โสภณธรรม ครั้งที่ 035


    ครั้งที่ ๓๕

    เพราะฉะนั้น เมื่อเข้าใจแล้ว นั่นคือปริยัติ ขณะใดที่สติปัฏฐานไม่เกิด ไม่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ขณะนั้นคือกำลังศึกษาปริยัติ และขณะที่เป็นการปฏิบัติ ก็คือแม้ในขณะที่กำลังฟังในขณะนี้เอง สติก็ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทีละลักษณะได้ เสียงก็มี ได้ยินก็มี คิดก็มี เห็นก็มี เข้าใจก็มี นี่ก็เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง ซึ่งสติสามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่มีจริง ที่กำลังปรากฏในขณะนั้นได้

    เพราะฉะนั้น บางท่านก็ยังสงสัยเรื่องของสติปัฏฐานว่า สติปัฏฐานมีลักษณะอย่างไร และก็เกิดขึ้นเมื่อไร ก็ขอให้ทราบว่า สภาพธรรมทั้งหมดไม่ใช่ตัวตน นี่เป็นสิ่งที่ลืมไม่ได้เลย ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน จะนั่ง จะนอน จะยืน จะเดิน จะเห็น จะได้ยิน จะคิดนึก ล้วนไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่างทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานไม่ใช่อื่นไกลเลย เป็นขณะที่ระลึกตรงลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ อย่างแข็ง ตั้งแต่เช้ากระทบมาโดยตลอด ตั้งแต่ตื่นกระทบแข็งแล้วใช่ไหม ทางกายทวาร รู้สึกตัวก็แข็งแล้ว หยิบจับไม่ว่าจะเป็นผ้าห่ม ที่นอน หมอน มุ้ง ถ้วย จาน ชาม แปรงสีฟัน ช้อนส้อม กระดาษ สมุด ทุกสิ่งทุกอย่าง ล้วนเป็นสิ่งที่กระทบสัมผัสแล้วแข็ง แต่สติไม่ได้ระลึก

    เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานก็คือขณะที่ระลึกตรงลักษณะของสิ่งที่มีจริง ตามปกติ ตามธรรมดา แล้วก็เริ่มพิจารณาเพื่อที่จะรู้ลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน โดยลักษณะนั้นเป็นเพียงแข็ง ไม่ใช่ลักษณะอื่น ไม่ใช่กลิ่น ไม่ใช่เสียง ไม่ใช่รส และขณะที่แข็งปรากฏ สภาพที่กำลังรู้แข็งนั้น ก็ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล จนกว่าจะหมดความเป็นเรา

    นี่คือสิ่งที่จะต้องอบรมเจริญไปจากชาติหนึ่งสู่อีกชาติหนึ่งๆ จนกว่าจะประจักษ์แจ้งในสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

    เพราะฉะนั้น เมื่อเข้าใจเรื่องของการศึกษาธรรม ซึ่งเป็นปริยัติ และการปฏิบัติก็คงจะไม่ต้องเดือดร้อนใจว่า เป็นผู้ที่ศึกษาน้อย ไม่ได้ศึกษาตามตำรามากอย่างท่านผู้อื่น แต่ว่าเป็นผู้ที่เข้าใจลักษณะสภาพธรรมเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งข้อความในพระไตรปิฎก ได้มีผู้ที่ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า บุคคลใดเป็นพหุสูตร คือผู้ที่ศึกษามาก

    ข้อความในอังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต โยธาชีววรรค ข้อ ๑๘๖ มีข้อความว่า

    ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โลกอันอะไรหนอแลนำไป โลกอันอะไรชักมา และบุคคลย่อมลุอำนาจของอะไรที่บังเกิดขึ้นแล้ว”

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีละ ดีละ ภิกษุ ปัญญาของเธอหลักแหลม ปฏิภาณของเธอดีจริง ปริปุจฉาของเธอเข้าที เธอถามอย่างนี้ว่า โลกอันอะไรหนอแลนำไป โลกอันอะไรชักมา และบุคคลย่อมลุอำนาจของอะไรที่บังเกิดขึ้นแล้ว ดังนี้หรือ”

    ภิกษุกราบทูลว่า “อย่างนั้น พระเจ้าข้า”

    สิ่งที่เป็นใหญ่ที่สำคัญที่สุด ซึ่งชักนำให้กระทำทุกสิ่งทุกอย่างนั้นคืออะไร

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดูกรภิกษุ โลกอันจิตแลนำไป อันจิตชักมา และบุคคลย่อมลุอำนาจของจิตที่บังเกิดขึ้นแล้ว”

    เวลาที่กล่าวว่าใครดีใครชั่ว เพราะอะไรคะ เพราะจิตดีหรือจิตชั่ว ถ้าจิตดี ก็กล่าวว่าบุคคลนั้นเป็นคนดี เพราะเหตุว่า”กายก็ดี วาจาก็ดี ตามจิตที่ดี แต่ถ้าจิตไม่ดี จะกล่าวว่าคนนั้นดีได้ไหม ไม่ได้

    เพราะฉะนั้น การที่จะเป็นบุคคลใดก็ย่อมต้องแล้วแต่จิต และบุคคลย่อมลุอำนาจของจิตที่บังเกิดขึ้นแล้ว

    ภิกษุนั้นชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาคว่า “ดีแล้วพระเจ้าข้า” แล้วได้ทูลถามปัญหายิ่งขึ้นไปว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่า บุคคลเป็นพหูสูต เป็นผู้ทรงธรรม เป็นพหูสูต เป็นผู้ทรงธรรม ดังนี้ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอแล บุคคลจึงเป็นพหูสูต เป็นผู้ทรงธรรม”

    ซึ่งบางท่านก็อาจจะคิดว่า ท่านอายุมากแล้วจึงได้มาศึกษาพระธรรม เพราะฉะนั้น ก็คงจะศึกษาพระธรรมได้เพียงเล็กน้อย จะไม่เป็นพหูสูต แต่ว่าการเป็นพหูสูตไม่ใช่เพียงฟังเรื่องชื่อ หรือว่าศึกษาเรื่องชื่อ แต่ต้องเป็นการเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมตามที่ได้ฟังและก็พิจารณาโดยถูกต้อง

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีละ ดีละ ภิกษุ ปัญญาของเธอหลักแหลม ปฏิภาณของเธอดีจริง ปริปุจฉาของเธอเข้าที เธอถามอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่า บุคคลเป็นพหูสูต เป็นผู้ทรงธรรม เป็นพหูสูต เป็นผู้ทรงธรรม ดังนี้ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอแล บุคคลจึงเป็นพหูสูต เป็นผู้ทรงธรรม ดังนี้หรือ”

    ภิกษุกราบทูลว่า “อย่างนั้น พระเจ้าข้า”

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดูกรภิกษุ เราแสดงธรรมเป็นอันมาก คือ สุตตะ เคยยะ ไวยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาตก อัพพูตธรรม เวทัลละ ถ้าแม้ภิกษุรู้ทั่วถึงอรรถ รู้ทั่วถึงธรรมแห่งคาถา ๔ บาทแล้ว เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมไซร้ ก็ควรเรียกว่า เป็นพหูสูต เป็นผู้ทรงธรรม”

    เพราะฉะนั้น ก็จะต้องรู้ทั่วถึงอรรถของธรรมที่ได้ฟัง ด้วยการปฏิบัติตาม จึงจะเป็นพหูสูต มิฉะนั้น ก็จะไม่ชื่อว่าเป็นพหูสูต

    แม้แต่อรรถของคำว่า “อนัตตา” คำเดียวนี้ ครอบคลุมพระธรรมทั้งหมด ทั้ง ๓ ปิฎก ทุกโลก เพราะเหตุว่าไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตนเลย

    เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าถึงอรรถความหมายของอนัตตาจริงๆ ในขณะที่กำลังเห็น ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นอนัตตาอย่างไร

    เมื่อได้ฟังเรื่องราวของการเห็น และก็ปัจจัยที่ทำให้เกิดการเห็น ก็จะสามารถรู้ถึงความเป็นอนัตตาของเห็นในขณะนี้ได้ แต่ว่าโดยขั้นของการฟังและเข้าใจ แต่ก็ยังไม่พอ จะต้องโดยการปฏิบัติอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ในอรรถนั้นได้จริงๆ ว่า แม้ในขณะนี้ที่กำลังปรากฏทางตา ก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    ด้วยเหตุนี้ ไม่ใช่เพียงการเรียนเรื่องชื่อ แต่ว่าจะต้องเป็นการเข้าใจและก็ประพฤติปฏิบัติให้เข้าถึงอรรถของพระธรรมที่ทรงแสดงจริงๆ ถ้ามิฉะนั้นแล้ว ก็ไม่ชื่อว่า พหูสูต

    ภิกษุนั้นชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาคว่า “ดีแล้วพระเจ้าข้า แล้วได้ทูลถามปัญหายิ่งขึ้นไปว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่า บุคคลผู้สดับมีปัญญาชำแรกกิเลส ผู้สดับมีปัญญาชำแรกกิเลส ดังนี้ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอแล บุคคลจึงเป็นผู้สดับมีปัญญาชำแรกกิเลส”

    นี่พูดถึงเรื่องการที่จะดับกิเลสแล้ว

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีละ ดีละ ภิกษุ ปัญญาของเธอหลักแหลม ปฏิภาณของเธอดีจริง ปริปุจฉาของเธอเข้าที เธอถามอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่าบุคคลผู้สดับมีปัญญาชำแรกกิเลส ผู้สดับมีปัญญาชำแรกกิเลส ดังนี้ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอแล บุคคลจึงเป็นผู้สดับมีปัญญาชำแรกกิเลส ดังนี้หรือ”

    ภิกษุกราบทูลว่า “อย่างนั้น พระเจ้าข้า”

    มาถึงอีกจุดประสงค์หนึ่งของการฟังให้เข้าใจ และประพฤติปฏิบัติตามถึงการดับกิเลสด้วย จุดประสงค์สูงสุดของการฟังพระธรรม ไม่ใช่เพียงการฟังเฉยๆ แต่จะต้องให้ถึงบรรลุจุดสุดยอด คือ การดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ซึ่งถ้าไม่อาศัยการฟังพระธรรม จะไม่มีโอกาสที่จะดับกิเลสเลย เพราะฉะนั้น ก็ควรที่จะได้ทราบว่า ฟังทำไม พิจารณาธรรมทำไม ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทำไม เพื่อการดับกิเลส

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดูกรภิกษุ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ได้สดับว่า นี้ทุกข์ และเห็นแจ้งแทงตลอดเนื้อความแห่งคำที่สดับนั้นด้วยปัญญา ได้สดับว่า นี้ทุกขสมุทัย และได้เห็นแจ้งแทงตลอดเนื้อความแห่งคำที่สดับนั้นด้วยปัญญา ได้สดับว่า นี้ทุกขนิโรธ และเห็นแจ้งแทงตลอดเนื้อความแห่งคำที่สดับนั้นด้วยปัญญา ได้สดับว่านี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา และเห็นแจ้งแทงตลอดเนื้อความแห่งคำที่สดับนั้นด้วยปัญญา ดูกรภิกษุ บุคคลเป็นผู้สดับมีปัญญาชำแรกกิเลสอย่างนี้แล”

    ท่านที่ยังไม่ทราบว่า ตื่นขึ้นมาก็เป็นโลภะแล้ว ก็จะเห็นได้ว่า ยังจะต้องพิจารณาให้เข้าใจจริงๆ ตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “นี้ทุกขสมุทัย” และได้เห็นแจ้งแทงตลอดเนื้อความแห่งคำที่ได้สดับนั้นด้วยปัญญา

    “ทุกขสมุทัย” เมื่อไร ตั้งแต่ตื่น เห็น โดยสติระลึก ไม่ใช่ทำอย่างอื่น ที่จะให้โลภะไม่เกิด เพราะเหตุว่าเป็นไปไม่ได้เลย ที่จะไม่มีโลภะ ในเมื่อยังไม่ได้ดับโลภะได้ ต้องเห็นโลภะเสียก่อน ตื่นขึ้นมาไม่เคยเห็นโลภะเลย แต่ว่าต่อจากนี้ไป ตื่นแล้วเห็นโลภะ จะถูกไหม และควรเห็นไหม ทันทีที่มีการเคลื่อนไหว ก็รู้แล้วว่าขณะนั้นก็มีความต้องการ ไม่ใช่ทาน ไม่ใช่ศีล ไม่ใช่สมถะ ไม่ใช่สติปัฏฐานขณะใด ขณะนั้นเป็นความต้องการ แต่ว่าสติปัฏฐานสามารถที่จะเกิดต่างขณะ แล้วก็ระลึกลักษณะของความต้องการ ที่กำลังเคลื่อนไหวไปในขณะนั้นได้ แล้วก็จะเห็นจริงๆ ว่า มีแต่โลภะ ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานหมวดแรก

    ภิกษุนั้นชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาคว่า “ดีแล้วพระเจ้าข้า” แล้วได้ทูลถามปัญหายิ่งขึ้นไปว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่า บุคคลผู้เป็นบัณฑิตมีปัญญามาก ผู้เป็นบัณฑิตมีปัญญามาก ดังนี้ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอแลบุคคลจึงเป็นบัณฑิตมีปัญญามาก”

    ทุกคนก็อยากจะมีปัญญา และก็เป็นบัณฑิตกันทั้งนั้น แต่ก็ต้องทราบว่า การที่จะเป็นบัณฑิต มีปัญญาจริงๆ นั้นคือเป็นอย่างไร

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีละ ดีละ ภิกษุ ปัญญาของเธอหลักแหลม ปฏิภาณของเธอดีจริง ปริปุจฉาของเธอเข้าที เธอถามอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่าบุคคลผู้เป็นบัณฑิตมีปัญญามาก บุคคลผู้เป็นบัณฑิตมีปัญญามาก ดังนี้ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอแล บุคคลจึงเป็นบัณฑิตมีปัญญามาก ดังนี้หรือ”

    ภิกษุกราบทูลตอบว่า “อย่างนั้น พระเจ้าข้า”

    ใครที่จะเป็นบัณฑิตควรที่จะพิจารณาข้อความต่อไปที่พระผู้มีพระภาคตรัส

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดูกรภิกษุ บุคคลผู้เป็นบัณฑิตมีปัญญามากในธรรมวินัยนี้ ย่อมไม่คิดเพื่อเบียดเบียนตน ย่อมไม่คิดเพื่อเบียดเบียนผู้อื่น ย่อมไม่คิดเพื่อเบียดเบียนตนและผู้อื่น เมื่อคิด ย่อมคิดเพื่อเกื้อกูลแก่ตน เกื้อกูลแก่ผู้อื่น เกื้อกูลแก่ตนและผู้อื่น และเกื้อกูลแก่โลกทั้งหมดทีเดียว ดูกรภิกษุ บุคคลเป็นบัณฑิตมีปัญญามากอย่างนี้แล”

    โดยอีกนัยหนึ่ง ก็คือ ผู้ที่เป็นบัณฑิต คือ ผู้ที่เจริญกุศลทุกประการ จึงจะไม่เบียดเบียนตนเองและก็ไม่เบียดเบียนบุคคลอื่น และเมื่อคิด คิดเพื่อเกื้อกูลแก่ตน เกื้อกูลแก่ผู้อื่น เกื้อกูลแก่ตน และผู้อื่น เกื้อกูลแก่โลกทั้งหมดทีเดียว นั่น คือผู้ที่เป็นบัณฑิต

    พิจารณาตนเองได้ใช่ไหม ได้ฟังพระธรรมมามากแล้ว ยังคิดเบียดเบียนตน และก็เบียดเบียนผู้อื่น หรือว่าคิดเกื้อกูลตนเอง และเกื้อกูลผู้อื่น เกื้อกูลโลก

    ขณะใดที่ขุ่นเคืองใจ ขณะนั้นเบียดเบียนตน แล้วเบียดเบียนบุคคลอื่นด้วย แต่ว่าขณะใดที่ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง ในขณะนั้นก็เกื้อกูลตน เกื้อกูลผู้อื่น แล้วก็เกื้อกูลแก่โลกทั้งหมดทีเดียว

    มีพระภิกษุรูปหนึ่ง ท่านเขียนจดหมายมา ข้อความในจดหมายนั้น ท่านกล่าวว่า ท่านได้ฟังเรื่องแนวทางเจริญวิปัสสนา แล้วก็ท่านก็ได้แสดงธรรมตามแนวทางนี้ และตามที่ท่านศึกษาในพระไตรปิฎก แต่ก็มีผู้ที่ถามท่านว่า ท่านปฏิบัติตามที่ท่านแสดงด้วยหรือเปล่า

    นี่ก็เป็นสิ่งที่ทำให้ท่านรู้สึกอึดอัดใจที่มีผู้ถามท่านว่า ท่านปฏิบัติได้ตามที่ท่านแสดงหรือเปล่า แต่ว่าตามความเป็นจริงแล้ว ไม่มีข้อที่จะต้องอึดอึดใจเลย เพราะเหตุว่าทุกท่านนอกจากพระอรหันต์บุคคลเดียว เป็นผู้ที่กำลังปฏิบัติธรรม ไม่ใช่ว่าไม่ปฏิบัติ แม้แต่การฟัง ฟังเพื่ออะไร ฟังเพื่อให้เข้าใจ เข้าใจเพื่ออะไร เพื่อปฏิบัติถูก

    เพราะฉะนั้น ในการฟังก็เพื่อปฏิบัติธรรม และเมื่อฟังเข้าใจแล้วก็น้อมประพฤติปฏิบัติด้วย เพราะเหตุว่าเมื่อยังไม่เป็นพระอรหันต์ตราบใด ตราบนั้นก็ยังเป็นผู้ที่ปฏิบัติธรรมอยู่

    เรื่องพระธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก แม้ว่าจะมีอกุศลอยู่ตั้งแต่ลืมตาจนกระทั่งหลับตา ก็ยากที่จะเห็นว่า เป็นอกุศลโดยละเอียด เพราะเหตุว่าเพียงบางวาระเท่านั้นที่จะระลึกได้ว่า นี่เป็นอกุศล แต่ว่าหลายวาระทีเดียวในวันหนึ่งๆ โดยการฟังรู้ว่ามีอกุศลมาก แต่ว่าระลึกไม่ได้ รู้ไม่ได้ อย่างตื่นนอนขึ้นมา มีใครคิดบ้างไหมว่า เป็นอกุศลแล้ว แต่เวลาที่เกิดดีใจ ชอบใจสิ่งใดมากๆ ก็บอกว่าโลภะ เป็นความติด เป็นความพอใจ หรือว่าเวลาขุ่นเคืองใจมากๆ ก็บอกว่า นี่โทสะ แต่ว่าก่อนนั้น ก่อนที่โลภะจะปรากฏลักษณะที่เห็นได้ชัด หรือว่าโทสะจะปรากฏลักษณะที่เห็นได้ชัด ทั้งโลภะ โทสะ โมหะ ก็มากมายตั้งแต่ตื่นจนถึงหลับ

    เพราะฉะนั้น การศึกษาพระธรรมโดยละเอียด พระธรรมเปรียบเหมือนผู้ชี้ขุมทรัพย์ให้บุคคลที่ได้เข้าใจพระธรรม แก้จิตของตนเองที่เป็นอกุศล ที่คดโกง ด้วยการที่ต้องเป็นผู้ที่ตรงจริงๆ และการที่จะตรงจริงๆ ก็คือขณะที่สติเกิด จึงสามารถจะรู้ลักษณะของสภาพจิตได้ว่า ลักษณะที่เป็นอกุศลต่างกับขณะที่เป็นกุศล

    และก็ความแยบยลของกิเลสนี้มีมากมายเหลือเกิน สำหรับผู้ที่เป็นคนพาล ซึ่งคนพาลนั้นย่อมไม่รู้ว่าตนเองเป็นคนพาล แต่พระธรรมที่ทรงแสดงไว้ก็เป็นประโยชน์ที่จะเกื้อกูลได้

    ข้อความในอังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต โยธาชีววรรค ข้อ ๑๘๘ มีข้อความว่า

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏใกล้กรุงราชคฤห์ครั้งนั้นแล อุปกมัณฑิกาบุตรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

    “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพเจ้ามีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ผู้ใดผู้หนึ่งกล่าวติเตียนผู้อื่น ผู้นั้นทั้งหมดย่อมไม่อาจให้กุศลกรรมเกิดขึ้นได้ เมื่อไม่อาจให้กุศลกรรมเกิดขึ้นได้ ย่อมเป็นผู้ถูกครหาติเตียน”

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    “ดูกรอุปกะ ถ้าบุคคลกล่าวติเตียนผู้อื่น เมื่อเขากล่าวติเตียนผู้อื่นอยู่ ย่อมไม่อาจให้กุศลกรรมเกิดขึ้นได้ เมื่อไม่อาจให้กุศลกรรมเกิดขึ้นได้ ย่อมเป็นผู้ถูกครหาติเตียนไซร้

    ดูกรอุปกะ ท่านนั่นแหละกล่าวติเตียนผู้อื่น ย่อมไม่อาจให้กุศลกรรมเกิดขึ้นได้ เมื่อไม่อาจให้กุศลกรรมเกิดขึ้นได้ ย่อมเป็นผู้ถูกครหาติเตียน”

    ดูจิตของคนที่ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค แล้วไม่รู้จิตของตัวเองว่าเป็นอกุศล เพราะเหตุว่าอุปกมัณฑิกาบุตรเป็นอุปัฏฐากของท่านพระเทวทัต เพราะฉะนั้น ก็ไปเฝ้า เพราะคิดว่าเมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสเรื่องท่านพระเทวทัตจะตกอเวจีมหานรก ตนก็จะได้กล่าวเสียดสีว่า พระผู้มีพระภาคตรัสติเตียนผู้อื่น นี่คือ ความในใจของคนที่เป็นพาล แล้วก็ไม่เข้าใจในพระมหากรุณาของพระผู้มีพระภาคที่ทรงแสดงธรรมตามธรรม เหตุเป็นอย่างไร ผลก็เป็นอย่างนั้น แต่เมื่อไม่เข้าใจก็คิดว่า พระผู้มีพระภาคตรัสติเตียนท่านพระเทวทัต แต่ว่าพระผู้มีพระภาคทรงทราบความคิดของอุปกมัณฑิกาบุตร เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “ดูกรอุปกะ ถ้าบุคคลกล่าวติเตียนผู้อื่น เมื่อเขากล่าวติเตียนผู้อื่นอยู่ ย่อมไม่อาจให้กุศลกรรมเกิดขึ้นได้

    นี่คือใจของอุปกมัณฑิกาบุตร

    เมื่อไม่อาจให้กุศลกรรมเกิดขึ้นได้ ย่อมเป็นผู้ถูกครหาติเตียนไซร้

    ดูกรอุปกะ ท่านนั่นแหละกล่าวติเตียนผู้อื่น ย่อมไม่อาจให้กุศลกรรมเกิดขึ้นได้ เมื่อไม่อาจให้กุศลกรรมเกิดขึ้นได้ ย่อมเป็นผู้ถูกครหาติเตียน”

    อุปกมัณฑิกาบุตรกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุคคลพึงจับปลาที่พอผุดขึ้นเท่านั้นด้วยแหใหญ่ แม้ฉันใด ข้าพระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน พอเอ่ยขึ้นเท่านั้น พระผู้มีพระภาคก็ทรงจับด้วยบ่วงคือวาทะอันใหญ่”

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดูกรอุปกะ เราบัญญัติแล้วว่า นี้เป็นอกุศลแล บท พยัญชนะ ธรรมเทศนาของตถาคตในข้อนั้นหาประมาณมิได้ว่า นี้เป็นอกุศลแม้เพราะเหตุนี้ อนึ่ง เราบัญญัติว่า อกุศลนี้แลควรละเสีย บท พยัญชนะ ธรรมเทศนาของตถาคตในข้อนั้น หาประมาณมิได้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ อกุศลนี้ควรละเสีย อนึ่ง เราบัญญัติไว้แล้วว่า นี้เป็นกุศลแล บท พยัญชนะ ธรรมเทศนาของตถาคตในข้อนั้น หาประมาณมิได้ว่า นี้เป็นกุศลแม้เพราะเหตุนี้ อนึ่ง เราบัญญัติว่า กุศลนี้นั้นแลควรบำเพ็ญ บท พยัญชนะ ธรรมเทศนาของตถาคตในข้อนั้น หาประมาณมิได้ว่า กุศลนี้ควรบำเพ็ญแม้เพราะเหตุนี้”

    ในพระไตรปิฎกทั้งหมด จะเต็มไปด้วยบท พยัญชนะ พระธรรมเทศนาหาประมาณมิได้ในเรื่องของอกุศลธรรมและกุศลธรรมโดยละเอียด โดยนัยต่างๆ เพื่อที่จะให้เห็นโทษของอกุศล เพื่อที่จะได้ละอกุศล และก็เพื่อที่จะได้เห็นประโยชน์ของกุศล เพื่อที่จะได้เจริญกุศลทุกประการ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมหลายนัย เพื่ออนุเคราะห์ให้เห็นประโยชน์ของกุศล และโทษของอกุศล แม้ในอรรถสาลินี นิกเขปกัณฑ์ อธิบายนิทเทสแห่งทิฏฐิวิสุทธิ ข้อ ๑๓๗๓ ซึ่งมีข้อความที่อาจจะแปลกจากที่เคยได้ยินกัน เพราะเหตุว่าตามธรรมดาก็ย่อมเคยได้ยินได้ฟังบ่อยๆ ว่า ทุกคนมีกรรมเป็นของๆ ตน แต่ในอรรถสาลินี นิกเขปกัณฑ์ อธิบายนิทเทสแห่งทิฏฐิวิสุทธิ ข้อ ๑๓๗๓ มีข้อความว่า

    คำว่า กมฺมสฺสกตัญฺญาณ ได้แก่ ปัญญาที่รู้ว่า กรรมนี้เป็นของตน กรรมนี้ไม่ใช่เป็นของตน ในกรรม ๒ อย่างนั้น กรรมที่ตนหรือคนอื่นทำ จงยกไว้

    เพราะเหตุว่าเป็นเรื่องที่รู้กันอยู่แล้วว่า กรรมที่ตนกระทำไว้แล้วจะเป็นผลของคนอื่นไม่ได้ ข้อความต่อไปมีว่า

    อกุศลกรรมทั้งหมดไม่ใช่ของตน

    นี่เป็นการแยก กรรมใดไม่ใช่ของตน และกรรมใดเป็นของตน คือ อกุศลกรรมทั้งหมดไม่ใช่ของตน กุศลกรรมชื่อว่าเป็นของตน อย่าเพิ่งดีใจว่า ทำอกุศลกรรมแล้วจะไม่ใช่ของตน เพราะเหตุว่านี่เป็นอีกนัยหนึ่ง

    อกุศลกรรมทั้งหมดไม่ใช่ของตน กุศลกรรมชื่อว่า เป็นของตน เพราะเหตุไร

    เพราะหักประโยชน์ และเพราะไม่ให้เกิดประโยชน์ ส่วนกุศลกรรมชื่อว่า เป็นของตน เพราะไม่หักประโยชน์และเพราะให้เกิดประโยชน์

    ถูกไหม เวลาที่อกุศลกรรมเกิดขึ้น ทำลายทุกอย่าง การรบราฆ่าฟัน การเบียนเบียด การประทุษร้าย ไม่ว่าจะเป็นด้วยกาย ด้วยวาจา เวลาที่อกุศลกรรมเกิดแล้วย่อมหักประโยชน์ ทำลายทุกอย่าง ถ้ามีทรัพย์สมบัติข้าวของ เวลาโกรธจัดๆ บางคนก็อาจจะทำลายทรัพย์สมบัติข้าวของที่มีอยู่ เพราะฉะนั้น เวลาที่อกุศลกรรมเกิด ทรัพย์สมบัติข้าวของนั้นจะยังเป็นของตนอยู่ได้ไหม ในเมื่ออกุศลกรรมนั้นทำลายสิ่งที่เคยเป็นของๆ ตนแล้ว

    เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า อกุศลกรรมไม่ใช่ของตน เพราะหักประโยชน์ และเพราะไม่ให้เกิดประโยชน์ เวลาที่อกุศลกรรมให้ผล ทรัพย์สมบัติทุกอย่างที่เป็นของตน เวลาที่อกุศลกรรมให้ผลก็ทำให้ทรัพย์สมบัติทุกอย่างนั้นพินาศสูญเสีย ไม่เป็นของตนอีกต่อไป

    เพราะฉะนั้นก็ อกุศลกรรมไม่ให้เกิดประโยชน์ และแม้สิ่งที่เคยเป็นของตน ก็ยังสูญเสียไปในเมื่ออกุศลกรรมนั้นให้ผล เพราะฉะนั้น อกุศลกรรมไม่ใช่ของตน วันหนึ่งๆ มีเรื่องสูญเสียเล็กๆ น้อยๆ อยู่เรื่อยๆ หรือเปล่า นี่ไม่ใช่ของตน สิ่งที่เคยเป็นของตน เสื้อสักตัวหนึ่ง ถ้าถูกรีดไหม้ ยังจะเป็นของตนไหม ใส่ไม่ได้ ใช้ไม่ได้ หรือว่าเสื้อที่ถูกตะปูเกี่ยวเป็นรอย อกุศลกรรมหักประโยชน์เพราะไม่ให้เกิดประโยชน์ ในขณะนั้นก็แทนที่จะเป็นของตนอยู่ต่อไป ก็ไม่ใช่ของตนเสียแล้ว ในเมื่อเป็นอกุศลกรรมและเป็นผลของอกุศลกรรม

    สำหรับกุศลกรรมก็ตรงกันข้าม ไม่หักประโยชน์ใดๆ เลย ในขณะที่กุศลกรรมเกิด มีการช่วยเหลือเกื้อกูล เป็นประโยชน์ทั้งตนเองและบุคคลอื่น


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 23
    18 ม.ค. 2565

    ซีดีแนะนำ