โสภณธรรม ครั้งที่ 025


    ครั้งที่ ๒๕

    ถ้ายังเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวไม่ได้ เป็นความผิดของใคร เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาจริงๆ ถึงจะได้ประโยชน์ เป็นความผิดของคนอื่น หรือว่าเป็นความผิดของท่านเอง เพราะในขณะที่กำลังไม่เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับคนอื่น ขณะนั้นจิตเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล เป็นแต่เพียงจิตซึ่งคิด คิดถึงคนอื่น ซึ่งความจริงคนอื่นก็ไม่มี ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล มีแต่สภาพธรรมซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แต่ในความทรงจำเรื่องสัตว์ เรื่องบุคคล ทำให้ความรู้สึกในขณะนั้น ไม่เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับบางบุคคล

    ถ้าระลึกได้อย่างนี้ เห็นกิเลสของตนเอง รู้ว่าขณะนั้นเป็นอกุศล และก็รู้ด้วยว่าอกุศลทั้งหลายที่เกิดขึ้นเพราะคิด คิดเอง คนอื่นอาจจะไม่ได้มุ่งหมายหรือว่าตั้งใจอย่างนั้นเลย แต่ว่าความคิดของท่านเองทำให้เกิดอกุศล แล้วก็ไม่เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับคนอื่น เพราะฉะนั้น สาเหตุทั้งหมดก็อยู่ที่อกุศลของตนเอง ถ้าไม่รู้อย่างนี้ ชีวิตประจำวันในวันหนึ่งๆ ก็เป็นอกุศลที่ผ่านไปโดยที่ไม่สามารถจะรู้ได้ว่า แม้ในขณะนั้นก็เป็นอหิริกะและอโนตตัปปะ คือ ไม่ละอาย ไม่รังเกียจที่จะไม่รู้ลักษณะสภาพธรรมที่ปรากฏกับตนตามความเป็นจริง

    ข้อความในพระไตรปิฎก แม้ว่าพระผู้มีพระภาคจะได้ทรงแสดงธรรม อนุเคราะห์พุทธบริษัทเป็นอันมาก แต่แม้กระนั้นก็ยังต้องทรงโอวาทแก่ภิกษุผู้ไม่มีหิริ โอตตัปปะ

    ข้อความในสังยุตตนิกาย นิทานวรรค กัสสปสังยุตต์ มีข้อความที่แสดงให้เห็นหิริโอตตัปปะหลายพระสูตรทีเดียว เช่น ในโอวาทสูตรที่ ๑ ข้อ ๔๘๓

    ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน เขตพระนครราชคฤห์ . ครั้งนั้นท่านพระมหากัสสปเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นท่านพระมหากัสสปะนั่งเรียบร้อยแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังนี้ว่า “ดูกรกัสสปะ เธอจงกล่าวสอนภิกษุทั้งหลาย จงกระทำธรรมีกถาแก่ภิกษุ เราหรือเธอพึงกล่าวสอนภิกษุทั้งหลาย เราหรือเธอพึงกระทำธรรมีกถาแก่ภิกษุทั้งหลาย”

    ซึ่งข้อความในอรรถกถามีว่า เพราะเหตุไรพระผู้มีพระภาคจึงตรัสดังนี้

    ตอบว่า เพื่อตั้งพระเถระไว้ในฐานะของพระองค์

    ถามว่า ก็ท่านพระสารีบุตรและท่านพระมหาโมคคัลลานะ ไม่มีหรือ

    ตอบว่า มี แต่พระองค์ได้ทรงมีพระดำริอย่างนี้ว่า พระอัครสาวกทั้งสองอยู่ไม่นาน เพราะเหตุว่าพระอัครสาวกทั้งสองปรินิพพานก่อนพระองค์ ส่วนท่านพระมหากัสสปะนั้นมีอายุ ๑๒๐ ปี และเมื่อพระผู้มีพระภาคปรินิพพานแล้ว ท่านพระมหากัสสปนี้จักนั่งในถ้ำสัตตบรรณคูหา ทำการรวบรวมพระธรรมวินัย ทำเวลา ๕,๐๐๐ ปีของพระผู้มีพระภาคให้เป็นไปได้ พระผู้มีพระภาคจึงตั้งท่านไว้ในฐานะของพระองค์ เพื่อพวกภิกษุจักสำคัญคำของท่านพระมหากัสสปด้วยดี

    เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ ท่านพระมหากัสสปะกราบทูลว่า

    “ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ ภิกษุทั้งหลายในบัดนี้เป็นผู้ว่ายาก ประกอบด้วยธรรมที่ทำให้เป็นผู้ว่ายาก ไม่อดทน ไม่รับอนุศาสนีโดยเคารพ”

    ในสมัยโน้นที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ยังเป็นอย่างนี้ และเมื่อปรินิพพานแล้ว ๒๕๐๐ กว่าปี ก็ควรที่จะได้พิจารณาว่า พระธรรมที่ทรงแสดงไว้เป็นประโยชน์สำหรับพุทธบริษัท

    ท่านกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

    “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในพระธรรมวินัยนี้ ข้าพระองค์ได้เห็นภิกษุชื่อภัณฑะ ซึ่งเป็นสัทธิวิหาริกของพระอานนท์ และภิกษุชื่ออาภิชชิกะซึ่งเป็นสัทธิวิหาริกของพระอนุรุทธะ กล่าวล่วงเกินกันและกันด้วยสุตะว่า จงมาเถิดภิกษุ ใครจักกล่าวได้มากกว่ากัน ใครจักกล่าวได้ดีกว่ากัน ใครจักกล่าวได้นานกว่ากัน ดังนี้”

    การศึกษาพระธรรมมีประโยชน์เพื่ออะไร ถ้าไม่พิจารณาจริงๆ จะเห็นว่าถ้าเพียงเพื่อที่จะกล่าวได้มากกว่ากัน จะกล่าวได้ดีกว่ากัน จะกล่าวได้นานกว่ากัน นั่นไม่ได้เป็นไปเพื่อการขัดเกลากิเลสของตนเองเลย ซึ่งแม้ว่าขณะนั้นจะไม่พูด เพียงแต่คิด ในขณะนั้นก็ขาดหิริโอตตัปปะ เพราะว่าไม่ได้มุ่งประโยชน์ที่จะช่วยกันแสดงธรรมให้บุคคลอื่นเข้าใจพระธรรม เพราะฉะนั้น เวลาที่ถึงกับกล่าวออกมาอย่างนี้ ก็แสดงว่าขณะนั้นอหิริกะ อโนตตัปปะจะแรงสักแค่ไหน ที่จะแข่งกันแม้ในเรื่องการแสดงธรรม เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ใช่ในเรื่องของธรรม จะเป็นอย่างไรคะ อหิริกะ อโนตตัปปะ เพราะแม้แต่จะได้ฟังพระธรรมจากท่านพระอานนท์ หรือว่าได้ฟังพระธรรมจากท่านพระอนุรุทธะ แต่อหิริกะ อโนตตัปปะ ก็ยังเกิดได้ถึงอย่างนี้

    ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุรูปหนึ่งมา ตรัสว่า “ดูกรภิกษุ เธอจงมา เธอจงเรียกภัณฑภิกษุ สัทธิวิหาริกของอานนท์ และอาภิชชิกภิกษุ สัทธิวิหาริกของอนุรุทธะ มาตามคำของเราว่า พระศาสดาตรัสเรียกท่านผู้มีอายุทั้งหลาย”

    ซึ่งเมื่อภิกษุทั้งสองเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสถาม ภิกษุทั้งสองก็รับว่าจริงอย่างนั้น

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอรู้ทั่วถึงธรรมที่เราแสดงไว้แล้วอย่างนี้หรือหนอ พวกเธอจึงกล่าวล่วงเกินกันและกันด้วยสุตะอย่างนี้ว่า จงมาเถิดภิกษุ ใครจักกล่าวได้มากกว่ากัน ใครจักกล่าวได้ดีกว่ากัน ใครจักกล่าวได้นานกว่ากัน”

    ภิกษุกราบทูลว่า “ไม่เป็นอย่างนั้นเลย พระเจ้าข้า”

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าว่าพวกเธอไม่รู้ทั่วถึงธรรมที่เราแสดงแล้วอย่างนี้ ดูกรโมฆบุรุษ เมื่อเป็นเช่นนั้น พวกเธอรู้อะไร เห็นอะไร บวชอยู่ในธรรมวินัยที่เรากล่าวดีแล้วอย่างนี้ ย่อมกล่าวล่วงเกินกันและกันด้วยสุตะไปทำไมเล่าว่าจงมาเถิดภิกษุ ใครจักกล่าวได้มากกว่ากัน ใครจักกล่าวได้ดีกว่ากัน ใครจักกล่าวได้นานกว่ากัน”

    ครั้งนั้นแล ภิกษุเหล่านั้นซบศีรษะใกล้พระบาทพระผู้มีพระภาคแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โทษได้ครอบงำข้าพระองค์ทั้งสองผู้พาลอย่างไร ผู้หลงอย่างไร ผู้ไม่ฉลาดอย่างไร ข้าพระองค์เหล่าใดบวชในพระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้วอย่างนี้ กล่าวล่วงเกินกันและกันด้วยสุตะว่า จงมาเถิดภิกษุ ใครจักกล่าวได้มากกว่ากัน ใครจักกล่าวได้ดีกว่ากัน ใครจักกล่าวได้นานกว่ากัน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงรับโทษโดยความเป็นโทษแห่งข้าพระองค์ทั้งหลายเหล่านั้น เพื่อสำรวมต่อไป”

    พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อใดแล พวกเธอมาเห็นโทษโดยความเป็นโทษแล้ว ทำคืนเสียตามสมควรแก่ธรรม เมื่อนั้นเราขอรับโทษนั้นของเธอเหล่านั้น ก็การที่บุคคลเห็นโทษโดยความเป็นโทษแล้ว ทำคืนเสียตามสมควรแก่ธรรม และถึงความสำรวมต่อไป นี้เป็นความเจริญในวินัยของพระอริยเจ้า”

    นี่เป็นเครื่องเตือนสำหรับหิริโอตตัปปะที่จะเกิดขึ้น พิจารณาเห็นโทษของตนเอง แต่บางท่านแม้ว่าพระผู้มีพระภาคจะตรัสอย่างนี้ คือ เป็นข้อความในพระไตรปิฎก พิจารณาตนเองว่าเห็นโทษของตนเอง ว่าเป็นโทษ ตามควรแก่โทษนั้นหรือยัง ถ้ายังไม่เห็น ก็ทราบได้ว่าขณะนั้นเพราะอหิริกะและอโนตตัปปะ

    สำหรับผู้ที่ไม่มีหิริโอตตัปปะ บางท่านไม่เห็นอกุศลว่าเป็นโทษ ก็อย่างหนึ่ง และสำหรับบางท่านแม้ว่าเห็นว่า อกุศลเป็นโทษ แต่ก็ยังไม่ยอมให้กุศลเกิด นี่ก็เป็นอหิริกะ อโนตตัปปะอีกขั้นหนึ่ง เป็นอย่างนั้นหรือเปล่าในชีวิตประจำวัน

    ในโอวาทสูตรที่ ๒ ข้อ ๔๙๐ ณ พระวิหารเวฬุวัน เช่นเดียวกัน เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสให้ท่านพระมหากัสสปกล่าวสอนภิกษุทั้งหลาย

    ท่านพระมหากัสสปกราบทูลว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ ภิกษุทั้งหลายในบัดนี้ เป็นผู้ว่ายาก ประกอบด้วยธรรมที่ทำให้เป็นผู้ว่ายาก ไม่อดทน ไม่รับอนุศาสนีโดยเคารพ บุคคลบางคนไม่มีศรัทธา ไม่มีหิริ ไม่มีโอตตัปปะ ไม่มีความเพียร ไม่มีปัญญา ในกุศลธรรมทั้งหลาย ตลอดคืนหรือวันของเขาที่ผ่านมาเป็นอันหวังได้แต่ความเสื่อมในกุศลธรรมทั้งหลายเท่านั้น หวังความเจริญไม่ได้เลย เปรียบเหมือนพระจันทร์ในข้างแรมย่อมเสื่อมจากวรรณ จากมณฑล จากรัศมี จากความยาวและความกว้าง ในคืนหรือวันที่ผ่านมาฉันใด บุคคลบางคนไม่มีศรัทธา ... ไม่มีหิริ ... ไม่มีโอตตัปปะ ... ไม่มีความพากเพียร ...ไม่มีปัญญาในกุศลธรรมทั้งหลายตลอดคืนหรือวันของเขาที่ผ่านมา เป็นอันหวังได้แต่ความเสื่อมในกุศลธรรมทั้งหลายเท่านั้น หวังความเจริญไม่ได้เลย เหมือนฉะนั้น

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อที่บุรุษบุคคลไม่มีหิรินี้ เป็นความเสื่อมโทรม ข้อที่บุรุษบุคคลไม่มีโอตตัปปะนี้ เป็นความเสื่อมโทรม ข้อที่บุรุษบุคคลเป็นคนเกียจคร้านนี้ เป็นความเสื่อมโทรม ข้อที่บุรุษบุคคลมีปัญญาทรามนี้ เป็นความเสื่อมโทรม ข้อที่บุรุษบุคคลมักโกรธนี้ เป็นความเสื่อมโทรม ข้อที่บุรุษบุคคลผูกโกรธนี้ เป็นความเสื่อมโทรม ข้อที่ไม่มีภิกษุผู้กล่าวสอนนี้ เป็นความเสื่อมโทรม”

    สำหรับผู้ที่มีศรัทธา หิริ โอตตัปปะ มีความเพียร มีปัญญาในกุศลธรรมทั้งหลาย ก็ตรงกันข้าม ซึ่งก็เปรียบเหมือนพระจันทร์ข้างขึ้น ย่อมเปล่งปลั่งด้วยวรรณะ ด้วยมณฑล ด้วยรัศมี ด้วยความยาวและความกว้าง

    ซึ่งข้อความในอรรถกถาอธิบายว่า ผู้ว่ายาก เป็นผู้ที่ฟังอนุสาสนีแล้วไม่รับเอาโดยความเคารพ คือ ไม่ปฏิบัติตามคำสอน ไม่ใช่นอบน้อมกราบไหว้ แล้วก็คิดว่า นั่นคือรับเอา แต่เวลาที่ไม่รับเอา คือ ไม่ปฏิบัติตาม เมื่อไม่ปฏิบัติตามคำสอน เป็นผู้ชื่อว่า รับเอาโดยไม่เคารพ

    ทุกท่านเห็นพระจันทร์บ่อยๆ บางคนก็ชอบดูพระจันทร์ แต่ก็เคยระลึกถึงคำที่พระผู้มีพระภาคและท่านพระมหากัสสปะกล่าวถึงพระจันทร์หรือเปล่าว่า ขณะไหนเป็นข้างแรม ขณะนั้นคืออกุศลธรรม ขณะไหนเป็นข้างขึ้น ก็คือขณะนั้นก็เป็นกุศลธรรม เพราะฉะนั้น เพียงการเห็นพระจันทร์ สำหรับผู้ที่ฟังพระธรรมก็ยังจะระลึกได้ถึงใจของตนเองว่า เหมือนข้างแรมหรือว่าเหมือนข้างขึ้น ซึ่งเป็นพุทธโอวาท ที่ทำให้ทุกคนที่มีอัธยาศัยต่างๆ กัน สามารถที่จะระลึกถึงตนเองได้ แม้แต่ในการดูพระจันทร์ เคยดูบ่อยๆ ไหม วันนี้ลองดู ข้างขึ้นหรือข้างแรม และไม่ใช่ว่าทุกท่านจะมีแต่ข้างขึ้น ใช่ไหม ขณะที่เห็นข้างแรมนี้ อหิริกะ อโนตตัปปะ ในวันนั้นมีอะไรบ้าง แทนที่จะเห็นเปล่าๆ ก็ยังเป็นประโยชน์ที่จะระลึกได้ว่า พระจันทร์ข้างแรมเหมือนกับอกุศลของท่านในวันนั้น ซึ่งมีอะไรบ้าง

    และสำหรับข้อที่บุรุษบุคคลมักโกรธนี้ เป็นความเสื่อมโทรม พระผู้มีพระภาคและท่านพระมหากัสสปะไม่เว้นที่จะกล่าวเติม เรื่องของการที่เหมาะที่ควรแก่บุคคลจะพิจารณา แม้ว่าในโอวาทสูตรข้อที่ ๑ จะได้กล่าวถึงบุคคลผู้ว่ายาก และก็ไม่มีหิริโอตตัปปะ เป็นคนเกียจคร้าน มีปัญญาทราม แต่ในโอวาทสูตรที่ ๒ ก็ยังกล่าวถึงผู้ที่มักโกรธ และผูกโกรธ ซึ่งเป็นความเสื่อมโทรม

    ผู้ที่มักโกรธและก็ผูกโกรธ พิจารณาหรือเปล่าว่า เพราะอะไรในขณะนั้นจึงโกรธ โกรธใคร โกรธความไม่ดีของคนอื่น ใช่ไหม ปักใจในความไม่ดีของคนอื่น แต่ลืมพิจารณาว่า ความไม่ดีของคนอื่นก็เกิดขึ้นและดับไปเพียงขณะหนึ่งๆ แต่ความผูกโกรธของท่านเองซึ่งปักใจในบุคคลนั้นเกิดนานเท่าไร มากกว่าอกุศล คือ ความไม่ดีของคนอื่น ที่ทำให้ท่านยังคงปักใจโกรธอยู่หรือเปล่า หรือว่ายังไม่ลืมที่จะคิดถึงความไม่ดีนั้น แล้วก็ยังโกรธ ซึ่งขณะนั้นหิริโอตตัปปะไม่เกิดเลย เพราะเหตุว่าฉลาดที่จะรู้ความไม่ดีของคนอื่น แต่ไม่ฉลาดที่จะรู้อกุศลของตนเอง ซึ่งกำลังโกรธในขณะนั้น

    เพราะฉะนั้นก็ สติปัฏฐานจะทำให้ระลึกได้ว่า แม้ในขณะที่กำลังปักใจโกรธบุคคลหนึ่งบุคคลใด ก็คือคิดเอง ความคิดของตนเองจริงๆ ท่านผู้นั้นขณะนั้นอาจจะบำเพ็ญกุศลอยู่ ความที่ไม่ดีของบุคคลนั้นก็เกิดขึ้นเพียงชั่วขณะแล้วก็ดับไป แต่ว่าสำหรับคนที่โกรธความไม่ดีของคนอื่น ก็ยังคงเป็นอกุศลอยู่ และนานตราบเท่าที่ยังผูกโกรธไว้

    ซึ่งทุกท่านก็ไม่ควรที่จะลืมเลยว่า อีกไม่นานก็ถึงชาติหน้า และก็ชาติหน้าท่านอยากจะเป็นบุคคลประเภทไหน อยากจะมีกิเลสน้อยหรือว่าอยากจะมีกิเลสมาก ดูเหมือนว่าชาตินี้กิเลสมาก แต่ว่าชาติหน้าอยากมีกิเลสน้อย นั่นก็เหตุกับผลยังไม่ตรงกัน ในเมื่อชาตินี้มีกิเลสมาก แต่ว่าชาติหน้าอยากมีกิเลสน้อย

    แต่ว่าถ้าชาตินี้ไม่ขัดเกลากิเลส ไม่มีหิริโอตตัปปะ ไม่ละคลาย ชาติหน้าก็กิเลสน้อยไม่ได้ และสำหรับชาติหน้า ทุกคนก็จะเป็นบุคคลใหม่ ซึ่งจะไม่ย้อนกลับมาเป็นบุคคลนี้อีกเลย แต่ว่าถ้าใครสามารถที่จะมีปัญญาถึงขั้นที่จะรู้อดีตของชาติหน้า ซึ่งก็คือชาตินี้เอง ชาติหน้าก็อาจจะคิดว่าแหมชาติก่อนนั้นไม่ควรจะทำอย่างนี้เลย ไม่ควรจะผูกโกรธอย่างนั้น ไม่ควรจะกล่าววาจาอย่างนั้น แต่ว่าได้กระทำไปแล้ว

    เพราะฉะนั้น ชาตินี้ยังเป็นโอกาสอยู่ ที่หิริโอตตัปปะจะเกิด แล้วก็ละคลายอกุศล เพื่อว่าชาติหน้าจะได้ไม่ย้อนกลับมาคิดว่า ชาติก่อนนี้ไม่ควรจะทำอกุศลอย่างนั้นๆ เลย เพราะฉะนั้น ก็ควรที่จะรู้เสียเดี๋ยวนี้ แล้วก็ละเสียเดี๋ยวนี้ หิริ โอตตัปปะเกิดเสียเดี๋ยวนี้ จะได้ไหม เท่านั้นเอง ปัญหาอยู่ที่ว่าได้หรือไม่ได้ ทั้งๆ ที่รู้

    ข้อความในสังยุตตนิกาย นิทานวรรค กัสสปสังยุต อโนตตัปปสูตร ข้อ ๔๖๔ – ๔๖๙ มีข้อความโดยย่อว่า

    ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เขตพระนครพาราณสี ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรออกจากที่พักผ่อนในเวลาเย็น เข้าไปหาท่านพระมหากัสสปถึงที่อยู่ ได้สนทนาปราศรัยกันและก็ได้สนทนาธรรม

    ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวกะท่านพระมหากัสสป ดังนี้ว่า “ท่านกัสสป ผมกล่าวดังนี้ว่า ผู้ไม่มีความเพียร เครื่องเผากิเลส ผู้ไม่มีความสะดุ้งกลัว เป็นผู้ไม่ควรเพื่อความตรัสรู้ ไม่ควรเพื่อพระนิพพาน ไม่ควรเพื่อบรรลุธรรมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะอย่างยอดเยี่ยม”

    นี่คือความสำคัญของความเพียรและหิริโอตตัปปะ เพราะเหตุว่าถ้าไม่เพียร ไม่มีทางเลยที่จะเจริญกุศลขึ้น จนสามารถที่จะดับกิเลสได้ และถ้าหิริโอตตัปปะไม่เกิดบ่อยๆ เนืองๆ ที่จะเห็นโทษของอกุศล ผู้นั้นก็ไม่ควรเพื่อความตรัสรู้ ไม่ควรเพื่อพระนิพพาน ไม่ควรเพื่อบรรลุธรรมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะอย่างยอดเยี่ยม

    ส่วนผู้ที่มีความเพียรเครื่องเผากิเลส ผู้มีความสะดุ้งกลัว เป็นผู้ควรเพื่อความตรัสรู้ ควรเพื่อพระนิพพาน ควรเพื่อบรรลุธรรมเป็นแดนเกษมจากโยคะอย่างยอดเยี่ยม

    ท่านผู้ฟังคิดถึงการดับกิเลสเป็นสมุจเฉทหมด อีกไกลมากไหม ไกลมากจริงๆ เพราะฉะนั้น กลับมาที่ใกล้ๆ อีก คือ ไม่ใช่แต่เฉพาะจะเจริญสติปัฏฐานอย่างเดียว แต่ควรที่จะได้รู้ลักษณะของจิตของตนเองที่เป็นอกุศลแต่ละขณะเพื่อที่หิริจะเกิดเพิ่มขึ้น

    ซึ่งข้อความต่อไป จะเห็นพระคุณของท่านพระสารีบุตร ซึ่งท่านได้ถามท่านพระมหากัสสปะว่า “ด้วยเหตุเพียงเท่าไรจึงจะชื่อว่าเป็นผู้ไม่มีความเพียร ไม่มีความสะดุ้งกลัว และด้วยเหตุเพียงเท่าไร จึงจักชื่อว่ามีความเพียร เป็นผู้มีความสะดุ้งกลัว”

    ดูเป็นคำถามธรรมดาๆ ซึ่งท่านผู้ฟังก็อาจจะตอบได้ หรือท่านอาจจะกล่าวว่า ก็รู้ๆ กันอยู่แล้ว แต่แม้กระนั้นพระคุณของท่านพระสารีบุตรที่ไม่เว้นโอกาสที่จะถามเรื่องที่เป็นประโยชน์แก่พุทธบริษัทรุ่นหลังที่จะเป็นผู้ไม่ประมาท เพื่อที่จะได้มีความเพียร และก็มีหิริโอตตัปปะ ซึ่งคำตอบของท่านพระมหากัสสปะก็น่าสนใจ เพราะเหตุว่าเป็นชีวิตประจำวันของทุกท่าน คงจะไม่มีท่านผู้ใดปฏิเสธ

    ท่านพระมหากัสสปกล่าวว่า “ภิกษุไม่ทำความเพียรเพื่อเผากิเลส และไม่มีความสะดุ้งกลัว โดยคิดว่า อกุศลธรรมลามกที่ยังไม่เกิดขึ้น เมื่อเกิดขึ้นแก่เรา จะพึงเป็นไปเพื่อความเสียประโยชน์”

    พิจารณา ไม่ใช่ไม่รู้ คนที่ไม่มีหิริโอตตัปปะ รู้ แต่ว่าหิริโอตตัปปะไม่เกิด เพราะเหตุว่าผู้นั้นคิดว่า อกุศลธรรมลามกที่ยังไม่เกิด เมื่อเกิดขึ้นแก่เรา จะพึงเป็นไปเพื่อความเสียประโยชน์ รู้ใช่ไหม แต่ทำไม่ได้ หรือไม่ทำ หรือไม่คิดที่จะทำ คือ ไม่เพียรที่จะละ ข้อความต่อไปท่านกล่าวว่า

    “ไม่ทำความเพียรเครื่องเผากิเลส และไม่สะดุ้งกลัว โดยคิดว่า อกุศลธรรมอันลามกบังเกิดขึ้นแล้ว เมื่อเรายังละไม่ได้ จะพึงเป็นไปเพื่อความเสียประโยชน์”

    ไม่ว่าจะเป็นอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด แต่ก็จะเกิด ขณะนั้นเมื่อเกิด ก็เป็นไปเพื่อความเสียประโยชน์ หรือแม้แต่อกุศลธรรมที่เกิดในขณะนี้ เมื่อยังละไม่ได้ ก็จะพึงเป็นไปเพื่อความเสียประโยชน์ รู้ทั้ง ๒ อย่างในเรื่องของอกุศล แต่ก็ไม่ทำความเพียร เพื่อเผากิเลส และไม่มีความสะดุ้งกลัว

    พุทธบริษัทรู้ทุกคนใช่ไหม อกุศลมีโทษแค่ไหน แต่ว่าขณะใดที่ไม่เพียร และขณะใดที่ไม่มีความสะดุ้งกลัว ก็เพราะเหตุว่าทั้งๆ รู้แต่ก็หิริไม่เกิด โอตตัปปะไม่เกิด เป็นชีวิตประจำวันของทุกคนหรือเปล่า คงไม่มีใครปฏิเสธ ถ้าไม่เป็นอย่างนี้ หมายความว่าคนนั้นมีกุศลตลอดเวลา เพราะเมื่อรู้แล้ว หิริก็เกิด แต่ว่าไม่ใช่เสมอไป นี่เป็นเรื่องของอกุศล ซึ่งลองพิจารณาในชีวิตประจำวันสำหรับผู้ที่ไม่เจริญสติปัฏฐาน จะรู้ไหมว่า อกุศลเกิดในขณะที่กุศลไม่เกิด ถ้าเป็นผู้ที่ไม่เจริญสติปัฏฐาน จะรู้ไหมว่า อกุศลเกิดในขณะที่ไม่ใช่กุศล

    วันหนึ่งๆ เกือบจะไม่รู้เลยใช่ไหมว่า อกุศลเกิดแล้วมากมายตั้งแต่เช้า แต่เมื่อไม่รู้ ก็จะเห็นแต่อกุศลกรรมขั้นที่เป็นอกุศลกรรมบถทางกาย วาจา ใจ คิดว่าขณะใดที่ฆ่าสัตว์เล็กสัตว์น้อย หรือสัตว์ใหญ่ ขณะนั้นเป็นอกุศล เข้าใจว่าอย่างนั้น สำหรับผู้ที่ไม่ได้เจริญสติปัฏฐาน แต่ก็ยังทำ เพราะว่าขณะนั้นอหิริกะ อโนตตัปปะมีกำลัง พุทธบริษัทฆ่าสัตว์เล็กสัตว์น้อยบ้างไหม ทั้งๆ ที่รู้ ไม่ใช่ว่าไม่รู้ ขณะนั้นไม่เพียรที่จะระงับอกุศลในขณะนั้น นี่คือทางกาย

    สำหรับทางวาจา ก็มีคำพูดที่เป็นโทษ ไม่เป็นประโยชน์ แต่ก็ยังพูดเพราะอหิริกะ อโนตตัปปะ ไม่ใช่ว่าไม่รู้อีกเหมือนกัน นี่ก็เป็นเรื่องของชีวิตตามความเป็นจริง

    สำหรับทางใจ เวลาคิดถึงคนอื่น คิดดี หรือไม่ดี คิดด้วยเมตตา หรือว่าไม่ใช่ด้วยเมตตา ถ้าขณะใดที่ไม่ได้คิดด้วยเมตตา รู้ไหมว่าเป็นโทษ ไม่รู้หรือคะว่า ถ้าไม่คิดด้วยเมตตาแล้วหล่ะก็เป็นโทษ นำมาซึ่งความเสื่อม แต่แม้อย่างนั้น อหิริกะ อโนตตัปปะ ก็ยังเกิดและคิดอย่างนั้น เพราะฉะนั้น เวลาที่อกุศลเกิด ถ้าสติไม่ระลึกก็ไม่มีทางที่จะละคลายอกุศลนั้นๆ เลย อกุศลนั้นๆ ก็จะเพิ่มขึ้น แล้วก็มีกำลัง

    ถ้ากำลังรับประทานอาหาร แล้วก็สัตว์เลี้ยงหิวมาก แสดงกิริยาอาการให้รู้ว่าหิว เพราะเหตุว่าผิดเวลากินของสัตว์เลี้ยง จะเห็นหิริโอตตัปปะได้ไหม ถ้ารับประทานต่อไป ไม่คำนึงถึงความหิวมาก ขณะนั้นสติจะเกิดระลึกลักษณะของโลภะในขณะที่รับประทานต่อได้ไหม แม้ในขณะชีวิตปกติประจำวัน ก็ยังเป็นการที่จะทำให้สามารถระลึกถึงลักษณะของอหิริกะ อโนตตัปปะได้ ถ้ามีหิริ เกิดเมตตาทันทีใช่ไหม กระทำสิ่งที่ตรงกันข้ามแล้ว แต่ถ้ายังคงนั่งรับประทานจนอิ่มด้วยความอร่อย สติปัฏฐานก็อาจจะเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นโลภะในขณะนั้น ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่การที่หิริโอตตัปปะจะเพิ่มขึ้นในชีวิตประจำวัน ถ้าเป็นผู้ที่ละเอียด แม้แต่ในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็จะทำให้หิริโอตตัปปะเพิ่มกำลังขึ้นได้ โดยการคิดถึงความทุกข์ยากของคนอื่น มากกว่าการที่จะคิดถึงความสุขสบายของตนเอง ซึ่งในวันหนึ่งๆ ก็พอที่จะรู้ได้ว่า หิริมาก โอตตัปปะมาก หรือว่าอหิริกะมาก อโนตตัปปะมาก

    หรือแม้แต่ความอดทนที่จะทำตามมารยาท นี่ก็เป็นเรื่องของจิตอีกเหมือนกัน ใช่ไหม ถ้าใครมีมารยาทดี ทำให้คนอื่นสบายใจ แต่แม้กระนั้นบางคนซึ่งเป็นคนที่เห็นแก่ความสุขของตนเอง ก็ยังไม่สนใจที่จะเกิดหิริในขณะนั้น ที่จะคำนึงถึงความสบายใจของคนอื่น แต่ถ้าขณะนั้นมีหิริโอตตัปปะ ขณะนั้นก็จะเป็นไปตามมารยาทที่สมควร


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 23
    18 ม.ค. 2565

    ซีดีแนะนำ