเพิ่มการปล่อยจิตในกายทุจริต ในวจีทุจริต ในมโนทุจริต ถ้าสติไม่เกิดเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดา ใช่ไหม เขาก็ทุจริตกันทั้งนั้น ก็อาจจะคิดว่าอย่างนี้ ไม่ว่าจะเป็นกายทุจริต หรือวจีทุจริต แต่ผู้ที่มีสติ สติเกิด จะรู้ได้ว่า ไม่ควรที่จะคิดอย่างนั้นเลย เพราะเหตุว่าไม่ควรที่จะปล่อยจิต หรือเพิ่มการปล่อยจิตในกายทุจริต ในวจีทุจริต ในมโนทุจริต

    ผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ ย่อมไม่พ้นจากการที่จะมีกายทุจริตบ้าง วจีทุจริตบ้าง มโนทุจริตบ้าง ถ้าเป็นผู้ที่ตรงต่อตัวเอง จะรู้ได้จริงๆ ว่าขณะไหนเป็นกายทุจริต ขณะไหนเป็นวจีทุจริต คำพูดที่ทำให้บุคคลอื่นไม่สบายใจ หรือว่าเป็นการเสียประโยชน์ของบุคคลนั้น ซึ่งถ้าสติไม่เกิดก็ดูเหมือนกับเป็นเรื่องธรรมดาอีก เพราะฉะนั้น ผู้ที่ขัดเกลากิเลสก็จะพิจารณาธรรมโดยละเอียดจริงๆ ว่า ไม่เพิ่มการปล่อยจิตในกายทุจริต ในวจีทุจริต ในมโนทุจริต ในเบญจกามคุณ คือ ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ

    หรือบางท่านเป็นผู้ทำโดยความเป็นผู้ไม่เอื้อเฟื้อ เป็นผู้ทำไม่ติดต่อ เป็นผู้ทำๆ หยุดๆ เป็นผู้มีความประพฤติย่อหย่อน ความเป็นผู้ปลงฉันทะ ความเป็นผู้ทอดธุระ ความเป็นผู้ไม่ซ่องเสพ ความไม่เจริญ ความไม่ทำให้มาก ความไม่ตั้งใจ ความไม่ประกอบเนืองๆ ในการบำเพ็ญกุศลธรรมทั้งหลาย เป็นความประมาท

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นการเตือนให้เห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริง ว่าประมาทหรือเปล่า หรือว่าเพิ่มความประมาทขึ้นหรือเปล่า

    ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    คำว่า โลกไม่ปรากฎเพราะความตระหนี่ เพราะความประมาท ความว่าโลกไม่ปรากฏ ไม่สว่าง ไม่รุ่งเรือง ไม่ไพโรจน์ ไม่แจ่ม ไม่กระจ่าง เพราะความตระหนี่นี้ เพราะความประมาทนี้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า โลกไม่ปรากฏ เพราะความตระหนี่ เพราะความประมาท

    ท่านที่อยากจะประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรม อาจจะใช้คำว่า เต็มทีเหลือเกิน คอยไม่ไหว อยากจะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมในขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส ก็ควรที่จะได้พิจารณาว่า เป็นผู้ที่ประมาทหรือเปล่า ถ้าสติไม่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แล้วจะให้โลกกระจ่าง โลกแจ่มแจ้ง ย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะเหตุว่าผลย่อมเป็นไปตามเหตุ

    ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสเรื่องอาการต่างๆ ของโลภะ ซึ่งเป็นเครื่องฉาบทาโลก ซึ่งได้เคยกล่าวถึงแล้ว เป็นข้อความที่ยาว เช่นข้อความที่ว่า

    ตัณหา เรียกว่า ชัปปา ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ความยินดี ความพลอยยินดี เป็นต้น ... ความอยาก ความพัวพัน ความข้อง ความจม ความหวั่นไหว ความลวง ธรรมชาติอันให้สัตว์เกิด ธรรมชาติอันยังให้สัตว์เกิดกับทุกข์ ธรรมชาติอันเย็บไว้ ธรรมชาติเพียงดังข่าย ธรรมชาติอันไหลไป ธรรมชาติอันซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ ความเป็นผู้หลับ ความกว้างขวาง ธรรมชาติอันให้อายุเสื่อม ความเป็นเพื่อน ความตั้งใจไว้ ธรรมชาติอันเป็นเหตุนำไปสู่ภพ

    แต่ละลักษณะ แต่ละอาการนี้ก็เป็นสภาพของโลภะ ซึ่งอาจจะไม่รู้สึกตัวเลย เพราะเหตุว่าโลภะอยู่ด้วยเป็นประจำ ถ้าโลภะอยู่ด้วยเป็นประจำ จะรู้ไหมว่า ขณะนั้นเป็นโลภะ เช่น ในขณะที่ธรรมชาติที่เป็นความเป็นเพื่อน มีเพื่อนอยู่แล้วทุกคน ยังอยากได้เพื่อนอีกไหม ไม่พอ ใช่ไหม โลภะเป็นเพื่อนสนิทยิ่งว่าใคร อยู่ด้วยกันทุกค่ำเช้า ตั้งแต่เกิด และทุกภพทุกชาติตลอดไป มีเพื่อนอยู่แล้ว ยังปรารถนาเพื่อนอื่นอีก ก็แสดงให้เห็นว่า ต้องการเพิ่มโลภะอีก ไม่มีการที่จะเห็นว่า เพียงโลภะที่มีอยู่เป็นประจำก็น่าจะพอแล้ว ยังต้องการเพื่อนของโลภะ หรือว่าเพิ่มเพื่อนให้โลภะอีก

    ผู้ฟัง ที่ว่า โลกไม่ปรากฏเพราะความตระหนี่ปิดบังไว้ คำว่า โลก ในที่นี้ หมายถึงรูปธรรมและนามธรรมนี้หรือไง

    ท่านอาจารย์ สภาพธรรมที่เป็นจิต เจตสิก รูป

    ผู้ฟัง ไม่ใช่โลก คือ หมู่สัตว์

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีจิต เจตสิก รูป โลกก็ไม่มี ไม่ว่าจะเป็นโลกประเภทไหน

    ผู้ฟัง คำว่า โลกในที่นี้ หมายถึงทางปรมัตถ์ ไม่ได้หมายถึงสมมติบัญญัติ

    ท่านอาจารย์ ถึงจะเป็นสมมติบัญญัติก็พ้นจากปรมัตถธรรมไม่ได้ อย่างโลกนี้ก็เป็นรูป มีอะไรบ้างในโลก มีพืชผักชนิดไหน มีสิ่งใดๆ ในโลกนี้ เพชรนิลจินดา ภูเขา ทะเล ท้องฟ้า เมฆ มหาสมุทร พวกนี้ก็เป็นรูปทั้งนั้น และที่โลกจะปรากฏ ก็ต้องมีสภาพรู้ ใช่ไหม

    ผู้ฟัง คือกระผมคิดว่า อย่างความตระหนี่นี้ ถ้ามีมากๆ แล้ว ทำให้คนที่เคยมีเพื่อน ก็กลับไม่มีเพื่อน เพื่อนก็หายๆ ไป ปกปิด คือว่าพูดง่ายๆ ทำตัวให้เป็นคนลึกลับ ไม่ค่อยมีเพื่อนฝูงหรือญาติพี่น้อง เมื่อความตระหนี่มี ก็ปกปิดไม่ให้ปรากฏ แต่ถ้าที่อาจารย์บรรยายก็หมายความว่า เรามีความตระหนี่ ก็ไม่พิจารณาถึงเรื่องสมมติ ตัวอย่างว่า เรานั่งรถเมล์ หรือรถประจำทางอะไรก็แล้วแต่ เห็นผู้หญิงแก่ๆ หรือคนมีท้องขึ้นมา เราเห็นเขามีความทุกข์ บางทีเขาอุ้มลูก เขาคงมีทุกข์ อยากจะนั่ง แต่เราก็นั่งเฉยๆ หรือทำเป็นหลับเสีย แสดงว่าเรามีความตระหนี่ในที่นั่ง ไม่อยากจะเสียสละให้เขา ลักษณะอย่างนี้ก็แสดงว่า เราขาดการพิจารณาในเวทนา หรืออะไรที่เราได้รับที่เป็นสุข และไม่เผื่อแผ่ให้คนอื่น ถ้าพิจารณาในลักษณะนี้ ก็เป็นธรรมที่ลึกซึ้ง ไม่ได้พูดถึงว่า พิจารณาในเรื่องว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นอะไรธรรมดา ซึ่งกระผมเข้าใจว่า ความตระหนี่ปิดบังโลกไม่ให้ปรากฏ คงจะหมายถึงทั้งนัยที่เป็นสมมติบัญญัติ และนัยที่เป็นปรมัตถ์ด้วย ทั้ง ๒ นัย ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ต้องพิจารณาสภาพธรรมในขณะนั้นว่า ความตระหนี่คืออะไร แล้วปิดบังอย่างไร และแทนที่จะพิจารณาภายนอก อย่างการขาดเพื่อนฝูงอะไรอย่างนี้ ว่าเป็นความตระหนี่ ใช่ไหม แต่ว่าไม่ได้รู้เรื่องโลก เพราะฉะนั้น ความตระหนี่อย่างนั้นจะปิดบังโลกไหม โลกในที่นี้ปรากฏทางตา จะเป็นเพื่อนฝูงมิตรสหาย เป็นอะไรก็ตามแต่

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นก็หมายความถึงสภาวธรรมที่ปรากฏในขณะนั้นๆ

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าลึกลงไปในขณะที่ความตระหนี่เกิดนี้ จะต้องรู้ว่า ยังมีความยึดมั่นในตัวตนมากทีเดียว

    ผู้ฟัง ในขณะที่โลกทางตาปรากฏ แล้วก็มีสภาพรู้ทางตา เฉพาะสภาพรู้รูปารมณ์ทางตาในขณะที่ยังไม่ได้เกิดความคิดนึก มีเวทนา สัญญา สังขาร เกิดร่วมด้วยหรือเปล่า เฉพาะรูปารมณ์

    ท่านอาจารย์ เวลาที่นามธรรมเกิด ได้แก่ จิตและเจตสิก เป็นนามขันธ์ ๔ ต้องเกิดพร้อมกัน แยกกันไม่ได้เจ้า เพราะเหตุว่าจิตและเจตสิก ได้แก่ นามขันธ์ ๔ คือ เวทนาเจตสิก เป็นเวทนาขันธ์ สัญญาเจตสิก เป็นสัญญาขันธ์ เจตสิกอื่นเป็นสังขารขันธ์ จิตเป็นวิญญาณขันธ์ ในเมื่อจิตต้องเกิดร่วมกับเจตสิก และเจตสิกต้องเกิดร่วมกับจิต เพราะฉะนั้น นามขันธ์ทั้ง ๔ นี้ไม่แยกกันเลยเจ้า

    ผู้ฟัง หมายความว่า จักขุวิญญาณก็มีครบอยู่แล้ว

    ท่านอาจารย์ นามขันธ์ ๔ แยกกันไม่ได้เลยเจ้า

    ผู้ฟัง ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานที่ระลึกรู้สภาพธรรมทางตาก็ดี ทางหูก็ดี ที่ว่าเห็นเฉพาะรูปารมณ์จริงๆ นั้น ไม่ทราบว่าขณะนั้นเห็นบัญญัติแล้วหรือยัง

    ท่านอาจารย์ เห็นด้วยปัญญาเจ้า เพราะในขณะนี้สิ่งที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง เป็นรูปชนิดหนึ่ง นี่คือความจริงซึ่งสติจะต้องระลึกบ่อยๆ แล้วปัญญาจะต้องน้อมพิจารณาจนกระทั่งประจักษ์สภาพที่เป็นอนัตตาของรูปารมณ์ที่ปรากฏว่า ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตนใดๆ ทั้งสิ้น เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่มีลักษณะกระทบกับจักขุปสาทแล้วปรากฏได้ ซึ่งแม้ว่าลักษณะของสภาพธรรมนี้มีจริง แต่ถ้าไม่กระทบกับจักขุปสาทก็ไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้น เมื่อกระทบกับจักขุปสาทแล้วปรากฏ ลักษณะของรูปารมณ์ที่ปรากฏก็เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ส่วนการคิดนึกและความทรงจำในเรื่องรูปร่างสัณฐาน ไม่ใช่เรื่องของจักขุทวารวิถีจิตเจ้า

    ผู้ฟัง ก็หมายความ ในขณะที่ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ไม่ได้เกิดความคิดนึกร่วมด้วยใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ จักขุวิญญาณจิตเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ยังไม่รู้ว่าเป็นใคร ยังไม่รู้ว่าเป็นอะไร เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏเท่านั้นเจ้า เมื่อจักขุวิญญาณจิตดับ สัมปฏิจฉนจิตเกิดต่อ สันตีรณจิตเกิดต่อ โวฏฐัพพนจิตเกิดต่อ ชวนจิต ๗ ขณะเกิดต่อ ถ้ารูปยังไม่ดับ ตทาลัมพนะก็เกิดต่ออีก ๒ ขณะ ก็เป็นรูปารมณ์ที่ยังไม่ดับ ยังไม่มีการคิด การนึกถึงรูปร่างสัณฐานของรูปารมณ์ที่ปรากฏเจ้า

    ผู้ฟัง หมายความว่าในขณะที่เราคิดนึกต่อจากการเห็น และขณะที่เห็นเป็น...

    ท่านอาจารย์ ในขณะที่เห็นเป็นคน ในขณะนั้นไม่ใช่จักขุทวารวิถีเจ้า เป็นมโนทวารวิถีซึ่งเกิดสลับกับจักขุทวารวิถี เพราะฉะนั้น จึงเป็นการยากที่จะถอนความเห็นสิ่งต่างๆ ทางตาที่เคยยึดถือว่าเป็นสัตว์ บุคคล เป็นสิ่งต่างๆ แล้วให้รู้ตามความเป็นจริงว่า เป็นเพียงสภาพธรรมที่มีจริง ที่ปรากฏเมื่อกระทบกับจักขุปสาทเท่านั้น

    ผู้ฟัง ที่เรียนถามนี้ เพราะมีอยู่ในเทปธรรมม้วนหนึ่ง ที่ยกตัวอย่างในขณะที่เรากระทบสิ่งที่แข็งในที่มืด ที่ไม่เห็นอะไร แล้วแข็งที่ปรากฏในขณะที่มีสติระลึกรู้ทางกายจริงๆ นั้น เป็นเพียงสภาพแข็งที่กระทบเท่านั้น ก็เลยคิดว่า ทั้งรูป ทั้งเสียง ทั้งกลิ่น ทั้งรส ทั้งโผฏฐัพพะ ทั้ง ๕ ทางนี้ จะไม่มีความคิดนึกเกิดร่วมด้วย เลยเข้าใจอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ ก็มีสภาพธรรมปรากฏแต่ละอย่าง แต่ละลักษณะ อย่างทางตาที่กำลังปรากฏนี้ก็ไม่แข็ง แต่ทางกายแข็ง แต่ก็ไม่สว่าง ไม่ได้ปรากฏเป็นรูปร่างสัณฐานต่างๆ ทางหูก็เป็นเสียง ซึ่งไม่ใช่สีสันต่างๆ และก็ไม่ใช่แข็ง ปรมัตถธรรมแต่ละอย่างก็ปรากฏได้แต่ละทางเจ้า

    ผู้ฟัง หมายความว่า ถ้าเป็นสัตว์ บุคคลแล้วนี่ ต้องเป็นธรรมารมณ์แล้ว

    ท่านอาจารย์ ทางมโนทวารวิถี ซึ่งเกิดสลับกับทางปัญจทวารวิถี เพราะว่าทางตาในขณะนี้ก็ยังมีเห็น ยังมีมีรูปารมณ์ แต่เมื่อไม่พิจารณาก็ยึดถือทางมโนทวารว่า รูปารมณ์ที่ปรากฏนั้นเป็นสัตว์ เป็นบุคคลต่างๆ ที่แท้แล้วก็เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้นเอง

    เพราะฉะนั้น ความคิดนึกในวันหนึ่งๆ นี่มากมายมหาศาล เพราะว่าพอเห็นแล้วก็เป็นเรื่องราว เป็นสัตว์ เป็นบุคคลต่างๆ พอได้ยินก็เป็นเรื่องราว เป็นสัตว์ เป็นบุคคลต่างๆ พอได้กลิ่นก็เป็นเรื่องราว เป็นสัตว์ เป็นบุคคลต่างๆ พอได้ลิ้มรส ก็เป็นเรื่องอาหารต่างๆ พอกระทบสัมผัสก็เป็นเรื่องวัตถุต่างๆ ก็แสดงว่า โลกของเรื่องราวหรือความคิดนึกนี้มาก จนกระทั่งปิดบังลักษณะของปรมัตถธรรมที่ปรากฏชั่วขณะที่เล็กน้อย สั้นมาก เพราะเหตุว่าตามความเป็นจริงแล้ว ทางตาต้องกำลังเกิดดับในขณะนี้ เช่นเดียวกับทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่ศีรษะนี้ใหญ่มากใช่ไหม อวิชชานี่ วิธีที่จะรู้ว่า ใหญ่แค่ไหนก็คือทางตานี้ เห็นแล้วรู้ไหม ถ้ายังไม่รู้ ก็รู้ได้ว่าศีรษะนี้ใหญ่แค่ไหน ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ โดยนัยเดียวกัน

    สำหรับลักษณะของโลภะ มีข้อสงสัยอะไรบ้างไหม เป็นความตั้งใจไว้ หรือว่า ธรรมชาติเพียงดังว่าป่า ยากไหมที่จะทำลาย เต็มไปด้วยต้นไม้นานาชนิด คือ กิเลสนานาชนิด

    ธรรมชาติเพียงดังว่าหมู่ไม้ในป่า ความสนิทสนม ความมีเยื่อใย

    ถ้าไม่ค่อยสนิทสนมก็ยังตัดง่ายใช่ไหม แต่ถ้ายิ่งสนิทสนมก็ยิ่งตัดยาก เพราะฉะนั้น โลภะเป็นความสนิทสนม ทุกๆ ชาติจะละโลภะนี่ต้องยากมากทีเดียว

    ความมีเยื่อใย ความพัวพัน ความหวัง กิริยาที่หวัง ความเป็นผู้หวัง หวังในรูป หวังในเสียง หวังในกลิ่น หวังในรส หวังในโผฏฐัพพะ หวังในลาภ หวังในทรัพย์ หวังในบุตร หวังในชีวิต กระซิบ กระซิบทั่ว กระซิบยิ่ง กิริยาที่กระซิบ ความเป็นผู้กระซิบ

    เวลาที่กระซิบเบาๆ คนอื่นยังได้ยินใช่ไหม แต่เวลาโลภะกระซิบนี้ ไม่มีใครได้ยิน แต่กระซิบอยู่ตลอด เพราะฉะนั้น ก็รู้ได้เลย ขณะไหนนึกคิดขึ้นมาด้วยโลภะ ขณะนั้นก็กระซิบไปเป็นเรื่องต่างๆ

    ความที่ตัณหาหวั่นไหว

    จริงไหม กลัวไปเสียทุกอย่าง ถ้าหมดตัณหาก็หมดเรื่องที่จะกลัว แม้แต่ชีวิตหรือ ภัยของชีวิต แต่เพราะยังมีตัณหาอยู่ ยังมีความพอใจยึดมั่นอยู่ เพราะฉะนั้น ความที่ตัณหาหวั่นไหว กลัวว่าจะเสื่อมลาภ เสื่อมยศ เสื่อมสุข เสื่อมสรรเสริญ

    ความโลภไม่สม่ำเสมอ ความใคร่ กิริยาที่ใคร่ ความปรารถนา ความทะเยอทะยาน ความประสงค์

    นี่เป็นลักษณะต่างๆ ของตัณหา

    ต่อไปเป็นข้อความที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องของ “ทุกข์” อาการต่างๆ ของทุกข์ ที่มีตัณหาเป็นแดนเกิด ซึ่งก็ได้เคยกล่าวถึงแล้ว เช่นข้อความที่ว่า

    ทุกข์เป็นภัยใหญ่ของโลกนั้น คือ ชาติทุกข์ ชราทุกข์ พยาธิทุกข์ มรณทุกข์ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ทุกข์ในนรก ทุกข์ในกำเนิดดิรัจฉาน ทุกข์ในปิติวิสัย ทุกข์ในมนุษย์ ทุกข์มีการก้าวลงสู่ครรภ์เป็นมูล ทุกข์มีการตั้งอยู่ในครรภ์เป็นมูล ทุกข์มีความออกจากครรภ์เป็นมูล ทุกข์เนื่องแต่สัตว์ผู้เกิด ทุกข์เนื่องแต่ผู้อื่นแห่งสัตว์ผู้เกิด ทุกข์เกิดแต่ความเพียรของตน ทุกข์เกิดแต่ความเพียรของผู้อื่น ทุกข์ในทุกข์ สงสารทุกข์ วิปริณามทุกข์ โรคนานาชนิด... อาพาธเกิดเพราะเปลี่ยนอิริยาบถไม่สม่ำเสมอกัน อาพาธเกิดเพราะความเพียร อาพาธเกิดเพราะผลกรรม ความหนาว ความร้อน ความหิว ความกระหาย ... ความตายของมารดาก็เป็นทุกข์ ความตายของบิดาก็เป็นทุกข์ ความตายของพี่น้องชายก็เป็นทุกข์ ความตายของพี่น้องหญิงก็เป็นทุกข์ ความตายของบุตรก็เป็นทุกข์ ความตายของธิดาก็เป็นทุกข์ ความพินาศแห่งญาติก็เป็นทุกข์ ความพินาศแห่งโภคทรัพย์ก็เป็นทุกข์ ความพินาศเพราะโรคก็เป็นทุกข์ ความพินาศแห่งศีลก็เป็นทุกข์ ความพินาศแห่งทิฏฐิก็เป็นทุกข์ ...

    เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “โลกอันอวิชชาหุ้มห่อไว้ โลกไม่ปรากฏเพราะความตระหนี่ เรากล่าวว่าตัณหาเป็นเครื่องฉาบทาโลก ทุกข์เป็นภัยใหญ่ของโลกนั้น”

    ท่านอชิตะทูลถามว่า “กระแสทั้งหลายย่อมไหลไปในอายตนะทั้งปวง

    เป็นความจริงใช่ไหม ในเมื่อเข้าใจแล้วว่า ไม่ว่าจะเป็นทางตาเห็น ทางหูได้ยิน ทางจมูกได้กลิ่น ทางลิ้นลิ้มรส อกุศลก็เกิด

    อะไรเป็นเครื่องกั้นกระแสทั้งหลาย ขอพระองค์จงทรงตรัสบอกธรรมเป็นเครื่องกั้นกระแสทั้งหลาย กระแสทั้งหลายอันอะไรย่อมปิดกั้นได้”

    ถ้าเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงรู้แจ้งเรื่องทุกข์


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 23
    18 ม.ค. 2565

    ซีดีแนะนำ