โสภณธรรม ครั้งที่ 001


    ตอนที่ ๑

    ท่านอาจารย์ สภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา สำหรับมหากุศลจิต ๘ ดวง เกิดร่วมกับปัญญาเจตสิก ๔ ดวง เป็นญาณสัมปยุตต์ และไม่เกิดร่วมกับปัญญา ๔ ดวง เป็นญาณวิปปยุตต์

    ซึ่งทุกคนก็อยากจะให้กุศลจิตที่เกิดทุกครั้ง มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่กุศลที่เกิดโดยที่มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วยน้อยกว่ากุศลที่ไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย เพราะส่วนใหญ่แล้วจะเห็นได้ว่า มีการให้ทาน มีการวิรัติทุจริต มีการสงเคราะห์ช่วยเหลือบุคคลอื่น มีการอ่อนน้อมต่อผู้ที่ควรอ่อนน้อม แต่ในขณะนั้นเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์หรือเปล่า

    เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า เหตุที่จะให้เกิดญาณสัมปยุตต์มีในขณะใด มหากุศลญาณสัมปยุตต์จึงจะเกิดในขณะนั้น

    ข้อความในอรรถสาลินี ได้แสดงเหตุให้เกิดญาณสัมปยุตต์ ๔ ประการ คือ

    ประการที่ ๑ โดยกรรม การกระทำซึ่งเป็นไปในเรื่องของความรู้ ความเข้าใจ แม้แต่การแสดงธรรมที่ควรประพฤติทางกาย ทางวาจา ให้คนอื่นได้ประพฤติตาม ขณะนั้นก็เป็นเจตนาที่เป็นกุศล ที่ต้องการให้บุคคลนั้นมีความประพฤติที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น ก็ย่อมเป็นเหตุให้เกิดญาณสัมปยุตต์ได้ในกาลข้างหน้า หรือการสอนวิชาศิลปะต่างๆ ในการอาชีพให้คนอื่น อันนั้นก็เป็นกุศลเจตนา แล้วการที่จะมีความสามารถในศิลปะ ในการอาชีพ ก็จะต้องมีการใส่ใจสนใจโดยแยบคาย ซึ่งก็จะเป็นสังขารขันธ์ที่ปรุงแต่ง ทำให้เป็นผู้ที่พิจารณาทุกอย่างด้วยความละเอียด ด้วยความแยบคาย ทำให้สามารถที่จะพิจารณา แม้ในเหตุผลของธรรมที่ได้ยินได้ฟัง ซึ่งก็จะเป็นเหตุให้เกิดญาณสัมปยุตต์ในกาลข้างหน้า

    หรือบางท่านแม้ในครั้งก่อนๆ ก็เป็นผู้ที่ได้เห็นประโยชน์ของปัญญา แต่ในเมื่อปัญญายังไม่ได้เกิดมาก ยังไม่เจริญมาก เพราะฉะนั้น ก็ได้กระทำกุศล เช่น ถวายสักการะและได้อาราธนาพระธรรมกถึกให้กล่าวธรรมกถา โดยตั้งความปรารถนาขอให้เป็นผู้ที่มีปัญญา แล้วถวายทาน หรือทำกุศลประการอื่นๆ

    อาศัยกรรมนั้นๆ ที่ได้กระทำ ปรุงแต่งเป็นสังขารขันธ์ ย่อมเป็นปัจจัยให้กุศลญาณสัมปยุตต์เกิดได้ในภายหลัง

    ในขณะนี้ที่ทุกท่านกำลังฟังพระธรรม พิจารณาพระธรรม เข้าใจพระธรรมในขณะใด ขณะนั้นเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ ซึ่งก็จะปรุงแต่งให้เป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ขั้นต่อไปอีก คือ ขั้นสติปัฏฐานที่ระลึกได้ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ พร้อมกันนั้นอาศัยการฟังซึ่งสะสมเป็นพหูสูต มีความแยบคายที่จะรู้ว่า ขณะที่ได้ยินครั้งหนึ่ง ก็เพราะเหตุว่าป็นวิถีจิตที่เกิดขึ้นเท่านั้นเอง ถ้าไม่ใช่วิถีจิต คือ ไม่อาศัยโสตปสาทรูปเป็นปัจจัย จิตที่ได้ยินก็เกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เราที่ได้ยิน แต่เป็นจิตนิยามซึ่งเกิดดับสืบต่อกัน เมื่อมีการกระทบเสียงขณะใด เป็นปัจจัยให้วิถีจิตเกิดตามลำดับ และโสตวิญญาณเกิดขึ้นได้ยินเสียงก็เป็นเพราะเป็นวิถีจิตเท่านั้นเอง แล้วก็ดับไป และในขณะที่เสียงไม่ปรากฏ ในขณะที่จิตไม่ได้ยิน ในขณะนั้นก็ไม่ใช่วิถีจิต เพราะฉะนั้น พอกระทบสัมผัสขณะใด ขณะนั้นก็รู้ว่าเป็นเพียงวิถีจิต เย็น ร้อน อ่อน แข็งในขณะนั้นจึงปรากฏกับกายทวารวิถี

    ขณะที่ได้กลิ่นขณะใด ซึ่งขณะนี้ไม่มี ขณะนั้นก็ไม่ใช่วิถีจิต แต่เพียงชั่วขณะที่กลิ่นปรากฏ ก็ปรากฏกับวิถีจิตซึ่งเกิดเพราะฆานปสาทรูปกระทบกับกลิ่นเท่านั้นเอง

    เพราะฉะนั้น อาศัยการฟังมากๆ แล้วเวลาที่สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏเพียงชั่วครู่ ชั่วขณะ แล้วก็ดับไป ก็จะทำให้เห็นความจริงของสภาพธรรม จนสามารถที่จะคลายการที่จะยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา ซึ่งก็จะต้องอาศัยกรรม คือ การกระทำ ไม่ว่าจะเป็นทานก็ตาม ก็ปรารถนาความเป็นผู้มีปัญญา หรือการฟังธรรม การอุปการะ การอุปถัมภ์ การเกื้อกูล ให้บุคคลอื่นได้เกิดปัญญา ก็ย่อมเป็นปัจจัยที่ปรุงแต่งที่จะทำให้มหากุศลญาณสัมปยุตต์เกิดได้

    ประการที่ ๒ เหตุให้เกิดมหากุศลญาณสัมปยุตต์ คือ โดยอุบัติ โดยการเกิดในภพภูมิที่ไม่มีการเบียดเบียนกัน เป็นผู้ที่มีความสุขในโลกนั้น เช่น ในโลกสวรรค์ ซึ่งแม้ว่าการเกิดของสตินั้นช้า เพราะเหตุว่าเป็นภูมิของผู้ที่มีความสุขสบาย ไม่มีการเบียดเบียน มีแต่ความร่าเริง เต็มไปด้วยอิฏฐารมณ์ต่างๆ ทำให้สติเกิดช้าก็จริง แต่ว่าโดยการสะสมที่ได้สะสมมาแล้ว ก็ทำให้บุคคลนั้นเป็นผู้ที่มีส่วนแห่งคุณวิเศษโดยเร็วพลัน คือ สามารถที่จะระลึกลักษณะและรู้สภาพธรรมที่ไม่เที่ยง แม้ในสวรรค์ได้

    ไม่มีใครรู้ว่า แต่ละท่านที่เกิดในโลกนี้ ซึ่งปฏิสนธิจิตเป็นมหาวิบากญาณสัมปยุตต์เกิดสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน ในภูมิไหน คือ ไม่มีใครสามารถจะรู้ได้ว่าใครมาจากไหน มาจากนรกก็ได้ มาจากเปรตก็ได้ มาจากสัตว์ดิรัจฉานก็ได้ มาจากมนุษย์ในโลกนี้ คือ เคยเกิดเป็นมนุษย์มาแล้ว แล้วจุติจิตดับ แล้วปฏิสนธิจิตเกิดในโลกนี้อีกก็ได้ หรือว่ามาจากสวรรค์ก็ได้ ถ้าเป็นพรหมบุคคล คือ รูปพรหมภูมิ จะไม่เกิดในอบายภูมิทันที หลังจากที่จุติจิตดับจากรูปพรหมภูมิ จะเกิดในสุคติภูมิ แต่ว่าปฏิสนธิจิตจะเป็นญาณสัมปยุตต์หรือญาณวิปยุตต์ก็ได้ แล้วแต่กรรม แต่สำหรับผู้ที่เป็นอรูปพรหมบุคคล เมื่อจุติจิตดับ แล้วปฏิสนธิจิตเกิดต่อในภูมิที่เป็นกามสุคติแล้ว ปฏิสนธิจิตจะเป็นมหาวิบากญาณสัมปยุตต์ จะไม่เป็นมหาวิบากญาณวิปยุตต์ เพราะเหตุว่าสะสมการที่จะให้กุศลจิตประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ จนกระทั่งสามารถจะบรรลุความสงบของจิตอย่างมั่นคงถึงขั้นอรูปฌานได้ เพราะฉะนั้น เมื่อจุติจากอรูปพรหมภูมิ ปฏิสนธิจิตถ้าเป็นในกามสุคติภูมิก็จะต้องเป็นมหาวิบากญาณสัมปยุตต์

    เพราะฉะนั้น โดยอุบัติ ก็คือผู้ที่เกิดประกอบด้วยปัญญา อย่างม้ากัณฐกะ จะเห็นได้ว่า เป็นสัตว์ดิรัจฉาน เมื่อจุติจิตจากการเป็นดิรัจฉานแล้วปฏิสนธิเป็นเทวดา และได้มาเฝ้าพระผู้มีพระภาค แล้วก็ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม เพราะฉะนั้น เวลาที่เกิดในสวรรค์ แม้ว่าเป็นภูมิที่มีอิฏฐารมณ์มากก็ตาม แต่ว่าการสะสมที่ได้สะสมมาแล้ว ก็ทำให้สามารถจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ เมื่อได้มาเฝ้าพระผู้มีพระภาค

    ประการที่ ๓ ที่จะทำให้เกิดญาณสัมปยุตต์ ก็คือ โดยความแก่กล้าของอินทรีย์ คือถึงกาล หรือถึงอายุ ถึงกาลเวลาที่ปัญญาจะเกิด

    โดยมากผู้ที่มีอายุน้อย จะเป็นผู้ที่มีประสบการณ์น้อย และอาจจะเป็นผู้ที่ขาดความสุขุม รอบคอบ ไม่สามารถที่จะพิจารณาในเหตุในผล ในประโยชน์ได้ถูกต้องโดยสมควร เท่ากับผู้ที่มีอายุถึงกาลเวลาที่ปัญญาจะเกิด เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ผู้ที่บรรลุเป็นพระอริยเจ้า เมื่ออายุเพียง ๗ ขวบนั้นมีเป็นจำนวนน้อย ไม่เท่ากับผู้ที่อยู่ในกาลของอายุที่ปัญญาจะเกิด แม้แต่ท่านพระราหุลเอง ท่านก็บวชเป็นสามเณรตั้งแต่อายุ ๗ ขวบ ได้ฟังพระธรรม แต่ก็ยังไม่ถึงกาลที่ปัญญาจะสมบูรณ์

    เพราะฉะนั้น การที่จะเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ ก็ต้องอาศัยวัย คือ กาลอายุ กาลเวลาด้วย

    ประการที่ ๔ ที่เป็นเหตุให้เกิดญาณสัมปยุตต์ คือ โดยความห่างไกลจากกิเลส

    นี่เป็นข้อเตือนใจว่าประมาทกิเลสไม่ได้เลย ไม่ว่าใครทั้งนั้น แม้ท่านพระราหุลเอง พระผู้มีพระภาคก็ยังต้องทรงแสดงธรรมกับท่านพระราหุล ซึ่งโดยวัยท่านก็เป็นผู้ที่เห็นว่า ท่านเป็นผู้ที่มีร่างกายงาม เพราะฉะนั้น ก็เป็นปัจจัยให้เกิดความสำคัญตน เป็นปัจจัยเกิดความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ถ้าไม่อาศัยพระธรรมเทศนาที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ก็จะเป็นเหตุขัดขวางการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ แต่ว่าผู้ที่ยังจะต้องอบรมเจริญอีกนาน ก็จะต้องเป็นผู้ที่รู้ว่า กิเลสนี้ยังมีกำลังมากทีเดียว ไม่สามารถที่จะประมาทกิเลสได้เลย ก็จะต้องสะสมปัญญา แล้วพิจารณาว่า การมีชีวิตเป็นอยู่อย่างไร ที่สมควรแก่การที่จะให้ปัญญาเจริญ

    ข้อความในอรรถสาลินี แสดงว่า

    สมดังที่พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไว้ว่า "ปัญญาย่อมเกิดเพราะการประกอบแล ความเสื่อมไปแห่งปัญญาเพราะการไม่ประกอบ เมื่อทราบทาง ๒ แพร่งนี้ คือ ทาง แห่งความเจริญและความเสื่อมนี้แล้ว พึงตั้งตนไว้โดยประการที่ปัญญาจะเจริญงอกงาม ฉะนั้น"

    อยู่ดีๆ ปัญญาไม่เกิดแน่ๆ ต้องประกอบ คือ กระทำ การที่จะให้ปัญญาเจริญ แม้แต่การฟังพระธรรม ก็เป็นการกระทำที่จะให้ปัญญาเจริญ

    ซึ่งทุกท่านจะเห็นได้ว่า ชีวิตของผู้ที่ยังมีกิเลส ยังมีอกุศลอยู่ อดไม่ได้ที่จะต้องสนุกสนานเพลิดเพลิน ไม่ตอนเช้า ตอนสาย ตอนบ่าย ก็ต้องตอนเย็น ตอนค่ำ แล้วแต่โอกาส แต่ผู้ที่เห็นโทษของการที่จะปล่อยจิตให้คลุกคลีอยู่กับอกุศล ก็ย่อมเป็นผู้ที่ไม่ละทิ้งการฟังพระธรรม และไม่ละทิ้งการเจริญสติปัฏฐาน กิเลสมี กิเลสก็พาไปที่ต่างๆ แล้วก็พาให้กระทำความสนุกสนานรื่นเริงต่างๆ แต่เมื่อเป็นผู้ที่มั่นคงในการฟังพระธรรม ซึ่งไม่ได้ฟังตลอดเวลา แต่ว่าฟังอยู่สม่ำเสมอ และเป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ไม่ว่าจะไปสู่ที่ใด ไม่ว่าจะกำลังสนุกสนาน เพลิดเพลินอย่างไร สติก็สามารถที่จะเกิดขึ้น ระลึกลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงอย่างนั้น

    ข้อสำคัญที่สุด คือ ตามความเป็นจริง ถ้าตามความเป็นจริงแล้ว ทุกคนจะรู้จักตัวเองชัดเจนถูกต้อง ไม่มีการเสแสร้ง และไม่มีการหลอกตัวเอง และหลอกคนอื่นเลย ไม่ว่าขณะจิตใดจะเกิดขึ้นเป็นอกุศล ซึ่งคนอื่นไม่รู้ สติปัฏฐานก็เกิดขึ้นระลึกรู้ในสภาพของอกุศลจิตในขณะนั้น จึงจะเป็นผู้ที่สามารถที่จะละและดับอกุศลได้ เพราะเหตุว่าเห็นอกุศลตามความเป็นจริง ซึ่งถ้ายังไม่เห็นอกุศลตามความเป็นจริง ก็ยังคงคิดว่าไม่เป็นโทษ และไม่รู้ด้วยว่า การสะสมอกุศลมากๆ การเป็นผู้ที่ยังใกล้ชิดต่อกิเลส จะทำให้เพิ่มความไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมเพิ่มขึ้น

    ผู้ฟัง เรื่องอกุศลเกิดบ่อยๆ นี้ ตัวเองก็เป็นอยู่เป็นประจำ อย่างเมื่อวานนี้ แทนที่จะมาสนทนาธรรมกันที่วัดบวร ก็ไม่ได้มา เพราะอกุศลพัดพาให้ไปถึงจังหวัดสิงห์บุรี เนื่องจากเพื่อนฝูงชวนไปงานแต่งงาน ก็คิดว่าการไปก็พยายามให้เป็นกุศล แต่ก็เพลิดเพลิน กุศลก็เกิดน้อย เวลาที่พรรคพวกทานอาหาร กินเหล้า มักจะถามธรรมด้วย คือเวลากินเหล้ามักจะคุยธรรม เขาจะคุยเพราะเขาสนใจจริงๆ หรือว่าเขาจะแหย่เราหรืออะไรก็ไม่ทราบ แต่ก็พูดไปเท่าที่จะพูดได้ แต่ก็รู้สึกว่าบางทีก็ได้ผล เพราะเขากินเหล้ากัน ก็ไม่ถึงเมามายเสียสติ ก็พยายามที่จะดึงมา ก็รู้สึกว่าจะได้ผลอยู่บ้าง คน ๒ คน

    แล้วอีกเรื่องหนึ่ง ที่คิดอยู่ว่า พุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่ จะนึกถึงการทำบุญ จะนึกถึงทานเป็นส่วนใหญ่ พอนึกถึงทานก็จะนึกถึงปัจจัยของตัวเองว่า เรานี้ไม่ค่อยจะมีเงินมีทอง ไม่ค่อยอยากจะไปวัด ไม่อยากจะไปทำบุญ เพราะว่าจะต้องเสียเงิน เสียแน่ๆ ไปวัด ก็เลยไม่ค่อยอยากจะไปวัด อันนี้คิดว่า ยังไม่ใช่ความเข้าใจที่ถูกต้อง เรื่องการเจริญกุศล อาจารย์ก็ได้พูดอยู่เสมอ ว่ามีอยู่ตั้ง ๑๐ อย่าง บุญกิริยาวัตถุมีตั้ง ๑๐ อย่าง อย่างฟังธรรม ก็เป็นบุญกิริยาวัตถุ คือ เราจะต้องให้เห็นความสำคัญของการฟังนี้ก็เป็นสิ่งใหญ่หลวง ไม่เฉพาะแต่ให้ทาน บริจาคเงินเท่านั้น บางทีบริจาคไป กุศลก็ไม่ค่อยจะได้เท่าไร เพราะบริจาคไปด้วยความจำเป็นบ้าง เห็นแก่หน้าบ้าง หรืออยากจะอวดมั่งอวดมี อะไรอย่างนี้ก็มีอยู่

    ผู้ฟัง ทีนี้ขอย้อนมาเรื่อง เป็นผู้ไกลต่อกิเลส ถึงแม้อาจารย์จะพูดสั้นๆ แต่ว่าเป็นเรื่องใหญ่โตมากทีเดียว คือ สรุปแล้วก็เป็นเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานนั่นเอง ไม่อย่างนั้นก็ไม่มีทางเป็นผู้ไกลต่อกิเลสได้ ทีนี้การจะเป็นผู้ไกลต่อกิเลสนี้ยาก เพราะเราไม่คุ้นเคยกับมันเลย เพราะความจริงมันอยู่กับเราตลอดเวลา หลับมันก็อยู่กับเรา มันยากจริงๆ เพราะมันเป็นตัวนามธรรม ถ้าเป็นรูปธรรมอยู่ที่ไหน ป่านนี้ นักวิทยาศาสตร์ คอมพิวเตอร์ คงจับมันมาประหารไปนานแล้ว เพราะกิเลสนี่เป็นนามธรรม ใช่ไหม

    ผู้ถาม ๑ คุณอดิศักดิ์พูดตรงนี้ ก็ตรงกับที่พวกขี้เหล้าถาม เขาพูดว่าเขากลัวกิเลส ก็ว่ากิเลสมันเก่งอะไรนักหนาจึงไปกลัวมัน แทนที่เราจะคุ้นเคยกับมัน แต่กลับไปกลัวมัน แล้วเมื่อไรจะรู้จักกับมันสักทีหนึ่ง กิเลสมันก็เหมือนนักเล่นกลนี่แหละ ถ้าเราจับให้ดี เราก็อาจจะรู้ทันมัน แต่ถ้าเรามีแต่กลัวมันอยู่เรื่อย ไม่พยายามที่จะรู้จักมัน เราก็เลยกลายเป็นเครื่องมือของมัน ให้มันปั่นเล่น ตามสบาย เหมือนอย่างที่นักเล่นกลหลอกเราอยู่ได้ เพราะเราจับความไวของเขาไม่ได้ เขาก็รู้สึกจะพอใจเหมือนกัน ที่พูดว่า กิเลสนี่มันไม่มีตัวตน เพราะถ้ามีตัวมีตน เราก็สามารถหยิบจับทิ้งได้ ทีนี่เรา สามารถจะหยิบจะจับทิ้งได้ มันเหนียวแน่นเหลือเกิน อยู่ในจิตใจของเรานี้ เพราะฉะนั้น เราต้องพยายามทำความรู้จักให้มาก แทนที่จะกลัว ไม่อยากรู้จัก ไม่อยากจะได้ยินคำว่า กิเลสนี้ พูดอย่างนี้จะเข้าหลัก เข้าเกณฑ์อะไรหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ โดยมากกลัวแต่ปาก ไม่ชอบกิเลส ก็ไม่ชอบแต่ปากอีกเหมือนกัน เพราะเหตุว่าไม่รู้จักกิเลส อย่างโลภะอย่างนี้ ถ้าบอกว่า โลภะ ไม่มีใครชอบ แต่ทุกวันนี้อยู่ไม่ได้ ถ้าไม่มีโลภะ

    เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นความจริงว่า ต้องรู้จักลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงเท่านั้น เป็นหนทางเดียว และต้องรู้ว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้น ก็จะต้องรู้ตามความเป็นจริงเท่านั้น ถ้าปัญญาไม่เกิด กิเลสก็ยังคงเจริญเติบโตงอกงามไปเรื่อยๆ ไม่มีใครบั่นทอนทำลายได้

    แสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าจะ ณ สถานที่ใด ถ้าสนทนาธรรมกันก็เป็นประโยชน์ ในเมื่อจำเป็นที่จะต้องไปงานสังคม เป็นความจำเป็น การไปก็เป็นภาระ เป็นหน้าที่อย่างหนึ่ง หรืออาจจะโดยความพอใจก็ได้ เพราะมีอัธยาศัยอย่างนั้น แต่ว่าเป็นผู้ที่มั่นคงในพระธรรม เมื่อฟังแล้วเข้าใจ เพราะฉะนั้น เมื่อพูดถึงธรรม ก็พูดในเหตุในผลที่จะเกื้อกูลให้บุคคลอื่นได้เข้าใจถูกต้อง พร้อมกันนั้นก็เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน

    นี่ เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด จะอยู่ที่สถานที่ใดไม่สำคัญ กำลังทำกิจอะไรไม่สำคัญอีก สติสามารถจะระลึกลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้นตามความเป็นจริง ไม่ใช่ไปผลัดว่า ขณะนี้ไม่ได้ ไม่ได้แน่ๆ ไม่สมควร นั่นไม่เป็นการถูกต้อง

    คำว่า ไม่สมควร จะใช้อย่างเดียว คือ ไม่สมควรที่จะหลงลืมสติ แต่ถ้าพูดถึงการเป็นผู้มีปกติเจริญสติแล้ว จะไม่มีคำว่า ไม่สมควรต่อกาละหรือเทศะเลย เพราะเหตุว่าจะต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมตรงตามความเป็นจริงของแต่ละบุคคล เพราะเหตุว่าต้องเป็นปกติจริงๆ ปัญญาจะต้องเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่เกิดขึ้นจริงๆ ที่เป็นปกติจริงๆ ในขณะนี้ ซึ่งสั้นมาก และขณะต่อไปไม่มีใครไปบังคับให้สภาพธรรมนั้นเป็นอย่างนั้น เพราะเหตุว่าต้องเป็นไปตามเหตุ ตามปัจจัย ทั้งกุศลและอกุศล แล้วแต่ว่าสภาพธรรมใดเกิดขึ้น สติปัฏฐานก็ระลึกเพื่อที่จะรู้ในลักษณะที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ของสภาพธรรมนั้นๆ

    กุศลจิตเกิดขึ้นเพียงชั่วขณะหนึ่ง เป็นอนัตตา เป็นสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรม ไม่มีใครที่จะบันดาลให้นามธรรมคือกุศลจิตเกิดได้ เพราะเหตุว่าถ้าบันดาลได้ ก็มีแต่กุศล ย่อมไม่มีอกุศล และเวลาที่มีปัจจัยพร้อมที่จะให้กุศลจิตเกิด ก็ไม่มีใครบันดาลที่จะไม่ให้จิตนั้นเป็นกุศลได้ ซึ่งถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ได้ทรงแสดงไว้ ก็ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้เลยว่า ในขณะที่กุศลจิตเกิดขึ้นเพียงขณะหนึ่งนั้น มีเจตสิกที่เป็นปัจจัยที่จะเกิดร่วมกับกุศลจิตนั้นอย่างน้อย ๓๑ ดวง เพราะเหตุว่าจะต้องมีอัญญสมานเจตสิกเกิดร่วมด้วย อัญญสมานเจตสิกมี ๑๓ ดวง

    ซึ่งขอทบทวน อัญญสมานเจตสิก มี ๒ ประเภท คือ สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ ดวง ได้แก่ เจตสิก ๗ ดวง ซึ่งต้องเกิดกับจิตทุกประเภท สัพพจิตตสาธารณเจตสิก คือ ผัสสเจตสิก ๑ เวทนาเจตสิก ๑ สัญญาเจตสิก ๑ เจตนาเจตสิก ๑ เอกัคคตาเจตสิก ๑ ชีวิตินทรียเจตสิก ๑ มนสิการเจตสิก ๑

    แค่ ๗ ดวงนี้ ไม่รู้แล้วใช่ไหม ว่าเกิดกับจิตทุกขณะทุกดวง แต่สำหรับจิตที่เป็นกุศลนี้ ต้องมีเจตสิกเกิดมากกว่านั้นอีก

    อัญญสมานเจตสิก คือ เจตสิกซึ่งเมื่อกับจิตใด ก็เสมอกันกับจิตนั้น อัญญสมานเจตสิก มี ๒ ประเภท คือ สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ ดวง และปกิณณกเจตสิก ๖ ดวง ปกิณณกเจตสิก ๖ ดวง คือ วิตกเจตสิก ๑ วิจารเจตสิก ๑ อธิโมกขเจตสิก ๑ วิริยเจตสิก ๑ ปีติเจตสิก ๑ ฉันทเจตสิก ๑ สำหรับปกิณณกเจตสิก ๖ ดวง เกิดกับจิตบางดวง ไม่เกิดกับจิตบางดวง ไม่เหมือนกับสัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗

    เพราะฉะนั้น มหากุศลซึ่งไม่มีปีติเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะเหตุว่าเวทนาเป็นอุเบกขา ปกิณณกเจตสิกก็จะเกิดเพียง ๕ ดวงเท่านั้น ไม่ครบ ๖ ดวง เพราะฉะนั้น สำหรับกุศลที่เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา จะมีอัญญสมานเจตสิกเกิดร่วมด้วยเพียง ๑๒ ดวง คือ เว้นปีติเจตสิก แต่จะต้องมีโสภณสาธารณเจตสิก ๑๙ ดวง เกิดร่วมด้วยทุกครั้ง นี่คือกุศลจิตขณะเดียว จะมีอัญญสมานเจตสิกเกิดร่วมด้วยอย่างน้อย ๑๒ ดวง คือ ขณะที่เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา ถ้าขณะนั้นเป็นโสมนัส จึงจะมีอัญญสมานเจตสิกเกิดครบทั้ง ๑๓ ดวง

    เพราะฉะนั้น เวลาที่กุศลจิตเกิด จะรู้ว่ามีปกิณณกเจตสิกครบไหม ก็คือขณะนั้นความรู้สึกเป็นอย่างไร ถ้าเป็นความรู้สึกเฉยๆ เป็นกุศลที่ทำไปโดยไม่เกิดความโสมนัส ขณะนั้นก็มีปกิณณกเจตสิก เกิดร่วมด้วยเพียง ๕ ดวง และมีอัญญสมานเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๑๒ ดวง เว้นปีติเจตสิก แต่เมื่อเป็นกุศล ที่จะเป็นกุศลได้ จะต้องมีโสภณสาธารณเจตสิก ๑๙ ดวงเกิดร่วมด้วย

    ในขณะที่ให้ทานครั้งหนึ่ง แม้แต่เพียงนิดเดียว หรือการที่จะเว้นวจีทุจริต มีวาจาที่อ่อนโยน ที่ทำให้คนอื่นสบายใจ ในขณะนั้นจะต้องมีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะเหตุว่าสำหรับจิตที่จะเป็นกุศลหรือจะเป็นโสภณได้ จะต้องมีโสภณสาธารณเจตสิก ๑๙ ดวง เกิดร่วมด้วยทุกครั้ง

    โสภณสาธารณเจตสิก คือ เจตสิกที่ดีงามที่เกิดกับโสภณจิตทุกดวง โสภณสาธารณเจตสิก ๑๙ ดวง คือ

    ๑. ศรัทธาเจตสิก ๒. สติเจตสิก ๓. หิริเจตสิก ๔. โอตตัปปะเจตสิก ๕. อโลภเจตสิก ๖. อโทสเจตสิก ๗. ตัตตรมัชฌัตตัตตาเจตสิก ๘. กายปัสสัทธิเจตสิก ๙.จิตตปัสสัทธิ ๑๐. กายลหุตาเจตสิก ๑๑. จิตตลหุตาเจตสิก ๑๒. กายมุทุตาเจตสิก ๑๓. จิตตมุทุตาเจตสิก ๑๔. กายกัมมัญญตาเจตสิก ๑๕. จิตตกัมมัญญตาเจตสิก ๑๖. กายปาคุญญตาเจตสิก ๑๗. จิตตปาคุญญตาเจตสิก ๑๘. กายยุชุกตาเจตสิก ๑๙. จิตตุชุกตาเจตสิก

    รวมเป็นโสภณสาธารณเจตสิก ๑๙ ดวง กับอัญญสมานเจตสิก ๑๒ ดวง เป็นทั้งหมด ๓๑ ดวง ถ้าขณะใดที่เวทนาเป็นโสมนัส ก็เป็น ๓๒ ดวง

    นี่เป็นโสภณสาธารณะ ซึ่งยังมีพิเศษต่างหาก ซึ่งบางครั้งเจตสิกนั้นก็เกิดกับกุศลหรือโสภณจิต บางครั้งก็ไม่เกิด ได้แก่ วิรตีเจตสิก ๓ อัปปมัญญาเจตสิก ๒ และปัญญิน ทรีย์หรือปัญญาเจตสิก ๑

    โสภณเจตสิกทั้งหมด มี ๒๕ ดวง เป็นโสภณสาธารณะ คือ ต้องเกิดกับโสภณจิตทุกครั้ง ๑๙ ดวง ส่วนอีก ๖ ดวง บางครั้งก็เกิด บางครั้งก็ไม่เกิด ได้แก่ วิรตีเจตสิก ๓ คือ สัมมาวาจาเจตสิก ๑ สัมมากัมมันตเจตสิก ๑ สัมมาอาชีวเจตสิก ๑ บางครั้งก็เกิด บางครั้งก็ไม่เกิด และเวลาเกิด เกิดทีละ ๑ ดวง คือ บางครั้งสัมมาวาจาเจตสิกเกิด บางครั้งสัมมากัมมันตเจตสิกเกิด บางครั้งสัมมาอาชีวเจตสิกเกิด

    นอกจากนั้น อนิตยเจตสิก คือ เจตสิกที่ไม่ต้องเกิดเป็นประจำ ได้แก่ อัปปมัญญาเจตสิก ๒ คือ กรุณาเจตสิก ๑ มุทิตาเจตสิก ๑ และอีก ๑ ดวง คือ ปัญญาเจตสิก เกิดเฉพาะกับโสภณจิตที่เป็นญาณสัมปยุตต์

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า เป็นอนัตตาจริงๆ แม้ว่าใครจะไม่รู้เลยว่า เวลาที่กุศลจิตเกิดขึ้นขณะหนึ่ง เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมาก แล้วก็ดับไป เพราะเหตุว่าจิตแต่ละขณะมีชีวิตที่สั้นมาก คือ เพียง ๓ ขณะย่อย อุปาทขณะ ขณะเกิด ฐีติขณะ ขณะที่ยังไม่ดับ และภังคขณะ คือ ขณะที่ดับ

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 23
    18 ม.ค. 2565

    ซีดีแนะนำ