โสภณธรรม ครั้งที่ 004


    ตอนที่ ๔

    มีใจปราศจากมนทินคือความตระหนี่อยู่ครองเรือน มีการบริจาคอันปล่อยแล้ว มีมืออันล้างไว้ ยินดีในการสละ ควรแก่การขอ พอใจในการให้และการแบ่งปัน ๑ ผู้มีศรัทธาเลื่อมใสพึงรู้ได้ด้วยสถาน ๓ นี้แล ฯ

    ผู้ใดใคร่ในการเห็นผู้มีศีล ปรารถนาจะฟังพระสัทธรรม กำจัดมลทิน คือ ความตระหนี่เสียได้ ผู้นั้นชื่อว่า ผู้มีศรัทธา ฯ

    ซึ่งข้อความในอรรถกถา อธิบายว่า

    บทว่า มุตฺตจาโค ความว่า มีการสละโดยไม่ข้องใจ คือ ไม่กังวลใจ ไม่เดือดร้อนใจในการสละ

    บทว่า ปยตปาณี ความว่า มีมืออันล้างแล้ว

    ข้อความในอรรถกถาอธิบายว่า ผู้ไม่มีศรัทธา แม้จะล้างมือถึง ๗ ครั้ง ก็จัดว่ายังมีมือเปื้อนอยู่นั่นแล

    เวลานี้มือเปื้อนหรือเปล่า

    แต่คนมีศรัทธา ชื่อว่ามีมืออันล้างสะอาดแล้วทีเดียว เพราะเป็นผู้ยินดียิ่งแล้วในทาน

    ความสะอาดของใจของศรัทธา ซึ่งเหมือน “มือ” ซึ่งถือไว้ซึ่งกุศล ไม่ปล่อยกุศล

    นี่ก็จะเห็นได้ เวลาปกติเราล้างมือกันอยู่เสมอ เพราะเห็นว่ามือสกปรก แต่ขณะนั้นก็ควรคิดที่จะล้างความตระหนี่ของจิตใจด้วย เมื่อได้ทราบความหมายของคำว่า “มีมืออันล้างไว้” เพราะถึงแม้ว่าจะล้างมือสักเท่าไร แต่ยังเป็นผู้ที่ตระหนี่อยู่ ก็แม้จะล้างมือถึง ๗ ครั้ง ก็จัดว่า ยังมีมือเปื้อนอยู่นั่นแล

    สำหรับศรัทธาทั่วๆ ไปในวันหนึ่งๆ ก็จะอบรมเจริญขึ้น จนถึงความเป็นผู้ที่มีศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนาได้ แต่ต้องเป็นผู้ละเอียดที่จะพิจารณาในเหตุในผลของพระธรรม มิฉะนั้นแล้ว เพียงศรัทธาอย่างเดียว ก็จะทำให้เข้าใจผิดและปฏิบัติผิดในพระธรรมได้

    ข้อความในอรรถสาลินี จิตตุปาทกัณฑ์ อธิบาย สัทธินทรียนิทเทส มีข้อความว่า

    ธรรมชาติที่ชื่อว่า ศรัทธา เพราะเชื่อพระพุทธคุณเป็นต้น อีกอย่างหนึ่ง ที่ ชื่อว่า ศรัทธา เพราะเชื่อ คือ ดำเนินไปสู่พุทธาธิรัตนะ คือ พระพุทธรัตนตรัย มีพระพุทธรัตนะ เป็นต้น

    อาการที่เชื่อ ชื่อว่า สัททหนา ที่ชื่อว่า น้อมใจเชื่อ เพราะหยั่งลง คือ ดุจแทรกเข้าไปในพุทธคุณเป็นต้น

    ถ้าได้ฟังพระธรรมบ่อยๆ ย่อมเห็นพระปัญญาคุณ พระมหากรุณาคุณ พระบริสุทธิคุณ และก็ในขณะที่ได้เข้าใจพระธรรมนั้น ก็เป็นการดื่มด่ำนอบน้อมในพระพุทธคุณที่จะได้เข้าใจเพิ่มขึ้น

    ที่ชื่อว่า อภิปสาทะ (เลื่อมใสยิ่ง) เพราะเป็นเหตุให้สัตว์ทั้งหลายเลื่อมใสอย่างแรงกล้าในพุทธคุณเป็นต้น

    จะเห็นความเลื่อมใสในพระรัตนตรัยของท่านที่มีศรัทธา สละทรัพย์บ้าง สละสมบัติทั้งหมดบ้างและวงศาคณาญาติ แม้มารดาบิดา แล้วก็ดำรงเพศเป็นพระภิกษุ เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ศรัทธาจะเจริญขึ้นจากความเชื่อในพระรัตนตรัย จนกระทั่งถึงการ อบรมเจริญปัญญา รู้แจ้งอริยสัจธรรม ซึ่งถ้าไม่มีศรัทธา การบรรลุมรรคผลก็จะมีไม่ได้เลย

    แม้แต่คนที่มีศรัทธาหรือไม่มีศรัทธา ย่อมเป็นผู้ที่กลัวภัยของชีวิต แต่ว่าต้องรู้ ว่าขณะใดที่เกิดความกลัวภัยขึ้น ขณะนั้นเป็นอกุศลจิต ถ้ากุศลจิตเกิดขึ้นในขณะนั้น ย่อมไม่กลัวในขณะนั้น เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่อบรมกุศลแล้วก็มีศรัทธามั่นคงจริงๆ ในพระรัตนตรัย เวลาที่มีภัยเผชิญหน้า เกิดขึ้นเฉพาะหน้า ความที่เป็นผู้มีศรัทธาในพระรัตนตรัย ในขณะนั้นจะทำให้เป็นผู้ที่จิตใจไม่หวั่นไหว แล้วก็จะรู้สึกได้จริงๆ ว่า ในขณะนั้นไม่กลัว แต่ถ้าหลงลืมสติ กุศลจิตไม่เกิด ไม่ระลึกถึงพระรัตนตรัย ขณะนั้นก็ย่อมไม่พ้นจากความกลัวภัยได้

    ข้อความในสังยุตตนิกาย สคาถวรรค ธชัคคสูตร ข้อ ๘๖๕ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนเราแลกล่าวอย่างนี้ว่า หากความกลัวก็ดี ความหวาดสะดุ้งก็ดี ความขนพองสยองเกล้าก็ดี พึงบังเกิดแก่พวกเธอผู้ไปในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนที่ว่างเปล่าก็ดี ทีนั้นพวกเธอพึงตามระลึกถึงเรานี้แหละว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็นพระอรหันต์ เป็นผู้ตรัสรู้ชอบ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว เป็นผู้รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นจะยิ่งไปกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้ตื่นแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม ดังนี้

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะว่าเมื่อพวกเธอตามระลึกถึงเราอยู่ ความกลัวก็ดี ความหวาดสะดุ้งก็ดี ความขนพองสยองเกล้าก็ดี ที่จักมีขึ้น ก็จักหายไป หากพวกเธอไม่ตามระลึกถึงเรา ทีนั้นพวกเธอพึงตามระลึกถึงพระธรรมว่า พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว บุคคลพึงเห็นได้เอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดูได้ ควรน้อมเข้าไปในตน อันวิญญูชนพึงรู้แจ้งได้เฉพาะตน ดังนี้

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะว่าเมื่อพวกเธอตามระลึกถึงพระธรรมอยู่ ความกลัวก็ดี ความหวาดสะดุ้งก็ดี ความขนพองสยองเกล้าก็ดี ที่จักมีขึ้น ก็จักหายไป หากพวกเธอไม่ตามระลึกถึงพระธรรม ทีนั้นพวกเธอพึงตามระลึกถึงพระสงฆ์ว่า พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว เป็นผู้ปฏิบัติตรง เป็นผู้ปฏิบัติเป็นธรรม เป็นผู้ปฏิบัติชอบยิ่ง พระสงฆ์นั้นคือใคร ได้แก่ คู่แห่งบุรุษสี่รวมเป็นบุรุษบุคคลแปด นี้คือพระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ควรแก่สักการะที่เขานำมาบูชา เป็นผู้ควรแก่ของต้อนรับ เป็นผู้ควรแก่ทักขิณา เป็นผู้ควรแก่การทำอัญชลี เป็นบุญเขตของโลก ไม่มีบุญเขตอื่นยิ่งไปกว่า เพราะว่าเมื่อพวกเธอตามระลึกถึงพระสงฆ์อยู่ ความกลัวก็ดี ความหวาดสะดุ้งก็ดี ความขนพองสยองเกล้าก็ดี ที่จักมีขึ้น ก็จักหายไป ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุแห่งอะไร เพราะว่าพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ปราศจากรา ปราศจากโทสะ ปราศจากโมหะ ไม่เป็นผู้กลัว ไม่หวาด ไม่สะดุ้ง ไม่หนีไป ฯ

    ด้วยพระปัญญาที่ทรงตรัสรู้สภาพธรรมทั้งหลายตามความเป็นจริง

    พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นได้ตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายอยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างเปล่าก็ดี พึงระลึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเถิด ความกลัวไม่พึงมีแก่เธอทั้งหลาย ถ้าว่าเธอทั้งหลายไม่พึงระลึกถึงพระพุทธเจ้าผู้เจริญที่สุดในโลก ผู้องอาจกว่านรชน ทีนั้นเธอทั้งหลายพึงระลึกถึงพระธรรม อันนำออกจากทุกข์ อันพระพุทธเจ้าทรงแสดงดีแล้ว ถ้าเธอทั้งหลายไม่พึงระลึกถึงพระธรรมอันนำออกจากทุกข์ อันพระพุทธเจ้าทรงแสดงดีแล้วทีนั้น เธอทั้งหลายพึงระลึกถึงพระสงฆ์ผู้เป็นบุญเขต ไม่มีบุญเขตอื่นยิ่งไปกว่า

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อเธอทั้งหลายระลึกถึงพระพุทธเจ้าพระธรรมและพระสงฆ์อยู่ ความกลัวก็ดี ความหวาดสะดุ้งก็ดี ความขนพองสยองเกล้าก็ดี จักไม่มีเลย

    ผู้ฟัง เรื่องของศรัทธานี้เป็นเรื่องที่กว้างขวางมาก และก็ศรัทธานี้เป็นกุศลสาธารณเจตสิกอย่างเดียว ไม่เกิดกับอกุศลเลย ซึ่งต่างกับสมาธิ สมาธินี้เกิดได้ทั้งในจิตที่เป็นกุศลและอกุศล เพราะฉะนั้น ศรัทธาที่ชาวบ้านเข้าใจ ยกตัวอย่างๆ ที่เชื่อในสิ่งที่ไม่ค่อยมีเหตุผล อย่างเรื่องหมอน้อย ที่ชาวบ้านแตกตื่นกันไปขอยาขออะไรอย่างนี้ เชื่อว่าจะรักษาหาย ลักษณะอย่างนี้จะเป็นศรัทธาในพุทธศาสนาหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ไม่เป็นเลย ต้องเป็นศรัทธาในกุศลธรรม

    ผู้ฟัง ศรัทธาในพระพุทธศาสนาต้องเป็นกุศลธรรมอย่างเดียว ไม่เป็นอกุศล แต่สมาธิแล้วอาจเป็นได้ทั้งกุศลและอกุศล

    ท่านอาจารย์ สมาธิมี สัมมาสมาธิ กับ มิจฉาสมาธิ ถ้ามิจฉาสมาธิก็เป็นโลภมูลจิต

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น การที่เจริญสมาธินี่ก็จึงเป็นเรื่องที่ทุกคนควรจะระวังอย่างมาก ประเดี๋ยวจะกลายเป็นเจริญมิจฉาสมาธิไป ก็จะทำให้เข้าใจไขว้เขวไปใหญ่โต

    ท่านอาจารย์ ด้วยเหตุนี้ต้องรู้ความต่างกันของโลภเจตสิกกับศรัทธาเจตสิก

    ผู้ฟัง ส่วนมากคนที่รู้ธรรม หรือชาวบ้านที่ไม่รู้ธรรม ที่ใช้ศัพท์คำว่า ศรัทธากับปสาทะ บางทีก็จะเข้าใจในลักษณะอย่างเดียวกัน แต่มีความสงสัยว่าในรูปศัพท์ ศรัทธา แปลว่า ความเชื่อ ปสาทะ แปลว่า ความเลื่อมใส แต่ส่วนมากคนเห็นสิ่งไหน หรือเห็นคนทำดี หรือพึงพอใจ ก็เกิดความเลื่อมใสขึ้น หรือเกิดศรัทธาขึ้น ทำให้ใช้ศัพท์นี้ไม่ค่อยถูก และก็ไม่ค่อยเข้าใจความหมาย อยากจะเรียนถามอาจารย์ว่า ศรัทธากับปสาทะนี้ แตกต่างกันอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ความจริงแล้วเป็นลักษณะของศรัทธาเจตสิก เพราะเหตุว่าปสาทะต้องเป็นความเลื่อมใสในกุศล ถ้าใช้คำว่า ศรัทธา หมายถึงลักษณะของศรัทธาเจตสิก ต้องมีสภาพที่ผ่องใส เลื่อมใส แต่ว่าต้องเป็นไปในเรื่องของกุศลธรรมทั้งหมด ถ้าชาวบ้านจะใช้เองก็เป็นเรื่องของชาวบ้าน แบบสติ ก็เป็นสติตามความเข้าใจของชาวบ้าน แต่ว่าถ้าจะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมแล้ว ต้องเป็นลักษณะของศรัทธาเจตสิก

    ท่านที่เคยกลัว หรือว่ามีเหตุการณ์ทำให้ตกใจกลัว หายกลัวเพราะอะไร เคยคิดบ้างไหม จะมีเวลาทันพอที่จะระลึกถึงพระรัตนตรัย พระคุณของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ของพระธรรม ของพระสงฆ์ไหม

    ผู้ฟัง สมัยกระผมบวชเป็นเณร มีเหตุการณ์ที่เกิดประจักษ์กับตัวเอง คือ มีความกลัวเกิดขึ้นอย่างขนาดหนัก เพราะว่าเมื่อก่อนตอนเย็นก่อนที่จะนอน ก่อนจะถึงเวลานอน มีชาวบ้านคนหนึ่ง ซึ่งเขาเป็นคนมีวิชาอาคม เรียกว่าสามารถจะใส่หนัง บังควัน อะไรทำนองนั้น คือหมายความว่า สามารถที่จะปล่อยวัวธนูหรืออะไรได้ เขาเล่าลือกันอย่างนั้น แล้วชาวบ้านคนนี้ก็เป็นคนพลัดถิ่นมาจากที่อื่น แล้วแกไม่สบาย แกเป็นไข้จับสั่น แล้วมาขออาศัยอยู่วัด พระก็ไม่กล้าจะขัดขวาง บอกให้ผมเป็นคนนั่นเองผมก็เลยบอกว่าไม่ได้ดอก จะต้องไปขออนุญาตจากทายก หรือผู้ใหญ่บ้านเสียก่อน จึงจะมาอยู่วัดได้ เพราะการมาอยู่วัดๆ ไม่ใช่ของพระโดยตรง เป็นของชาวบ้านบำรุง แกก็ไม่พอใจ พอตกกลางคืน กระผมฝันว่า เดินไปในทุ่งนา มีควายวิ่งมาขวิด ขวิดอยู่จนกระทั่งหน้าอกจะพังในฝันนั้น แต่พอตื่นขึ้นมา ก็ปรากฏว่าบนเพดานมีคล้ายคนมาหมุนๆ และก็เหมือนกับมีขี้ผงขี้อะไรร่วงลงมาตลอดเวลา กระผมก็ระลึกถึงพระพุทธคุณ นึกถึงว่าพระพุทธเจ้ามีจริง เราถึงได้บวช เพราะฉะนั้น พระคุณของพระองค์จะต้องคุ้มครองให้ข้าพเจ้าที่บวชนี้พ้นจากอันตราย ระลึกถึงแล้วก็สวดอิติปิโส สวดจนกระทั่งไม่มีหยุด แล้วว่ากรณียเมตตสูตรด้วย สวดซ้ำๆ ซากๆ จนกระทั่งว่า พระที่นอนอยู่ใกล้ๆ ท่านตื่นขึ้นมาท่านก็ได้ยินเหมือนผม แต่ท่านได้ยิน ท่านมีคาถาของท่าน ท่านบอกเล่าคาถาแล้ว ขนท่านลุกพึบพับ คว้าได้มีด ก็ฟันฝาดังตึง แล้วเสียงก็เงียบหายไป

    อันนี้กระผมก็มาระลึกถึงว่า เวลากลัวถึงสุดขีด เมื่อไม่มีที่อื่นที่เป็นที่พึ่งได้ น้อมระลึกถึงพระพุทธคุณนี้ สามารถที่จะเป็นที่พึ่งได้จริงๆ ในทางโลก กระผมเชื่ออย่างนั้นจริงๆ แล้วก็เคยประสบมา

    ท่านอาจารย์ นี่ก็เป็นการที่จะพิจารณาสภาพของจิตได้ละเอียดขึ้น เมื่อเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ถ้าจะย้อนกลับไปพิจารณาจะรู้ว่า ขณะไหนเป็นอกุศลประเภทไหน แล้วก็ขณะไหนเป็นศรัทธา แล้วก็ขณะไหนที่ศรัทธาเกิดขึ้นแล้ว และก็เวลาที่อกุศลจิตประเภทอื่นจะเกิดขึ้นกับท่านอื่น ก็ย่อมเห็นได้ใช่ไหมว่า ขณะใดเป็นกุศล ขณะใดไม่ใช่กุศล อย่างตอนคว้ามีดจะเป็นกุศลได้ไหม

    นี่เป็นเรื่องความละเอียดของเหตุการณ์ ซึ่งจะต้องพิจารณาลงไปแต่ละขณะจิตจริงๆ ด้วยความละเอียด

    เพราะฉะนั้น สำหรับผู้ที่จะมีภัยอันตรายต่างๆ ไม่ว่าภัยที่เผชิญหน้า หรือว่าภัยความเดือดร้อนต่างๆ จะทำอย่างไรจิตถึงจะไม่กลัวภัยนั้นๆ ได้ ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน จะรู้ได้จริงๆ ว่า สภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา แม้แต่การเห็น การได้ยิน ก็ไม่มีการรู้ล่วงหน้าเลยว่า ขณะต่อไปจะมีปัจจัยอะไรที่จะปรุงแต่งให้เป็นการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การกระทบสัมผัส การคิดนึกต่างๆ

    เพราะฉะนั้น ถ้ามีความมั่นคงในการที่จะรู้ว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ทุกอย่างเมื่อมีเหตุปัจจัยที่จะเกิดก็ต้องเกิด แล้วแต่ว่าเป็นกรรมของตนเองที่ได้กระทำแล้ว ถ้าคิดอย่างนี้ ระลึกอย่างนี้ แล้วก็เป็นผู้ที่เจริญสติปัฏฐานในขณะนั้น ก็เป็นผู้ที่ไม่กลัวภัย ขณะนั้นก็ชื่อว่ามีพระธรรมเป็นที่พึ่ง เพราะเหตุว่าขณะนั้นเป็นผู้ที่ปฏิบัติตามพระธรรม

    เพราะฉะนั้น การระลึกถึงพระพุทธคุณนี้ แล้วแต่ว่าจะระลึกโดยสถานใด อาจจะระลึกโดยการประพฤติปฏิบัติทันที เจริญสติปัฏฐานทันที ระลึกถึงกรรมทันทีก็ได้ ข้อความในอรรถกถา อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ พราหมณวรรควรรณนาที่ ๑ อรรถกถาปฐมชนสูตร มีข้อความว่า

    บุญ ชื่อว่า ตาณะ เพราะหมายความว่า เป็นที่ต้านทานของผู้ไปสู่ปรโลก

    ทุกคนต้องจากโลกนี้ไป วันหนึ่งก็จะถึงเวลาที่ไม่รู้ว่าโลกนี้เป็นอย่างไรต่อไปอีกแล้ว เพราะว่าจากไปสู่โลกอื่น แต่ว่าจะจากไปสู่ที่ไหน ถ้าเป็นผลของกุศล บุญนั้น ชื่อว่า ตาณะ เพราะหมายความว่า เป็นที่ต้านทานของผู้ไปสู่ปรโลก จะต้านทานไม่ให้ไปสู่อบายภูมิทั้ง ๔ ซึ่งเป็นภูมิที่ไหลไปโดยง่าย ตามอกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว

    ชื่อว่า เลณะ เพราะหมายความว่า เป็นที่ซ่อนเร้นจากภัยอันตรายทั้งหลาย

    ชื่อว่า ทีปะ เพราะหมายความว่า เป็นที่พักอาศัย อำนวยความสะดวกความสบายให้

    ชื่อว่า สรณะ เพราะหมายความว่า เป็นที่พึ่งอาศัย

    ยามทุกข์ ยามเดือดร้อน ก็มีพระธรรมเป็นสรณะ ทั้งๆ ที่มีความทุกข์ก็ยังไม่ทุกข์ได้ ควรจะมีความกังวลใจ ความกังวลใจนั้นก็หายไปได้ เมื่อระลึกถึงความจริงของธรรม ตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง

    ชื่อว่า ปรายนะ เพราะสามารถจะให้คติที่สูงได้ คือทางไปสู่มรรคผลนิพพาน

    ก็เป็นชื่อต่างๆ ของบุญ

    สำหรับศรัทธาก็เช่นเดียวกับโสภณเจตสิกอื่นๆ ซึ่งยากที่จะสังเกตรู้ได้ แต่ว่าศรัทธาย่อมมีการกระทำที่แสดงให้เห็นถึงโสภณธรรมในขณะนั้น ซึ่งก็จะต้องเป็นผู้ที่สังเกต จึงสามารถที่จะพิจารณา แล้วก็ค่อยๆ อบรมเจริญศรัทธาขึ้น จากการฟังพระธรรมและก็พิจารณาตนเอง

    ศรัทธาในกุศลมีมากมายหลายอย่าง เวลาที่เห็นจิตใจที่ดีงามของคนอื่น พร้อมกันนั้นก็พิจารณาตนเองได้ว่า ท่านมีจิตใจที่ดีงามอย่างนั้นหรือไม่ อย่างถ้าเห็นบางคนที่เป็นผู้ที่เอาใจใส่ญาติผู้ใหญ่ แล้วก็มีการช่วยเหลือเกื้อกูลในสุขทุกข์ของท่าน มีวาจาที่ทำให้ท่านสบายใจ ถ้าเป็นผู้ที่ละเอียด ย่อมพิจารณาตนเองว่า ท่านได้ทำอย่างนั้นด้วยหรือเปล่า หรือเพียงแต่ชื่นชมอนุโมทนาในกุศลจิตของคนอื่น ซึ่งเป็นผู้ที่มีจิตใจงาม สามารถที่จะกระทำได้อย่างนั้น

    เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่ตรง นอกจากจะเห็นโสภณธรรมซึ่งเป็นธรรมฝ่ายดี เป็นกุศลของบุคคลอื่นแล้ว ก็ยังควรที่จะน้อมมาพิจารณาตนเองว่า แล้วตนเองมีศรัทธาที่จะกระทำอย่างนั้นหรือยัง ถ้าขณะใดที่ไม่ได้กระทำกุศลสิ่งหนึ่งสิ่งใด ซึ่งเห็นและก็พิจารณาแล้วว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่ยังไม่ได้กระทำ ก็เพราะเหตุว่าในขณะนั้นศรัทธานั้นยังไม่เกิดกับท่าน เพียงแต่ท่านรู้ว่าดี และก็ชื่นชมเวลาที่คนอื่นกระทำ

    เพราะฉะนั้น กุศลแต่ละอย่างนี้ที่จะเพิ่มขึ้น ก็ต่อเมื่อท่านได้พิจารณา แล้วก็มีความตั้งใจที่จะเจริญศรัทธาในสิ่งที่ท่านอาจจะยังไม่เคยเกิด หรือว่ายังไม่เคยกระทำเลยให้เพิ่มขึ้นได้

    เพราะฉะนั้น เมื่อได้ฟังพระธรรมแล้ว ก็พิจารณาตนเอง เพื่อที่จะให้ศรัทธาในสิ่งที่ยังไม่เคยเกิด ได้เกิดเพิ่มขึ้น เช่น บางท่านอาจจะเป็นคนที่อภัยให้คนอื่นยาก และก็มักจะเห็นแต่อกุศลของคนอื่น ถ้าพิจารณาตนเองแล้วก็ดูศรัทธา เพียงสภาพธรรมที่เป็นศรัทธาว่า ท่านมีศรัทธาที่จะให้อภัยหรือยังเท่านั้นเอง มิฉะนั้นศรัทธาก็ไม่มีวันจะเกิด ศรัทธาก็จะไม่เพิ่มขึ้น ต่อเมื่อใดพิจารณาแล้ว เห็นว่ายังขาดศรัทธาในเรื่องนี้ ก็จะเป็นเหตุทำให้ศรัทธาในการที่จะอภัยให้คนอื่นเกิดได้

    หรือบางครั้งอาจจะเป็นผู้ที่ตระหนี่ หรือริษยา ขณะนั้นเป็นอกุศล เมื่อพิจารณาตนเองก็ดูว่า ตนเองจะมีศรัทธาที่จะละความริษยา และละความตระหนี่ขึ้นหรือยัง ในขณะที่ขุ่นเคืองใจและก็ระลึกได้ เมื่อได้ฟังเรื่องของศรัทธา ก็เริ่มพิจารณาว่า มีศรัทธาที่จะไม่เห็นประโยชน์ของความโกรธหรือยัง มิฉะนั้นแล้วก็ยังคิดว่า ยังดีอยู่นั่นเอง โกรธนิดๆ หน่อยๆ ทำให้คนอื่นประพฤติดีขึ้น แต่ว่าลักษณะของความขุ่นเคืองใจนั้นไม่เป็นประโยชน์เลย แทนที่จะขุ่นเคืองใจ อาจจะทำสิ่งอื่นที่เป็นประโยชน์กว่านั้นด้วยความไม่ขุ่นเคืองใจ ขณะใดที่เป็นอย่างนั้น ก็แสดงว่ามีศรัทธาที่จะไม่โกรธ และก็เห็นโทษของความโกรธและอกุศลอื่นๆ

    บางท่านมีศรัทธาที่จะเผยแพร่พระธรรมให้คนอื่นเข้าใจพระธรรม และก็ขัดเกลากิเลส คิดถึงคนอื่นมาก แต่ก็อย่าลืมพิจารณาตนเองเหมือนกันว่า ในขณะที่มุ่งที่จะให้คนอื่นได้ฟังพระธรรม และขัดเกลากิเลส ตัวท่านเองซึ่งเป็นผู้ที่หวังดีต่อคนอื่นนั้น มีการพิจารณาและขัดเกลากิเลสอะไรของตนเอง ซึ่งเห็นเพิ่มขึ้น เพื่อที่จะได้ขัดเกลาให้มากขึ้นอีก

    บางคนก็มีใจที่เมตตา กรุณา สงสารคนที่กำลังเดือดร้อน ขณะนั้นรู้ได้ว่า เป็นสภาพของจิตที่อ่อนโยน แต่ว่าศรัทธานั้นพอที่จะช่วยเหลือด้วยหรือยัง หรือเพียงแต่คิดสงสาร เห็นใจ ขณะนั้นก็เป็นจิตใจที่ดี แต่ศรัทธานั้นยังไม่มีกำลังถึงกับจะช่วยด้วย ซึ่งถ้าเป็นกุศลที่มีกำลังเพิ่มขึ้น ก็จะไม่คิดเมตตาหรือว่ากรุณาแต่เพียงในใจ แต่ก็จะต้องทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด ซึ่งเป็นการเกื้อกูล เป็นประโยชน์ต่อผู้นั้นด้วย

    การที่ศรัทธาและกุศลจิตจะเกิด ก็จะต้องเป็นผู้ที่เข้าใจถึงเหตุ และลักษณะของศรัทธาด้วยว่า ศรัทธามีความเชื่อในกุศล เป็นลักษณะ มีความเลื่อมใส เป็นรสะ มีความไม่ขุ่นมัว เป็นปัจจุปัฏฐาน มีวัตถุอันเป็นที่ตั้งแห่งศรัทธา เป็นปทัฏฐาน หรือมีโสตาปัตติยัง เป็นปทัฏฐาน

    มีวัตถุอันเป็นที่ตั้งแห่งศรัทธา จะเห็นได้ชัดว่า ขณะใดที่กุศลจิตเกิด แสดงว่าขณะนั้นท่านมีศรัทธาในวัตถุ คือ ในกุศลประการนั้น เพราะเหตุว่าศรัทธาในการกุศลของแต่ละคนนี้ ต่างกันไปตามการสะสม บางคนก็มีศรัทธาที่จะทำบุญ ถวายอาหารแก่พระภิกษุสงฆ์ บางคนก็มีศรัทธาที่จะช่วยเหลือคนตกทุกข์ได้ยาก สำหรับตัวท่านเองก็พิจารณาได้ว่า ศรัทธาของท่านมีอะไรเป็นวัตถุซึ่งเป็นที่ตั้งของศรัทธา ท่านศรัทธาอย่างไร ท่านทำอย่างนั้น ท่านมีความเลื่อมใสที่ไหน ท่านก็มีการทะนุบำรุง เสียสละทำประโยชน์ในที่นั้น

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่จะพิจารณาได้ในชีวิตประจำวันจริงๆ ว่า กุศลจิตจะเกิดได้มากขึ้น ถ้าระลึกถึงศรัทธาในกุศล แม้แต่การต้อนรับมิตรสหาย ขณะนั้นก็ต้องเป็นกุศลจิตเหมือนกัน ใช่ไหม มีศรัทธาที่จะโอภาปราศรัย มีศรัทธาที่จะมีอามิสปฏิสันถาร หรือธรรมปฏิสันถาร ซึ่งทุกคนนี้จะรู้จักจิตใจของตนเองดียิ่งกว่าคนอื่น เพราะว่าคนอื่นย่อมไม่สามารถจะรู้จักจิตใจของท่านได้

    มีท่านผู้หนึ่ง ท่านเป็นผู้ที่ช่วยเหลือเกื้อกูลให้บุคคลอื่นที่สนใจในธรรม ได้หนังสือธรรมบ้าง หรือว่าอธิบายธรรมบ้าง แล้วบางท่านก็แปลหนังสือธรรม ท่านผู้หนึ่งท่านถามว่า ในขณะที่ท่านกำลังช่วยเหลือ อยากจะให้คนอื่นได้เข้าใจพระธรรมนี้ ขณะนั้นท่านไม่เคยคิดเลยว่า เพื่อจะได้บรรลุมรรคผลนิพพาน เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นศรัทธาของท่านเป็นไปในประเภทใด ในการที่ช่วยเหลือบุคคลอื่นที่สนใจธรรม ให้ได้อ่านหนังสือธรรม หรือว่าได้ให้เข้าใจธรรม แต่ขณะนั้นไม่มีความคิดว่า เพื่อที่จะได้บรรลุมรรคผลนิพพาน

    นี่ก็แสดงลักษณะของศรัทธาที่ละเอียด กว่าจะถึงการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม แต่ก็ควรที่จะได้พิจารณาว่า กุศลใดๆ ก็ตามที่กระทำโดยไม่หวังสิ่งใดเป็นการตอบแทน อันนั้นก็คงจะแสดงยิ่งกว่าคำพูดที่ว่า ต้องการดับกิเลส เพราะเหตุว่าถ้าพิจารณาจริงๆ แล้ว

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 23
    18 ม.ค. 2565

    ซีดีแนะนำ