แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1889


    ครั้งที่ ๑๘๘๙


    สาระสำคัญ

    จดหมายจาก นพ. ชัยพจน์ สวัสดิวัลลภ แผนกอายุรกรรม รพ. นครปฐม

    วิริยบารมี ลักษณะของความเพียรที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    ปรมัตถทีปนี อรรถกถา - โลกสูตร


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๓ กรกฏาคม ๒๕๓๒


    ขออ่านจดหมายของท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง ซึ่งท่านมีวิริยะเขียนไปถึงนายสถานีวิทยุ สทร. ๒ ซึ่งก็ต้องเป็นวิริยะในการฟังพระธรรม เพื่อที่จะพิจารณาพระธรรมด้วย ท่านผู้ใดมีวิริยะที่จะเขียนบ้าง หรืออยากจะมี หรือเกือบจะมี แต่ท่านผู้นี้ก็มีวิริยะ ในการเขียนแล้ว ท่านเขียนเมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๓๒

    เรียน นายสถานีวิทยุเสียงทหารเรือ ๒ ที่นับถือ

    เรื่อง ขอความกรุณารักษาเวลารายการแนวทางเจริญวิปัสสนา ๐๖๐๐ – ๐๖๓๐ น.

    ตามปกติแล้วเมื่อถึงเวลา ๖ นาฬิกา ทางสถานีจะเริ่มโฆษณาก่อนรายการประมาณ ๕ นาที แล้วจึงเริ่มเทปรายการ และจะเลิกเทปประมาณ ๖ นาฬิกา ๒๘ นาที มีประกาศผู้บริจาคให้รายการประมาณ ๑ หรือ ๒ นาที ซึ่งถ้าเป็นไปตามนี้ จะสามารถเปิดเทปธรรมได้จนจบรายการวันนั้นพอดี ปัญหาอยู่ที่ว่า ถ้าเวลาไม่พอ เทปธรรมจะต้องเลิกก่อนเวลา ทำให้ข้อความไม่ต่อเนื่องกัน

    เนื่องจากรายการนี้ได้จากการอัดเทปบรรยายธรรมและการซักถามธรรมประเด็นต่างๆ ที่น่าสนใจ ซึ่งมักจะอัดไว้หลายปีก่อน แล้วนำมาแบ่งย่อยเป็นตอนๆ ตอนละประมาณ ๒๕ นาที แต่ละตอนเมื่อเริ่มตอนใหม่จะย้อนเทปไปให้แค่ประมาณ ๕ วินาที (๕ วินาทีสุดท้ายของตอนที่แล้ว) เนื้อความจึงต่อเนื่องกันตลอด การทำเทปแบบนี้ ทำแล้วส่งออกอากาศตามสถานีวิทยุต่างๆ ทั่วประเทศ เนื่องจากมีผู้สนใจอยู่ทุกภาคของประเทศ และเป็นการทำเทปล่วงหน้าตายตัว (ถ้าจะดูจำนวนครั้งแล้วจะเห็นว่า ที่หัวเทปจะเป็นครั้งที่ ๑,๓๐๐ กว่า เรียงกันไปทุกวัน) เวลาไม่พอเดินเทปจนหมดนั้น เกิดจากเหตุ ๒ ประการ คือ

    ๑. รายการก่อนหน้ารายการธรรมล้ำเวลาเข้ามา อันนี้เป็นเหตุสำคัญที่พบ บ่อยมาก ยกตัวอย่างเช่นวันนี้ ๕ ก.ค. ๓๒ รายการเพลงของคุณบิณฑ์ มหาพล พอถึง ๖ โมงเช้าตรง แทนที่จะเลิกรายการก็เปิดเพลงต่ออีก ๒ เพลง จนถึง ๖ นาฬิกา ๖ นาที แล้วก็เริ่มโฆษณาอีก ๕ นาที (หลายปีก่อน โฆษณาแค่ ๑ หรือ ๒ นาที เดี๋ยวนี้ชักจะมากขึ้นทุกที แต่เราก็ไม่ว่ากันอยู่แล้ว เพราะอย่างที่ผมบอกแล้วว่า ถ้ารายการอื่นไม่ล้ำเข้ามาก็พอจะกล้ำกลืนทน พอจะฟังเทปจนจบได้) ทางเจ้าหน้าที่เริ่มรายการเมื่อเวลา ๖ นาฬิกา ๑๑ นาที ฟังไปถึง ๖ นาฬิกา ๓๑ นาทีก็เลิกเทป ตกลงฟังได้แค่ ๒๐ นาที มีข้อความที่น่าสนใจขาดหายไปประมาณ ๕ นาที ซึ่ง ๕ นาทีนี้ไม่มีทางได้รู้อีกแล้ว เพราะใครจะเขียนไปรบกวนให้อาจารย์พูดให้ฟังใหม่ก็ไม่มี โอกาสแล้ว ๕ นาทีอาจหมายถึงหัวข้ออีก ๑ หรือ ๒ หัวข้อที่ขาดหายไป หรือข้อความตอนท้ายที่กำลังฟังค้างอยู่ขาดหายไป

    ๒. รายการธรรมไม่สามารถจะล้ำไปในรายการต่อไปได้ เพราะเวลาช่วงภาค ๗ นาฬิกาบังคับอยู่ อันนี้เป็นเหตุเสริม ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่จะโทษใคร แต่เป็นความรู้สึก ที่ไม่ดีว่า ทำไมทางสถานีนั้น เวลาแต่ละนาทีย่อมเป็นเงินเป็นทองอยู่แล้ว คงเป็นไปไม่ได้ที่เจ้าหน้าที่ตื่นสายมาเปิดสถานีช้ากว่ากำหนด แต่เป็นเพราะเจ้าหน้าที่ไม่ควบคุมเวลาให้ดี ปล่อยให้รายการต่างๆ ล้ำเวลากัน แต่ในที่สุดก็ตกหนักที่รายการนี้ทุกที ทำเหมือนเป็นรายการยืดหยุ่นว่า ใครจะล้ำเท่าไรก็ไม่ว่า

    ผมขอร้องเรียนโดยใช้ชื่อจริง ผมเป็นแพทย์อยู่โรงพยาบาลนครปฐม ยังไม่ใช่คนแก่หรอกครับ อายุยังไม่ถึง ๓๕ ปี และก็มีเพื่อนๆ ผมที่ยังไม่ใช่คนแก่ฟังรายการนี้อยู่มากมาย รายการนี้จึงไม่ใช่รายการคนแก่อย่างเดียว มีตั้งแต่หนุ่มสาว ก็ยังฟัง ทุกอาชีพ เป็นรายการดีที่หายาก ผมรู้จักคนในจังหวัดอื่นหลายคนซึ่งก็ฟัง สทร. ๒ บางนา ในรายการธรรมนี้ประจำ เช่น จังหวัดชลบุรี เป็นต้น ปกติแล้วพวกเราจะฟังทั้งช่วงเช้า ๖ – ๖.๓๐ น. และช่วงค่ำ ๒๑ – ๒๑.๓๐ น. ซึ่งรายการช่วงค่ำไม่ค่อยมีปัญหา มักจะเปิดเทปได้จนหมด แต่รายการตอนเช้ามีปัญหาบ่อย จึงต้องขอร้องเรียนขอความเป็นธรรม

    อย่างไรก็ตาม ต้องขอชมเจ้าหน้าที่บางวัน บางเวร ที่ตัดรายการให้ตรง ตามเวลา บางวันทำดีก็ต้องขอให้กำลังใจกันครับ เพราะในส่วนลึกแล้วยังรู้สึกขอบคุณ และรู้สึกดีต่อ สทร. ๒ บางนาเสมอ เพราะเป็นสถานีที่ให้ความรู้ ให้รายการธรรมที่ดีออกสู่ประชาชนหลายๆ คน ผมไม่ทราบว่าจะมีเหตุผลอะไรที่น่าเห็นใจเจ้าหน้าที่หรือไม่ที่ทำให้ต้องเกิดเหตุการณ์แบบนี้ และถ้าเขาได้พยายามจะแก้ข้อบกพร่องนี้อยู่ ก็ขอให้กำลังใจให้พยายามแก้ให้ได้ เพื่อความเป็นธรรมและชื่อเสียงของสถานี

    ขอแสดงความนับถืออย่างสูง

    นพ. ชัยพจน์ สวัสดิวัลลภ

    แผนกอายุรกรรม รพ. นครปฐม อำเภอเมือง นครปฐม

    แสดงให้เห็นว่า กว่าปัญญาบารมีจะเจริญก็ต้องอาศัยวิริยบารมี แม้ในขั้นของการฟังก็อยากจะฟังให้ติดต่อกัน เพื่อจะได้พิจารณาธรรมโดยไม่ขาดตอน ซึ่งอาศัยการฟัง การพิจารณาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏก็จะทำให้ปัญญาเจริญขึ้น

    ข้อสำคัญ ท่านผู้ฟังที่เมื่อกี้กล่าวถึงเรื่องจะเป็นวิปัสสนาหรือไม่ใช่วิปัสสนา ก็ควรจะได้ทราบลักษณะของความเพียรที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้

    ในขณะนี้มีสภาพธรรมกำลังปรากฏ มีวิริยะ คือ เพียร ที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้หรือเปล่า

    ในขณะที่กำลังเพียรเพราะรู้ว่ามีสภาพธรรมปรากฏและยังไม่รู้ลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรมนี้ เช่น ทางตา มีสีสันกำลังปรากฏและยังไม่ได้รู้ลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรมนี้ เพราะฉะนั้น ในขณะที่ระลึกและเพียรที่จะเข้าใจว่าเป็นแต่เพียงธาตุ ชนิดหนึ่ง เป็นรูปธาตุที่ปรากฏเมื่อกระทบกับจักขุปสาท แต่ไม่ต้องระลึกยาวอย่างนี้ เพียงแต่รู้ว่าเป็นของจริง เป็นธรรม เป็นธาตุอย่างหนึ่งซึ่งกำลังปรากฏ ในขณะที่กำลังเพียรเข้าใจอย่างนี้ เป็นสติปัฏฐานหรือเปล่า คือ ในขณะที่กำลังมีสภาพธรรมปรากฏทางหนึ่งทางใด และเพียรที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงในขณะนั้น

    . ตอนนั้นผมคิดว่า สติผมเกิดไม่ทัน

    สุ. เรื่องทันมาอีกแล้ว ขณะนี้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตามีไหม

    . มี

    สุ. และระลึกทันที ทำไมกล่าวว่าไม่ทัน ไม่ทันอะไร

    . ก็ระลึกทางตา ผมก็เห็นเป็นโต๊ะ เป็นพระพุทธรูปทุกที ตอนที่กระทบ ตอนที่เป็นสีเฉยๆ ตอนนั้นสติเราไม่ทัน

    สุ. แต่ขณะนี้สีก็กำลังปรากฏ ไม่ใช่ว่าหายไป มีสีกำลังปรากฏก็ระลึกได้ ไม่ใช่ไม่ทัน ขณะนี้ปรมัตถธรรมมี ขณะที่ตื่นอยู่ ไม่หลับ ปรมัตถธรรมจะปรากฏ ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ เพราะฉะนั้น ขณะที่รู้ว่ามีปรมัตถธรรมและไม่รู้ลักษณะของปรมัตถธรรม เพราะว่าก่อนนั้นเคยเห็นเป็นคน เป็นโต๊ะ เป็นสิ่งต่างๆ

    . ถ้าเราเห็นสี ถ้าเป็นพระก็เป็นสีเหลือง ดอกไม้ก็สีเขียว เป็นไปอย่างนี้

    สุ. เพราะฉะนั้น ปรมัตถธรรมมีไหม ในขณะที่กำลังเห็นมีปรมัตถธรรมไหม

    . มีแน่นอน แต่ว่าสติไม่ทัน

    สุ. อย่าใช้คำว่า ไม่ทัน แต่ ไม่รู้ คือ ไม่รู้ว่าเป็นปรมัตถ์ เพราะเคยเข้าใจว่าเป็นดอกไม้ เป็นคน สัญญาวิปลาส จิตตวิปลาส ขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏและเพียร ที่ใช้คำว่า เพียร ในที่นี้คือค่อยๆ รู้ขึ้น ในขณะที่กำลังจะเข้าใจให้ถูกต้องว่า สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ขณะนั้นเป็นสติปัฏฐาน หรือยัง เป็นสติปัฏฐานหรือเปล่า

    . เป็น

    สุ. เป็น เพราะฉะนั้น ไมใช่จะไปทำวิปัสสนา แต่ขณะใดก็ตามที่ระลึกที่ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงที่กำลังปรากฏทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทาง และค่อยๆ รู้ ค่อยๆ เข้าใจว่า เป็นลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรม ขณะนั้นเป็นสติปัฏฐานแล้ว

    . ผมฟังอาจารย์และพยายาม ใช้คำว่า สำเหนียก พิจารณาธรรม อยู่เสมอ แต่ไม่รู้ตามความเป็นจริงเสียที เพราะเห็นก็เป็นเก้าอี้ เป็นโต๊ะ เป็นพระพุทธรูปไปทุกครั้ง

    สุ. แต่ความเพียรต่างกัน ใช่ไหม ก่อนที่จะระลึกลักษณะของสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏ เพียรทำอย่างอื่น เช่น เห็นดอกไม้ ก็เพียรตัดมาปักแจกัน นั่น เป็นความเพียรอย่างหนึ่ง ไม่ใช่เพียรรู้ว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา

    เพราะฉะนั้น จะเห็นลักษณะของวิริยเจตสิกได้ว่า ถ้าประกอบด้วยปัญญา ที่รู้ที่เข้าใจเพราะเคยฟังเรื่องสภาพธรรมมามากจนกระทั่งซึมซาบเป็นปัจจัยให้สติระลึกตรงลักษณะที่มีจริงๆ คือ เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา ในขณะนั้นก็พร้อมทั้ง อาตาปี สัมปชาโน สติมา ขณะนั้นเป็นสติที่ระลึกรู้ว่าเป็นเพียงสิ่งที่กำลังปรากฏ และขณะนั้นมีปัญญาที่ค่อยๆ รู้ว่า เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งที่ปรากฏทางตา เป็นปกติ เป็นธรรมชาติ เป็นธรรมดา ไม่มีการผิดปกติเลยสำหรับผู้ที่มีปกติ เจริญสติปัฏฐาน เพราะเพียงแต่เริ่มที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏขณะใด ขณะนั้นก็พร้อมทั้งสติสัมปชัญญะและวิริยะ เรื่องไม่ทันทิ้งไปได้เลย เพราะว่ามีสภาพธรรมปรากฏ

    . เรื่องวิริยะที่อาจารย์กล่าวว่า มีผู้เขียนจดหมายไปที่ สทร. ความจริง ผมก็เคยเช็คเวลาว่า ต้นรายการตัดเวลาของอาจารย์ไปเท่าไร และวันหนึ่งมีเวลา ฟังเท่าไร ก็ประมาณ ๒๐ นาทีเป็นส่วนมากอย่างที่ในจดหมายว่า โทสะก็เกิดขึ้นกับผม

    สุ. โทสะก็เป็นของจริง

    . โทสะเกิดขึ้น ผมก็รู้ว่าโทสะเป็นอกุศล เป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่ก็เกิดขึ้นแล้ว และจะได้รับผลที่ไม่ดี ตามที่ศึกษาปริยัติมา แต่รู้ว่าไม่ดีเมื่อเกิดขึ้นแล้ว

    สุ. เวลาที่โทสะเกิดขึ้น มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมกับโทสะนั้นแล้ว เพราะฉะนั้น โกรธไม่ใช่ง่าย ต้องมีวิริยะเกิดร่วมกับโทสะ แต่ไม่รู้ตัวเลย เพราะว่าแม้วิริยะก็เป็นอนัตตา ในขณะนั้นต้องมีวิริยะจึงเกิดโทสะ

    วิริยะ ความเพียร มีทั้งในขณะที่เป็นอกุศล และในขณะที่เป็นกุศลด้วย สำหรับวิริยะในทางโลกก็เป็นการกระทำต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะกล่าวว่า เป็นการกระทำของผู้กล้าหาญ หรือวีรบุรุษผู้กล้า แต่สำหรับวิริยะในทางธรรม คือ กล้าที่จะศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรม รู้ความหมายของศัพท์ธรรมที่ไม่เคยเข้าใจให้เข้าใจ อย่าเป็นผู้ที่ท้อถอย และการที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมโดยการฟัง และไม่ท้อถอยนั้น ก็ต้องเป็นผู้ที่เมื่อฟังแล้วเพียงครั้งเดียวก็ยังไม่พอ ต้องฟังอีกบ่อยๆ นอกจากนั้นยังต้องพิจารณาอีกบ่อยๆ ยังต้องสอบถามบ่อยๆ ยังต้องสนทนาธรรมบ่อยๆ และยังต้องทบทวนบ่อยๆ ซึ่งผลของวิริยะ บางท่านอาจจะไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร

    อย่างท่านผู้ฟังท่านหนึ่งบอกว่า ปกติเวลาที่ท่านนั่งรถนานๆ ท่านก็คิดไป เรื่องนั้นบ้าง เรื่องนี้บ้าง แต่วันหนึ่งท่านก็แปลกใจ เพราะแทนที่ท่านจะคิดเรื่องอื่น ท่านก็คิดเรื่องธรรมที่ท่านได้ฟัง และมีการพิจารณา ทบทวน คิดแล้วคิดอีกในเรื่องนั้น

    แสดงให้เห็นผลของการฟังว่า ท่านอาจจะไม่รู้ว่าจะเกิดผลขณะไหน เมื่อไร และในลักษณะใด เช่น ในขณะที่กำลังนั่งอยู่ในรถนานๆ และมีการคิดถึงธรรม ก็แสดงให้เห็นว่า เพราะวิริยะที่ฟังบ่อยๆ พิจารณาบ่อยๆ ทบทวนบ่อยๆ สนทนาธรรมบ่อยๆ สอบถามบ่อยๆ เป็นปัจจัยให้ไม่ว่าท่านจะอยู่ในที่ใด แทนที่จะคิด เรื่องอื่น ก็มีการนึก ตรึกตรอง ทบทวน ใคร่ครวญเรื่องของธรรมได้

    จากการสนทนาธรรม มีข้อสงสัยในเรื่องของโลก

    คำว่า โลก มีหลายความหมาย คือ โอกาสโลก สังขารโลก สัตวโลก

    ปรมัตถทีปนี อรรถกถาโลกสูตร มีข้อความว่า

    โลก คือ โอกาสโลก คือ จักรวาล ๑

    โลก คือ สังขาร ๑

    โลก คือ สัตวโลก ๑

    สำหรับโอกาสโลก ได้แก่ โลก คือ จักรวาล ซึ่งข้อความในอรรถกถามีว่า

    ชื่อว่าโอกาสโลก เพราะอรรถว่า เห็นคือปรากฏโดยอาการวิจิตร

    ทุกท่านคงจะไม่มีข้อสงสัยความหมายของโลกในความหมายนี้ เพราะว่า ทุกคนเกิดมาในโลกซึ่งเห็นโลกนี้กว้างใหญ่ และมีลักษณะที่วิจิตรต่างๆ บางประเทศบางเขตก็หนาว บางประเทศก็ร้อน บางแห่งก็มีภูเขา บางแห่งก็มีทะเล มีป่าไม้ มีภูมิประเทศต่างๆ ที่วิจิตรมาก เพราะฉะนั้น ก็ไม่มีความสงสัยในโอกาสโลก ซึ่งทุกคนก็อยู่ในโลกนี้

    สำหรับอีกความหมายหนึ่ง คือ สังขารโลก ซึ่งหมายความถึงสภาพธรรมที่ ย่อยยับ คือ ผุพัง ได้แก่ สภาพธรรมที่เกิดดับนั่นเอง เพราะฉะนั้น สภาพธรรมใด เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้น สภาพธรรมนั้นเป็นสังขารธรรม สังขารธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เกิดขึ้นและดับไป ไม่เที่ยง ทั้งสังขารที่มีใจครอง และสังขารที่ไม่มีใจครอง โดยสรุป คือ นามธรรมและรูปธรรมทั้งหมดที่เกิดขึ้น ชื่อว่าเป็นสังขารทั้งหมด ไม่เที่ยง นี่คือความหมายของสังขารโลก

    สำหรับสัตวโลก มีความหมายว่า

    ชื่อว่าสัตวโลก เพราะอรรถว่า เป็นที่ดูบุญและบาป และผลแห่งบุญและบาป

    ทุกชีวิตที่เกิดมาเป็นมนุษย์บ้าง เป็นสัตว์ดิรัจฉานบ้าง ก็จะเห็นความต่างกัน แม้มนุษย์ก็ต่างกัน แม้สัตว์ดิรัจฉานก็ต่างกัน เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือ เป็นสัตว์ก็ตาม ชื่อว่าสัตวโลก เพราะอรรถว่า เป็นที่ดูบุญและบาป และผลแห่งบุญและบาป ด้วย

    ถ้าเป็นสิ่งที่ไม่มีชีวิต จะไม่มีบุญและบาป ไม่มีผลของบุญ ไม่มีผลของบาป แต่ทุกชีวิตที่เกิดมา ย่อมเห็นความต่างกันซึ่งเป็นผลของบุญและบาป นอกจากนั้นแล้วยังมีสภาพธรรมที่เป็นบุญและบาปในวันหนึ่งๆ ซึ่งแสดงให้เห็นความต่างกันได้

    การศึกษาพระธรรม ก็เพื่อที่จะให้เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และที่ เตือนกันบ่อยๆ พูดถึงเรื่องสภาพธรรมที่กำลังปรากฏบ่อยๆ ก็เพราะว่ามีสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏ แต่เป็นสภาพธรรมที่รู้ยาก ลึกซึ้ง ซึ่งถ้าไม่มีการศึกษาพระธรรม ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง และพิจารณาโดยละเอียด ก็ยากที่จะเข้าใจ ยากที่จะพิจารณาให้เห็นตามความเป็นจริงในความละเอียดของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ในขณะนี้ ซึ่งก็ไม่พ้นไปจากทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    ฟังซ้ำแล้ว ซ้ำอีก ไม่ว่าจะฟังอีกกี่ครั้ง กี่ภพ กี่ชาติ สภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่จะต้องฟังอีกและพิจารณาอีก ก็ไม่พ้นไปจากกำลังเห็นในขณะนี้ กำลังได้ยิน ในขณะนี้ กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส กำลังคิดนึก แต่มีใคร ที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพเห็นในขณะนี้ตามความเป็นจริงว่า แท้ที่จริงสภาพที่ กำลังเห็นในขณะนี้มีลักษณะอย่างไร

    ก็กล่าวตามๆ กันว่า เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ แต่ถ้าไม่พิจารณาและไม่ฟังพระธรรมให้ละเอียดยิ่งขึ้น ก็ไม่มีทางที่จะเข้าใจแยกลักษณะของสภาพเห็น ซึ่งเป็นเพียงชั่วขณะที่เห็นออกจากขณะที่กำลังคิดนึกเรื่องราวของสิ่งที่เห็น และจะ ไม่รู้เลยว่า จิตที่เห็นเกิดขึ้นในขณะไหน เพราะขณะนี้ก็มีทั้งเห็นด้วย มีทั้งได้ยินด้วย และมีทั้งคิดนึกด้วย ถ้าไม่ศึกษาพระธรรมจะไม่ทราบเลยว่า วิถีจิตต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทางตาที่กำลังเห็น หรือทางหูที่กำลังได้ยิน ต้องเกิดสลับกับภวังคจิต

    ฟังดูเป็นของเก่า ขณะนี้ที่กำลังเห็นและกำลังได้ยิน ก็ต้องมีภวังคจิตเกิดคั่น แต่ถ้าได้ฟังพระธรรมและพิจารณาตาม ก็ขึ้นอยู่กับการไตร่ตรองในพระธรรมนั้นว่า มากมายพอที่จะเห็นความเป็นอนัตตา ความไม่มีสาระของชั่วขณะที่กำลังเห็น และชั่วขณะที่กำลังได้ยินได้มากน้อยแค่ไหน เพราะก่อนที่จะมีอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดปรากฏ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก่อนที่อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดจะปรากฏ จิตที่เป็นวิบากต้องเกิดดับสืบต่อดำรงภพชาติทำกิจภวังค์อยู่เรื่อยๆ ไม่สิ้นสุด จะนอนหลับพักผ่อนนานสักเท่าไร ไม่เห็นอะไร ไม่ได้ยินอะไร ไม่คิดนึกอะไร นานสักเท่าไรก็ตาม แต่ก็ต้องมีอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดมากระทบทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๘๙ ตอนที่ ๑๘๘๑ – ๑๘๙๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 133
    28 ธ.ค. 2564