โสภณธรรม ครั้งที่ 018


    ตอนที่ ๑๘

    ทุกอย่างนี้ ถ้าพูดในเรื่องของธรรมก็เป็นสิ่งที่ควรทั้งนั้น หรือถ้าพูดถึงเรื่องชาวบ้านว่าเป็นผู้ที่มีความสามารถต่างๆ ในทางโลก อันนั้นก็ยังเป็นเดรัจฉานกถา แต่พูดว่า พวกเขามีศรัทธาเลื่อมใส แต่ว่าในบัดนี้ก็สิ้นชีวิตไป คือ แสดงให้เห็นถึงธรรมตามความเป็นจริง ที่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทั้งหมดไม่เป็นดิรัจฉานกถา

    สำหรับกถาวัตถุ ๑๐

    อัปปิจฉกถา ก็คือ กถาที่ปรารภความเป็นผู้มีความปรารถนาน้อย

    สันตุฏฐิกถา คือ กถาปรารภความเป็นผู้สันโดษ

    ปวิเวกกถา คือ กถาปรารภความเป็นผู้สงัด

    อสังสัคคกถา คือ กถาปรารภความไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ

    วิริยารัมภกถา คือ กถาปรารถความเพียร

    สีลกถา คือ กถาปรารภความเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล

    สมาธิกถา คือ กถาปรารภความเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยสมาธิ

    ปัญญากถา คือ กถาปรารภความเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยปัญญา

    วิมุตติกถา คือ กถาปรารภความเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวิมุติ

    วิมุตติญาณทัสสนกถา คือ กถาปรารภความเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวิมุตติญาณทัสสนะ

    ก็เป็นเรื่องของกุศลธรรมตั้งแต่ขั้นต้น จนกระทั่งถึงโลกุตตรธรรม

    คือพูดเรื่องของธรรมทุกอย่าง ขณะนั้นไม่ใช่ดิรัจฉานกถา เพราะฉะนั้น ทุกท่านก็จะต้องทราบว่า ชีวิตประจำวันนี้จำเป็นต้องพูดหลายเรื่อง แต่ควรที่จะเกิดหิริโอตตัปปะที่จะระลึกได้ว่า จิตที่พูดในขณะนั้นเป็นกุศลหรืออกุศล ถ้าเป็นกุศลแล้วเป็นการพูดที่เป็นประโยชน์ เพราะถึงแม้ว่าเรื่องใดเป็นเรื่องจริง แต่ว่าไม่เป็นประโยชน์ ทำให้คนอื่นเกิดอกุศลจิต หรือแม้แต่ตัวผู้ที่กล่าวเองก็กำลังเป็นอกุศล ในขณะนั้นก็ไม่เป็นประโยชน์ ขณะที่สติระลึกได้เท่านั้นที่จะเกิดหิริและละอายต่ออกุศลจิต อกุศลธรรมในขณะนั้น บางคนเห็นอกุศลของคนอื่น รู้สึกว่าเป็นผู้ที่ฉลาดในอกุศลของคนอื่น แต่ว่าไม่ฉลาดที่จะเห็นจิตของตนเองในขณะนั้นว่า เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล

    เพราะฉะนั้น พระธรรมที่ทรงแสดงไว้ทั้งหมด ก็เพื่อที่จะเกื้อกูลให้เกิดสติและมีศรัทธา และมีหิริและโอตตัปปะในชีวิตประจำวัน

    ผู้ฟัง เช่นบุคคลที่ยกพระสูตรมา หรืออะไรต่างๆ แล้วบิดเบือน ไม่กล่าวตาม หรือเข้าใจผิด และแสดงธรรมในทางที่ผิด แต่อ้างพระสูตรก่อน แล้วแสดงธรรมที่ผิด อย่างนั้นจะนับเป็นดิรัจฉานกถาด้วยหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ข้อนี้น่าเห็นใจจริงๆ เพราะเหตุว่าพระธรรมวินัยนี้กว้างขวางมากจริงๆ ยากที่ใครจะเป็นผู้รู้โดยละเอียดรอบคอบ และถ้าจะมัวคอยผู้รู้ที่ละเอียดรอบคอบ ก็คงจะไม่มีโอกาสได้ฟังธรรมเลย เพราะฉะนั้น ผู้ที่แสดงธรรมทุกท่านเป็นผู้ที่เคารพพระรัตนตรัย เพราะฉะนั้น ก็ขอให้ท่านผู้ฟังทุกท่านเป็นผู้พิจารณาในเหตุในผลของพระธรรม แล้วสอบสวน ค้นคว้าหลักฐาน เพื่อความถูกต้องยิ่งขึ้น ส่วนผู้ที่ได้นำมาบรรยายตามความรู้ ความสามารถด้วยกุศลเจตนา ก็คงจะกระทำอย่างดีที่สุดเท่าที่จะกระทำได้ แต่ต้องเป็นผู้ที่ไม่ดื้อ ไม่เป็นผู้ที่ว่ายาก ต้องเป็นผู้ที่ยอมสละความเห็นของตนที่ผิดหรือที่ไม่ถูกด้วย เพราะเหตุว่าทุกคนนี้จะต้องตาย และเป็นบุคคลใหม่ สิ้นสภาพความเป็นบุคคลเก่า ยังจะมีเยื่อใยอะไรกับความเป็นบุคคลเก่า ซึ่งในระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่ ก็อาจจะคิดว่าเป็นห่วงตัวเองจะถูกตำหนิติเตียน หรือว่าจะไม่ได้รับชื่อเสียง จะไม่ได้รับความเคารพนับถือ นั่นเป็นสิ่งที่ไม่น่าจะเป็นไปได้เลย เพราะว่าเป็นสิ่งที่เล็กน้อยมาก เมื่อเทียบกับความถูกต้องของพระธรรมวินัย

    เพราะฉะนั้น ถ้าผู้ใดแสดงธรรมโดยลักษณะอย่างนี้ด้วยกุศลจิต ผู้ฟังก็ควรที่จะพิจารณา เห็นใจและก็เข้าใจในความคิด หรือการที่อาจจะเป็นผู้ที่ไม่ศึกษาโดยตลอด เพราะเหตุว่าไม่มีความสามารถที่จะเป็นอย่างนั้น แต่ก็ได้พยายามและขอให้ทุกท่านเป็นผู้ที่สอบทาน ค้นคว้า และก็ถือเอาความถูกต้องยิ่งขึ้นตามพระธรรมวินัย ผู้ฟังมีสิทธิ มีโอกาสที่จะพิจารณา

    ดิฉันขอเรียนเรื่องหนึ่ง ซึ่งทำให้ดิฉันเกิดหิริโอตตัปปะในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้น ในคราวก่อนได้เล่าให้ท่านผู้ฟัง ฟังถึงเรื่องของท่านผู้หนึ่ง ซึ่งท่านเห็นจิ้งจกตกลงไปในปากแมว แล้วท่านก็คิดถึงเรื่องของกรรม ซึ่งย่อมจะทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นเป็นไปได้ โดยที่จิ้งจกนั้นก็ไม่รู้เลยว่าอะไรจะเกิดขึ้น เมื่อได้เล่าให้ท่านผู้ฟังฟังแล้ว กลับไปบ้าน ดิฉันก็รู้สึกว่า คงจะมีอะไรที่อาจจะไม่ถูกต้อง เพราะเหตุว่าท่านที่เล่าให้ฟัง เล่าบอกว่าท่านที่เห็นจิ้งจกตกลงไปในปากแมว ท่านสงสัยเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน เพราะฉะนั้น เมื่อท่านกล่าวอย่างนี้ใจของดิฉันก็มุ่งไปที่ความเข้าใจของท่านผู้นั้นว่า ท่านเข้าใจถูกต้องอย่างไรในเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน ขณะที่เห็นจิ้งจกตกลงไปในปากแมว เพราะฉะนั้น ก็ไม่ได้ฟังโดยละเอียดจริงๆ ว่า ทำอย่างไรจิ้งจกจึงตกลงไปในปากแมว แต่ว่าในความคิดของดิฉันคิดว่าจิ้งจกอยู่บนเพดาน เพราะว่าธรรมดาจิ้งจกมักจะอยู่บนเพดานจึงตก แล้วก็เข้าใจว่าคงจะเป็นไปในลักษณะนั้น ที่ว่าเมื่อจิ้งจกตกจากเพดาน ก็พอดีแมวอ้าปากจิ้งจกก็ตกลงไปในปากแมว แต่ความที่เกรงว่าคงจะไม่เป็นการถูกต้อง ดิฉันก็ได้โทรศัพท์ไปเรียนถามท่านที่เล่าเรื่องนี้ให้ฟังว่า เรื่องเป็นอย่างไร ขอความกรุณาเล่าอีกสักครั้งหนึ่งเถอะ ว่าจิ้งจกตกลงไปในปากแมวได้อย่างไร เพราะว่าดิฉันจำได้ว่า ดิฉันได้เล่าให้ท่านผู้ฟังฟังว่า จิ้งจกอยู่บนเพดาน ท่านผู้นั้นกล่าวว่าจิ้งจกไม่ได้อยู่บนเพดานค่ะ จิ้งจกอยู่ข้างฝา แต่ด้วยประการใดไม่ทราบ จิ้งจกนั้นก็พลิกตัว แล้วจิ้งจกตัวนั้นก็ตกลงไปในปากแมว ซึ่งทำให้ดิฉันเกิดหิริโอตตัปปะที่จะต้องเป็นผู้ละเอียดในการฟัง แม้ในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เพราะเหตุว่าเพียงเรื่องเล็กน้อยนิดเดียว เสียงที่ได้ยินจากข้างฝา กลายไปเป็นบนเพดานได้ ถ้าไม่มีความสังเกตพิจารณารับฟังด้วยความตั้งใจ ด้วยความสนใจจริงๆ ย่อมจะแปลเสียง ทั้งๆ ที่ท่านที่เล่าก็เล่าว่าจิ้งจกอยู่ข้างฝา แล้วก็พลิกตัวตกลงไปในปากแมว แต่ดิฉันก็เกิดได้ยินเป็นจิ้งจกอยู่บนเพดาน แล้วก็ตกลงไปในปากแมว

    เพราะฉะนั้น แม้แต่ดิฉันเองซึ่งก็เป็นผู้ที่พยายามศึกษาธรรม พยายามที่จะเจริญกุศล ก็ยังต้องเกิดหิริโอตตัปปะว่า เป็นผู้ที่ขาดความสนใจในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งคิดว่าเป็นเรื่องที่ไม่สำคัญ แต่แม้อย่างนั้นก็จะเห็นความเข้าใจเอาเองของแต่ละคนได้ว่า เรื่องเดียวกันในขณะที่ได้ยินได้ฟัง ผู้พูดอาจจะไม่มีเจตนาอะไรเลยที่เป็นอกุศล แต่ก็กระทบกระเทือนใจผู้ฟังได้ หรือว่าอาจจะเข้าใจผิด คิดเองใหญ่โต ลืมไปว่าเหตุการณ์จริงๆ เพียงเท่านั้น แต่ความคิดที่ปรุงแต่งมากมายที่เป็นสังขารขันธ์ ที่เป็นความชำนาญเกิดขึ้นที่จะคิดมาก ก็ทำให้เป็นผู้ที่เข้าใจเหตุการณ์ต่างๆ ผิดได้ แม้ในเรื่องเล็กน้อยยังเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นเรื่องที่สำคัญกว่านี้จะกระทบกระเทือนบุคคลอื่นมากก็เป็นไปได้ เพราะฉะนั้น ก็ควรที่จะเพิ่มหิริโอตตัปปะ แม้ในการฟังที่จะต้องเป็นผู้ฟังที่สนใจแล้วก็ละเอียดจริงๆ

    เพราะฉะนั้น ก็ขอเรียนให้ทราบความถูกต้องในเรื่องของจิ้งจกตกลงไปในปากแมวด้วยนะคะ

    วันหนึ่งๆ คิดเองมากไหม จากตัวอย่างของดิฉัน ทั้งๆ ที่ผู้พูด พูดคำว่า จิ้งจกอยู่ที่ข้างฝา ใจก็ยังคิดเป็นจิ้งจกอยู่บนเพดานได้

    เพราะฉะนั้น ทุกท่านอย่าคิดเองในทุกเหตุการณ์ เพราะเหตุว่าอาจจะทำให้ท่านเกิดความเข้าใจผิดได้ และก็จะทำให้ขณะนั้นจิตใจเศร้าหมอง เป็นอกุศล

    ผู้ฟัง การฟังต่างๆ เมื่อฟังมาแล้วมีการคลาดเคลื่อน อย่างที่อาจารย์เล่านี้มีมากครับ แม้กระทั่งการพิจารณาคดีในศาลก็มีมาก ขนาดคนที่ไปเห็นเหตุการณ์มาเองทั้ง ๒ ท่านเลย ภาษากฎหมายใช้คำว่า พยานคู่ ยังให้การแตกต่างกัน แต่ทางศาลเขามีทางออกว่า อย่างตัวอย่างที่อาจารย์ว่านี้ มันเป็นพลความ ไม่ใช่สาระสำคัญ

    ท่านอาจารย์ แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังเป็นอนุสสติ ทำให้เป็นผู้ที่เพิ่มหิริโอตตัปปะได้ในชีวิตประจำวัน ท่านผู้ฟังเคยเข้าใจผิด หรือท่านคิดว่าท่านต้องเข้าใจถูกเสมอ ถ้าเกิดความทุกข์ใจ ความโกรธ ท่านโกรธใคร ท่านอาจจะคิดว่าท่านเข้าใจผิดเองได้ไหม ความจริงเขาอาจจะไม่ได้ตั้งใจอย่างนั้นเลย แต่ว่าท่านเองคิดเอง แล้วก็ทำให้ท่านเข้าใจผิดเองได้ อย่างเรื่องจิ้งจกนี้เป็นตัวอย่างที่ดี

    อีกท่านหนึ่ง ท่านก็เล่าให้ฟังว่า มีท่านผู้หนึ่งท่านเอื้อเฟื้อในธุระทางการกุศล ท่านผู้นั้นก็ได้อนุเคราะห์ไปรับพระภิกษุในการฉันภัตตาหาร เมื่อพระฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว ท่านผู้นั้นที่เห็นกุศลจิตของท่านที่อนุเคราะห์รับพระมาให้ ก็ได้กล่าวว่า ช่วยไปส่งพระด้วยนะคะ เท่านั้นเองค่ะ ท่านที่ไปรับพระมาให้ โกรธมาก บอกว่าทำไมใช้เขา คิดดูซิคะ ใจของคนที่พูด อนุโมทนาในกุศลของท่านผู้นั้น แล้วก็คิดว่าคงจะมีกุศลเจตนา ในการที่จะช่วยอนุเคราะห์ไปส่งพระ แต่ว่าเพียงคำพูดซึ่งอาจจะตกหล่นไปสักเล็กน้อย แต่ว่าเจตนาเป็นกุศล ก็ยังทำให้อีกท่านหนึ่ง ซึ่งได้ทำกุศลแล้วโกรธว่าทำไมใช้เขา

    ก็ยากแสนยากนะคะในเรื่องของจิต ซึ่งคนที่ไม่มีเจตนาเลย แต่คนอื่นก็ยังคิดเองเข้าใจเองต่างๆ นี้ เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่จะต้องมีหิริโอตตัปปะในการฟัง แล้วก็ถ้าเกิดจะโกรธใครขึ้นมา ก็ขอให้เกิดหิริโอตตัปปะด้วยว่า ในขณะนั้นควรที่จะละอายต่ออกุศลจิต และเกรงกลัวบาปอกุศลในขณะนั้นด้วย คือควรที่จะละอายจิตที่เป็นอกุศลในขณะนั้น เพราะว่าถ้าเป็นเมตตาเสียเท่านั้น ทุกอย่างจบ

    ผู้ฟัง เรื่องเข้าใจคำพูดของคนอื่นผิดจนทำให้โกรธนี้ กระผมเป็นเป็นประจำ แต่กระผมก็ได้อาศัยการศึกษาธรรมช่วย โดยที่ในขณะที่จิตโกรธขึ้น ถ้าหากเราไม่อาศัยธรรมเข้าช่วย เราจะคิดไปใหญ่ เป็นเรื่องเป็นราวไปมากมาย จนทำให้จิตใจไม่สบาย เศร้าหมองไปมาก ก็เลยมาคิดได้ว่า เรื่องอะไร เราจะไปเที่ยวโกรธ เที่ยวคิดมากมาย เพราะว่าที่คิดที่โกรธนั้น เขาจะคิดอย่างที่เราคิดหรือเปล่าก็ไม่ทราบ แต่ที่แน่ๆ คือ เราไปคิดเอง โกรธเอง แปลว่า เราโกรธความคิดของเราเอง ซึ่งมันไม่น่าที่จะเป็นไปได้ คิดได้อย่างนี้แล้วทำให้ใจสบายขึ้น ช่วยเหลือได้เยอะ

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นก็เป็นหิริโอตตัปปะ คือ ละอายและเกรงกลัวอกุศลในขณะนั้น

    ผู้ถาม ขณะที่ให้ทาน หิริโอตตัปปะต้องเกิดร่วมด้วยแน่นอน แต่เพราะอะไรจึงไม่มีความรู้สึกเลยว่า มีลักษณะของหิริโอตตัปปะ

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าลักษณะไม่ปรากฏ

    ผู้ถาม แต่ขณะนั้นมีใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ต้องมี ขณะใดที่เป็นกุศล เพราะหิริโอตตัปปะ โดยที่ว่าไม่ต้องมีการคิดเป็นคำ แต่ว่าลักษณะสภาพของหิรินี้เป็นลักษณะที่ละอายต่ออกุศล โลภะทำให้ไม่ให้ ใช่ไหม ลองคิดดูซิ ขณะที่กำลังจะให้แล้วไม่ให้ เพราะอะไร พอจะเห็นได้ใช่ไหมว่า เพราะขณะนั้นเป็นโลภะ และถ้าละอายในขณะนั้นจริงๆ ให้

    ถ้ามีเหตุการณ์บางเหตุการณ์ เช่นไม่ให้แล้วก็เกิดระลึกขึ้นได้ว่า เพราะอะไรจึงไม่ให้ แล้วให้ อย่างนั้นก็จะเห็นลักษณะของหิริและโอตตัปปะ แต่เวลาที่เป็นผู้ที่มีอุปนิสัยสะสมมาที่จะเป็นผู้ให้ ขณะนั้นก็มีการให้เกิดขึ้น ลักษณะของหิริโอตตัปปะก็ไม่ปรากฏ แต่ว่าต้องมีค่ะ มีความละอายต่อโลภะ สภาพที่ติดข้องในวัตถุ มีความเกรงกลัวบาป คือ โลภะ แม้แต่ว่าจะเล็กน้อย คือ เพียงในขั้นของการสละวัตถุ ขั้นของการสละวัตถุนี่เป็นขั้นที่เล็กน้อยค่ะ ไม่เหมือนกับขั้นของการสละความโกรธ ใช่ไหมคะ วัตถุยังพอจะให้ได้ แต่ยังโกรธอยู่ บอกไม่ให้โกรธ ไม่โกรธไม่ได้ เพราะฉะนั้น ก็สละโกรธยากกว่า

    ผู้ฟัง เช่นบางขณะ เห็นบุคคลแล้วเกิดเมตตาจิต ก็ให้ทานไป ขณะนั้นก็ไม่มีลักษณะของหิริโอตตัปปะเลย

    ท่านอาจารย์ บางเหตุการณ์ไม่ปรากฏ แต่เหตุการณ์จะปรากฏอย่างเวลาที่จะให้แล้วก็ไม่ให้ ก็ลองพิจารณาดูว่า ทำไมคิดจะให้แต่ไม่ให้ หลายคนอยากจะให้ ตั้งใจว่าจะให้ แต่ถึงเวลาจริงๆ ไม่ให้ เพราะอะไร เพราะโลภะ แต่ถ้าเห็นจริงๆ ว่า ขณะนั้นโลภะทำให้ ให้ไม่ได้ จะดูซิว่า หิริจะเกิดไหม โอตตัปปะจะเกิดไหม ถ้าหิริเกิด โอตตัปปะเกิด จึงให้ หลังจากที่คิดจะไม่ให้ ถ้าเป็นอย่างนั้นก็พอจะเห็นลักษณะของหิริโอตตัปปะ

    เพราะฉะนั้น หิริและโอตตัปปะนี้เป็นสภาพที่ละอายต่ออกุศล และเกรงกลัวอกุศล หิริไม่ใช่ลักษณะที่กระดากอาย หรือว่าขวยอาย หรือเอียงอาย เก้อเขิน ไม่ใช่อย่างนั้น แต่ต้องเป็นการละอายต่ออกุศล ขณะที่กำลังเป็นอกุศลนี้ จะพิสูจน์ได้ว่ามีหิริไหม ก็โดยการที่ว่าเว้นอกุศลในขณะนั้นไหม ถ้าไม่เว้นก็แปลว่ายังไม่มีหิริในอกุศลที่กำลังเป็นอยู่ เช่น ในขณะที่กำลังโกรธ ก็จะเห็นลักษณะของหิริและโอตตัปปะได้ ถ้าขณะนั้นไม่โกรธ แต่ถ้าหิริและโอตตัปปะยังไม่มีกำลัง ก็ยังจะต้องโกรธต่อไปอีกเรื่อยๆ เพราะว่าสติก็ไม่ได้ระลึก ศรัทธาก็ไม่มั่นคง หิริก็ไม่ละอาย โอตตัปปะก็ไม่เกรงกลัวต่ออกุศลในขณะนั้น

    สำหรับโอตตัปปะก็ไม่ใช่การกลัวถูกลงโทษอย่างเด็กกลัวถูกตี แต่ว่าต้องเป็นการเกรงกลัวอกุศล เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจะได้แสดงถึงเหตุใกล้ให้เกิดของเจตสิกทั้ง ๒ เช่น เหตุใกล้ให้เกิดหิริเจตสิก ได้แก่ อตฺตคารวปทฏฺฐานา มีความเคารพตนเป็นเหตุใกล้ และเหตุใกล้ของโอตตัปปะเจตสิก คือ ปรคารวปทฏฺฐานา มีความเคารพผู้อื่น ตามศัพท์ที่แปลกันส่วนใหญ่ ซึ่งก็หมายความถึงการกลัวผลของบาป ซึ่งก็หมายความถึงเป็นสภาพที่เกรงกลัวบาปนั่นเอง ซึ่งจะเห็นได้ว่า การพิจารณาธรรมก็คงจะต้องละเอียดขึ้นๆ เพื่อที่จะได้รู้ลักษณะของทั้งหิริเจตสิกและโอตตัปปะเจตสิก แล้วก็ต้องเป็นสภาพธรรมที่เกิดกับตัวท่านเองในชีวิตประจำวัน เพราะแม้ว่าในตำราจะได้กล่าวถึงเรื่องของเจตสิกแต่ละชนิดแต่ละประเภทไว้ก็จริง นั่นเป็นส่วนที่ท่านศึกษาโดยลักษณะอาการซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้ เพื่อเตือนให้สติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมนั้น เพื่อกันไม่ให้หลงเข้าใจผิด

    เพราะฉะนั้น แม้แต่การที่จะรู้ลักษณะของหิริเจตสิก หรือโอตตัปปะเจตสิกก็ตาม ก็จะเป็นการรู้ลักษณะของหิริเจตสิก และโอตตัปปะเจตสิกในชีวิตประจำวันที่เกิดขึ้นกับตัวท่านในขณะที่กุศลจิตเกิดนั่นเอง

    เพราะฉะนั้น ก็ควรที่จะพิจารณาเป็นลำดับขั้น เช่นในวันหนึ่งๆ นี้ มีการให้ทาน มีการสละวัตถุเพื่อประโยชน์สุขของบุคคลอื่น จะพอสังเกตเห็นลักษณะของหิริและโอตตัปปะในขณะนั้นได้ไหม เพราะเหตุว่าการสะสมอุปนิสัยที่จะเป็นผู้สละวัตถุเพื่อประโยชน์สุขของคนอื่น หรือว่าในทางกาย วาจา จะเป็นผู้ที่สงเคราะห์ช่วยเหลือบุคคลอื่นก็จริง ในขณะนั้นจะมีการเคารพตนเองเป็นเหตุใกล้หรือเปล่า หรือว่ากุศลจิตเกิดแล้ว โดยไม่ทันคิด ไม่ทันนึกอะไรเลย

    เพราะฉะนั้น การที่จะเข้าใจหรือหยั่งถึงลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งเป็นเจตสิกแต่ละประเภทซึ่งเกิดร่วมกัน ก็จะรู้ได้ว่า บางครั้งลักษณะของสภาพเจตสิกใดปรากฏ ก็พอที่จะสังเกตเห็นลักษณะของสภาพเจตสิกนั้น แต่ถ้าในขณะนี้ท่านผู้หนึ่งผู้ใดจะให้วัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใดแก่ผู้อื่น จะเห็นลักษณะของหิริเจตสิกและโอตตัปปะเจตสิกไหม

    เพราะฉะนั้น ถ้าขณะใดที่เกิดความละอายต่ออกุศลธรรม ละอายต่อบาป ขณะนั้นก็พอที่จะเห็นลักษณะของหิริ แต่ไม่ใช่หมายความว่าทุกครั้งที่กุศลจิตเกิดขึ้นเป็นไป จะเห็นลักษณะของหิริและโอตตัปปะเจตสิก เช่น ในขณะที่สละวัตถุ เพื่อประโยชน์สุขของคนอื่น โดยที่ไม่ได้พิจารณาถึงความเคารพตน หรือว่าการที่จะเกรงกลัวบาปซึ่งเป็นโอตตัปปะ แต่ขณะนั้นก็มีทั้งหิริเจตสิกและโอตตัปปะเจตสิกเกิดร่วมด้วยแล้ว

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ขณะใดที่มีการพิจารณา ขณะนั้นก็พอที่จะเห็นลักษณะของหิริ แต่ว่าขณะใดก็ตามที่แน่นอนที่สุด คือ ที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นหิริเจตสิกและโอตตัปปะเจตสิกต้องเกิด ในขณะที่วิรัติทุจริตซึ่งเป็นชีวิตประจำวันเหมือนกัน การไม่ฆ่า การไม่เบียดเบียนประทุษร้ายผู้อื่น การไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อนด้วยกายและวาจา ในขณะนั้นต้องมีหิริเจตสิกและโอตตัปปะเจตสิกเกิด ขณะนั้นคิดถึงอะไรหรือเปล่า ขณะที่กำลังวิรัติทุจริต จะคิดถึงว่า มีความเคารพตนเอง หรือว่ามีการเคารพผู้อื่นหรือเปล่า ถ้าไม่คิดก็ไม่เป็นไร แต่ว่าในขณะนั้นมีความละอายและมีความเกรงกลัวอกุศล จึงไม่กระทำทุจริต

    มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง ปลวกขึ้นบ้านท่าน แล้วท่านก็บอกว่า ท่านเกลียดปลวก แต่ท่านไม่ฆ่าปลวกที่ขึ้นบ้านท่าน ไม่ใช่ว่าท่านจะรักปลวก แล้วไม่ฆ่า หรือว่าไม่ใช่ว่าท่านจะไม่รังเกียจ แต่ในขณะที่เห็นปลวก ท่านใช้คำว่า ท่านเกลียดปลวก แต่ว่าท่านไม่ฆ่าปลวก เพราะฉะนั้น นี่ก็แสดงให้เห็นได้ถึงระดับขั้นของหิริและโอตตัปปะ ขณะที่ไม่ฆ่า ละอายต่ออกุศลธรรม ละอายต่อบาปที่จะฆ่า และในขณะนั้นก็มีความเกรงกลัวบาป คือ การฆ่าด้วย จึงไม่ฆ่า ขณะนั้นใครจะไปบังคับให้ท่านฆ่า ท่านก็ไม่ฆ่า แต่ว่าท่านไม่ได้เมตตาปลวก เพราะว่าท่านในขณะนั้นรังเกียจ ในขณะนั้นท่านบอกว่า ท่านเกลียดปลวก แล้วทุกท่านลองพิจารณา ถ้าท่านเห็นปลวกเดินอยู่เป็นกลุ่มๆ ความรู้สึกของท่านจะเป็นอย่างไร สภาพของจิตย่อมเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย ถ้าเห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ ถ้ายังเป็นผู้ที่ไม่ได้สะสมเมตตามาพอที่จะเกิดความเมตตา ย่อมไม่มีปัจจัยที่จะให้จิตเป็นกุศล เมตตาในขณะนั้น แต่ว่าจะมีกุศลจิตระดับขั้นที่เกิดหิริ ละอายต่อบาป และกลัวต่อบาป จึงทำให้ไม่ฆ่าได้ แต่แม้กระนั้นในขณะนั้น ใจก็ยังไม่เกิดเมตตา เพราะเหตุว่าขณะนั้นรู้สึกเกลียดปลวก

    นี่ก็เป็นชีวิตจริงๆ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า พระธรรมทั้งหมดที่ทรงแสดง ๔๕ พรรษา เพื่อเกื้อกูลให้ผู้ที่ได้ศึกษา ไม่ใช่ศึกษาแต่เฉพาะตำรา แต่ศึกษาสภาพธรรมแต่ละขณะซึ่งเกิดกับท่านตามความเป็นจริง ให้เข้าใจถูกต้อง หรือแม้แต่ในขณะที่สติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ในขณะนั้นก็มีหิริเจตสิกเกิดร่วมด้วย มีโอตตัปปะเจตสิกเกิดร่วมด้วย ในขณะนั้นจะมีการพิจารณาถึงการเคารพตน หรือการเคารพผู้อื่นไหม ไม่จำเป็น ไม่พิจารณาก็ไม่พิจารณา แต่มีเหตุปัจจัย คือ การสะสมของกุศล เช่น สติปัฏฐานที่ได้อบรมเจริญแล้วเป็นปัจจัยทำให้เกิดระลึกศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น แต่ว่าลักษณะของหิริเจตสิก ก็ต้องเป็นสภาพที่ละอายต่อบาป หรือละอายต่ออกุศล

    ลักษณะของโอตตัปปะเจตสิก ก็ต้องเป็นสภาพที่เกรงกลัวอกุศล จึงได้ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ หรือว่าในขณะที่จิตใจไม่สงบเลย เป็นอกุศล การที่จะเกิดหิริโอตตัปปะ ควรจะเป็นชีวิตประจำวัน ไม่ใช่เพียงแต่รู้ลักษณะของหิริ ลักษณะของโอตตัปปะ แล้วก็เพิกเฉยต่อการที่จะพิจารณาว่า วันนี้มีหิริโอตตัปปะเพิ่มขึ้นในอกุศลธรรมบ้างหรือยัง เช่น ในขณะที่จิตไม่ผ่องใส เป็นอกุศล ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีการกระทำทางกาย ทางวาจา แต่ถ้าสติเกิดระลึกได้ แล้วก็รู้ว่า ในขณะนั้นจิตเศร้าหมอง ไม่ผ่องใส เป็นอกุศล เพราะอะไร เพราะคิดไม่ดี วันหนึ่งๆ ที่จะเกิดความทุกข์นี้ เป็นเพราะความคิด

    สิ่งที่เห็นทางตากระทบกับจักขุปสาทแล้วก็ดับไป ถ้ารู้ตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ขณะนั้นก็ไม่เดือดร้อน ทางหูเสียงกระทบหู เกิดโสตทวารวิถีจิตได้ยิน มีภวังคจิตคั่น มโนทวารวิถีวาระแรกก็รู้อารมณ์เดียวกันกับโสตทวารวิถี คือ มีเสียงนั้นเป็นอารมณ์ และมีภวังคจิตคั่น หลังจากนั้น หิริจะเกิดไหม คือ การที่จะคิดในสิ่งที่เห็นบ้าง ในสิ่งที่ได้ยินบ้าง ด้วยโยนิโสมนสิการ คือ คิดด้วยเมตตา หรือคิดด้วยกรุณา คิดด้วยมุทิตา หรือคิดด้วยอุเบกขา ถ้าเป็นไปในทางกุศล จะไม่เดือดร้อนเลย และในขณะที่เกิดเมตตาในขณะนั้น เพราะหิริโอตตัปปะเกิด และเห็นโทษของการที่จะพยาบาท ผูกโกรธ ขุ่นเคือง ไม่แช่มชื่นในขณะนั้น

    เพราะฉะนั้น พระธรรมที่ทรงแสดงนี้ ทรงแสดงไว้โดยละเอียดจริงๆ เพื่อที่จะให้ระลึกได้ เพื่อที่จะให้สาวกเป็นผู้ที่ฟังแล้วพิจารณา แล้วน้อมประพฤติปฏิบัติตามด้วย

    บางท่านก็ดื้อ แต่ว่าการดื้อก็มี ๒ อย่าง ถ้าท่านที่ดื้อด้วยอกุศล ทั้งๆ ที่รู้ว่า กุศลดีกว่าอกุศล และขณะใดที่จิตเมตตา หรือกรุณา หรือมุทิตา หรืออุเบกขา ย่อมดีกว่าขณะที่ไม่เมตตา ไม่กรุณา ไม่มุทิตา และไม่อุเบกขา


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 23
    18 ม.ค. 2565

    ซีดีแนะนำ